สวัสดีครับพี่หนึ่ง
หวังว่าอาการป่วยไข้ของพี่จะทุเลา ที่พี่เล่าให้ฟังว่าอากาศที่น่านเริ่มเย็นลงจนหนาวแล้ว ที่พะงันฝนก็เริ่มซาๆ และเริ่มหนาวหน่อยๆ แล้วเหมือนกัน
สัปดาห์ก่อน ตอนไปนอนกับทีมสเกาต์แคมป์บนเขาใกล้ๆ บ้านก็หนาวเอาเรื่องอยู่ ผมเองชะล่าใจใส่แค่เสื้อยืดกับกางเกงขาสั้นขึ้นไปทำกิจกรรม พอตกดึกอากาศเย็นลงค่อนข้างมาก พยายามนอนห่อตัวเองในเปลแล้วปรากฏว่าไม่รอด นอนท่าแปลกๆ ก็หนึ่ง อากาศเย็นจนรู้สึกหนาวก็อีกหนึ่ง โชคดีที่ดีนก่อกองไฟทิ้งไว้ทั้งคืน สุดท้ายผมเลยลากเอาแผ่นปูนอนมาไว้ใกล้ๆ กองไฟ แล้วนอนตากน้ำค้างท่ามกลางหมู่ดาวข้างๆ ฮีตเตอร์เวอร์ชั่น 1.0 ของมวลมนุษยชาติซะอย่างนั้น
จดหมายฉบับนี้ถูกส่งออกล่าช้าตกสัปดาห์ไปหน่อย เมื่อวานผมเพิ่งจะเสร็จสิ้นภารกิจนอนค้างบนแคมป์เป็นครั้งที่สอง
ค่ายลูกเสือครั้งที่สองยังได้รับความสนใจจากหมู่ผู้ปกครองเพื่อนๆ ของดีนอยู่ มีเด็กๆ มาเข้าร่วมกิจกรรมกันร่วมสิบคน และได้รับอนุญาตให้นอนค้างคืนกับกัปตันดีนกันอยู่ 3 คน (ลูกดีนหนึ่ง, ลูกผมสอง, และเมสันเพื่อนรุ่นพี่ร่วมโรงเรียนอีกหนึ่ง) เนื้อหาของค่ายครั้งที่สองเป็นเรื่องการกรองน้ำ ดีนคงพยายามทำให้เด็กๆ เห็นความสำคัญของน้ำต่อการดำรงชีวิต
เราเคยคุยกันเรื่องเด็กๆ ทีมหมูป่าที่ติดถ้ำเขาหลวง ผมกังขาว่าเด็กๆ รอดได้อย่างไรจากการติดอยู่ในถ้ำและปราศจากอาหารนานสิบกว่าวัน ดีนยืนยันว่านี่คือความรู้พื้นฐานทางชีววิทยา ว่าถ้ามีน้ำดื่มอย่างพอเพียงมนุษย์เราสามารถอยู่โดยปราศจากอาหารกว่า 30 วัน แล้วหลินที่นั่งอยู่ข้างๆ ตอนเราคุยกันก็เสริมความรู้ต่อให้ผมว่า มนุษย์ขาดอะไรอย่างอื่นได้นานเท่าไรบ้าง สรุปเป็นตัวเลขที่ขึ้นต้นด้วยเลขสามได้ดังนี้ ขาดอากาศได้ 3 นาที ขาดน้ำได้ 3 วัน ทั้งนี้แม้ว่าอาจมีความต่างของมนุษย์แต่ละคน บ้างอาจทนได้น้อยกว่าหรือมากกว่านี้ แต่ตัวเลขที่ว่ามานี้ก็ทำให้ผมทึ่งในความทนทานของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ที่ตัวผมเองสังกัดอยู่
ส่วนหนึ่งก็อาจด้วยว่าผมเองมักใช้ชีวิตแบบที่ไม่เสี่ยง ไม่อยากให้ตัวเองกล้ำกลายไปสนิทชิดเชื้อกับความตายเท่าไร และมักจะเข้าใจไม่ได้กับมนุษย์พวกที่ชอบทำอะไรสุดโต่ง อาทิ ปีนหน้าผาสูงตัวเปล่า พิชิตยอดเขาสูงที่อุณหภูมิติดลบหลายองศา หรือกระทั่งพวกนักสำรวจถ้ำที่กล้าแทรกตัวเข้าไปในช่องแคบและชันบนทางเดินหลายกิโลเมตรในถ้ำนั้นๆ แม้จะมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับผู้ทุพพลภาพซึ่งรอดชีวิตจากความทุรกันดารที่เขาเหล่านั้นเลือกเอง แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีมนุษย์จำพวกหนึ่งที่ใช้ชีวิตดั่งการวิ่งเข้าไปหาความตายเสมอๆ กระทั่งมาอ่านหนังสือเล่มล่าสุดที่ชื่อ Elastic ก็เพิ่งรู้ว่ามนุษย์จำพวกนั้น (พวกที่ชอบความเสี่ยง) อาจมีเคมีของสารสื่อประสาทบางตัวในสมองซึ่งถ่ายทอดมาทางกรรมพันธุ์ให้ต้องกระตุ้นด้วยความเสี่ยงและความเสียวในระดับที่มากกว่าคนปกติ
ปราศจากกิจกรรมเสี่ยงตาย พวกเขาอาจตกอยู่ในสภาพซึมเศร้าและซังกะตายไร้ซึ่งกำลังใจที่มีชีวิตอยู่
ดีนตัดก้นถังน้ำพลาสติกสีขาวขุ่นสามใบ แล้วคว่ำเอาปากถังทิ่มลงดิน ใส่ใยสังเคราะห์ไว้ด้านล่างแล้วก็เทวัสดุสามชนิดที่จะช่วยกรองน้ำให้สะอาด ถังแรกเป็นหินกรวดก้อนเล็กที่โกยมาจากลานจอดรถหน้าบ้าน ถังที่สองเป็นทรายที่เก็บมาจากชายหาด ถังสุดท้ายเป็นถ่านดำที่เราเพิ่งทำกันในค่ายครั้งแรก ดีนแบ่งทีมเด็กเป็นสามทีมแล้วให้พวกเขาตักน้ำมากรอกใส่ถังกรองเพื่อล้างสิ่งสกปรกออกก่อน น้ำใสในลำธารใกล้ๆ ที่พักเมื่อถูกเทผ่านถังกรองในครั้งแรกๆ ก็กลายเป็นน้ำขุ่นคลั่กตามสีของวัสดุกรองในถังนั้นๆ
ดีนบอกให้เด็กๆ เทน้ำใส่ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวน้ำจะใสขึ้นมาเอง ซึ่งก็จริงครับ เทไปได้สักห้าสิบรอบน้ำที่ได้ออกมาเริ่มมีสีใกล้เคียงกับน้ำที่เราเทเข้าไป หลังจากนั้นดีนต่อโครงไม้เพื่อวางให้ถังทั้งสามใบเรียงตัวต่อกันในแนวดิ่ง ให้น้ำจากถังหินไหลรินสู่ถังทรายและถังถ่านตามลำดับ ยังไม่ทันวัดค่าความสะอาดของนำ้ เด็กบางคนก็เอามือไปรองน้ำจากถังล่างสุดแล้วชิมอย่างเอร็ดอร่อยพลางร้องบอกเพื่อนๆ ว่า It’s so tasty !
ก็พอเข้าใจได้นะครับ เด็กๆ ลงแรงแบกถังกรอง ตักน้ำมากรอกใส่เพื่อล้างทำความสะอาดกันร่วมชั่วโมงสองชั่วโมง ถ้ามันจะมีอะไรที่ทำให้พวกเขาหายเหนื่อยได้มากที่สุดก็คงเป็นการได้ชื่นชมและสัมผัสกับผลลัพธ์แห่งการงานของพวกเขา
แม้จะได้น้ำที่ใสออกมาจากถังกรอง แต่กัปตันดีนก็ยังต้องดำรงตนไว้ซึ่งความรอบคอบ เขานำเอาเครื่องวัดความสะอาดของน้ำ (วัดค่าความหนาแน่นของฝุ่นละอองเล็กๆ ในน้ำ) มาทดลองวัดค่าน้ำที่ผ่านเครื่องกรองเทียบกับน้ำจากลำธารที่อยู่ข้างๆ ปรากฏว่าคะแนนความสะอาดนั้นตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราคาดหวังจากเครื่องกรอง น้ำก่อนการกรองนั้นสะอาดกว่าน้ำที่กรองแล้ว ฮา!
ผมพิจารณาแล้วเห็นว่าแม้หลักการจะถูกต้อง แต่ถ้าที่มาและสภาพของวัสดุกรองนั้นไม่ได้มาตรฐาน ผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจตรงข้ามกับสิ่งที่เราคาดหวัง บรรดาเศษความสกปรกของหินจากลานจอดรถ และทรายจากชาดหาด น่าจะสะสมค้างอยู่ที่ใยสังเคราะห์ ทุกครั้งที่เราเทน้ำลงไป สิ่งสกปรกที่ติดอยู่ตามใยก็คงหลุดตามออกมาด้วย ดีนดูจะไม่ยี่หระกับผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ เขาตั้งใจให้เด็กๆ ได้เห็นและเรียนรู้มากกว่าการหวังผลเลิศเรื่องน้ำบริสุทธิ์
ตกเย็นเราทำอาหารกินกันฐานทัพใหญ่ ต้มเส้นพาสต้า ใส่น้ำมะเขือเทศแบบข้น โรยชีส คลุกๆให้เข้ากัน กินคู่กับไก่ย่างที่ดีนหมักมาเองจากบ้าน ระหว่างรอ เด็กจำนวนหนึ่งวิ่งไปเล่นกิจกรรมไต่เชือกโรยตัวในฐานต่างๆ ที่ดีนสร้างเอาไว้ เด็กบางคนนั่งพักเหนื่อยคุยเรื่องสัพเพเหระ และบางคนเดินไปช่วยหาไม้มาทำฟืนเพื่อประกอบอาหารและให้ความอบอุ่น (ทั้งทางกายและทางใจ – ในความหมายว่าให้กายเราหายหนาว และให้ใจเรารู้สึกปลอดภัยและอุ่นใจเมื่อได้อยู่ข้างๆ กองไฟ) ก่อนที่เด็กๆ ส่วนหนึ่งกลับไปนอนที่บ้านตัวเองเบื้องล่าง ดีนแจกมาร์ชเมโล่ให้คนละสามชิ้น พวกเขาเอามันเสียบกิ่งไม้เล็กๆ แล้วย่างกินกันอย่างเอร็ดอร่อย เสมือนเป็นรางวัลที่เตือนใจให้พวกเขากระตือรือร้นที่จะมาค่ายอีกครั้งในสัปดาห์ถัดไป
ระหว่างที่รอดีนขับรถลงเขาไปส่งเด็กๆ ผมกับหลินนั่งหลบกันอยู่ที่มุมหนึ่งของแคมป์อย่างเงียบๆ เพื่อฟังเด็กชายที่เหลือกันอยู่สามคนคุยกัน พวกเขาเดินออกไปหาเศษใบไม้มาโยนลงกองไฟแก้เบื่อ เศษใบไม้แห้งจำพวกเฟิร์นซึ่งมีอยู่ดาษดื่นรอบๆ แคมป์นั้นสร้างความสนุกสนานให้กับเด็กชายทั้งสามคนอย่างมาก โยนเข้ากองไฟทีก็ได้เปลวไฟสูงท่วมหัวพวกเขาได้สักหนึ่งนาที ระหว่างทางที่เดินไปเก็บใบไม้ เซเฟอร์พยายามสถาปนาความเป็นผู้นำกลุ่มด้วยด้วยการอ้างถึงการสืบเชื้อสายจากดีน กัปตันแห่งสเกาต์แคมป์ ศิลป์ลูกชายผมแย้งและเถียงกับเพื่อนซี้ว่าไม่ใช่ พ่อนายเป็นคนธรรมดาต่างหาก (ไม่รู้ว่าเจ้าลูกชายฟังพ่อมันบ่นเรื่องการเมืองมากไปรึเปล่า ที่ในการเคลื่อนไหวหลังๆ มานี้เรามักได้ยินวลีว่า No Gods, No Kings, Only Human กันอยู่บ่อยๆ)
ระหว่างนั่งดูเปลวไฟโชติช่วง เซเฟอร์ก็เล่าให้เพื่อนอีกสองคนฟังอีกว่าเดี๋ยวนี้ดีนตั้งชื่อเล่นให้เขาว่า ไทเกอร์ เพราะเขาเป็นมนุษย์ที่มีความพยายามสูงและมักจะทำอะไรทุกอย่างให้จนได้เสมอๆ ศิลป์ชวนคุยต่อแล้วถามเซเฟอร์ว่า “ถ้าอย่างนั้นนายก็คงทำอะไรๆ ได้ทุกอย่างน่ะสิ” เซเฟอร์พยักหน้าตอบรับอย่างภูมิใจ ศิลป์เงยหน้ามองแล้วถามต่ออย่างหน้าตายว่า “แล้วเมื่อไรนายจะกินขี้ของตัวเองล่ะ” ฮาฮา
ผมกัดกระพุ้งแก้มพยายามไม่ให้เสียงหัวเราะเล็ดลอดออกมาทำลายบรรยากาศการพูดคุยของเด็กๆ ก่อนกระซิบและคุยกับหลินว่า ถ้าลูกเราไม่ถูกใครกระทืบตายไปก่อนวัยอันควร ศิลป์อาจเป็นสแตนด์อัพคอมเมเดี้ยนที่ดีได้นะ
คืนนั้นผมนอนฟังอีกหลายเรื่องราวที่เด็กสามคนคุยกันต่อแทบทั้งคืน มีทั้งเรื่องพฤติกรรมของเพื่อนตัวแสบในโรงเรียน การจำลองสถานการณ์หากประสบภัยจากเพื่อนนักเลงเหล่านั้น การ์ดเกมส์โปเกม่อน เกมส์ออนไลน์ ผมนอนฟังด้วยความเพลิดเพลินและรู้สึกดีใจกึ่งอิจฉาที่พวกเขาได้มีโอกาสทำอะไรแบบนี้กัน มันเหมือนบางฉากในนิยายหรือภาพยนตร์บางเรื่องที่ผมเคยดูและหวังว่าจะเป็นตัวละครหนึ่งในนั้นบ้าง อาทิ Tom Sawyer, Lord of the Flies, Stand by Me เป็นต้น
ผมยังคิดอยู่ว่า ถ้าทุกสุดสัปดาห์พวกเขามีโอกาสมาตั้งแคมป์ค้างคืนเรียนรู้ทั้งทักษะการเอาชีวิตรอดในธรรมชาติ และการอยู่ร่วมกับมนุษย์ในวัยใกล้ๆ กัน หากทำครบสักปี พวกเขาจะเติบโตและกล้าแกร่งกันขึ้นขนาดไหน ปีที่สองที่พะงันเริ่มให้อีกความรู้สึกกับผมที่ต่างไปจากพะงันในซีซั่นแรกพอสมควร
ด้วยมิตรภาพ
จ๊อก
ปล. ผมเพิ่งเดินไปถามดีนเรื่องการตั้งชื่อเล่นใหม่ลูกชายว่าไทเกอร์แล้วได้ความกระจ่างมาว่า เขาไม่ได้ตั้งชื่อใหม่ให้เซเฟอร์ จริงๆ แล้วดีนเล่าให้เซเฟอร์ฟังว่าในกลุ่มเพื่อนร่วมค่ายนั้นจะต้องมีใครบางคนในกลุ่มเป็น อย่างสิงโต หรือพญาเสือ ที่มักจะฟันฝ่าทุกอุปสรรคขวากหนามเพื่อให้ได้มาซึ่งความอยู่รอดหรือความสำเร็จ และในขณะเดียวกันที่ต้องมีใครบางคนเป็นสัตว์จำพวกกวางที่คอยดูแลสารทุกข์สุขดิบของเพื่อนๆ ในกลุ่ม เป็นเซเฟอร์เองต่างหากที่ทึกทักเอาเองว่าตัวเองเป็นสัตว์จำพวกแรก หลังจากผมเล่าให้ดีนฟังเรื่องไทเกอร์เซเฟอร์ เขาอมยิ้มและตอบว่าดีเหมือนกัน หนึ่ง, อาจด้วยภูมิใจว่าลูกชายมีความปรารถนาจะเป็นดั่งเสือ สอง, อาจด้วยเห็นว่าอุปมาอุปมัยเยี่ยงนี้อาจสร้างความสนใจให้กับเด็กๆ ได้มากกว่าการอธิบายคุณค่าอันดีงามด้วยคำที่เป็นนามธรรมซึ่งอาจดูน่าเบื่อเกินไปสำหรับเด็กๆ
ตอบ จ๊อก
นั่งเขียนจดหมายหาคุณที่คุก เอ่อ ไม่ใช่แบบนั้น หมายถึงในบริเวณส่วนหนึ่งของเรือนจำ เป็นส่วนร้านค้า ที่พักรอของญาติโยม เคยเล่าให้คุณฟังในจดหมายหลายฉบับก่อนว่านี่คล้ายๆ creative space ของเรา มันกว้าง แล้วก็มีสระน้ำ ต้นไม้ใหญ่น้อยเขียวสบายตา คนน้อย (ไม่เห็นจะมีใคร นอกจากนักโทษชั้นดีที่วนเวียนมาทำความสะอาด –ทุกคนอัธยาศัยดีกว่าพระในหลายวัด) ทุกวันพฤหัสบดีที่สองและสี่ของเดือน มีกาดผักผลไม้ ของใช้ของกิน น่าช็อป (เราเคยมาเดิน เผอิญเป็นวันเปิดพอดี รำคาญพิธีกรรม เลยเห็นน้อยไปหน่อย) ร้านกาแฟที่นี่เขามีมุข ‘ห้องลหุโทษ ห้องอุกฉกรรจ์’ ประมาณนั่งนาน นั่งไม่นาน เอาคำคุ้นเคยของคนที่นี่มาใช้ ไม่รู้ว่าลูกค้า (ที่ยังไม่โดนจับขัง) คนอื่นๆ จะมีอารมณ์ขันด้วยมั้ย ฝ่ายเราไม่ขำหรอก แต่ก็ เออๆ แล้วแต่น้า เห็นเขาพยายามค้าขาย ก็ขอให้เจริญในทุน
ตอบจดหมายคุณในวันครบรอบวันเกิดไผ่ มันทำให้ความหลังหลายๆ ภาพผุดพรายขึ้นมา แคมป์ที่คุณกำลังสนุกสนานกัน ครอบครัวเราและไผ่ก็เคยมีกิจกรรมทำนองนี้ (ไม่เท่ามิสเตอร์ดีนนั่นหรอก โห ใครจะจริงจังเท่าพ่อเจ้าประคุณ) อย่างดีก็ไปทะเล กางเต็นท์ เล่นน้ำ ทำอาหารกินกัน ความที่เรากับไผ่เรียนหนังสือมาด้วยกัน ประสบการณ์มันเลยค่อนข้างจะยาว เรียกว่าเจอกันตั้งแต่อายุยี่สิบ อยู่ร่วมกันถึงสี่สิบห้า ว่าไปก็แทบจะมากกว่าใช้เวลาอยู่กับพ่อแม่ รสนิยมระหว่างเพื่อนมีโอกาสเหมือนกันมากกว่าบุพการีอยู่แล้ว เพราะมันเกิดจากการเลือก ขณะที่กับพ่อแม่ เราเลือกไม่ได้ แล้วแต่โชคชะตาจริงๆ ว่าใครจะเกิดมาในครอบครัวแบบไหน (ถ้าเราเป็นเจ้าศิลป์ คงสวดอ้อนวอนพระเจ้าทุกค่ำเช้าว่า ขอให้เวลาชีวิตช่วงนี้ยืดยาวไปให้เนิ่นนานที่สุด ทั้งพ่อแม่และเพื่อน ทั้งกิจกรรม ทั้งทำเลที่อยู่กลางทะเล เออเว้ย มันช่างใกล้เคียงยูโทเปีย–แต่ช็อตที่ถามเพื่อนเรื่องกินขี้นี่ อืมม์ เราว่าว่างๆ พาลูกพี่เค้าไปเรียนศิลปะป้องกันตัวไว้บ้างก็ไม่เลว)
หนึ่งในภาพจำของเราคือทริปที่ไปเกาะบูบู (อยู่เลยลันตาไปหน่อย ต่อรถ ต่อเรือ ต่อรถและต่อเรือจนงงไปหมด) ตอนนั้นเพยอายุสักสามขวบ ไผ่ยังไม่มีลูก เข้าใจว่ายังไม่แต่งงานด้วยมั้ง ผู้ชายสายน้ำอย่างเขาจับเพยใส่เรือแล้วพายรอบเกาะ ฝ่ายคนเป็นพ่ออย่างเราทำได้แค่นั่งเชียร์ (กินเบียร์เพลินๆ ไป) เพราะเกิดมาเป็นมนุษย์กลัวน้ำ ทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง ไม่ว่าว่ายหรือพาย อีกคราวก็ที่หาดวนกร คราวนี้ไผ่มีลูกคนแรกแล้ว อยู่ในวัยแรกอุ้ม เดินเตาะแตะ อีกเช่นกัน, เขาแบกเรือขึ้นรถกระบะจากบ้าน ไปถึงก็พาเพยเล่นน้ำสนุกสนาน คืนแรกผ่านไป ต่อคืนสองที่ไร่สับปะรดปราณบุรี (ของญาติไผ่) กางเต็นท์ในไร่สับปะรด กินสับปะรดจนท้องจะแตก แน่นอนว่าเมื่อมีสระน้ำ ไผ่ก็ต้องเล่นเรือ พาเด็กๆ ทัวร์สายชล
คุณคงพอรู้ ว่าเราเข้ามาเป็นนักหนังสือพิมพ์เพราะบังเอิญสมัครงานได้ (สมัครไปทั่ว เพราะไม่ชอบอาชีพอะไรเลย คิดแค่หาเงินเลี้ยงตัว) ขณะที่ไผ่ฝักใฝ่มุ่งมั่น เขียนบทกวีมาตั้งแต่เรียนทับแก้ว และทำงานต่อเนื่องจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกวีนิพนธ์ (ไผ่เก็บหอมรอมริบค่าต้นฉบับบทกวีที่ตีพิมพ์ใน ‘มติชนสุดสัปดาห์’ ต่อเนื่องราวสิบปี ใช้เป็นเงินแต่งงาน) เป็นเขาอย่างแท้จริงที่มีส่วนผลักดันให้เรารักและลงลึกในวิชาชีพนี้ หัดเขียนบทกวีก็เพราะไผ่ สนใจการบ้านการเมืองก็เพราะไผ่ ก่อนหน้านั้นเราเป็นพวกอ่านโครงสร้างไม่เป็น
เวลามองบ้านจะเห็นแค่วอลล์เปเปอร์และแจกันดอกไม้ พวกเสา ฝ้าเพดาน วงกบ ไม่รู้จัก พูดง่ายๆ ว่าโง่มานานน่ะ เขาหลอกว่าการเมืองสกปรกก็เชื่อ หลอกว่า ‘ให้คนดีปกครองบ้านเมือง’ ก็ซาบซึ้งสมาทาน ไม่เคยศึกษาจริงๆ จังๆ เลยในเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย ท่องจำแต่ในตำราเรียน ว่าเสียกรุงปีไหน พระมหากษัตริย์ไทยทรงพระปรีชาสามารถในศาสตร์และศิลป์ เป็นผู้มีบุญคุณต่อแผ่นดินอย่างหาที่สุดมิได้ ฯลฯ
ทั้งที่ทำมาหากินอยู่กับอาชีพตั้งคำถาม แต่คนที่สอนเราให้หมั่นขยันถามจริงๆ ก็คือไผ่ ถามให้เข้าเป้า ตรงประเด็น ถามไปที่ใจกลางของปัญหา ถามแล้วตอบไม่ได้ ก็ออกแรง ใช้เวลาไปค้นคว้าหาคำตอบ ในมหาวิทยาลัยไม่มี ในห้องสมุดไม่มี ในโรงภาพยนตร์ไม่มี ก็เดินออกไปหาบนท้องถนน ฟังเสียงเต้นของหัวใจประชาชน
สันดานแต่เดิมเราเป็นพวกจมอยู่ในโลกส่วนตัว ทั้งที่ทำอาชีพนักสื่อสารมวลชนนี่แหละ เป็นไผ่อีกนั่นเองที่ชี้ชวนแสดงหลักฐานว่าเราเกิดกินอยู่ในประเทศด้อยพัฒนา สังคมพิกลพิการ เปรียบง่ายๆ ว่าเป็นทีมฟุตบอลที่มีผู้เล่นไม่ครบ 11 คน หากรักจะเล่น มันจำเป็นต้องทำหลายหน้าที่ แม้บางทีไม่ถนัด ไม่ปรารถนา แต่หากต้องการให้เกิดเกม เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องฝึกทักษะเพิ่ม และยอมเหนื่อย ออกแรงทำหลายบทบาท การไปเป็นกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้านั่นหนหนึ่ง ในหมู่พวกเรา ส่วนใหญ่ก็เป็นนักเขียนคนทำงาน ไม่มีใครอยากชี้ขาดตัดสินผลงานใครคนอื่นหรอก ศิลปินบ้าที่ไหนจะฝันใฝ่อยากเป็นกรรมการ แต่ก็นั่นแหละ ถ้าวิ่งหนีหรือหลบอยู่ในโลกส่วนตัวกันหมด ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยก็ผูกขาดอำนาจตลอดกาล ซึ่งมันแย่ และน่าเบื่อที่สุดก็ตอนที่มานั่งบ่นกันเองว่าแย่ คล้ายๆ ถึงเวลาเลือกตั้งก็ไม่ไป แต่มาด่านักการเมือง คือแม่งเป็นตรรกะประหลาด
เราทำเทศกาล ‘น่านโปเอซี’ เพราะไผ่ ตอนนั้นเขาไม่อยู่แล้ว ในเมื่อบทกวีคือชีวิตเพื่อน เราคิดเอาเองว่าวิธีหนึ่งที่เราและเพื่อนจะยังอยู่กันใกล้ที่สุดก็คือบทกวี ก็นั่นแหละ คิดมันง่ายๆ แบบนี้ ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนน่ะเหรอ ไม่เอาหรอก ไม่ทำ ไม่อยากยุ่งกับใคร
ไผ่ทำให้เราต้องหัดมองออกไปนอกร่างกายและหัวใจตัวเองบ้าง โลกมันอยู่กันหลายคน การก้มมองแต่ตัว สุดท้ายจะเหลืออะไรอื่น นอกจากเป็นคนเห็นแก่ตัว และเอาแต่ได้ ซึ่งถึงที่สุดมันจะไม่มีใครได้ด้วยนะ ที่สุดมันจะพังทั้งระบบ คุณเป็นนักบอล แต่ไม่มีสนามเล่น และไม่มีใครยอมเหนื่อยมาทำหน้าที่คนสร้างสนาม ถามว่าเกมฟุตบอลจะเกิดได้ยังไง ลืมแล้วเหรอว่าเราอยู่ในประเทศด้อยพัฒนาที่มีเครือข่ายศักดินาใจโหดเหี้ยมถือปืนจ่อหัวอยู่
‘น่านไดอะล็อก’ นี่ก็เช่นกัน ไอเดียเดียวกับ ‘น่านโปเอซี’ เลย คือบ้านเราไม่มีสนามบอล มีจำนวนน้อยก็กระจุกอยู่ในเมืองหลวง ต่างจังหวัดว้าเหว่ ว่างเปล่า นักบอลเก่งแค่ไหนก็ไปไม่รอดหรอก ถ้าไม่มีลีกดีๆ ให้เล่น ไม่มีสโมสรที่จ่ายค่าตอบแทนให้อย่างเป็นธรรม ไม่มีสมาคมที่คอยดูแลสวัสดิการในฐานะมนุษย์ที่พึงมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในฐานะนักเขียนอิสระที่เคยผ่านเวทีสื่อมาบ้าง เห็นแล้วมันก็อดไม่ได้ที่ต้องยอมถือจอบจับเสียมมาเป็นคน ‘สร้างสนาม’ แดดร้อนหน่อยก็ช่างมัน น้ำไม่มี ก็วิ่งหา คนไม่พอ ก็หน้าด้านขอแรงเพื่อนฝูงใกล้ชิด ช่วยกันไปก่อน ไม่งั้นทุกอย่างมันก็เดิมๆ นักบอลไม่มีสนามเล่น นักเขียนไม่มีเวที ประชาชนไม่มีเสรีภาพ
ที่พูดมายืดยาวนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคำว่า ‘นักบุญ’ และคนละโลกกับ ‘ผู้เสียสละ’ เราเป็นแค่คนธรรมดาที่ทนไม่ได้ และก็จะไม่อดทนอยู่ใต้วาทกรรมปีศาจ ตลอด 45 ปีในชีวิตไผ่ เพื่อนเราทำมาเยอะแล้ว ทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ในเมื่อเราตระหนักแล้ว และใจไม่ด้านพอ การลงมือทำอะไรได้เล็กๆ น้อยๆ ก็ทำไป ช่วยกันออกแรงผลัก เผื่อความพิกลพิการและสถานะ ‘ด้อยพัฒนา’ ที่มีมาช้านาน มันจะค่อยเคลื่อนขยับไปสู่โลกสากล
ขอบคุณเพื่อนพี่น้องหลายคนที่ยืนเคียงข้างอย่างมั่นคง หนึ่งในนั้นก็คือคุณนั่นแหละ จดหมายจากพะงันทำให้ ‘น่านไดอะล็อก’ ไม่กักขังตัวเองอยู่อย่างคนหลังเขา เรื่องเล่าที่หลากหลายเปิดพรมแดนทางความคิดให้ไหลเวียนถ่ายเทสู่กันและกัน นี่เป็นจุดแข็งและใบแสดงหลักฐานว่าทำไมมนุษย์จึงต่างจากสัตว์ คำตอบง่ายๆ เพราะมนุษย์มีเรื่องเล่าและคำถามอันไม่จบสิ้น
ไผ่เป็นคนจุดไฟในใจเราขึ้นมา ไฟดวงนี้ติดแล้วติดเลย ไฟดวงนี้เปล่งแสงสุกสว่าง แปลกดี–บางคืนที่มีลมและฝนแรงๆ แทนที่จะดับ กลับพัดให้มันลุกไหม้คุโชน
ปล. เวลาพูดถึงไผ่ คุณอาจแปลกใจว่าเราได้รับแต่อิทธิพลด้านดีโน่นนี่เต็มไปหมด แง่ร้ายไม่มีเลยเหรอ เฮ้ย มีสิ มีเฉกเช่นเราท่านทุกคน แต่เรื่องร้ายๆ เราไม่ต้องพึ่งพาอาศัยเพื่อนหรอก ทุกความเหี้ยเราคิดเองทำเอง นักเลงพอ.
เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อก (ชัยพร อินทุวิศาลกุล) เป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน ทุกสัปดาห์เขาเขียนจดหมายมาคุยกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ บรรณาธิการ nan dialogue