the letter

a day in the life

สวัสดีครับพี่หนึ่ง

จดหมายฉบับนี้ผมขอทดลองเอาเรื่องที่เกิดขึ้นกับผมในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาเสมือนว่ามันเกิดขึ้นในวันเดียวกันมาเล่าให้ฟังนะครับ

เช้ามืด – ตีสามกว่าๆ ผมตื่นขึ้นมาอย่างไม่ได้ตั้งใจ (อยู่ที่นี่ ใครเค้าจะตั้งใจตื่นนอนตอนไหนกันเล่า) เป็นเสียงขูดครืดๆ บนฝ้าห้องนอนที่ปลุกผมขึ้นมากลางดึก บรรดามุสิก (ขอใช้คำแบบนิยายกำลังภายในจีนสักหน่อย – เพิ่งอ่านจบไปเล่มนึงชื่อ ‘กวีในดงดาบ’) ที่ผมคาดว่าเป็นต้นเหตุให้ไฟดับอยู่ร่วมสองสัปดาห์น่ะครับ พวกมันยังไม่ไปไหนแม้ว่าดีนจะลากเอารังนอนของพวกมันไปทิ้งได้ร่วมกระสอบปุ๋ยใหญ่ๆ แล้ว เผลอๆ พวกมันอาจกำลังก่อสร้างรังใหม่อยู่ก็เป็นได้ งานสร้างรังใหม่คงคืบหน้าไปพอสมควร พวกมันเลยพากันขูด ข่วน และกัดฝ้า ดั่งการเฉลิมฉลองความสำเร็จเล็กๆ และประกาศศักดาต่อมนุษย์ที่อยู่ใต้ตีนพวกมันว่า Resilience (ความไม่ย่อท้อ) นั้นไม่ได้เป็นแค่คุณสมบัติของมนุษย์เท่านั้น ผมใช้ฝ่ามือทุบฝ้าสองสามครั้งและด่ากลับไปว่าพวกมึงช่วยดูหน่อย ว่าเวลาไหนควรจะสื่อสารหรือเฉลิมฉลอง แล้วพยายามกลับไปนอนต่อ แต่ก็ไม่สำเร็จ 

ย่ำรุ่ง – ชงกาแฟ ดูดยา ทำงานประเมินราคาของโรงพิมพ์ ตั้งใจว่าวันนี้ต้องส่งจดหมายถึงพี่ให้ได้ แม้จะยังไม่ได้เริ่มพิมพ์อะไรสักตัวอักษร

เช้าตรู่ – นั่งกินข้าวกับยำปลาเค็มฝีมือภรรยา นอนตะแคงให้หมอหยอดยาฟู่ๆ ใส่หู คือขี้หูตันและอุดเป็นก้อนอะครับ ถ้าอยู่กรุงเทพฯ อาจไปให้หมอที่คลินิกดูดออกให้ แต่อยู่นี่ใช้ยาและเวลาในการค่อยๆ พาเอาเศษตะกอนเกรอะกรังในหูออก พอทำเข้าหลายๆ วันก็เริ่มเสพติด อยากนอนฟังเสียงฟู่ๆ ในหูพร้อมกับความรู้สึกจั๊กกะจี้นั่นอีก แม้ว่าอาการหูอื้อจะหายไปแล้ว

เช้าแปดโมง – ขับรถไปส่งลูก เซเฟอร์ พร้อมกับหลินและดีน ระหว่างทาง ดีนแวะลงไปถามร้านซ่อมรถว่ามอไซค์ที่เอามาทิ้งไว้เสร็จรึยัง ปรากฏว่าไม่เสร็จ (จริงๆ ยังไม่ได้เริ่มซ่อมด้วยซ้ำ) ดีนไม่มีอารมณ์อะไร แม้ว่าช่างจะผิดสัญญาในเรื่องเวลานัดหมาย ดั่งกับผู้บรรลุแล้วซึ่งวิทยายุทธ์ในการอยู่ให้ได้กับสิ่งที่เรียกว่า “สบาย สบาย” ของผู้คนในบ้านเมืองนี้ ก่อนออกจากอู่ ดีนบอกกับช่างซ่อมว่าเขากำลังทำการทดลองรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานน้ำ และอยากให้ช่างคนนี้ช่วยประดิษฐ์ระบบเชื่อมต่อพลังงานที่เข้าสร้างขึ้นเข้ากับตัวรถ เขาขยิบตาข้างนึงกับช่างแล้วเอ่ยปากขอให้ช่างเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับทางธุรกิจ (ผมเอามาเล่าให้พี่ฟังได้ เพราะดีนมิได้ขยิบตาและกล่าวกับผม 555)

ช่วงสาย – ขับรถไปยังร้านกาแฟชื่อ Dots ผมมีนัดหมายดื่มกาแฟกับเดวิด อิตาเลียโน่เชื้อสายยิว เรื่องของเรื่องก็คือน้องชายผมไปเจอตัวแทนนำเข้าไวน์จากอิตาลี ทางโน้นส่งลิสต์ไวน์มาเป็นร้อยรายการให้พิจารณา จะซื้อทุกขวดที่มีก็ใช่เรื่อง จะเลือกมั่วๆ ก็กลัวทางซัพพลายเออร์หาว่าเราไม่มีรสนิยมที่ดีในเรื่องเมรัย โชคดีที่เรามีเพื่อนอิตาเลี่ยนบนเกาะพะงัน ผมคิดว่าเรื่องไวน์และอาหารนี่เราสามารถควรพึ่งพาคนบางชาติมากกว่าคนบางชาติ มันเป็นเรื่องพื้นเพ การปลูกฝัง และวัฒนธรรมน่ะครับ เดวิดอ่านลิสต์แล้วส่งครางอื้ออ้า เมื่อพบองุ่นบางสายพันธุ์หรือแหล่งผลิตไวน์บางท้องที่ เมื่ออ่านไปถึงไวน์บางตัวเขาถึงกับเอ่ยชื่ออาหารบางชนิดที่เหมาะกับไวน์ตัวนั้นๆ

ผมมองการอ่านไวน์ลิสต์ของเขาดั่งกับการเห็นนักเดินเรือผู้เชี่ยวชาญอ่านแผนที่และเข็มทิศด้วยความกระตืนรือร้น เมื่ออ่านรายการจบพร้อมกับทำเครื่องหมายว่าอะไรตัวไหนควรสั่งหรือต้องสั่ง เดวิดบ่นเล็กๆ ว่าเป็นไปได้อย่างไรที่ไม่มีไวน์จากทัสคานี (แคว้นผลิตไวน์ที่มีชื่อเสียงของอิตาลี) มาให้เลือกเลย นอกจากนี้เขายังบอกกับผมว่าได้ราคาดีนะเนี่ย คือราคาขายส่งอะครับ ขวดถูกๆ ก็ห้ายูโร แพงหน่อยก็สิบห้ายูโร จะได้ราคานี้ก็ต้องซื้อกันเป็นพาเลท ผมกล่าวขอบคุณสำหรับความเห็นที่มีค่าในราคาเอสเพรสโซ่ร้อนหนึ่งแก้ว เครื่องหมายที่บอกว่าควรสั่งนั้นดูน่าเชื่อถือและทรงพลังกว่าเยอะเลย เวลามีเสียงอู้อ้าพร้อมๆ กับชื่อพันธุ์องุ่นในสำเนียงอิตาเลี่ยนของเดวิด 

ผมกับน้องชายคิดกันว่าถ้าเรานำเข้ามาและบริหารต้นทุนได้ ไวน์ก็อาจเป็นทางเลือกที่น่าเลือกมากขึ้นสำหรับนักดื่มในประเทศนี้ ไวน์ในบ้านเราอย่างไรก็ไม่มีทางถูกกว่าประเทศต้นทางอยู่แล้ว แต่เป็นไปได้ไหมล่ะที่จะทำให้ราคามันไม่ต่างกันมากนัก ที่นู่นสิบยูโรคือไวน์ดี ยี่สิบยูโรคือไวน์รสเลิศ ถ้าคำนวณกันดีๆ สิบยูโรคือสี่ร้อยบาท ไวน์ขวดนึงแอลกอฮอลล์มากกว่าเบียร์สามเท่า ถ้าเบียร์เลวๆ ขวดละหกสิบกว่าบาท สามขวดก็ประมาณสองร้อยบาท ไวน์แพงกว่าสองเท่าหรือประมาณสองร้อยบาท ผมว่าพอรับได้ หากคำนึงถึงคุณภาพแอลกอฮอลล์และบรรยากาศแห่งความมึนเมาที่ไวน์มักจะมอบให้

เที่ยง – ขี่รถออกไปกินก๋วยเตี๋ยวร้านป้าดวงที่อยู่ใกล้บ้าน หลังๆ มานี้ป้าแกไม่ค่อยมีสมาธิในปรุงอาหารให้ผมเท่าไร สืบเนื่องจากหลายเดือนก่อน พอป้าแกรู้ว่าผมมองหาที่ทางอยู่ แกก็พยายามเพิ่มอาชีพหารายได้เสริมให้กับตัวเองด้วยการเป็นนายหน้าแนะนำที่ดิน เจอหน้ากันทีไรเป็นอันต้องทักว่า “หาซื้อที่ได้รึยัง” แทนคำกล่าวสวัสดี วันนี้ก็อีกแหละ สั่งบะหมี่เหลืองดันได้เส้นหมี่ขาว ผมคิดในใจว่าวันนึงจะต้องบอกกับป้าแกให้ได้ว่าโปรดมองผมเป็นลูกค้าร้านก๋วยเตี๋ยว ผมมาหาก๋วยเตี๋ยวกิน ไม่ได้มาหาซื้อที่ดิน หรือไม่ก็จะบอกแกว่าผมไม่ซ้งไม่ซื้อที่อะไรแล้ว กินเสร็จก็สแกนคิวอาร์โค้ดจ่ายตังค์ค่าก๋วยเตี๋ยว แกบอกค่าเสียหายแล้วก็เดินหันหลังไปคุยกับลูกค้าคนอื่นต่อ โดยไม่สนใจว่าเงินที่โอนไปจะเข้าหรือยัง ลูกค้าคนอื่นๆ ที่พกหมากมานั่งเคี้ยวกันหน้าร้านแซวว่าแม่ค้าร้านนี้ใจถึงอย่างนี้แหละ บอกว่าจะสแกนก็พอไม่ต้องโชว์หลักฐาน 

ผมชื่นชมความเชื่อมั่นในเพื่อนมนุษย์ของป้าดวง พลันความหงุดหงิดเรื่องลวกก๋วยเตี๋ยวผิดเส้นก็สลายลงในทันใด

เที่ยงครึ่ง – ขี่รถกลับมาบ้านพบองค์หญิงมะลิ (ชื่อจริงๆ ของเธอคือ Meadow เธอบอกกับผมว่าแปลว่าทุ่งหญ้าที่เต็มไปด้วยดอกไม้) ทรงยื่นพักตร์ออกมาจากขอบหน้าต่าง เธอถามว่าไปไหนกันมา เราตอบว่าไปแดกก๋วยเตี๋ยวมาพะยะค่ะ องค์หญิงเสวยกระยาหารเที่ยงแล้วหรือ องค์หญิงไม่ตอบ ได้แต่เพียงเขินอายและยิ้มอย่างพอใจที่ผมกับภรรยาเรียกเธอว่า Princess ก็จะไม่ให้เรียกได้อย่างไรล่ะครับ วันๆ นอกจากเรียนหนังสือแบบโฮมสคูลกับมิร่าในช่วงเช้าแล้ว เธอก็มักจะเปลี่ยนชุดต่างๆ นานาไม่ต่ำกว่าสี่ห้าชุด ออกมาเดินเล่นกรีดกรายอวดเพื่อนบ้าน ผมเดาเอาว่าเชื้อนักแสดงละครเวทีของทั้งพ่อและแม่คงประทับฝังแน่นในตัวเธอ กริยาท่าทางและชุดที่สวมใส่มันเป็นวิถีของคนละคอนชัดๆ

บ่ายต้นๆ – ขับรถไปรอรับลูกที่โรงเรียน ครั้งนี้ลองเปลี่ยนแผน แทนที่จะพาไปหาอะไรกินรองท้องก่อนซ้อมกีฬา เราบอกกับลูกและเพื่อนลูกที่จะติดรถไปด้วยว่าเราจะปักหลักกันอยู่ที่ห้องสมุดสักครึ่งชั่วโมง ประหยัดค่าขนมขบเคี้ยวอันไม่จำเป็น และจุ่มตัวลูกๆ ของเราในบรรยากาศของห้องสมุด สถานที่ที่เริ่มเป็นสิ่งไกลตัวของผู้คนยุคนี้ขึ้นทุกวัน ผมพาลูกไปสนามซ้อมฟุตบอลแล้วพบว่ารันสั่งให้เด็กๆ ถอดรองเท้าฟุตบอลออกแล้วเตะกันตีนเปล่า โค้ชบอกว่าการสัมผัสบอลเพียวๆ จะสร้างความคุ้นชินและทำให้พวกเขารู้จักกับลูกกลมๆ ที่เตะกันอยู่ได้ลึกซึ้งขึ้น เห็นไหมครับ วัฒนธรรมเดินเท้าเปล่าคืบคลานเข้าสู่สนามบอลแล้วเช่นกัน  

เย็นย่ำ – จากสนามฟุตบอลเรามุ่งหน้าสู่หาดทรายริมท่าเรือท้องศาลา วันนี้โรงเรียนมีนัดพาเด็กๆ ไปเก็บขยะที่ชาดหาดกับกลุ่ม Trash Hero ประจำเกาะพะงัน นี่เป็นกิจกรรมประจำปีที่บรรดาพ่อแม่ๆ ได้พบปะทักทายทำความรู้จักกัน พ่อของเพื่อนศิลป์คนนึงเข้ามายืนคุยกับเราเรื่องว่าจะหาที่ซื้อบ้านแทนที่จะเช่าไปเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้เขาซื้อรถฮอนด้า CRV มือสองมาใช้ได้คันนึงแล้ว แกบอกว่าอยู่เกาะพะงันแค่ได้ขับ CRV ก็เหมือนมี Mercedes 

หัวค่ำ – หลังเก็บขยะเราเดินไปหาอะไรกินใกล้ๆ ท่าเรือ ชื่อร้านว่า ‘เนื้อย่างเกาหลี’ แต่พอนั่งลงสั่งอาหารที่ร้านกลับมีแค่หมูกระทะให้เลือก แล้วผมเองโคตรมีปัญหากับเตาปิ้งแบบนี้เลยครับ คือมันเป็นกระทะที่จะเอาทั้งสองอย่างไว้ด้วยกันทั้งปิ้งและต้ม ย่างเนื้ออะไรทีมันก็พลอยจะตกลงไปน้ำซุปอยู่เรื่อย แล้วน้ำซุปที่อยู่ในคูน้ำรอบๆ กระทะแม่งก็น้อยซะเหลือเกิน เหมือนเอาไว้ต้มผักซะมากกว่าซด ลองค้นๆ ดูก็พบว่ามีตำนานว่ารูปทรงกระทะคว่ำของมันมาจากหมวกของนักรบมองโกล แล้วมิหนำซ้ำในอีสานก็เรียกอาหารประเภทนี้ว่าเนื้อย่างเกาหลีกันมานานแล้ว นี่ทำให้นึกถึงความเปิ่นของผมเองหลายสิบปีก่อนที่บ่นกับพนักงานร้านอาหารแห่งหนึ่งว่าทำไมสั่ง ‘ไก่สามอย่าง’ แล้วอาหารที่เสิร์ฟมาไม่มีไก่ซักชิ้นเดียว 555

ค่ำก่อนเข้านอน – กลับมาถึงบ้าน ศิลป์เดินไปท้าดีนเล่นหมากรุก แล้วผมก็พบอัจฉริยภาพอีกอย่างในตัวอดีตนักร้องบอยแบนด์คนนี้ คือไม่ใช่แค่สอนกฏและเล่นสงครามประสาทกับศิลป์ระหว่างการประลองหมากรุก (ช่วงที่รอศิลป์คิดกระบวนท่า เขาจะชี้นิ้วมาที่ลูกชายผมแล้วร้องเพลงด้วยเสียงอันดังว่า You are going down. You are going down! – มึงตายแน่ มึงตายแน่! 555) สิ่งที่ดีนทำก็คือการปล่อยให้เด็กๆ เดินหมากอย่างอิสระ จนถึงช่วงสำคัญเขาจะหยุดเกม ย้อนตาเดิน แล้วอธิบายและชี้ให้เห็นว่าการเดินหมากแต่ละตัวจะนำไปสู่ความได้เปรียบหรือเพลี่ยงพล้ำอย่างไร เขาบอกกับผมในวันรุ่งขึ้นว่าเขาสอนลูกและเด็กๆ ด้วยวิธีนี้เสมอ ปล่อยให้ทำก่อนแล้วค่อยอธิบาย 

อย่างหมากรุกนี่ง่ายเลยเพราะย้อนตาเดินได้เป๊ะๆ ตอนที่เซเฟอร์ ลูกชายของเขาเล่นกับหลิน หลังจากเซเฟอร์เดินเบี้ยในตาแรก เขาสั่งหยุดแล้วบรรจงอธิบายความสำคัญของเบี้ยทั้งแปดตัวที่อยู่แนวหน้าว่าสำคัญแตกต่างอย่างไร การเดินเบี้ยแต่ละตัวจะส่งผลอย่างมากต่อการเดินหมากตัวอื่นๆ ในตาถัดไป ผมนั่งดูและเรียนรู้เรื่องหมากรุกไปพร้อมกับเด็กๆ ด้วยความชื่นชม คือมันเป็นระบบคิดในการเดินหมากแต่ละตัวที่ทำให้ผมเข้าใจว่า ‘คนเล่นเป็น’ ต่างกับ ‘คนเล่นได้’ อย่างไร

ไว้พบกันที่พะงันเร็วๆ นี้ครับ

จ๊อก

ปล. พี่จำเรื่องตลกที่ศิลป์เล่าให้พี่กับพี่ต้อฟังที่สงขลาได้ไหมครับ ที่ว่าเป็นคนเพียรเข้าไปขอซื้อเป็ดหนึ่งตัวในผับแห่งหนึ่งให้ได้ จนคนขายบอกว่าจะเอาปืนมายิง ไม่กี่วันก่อนบังเอิญได้ฟังเพลงฝรั่งเพลงนึงชื่อว่า Duck Song ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของเรื่องตลกนั้น เวอร์ชั่นเต็มตามในเพลงนั้นไอ้ตัวที่จะซื้อของที่ไม่มีขายในร้านนั้นกวนตีนกว่าที่ศิลป์เล่าอีก ผมแนบลิงค์มาเผื่อพี่อยากจะลองฟังดู 555

https://www.youtube.com/watch?v=v-rksWUriDM

 

 

nandialogue

 

 

ตอบ จ๊อก

เพลงที่คุณแนบลิงค์มา เราฟังแล้ว ชอบมาก เหมือนมุขตลกของอาจารย์ศิลป์ที่เพียงพลาดหลงผิดไปฟังครั้งเดียว (หรือหลายครั้งวะ) ผ่านมาสองปีกว่าแล้วเสียงนั้น เรื่องนั้น ยังล้างไม่ออก กระทั่งเอามาล้อเล่น เล่าซ้ำกันอยู่เรื่อยๆ เวลาเมา ก็แค่เป็ดย่างกับปืนกระบอกเดียว ทำไมมันฮาไม่จบไม่สิ้น ก็ให้น่าสงสัยอยู่

อ่านจดหมายคุณรอบนี้แล้วขออนุญาตลอกการบ้าน ไล่เรียงรูปเงาชีวิต กิจวัตรประจำวันให้ฟัง ไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันเดียวนะ เอาสองสามวันมารวบเล่า เพราะไม่งั้นมันจะเป็นแบบนี้ เช้ามา นั่งมองฝน สาย นั่งมองฝน เที่ยง นั่งมองฝน (หิวข้าวมากแล้วโว้ย หยุดซะที) บ่าย นั่งมองฝน เย็น ด่าฝน ด่าฝน ด่าฝน ด่าฝน ด่าฝน ด่าฝน ด่าฝน… วนเวียนไปซ้ำๆ ช่วงนี้มันตกบ้าคลั่งจริงๆ คงทิ้งทวนเตรียมอำลากระมัง เอาให้สะใจ ก่อนจะจากกันไปอีกเจ็ดแปดเดือน

เช้า –ดูทรงแล้วอีฝนบ้ามันไม่หยุดหรอก ขืนนั่งรอก็ไม่ต้องทำมาหากินกัน ตื่น ตั้งหลักได้แล้วหาเสื้อกันฝนมาสวมใส่ ขี่มอไซค์ไปกินข้าวแกงใต้ลำจวน ร้านที่มีรูปเขียนเต็มผนังทั้งสองด้าน เคยสัมภาษณ์แม่ค้าลงน่านไดอะล็อกปีที่แล้ว (แต่เดิมจะสัมภาษณ์คนเขียนรูป แกเขินหรืออย่างไรไม่แน่ใจ เอาว่าสอบถามแล้วไม่ยอมคุย เราเลยย้ายไปคุยกับเจ้าของร้านแทน ศิลปินก็นั่งอยู่แถวนั้นแหละ แกเป็นขาประจำของเจ้านี้) ในจังหวัดน่าน มีร้านแกงใต้ราวสี่ห้าเจ้า เช่น ป้าแจ๋ว, ครัวพัทลุง ฯ แต่ละร้านก็มีทีเด็ด จุดแข็งจุดขายของตัวเอง (ครัวพัทลุงนั่งสบาย ต้นไม้เยอะ ดอกไม้สวย เสียแต่อยู่ไกลหน่อย, ป้าแจ๋ว มีผักเพียบ ผักสกุลอินดี้ทั้งหลายน่ะ น้ำพริกกะปิไม่อั้น) เราเป็นลูกค้าทั้งสามแห่ง แต่ผูกพันกับร้านลำจวนมากหน่อยเพราะเคยสัมภาษณ์ ชอบบรรยากาศภาพเขียน ส่วนคุณภาพสินค้าและราคานั้นหายห่วง ตอนจัดค่ายฝึกเขียน เตรียมดูแลผู้คนสามสิบสี่สิบคน ก็เลยเลือกใช้บริการร้านนี้ (โอ้โลมกันอยู่นาน เพราะเขาไม่คุ้นชินการออกนอกสถานที่ ขายที่ร้านก็อยู่ได้สบายๆ)

สาย –ไปกินกาแฟที่เรือนจำชั่วคราวเขาน้อย (ชื่อร้านประมาณ cook & coff ทำนองนั้น จำไม่ได้ซะที เดาว่า cook ก็เลียนเสียง ‘คุก’ ที่เรารังเกียจกันนั่นแหละ) กาแฟไม่น่าสนใจ ไม่เสถียร ด้วยว่าบาริสต้าเป็นนักโทษ (ระยะท้ายๆ ใกล้ได้รับอิสรภาพ) บทเรียนแบบฝึกคงมีโอกาสไม่มาก บวกมีหลายคน บางคนกำลังเข้ามือ เอาอยู่ รู้รส ก็หายหน้าไป (เอาใจช่วยว่าคงพ้นโทษไปแล้ว) คนมาใหม่ก็ยังเก้ๆ กังๆ สั่งอย่างหนึ่งได้อย่างหนึ่ง เมนูร้อนกับเย็นใส่น้ำตาลเหมือนกัน ถามว่ากาแฟไม่ค่อยเวิร์ก ทำไมยังหน้าด้านไปกินอยู่เรื่อย คำตอบคือที่นั่งสบาย ต้นไม้เยอะ สเปซกว้าง มีสระน้ำขนาดใหญ่ซึ่งสองเดือนมานี้สร้างศาลาไม้ไผ่ไว้กลางน้ำอีก ที่สวยๆ ก็ยิ่งช่วยส่งเสริมกัน อีกมุมหนึ่งเป็นบ้านไม้สองชั้น หลักๆ ไม่ได้ใช้อะไร หลังๆ กลายเป็นโชว์รูมโต๊ะ เก้าอี้ และนานาสินค้าราชทัณฑ์ คุณลองนึกภาพ บ้านไม้อย่างเก๋ ด้านหลังติดเนินเขา ด้านหน้ามีสระน้ำ โต๊ะเก้าอี้เรียงรายที่วางขายอยู่มองไปก็คล้ายผับ (ตอนบ่ายเย็น ลูกค้ายังไม่มา) ห้องน้ำสะอาดสะอ้าน อ้าว สรุปมันก็คือผับดีๆ นี่เอง

บ่อยครั้งที่ซื้อกาแฟแล้วเราถือไปนั่งจิบที่ศาลากลางน้ำ ดูทิวไผ่เขียว ลมโชยบางๆ พินิจระลอกคลื่นระบำน้ำ ชื่นชมหมู่ปลา (บางตัวน่ารักน่ากินดีทีเดียว) อีกบางทีก็ยกแก้วเดินไปไกลหน่อย นั่งกินที่บ้านไม้ ชั้นล่างบ้าง ชั้นบนบ้าง วิวงามเขียวร่าเริง บางวันนักโทษ (ระยะสุดท้าย) เดินผ่าน (เขาทำงานของเขา เช่น ตัดหญ้า กวาดใบไม้) แวะทักทาย ทักไปทักมาก็นั่งคุยยาวๆ เออ มันก็ดีที่ได้รับรู้ประวัติอาชญากรรม ทำไม เพราะอะไรใครคนหนึ่งจึงถือปืนไปยิงคน ความแค้นเป็นของหวานที่ทัดทานและหักห้ามใจยากอย่างยิ่ง เท่าที่เจอ เรื่องยาเสพติดมาแรงสุด กินบ้าง ขายบ้าง มีคนหนึ่งกำลังจะได้รับอิสรภาพในเร็ววันนี้ เราเล็งๆ ไว้อยู่ ออกไปจากที่นี่เมื่อไร เราอยากสัมภาษณ์เรื่องราวชีวิตเขามาลงน่านไดอะล็อก

บ่าย –ไปหอศิลป์ริมน่าน ไม่ได้ไปนานมากแล้ว (โควิดเปลี่ยนชีวิตมากมาย) รอบนี้ไปเพราะ ‘พี่นกกะปูด’ ภัทรุตม์ สายะเสวี ศิลปินที่เรารักเคารพโชว์งาน ตอนเปิดไม่ได้ไป วันนี้พอหัวโล่งๆ บ้าง (ที่ผ่านมาวุ่นวายและหมดแรงจากงานทำค่าย) เลยนัดแนะเขาไปนั่งเสวนา รูปที่เลือกมาแสดงสวยเหมือนเช่นเคย พลังมหาศาล (อายุเจ็ดสิบแปด เข้าศิลปากรรุ่นเดียวกับ สุจิตต์ วงษ์เทศ) อยากให้คุณได้เจอ ได้คุย ได้ดูชิ้นงานจริงๆ ของเขา เห็นแล้วมันชื่นใจ และยอมใจที่เขามุ่งมั่นอุทิศตนทำงานเพื่อศิลปะ กล้าหาญที่เดินไปในที่แปลกเปลี่ยว เด็ดเดี่ยว เป็นตัวของตัวเอง เป็นคนที่คุยด้วยแล้วไม่อยากเลิก (ถือเหล้าไปขวดหนึ่ง แป๊บเดียวเกลี้ยง) ยิ่งคุยคล้ายคนที่นั่งตรงหน้าอายุยี่สิบห้า หัวใจวัยรุ่นเหลือเกิน แพสชั่นเหลือเฟือ มันดีงามน่ะที่เรามีคนเช่นนี้อยู่ในชีวิต พบเจอกันแล้วเป็นแรงผลักของกันและกัน ผลักให้เดินไปข้างหน้า ผลักให้ขยันทำงาน

มืด –ตรวจแก้ต้นฉบับให้น้องที่มาฝึกงาน (ซัน แสงดาว) พบจุดอ่อนอยู่พอสมควร เช่น ประเด็นและสิ่งสำคัญ ความน่าสนใจของตัวละครที่ถูกมองข้าม การสะกดคำ การเว้นวรรค (ได้ยินคนบ่นเรื่องทำนองนี้ไม่น้อย มันเป็นค่าเฉลี่ยของยุคสมัยหรืออย่างไร ไม่ทราบ หรือพอเป็นคนแก่แม่งก็บ่นได้ทุกเรื่อง ลืมเลือนหมดว่าตอนเป็นเด็ก ตัวเองเคยทำอะไรไว้) กับหน้าที่ที่ต้องดูแลคนอื่น เราหมดแรงง่ายมาก เวลาเจอต้นฉบับแย่ๆ ปวดหัว ทำต่อไม่ไหว และเช่นกัน, เหรียญอีกด้านหนึ่ง ถ้าเจอคนตั้งใจทำงานดีๆ บอกแล้วพัฒนา มุ่งมั่นต่อสู้ ขยันดูจุดอ่อนแล้วแก้ไข ไอ้ที่บอกว่าหมดแรงไปเมื่อกี้ก็คล้ายฟืนไฟกลับมาคุโชน นึกออกเนาะ การมีโอกาสได้ฟูมฟัก ให้น้ำ พรวนดิน ไล่หนอนแมลง ดูแลกล้าไม้อ่อนให้เติบใหญ่ ผลิบานไปตามเส้นทางของเขา มันคือสิ่งวิเศษ

ดึก –สี่ทุ่มเรียกดึกได้ป่าววะ (คนกรุงได้ยินคงขำตาย) ช่วงนี้นอนเร็ว ในความมืดบนเตียงท่ามกลางเสียงฝน คิดถึงหาดทราย เปลวแดด ริ้วคลื่น และลมทะเลเดือนตุลาคม อารมณ์ประมาณเด็กน้อยฝันหวานถึงวันปิดเทอม จริง-เท็จ ใกล้-ไกล ทำได้-ไม่ได้.. ไม่รู้ ชีวิตนักคิดน่ะคุณ แค่คิดก็รู้สึกดี.


เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อก (ชัยพร อินทุวิศาลกุล) เป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน ทุกสัปดาห์เขาเขียนจดหมายมาคุยกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ บรรณาธิการ nan dialogue

You may also like...