หวัดดีครับพี่หนึ่ง
ยินดีด้วยครับกับการฉลองครบรอบสามเดือน nan dialogue ช่วงเวลาน่าหดหู่อย่างนี้ มีวาระอะไรก็ควรฉลองและดีใจเล็กๆ กันไปก่อน อย่างน้อยก็ทำให้มีกำลังใจและชีวิตมีความหมายขึ้นมาบ้าง
เพิ่งตระหนักได้ว่าผมออกจากกรุงเทพฯ มาในเวลาใกล้เคียงกับที่พี่เริ่มทำ nan dialogue แล้วก็เพิ่งตระหนักว่าคนเราพอได้อยู่ต่างที่ หรือต่างบริบท เวลาสามเดือนก็อาจเหมือนสามปี
ตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่เกาะพะงัน ผมมีโอกาสได้เห็นอะไรและพบใครต่อใครมากกว่าอยู่กรุงเทพฯ เยอะ จริงๆ ผมก็แปลกใจตัวเองอยู่เหมือนกันว่าทำไมถึงไปรู้จักใครต่อใครเยอะแยะ
ก่อนมาอยู่เกาะ ผมค่อนข้างเก็บตัว เบื่อหน่ายมนุษย์ ถ้าไม่มีเหตุอันควรหรือเรื่องน่าสนใจ ผมก็ไม่ใคร่จะทำความรู้จักใครเพิ่มสักเท่าไร พอได้มาอยู่เกาะ กลับพบว่าตัวเองเหมือนปลาที่ได้น้ำใหม่ กระปรี้กระเปร่าและกระหายที่อยากรู้จักผู้คนมากขึ้น
อย่างที่ได้เล่าให้พี่ฟังไปในจดหมายฉบับก่อนๆ ผู้คนทั้งไทยและต่างชาติบนเกาะล้วนแต่มีเรื่องให้เราเรียนรู้ ทั้งในบางซอกมุมเล็กๆ ของชีวิตพวกเขา และทักษะพื้นฐานบางอย่าง
ไม่กี่วันก่อน หลังจากที่แผลหายดีแล้ว โมอี้ (สาวอิสราเอลที่ถูกสุนัขสีขาวกัด) ก็อาสาสอนครอบครัวเราว่ายน้ำ
ครับ เธอเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ และเคยเป็นโค้ชนักว่ายน้ำอิสราเอลชุดโอลิมปิก ทุกวันนี้เธอและสามีลางานประจำมาเลี้ยงลูกสองคนบนเกาะ
เธอบอกกับเราก่อนเริ่มสอนว่า เทคนิคเล็กน้อยๆ จะช่วยให้เราว่ายน้ำได้ดีขึ้นอีกมาก เริ่มต้นผมดูเธอสอนภรรยาและตุ๊ก นักไตรกีฬาเพื่อนของผมอยู่ห่างๆ จับความได้ว่า ให้วาดแขนไปข้างหน้าไกลๆ ดึงแขนวักน้ำขึ้นให้มีน้ำหนัก
บิดตัวเป็นเกลียวไปตามจังหวะการวาดแขน และที่สำคัญ ทำให้เท่าๆ กันทั้งสองแขน เธอสอนด้วยการให้พวกเราว่ายน้ำ จากนั้นก็วิจารณ์และสาธิตท่าทางที่ถูกต้องให้เราดูอยู่บนบก
ลองทำอยู่ไม่กี่ครั้ง ภรรยาผมก็บอกว่าเธอว่ายได้ดีขึ้นเยอะ
ผมลองว่ายให้เธอดูบ้าง โมอี้บอกกับผมว่า ลองบิดหน้ามาหายใจทั้งซ้ายและขวาดู การว่ายจะสมดุลขึ้น คือปกติเวลาว่ายฟรีสไตล์ ผมถูกสอนมาให้วาดแขนขวา แขนซ้าย แล้วก็บิดหน้ามาหายใจทางขวา แต่นี่เธอสอนว่าให้นับสามแขน แล้วค่อยหันมาหายใจ
พอเป็นอย่างนี้จังหวะมันก็เป็น แขนขวา แขนซ้าย แขนขวา บิดหน้ามาหายใจทางซ้าย แขนซ้าย แขนขวา แขนซ้าย บิดหน้ามาหายใจทางขวา ทั้งหมดนี้เริ่มง่ายๆ จากการนับสาม แทนการนับสองครับ
ผมทดลองว่ายแล้วก็พบว่าดี สนุกกับการว่ายน้ำมากขึ้น บางวันก็นึกอยากไปลองซ้อมท่าที่ได้เรียนรู้มาใหม่ นอกจากจะว่ายได้ดีขึ้นแล้ว ผมยังคิดเอาเองว่าร่างกายจะสมดุลขึ้นจากการที่ได้บิดศีรษะไปทั้งสองด้าน
ผมกังวลเรื่องความไม่สมมาตรของร่ายกายตัวเองอยู่ครับ มันเหมือนว่าที่ผ่านมาผมจะใช้ร่างกายสองข้างไม่เท่ากัน ซึ่งมักจะนำไปสู่ความปวดเมื่อยที่ไม่เท่าเทียมของอวัยวะแต่ละข้าง นี่ทำให้บางทีเวลาซ้อมเตะบอลกับลูกชาย ผมก็กระตุ้นให้เค้าใช้ขาข้างที่ไม่ถนัดอยู่บ่อยๆ
การได้ทักษะว่ายน้ำพื้นฐานจากโค้ชระดับทีมชาติมาอย่างงงๆ ก็เป็นเพราะความสัมพันธ์ของสองครอบครัวเรา (ไทย-อิสราเอล) ค่อนข้างดีครับ พวกเราแบ่งอาหารกันกิน เที่ยวหาดใกล้ๆ ด้วยกันบ้าง พ้นจากการแบ่งปันเรื่องที่เป็นรูปธรรมก็เลยพัฒนามาสู่การแบ่งปันสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างเช่น ทักษะ ทัศนะ และความรู้ นี่นับว่าชื่นมื่นและเกินความคาดหมายของพวกเราทั้งสองครอบครัว
หลายสัปดาห์ก่อน เนีย สามีของโมอี้ แนะนำหนังสือชื่อ Catch-67 เขียนโดย Micah Goodman เพื่อให้ผมเข้าใจยิวและอิสราเอลมากขึ้น ผมอ่านไปได้ครึ่งเล่มแล้ว คิดว่าน่าสนใจ สังคมอิสราเอลก็แบ่งเป็นสองฝ่ายและแตกแยกกันไม่แพ้บ้านเราครับ อาจต่างบริบทกันในทางประวัติศาสตร์ แต่จุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาอาจไม่ต่างกัน
ในบทนำของหนังสือเล่มนี้ บอกกับผมว่า มันโอเคที่จะบอกว่าคนคิดต่างจากเรานั้นคิดผิด (wrong) แต่มันไม่โอเคเลยที่จะบอกว่าคนคิดต่างจากเรานั้นเลว (evil)
พูดอย่างแรกยังพอจะคุยต่อเพื่อหาจุดร่วมได้ แต่ถ้าเป็นอย่างหลัง นอกจากจะไม่ได้คุยแล้ว ยังแต่จะทำให้ความขัดแย้งร้าวลึกลงไปอีก
ผู้เขียนยังบอกกับชาวอิสราเอลทั้งสองฝ่าย (หรือมนุษย์โลกผู้แบ่งฝักแบ่งฝ่ายทั้งหลาย) อีกว่า เวลาเราเรียกร้องให้คนอีกฝ่ายมาเข้าใจเรานั้น เราต้องเริ่มต้นจากที่เราเข้าใจพวกเขาก่อน
ผมมาคิดเทียบกับตัวเอง ก็พบว่าเคยทำผิดไปจากที่ผู้เขียนแนะนำอยู่เหมือนกัน หลายครั้งทำตัวก็ไม่ (อยาก) เข้าใจผู้คนที่เห็นต่าง และผลักให้พวกเค้าไม่มีพื้นที่อยู่ในชีวิตผม
พอเป็นอย่างนี้บทสนทนาก็ไม่เกิด ทางออกและความเข้าใจร่วมก็เลยไม่ปรากฏ หวังกับตัวเองว่า ไม่กี่วันหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ และร่างกายสมดุลขึ้นจากการหันศีรษะไปทั้งสองด้านเวลาว่ายน้ำ ผมเองอาจพร้อมมากขึ้นที่จะเข้าใจและพูดคุยกับผู้คนที่เห็นต่างในเมืองไทยครับ
ด้วยมิตรภาพ
จ๊อก
ตอบ จ๊อก
เยี่ยมเลย กับการกระตุ้นให้ศิลป์ลองใช้เท้าข้างที่ไม่ถนัดบ่อยๆ
ของเราเมื่อครั้งที่ยังเป็นนักเตะที่เอาการเอางาน ก็เคยใช้วิธีนี้ ใช้เพราะบังเอิญว่าช่วงหนึ่งเท้าขวาข้างถนัดเล็บขบ ด้วยความอยากเล่นก็เลยต้องฝึกใช้เท้าซ้าย แรกๆ ก็ไม่ได้เรื่องหรอก มีไว้ยืนว่างั้นเถอะ เป็นนักบอลขาเดียว แต่นานไป เท้าซ้ายก็ค่อยพัฒนาขึ้นจนเรียกได้ว่าขยับมาใช้งานได้ดีแทบจะเท่าข้างขวา บอลมาทางไหนก็เล่นได้หมด ประโยชน์มันเพิ่มขึ้นมหาศาลเลย ทั้งในแง่เกมและความรู้สึก ซึ่งถ้าไม่เจ็บ และไม่พยายามเรียนลองสิ่งใหม่ ก็คงเป็นนักบอลขาเดียวไปจนตาย
แล้วก็ นะ ถ้าขาเดียวระดับ ดีเอโก้ มาราโดนา เราก็คงไม่ต้องมาเสียดายอะไรที่ไม่ได้ฝึก แต่ขาเดียวระดับเราๆ การยอมฝึกในสิ่งที่ไม่ถนัดบ้าง มันคือความรู้ใหม่ ประสิทธิภาพใหม่ เปิดโลกใบใหม่ ที่ถ้าปิดขังตัวเอง ไม่ริเริ่มลองเรียน มันโคตรน่าเสียดาย เอาใจช่วยเจ้าศิลป์ให้อดทนหน่อย แรกๆ ทางไหนคุ้นเคย มนุษย์ย่อมเลือกทางนั้น แต่ทนเหนื่อยไม่นาน เมื่อก้าวผ่านวันแรก เดือนแรกไปแล้ว ที่ว่ายาก แท้จริงก็แค่เป็นสิ่งไม่คุ้นเคยเท่านั้นเอง
ไม่แน่ใจว่าเคยเล่าให้คุณฟังหรือเปล่า ว่างานสัมภาษณ์อันเป็นสัมมาอาชีพของเรามาจนถึงวันนี้นั้น (เริ่มต้น 1993) ก็หาใช่มีจุดเริ่มจากความสนใจหรือความถนัด เป็นความจับผลัดจับผลูด้วยซ้ำ และทำทีแรกก็ไม่ได้ชอบเลย ไม่สนุก กระทั่งลังเลว่าจะเลิกดีไหม เพราะโดยพื้นเพก็ไม่ใช่คนที่เข้าหาใครง่าย ช่างเจรจา หรือว่าอยากรู้อยากเห็น ด้วยวงล้อของการงานนักหนังสือพิมพ์นั่นแหละ ที่ฉุดดึงไว้และมีเสน่ห์เพียงพอต่อการท้าทายกับตัวเองให้อดทนฝึกหัด
ผลก็อย่างที่เห็น พอชั่วโมงบินถึงระดับหนึ่ง พอค้นพบและได้ลิ้มรสหวานของมัน ความรู้สึกด้านลบ ณ จุดเริ่มต้นมลายหายสิ้น เหลือแต่ความหลงใหล รื่นรมย์ พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่างานพบปะพูดคุยสัมภาษณ์คนใหม่ๆ ไม่มีความกดดัน ปลอดทุกข์ หรือฟินทุกวินาที มันก็คละๆ ปะปนกันไป เหมือนทุกเรื่อง ข้อดีคือนี่เป็นงานที่เราเลือก เรารัก จะหนักจะเหนื่อยยังไงก็ต่อสู้ล้มลุกคลุกคลานกันมันไป
ถามว่าเคยมีไหม อารมณ์ประมาณคุณ ที่เหนื่อยหน่ายมนุษย์ ไม่อยากคุยกับใคร มีสิ เหมือนความหิว ความง่วงน่ะ มันก็ปนๆ อยู่ในเลือดเนื้อแห่งความแข็งแรงเบิกบาน เหนืออื่นใด เราว่ามันอยู่ที่ทัศนะ ปรารถนา และการให้คุณค่า อย่างเรา ความเหนื่อยความเบื่อเรื่องเล็กน่ะ เราสนใจมนุษยวิทยา ชอบฟังเรื่องเล่า แล้วก็สนุกกับศิลปะศาสตร์ในโลกของตัวหนังสือ การงานที่ทำอยู่ก็เลยนับว่าลงตัว เชื่อมตรงกับใจ บวกกับสถานการณ์การบ้านการเมืองด้วย เราเห็นว่าประชาชนถูกทำให้ไม่มีเสียง ไม่ให้คิด ไม่ให้พูด นั่นยิ่งเป็นแรงผลักว่าถ้าการงานของเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระจายเสียงของผู้คนได้บ้าง เราก็ยินดี อยากเห็นอยากมีพื้นที่ทางไดอะล็อกใหม่ๆ ไอ้อารมณ์เบื่อๆ มนุษย์ สุดท้ายเลยน้อยลงจนคล้ายจะหายไปเลย อย่างที่คุณอ่านหนังสือมานั่นแหละ มันโคตรน่าเศร้า กับความคิดความเชื่อว่าคนคิดต่างจากเรานั้นเลว สัจจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ นะ ในบ้านเมืองของเรา ไม่เคยให้เวลาศึกษากันเลย ไม่เคยฟังกันและกัน ‘พูด’ อย่างลึกซึ้งถึงลูกถึงคนเลย ก็พิพากษากันเสียแล้วว่าเลว จับพวกมันไปขังคุก เราเห็นว่านรกเท่านั้นที่รออยู่เบื้องหน้า ถ้าไม่เปลี่ยนทาง เปลี่ยนทัศนคติ แน่นอนว่ามีแต่การพูดการฟังกันเท่านั้นที่เป็นทางออก
nan dialogue จะมีงานเปิดตัววันที่ 27 พฤศจิกายนนี้นะ เป็นปาร์ตี้เล็กๆ เพื่อรายงานตัวอย่างเป็นทางการ กรรมกรสอนหนังสือแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก็ตอบตกลงแล้วว่าจะมาร้องเพลง แจ้งไว้เนิ่นๆ เผื่อคุณจะพาเจ้าศิลป์ว่ายน้ำ (ด้วยท่าใหม่ๆ) ข้ามจากพะงันมาสูดดมอากาศดีๆ ของฤดูหนาวที่น่าน
เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อก เป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน