the letter
the letter

ซ้ายเสวนา

สวัสดีครับพี่หนึ่ง

ก่อนเริ่มเล่าเรื่องที่ไปเจอเนียอีกคนมาในวันนี้ ขอเสริมสิ่งที่ได้เล่าให้ฟังในฉบับที่แล้วเรื่องการวางอวนปูของพี่วัฒน์ เผอิญภรรยาอ่านแล้วข้องใจเล็กน้อย เธอว่าทำไมไม่เล่าให้พี่ฟังว่าก่อนมี GPS และดาวเทียม คนวางอวนปูต้องจอดเรือทอดสมอกันอยู่ตรงจุดที่วางนั่นแหละ ไม่ใช่แค่กลัวว่าจะหาแนวอวนไม่เจอนะครับ แต่ไว้ดูลาดเลาด้วย เผื่อใครมาขโมยเอาปูไป แทนที่จะได้ขับเรือกลับบ้าน ชาวประมงผู้นิยมจับปูในอดีตต้องนอนคอยอยู่กลางทะเลเพื่อเฝ้ามองสิ่งที่ลงทุนลงแรงไปกว่าร่วมคืนสองคืนก่อนสาวอวนเก็บปูกลับบ้าน 

พี่วัฒน์แกพูดให้ฟังอยู่บ่อยๆ ว่า เป็นชาวประมงต้องเอื้อเฟื้อ เห็นแก่ตัวอยู่ไม่ได้หรอก เพื่อนหมั่นไส้ก็พาให้ชีวิตฉิบหายเอาง่ายๆ ไม่ต้องถึงกับขโมย แค่ตัดอวนทิ้งจากทุ่นและสมอ แค่นี้ก็ไม่เหลืออะไรแล้ว ชีวิตที่ฝากไว้กับท้องทะเลและธรรมชาติ เพื่อนร่วมเกลียวคลื่นอาจมีความหมายมากกว่าแค่การชอบพอและโอภาปราศรัย

 

 

the letter

 

ในวันนั้นที่ออกไปเก็บอวน ผมเห็นแกสื่อสารทางวิทยุกับเรือหอย (เรือที่หย่อนฝาหอยลงไปในทะเลเพื่อดักปลาหมึกสาย ทางใต้เค้าเรียกกันว่า ‘วาย’) ว่าจะวางแนวตรงไหนแกจะได้ไปวางตามแนวนั้น เวลาแกกลับฝั่งอย่างน้อยจะได้ไม่กังวลว่าจะมีใครมาวางอวนแนวอื่นๆ ทับแล้วตัดอวนแกทิ้ง เรือหอยที่ว่าก็คือเรือที่ครอบครัวผมและดีนเคยพาเด็กๆ ขึ้นไปนั่งตกปลาหมึกกันอย่างสบายใจไม่กี่เดือนก่อน พี่วัฒน์กับความสัมพันธ์ที่แกสร้างไว้ทำให้อะไรที่เหมือนยากกลับดูง่าย วางอวนปูก็ได้หลักแนวที่ปลอดภัย พาเพื่อน (อย่างพวกผม) ไปเที่ยวทะเลก็ได้เรือใหญ่ไว้อาศัยพึ่งพา แกเล่าว่าบางคราแกก็ช่วยเรือหอยเหล่านั้น เอาอาหารสดและเครื่องดื่มชูกำลังไปส่งบ้าง เอาเครื่องยนต์ไปส่งซ่อมให้บ้าง พวกเขาคงจะให้แล้วรับ รับแล้วให้กันอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ จึงก่อเกิดเป็นมิตรภาพที่สำคัญต่อการดำรงอยู่ของกันและกัน บ้างอาจมองว่านี่คบกันด้วยผลประโยชน์ แต่ผมเชื่อว่ามันเรื่องเดียวกัน มิตรภาพที่ปราศจากประโยชน์นั้นกลวงเปล่าและเปราะบาง ประโยชน์ที่ผมหมายถึงนั้นไม่ได้กินความแค่เรื่องทางตัวเงินเท่านั้น หากแต่รวมถึงความปลอดภัย ความรู้และข้อคิดเห็น การปลอบประโลม เสียงหัวเราะ และอะไรอีกหลายๆ อย่างในโลกที่มนุษย์ทุกคนก็น่าจะรู้ว่าเป็นเรื่องบวกในชีวิต 

กลับมาที่เรื่องวันนี้ ผมพาลูกไปเรียนเทนนิส เป็นครั้งแรกที่แทบไม่ได้ดูเลยว่าลูกเรียนและเล่นเป็นอย่างไร ผมนั่งคุยกับพ่อของเด็กอีกคนเสียเพลินจนไม่ได้สนใจการซ้อมของเด็กๆ แกชื่อ ‘เนีย’ เหมือนกับ ‘เนีย’ คนอิสราเอลที่เป็นเพื่อนบ้านผม

คนอิสราเอลนี่น่าจะชื่อซ้ำเยอะว่าคนไทย คนอิสราเอลชื่อ เนีย (Nir) น่ามีอยู่อีกหลายคนบนเกาะพะงัน เนียคนนี้เป็นช่างภาพ เกิดและโตที่อิสราเอล ก่อนจะไปได้เมียชาวยิวและมีลูกกันในอเมริกา ทำงานและเลี้ยงลูกกันที่เมืองบอสตัน ผมกับเค้าอพยพมาอยู่เกาะพะงันในช่วงเวลาใกล้ๆ กันเมื่อปีที่แล้ว เนียบอกว่าหลังจากปีนี้จะอยู่ต่ออีกอย่างน้อยหนึ่งปี ผมถามว่าทำไม แกทำหน้าครุ่นคิดอย่างที่พยายามจะหาคำพูดที่เข้าทีที่สุดก่อนจะเอื้อนเอ่ยว่า คือ “แม่งชิลล์ กูโคตรมีชีวิตอย่างสุขสบายที่นี่ อยู่อย่างกับเจฟ เบโซ (เจ้าของอเมซอน) บ้านที่เช่าก็มีสระว่ายน้ำส่วนตัวในราคาพอๆ กับห้องพักเล็กๆ ในอเมริกา” เนียพูดด้วยท่าทีอย่างคนสำนึกผิดเหมือนจะมีน้ำตาคลอ ด้วยเหตุผลที่รู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมบางอย่างในชีวิต ประมาณว่าทำไมเขาและครอบครัวเขาได้รับสิ่งนี้ ในขณะที่มีมนุษย์ร่วมโลกและร่วมเกาะอีกจำนวนมากที่แม้จะทำงานหนักไม่แพ้กัน และอาจต้องทำงานหนักอย่างนั้นต่อไปทั้งชีวิตก็ไม่อาจมีชีวิตได้อย่างเขา

ผมทำหน้าเข้าใจและบอกว่า “เออ กูเข้าใจ บางเรื่องในโลกนี้แม่งโคตรเศร้า มึงช่วยเล่าต่อ” เนียว่าทุกวันนี้แม่งเหมือนสวรรค์ มีเวลาให้กับลูกมากขึ้น ก่อนพามาเรียนเทนนิสก็แวะดื่มกาแฟ เล่นหมากรุกกับลูก ระหว่างที่ลูกเรียนหนังสือที่โรงเรียนก็ได้ซ้อมกีตาร์ ฟังเพลง ทำงานเล็กน้อยๆ แวะพบปะพูดคุยกับผู้คน เทียบแล้วดีกว่าตอนอยู่ที่บอสตันเป็นไหนๆ ที่เขาต้องทำงานหนักในช่วงสุดสัปดาห์ตระเวนถ่ายรูปงานมงคลสมรส และใช้เวลาวันจันทร์ถึงศุกร์ตกแต่งรูปและพูดคุยกับลูกค้าเพื่อนัดหมายงานในอนาคต แทบไม่เหลือเวลาให้ลูกหรือแม้กระทั่งเวลาส่วนตัวให้ตัวเอง

พอมาอยู่ที่เกาะพะงัน แม้ว่าไม่มีงานถ่ายรูป แต่ก็ยังมีงานบางประเภทให้ทำเพื่อมีรายได้ เนียบ่นว่างานเหล่านี้ (Color Correction) นั้นน่าเบื่อ แต่ก็ไม่มีเหตุผลอันใดเลยที่จะบ่น เมื่อมองไปยังเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ทั้งชาวไทยและพม่าจำนวนมากบนเกาะที่ยังต้องทำงานหลังขดหลังแข็งเพียงแค่เพื่อให้มีชีวิตอยู่ 

อาจด้วยสำนึกเช่นนี้ บางสุดสัปดาห์เขาจะพาลูกๆ ไปเล่นหรือสอนหนังสือเด็กพม่าจำนวนนึงบนเกาะ ที่นี่มีฝรั่งบางคนรู้สึกเห็นใจและอยากให้เด็กๆ ที่ขาดแคลนโอกาส ได้เรียนภาษาอังกฤษ เลข และได้เล่นอะไรที่สร้างสรรค์ในสถานที่ที่ดีบ้าง เช้าวันสุดสัปดาห์ก็ขับรถพาเด็กๆ เหล่านี้ไปที่หาดทรายเพื่อทำกิจกรรม ตกเย็นก็พามาตระเวนส่งกลับบ้าน เนียบอกว่าการที่ลูกๆ ของเขาได้เห็นและสัมผัสอะไรแบบนี้จะทำให้พวกเขาเติบโตเป็นมนุษย์ที่ดีได้ 

 

 

the letter

 

คุยกันมาสักพักก็พอเดาทางกันได้ว่าผมกับเขาเป็นฝั่งเดียวกัน เรื่องที่คุยกันไม่ว่าจะที่เมืองไทย อิสราเอล หรืออเมริกาก็ล้วนนำมาสู่ข้อสรุปว่า พวกเราฝ่ายซ้ายมีกันน้อยเกินไป (ใช้คำนี้ไปก่อนละกันนะครับ แม้ว่าคำนี้จะมีความหมายแตกต่างกันไปตามพื้นที่ต่างๆ ของโลก เอาง่ายๆ ก็คือพวกที่รู้สึกรู้สากับชะตากรรมและความยากลำบากของเพื่อนมนุษย์ และคิดว่ามีความอยุติธรรมในสังคมที่ทำให้ความทุกข์ยากเหล่านี้ดำรงอยู่) มันแสนลำบากที่จะชวนคนให้มีศรัทธาในโลกที่ดีและน่าอยู่กว่านี้ ส่วนอีกฝ่าย (ขวา) นั้นทำให้สิ่งที่เป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์อย่างหนึ่งนั่นก็คือ ความกลัวได้สำแดงตัวออกมา แค่นี้ก็ทำให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายแล้ว เขาเล่าให้ฟังว่าตอนที่ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีนั้น เขากับภรรยานั่งร้องไห้ด้วยกันที่บ้านเลย ในอิสราเอลสถานการณ์ก็ไม่ต่างกัน ฝั่งขวามีจำนวนเยอะกว่าเห็นๆ เนียว่าความกลัวมันฝังลึกในจิตใจของผู้คนทำให้พวกเขาไม่สามารถหาออกในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้

เขาเองก็เคยเป็นอย่างนี้ในตอนวัยรุ่น ผมถามว่าแล้วมึงเปลี่ยนได้ไง เขาว่าตอนอายุยี่สิบห้า แฟน (ภรรยาในปัจจุบัน) พาเขาไปเยี่ยมชมหมู่บ้านชาวอาหรับ (ปาเลสไตน์) ในเขตเวสต์แบงค์ เพียงแค่ได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในอีกฝั่งของกำแพง อาทิ ห้องเรียนในโรงเรียนอันแสนคับแคบและหนวกหู บ้านเรือนสกปรกและแออัด เห็นมนุษย์บางคนต้องออกจากบ้านแต่เช้าเพื่อเผื่อเวลาให้กับเช็คพอยต์ที่มีอยู่ทั่วไปหมด เพียงให้ไปทำงานได้ทันเวลา เมื่อเขาได้เห็นแล้วเทียบกับชีวิตของตัวเองในอีกฝั่งของกำแพงที่ต่างกันอย่างฟ้ากับเหวก็ตระหนักได้ว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลในประเทศที่ตัวเองอาศัยอยู่ เพียงพาตัวเองออกไปเห็น แล้วโลกก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เนียกล่าวว่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เห็น หรือเลือกที่จะไม่ให้ตัวเองได้เห็น โลกมันจึงเอียงไปทางขวาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ 

ตอนหนุ่มๆ เนียคนนี้ก็ออกไปประท้วงกับรัฐบาลตัวเองในอิสราเอล ฝ่าดงแก๊ซน้ำตา และโดนทุบตีจากตำรวจ ความคับแค้นเหล่านี้มันคงอยู่ในใจ เขาบอกความรู้สึกเหล่านี้กับลูกๆ อย่างจริงใจ และยืนยันหนักแน่นหรือจะเรียกว่า Brainwash ก็ได้ เพื่อให้ลูกๆ ไม่ไปเกณฑ์ทหาร เขาบอกว่ามันมีหลายวิธีที่ไม่เกณฑ์ทหารแล้วไม่ต้องติดคุกหรือผิดกฏหมาย อาทิ แกล้งทำตัวปัญญาอ่อน (เคยมีคนเล่าให้ฟังว่ามีเพื่อนตัวเองเอาขี้หมาทาตัวแล้วค่อยเดินไปสัมภาษณ์หรือรายงานตัว) แกล้งทำข้อสอบให้ผิดเกือบทุกข้อเพื่อให้ดูโง่เกินไปที่จะให้จับอาวุธ แกล้งทำเป็นคนโรคจิตประมาณว่าถ้าต้องไปเกณฑ์ทหารนี่จะต้องฆ่าตัวตายแน่ๆ แล้วเอาใบรับรองแพทย์ไปยืนยัน 

นอกจากเรื่องเกณฑ์ทหารแล้วเนียก็พร่ำสอนลูกว่าโลกนี้ไม่มีพระเจ้า มีแต่ธรรมชาติเท่านั้น ศาสนาทั้งหลายไม่ว่าจะยูดาย คริสต์ อิสลาม คือสิ่งงมงายที่สร้างความกลัวในจิตใจผู้คน ศาสนาเหล่านี้ล้วนผูกโยงการกระทำผิด (บาป) เข้ากับการถูกลงโทษ เขาเงยหน้าถามผมว่าแล้วพุทธล่ะเป็นอย่างไร

ผมบอกว่าพุทธนี่น่าจะเข้ากับโลกทุนนิยมที่สุดแล้ว สอนให้ทำบุญ (ลงทุน) แล้วรอรับผลบุญ (ตอบแทน) ในอนาคต จะชาตินี้หรือชาติหน้าก็แล้วแต่กรรมที่ทำมาในอดีต สอนแบบนี้โดยไม่ต้องมีคำเตือนว่าการลงทุนมีความเสี่ยงแต่อย่างไร วัดทั้งหลายในเมืองไทยจึงมั่งคั่งพอๆ กับบางบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ด้วยซ้ำ เนียพยักหน้าหงึกๆ ก่อนสรุปว่าศาสนาทั้งหลายแม่งเหี้ยพอๆ กัน 
  
ห้าโมงเย็น ลูกเล่นเทนนิสเสร็จ ก่อนแยกย้ายเรานัดแนะกันว่าควรหาเวลามานั่งคุยกันอีก สนุกและชุบชูใจได้ดีเหลือเกิน เวลาพบปะพูดคุยกับคนฝั่งเดียวกัน

เชียร์สครับพี่หนึ่ง
จ๊อก

 

nandialogue

 

ตอบ จ๊อก

ได้ยินชื่อวัฒน์จากคุณรอบนี้เหมือนเราฟังไม่รู้เรื่องเลยว่ะ จำได้ว่าเป็นกัปตันเรือปู แต่ใจมันจมอยู่กับพี่วัฒน์ นักเขียนผู้จากไป ยิ่งได้ยินคำว่าซ้ายก็ยิ่งไปกันใหญ่ (อย่างที่คุณว่า ที่จริงมันก็คนละซ้าย) ไม่รู้จะต่อบทสนทนาอย่างไรให้ไหลลื่น ทุกเรื่องอื่นๆ ตอนนี้ ใครว่าอะไรมาก็คล้ายไม่เข้าหัวเลย ขอเสียมารยาท เอาสิ่งที่กระโดดโลดเต้นในเนื้อตัวตลอดสัปดาห์นี้เทออกมาวางให้คุณดู

ในการจากลา เรามีบางสิ่งที่พอจะชดเชยความรู้สึกสูญเสียได้บ้าง ปลอบใจตัวเองนั่นแหละว่า เออ ก็ยังดี ตอนที่พี่วัฒน์ยังอยู่ อย่างน้อยเราก็ไม่ได้นิ่งเฉยดูดาย งานที่ร้าน The Writer’s Secret ที่ชวนเตย วจนา ลูกสาวแกมาพูดเรื่องการลี้ภัยของพ่อ เรากับบินหลาเป็นคนคิด ช่วยกันออกแรงจนสำเร็จราบรื่น (ใหญ่ พันธวัฒน์ เป็นพิธีกร) ค่ำนั้นบินหลาร้องไห้โฮกลางงาน เราเองก็ไม่ต่างกัน มันไม่ไหวจริงๆ เมื่อฟังบางประโยคจากลูกสาว ประโยคธรรมดาและไม่มีดราม่าใดๆ นั่นยิ่งกดทับกระแทกต่อมน้ำตา

งานที่เฮมล็อก ที่จัดเปิดตัวหนังสือ ‘คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน’ ของพี่วัฒน์ ก็เหมือนเคย เรากับบินหลาช่วยกันผลักดัน เลือกวันชาติฝรั่งเศสคือ 14 กรกฎาคม เป็นวันงาน ชวนอาจารย์ธีร์มาร้องเพลง ชวนพี่สมพงค์ ศิวิโรจน์ สมาชิกดั้งเดิมของมาลีฮวนน่า มาพูดเรื่องการแต่งเพลง (ร้อยวันพันปี พี่เค้าไม่เคยยอมออกงาน) ชวนพี่สุจิตต์ วงษ์เทศ มาขุดคุ้ยประวัติศาสตร์เพลงลูกทุ่ง แล้วก็เป็นเตยอีกครั้ง ที่รับอาสามาอ่านจดหมายจากพ่อ คือคุณนึกออกใช่มั้ย ชีวิตคนที่กลับบ้านไม่ได้ จะทำอะไรแต่ละทีก็ต้องมีตัวแทน ใช้คลิป ใช้จดหมาย สื่อแทนตัว ดูรัฐไทยแม่งทำกับพลเมือง หนังสือเล่มนี้พิมพ์มาหลายครั้งแล้ว และบินหลาเห็นว่าควรนำกลับมาพิมพ์ซ้ำใหม่ นัยหนึ่งเพื่อเสนอสนองต่อผู้อ่าน อีกนัยที่มีความหมายอย่างยิ่งก็คือต้องการหาเงินให้พี่วัฒน์ ช่วงนั้นแกกำลังหาที่ เพื่อปลูกสร้างบ้าน ก็บรรลุตามเป้าหมายทุกประการ เพียงแต่ก็อย่างที่รู้ บ้านริมบึงที่นักเขียนลี้ภัยสร้างขึ้นมาด้วยเงินค่าต้นฉบับ เขาได้อยู่อาศัยอย่างสุขสบายเพียงเดือนเศษๆ คือจากพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2018 ถัดจากนั้น, คือเมื่อเพื่อนผู้ลี้ภัยถูกอุ้มฆ่า เขาก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ไม่เป็นที่ และสุดท้าย, พฤษภาคม 2019 ก็ตัดสินใจบินไปยุโรป

เรากับบินหลาเคยไปดูบ้านริมบึง (ตอนนั้นยังไม่เริ่มก่อสร้าง) พอเห็นสถานที่ เห็นความตั้งใจต่างๆ ของแกนั่นแหละจึงเป็นที่มาของการจัดงาน พยายามกระจายข่าวให้หนังสือสารคดีเล่มนี้ได้รับการเผยแพร่สูงสุด มันเป็นวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของครูไพบูลย์ บุตรขัน พอดี เรื่องนี้พูดไปก็รู้สึกแย่ ผู้มีอำนาจด้านศิลปวัฒนธรรมบ้านเราแทบไม่ไยดีเลย ทั้งที่นี่คือสุดยอดครูเพลงแห่งยุคสมัย เป็นแบบนี้ทุกเรื่องในประเทศเหี้ยนี่ คนไม่ควรมีใบหน้าออกสื่อแม่งเชิดหน้าชูคอไม่เว้นวัน คนที่ไม่คู่ควรกับเกียรติยศศักดิ์ศรีใด มันใช้ปืนปล้นเก้าอี้ ถือครองบัลลังก์อำนาจ

อีกครั้ง, เราจัดงาน ‘คือรักและหวัง 2019’ ที่ร้าน on the rose ธีร์ อันมัย เพื่อนนักดนตรีเจ้าเก่ามาร้องเพลง อันนี้ก็ปกติ สิ่งที่คุณจะไม่ได้เห็นง่ายๆ ที่ไหนเลยก็คือภาพที่อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ร้องเพลง (โปรดเถิดดวงใจ โปรดได้ฟังเพลงนี้ก่อน..) หลักๆ อาจารย์มาพูดถึงงานเขียนของพี่วัฒน์ (เป็นนักกฎหมายมหาชนที่พื้นฐานการอ่านหลากหลายกว้างไกลมาก) และไหนๆ ไมค์พร้อม นักดนตรียุ อาจารย์ก็ทั้งร้อง ทั้งควักเงินสมทบช่วยเหลือนักเขียนไกลบ้าน ไอดาที่แข้งขาไม่ดีนั่งอยู่แถวหน้า วาด รวี ใบหน้าดูมีความสุขกว่าวันอื่นๆ สำหรับเรา มันเป็นค่ำคืนแห่งความทรงจำ ค่ำคืนที่เป็นประจักษ์พยานว่านักเขียนที่แท้ย่อมมีผู้อ่านเคียงข้างเสมอ

และอีกครั้ง, เราทำหน้าที่ช่วยผลิตหนังสือนวนิยาย ‘ด้วยรักแห่งอุดมการณ์’ (ใช้โรงพิมพ์คุณ) ภาพปก เราถ่ายจากหลวงพระบาง ทราย เปมิกา ช่วยออกแบบให้มันไม่ได้เป็นแค่ภาพถ่าย ฟังว่างานออกมาแล้วพี่วัฒน์ก็พอใจดีอยู่ ฝ่ายเราก็เป็นปลื้มแน่ๆ ที่มีส่วนขับเคลื่อนอยู่ข้างหลัง นอกเหนือจากเป็นคนเขียนเปิดในหน้าคำนำ

มีอีกหลายเรื่องที่อยากเล่าให้คุณฟัง เช่น ต้นฉบับ ‘เจ็ดปี ต้องเนรเทศ’ นั้น พี่วัฒน์ส่งให้เราอ่านเป็นคนแรกนะ แกอยากให้ช่วยเสนอ ติ ติง เอาอะไรเข้าอีกมั้ย เอาอะไรออกหรือเปล่า เราไม่ได้เสนอใดๆ นอกจากให้ความเห็นไปในเรื่องผู้จัดพิมพ์ ซึ่งก็เป็นไปตามที่คุยกันและเหมาะสมทุกประการคือไอดา แห่งสำนักพิมพ์อ่าน “แกงหม้อใหญ่ ต้องใจเย็นๆ” ไอดาบอกพี่วัฒน์แบบนี้ แต่ข่าวสายคุณก็บอกว่าพฤษภาฯ คงได้เห็น

ดีๆ รอสัมผัสรูปเล่ม อยากเห็นหน้าตา อยากให้คนอ่านเยอะๆ ถ้า ‘เหยื่ออธรรม’ เคยสร้างความทรงจำให้นักอ่านวรรณกรรมทั่วโลกมาแล้ว เราว่างานบิ๊กโปรเจ็กต์เล่มนี้ก็มีค่าความหมายคล้ายเคียงกัน เสียดาย.. เจ้าตัวไม่ทันได้เห็น

โดยรวมๆ ก็มีหลายเรื่องเหมือนกันที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ยังไงมันก็น้อยอยู่ดี เมื่อเทียบกับสิ่งที่พี่วัฒน์ทำ.


เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อกเป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน

You may also like...