the letter
the letter

โปรดเรียกขานฉันด้วยนามอันแท้จริง

สวัสดีครับพี่หนึ่ง

ผมกลับมาถึงกรุงเทพฯ ในวันท้ายๆ ของงานสัปดาห์หนังสือแรกในรอบสองปี ไม่ได้ไปงานหรอกครับ แต่ก็ได้ข่าวว่าหลายบูธขายกันได้ดีอยู่ เหล่านักอ่านก็เดินทางไปงานกันได้อย่างสะดวกเพราะที่จัดงานคือสถานีกลางบางซื่อ จุดศูนย์กลางของการขนส่งด้วยระบบรางของประเทศ

เพื่อนบางคนเล่าให้ฟังว่าแม้จะเดินทางสะดวก แต่ตอนเดินในงานก็จะงงๆ เล็กน้อยเพราะผังของบูธต้องเว้นระยะให้กับพื้นที่ฉีดวัคซีนซึ่งก็ใช้พื้นที่แห่งนี้เช่นกันมาอยู่ก่อนแล้ว

ผมยินดีกับเพื่อนๆ ชาวสำนักพิมพ์หลายท่านที่ได้มีเวลาพบปะกับนักอ่านและได้ขายหนังสือในแบบที่เคยเป็นมาบ้าง สองปีที่ผ่านมา ถ้าไม่นับว่ายอดขายส่วนหนึ่งมาจากสายส่งและร้านหนังสือแล้ว การขายที่เหลือคือการขายทางช่องทางออนไลน์ทั้งนั้น การได้พบปะกันตัวเป็นๆ เพื่อทักทาย ถามไถ่ และพูดคุยกันเรื่องหนังสือระหว่างคนเขียนกับคนอ่านน่าจะให้ความรู้สึกที่ดีกว่าการแชทในอินเทอร์เน็ตเป็นไหนๆ

ได้ข่าวว่าเร็วๆ นี้ก็จะมีงานหนังสืออีกงานที่สามย่าน อะไรๆ ที่เคยเป็นเรื่องปกติน่าจะเริ่มฟื้นกลับคืนมาแล้วครับ

เพื่อนอีกคนเล่าว่า ดูแล้วสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์แห่งนี้จะใช้ถูกใช้จัดงานต่างๆ อันไม่เกี่ยวข้องกับการรถไฟไปอีกสักพักใหญ่เลยละครับ ก็จะใช้เดินรถไฟความเร็วสูงได้อย่างไร ในเมื่อรางยังไม่ได้สร้าง รถไฟความเร็วสูงก็ยังไม่มี แถมโครงการนี้ยังอยู่ในมือของรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ผมว่าไหนๆ เราก็จะยังไม่มีรถไฟความเร็วสูงไปอีกนาน บางส่วนของพื้นที่แห่งนี้น่าจะปรับเป็นลีฟวิ่งมิวเซียมว่าด้วยรถไฟโบราณไปซะเลย รถไฟเก่าๆ หลากหลายรุ่นล้วนยังถูกใช้งานในดินแดนแห่งนี้ ถ้าทำแล้วเวิร์กก็น่าจะเจียดงบฯ ไปซื้อรถไฟขับเคลื่อนด้วยจักรไอน้ำมาด้วย จะได้จบครบถ้วนกระบวนความ ใครต่อใครที่เดินทางผ่านมาดินแดนนี้ก็จะรู้สึกเหมือนได้ย้อนเวลากลับสู่อดีต อะไรที่ใครหลายคนในโลกนี้เกิดไม่ทัน ไม่เคยเห็น มักผุดเกิดและฟื้นคืนชีพได้อยู่เสมอๆ เหมือนดั่งว่าในประเทศไทยนั้น นาฬิกามันเดินทวนเข็ม 

 

the letter

 

ไม่กี่วันก่อน ตอนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ สภาพที่ท่าเรือพะงัน-ดอนสัก ก็ดูไม่ต่างอะไรไปจากสถานีกลางบางซื่อ พวกเราเอารถลงเรือของบริษัทที่ชื่อ ราชา เฟอร์รี่ ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินเรือในเส้นทางนี้ ใครหลายคนที่เกาะพะงันพูดถึงเรือของบริษัทนี้ด้วยท่าทีรังเกียจ ไม่ใช่เพราะชื่อนะครับ แต่เพราะเรือที่ใช้รับส่งผู้คนของบริษัทนั้นแสนเก่าและทรุดโทรม เกิดอุบัติเหตุขัดข้องอยู่หลายๆ ครั้ง ตารางเวลาที่ใช้ระบุเวลาเรือออกและเข้านั้นต้องถูกพิจารณาประกอบกับความสามารถของเรือแต่ละลำอีกครั้ง ผมรู้เรื่องนี้จากพนักงานขายตั๋วรถโดยสาร ป้าแกว่าเรือแต่ละลำนั้นความเร็วไม่เท่ากัน ถ้าจะขึ้นรถโดยสารรอบค่ำให้ทัน บางครั้งอาจต้องลงเรือรอบสิบเอ็ดโมงเช้า แต่ถ้าโชคดี ได้เรือสภาพดีลงเรือรอบบ่ายสองก็ยังทัน ทั้งนี้จะลงรอบไหนให้โทรฯ มาเช็คกับป้าอีกทีตอนเช้าวันนั้น ดูสิครับพี่หนึ่ง ตารางเวลาคือสิ่งประดิษฐ์ที่ออกแบบมาให้มนุษย์แต่ละคนได้วางแผนและสร้างจังหวะที่เหมาะสมให้กับชีวิตตัวเอง แต่เมื่อมันมาอยู่ในดินแดนนี้แล้วก็ดูแปลกปลอมเหมือนไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของมัน

หลายสิบปีก่อน ตอนไปซัมเมอร์แคมป์ที่เมืองเล็กๆ ในนิวซีแลนด์ ผมยังจำได้ว่าตัวเองแปลกใจและประทับใจแค่ไหนที่ทุกป้ายรถเมล์มีตารางเวลาระบุว่ารถจะผ่านมาเวลาใดบ้าง เวลาจะนั่งรถเมล์ก็ทำเพียงแค่ตั้งเวลานาฬิกาของเราให้ตรงกับของเมือง แล้วก็เดินไปรอในเวลาที่ระบุก็พอ ไม่ต้องเผื่อเวลามานั่งรอนานๆ เหมือนบ้านเรา หรือต้องคอยโทรฯ ถามป้าว่าวันนี้ควรไปเวลาไหน ‘ไทยไทม์’ คือสิ่งที่ชาวต่างชาติหลายๆ คนต้องน้อมรับ ตารางเวลาของระบบขนส่งมวลชนยังคลาดเคลื่อนและบิดเบี้ยวขนาดนี้จะไปนับประสาอะไรกับการนัดหมายของผู้คน (เรื่องส่งต้นฉบับนี่ก็ด้วยเหมือนกัน /ฮา) แม้จะดูน่าหงุดหงิด แต่ชาวต่างชาติบางคนกลับมองมันเป็นเรื่องดี ประมาณว่ามึงจะเร่งร้อน เคร่งเครียด และจริงจังกันไปทำไม มีชีวิตอยู่ไปอย่างนี้แหละ มีความสุข ไหลๆ เรื่อยๆ เปื่อยๆ วันนี้ไม่มาก็รอพรุ่งนี้ ถ้าพรุ่งนี้ไม่มาอีก ก็รอพรุ่งนี้ของพรุ่งนี้สิ จะไปเครียดอะไรหนักหนากับชีวิต

เล่าถึงเรื่องนี้แล้วนึกไปถึงการบ้านการเมือง ผู้ใหญ่ (คนที่แก่กว่าผม) บางคนมักจะบอกให้ผมรอ รอการเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องไปเร่งรัดมัน ถ้าผมจำไม่ผิดก็น่าจะร่วมสิบห้าปีมาแล้วที่ผมได้ยินคำชี้แนะทำนองนี้ หมดเลขเก้าก็ไม่มีเลขสิบแล้วแหละ รอให้เก้าหมดไปก่อนเดี๋ยวเลขต่อไปก็จะเป็นศูนย์ แล้วเป็นอย่างไรล่ะครับ เลขศูนย์ที่ว่ามันดันมีเลขหนึ่งมาอยู่ข้างหน้าด้วย พอผมกลับไปถามถึงสิบ พวกเขาก็ตอบแบบเดิมอีกว่าหมดจากสิบก็ไม่มีสิบเอ็ดแล้วแหละ ผมฟังคำตอบด้วยความรู้สึกเหมือนเดจาวู

อีกคำที่พวกเขามักจะบอกก็คือ เวลาจะเป็นคำตอบว่าสิ่งที่เราคิดและวิเคราะห์กันไว้มันถูกหรือผิด สิบห้าปีในชีวิตผมนั้นไม่น้อยนะครับ และผมคิดว่าช่วงเวลานี้ก็ให้คำตอบให้กับผมแล้ว เมื่อเราอยากให้เก้ากลายเป็นศูนย์นั้นเราต้องตัดเส้นที่ติดอยู่ด้านล่างด้านขวาของวงกลมแล้วเอาไปเข้าเตาหลอมและฝังกลบ ไม่ใช่ย้ายมันไปไว้ข้างหน้าวงกลมจนกลายเป็นเลขสิบที่เราแสนรังเกียจ
 
นอกจากรถไฟโบราณ เรือเฟอร์รี่แสนเก่าแล้ว เมืองไทยเราน่าจะเป็นแหล่งขุดค้นชั้นดีสำหรับนักมานุษวิทยาเพื่อศึกษาว่าผู้คนในกาลก่อนกับระบบการปกครองโบราณนั้นอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ฝรั่งบางคนบอกว่าในโลกตะวันตกนั้นการกดขี่และคอร์รัปชั่นนั้นก็มีอยู่ไม่ต่างจากที่เมืองไทย เพียงมันแนบเนียนและดูมีอารยธรรมกว่า ที่นี่ (เมืองไทย) อะไรที่เหมือนเป็นปรสิตพวกนี้อยู่บนดินและเห็นชัดด้วยตาเปล่า ผมไม่มีข้อโต้แย้งในเรื่องนี้ เพียงแต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า เราจะเรียก หรือพูดถึงมัน (ปรสิต) ได้อย่างไร แค่ไหนมากกว่า

ด้วยรักและมิตรภาพครับ
จ๊อก
  
ปล. ผมยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มสุดท้ายของพี่วัฒน์ที่ใกล้จะเริ่มพิมพ์ในเร็ววันนี้แล้ว โคตรดีใจและภูมิใจที่ ‘ภาพพิมพ์’ ได้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ มันเป็นหนังสือวรรณกรรมไทยเล่มหนาที่สุดเล่มหนึ่งที่ผมเคยพิมพ์มา ผมตั้งใจว่าจะเริ่มอ่านพร้อมๆ กับนักอ่านคนอื่นๆ ที่น่าจะได้รับหนังสือในเดือนพฤษภาคม เดาเอาว่าเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้น่ากระทบกระแทกจิตใจใครอีกหลายๆ คน นี่อาจเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของการเป็นนักเขียนนะครับ ตัวตายไปแล้ว แต่น้ำเสียงผ่านอักขระยังคงกังวาลก้องในบรรณพิภพแห่งกะลาแลนด์

 

nandialogue

 

ตอบ จ๊อก

ตั้งแต่ย้ายชีวิตมาอยู่น่าน เรากับงานหนังสือดูเหมือนจะขาดจากกันไปเรื่อยๆ ระยะทางหรือความห่างไกลคงไม่ใช่คำตอบหลัก โดยพื้นฐานที่มา สถิติ ประวัติศาสตร์ เราไปงานหนังสือน้อยอยู่แล้ว (ทั้งในฐานะนักอ่านและนักเขียน) นิสัยขี้รำคาญนั้นหนึ่ง อึดอัดกับการเบียดเสียดยัดเยียด (ที่จริง ภาพคนหลงใหลการอ่านจับกลุ่มรุมทึ้งหนังสือนั้นคือความงดงามอย่างไม่ต้องสงสัย) และสอง, สถานะของเรามันลอยๆ คือไม่เคยมีบูธของตัวเอง ทุกครั้งที่ไป (ในฐานะนักเขียน) ก็ไปฝากขายบูธเพื่อน ไปเที่ยว ไปนั่งเล่น ไปกินเหล้า ฉะนั้น มันจึงอยู่ในความหมายว่า ‘ไปหรือไม่ไป’ ก็ได้ สิ่งที่เกิดจริง ช่วงเวลาที่เราไปบ่อยที่สุดคือตอนร่วมงานกับ บินหลา สันกาลาคีรี เพื่อนมีบูธ นิตยสารไรท์เตอร์ที่เราร่วมงานอยู่แบกของไปขาย เราก็ไปร่วมแจม แม้ในจำนวนน้อยครั้งนั้น ผลลัพธ์ของมันทำให้เรารับรู้ เช่นเดียวกับเพื่อนนักเขียนและสำนักพิมพ์ทั้งหลายตระหนักรู้มานานคือการได้เจอผู้อ่านนับเป็นสิริมงคลของชีวิต ไอ้ที่บอกว่าไม่ค่อยสบายเนื้อสบายตัว เขินๆ งงๆ พอได้เจอหน้าคนที่เขาอยากเจอหน้าเราจริงๆ พบเห็น พูดคุยกันตัวเป็นๆ คุณค่าของโมเมนต์นั้นก็เท่ากับหรือมากกว่าคุณค่าของความดีงามทั้งปวง นี่พูดในความหมายของนักเขียนขายน้อย ซึ่งแม้ในความน้อย หากเมื่อเราเจอความจริง ค้นพบปะทะคนจริง มันคือโมเมนต์แห่งความสว่างไสว คือหลักฐานและการยืนยันว่าทำไมเราจึงยิ่งเชื่อมั่นศรัทธาในวิชาชีพ หลายคนอาจไม่รู้ ไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยเจอ แต่เราเคยเจอ และบอกได้ว่าการเขียนหนังสือคือสมการแห่งความเท่าเทียมและสมดุล ใครลงแรงทำเท่าไร ทำแบบไหน ก็ได้รับผลตอบแทนเช่นนั้น กล่าวในสำนวนเด็กแว้นก็คือ ถ้าคุณเอาตีนทำงาน คุณก็ได้รับส้นตีน

ไม่แน่ใจนักว่าการงานอื่นๆ เป็นเช่นนี้มั้ย เราเดาว่าน่าจะใช่ (เพราะนักเขียนศิลปินก็เป็นมนุษย์ ทำงานปกติธรรมดาเช่นทุกอาชีพ) ประเด็นอยู่ที่ว่าในสิ่งที่ได้รับ เรามองเห็นมันหรือเปล่า ละเอียดอ่อนพอที่จะรู้สึกได้มั้ย เหนืออื่นใด ถ้าในเวลาแห่งการงาน เอาตีนเขี่ย ขายตัว ไม่ขวนขวายแสวงหาความรู้ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่กลับคาดหวังผลเป็นเลิศ นึกออกใช่มั้ยว่ามันก็แปลกไป ไม่แฟร์ และเราท่านต้องตรวจทานให้ดีว่าพลั้งเผลอทำตัวเช่นนั้นหรือเปล่า รู้ตัวหรือยัง

ดังที่กล่าวแล้ว มือเราคงหลุดจากมือผู้จัดงานหนังสือที่กรุงเทพฯ ไปเรื่อยๆ ไม่ง่ายที่จะกลับไปแจมกับเพื่อนพ้องอีก (ในสถานะผู้ขาย) อย่างดี นานทีปีหนอาจแวะไปเที่ยว ไปคุย ไปกินเหล้า ภาพเก่าๆ คงจบไปแค่เท่าที่เคยทำมา เพียงแต่ว่าเราอยู่ฝ่ายสนับสนุน เอาใจช่วย ยินดี ที่จะมีงานสัปดาห์หนังสือต่อๆ ไป ขอให้นักอ่านได้เจอหนังสือที่รัก ขอให้นักเขียนและสำนักพิมพ์ขายของได้ เราเห็นว่าอุตสาหกรรมหนังสือเป็นสิ่งที่ดี อยากเห็นมันมีอนาคตก้าวหน้า แม้ว่าย้ายตัวเองออกมาเฝ้ามองไกลๆ จากชายขอบซึ่งแท้จริงไม่ว่าอยู่ที่ไหน ใจมันก็วนๆ เวียนๆ ผูกพัน ตัดกันไม่ขาด

กับเรื่องเล่าอื่นๆ ในจดหมายฉบับนี้ของคุณ เราเห็นด้วยทุกประการ และหวังว่าไม่นาน จะได้ไปนั่งคุยที่พะงัน เขียนจดหมายมันก็สนุกนั่นแหละ แต่เรื่องมันเยอะไง ยิ่งเรื่องแบบนี้ ฟังแล้วก็อยากตอบอยากพูด พิมพ์ไม่ทันใจเลยจริงๆ ..ให้ตายสิ.


เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อกเป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน

You may also like...