สวัสดีครับพี่หนึ่ง
ตอนแรกว่าจะอ่านและคุยกับคนอิสราเอลเรื่อง Kibbutz แล้วมาเล่าให้พี่ฟังในฉบับนี้ ปรากฏว่าเรื่องมันยาวและซับซ้อนพอสมควร ถ้าเล่าให้พี่ฟังตอนนี้ก็จะดูเป็นการรวบรัดตัดตอนและก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเอาง่ายๆ ผมน่าจะใช้เวลาอ่านหนังสือและคุยกับเพื่อนๆ อิสราเอลอีกสักระยะก่อนดีกว่า
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ผมเล่าให้พี่ฟังว่าผมอยู่บ้านคนเดียว เพราะลูกชายไปนอนตากน้ำค้างบนเขากับเดอะแก๊งค์ (เซฟเฟอร์ แฮรี่ ดีน และพอล) จริงๆ พวกเขาก็ชวนผมไปด้วยแหละครับ ศิลป์นั้นอยาก แต่ผมไม่ด้วยเหตุผลบางประการ อาทิ เหนื่อยบ้าง อยากให้ลูกเรียนรู้อยู่กับคนอื่นบ้าง อยากอยู่เงียบๆ คนเดียวบ้าง เป็นต้น ผมจึงถามตรงๆ ว่าพอจะฝากแค่คนลูกไปได้ไหม ดีนกับพอลบอกกับเราว่ายินดี พวกเขาเตรียมเสบียงสักหนึ่งลังใหญ่ๆ กับเด็กวัยเจ็ดขวบสามคนขึ้นหลังกระบะแล้วออกจากบ้านไปตั้งแต่เที่ยงวันเสาร์
ผมเองระหว่างอยู่คนเดียวที่บ้านก็โทรศัพท์คุยกับเมียที่ไปอยู่เวรบนคลินิกเอกชนที่เกาะเต่าเป็นวันที่สองว่าเป็นอย่างไรบ้าง แล้วก็นั่งดูนู่นดูนี่อะไรในช่องโทรทัศน์ต่างประเทศผ่านเว็บเถื่อนที่เพิ่งได้ช่องทางเข้าถึงมาไม่นาน
เวลาเราดูช่องหรือรายการต่างประเทศก็อดประหลาดใจตัวเองไม่ได้ ที่แม้เวลาช่วงโฆษณา ผมก็ยังนั่งดูมันด้วยความตื่นเต้นที่ได้เห็นว่าพวกเขาขายของอะไรด้วยการให้เหตุผลแบบไหน ซอฟท์เซลล์หรือฮาร์ดเซลล์ก็มีปนๆ กันขึ้นอยู่กับช่องและประเภทของรายการที่เราดู นอกจากนี้ที่ผมนั่งดูโฆษณาเหล่านั้นได้ก็เพราะคุณภาพการผลิต-ภาพเคลื่อนไหว เพลงประกอบ รวมถึงภาษาและวิธีในการชวนเชื่อ-มันยังทำให้ผมเพลิดเพลินอยู่ ทางหนึ่งผมคิดว่าโฆษณาในช่องโทรทัศน์แบบดั้งเดิมนั้นคุกคามน้อยกว่าโฆษณาใน YouTube หรือ Facebook เยอะเลย อย่างน้อยแม่งก็ไม่ตัดไปดื้อๆ แล้วฉายคลิปซ้ำๆ ก่อนจะตัดไปโฆษณาก็ยังมีมารยาทในการบอกกล่าวและแจ้งให้ทราบ บ้างอาจบอกว่านั่นเสียเวลา แต่ถ้าให้ตอบตอนนี้ก็คิดว่าผมยอมเสียมากกว่าได้เวลามาพร้อมๆ กับความไร้ซึ่งมารยาทในการสื่อสาร
เย็นวันเสาร์หลังจากออกไปตั้งแคมป์กับเด็กๆ ได้ครึ่งวัน ดีนขี่มอไซค์กลับมาบ้านด้วยสีหน้าบอกบุญไม่รับ เขาแจ้งว่ากลับมาเอาฟอยล์เพื่อไปประกอบอาหารค่ำ แต่พอถามว่าเป็นอะไร ลูกพี่ก็เริ่มบ่นถึงพฤติกรรมของเด็กน้อยสามคน เขาบอกว่าบรรดาเด็กๆ เอาแต่คุย ต่อรอง และไม่พยายามช่วยงานชาวแคมป์เท่าที่ควร มิหนำซ้ำเซฟเฟอร์ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนยังทำมีดเล่มโปรดของเขาหายไปอีก
การกลับลงมาเอาฟอยล์ประกอบอาหารจึงน่าจะเป็นขั้นตอนเพื่อระงับโทสะของเขาด้วย ดีนยืนคุยกับภรรยาของเขาอีกสักพักเพื่อคลายอารมณ์ที่คุกรุ่น ก่อนจะกลับแคมป์ไปดูแลเด็กๆ ต่อ ส่วนผมนั่งสูบกัญชาอีกสองสามตัวเพียงลำพังแล้วก็เข้านอนแต่หัวค่ำ
เช้าวันรุ่งขึ้น ระหว่างผมออกไปนั่งกินติ่มซำและคุยกับพี่โน้ตเจ้าของร้านอย่างรื่นรมย์ ก็มีข้อความแจ้งมาว่าชาวแคมป์กลับมาถึงบ้านแล้ว นับว่าแปลกอยู่ ถ้าสถานการณ์ปกติพวกเขาน่าจะอ้อยอิ่งและเผาเวลายามตะวันฉายให้ผ่านไปอย่างสบายอารมณ์กันที่แคมป์ เมื่อผมกลับมาบ้านก็เห็นดีนกับพอลนั่งคุยกันอย่างกึ่งเศร้ากึ่งโกรธ ประมาณว่าพวกเขาต่างผิดหวังในตัวลูกชายตัวเอง พอเจอหน้าผมก็บอกกันเป็นเสียงเดียวกันว่าลูกชายผมทำตัวดีต่างกับลูกชายของพวกเขา
ผมได้แต่บอกว่า ไม่ใช่อะไรขนาดนั้นหรอก จริงๆ มันก็แค่ว่า ‘การที่ไม่มีพ่อแม่’ อยู่ด้วยในชั่วขณะหนึ่งน่าจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีกว่าปกติ พวกเขา (จริงๆ คือดีนเป็นส่วนใหญ่) คุยกันต่อว่าต้องพยายามจัดการให้ลูกๆ อยู่ในร่องในรอยมากขึ้น ไม่อย่างนั้นมันอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ทั้งหมดของคนในครอบครัว ผมนั่งฟังอย่างเห็นใจ แต่ก็อดยิ้มในความเอาจริงเอาจังของดีนในทุกๆ เรื่องไม่ได้
สองสามปีก่อนผมเคยอ่านหนังสือเล่มนึงเล่าให้ฟังว่าในอดีต บางครอบครัวในยุโรปมักจะส่งลูกชายไปอยู่ที่บ้านเพื่อนหรือญาติห่างๆ สักช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อบ่มเพาะวินัยและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ซึ่งถ้าจะมองในบรรทัดฐานปัจจุบันก็อาจบอกได้ว่าเป็นความปรารถนาดีที่ดูโหดร้าย แต่ก็น่ามีความจริงแฝงอยู่ไม่น้อย การที่เด็กคนนึงไม่เคยออกไปไหนหรือใช้เวลา ‘อยู่’ กับใครเลยในช่วงวัยเรียนรู้และเติบโต ก็อาจทำให้พวกเขาไม่พร้อมที่ยืนหยัดด้วยตัวเอง และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนอย่างเหมาะสมในวันที่มาถึง
ทุกวันนี้ผมยินดีเสมอที่จะให้ลูกชายไปค้างแรมที่ไหนกับคนอื่น (ถ้าศิลป์ต้องการจะไป) กฏข้อเดียวของผมคือเคารพเจ้าของบ้าน ซึ่งหมายถึงการฟังและปฏิบัติตาม แล้วก็มีหมายเหตุต่อท้ายเผื่อสงสัยไว้ว่า Different families, different rules ! ศิลป์สามารถเอาความกังขาต่อกฏหรือวิถีต่างๆ ในบ้านคนอื่นมาพูดคุยในภายหลังที่บ้านของตัวเองได้ แต่ศิลป์จะต้องไม่ละเมิดสิ่งนั้นระหว่างที่อยู่ในบ้านอื่น
อนึ่ง เรื่อง ‘การละเล่นที่ไม่เข้าท่า’ ของ ‘ไอ้บ้าตัวนึง’ ที่พี่ตอบในจดหมายฉบับก่อนยังคงค้างอยู่ในหัวผมเหมือนกัน คือแม่งโคตรคุกคามและไร้มารยาทอย่างสิ้นเชิงต่อผู้สูญเสีย อายุขนาดนี้แล้วยังคิดอะไรได้แค่นี้นี่แม่งควรถูกเนรเทศไปอยู่ในนรกขุมไหนขุมหนึ่ง พูดถึงเรื่องนี้แล้วก็กึ่งเศร้ากึ่งโกรธเหมือนกับดีน แต่ต่างกันที่คนละเนื้อหา
ด้วยมิตรภาพและความปรารถนาดีจากเกาะทางใต้
จ๊อก
ตอบ จ๊อก
ขออภัย รอบนี้เป็นฝ่ายเราที่โอ้เอ้ ตอบจดหมายช้า สิบวันมานี้ชีวิตระหกระเหินเดินทางไกล มีหลายเรื่องที่ผ่านพบ เอาแค่ 6 ตุลาฯ วันเดียว ก็เล่าไม่หมด ลองฟังเล่นๆ สักหน่อยนะ
ลงรถทัวร์ที่หมอชิตใกล้ๆ หกโมงเช้า เดินไปขึ้นรถเมล์ (เป้าหมายอยู่เกสต์เฮาส์ ริมคลองบางลำพู) คุณเคยมาใช้บริการที่นี่บ้างมั้ย น่าตกใจว่ากี่เดือนกี่ปีผ่านไปแม่งก็รักษาแคแรกเตอร์นรกไว้อย่างครบถ้วน ใครก็รู้ว่ามันคือ Bus Terminal ที่มีประชาชนเข้ามาใช้มากที่สุด ไม่นับช่วงเทศกาลซึ่งกลายเป็นนรกคูณสิบ ทำไมผู้มีอำนาจไม่คิดจะจัดการให้สะดวก สะอาด ปลอดภัย เรื่องมันยากขนาดนั้นเลยเหรอวะ เกินสติปัญญาใช่ป่ะ หรือไม่ใส่ใจ หรือติดขัดผลประโยชน์ใครคนไหน คือมันเหลือเชื่อว่าทำไมถึงปล่อยให้เป็นสลัมอยู่ชั่วนาตาปี ทำไมไม่พัฒนาให้มันเหมาะสม ก้าวหน้าตามยุคสมัย รับใช้ความเป็นมนุษย์ มองยังไงมันก็เน่าไปหมด จนอดคิดไม่ได้ว่าเขาเห็นหัวประชาชนหรือเปล่า หรือลูกค้าหลักที่เป็นคนเหนือคนอีสานพวกนั้นมันจน ไปสนใจให้ค่าพวกมันทำไม ฯลฯ
รถเมล์สาย 3 ที่เคยนั่งประจำ ไม่ให้เข้ามาจอดรับส่งแล้ว (การปรับลดเปลี่ยนแปลงทำให้เส้นทางไม่ครอบคลุม) เราเปลี่ยนไปขึ้น 509 ลงตรงป้ายสุดท้าย หัวมุมแยกผ่านฟ้า เดินเข้าถนนพระสุเมรุ (ผ่านหน้าร้านหนังสือเดินทางที่กำลังจะย้ายต้นปีใหม่นี้ –เพราะการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน) ข้ามสะพานเฉลิมวันชาติ เข้าที่พัก อาบน้ำอาบท่า กินโจ๊กชามหนึ่ง แล้วเดินไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ้าเป็นช่วงก่อนรัฐประหาร 2014 คนที่ยังไงก็เจอ เจอโดยไม่ต้องนัดหมายคือ วัฒน์ วรรลยางกูร เขาขับรถมาจากบ้านไทรโยคตั้งแต่ตีสามตีสี่ เพื่อมาร่วมงานทุกเช้าตรู่วันที่หกตุลาฯ ปีนี้ไม่เจอพี่นักเขียนที่เคารพรักอีกแล้ว แต่เพลง ‘จากลานโพธิ์ถึงภูพาน’ ของเขาก็ยังเป็นแก่นแกนที่มิตรสหายนำมาขับร้อง ตอกย้ำรำลึกความเหี้ยของฆาตกร
อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้รับคัดเลือกให้เป็นองค์ปาฐกในปีนี้ เขาบอกเล่าประเด็นแหลมคมด้วยความกล้าหาญ เราเห็นผู้ชายคนนี้มาตั้งแต่อายุสิบแปด เขาเป็นรุ่นน้องเราปีหนึ่งในคณะวิชาเดียวกัน แยกย้ายเมื่อจบการศึกษา และมาพบกันอีกทีในม็อบเสื้อแดง ก่อนจะเห็นหน้าเขาบ่อยครั้งในฐานะนักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหว และให้ความเห็นทางการเมืองที่เป็นประโยชน์เสมอกับการพัฒนาประชาธิปไตยในบ้านเมืองของเรา
ไผ่, เพนกวิน, ฮั้ว, มายด์, ครูใหญ่ ฯ มากันครบ คนหนุ่มสาวนักกิจกรรมเหล่านี้สร้างสรรค์และเอาการเอางาน เรื่องจิตใจนักสู้นั่นไม่ต้องพูด ผู้ใหญ่อย่างเราไม่มีสิ่งใดเทียบเคียงกับเขาและเธอได้ เช่นกันกับปีก่อนๆ เช้านี้มีนักการเมืองมาร่วมงานหลายคน เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง, พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, พรรณิการ์ วานิช รวมทั้งนักวิชาการคนสำคัญอย่าง ธงชัย วินิจจะกูล และชาญวิทย์ เกษตรศิริ ภาพที่อยู่ในใจเราคือเวลาคนหนุ่มสาวยืนคุยกับผู้อาวุโส รัศมีของทั้งสองฝ่ายดูเท่าเทียมกลมกลืน เป็นปีกคนละข้างของกันและกันที่เชื่อมโยงส่งต่อรุ่นสู่รุ่น นี่คือจุดแข็งและธรรมชาติของประชาชน อย่างที่เพลงเขาว่า –มีประชาชนเหมือนมีทุกสิ่งทุกอย่าง
จิ้น กรรมาชน เจ้าของเพลงชาติอย่าง ‘เพื่อมวลชน’ และ ‘นักสู้ธุลีดิน’ สวมเสื้อสกรีนตรงอกว่า วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนราษฎร เราเข้าไปขอเขาถ่ายรูปและสนทนากันสั้นๆ หน้าแผงหนังสือเก่า แยกกันแล้วมองเห็นรวมเรื่องสั้นของ ‘ศรีบูรพา’ เล่มหนึ่งพอดี เลยรับมาเสพชื่นชม (อ่านจบแล้วชอบมาก ไว้จะเขียนรีวิว)
ออกมาหาข้าวหาเบียร์กิน (กับน้าบอย) แล้วนั่งแกร็บวินไปร้านบุหลันดั้นเมฆ จากบางลำพูไปพระราม 3 เรียกว่าข้ามโลกกันเลยทีเดียว (ค่ารถ 130 บาท) บนเบาะมอไซค์ในระยะเวลาใกล้ๆ ครึ่งชั่วโมง ได้คุยกับคนขับ รับรู้การดิ้นรน ไอ้หนุ่มคนนี้จบนาฏศิลป์ เคยหาลำไพ่ รับจ้างไปเล่นโขนอยู่อเมริกาสามปี กลับมาทำงาน กทม. เมียหนึ่ง ลูกสอง รายได้ไม่ค่อยจะพอกับรายใช้ เลยมาขับแกร็บ สิ่งที่เราเพิ่งรู้ก็คือเดือนๆ หนึ่งเขาหาเงินจากการขับวินได้ถึงสามสี่หมื่น คืออีกเท่าหนึ่งของงานประจำว่างั้นเถอะ (อย่างเลวๆ เขาว่าหาได้พันบาททุกวัน ถ้าดีก็สองพัน) โคตรขยันน่ะ ยินดีกับการงานของเขา แต่ก็ห่วงว่าร่างกายผอมเกร็งนั้นจะได้พักผ่อนกี่มากน้อย ดาบก็แกว่ง เปลก็ไกวขนาดนี้ มันบอบช้ำแน่นอน แต่ก็นั่นแหละ ไม่วิ่งขาขวิดแบบนี้ ลูกเมียจะกินอะไร อยากจะมีชีวิตที่ดีในประเทศที่ไม่มีรัฐสวัสดิการ แม่งก็มีทางให้เลือกประมาณนี้
ถึงบุหลันดั้นเมฆ พร้อมๆ ฮวก-ชวด ‘สุดสะแนน’ สองนักดนตรีจากเชียงใหม่ วาระหกตุลาฯ พวกเขาเดินสายลงมาเล่นดนตรีหลายร้าน (พิษณุโลก / กรุงเทพฯ) ทั้งคู่เคยไปร่วมงาน ‘น่านโปเอซี’ ถึงคราวเขามีงาน เราก็อยากมาแจมบ้างและจังหวะมันก็พอดีกับที่ รชา พรมภวังค์ มีงานใหม่ (หนังสือรวมบทกวี ‘วิกาลของลิงที่มาก่อน’) มาเปิดตัวที่ร้านนี้ วันนี้
โทรฯ ตามป่าน ธิติ สหายกวีอีกคน น้าเค้าก็ติดสัมภาษณ์ สุกัญญา มิเกล บอกขออภัย มาไม่ได้จริงๆ แต่พลบค่ำ ขณะที่แสงสีและเสียงฝนกำลังทำงาน ทั้งน้าป่านและมิเกลก็เดินเข้ามา เออ ให้มันได้แบบนี้สิ
เราเคยสัมภาษณ์มิเกลสองครั้ง (สมัยทำหนังสือพิมพ์และแมกกาซีน) พอทัก เธอส่งมือ โอบกอด คุณคงพอมีข้อมูลว่าช่วงการเมืองร้อนแรง สุกัญญา มิเกล คนนี้เคยขึ้นเวทีพันธมิตรฯ เรียกว่าเป็นขาใหญ่คนหนึ่งในปีกศิลปินฝ่ายขวา แต่ราวสักสองปีที่ผ่านมา มิเกลย้ายค่ายมากอดคอสามกีบ ย้ายแบบสวยงามน่ะ คือเมื่อศึกษา เมื่อรู้เห็น ก็ปรับตัวเปลี่ยนแปลง ด้วยความกล้าหาญ แน่นอนว่าเธอต้องแลกและสูญเสียฐานที่มั่นบางส่วน ซึ่งคนอย่างมิเกลไม่แคร์ เรื่องที่คุณอาจจะไม่รู้ เธอเคยพูดคุยกับ วาด รวี อย่างลึกซึ้งถึงรากถึงโคนที่ร้านนี้ คุยด้วยความเคารพรัก นั่นเป็นเหตุผลให้เธออยากมาที่นี่ มาร่วมยินดีกับ รชา พรมภวังค์ ซึ่งเป็นเพื่อนรักของ วาด รวี
เราอ่านจบแล้วอีกเช่นกัน สำหรับ ‘วิกาลของลิงที่มาก่อน’ โคตรชอบและอยากเชียร์ให้คุณหาอ่าน เพื่อยั่วยุชิมลาง ขอนุญาตเลือกบางบทมาฝาก
คมมีดตรงปลายเชือก
ก่อนจะถึงทางเลือก คุณเลือกได้
ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือความตาย
เปลี่ยนผ่านหรือพังพ่าย คุณเลือกเอา
ก่อนประชาชนจะตัดฉับ
ก่อนปลายมีดจะร่วงสับอำนาจเก่า
ตะวันฉายปลายเชือกสะท้อนเงา
หมดเวลาเรื่องเล่าที่หลอกลวง
ยังพอมีเวลาตัดสินใจ
เหลือโอกาสแก้ไขให้ลุล่วง
เมื่อคนทุกข์ลุกลามขึ้นถามทวง
คมมีดก็ใกล้ร่วงลงทุกที
อนาคตอยู่ข้างประชาชน
เทวดาผู้ฉ้อฉลหมดทางหนี
ปฏิรูปคืนอำนาจแต่โดยดี
ก่อนถึงวินาทีกิโยติน.
ปล. เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการส่งลูกออกจากบ้านในบางวาระ มันเป็นโอกาสที่ดีของการเรียนรู้และเติบโต พึ่งพาตัวเอง
เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อก (ชัยพร อินทุวิศาลกุล) เป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน ทุกสัปดาห์เขาเขียนจดหมายมาคุยกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ บรรณาธิการ nan dialogue