สวัสดีจากบางกอกเป็นครั้งที่ 3
เวลานักเขียนต้องส่งต้นฉบับแล้วยังนึกเรื่องที่จะเขียนไม่ออกนี่เค้าทำยังไงกันนะครับ
พี่หนึ่งอาจเริ่มนึกว่าไอ้นี่มันจะหาเรื่องเบี้ยวส่งงานสัปดาห์นี้รึเปล่าวะ 55
ว่ากันตามตรง ผมก็ว่าจะทำอยู่เหมือนกัน แต่เปลี่ยนใจลองสวมบทบาทนักเขียนสมองกลวงชั่วขณะ
หาอะไรพิมพ์ส่งให้บรรณาธิการ ช่วยสนทนาผ่านตัวหนังสือกันมาร่วมปีดีกว่า
ผมนั่งพิมพ์จากโต๊ะทำงานที่โรงพิมพ์ ตอนนี้ผมย้ายโต๊ะมานั่งอยู่กลางดงสต๊าฟคนอื่นๆ ผมเองไม่มีห้องทำงานส่วนตัวมานานแล้ว ตั้งแต่ย้ายจากโรงพิมพ์ที่ปิ่นเกล้ามาบางกรวย จากเคยมีห้องผู้จัดการก็หดเหลือเพียงแค่โต๊ะทำงานตัวหนึ่ง ระยะแรกพื้นที่รอบๆ โต๊ะก็ออกจะกว้างขวาง เต็มไปด้วยหนังสือ แคตตาล็อกเครื่องจักร และตัวอย่างงานต่างๆ จวบจนปีก่อนที่ผู้จัดการขออพยพไปทำงานนอกสถานที่ โต๊ะผู้จัดการก็มีสภาพไม่ต่างจากโต๊ะเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ในแต่ละเดือนที่ผมเข้ามาออฟฟิศบ้าง ก็เลยได้มานั่งทำงานร่วมกับชาวภาพพิมพ์อย่างใกล้ชิด (โดยไม่รู้ และไม่สนใจว่าพวกเขาจะอยากใกล้ชิดหรือไม่ 555)
ให้เดา พวกเขาคงไม่รู้สึกอึดอัดเท่าไรหรอก เพราะนอกจากจะเข้างานสาย ออกงานก่อนเวลาแล้ว วันๆ ผมมักจะเดินไปมาซะมากกว่าประจำที่โต๊ะ เดินดูคนและงานในแผนกต่าง อาทิ รับ (กระดาษ) ตัด พิมพ์ เพลท พับ ปั๊ม หุ้ม ปะ ไส (กาว) เข้า (เล่ม) ห่อ ส่ง (ของ) ผมอยู่กับสิ่งนี้มาเกือบยี่สิบปี ก็ย่อมไล่เรียงและนึกถึงมันอย่างเห็นภาพและเป็นลำดับ ตอนอยู่พะงันแม้ตัวจะไม่ได้อยู่ที่โรงพิมพ์ แต่ใจก็ยังระลึกและจำถึงตำแหน่งแห่งที่ของคนและเครื่องจักรต่างๆ ได้ เวลาคุยเรื่องปัญหาหรือความท้าทายต่างๆ กับพนักงานก็ยังพอเข้าใจและจับเซนส์อะไรได้อยู่
ผมอยู่กับงานมานานจนแทบจะลืมหรือไม่เคยนึกเลยว่างานโรงพิมพ์ที่ทำอยู่นั้นมีขั้นตอนหลากหลายและซับซ้อนนัก ส่วนใหญ่จะมานึกออกตอนที่เพื่อนหรือลูกค้ามาทัก จึงตระหนักได้ว่างานพิมพ์ของเรานั้นโหดหินเอาการ เมื่อกระบวนการซับซ้อนมันก็มีปัญหาและอุปสรรคอยู่เสมอๆ แต่ก็นั่นแหละ เรื่องพวกนี้ไม่เคยทำให้ผมอยากเลิกทำหรือเลิกรักงานที่ทำ หากแต่ปัญหาที่สร้างความปวดหัวและปวดใจมันยิ่งทำให้รอยประทับของการงานแห่งโรงพิมพ์มีคุณค่าและฝังแน่นในจิตใจยิ่งขึ้น
วันที่หอมหวานที่สุดของการทำโรงพิมพ์คือวันที่ลูกค้ายิ้มเมื่อเห็นงานที่เราทำ หรือไม่ก็วันที่ลูกค้าเก่ากลับมาหาหลังจากออกไปทดลองประสบการณ์พิมพ์กับโรงพิมพ์อื่น แต่วันเหล่านี้อาจไม่หอมหวานนัก หากช่วงเวลาก่อนหน้าเราไม่ได้พยายามสู้ อยู่กับความเจ็บปวด เผชิญความขัดแย้ง
เหนื่อยล้า แต่ยังกระหาย หรือท้อแท้ แต่ยังเห็นแสงสว่างอยู่ข้างหน้า
เมื่อวานเพิ่งบอกกับเพื่อนชาวอังกฤษอีกคนในเนื้อความเดิมเป็นครั้งที่ร้อยว่า กูรักงานโรงพิมพ์ แต่เกลียดเมืองที่อยู่เท่านั้นแหละ เลยอพยพย้ายตัวเองกับครอบครัวออกจาก กทม. ไปเจอมึงที่พะงัน
ดูสิครับ พิมพ์ๆ ไปก็บรรจุตัวอักษรไปได้หลายร้อยตัว ว่าแต่การเขียนจดหมายหาพี่เป็นส่วนนึงของการงานหรือไม่ ตอบยากเหมือนกัน ผมเคยเล่าให้พี่รับรู้ผ่านเสียงทางโทรศัพท์และการเจอตัวเป็นๆ ไปบ้างแล้ว แต่ก็อยากจะบอกพี่ (และผู้อ่านที่บังเอิญผ่านมาเห็น) ทางตัวอักษรอีกรอบว่าการเขียนจดหมายจากพะงันคือการบำบัด การทบทวน การออกกำลังทางสมองและหัวใจ และการคลี่คลายเรื่องยุ่งเหยิงหลายอย่างในชีวิตให้เป็นเรื่องเล่า (Story) มันบรรจุทุกความจริงไม่ได้หรอก ผมเลือกแค่สิ่งที่ ‘อยากเล่า’ หรือ ‘เล่าได้’ ออกมาเท่านั้น
เอาตรงๆ เรื่องที่เคยเล่ามาและจะได้เล่าต่อไปทั้งหมดนี้ก็มีทั้งคำโกหก ซ่อนเร้น เปรียบเปรย ไม่ต่างไปจากเรื่องเล่าอื่นๆ ของโลก และในขณะเดียวกันก็มีความจริงที่จริงใจอยู่ในนั้น ปราศจากกิจกรรมทางตัวอักษรนี้ ชีวิตผมและเพื่อนมนุษย์ที่พะงันอาจไม่มีค่าเท่ากับที่ผมรู้สึกอยู่ขณะนี้
ขอบคุณที่พี่ชวน และดีใจที่ตัวเองตกปากรับคำเขียนจดหมาย
อาจล่วงเลยเวลาเฉลิมฉลองวาระครบรอบหนึ่งปีน่านไดอะล็อกมาสักหน่อย แต่บางทีการรอจังหวะหัวใจและความรู้สึกให้มันเอ่อล้นและพรั่งพรูออกมาเป็นเสียงพูด ข้อเขียน และสีหน้าท่าทาง ก็อาจสวยงามกว่าการเค้นขย้อนมันออกมาตามวาระหรือมาตรฐานของสังคม
ดื่มครับพี่
จ๊อก
ตอบ จ๊อก
ถึงเวลาส่งงานแล้ว แต่หน้ากระดาษยังว่างเปล่า นักเขียนเขาทำแบบนี้
หนึ่ง, นอน
สอง, กิน (หมายรวมทั้งหมดนั่นแหละ / ข้าวก็ได้ เหล้าก็ดี)
สาม, ดูหนังฟังเพลง ดูกีฬา ดูสารคดี ดูหนังโป๊ เต้นตาม Tik Tok ฯลฯ
สี่, ไปเดินเล่น
ห้า, อาบน้ำ
หก, เล่นกับแมว
เจ็ด, กินเหล้าอีกแก้วนึง
แปด, นอน
เก้า, ตื่นมาหาเพลงฟัง (ยังนอนไม่หลับ–ย้อนดูงานเก่า มีอะไรน่าสนใจหรือติดค้าง)
สิบ, เช้าแล้ว ถึงเวลาส่งงานแล้ว ยังคิดอะไรไม่ได้ ให้โทรฯ ไปขอเลื่อนกับบรรณาธิการ ในกรณีที่เลื่อนมาสิบสองครั้งแล้ว (คุณบก. พูดจาอย่างสุภาพที่สุดแล้วว่าถ้าจะเลื่อนอีก มึงมาฆ่ากูดีกว่า) ให้ทำแบบที่คุณทำในจดหมายฉบับนี้คือเขียนเรื่องตรงหน้า เขียนความจริงที่สุด ความจริงอันเป็นปัจจุบัน (การเขียนไม่ออกก็เป็นประเด็นให้นำมาเขียนที่ดีมากประเด็นหนึ่ง
นักเขียนและเซียนคอลัมนิสต์นาม วาณิช จรุงกิจอนันต์ เคยบอกว่าการเขียนเรื่องที่เหมือนไม่มีอะไรเลยนี่แหละ ทางถนัดของเขาเลย / คำตอบนี้ เหตุมาจากบรรณาธิการบอกว่าถ้าไม่มีอะไรจะเขียน มึงก็อย่าดื้อดึงดันทุรัง วาณิชจึงตอบกลับไปดังกล่าว)
สิบข้อที่เขียนข้างต้นนั้น นักเขียนคนอื่นกระทำหรือไม่อย่างไร เราไม่รู้เด้อ บอกเล่ากันในนามข้าพเจ้าคนเดียว บอกเล่าในอารมณ์ทีเล่นทีจริง (อย่างที่คุณว่า ทุกข้อเขียนในโลกมันไม่จริงทั้งหมดอยู่แล้ว แต่จะว่าโกหกกันก็อาจไม่ใช่) เอาว่าคุยกันเล่น (เพราะมันไม่ใช่เรื่องความเป็นความตายใช่มั้ย ไม่ใช่คำพิพากษาของศาล มนุษย์คุยกันเล่นบ้างจะเป็นไร) ถ้าจะขยับไปคุยจริงจังขึ้น คุยอย่างซีเรียส เทคนิควิธีของเราคือการออกไปคุยกับคน จมอยู่กับตัวเองมานานพอแล้ว มืดบอดจนไม่เห็นแสงสว่างแล้ว ควรละวางตัวเองลง แล้วไปฟังคนอื่น ดูคนอื่น เพราะมนุษย์คือคลังของข้อมูล มนุษย์คือขุมทรัพย์ของเรื่องเล่าที่ไม่รู้จบ
สองสามวันที่ผ่านมาเราได้คุยกับชาวเดนมาร์กสองคน เขามาห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ (ไม่เคยรู้จักมาก่อน / ใช้วิธีเสิร์ชหาคำว่า bookshop, library เคยสอบถามชาวต่างชาติหลายคน นี่คือวิธีคลาสสิกที่สุด) คนหนึ่งเป็นนักจิตวิทยา (ชื่ออุลิก) พูดและอ่านภาษาไทยได้ อีกคนเป็นนักข่าวและช่างภาพ (ชื่อเคลาส์) พูดไทยได้เล็กน้อย เพราะไปๆ มาๆ ไม่ได้อยู่ถาวร คือจริงๆ ถ้านับเวลาก็ถือว่าอยู่กับข่าวสารการเมืองไทยมานาน แต่เขาดูข่าวหลายประเทศ รับผิดชอบภูมิภาคอุษาคเนย์ ก็เลยพูดไม่เก่งเท่าไร เราคุยสลับไปทั้งไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส (อุลิกเคยไปอยู่ปารีส พูดฝรั่งเศสได้ดีเลวพอๆ กับเรา)
บทสนทนาของเราเกิดจากฝรั่งทั้งคู่เห็นภาพเพนกวินชูสามนิ้ว (เขียนโดยศิลปินท่าวังผา ภัทรุตม์ สายะเสวี) แล้วบอกเล่าว่าเขารู้จัก เคยพูดคุยสัมภาษณ์ เกมเริ่มต้นมาแบบนี้ เรื่องต่างๆ นานาก็เลยไหลลื่น คุยกันรู้เรื่อง เพราะพวกเขาสนใจการเมืองไทย (ตอนมองกล้องและกระเป๋า เราก็พอเดาได้ ว่าสองคนนี้ไม่ใช่ทัวริสต์ทั่วไป เห็นกระเป๋ากล้องของเคลาส์ เรานึกถึงรถกระบะและ คลินต์ อีสต์วูด ในหนัง The Bridges of Madison County เกิดทันป่าว เคยดูมั้ย)
เคลาส์บอกว่า แต่เดิมคนเดนมาร์กจำนวนมากรู้จักเมืองไทยแค่ทะเล อาหาร และโสเภณี แต่งานที่เขาทำ (เขาเคลมว่าเป็นคนแรกๆ ที่เขียนบอกเล่าการเมืองไทยร่วมสมัย โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา) ทำให้สายตาเพื่อนร่วมชาติเคลื่อนขยับออกไปสู่ความจริงมิติอื่นๆ รอบด้านขึ้น ที่ตลกร้ายก็คือขณะที่คนเดนมาร์กเริ่มมองผ่านคลีเช่หน้าฉาก ขยับล้วงลึกเข้าไปรู้จักเมืองไทยมากขึ้น วีซ่าและการเข้ามาทำงานของสื่อมวลชนต่างชาติก็ยุ่งยากลำบากขึ้นตามเป็นเงา เหตุผลง่ายๆ ที่คุณก็เดาได้ ใช่, รัฐบาลท่านไม่พอใจการพูดเขียนความจริง เพื่อนของเขาบางคนเคยถูกข่มขู่ถึงขั้นจะเอาชีวิต ถ้าไม่หยุดคุ้ยขุดบางซอกมุมของชนชั้นนำ
อุลิกเดินเลือกซื้อหนังสือไปหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ ‘วาระสมมติ’ หรือ Hidden Agenda ฉบับที่ว่าด้วย On King and I รายนี้เขารักการอ่านการเขียน เรียนภาษาไทยทุกวันต่อเนื่องหนึ่งปี ชอบ สนใจ จึงทุ่มเทเอาจนได้ เห็นตอนเขาอ่านลายมือเรา (เขาให้เซ็นบนปกหนังสือ ‘สถานการณ์ฉุกเฉิน’) ก็พอเห็นภูมิว่าไม่ธรรมดา (คุณรู้ใช่มั้ยว่า แม้กระทั่งคนไทยก็อ่านลายมือเราไม่ง่าย / บางวันเราเขียนเองอ่านเอง กูก็สะกดอยู่นาน 55) ด้วยวัยเท่าๆ นี้ (เกิด 1970 ปีเดียวกับเรา) นิสัยรักความรู้ กล้าลอง กล้าเริ่มเปิดโลกใหม่ มันน่าทึ่ง น่าเอาเยี่ยงอย่าง แล้วคุณดูดิ บางเรื่องของเมืองไทย (ที่พ้นไปจากเรื่องเล่าโบราณอย่างทะเล อาหาร และโสเภณี) แม้ไม่มีปรากฏในโลกภาษาอังกฤษ พวกเขาก็เดินทางข้ามภาษามาหาเราจนได้
ความพยายามจะหมุนเข็มนาฬิกาให้ย้อนกลับ ความดื้อด้านที่จะยกมือปิดป้องท้องฟ้า หลอกตัวเองและคนร่วมชาติให้หลงจมอยู่ในนิทานเรื่องเก่า จึงหาสาระใดไม่ได้เลย นอกจากความว่างเปล่าและเปลือยสมองอันโง่เขลาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่น่าเศร้าก็คือดูเหมือนจนถึง ณ ขณะนาทีนี้พ่อเจ้าประคุณก็ยังไม่เคยรู้ตัวเอง
ปล. จะบอกอะไรให้อีกอย่าง ถึงเวลาแล้วส่งแล้วเขียนไม่ได้คือความปกติ การคิดไม่ออก การเขียนไม่ได้คือสุดยอดของความปกติ นักเขียนอาชีพทุกคนล้วนเคยพบเผชิญ ถ้าคุณเริ่มสัมผัสสิ่งนี้ได้ก็เห็นจะเป็นนิมิตหมายว่าอาชีพไส้แห้งในฝันเดินทางมาเคาะประตูบ้านแล้ว ขอแสดงความยินดี.
เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อก (ชัยพร อินทุวิศาลกุล) เป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน ทุกสัปดาห์เขาเขียนจดหมายมาคุยกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ บรรณาธิการ nan dialogue