สวัสดีพี่หนึ่งจากเคานท์เตอร์บาร์ J-House
วันนี้ช่วงเย็นๆ ผมขับรถกระบะเก่าๆ ของสตีฟ เพื่อนชาวอังกฤษที่เอารถมาฝากจอดไว้เข้าหมู่บ้าน
เนื่องจากรถไม่มี Easy Pass ผมเลยขับเข้าไปแลกบัตรตามระเบียบ รปภ.สาวถามผมว่าพี่มาทำอะไร
ผมบอกเป็นลูกบ้านที่ยืมรถเพื่อนมาใช้ เธอตอบว่า อ๋อ นึกว่าพี่เป็นช่างหรือผู้รับเหมาฯ
ถ้าเป็นอย่างนั้นจะเข้าหมู่บ้านไม่ได้เพราะเลยเวลาที่ทางนิติฯ อนุญาตแล้ว ผมอมยิ้ม นึกในใจว่านี่กูจะเป็นอะไรได้อีกวะ และอีกทางก็ชักสงสัยว่าภาพลักษณ์เราเริ่มเหมาะกับการทำงานก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ซะแล้ว 55
วันนี้จะลองเล่าในบทบาท จ๊อก ผู้รับเหมาฯ ดูซะหน่อย เรื่องของเรื่องก็คือบ้านที่กรุงเทพฯ ของผมนั้นพื้นทำด้วยกรรมวิธีหินขัดซึ่งเป็นกระบวนการทำพื้นแบบดั้งเดิม เอาหินมาโรยผสมกับปูนสีต่างๆ แล้วค่อยๆ ขัดให้เรียบ ไอเดียมาจากสถาปนิกเสนอและผมเองก็เห็นดีเห็นงาม
เอาง่ายๆ มันให้ความรู้สึกถึงความโบราณและดูเป็นธรรมชาติกว่าการปูกระเบื้อง ต้นทุนก็ไม่สูงมากเท่าพื้นไม้จริง
ทุกอย่างดูดีทั้งในแบบและวันแรกๆ ที่เราเข้ามาอาศัย ปัญหาก็คือว่านานๆ ไป พื้นหินขัดที่ว่านี้เริ่มมีรอยร้าว หนึ่งเส้น สองเส้น จนตอนนี้น่าจะมีเป็นร้อยๆ เส้นได้แล้ว ถามว่าเคลมเอากับผู้รับเหมาได้ไหม ถึงจะตอบว่าได้ แต่ก็ไม่น่าคุ้ม กระบวนการทำพื้นแบบนี้นี่เต็มไปด้วยฝุ่นผงที่ลอยฟุ้ง ถ้าจะซ่อมทีก็น่าจะต้องอพยพออกจากบ้านไปหลายวัน ทางออกที่ดีที่สุดก็คืออยู่กับรอยแตก รอยแยก หรือรอยร้าวให้ได้
ตอนตัดสินใจทำพื้นบ้านแบบนี้ ไม่มีใครเตือนเราสักคน สถาปนิกไม่ได้เตือน ผู้รับเหมาก็ไม่ได้เตือน ผมคิดว่าไม่ใช่ด้วยเจตนาไม่ดีที่จะหลอกอะไรเรา เพียงแต่สิ่งที่พวกเขาทำมันคืออุดมคติ คือความคิด และโลกในความคิดมักจะสวยงาม สมบูรณ์แบบ ไร้ตำหนิ และพื้นหินขัดก็เป็นอะไรที่สวยงามและเข้ากันได้ดีกับบ้านที่พวกเขาออกแบบหรือสร้าง
เจ้าของบ้านหรือคนอยู่ต่างหากที่ต้องอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง โลกที่เข้ามาอยู่ เข้ามามองใกล้ๆ แล้วจึงเห็นความไม่สมบูรณ์แบบ
รอยแตกเหล่านี้เคยสร้างความขุ่นข้องหมองใจให้ผมในวันแรกๆ ที่สังเกตเห็นมัน อยู่นานๆ ไปพวกมันเริ่มมีสมัครพรรคพวก แตกแขนงและเชื่อมต่อกันดั่งสถานีรถไฟใต้ดิน จากเคยขุ่น เคยทำเป็นหลับตาข้างนึงเพื่อจะทำเป็นมองไม่เห็น ทุกวันนี้ผมเริ่มหัวเราะและยิ้มให้กับรอยแตกเหล่านี้ ซ้ำยังเอามาเป็นเรื่องเขียนจดหมายให้พี่อ่านอีก
ผมเดาเอาอย่างเด็กหัดจะสร้างบ้านว่า โครงสร้างของอาคารคงมีการทรุดหรือบิดตัวไปสักเล็กน้อยตามกาลเวลาที่ผ่านไป แล้วเมื่อสิ่งที่แข็งอย่างพื้นหินขัดวางตัวอยู่บนฐานที่บิด ทางที่จะยังดำรงตนเป็นพื้นให้คนเหยียบก็คือการทรุดหรือบิดตามโครงสร้างใหญ่ การเคลื่อนตัวตามแรงโน้มถ่วงโลกแบบเฉพาะจุดจึงเป็นที่มาของรอยเหล่านี้
โครงสร้างยังแข็งแรง บ้านยังเป็นที่คุ้มกะลาหัวให้กับผู้อยู่อาศัย ลงเข็มลึกเท่าๆ กันก็ไม่ได้หมายความว่าบ้านจะทรุดตัวลงไปเท่าๆ กัน จุดรองรับปลายสุดของเสาเข็มแต่ละต้นน่าจะมีสภาพแตกต่างกัน ปลายเข็มบางต้นอาจเป็นหินก้อนใหญ่ บ้างอาจเป็นดิน และบ้างอาจเป็นโคลนชุ่มน้ำ หรือพื้นคอนกรีตหนายี่สิบเซ็นติเมตรส่วนที่ไม่ได้วางตัวบนคานคอดินก็อาจแอ่นตัวตกท้องช้างได้
อุดมคติอะไรเมื่อมาอยู่ในธรรมชาติที่เป็นจริงก็ต้องพบกับความไม่เรียบ ไม่สม่ำเสมอ แต่เอียงหรือแอ่นนิดหน่อยไม่ได้ทำความเสียหายอะไรใหญ่หลวงจนทำให้บ้านพัง
รอยแยกบนพื้นหินขัดคือการเตือนเบาๆ ให้เราสำเหนียกถึงความแตกต่างระหว่างโลกอุดมคติกับโลกแห่งความจริง
เดือนก่อน ในคืนวันเลี้ยงสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานชาวภาพพิมพ์ ผมขอร้องแกมบังคับให้คีย์สต๊าฟจำนวนนึงขึ้นเวทีเพื่อร้องหรือเต้นรำสร้างความบันเทิงให้กับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ บ้างทำได้ดี บ้างทำได้ห่วย ร้องเสียงหลง คร่อมจังหวะ เต้นไม่เป็นท่า แม้จะดูน่าขบขันและกังวานไปด้วยเสียงหัวเราะ แต่เพื่อนๆ หลายคนก็พากันออกไปเต้นรำหน้าเวที แถมยังหยิบแล้วยื่นแบงก์ยี่สิบ แบงก์ร้อยให้นักร้องเสียงหลงเพื่อเป็นกำลังใจ
ผมบอกกับบรรดานักร้องจำเป็นเหล่านี้ว่า การแสดงให้ผู้คนเห็นว่าเราไม่ได้เก่งไปทุกอย่างและมีบางเรื่องที่โคตรห่วย น่าจะสร้างระนาบความสัมพันธ์ที่ดีกว่าการวางระยะไว้ตัวและปิดซ่อนความอัปลักษณ์ เมื่อผู้คนมองกันอย่างที่เป็นมนุษย์ๆ ไม่ใช่เหล่าเทพหรือมาร นั่นคือจุดเริ่มต้นของชีวิตแห่งชนเผ่า วิถีที่เราเคารพทั้งความเก่งและความห่วยของเพื่อนเรา แล้วโอบรับทั้งหมดของตัวเขา เมื่อรู้จักใครสักคนนึงจริงๆ เราจะรู้ว่าไว้ใจเขาได้ในหลายเรื่อง และควรจะปล่อยวางในบางเรื่อง
บางทีผมก็คิดว่าบาดแผลบางอย่างในชีวิตตัวเองก็เกิดจากการที่เราเอามีดแห่งอุดมคติมากรีดเนื้อหนังอันแสนอ่อนนุ่มของตัวเอง การขยันทำงานและเป็นคนมีศีลธรรมนั้นมีราคาที่ต้องจ่าย เป็นซะบ้างก็จำเป็นเพื่อให้มีชีวิตรอด แต่ในบางครา การทำตัวว่างๆ เกเร และเอาเวลาไปทิ้งขว้างบ้าง ก็อาจจำเป็นไม่น้อยไปกว่ากัน
แด่เพื่อนผู้น่ารักและน่าเกลียดทุกคน
จ๊อก
ตอบ จ๊อก
บ้านคนเมืองกับบ้านคนป่ามันก็ช่างแตกต่างกันเสียจริง (คงเฉพาะบ้านเรามากกว่าว่ะ บ้านคนป่าหลังอื่นๆ ก็อาจเหมือนบ้านคุณ) ที่น่าน หน้าฝนคือการเริ่มต้นของสงครามคนกับหนู ปีแรกๆ ที่มาอยู่ ฝ่ายคนแพ้ขาด (ขาดทั้งในความหมายแพ้หลุดลุ่ย และมุ้งลวดฉีกขาด อีกทั้งฟูกหมอนกระจุยกระจาย) ตอนนั้นยังไร้ข้อมูลใดๆ โลกสวย รักสัตว์ จิ้งจก อึ่งอ่าง ตกชักโครก ก็กุลีกุจอช่วยเหลือ หิ่งห้อยหลงทางบินเข้ามาในบ้านก็พยายามเปิดประตูหน้าต่าง ชี้ช่อง ให้กลับคืนสู่โลกกว้าง
สิ่งมีชีวิตชื่อหนู นึกว่ามีแต่ตามท่อระบายน้ำในเมืองหลวง รักสันติ ต่างคนต่างอยู่ หนูกับคนไม่มีเหตุผลต้องมายุ่งกัน มันไม่ใช่ไง แท้จริงมันเถื่อน มันบ้าคลั่ง มันไม่แคร์ใคร เรื่องของเรื่องก็ไม่น่ามีอะไรซับซ้อนกว่าความพยายามหาที่อบอุ่นปลอดภัย ยิ่งฝนหนักๆ ตกต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ ป่าเปียก ยังไงก็ไม่สนุกแน่ๆ ยิ่งในเดือนฤดูที่จะออกลูกแพร่พันธุ์
จะหกปีเต็มๆ แล้วกับชีวิตบ้านป่า อะไรที่ไม่เคยรู้ก็พออ่านออก วิเคราะห์และประเมินล่วงหน้าได้แม่นยำขึ้น สองสามปีที่ผ่านมา ปัญหาวงการหนูๆ จบสิ้น ด้วยฤทธิ์แมวอ้อนอาย (ตัวแดกทั้งคู่ จับทุกคืน กินเรียบหัวยันหาง) แต่ปีนี้อ้อนหายไป (เดาว่าตาย) ปกติต่อให้แร่ดยังไง สามสี่วันมันต้องกลับบ้าน นี่สามเดือนแล้วมั้งที่แม่อ้อนของเราจากลา คิดถึงตัวนุ่มๆ หน้าหวานๆ และนิสัยเอาแต่ใจของมันแล้วก็ทั้งหมั่นไส้และใจหาย การเกิดดับพบพรากแม่งโคตรปกติ ใครก็รู้ แต่กับบางเรื่องมันเร็วไป ไม่ทันคิด ไม่ทันตั้งตัว แล้วดูดิ แมวยังขนาดนี้ เป็นคนจะขนาดไหน เมื่อวานยังกอดยังหอมกันอยู่ อีกวันเพียงไปเที่ยวผับ แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย
คุณเห็นด้วยมั้ยล่ะว่าในหลายๆ ครั้ง ความตายมัน absurd เกินไป คือเพียงจากลาสามัญมันก็แย่อยู่แล้ว บางสาเหตุต้นเรื่องก็ไม่รู้จะทำใจรับยังไง มันเหลือเชื่อ มันไร้สาระ และกะทันหันจนสุดจะทานทน
แล้วไงล่ะ พอนังอ้อนไม่อยู่ แมวอายก็เจอศึกหนักสิ รับผิดชอบสู้รบโดยลำพัง ผลก็คือปีนี้ปีศาจหนูโจมตีกัดมุ้งลวดขาดอีกแล้ว ยังดี (นับถึงนาทีนี้) ข้าวของไม่เสียหาย เข้าใจว่าเพิ่งเจาะรูสำเร็จ เข้าห้องแล้ว แต่ไม่ยังไม่ทันกัดฟูกหมอน เราเปิดประตูเข้าไปเจอ (ก่อนเปิดทุกครั้งจะอุ้มแมวไว้ในมือ /พร้อมรบ) โยนแมวลงพื้น และไม่เกินสิบวินาที หนูก็อยู่ในปากแมว
กำลังลุ้นว่าฤดูกาลนี้จะมีอีหนูไม่รักดีตัวนี้ตัวเดียวหรือเปล่า เพราะถ้ามีมาอีก ไม่รู้เราจะทันมันมั้ย อย่างที่บอก อายตัวเดียวยังไงก็เอาไม่อยู่ เฝ้าระวังไม่ไหว ของคุณซ่อมพื้น ของเราหนูตายไปเห็นๆ แต่กว่าจะหารูที่มันเจาะเข้ามาเจอ ก็เหงื่อท่วม ปีนซ้ายปีนขวา ยกเก้าอี้ ต่อบันได เสาะหารู วันแรกผ่านไป ไม่เจอ วันสองสามไม่เจอ ช่วงที่ไม่เจอก็หลอนสิ ว่าพรรคพวกมันจะมาแก้แค้น มีรูเก่าแล้วเข้าง่ายด้วยไง ไหนจะงูล่ะ เกิดสัตว์อื่นๆ ใช้โอกาสนี้หนีฝน นึกออกมั้ยว่ามันยุ่งไปหมด แต่ตอนนี้หาเจอและปะอุดเรียบร้อย
ก็ค่อยยังชั่ว รู้ว่าไม่จบหรอก ถ้ามันมาอีกและเราเผลออีก แม่งก็กัดทะลุช่องอื่นๆ เข้ามาเหมือนเคยๆ ใครมันจะว่างนั่งเฝ้าหนูทั้งวันวะ นึกในใจแบบคนบาป และโกรธต่อโลกในทุกเรื่องว่า มึงไปบ้านอื่นบ้างก็ได้นะ อีหนูบ้า ตำบลผาสิงห์ไม่ได้มีแต่บ้านกูโว้ยยย
จบเรื่องหนูที่อาจจะไม่จบ สิ่งที่บ้านป่าหน้าฝนต้องผจญรองลงมาคือแตน (หน้าร้อนคือผึ้ง / มันจะไม่มีปัญหาใดๆ เลยเว้ย ถ้าพวกสูไม่เข้าทำมารังในบ้าน) ปีนี้แตนเยอะมาก ก่อนเงื้อมีดตัดกิ่งไม้ ไม่มองให้ดีมีสิทธิ์โดน มันกระจายอยู่กันไปทุกที่ ที่แย่สุดคือในบริเวณบ้าน มากบ้างน้อยบ้าง ต่อให้ระมัดระวังแล้วก็เลี่ยงยากน่ะ ที่จะไม่กระทบกระทั่งกัน เออ แล้วพลาดพลั้งเมื่อไร เราสู้มันได้ซะที่ไหน พยายามก่อไฟ ใช้ควันป้องกันไว้ก่อนบ้าง คือช่วยได้นะ แต่ใครจะว่างมานั่งก่อไฟไล่แตนอยู่ทุกวัน สุดท้ายก็พ่ายแพ้มัน แล้วจากรังขนาดเล็กในวันแรก พอปล่อยเนิ่นนาน รังนั้นก็ขยายเป็นรังยักษ์ซึ่งยากจะแก้ไขกำจัด ที่พูดอยู่ตอนนี้ก็ได้แต่นั่งมอง ทำอะไรมันไม่ได้
เอาว่ามึงก็อยู่ไป และอย่ามายุ่งกับกู
สำหรับคนเคยโลกสวยและรักสัตว์ นอกจากหนูและแตน (งูหายไปหลายปีแล้ว นานๆ จะเจอ ฝูงหมาจากสวนยางข้างบ้านมันเข้ามาบ้านเราบ่อย ลูกพี่เค้าคงไม่ต้องจริตเท่าไร ถอยดีกว่า ไม่เอาดีกว่า) ที่สุดของสัตว์ จัดให้เป็นมือวางอันดับหนึ่งเลยก็คือปลวก บ้านไม้ด้วยไง ฝนฉ่ำๆ แบบนี้ ก็เรียกว่าปาร์ตี้กันสนุก เทยาฆ่ามันวันนี้ พรุ่งนี้ก็แทบจะมาอีก คืออย่างเถื่อนน่ะ โหดสุด เถื่อนสุด ก็ปลวกนี่แหละ ตายใจไม่ได้ แค่หันหลังให้มันก็เอาละ โคตรขยันทำหน้าที่
กิจกรรมหลักข้อหนึ่งของคนบ้านป่าก็คือเดินหาปลวก ไม้ไผ่ในมือ เคาะ ตี ก้มๆ เงยๆ พินิจจุดซ่อนเร้น
ฟังแล้วก็น่าสนุกใช่มั้ย วันหลังพาเจ้าศิลป์มาเที่ยวสิ เอาหัวการันตีว่าความเหงาคืออะไร ไม่รู้จัก.
เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อก (ชัยพร อินทุวิศาลกุล) เป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน ทุกสัปดาห์เขาเขียนจดหมายมาคุยกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ บรรณาธิการ nan dialogue