the sister
essay

เสื้อแดงคนหนึ่งพูดถึง วัฒน์ วรรลยางกูร

มานั่งเปิดภาพเก่าๆ ย้อนนึกถึง อ.วัฒน์ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาที่เราได้รู้จักกัน

ภาพที่เก่าที่สุดมันขึ้นเวลาบอกไว้ว่า 10 ปีที่แล้ว

เราผู้ไม่ได้อยู่ในแวดวงนักเขียน ไม่ใช่นักอ่าน ไม่ใช่คนหลงใหลงานหนังสือ เมื่อเราได้พบกับ วัฒน์ วรรลยางกูร ครั้งแรก เราก็เรียกว่า อ.วัฒน์ ตามที่ทุกคนเรียก โดยที่ไม่รู้จักว่าคนคนนี้เป็นใคร เราได้นั่งฟังเรื่องราวต่างๆ ที่อาจารย์เล่าให้คนอื่นๆ ได้ฟัง จากหลายๆ เหตุการณ์ในอดีตที่อาจารย์ได้อยู่ในนั้น จนกระทั่งถึงเรื่องการตัดสินใจเข้าป่า

 

เรารู้จักอาจารย์ในฐานะนักสู้ ไม่ใช่นักเขียน

เมื่อรู้จักกันมาระยะหนึ่งจนบอกเพื่อนว่า จะพาไปรู้จักกับอาจารย์ เพื่อนพูดออกมาอย่างงงๆ ว่า

“นี่มึงไม่รู้จักเลยเหรอว่า วัฒน์ วรรลยางกูร คือใคร ? นี่น่ะนักเขียนในดวงใจเลยนะ!!”

นั่นเป็นวันแรกที่รู้ว่า อ.วัฒน์ ที่เรารู้จักคือนักเขียน

แต่จนแล้วจนรอดถึงป่านนี้ เราก็ยังไม่เคยอ่านงานของอาจารย์เลยแม้ซักเล่มเดียว

ทุกครั้งเวลาที่เจอกัน เรามักจะนั่งดื่มด้วยกันและคุยกันถึงเรื่องราวต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวในอดีต สำหรับเรา อาจารย์เปรียบเสมือนประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต เหมือนโปรเจกเตอร์จอใหญ่ ที่เมื่อเวลาแกเล่าเรื่องราวต่างๆ ออกมา ตัวเราราวกับถูกดึงเข้าไปอยู่ในเรื่องราวนั้นๆ เหมือนเรามีกายทิพย์ที่ไปยืนอยู่ในเหตุการณ์ และเฝ้ามองเรื่องที่ดำเนินไปอย่างเงียบๆ

 

เราได้พูดคุยกันถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น พูดถึงความไม่เท่าเทียมของสังคม พูดถึงความเลวร้ายของการปฏิบัติต่อผู้คนที่เห็นต่าง

บางครั้งอาจารย์ก็พูดไป สบถไปเป็นระยะๆ หรือบางครั้งก็หัวเราะเสียงดังอย่างขมขื่นถึงสิ่งที่มันยากจะเปลี่ยนแปลง และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มันถึงจะเป็นไปได้

เสียงของอาจารย์ในเวลาที่เล่าเรื่อง เวลาที่หัวเราะ เวลาที่ร้องเพลง เป็นเสียงที่เราไม่อาจละความสนใจไปได้เลย น้ำเสียงที่มีพลัง จังหวะจะโคนที่เน้นหนักเบา ทำให้ฟังดูไม่น่าเบื่อและชวนติดตาม เรามีโอกาสได้คลุกคลีกับอาจารย์และวงไฟเย็นในขณะนั้น เป็นช่วงเวลาที่ดีมากๆ

 

อาจารย์เคยชวนไปเที่ยวบ้านที่เมืองกาญจน์ 2-3 ครั้ง ที่นั่นมีความทรงจำของอาจารย์เต็มไปหมด อาจารย์เดินไปเล่าไป ชี้จุดนั้น จุดนี้ให้ดู เล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้าน เขียนต้นฉบับเสร็จสมัยนั้นต้องนั่งรถออกไปส่งอีก ค่อนข้างลำบากน่าดู และจุดที่เราชอบที่สุดคือ คลังไวน์หมักเองที่อาจารย์ทำไว้ และนำออกมาดื่มกันเวลาเราไปที่บ้านของแก

จนกระทั่งวันที่อาจารย์ต้องออกนอกประเทศ เราก็ยังติดต่อกันอยู่เสมอ ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันเป็นระยะ

ตลอดเวลาที่ติดต่อกัน เราจะไม่เคยเอ่ยปากถามเลยว่าตอนนี้อาจารย์อยู่ที่ไหน เราจะถามเพียงแค่ เป็นยังไงบ้าง สบายดีมั้ย ? และคุยถึงเรื่องทั่วๆ ไป

มีครั้งนึงช่วงที่แกป่วยมากๆ ตอนอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน อาจารย์เล่าให้ฟังว่าค่อนข้างลำบากและโชคดีที่เพื่อนพาไปหาหมอได้ทัน

อาจารย์เคยบอกว่าซื้อที่ดินที่นั่นแล้ว กำลังสร้างบ้านหลังเล็กๆ ตั้งใจจะใช้เขียนหนังสือ คงปักหลักอยู่ที่นั่นแล้วละ แต่ตอนนี้ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เราเลยถามไปว่าต้องใช้กี่จุด ใช้กับส่วนไหนของบ้าน เราก็ส่งไฟโซล่าร์เซลล์ไปให้ เพราะคิดว่ามันไม่ยุ่งยากและประหยัดดีด้วย

เมื่อติดตั้งแล้วอาจารย์ก็ส่งรูปมาให้ดู มันเข้าท่าเชียวแหละ

อาจารย์บอกว่าถ้าที่นี่เรียบร้อยดีแล้ว พาไอ้ตัวเล็กมาหาตาวัฒน์หน่อยนะ อยากเจอ

แต่ไม่นานนักเราก็ได้ข่าวว่าอาจารย์ต้องทิ้งที่ตรงนั้นและเดินทางอีกครั้ง

เราได้แค่บอกกับอาจารย์ว่า รักษาตัวให้ดี

ห่างหายกันไปได้ระยะหนึ่งจนอาจารย์ติดต่อกลับมาและบอกว่าได้สถานะผู้ลี้ภัยแล้ว เราดีใจมากๆ กับข่าวดีนี้ และคิดว่าอาจารย์จะได้อยู่อย่างสงบๆ กับงานเขียนของแกซักที

จนกระทั่งเดือนกันยาฯ ปีที่แล้ว อ.วัฒน์โทรฯ มาคุยด้วย ขณะที่แกผ่าตัดครั้งแรกเสร็จไปแล้วและพักฟื้นอยู่ คุยกันเกือบ 2 ชั่วโมง

แกเล่าให้ฟังถึงเหตุผลเรื่องที่แกต้องย้ายที่อยู่ เรื่องของคนที่ถูกอุ้มหายในประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องความเจ็บป่วยที่กำลังเผชิญ และอีกหลายๆ เรื่อง ก่อนจบการสนทนาแกก็ยังทิ้งท้ายไว้เหมือนเดิม ว่าอย่าลืมพาไอ้ตัวเล็กมาหาตาวัฒน์บ้างนะ อยากเจอ

เราจบบทสนทนาลงเพราะแกเริ่มไอมากขึ้น

ได้แต่บอกแกให้พักผ่อนเยอะๆ หายไวๆ เวลาไปหาจะได้มีแรงดื่มเป็นเพื่อนกันนานๆ

 

ไม่คิดเลยว่าการคุยครั้งนั้นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้ยินเสียงของอาจารย์

เราไม่รู้หรอกว่า อาจารย์เป็นกวี หรือเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ขนาดไหน สำหรับเรา อาจารย์คือนักสู้ที่น่ายกย่อง ไม่ว่าเวลาจะผ่านมาแค่ไหน อาจารย์ไม่เคยเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ของตัวเอง อาจารย์เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำ เป็นอาจารย์ที่ให้ความเมตตาและเป็นกันเอง เป็นพี่ที่รัก และเป็นสหายที่น่าชื่นชม

อาจารย์จะอยู่ในความทรงจำของเราตลอดไป.

 

 

nandialogue

essay : the sister

เรื่อง : เอ๋ ยังไงก็แดง

You may also like...