อรุณสวัสดิ์ครับพี่หนึ่ง
ผมตื่นแต่เช้ามืดมาเขียนจดหมายหาพี่ คิดเรื่องที่จะเล่าไว้ตั้งแต่เมื่อคืน เรื่องเกิดขึ้นหลายวันก่อนในค่ำคืนสุดท้ายของเราบนเกาะพะงัน ก่อนกลับมาพักผ่อนช่วงสงกรานต์ที่กรุงเทพฯ เป็นคืนวันเสาร์ที่ลิเวอร์พูลลงแข่งตั้งแต่เที่ยงวันในอังกฤษซึ่งหมายถึงหัวค่ำในประเทศไทย ผมชวนดีนและครอบครัวไปดูบอลกันที่สปอร์ตบาร์ในตัวเมือง พาเด็กๆ ไปดูผู้คนอันหลากหลายและซึมซับรสชาติของการดูบอลเป็นหมู่คณะ ระหว่างพักครึ่ง ดีนพาลูกชายของเขาและลูกชายของผมออกไปซื้อไอศครีมกินแก้เซ็ง ระหว่างทางจากบาร์ถึงเซเว่นฯ พวกเขาพบกับ แอนดี้ ฮอลล์ – นักดนตรีสุดเพี้ยนที่ผมเคยเล่าให้พี่ฟังในจดหมายฉบับก่อนๆ – พวกเขาทักทายและกล่าวสุขสันต์วันเกิดย้อนหลังให้กับแอนดี้ ลูกชายผมถามเขาว่า แอนดี้ คุณอายุเท่าไร แอนดี้ตอบว่า I am now Three Hundred and Twenty One years old. เด็กๆ อ้าปากหวอแล้วกลับมาเล่าให้ผมฟังว่าพวกเขาเพิ่งพบเจอกับผู้ชายที่อายุมากที่สุดในโลก
ลูกชายเล่าอีกว่าแอนดี้บอกกับพวกเขาว่า I know everything, but forget almost everything. ผมซึ่งไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์อดหัวเราะและชื่นชมแอนดี้ไม่ได้ แค่สองประโยคก็ทำให้เด็กๆ ขำก๊ากและทำให้ผมคิดอะไรต่อได้อีก เป็นคำตอบที่แสนถ่อมตัวและน่านับถือ แอนดี้ใช้ชีวิตอย่างที่มวลมนุษย์เรียกร้องให้คนวัยชราควรจะทำ สร้างความสุขให้กับผู้คนและเด็กๆ ผ่านเสียงดนตรีและบทสนทนาของเขา ดีนเล่าให้ฟังว่าแอนดี้เคยประสบอุบัติเหตุตั้งแต่หนุ่มๆ ในกะโหลกมีโลหะชิ้นเล็กๆ ฝังอยู่ นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แกเป็นคนแก่ที่น่ารักแบบบ๊องส์ๆ
ผมกลับมามองคนแก่จำนวนหนึ่งในสังคมไทยที่พยายามฉุดรั้งห้ามความเปลี่ยนแปลงที่กำลังก่อเกิด แล้วก็ได้แต่ถอนใจ อยากจะเอาโลหะไปฝังไว้ในกะโหลกกะลาของคนชราเหล่านี้เสียจริงๆ จะได้หายบ้า (อำนาจ) แล้วหันมาสร้างความสุขให้กับผู้คนเสียบ้าง
ในช่วงนี้ที่ได้เข้าไปโรงพิมพ์ ผมแอบเห็นอะไรแบบนี้อยู่เหมือนกัน เพื่อนร่วมงานรุ่นใหม่ๆ หลายคนมีความคิดดีที่อาจพาให้องค์กรอยู่รอดได้ แต่ก็ติดขัดไม่มีช่องทางให้สื่อสาร อีกทั้งยังถูกถาโถมด้วยกองงานอันซ้ำซ้อน จำเจ และน่าเหนื่อยหน่าย สิ่งที่ผมพยายามทำอยู่คือการฟังเสียงและเช็คชีพจรหัวใจของพวกเขา แล้วดูว่าพอจะไถหว่านเพาะพลังแห่งวัยเยาว์ และตัดแต่งกิ่งก้านแห่งความชราและล้าหลังในองค์กรออกไปอย่างไรได้บ้าง เพื่อเปิดช่องให้แสงแห่งความหวังส่องถึงเพื่อนมนุษย์รุ่นใหม่เหล่านี้
งานจำนวนหนึ่งในโรงพิมพ์ที่เราทำอยู่นั้นค่อนข้างซับซ้อน ท้าทาย และเรียกร้องพลังงานในการทำงานสูง บางครั้งความเหนื่อยล้าที่สะสมจากการทำงานจะฉุดรั้งให้หลายคนหยุดคิดตั้งคำถามและปฏิเสธความเปลี่ยนแปลง ความเคยชินและท่าทางเดิมๆ ที่เคยใช้ได้ดีเมื่อหลายปีก่อนมักถูกใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างเปล่าประโยชน์และไร้ความหมาย เหตุผลของการกระทำต่างๆ ล้วนมีขึ้นเพื่อแก้ต่างและแก้ตัว (แทนที่จะมีเพื่อแก้ไข) หากปล่อยไว้นาน ส่วนที่ไม่น่ารักของความชราเหล่านี้จะซึมเข้าสู่จิตใจของพนักงานคนอื่นๆ หนุ่มสาวบางคนในองค์กรจึงอาจชราทางความคิดไปโดยไม่รู้ตัว
ส่วนหนึ่งก็อาจด้วยว่าผมอยากผันบทบาทตัวเองให้เหมาะสมกับชีวิตส่วนตัวที่กำลังดำเนินไปด้วย จากที่เคยลงไปวิ่งซ้อมและลงแข่ง ก็อยากจะเชียร์ผ่านจอและส่งข้อชี้แนะและกำลังใจมาบ้างเป็นครั้งคราว ทำให้ครั้งนี้ผมพูดกับเพื่อนร่วมงานรุ่นใหม่เหล่านี้เสมอๆ ว่าขอให้คิดซะว่าในตัวตนของภาพพิมพ์นั้นมีตัวตนของพวกเขาอยู่ด้วย ดอกผลอันดีงามจากการงานและคำชื่นชมจากลูกค้าก็ล้วนมาจากตัวตนและหยาดเหงื่อของพวกเขา ต่อไปนี้เวลาคิดอะไรได้ให้พูดออกมา เสนอ ถกเถียง แล้วก็อย่าลืมที่จะพิสูจน์ งานพิมพ์เป็นเรื่องรูปธรรมที่จับต้องได้ ถ้าคิดว่าทำอย่างนี้จะได้อย่างนั้นก็ต้องทำให้เห็นบนแผ่นกระดาษจริงๆ ไม่ใช่เห็นบนแผ่นกระดานในที่ประชุมหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ การถกเถียงที่ไม่นำไปสู่การกระทำใดๆ นั้นไร้ค่าและเสียเวลาเปล่า ความกล้าลองจะคลายความกังวลปนกังขาซึ่งเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ ระหว่างการทำงาน การคิดผิดหรือทำผิดนั้นเป็นเรื่องปกติของคนทำงาน แม้จะสร้างความเจ็บปวด แต่ความผิดพลาดก็ทำให้เราได้เรียนรู้เติบโต มันคือที่มาของทุกความสำเร็จ มันจะทำให้เราเป็นมนุษย์ผู้รู้จักสำเหนียก และมีเมตตากับผู้คน แทนที่จะเป็นคนโอหังที่โง่เขลาและหลงผิด
ผมไม่แน่ใจว่ากระบวนการเปลี่ยนถ่ายเพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานรุ่นใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้นต่อโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ จะกินเวลานานเท่าใดหรือจะสำเร็จหรือไม่ แต่อย่างน้อยผมก็ยังมีความสุขกับความหวังแบบนี้ มันดูเป็นธรรมชาติและเปี่ยมไปด้วยพลัง ถ้าสำเร็จได้เร็ววัน ผมอาจมีเวลามากขึ้นในชีวิตเพื่อเอาโลหะฝังใส่กะโหลกตัวเองเหมือนแอนดี้ ฮอลล์ แล้วเดินไปหลอกเด็กๆ ทั่วโลกว่า กูอายุสามร้อยกว่าปี รู้มาทุกเรื่อง แต่ก็ลืมไปแล้วแทบทุกเรื่อง ฮาฮา
รักและคิดถึง
จ๊อก
ตอบ จ๊อก
อ่านจดหมายคุณแล้วรู้สึกถูกใจแอนดี้จริงๆ คำตอบแค่ไม่กี่คำ แม่งเหลือแดก พยายามนึกแทนค่าโลหะในกะโหลกของเขา ว่าอารมณ์ขันหรือทัศนะ มุมมองเหล่านี้มันมาจากไหน เผื่อเราๆ ท่านๆ จะได้น้อมนำรับมาจารึกในกะโหลกตัวเองบ้าง (จะให้ไปประสบอุบัติเหตุแบบพี่แกก่อน ไม่เอาโว้ย) คุณว่าทำไมใครคนหนึ่งถึงฮา ทำไมอีกคนถึงหน้าบึ้งหน้างอตลอด เบื้องต้นเราว่าต้องตีความให้ดี ฮาแปลว่าอะไร หน้าตาเคร่งเครียดแปลว่าโกรธทุกอย่างในโลกหรือเปล่า คือมันไม่ใช่แค่ภายนอกแน่ๆ และความฮาหรืออารมณ์ขันก็ไม่ใช่หมายความแค่การปล่อยมุข สร้างเสียงหัวเราะให้ผู้คนทั้งวัน ลึกๆ แล้วเราคิดว่าทัศนะแบบแอนดี้มันสะท้อนความเข้าใจต่อชีวิต ผ่านร้อนผ่านหนาว ต่อสู้รู้จักมาจนเมตตา เคี่ยวกรำมาจนคลี่คลาย นึกออกใช่มั้ยว่าคนละโมบโลภมากพูดแบบนี้ไม่ได้ คนยะโสโอหังไม่มีทางจะมีทัศนะเช่นนี้ และผู้กดขี่ย่อมไม่มีอารมณ์ขัน
ประเด็นก็คือทำยังไงเราถึงจะเป็นคนเข้าใจชีวิต แค่ฟังก็เหนื่อยแล้วใช่มั้ย คำถามกว้างใหญ่ทำนองนี้คุยกันไปจนตายก็หาคำตอบสุดท้ายไม่เจอ รายละเอียดมันเยอะ สารพัดเงื่อนไข ไหนจะข้อยกเว้น เราขอรวบรัดแบบนี้ได้มั้ย คือเอาเรื่องตรงหน้าก่อน เอาสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดคือบทบาท หน้าที่ ใครมีการงานอะไร ต้องรับผิดชอบแค่ไหน ถ้าจัดการ ‘สารตั้งต้น’ ตรงนี้เคลียร์ หัวมันก็ไม่หนัก ใจก็น่าจะมีพื้นที่สำหรับการเต้นรำ อำโลก แต่ก็อีกนั่นแหละ กับอีแค่สารตั้งต้น เรื่องพื้นฐานตั้งแต่หน้าประตูบ้าน มันก็ไม่ง่ายที่ใครทุกคนจะเอาชนะหรือก้าวผ่าน ที่คุณบอกเล่าว่าบางเราชิงชราไปล่วงหน้าเกินกว่าวัยนั้นคือความจริงที่เห็นๆ กันอยู่ วัยหนุ่มทำไมไม่บู๊ ไม่ลุยแหลก ไม่รู้กาลเทศะ วิเคราะห์คุณค่าและแยกแยะนรกสวรรค์ไม่เป็น พูดในฐานะของคนที่โตมาในครอบครัวติดลบ โอกาสในชีวิตน้อย สิ่งที่พอจะแชร์ได้ก็คือเราต้องออกแรงวิ่งให้หนัก อย่ากลัวเหนื่อย มีแรงก็เอาแรงเข้าแลก ไม่แลกแล้วมันจะรอดได้ยังไง ยิ่งในยุคข้าวยากหมากแพง ค่าแรงถูก ทางเลือกของคนต้นทุนต่ำมีน้อยกว่าแน่ๆ แต่ต่ำก็ทำให้มันสูงไง หาวิธีเคลื่อนขยับ ไม่ใช่ยอมรับยอมจำนน เท่าที่เห็นมาด้วยตา คนหนุ่มสาวที่เติบโตก้าวหน้า เขาและเธอล้วนออกแรงวิ่งกันบ้าคลั่ง เดินทาง อ่านหนังสือ ฟังความคิดที่หลากหลาย เหนืออื่นใดคือไม่งอมืองอเท้า และจมอยู่ในหลุมที่ขุดขึ้นมาฝังตัวเอง
คล้ายๆ จะอยู่คนละขั้วเลยนะ แต่ที่สุดแล้วเราพบว่าอารมณ์ขันมันเหมือนคู่ขนานที่มาพร้อมๆ กับความเอาจริงเอาจัง คุณลองสังเกตสิ คนไม่ฮาแม่งมักเหยาะแหยะ เลื่อนลอย ขนาดหัวเราะมันยังขี้เกียจน่ะพูดง่ายๆ ขณะที่คนลงแรง ทำงานหนัก เขาจะรู้ไง เออ–รู้ทุกเรื่องและดูเหมือนจะลืมไปหมดแล้ว.
เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อกเป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน