the letter

แค่ย้าย ไม่ได้หยุด

สวัสดีครับพี่หนึ่ง

ผมเขียนจดหมายฉบับนี้ในคืนวันสุดท้ายที่ครอบครัวเราจะได้อาศัยอยู่ในบ้านเช่าที่สร้างจากขวดพลาสติกแล้ว จริงๆ บ้านใหม่ของเรายังไม่เสร็จ แต่ช่วงต้นเดือนหน้าคุณยายของเซเฟอร์จากอังกฤษจะบินมาเยี่ยม

คิดสะระตะแล้วเป็นการดีที่เราจะย้ายออกไปเพื่อให้คุณยายกับหลานชายได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันให้มากๆ

ใจหายเหมือนกันที่จะย้ายออก ไม่น่าเชื่อว่าครอบครัวผมกับดีนอยู่ร่วมชายคากันมาเกือบจะหนึ่งปีแล้ว ผมบอกกับพวกเขาว่ารู้สึกโชคดีเหลือเกินที่ได้มาผ่านพบและผูกพัน เราเคยจินตนาการร่วมกันว่าอีกสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้า ศิลป์กับเซเฟอร์จะคุยกันเรื่องชีวิตบนเกาะในช่วงนี้กันอย่างไร ไม่ใช่แค่สองครอบครัวนี้เท่านั้นที่ใจหาย เพื่อนบ้านใหม่ที่เพิ่งย้ายมาอยู่เดือนที่แล้วก็บ่นและตัดพ้อกับผมอยู่เหมือนกันว่าทำไมต้องย้ายออก 

เพื่อนบ้านใหม่ชาวเดนนิสคนนี้ชื่อโทเบียส มีภรรยาชาวบราซิลที่ได้กันบนเกาะบาหลีชื่อมาเซลล่า พวกเขามากับลูกน้อยสองคน คนหนึ่งสี่เดือน อีกคนสี่ขวบ แรกๆ เจ้าคนพี่ที่ชื่อโอเชี่ยนก็ออกจะเขินอายสักหน่อย ทุกๆ เช้าโอเชี่ยนจึงมักร้องเรียกให้พ่อมานั่งดื่มกาแฟกับพ่อของศิลป์ เพื่อว่าเขาจะได้กล้าเข้ามาในบ้านและเล่นกับพี่ๆ ทำอย่างนี้ได้สักหนึ่งอาทิตย์โอเชี่ยนก็พร้อมจะเดินข้ามมาบ้านเพื่อนด้วยตัวเอง แถมยังเข้ามาทางการปีนรั้วในช่องเล็กๆ ของระเบียงเข้ามาซะอีก 

ทุกวันนี้โอเชี่ยนกับศิลป์เล่นด้วยกันแทบทุกเช้าก่อนแยกย้ายกันไปโรงเรียน อาหารเช้าง่ายๆ ที่บางทีผมทำให้ศิลป์อย่างขนมปังปิ้งก็เพิ่มจากสองแผ่นเป็นสี่แผ่นเผื่อน้องชายชั่วคราวของศิลป์ด้วย วันดีคืนดีเจ้าลูกชายผมก็อยากผันตัวไปเป็นโค้ชด้วยการพาโอเชี่ยนไปซ้อมบอลก่อนไปโรงเรียน โอเชี่ยนเป็นเด็กที่มีพื้นฐานการเคลื่อนไหวร่างกายดีและชอบกีฬาเป็นทุนเดิม ทำให้เล่นกับศิลป์ได้อย่างไม่ทำให้โค้ชตัวเหนื่อยหน่ายนัก 

โทเบียสบอกว่าส่วนหนึ่งก็อาจมาจากกรรมพันธุ์ฝั่งพ่อ อีกส่วนก็ด้วยว่าเจ้าลูกคนนี้เติบโตมาในประเทศเขตร้อนเป็นส่วนใหญ่ การที่ไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อผ้าหนาๆ หรือรองเท้าผ้าใบจึงทำให้เขาฝึกการเคลื่อนไหวอย่างทะมัดทะแมงและมีพัฒนาการดีกว่าเด็กคนอื่นๆ ในประเทศเขตหนาว  

ในช่วงสัปดาห์ที่แรกที่โทเบียสต้องข้ามมากับลูกชาย ผมกับเขาจึงได้แนะนำตัวและพูดคุยอะไรกันบ้าง เขาซึ่งโกนผมบนหัวซะเกลี้ยงเกลามักจะข้ามมาบ้านผมกับกางเกงในตัวเดียว ทำให้ผมนึกถึงโฆษณากางเกงใน Calwin Klein ที่ Fredrik Ljungberg (นักฟุตบอลสแกนดิเนเวี่ยนปลายยุค 90 ต่อเนื่องถึงปี 2000) เป็นนายแบบให้ แม้จะชินกับการที่ผู้คนบนเกาะจำนวนหนึ่งไม่ใส่เสื้อ แต่การนั่งคุยกับผู้ชายที่ใส่กางเกงในเพียงตัวเดียวก็ทำให้ผมรู้สึกอึดอัดอย่างประหลาดๆ เหมือนกัน 

หลังจากปรับสายตาหรือรับสภาพได้ หูของผมจึงค่อยเริ่มทำงาน โทเบียสบอกว่าเขาชอบเล่นกีฬาตั้งแต่เด็ก บ้าเล่นและซ้อมเทนนิสจนเกือบจะเทิร์นโปรจนกระทั่งอายุสิบแปด แล้วก็ทนความเย้ายวนของชีวิตวัยรุ่นที่เพื่อนๆ มักมาเล่าให้ฟังที่โรงเรียนไม่ได้ถึงปาร์ตี้และหญิงสาว เขาทิ้งชีวิตนักกีฬาเพื่อใช้ชีวิตเหมือนวัยรุ่นส่วนใหญ่ และไปศึกษาต่อด้านการแพทย์ตะวันออกในช่วงมหาวิทยาลัย เดินทางศึกษาศาสตร์การแพทย์ทางเลือกไปทั่วโลก (เข้าใจว่ารัฐบาลเดนมาร์กมีทุนให้เยาวชนในประเทศไปเรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้ทั่วโลก) รวมทั้งใช้เวลาอีกสองปีเรียนเรื่องการฝังเข็มที่ประเทศจีน 

โทเบียสกลับไปทำงานที่เดนมาร์กในฐานะแพทย์ฝังเข็มก่อนจะตัดสินใจออกเดินทางอีกครั้ง เขาเล่าว่าที่นั่นเขามีงานล้นมือแทบทุกวัน แม้ทำรายได้ให้มากมาย แต่ก็ไม่ตอบสนองความรู้สึกด้านในที่ชอบเดินทาง ตอนนี้เขามาพักผ่อนที่พะงันและมีงานสอนวิชาแพทย์ตะวันออกให้ผู้สนใจอีกช่วงสั้นๆ ก่อนจะเตรียมไปลงหลักปักฐานในโปรตุเกส 

เขากับเพื่อนกลุ่มหนึ่งซื้อที่ดินไว้ผืนหนึ่งรอวันให้เหล่านักฝันไปปลูกบ้านและสร้างชุมชนในอุดมคติ 

ระหว่างเล่าเรื่อง โทเบียสบอกว่าอุตสาหกรรมยาในปัจจุบันนั้นทำลายมนุษย์เสียเหลือเกิน เขายกตัวอย่างบริษัทยาในเดนมาร์กที่ผลิตยารักษาโรคอ้วนได้และทำเงินอย่างมหาศาล ทั้งๆ ที่โรคอ้วนหรือการอ้วนอย่างเกินพอดีนั้นน่าจะมาจากพฤติกรรมการกินและกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่างๆ มากกว่า การที่อุตสาหกรรมยาและอุตสาหกรรมอาหารทำงานร่วมกันนั้นทำให้พวกเราหลงประเด็นเรื่องสุขภาพและแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ 

เห็นคนตะวันตกมาสนใจศาสตร์ตะวันออกแล้วก็ตลกดีเหมือนกัน โทเบียสเล่าว่าระหว่างที่เรียนการฝังเข็มที่ประเทศจีนซึ่งต้องอาศัยล่ามคนจีนเป็นผู้ตัวกลางระหว่างอาจารย์กับนักเรียน ล่ามหลายคนยังถามกับเขาเลยว่าศาสตร์การฝังเข็มที่เรียนอยู่นั้นได้ผลจริงหรือ ฮาฮา 

โทเบียสชื่นชมศาสตร์การแพทย์ตะวันออกที่มองเรื่องสุขภาพ (Health) ในภาพรวมซะมากกว่าการรักษาแบบเฉพาะจุดในการแพทย์แผนตะวันตก เขาเล่าประวัติศาสตร์กึ่งปกิณกะว่าในอดีตแพทย์จีนประจำครอบครัวที่ร่ำรวยจะได้รับเงินเดือนก็ต่อเมื่อในเดือนนั้นๆ ไม่มีสมาชิกคนใดในครอบครัวล้มป่วยลง ในขณะที่แพทย์ในยุคปัจจุบันนั้นกลับทำเงินจากการป่วยไข้ของผู้คน 

ผมนั่งฟังแล้วก็คิดว่าลูกพี่พูดจาเข้าท่า เซตติ้งหรือโครงสร้างแรงจูงใจแบบหนึ่งก็อาจทำให้ผู้คนในวงการมีพฤติกรรมและความโน้นเอียงไปในทางหนึ่ง 

โลกจะเป็นอย่างไร ถ้าแพทย์มีรายได้จากการที่คนไม่ป่วย ตำรวจมีรายได้จากการที่ไม่มีโจร ผู้พิพากษามีรายได้จากการไม่มีคดีความ ทหารมีรายได้จากการไม่มีสงคราม 

ดึกแล้วผมก็เริ่มเลอะเทอะ เรื่องแบบนี้คงจะมีแต่ในนิยายแนวยูโทเปีย หรือเพลง Imagine ของ John Lennon เท่านั้น ผมส่งจดหมายฉบับนี้มาให้ช้าไปจากที่สัญญาไว้ครึ่งชั่วโมง แต่ก็เร็วกว่าเดิมอยู่สองสามวัน หวังว่าพี่หนึ่งจะให้อภัยและพอใจอยู่บ้าง

แด่มิตรภาพ

จ๊อก

 

 

nandialogue

 

 

ตอบ จ๊อก

นาทีของการขนย้าย เข้าใจคำว่าใจหายของคุณอย่างยิ่ง บ้านมันเรื่องใหญ่ที่ไม่ได้มีความหมายแค่ที่กินที่นอน แต่มันยังมีสีสันบรรยากาศ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมมนุษย์ ถ้าจะคุยเรื่องย้ายบ้านนี่ เราน่าจะติดหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญ ประสบการณ์เยอะ จากโคราช ไปสวนผึ้ง ราชบุรี ย้ายเข้าตัวเมือง เช่าบ้านหลังที่หนึ่ง ที่สอง และที่สาม ไม่กี่ปีต่อมา พ่อแม่ย้ายกลับโคราช เราเรียนทับแก้ว จบแล้วไปทำงานที่พัทยา (เขามีบ้านพักให้อยู่) อยู่แล้วไม่รอด ซมซานหนีเข้ากรุงเทพฯ ขออาศัยห้องเช่าพี่สาวอยู่ที่หนองแขม ย้ายไปดาดฟ้าตึกเก่าริมถนนพระอาทิตย์ ต่อที่อพาร์ทเมนต์ตรงข้ามพาต้า แล้วไปประชาชื่น (เลี้ยงลูกครั้งแรกที่ห้องเช่านี้ / อยู่หลังร้านสุนทรี) กลับไปหนองแขม กลับมาพระอาทิตย์ แล้วไปบางพลัด อยู่ห้องเช่าในซอยจรัญ 53 เกือบสิบปี ก่อนจะบอกลาเมืองกรุง ย้ายมาจังหวัดน่าน

แค่นึกยังเหนื่อย ชีวิตของชนเผ่าเร่ร่อนที่ไม่ได้ตั้งใจจะเร่ร่อนเลย และไอ้ที่อยู่ๆ ทุกวันนี้ ใครจะบอกได้ว่ามันจะมั่นคงนิรันดร์ ก็ว่ากันไป ตามจังหวะ ชะตากรรม

มากบ้างน้อยบ้าง ย้ายที่อยู่อาศัยครั้งหนึ่ง ความสัมพันธ์ก็ขยับเคลื่อนไป ทั้งซีดจางห่างหาย และแข็งแรงขึ้น รวมทั้งอาจบางทีค้นพบสัมพันธภาพใหม่ๆ

เช้านี้ น้องที่มาทำงานด้วยกัน (ซัน แสงดาว) เก็บข้าวของย้ายกลับ จุดเริ่มต้น ระหว่างเราไม่น่ามีสิ่งใดเกี่ยวข้องหรือเป็นเหตุผลที่จะได้รู้จัก เขาเรียนจบโบราณคดี แล้วได้งานที่น่าน ตั้งแต่วันแรกๆ ที่มาถึง เขามาหาเรา ตามคำของพี่สุจิตต์–ไปน่าน มึงก็ไปหาไอ้หนึ่ง 

เออ นั่นแหละ ที่มามันแปลกๆ หน่อย พูดได้ว่าซันเป็นศิษย์รุ่นท้ายๆ หรืออายุน้อยที่สุดที่มีที่นั่งใกล้นักสื่อสารมวลชนเจ้าของตำนาน ‘กูเป็นนิสิตนักศึกษา’ ผ่านมาหลายปี กระทั่งทุกวันนี้ เมื่อเข้ากรุง ซันยังคงแวะเวียนเข้าวงพี่จิตต์สม่ำเสมอ ที่น่าน เขาทำการงานของเขาหลายเดือน ก่อนจะพบว่าไม่ใช่ ก็เลยลาออก ด้วยความที่ชมชอบหนังสือ หลงใหลโลกข่าวสารวิชาการ ไหนๆ ก็อยู่ที่น่านแล้ว ซันมาเป็นผู้สื่อข่าวฝึกหัดกับ nan dialogue ในช่วงรอยต่อก่อนจะไปเรียนปริญญาโท

เขาเป็นผู้ชายตัวโตๆ ภูมิลำเนาอยู่อุทัยธานี ตั้งแต่มาน่าน เขายกมอเตอร์ไซค์เก่าแก่มาด้วย (ฟังว่าค่าขนส่งอยู่ในราวหนึ่งพันแปดร้อยบาท) เช่าบ้านอยู่หมู่บ้านแสงดาว ระหว่างทำงานประจำ ชวนเพื่อนตั้งกลุ่ม ‘ที่หลบฝน’ เปิดพื้นที่สาธารณะให้คนมาดูหนัง ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเสวนา เขาเห็นเหมือนที่พวกเราเห็นพ้องกันว่าน่านขาดพื้นที่แบบนี้ (ไม่ใช่แค่น่านหรอก ทั่วประเทศแหละ กรุงเทพฯ เมืองใหญ่ ประชากรเยอะขนาดนั้น พื้นที่ทำนองนี้ก็น้อยแสนน้อย) นอกจากเป็นนักอ่าน ซันมีบุคลิกผู้นำ คิดอะไรแล้วกล้าลงมือทดลอง ความเป็นคนมนุษยสัมพันธ์ดี ทำให้เขามีคนเอาด้วย มีคอนเน็กชั่นและเครือข่ายใหม่ๆ ตลอด

กับงานสื่อสารมวลชน ใช้คำว่าพื้นฐานไม่ดีกับซันไม่ได้ เพราะแท้จริงเขาไม่มีพื้นฐานใดเลย มีแต่ความรู้ตัวว่าสนใจ อยากรู้ อยากฝึก ข้อดีหรือจุดแข็งมากๆ เขาไม่เคยขาดคำถาม อยู่กับซัน ต่อให้ขี้เกียจอย่างไร สุดท้ายเราก็กลายเป็นคนขยันตอบ ตอบได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เคลียร์บ้าง คลุมเครือบ้าง ตามแต่ระดับตื้นลึกแหลมคมของคำถามจากวัยรุ่นช่างสงสัย ใครจะไปตอบได้ทุกอย่าง 

จากจุดเริ่มต้นที่เลขศูนย์ ซันมีพัฒนาที่น่าพอใจ เริ่มหาประเด็นเองได้ เล่าเรื่องเป็น แน่นอนว่าทุกต้นฉบับที่ส่งมามีจุดชวนปวดหัว ตรวจแก้และต้องหยุดพักบ่อยๆ พยายามมองหาแง่งามและความเบิกบานของชีวิต ไม่ว่าจะอย่างไร เมื่อมองระยะเวลาของการมาฝึกหัดกับพัฒนาการ ซันทำได้ดีในระดับที่ edit แล้ว ผ่าน เอาลงออนไลน์ได้ ยังไม่แข็งแรงหรอก ยังต้องการชั่วโมงบินและการเคี่ยวกรำอีกมาก โดยเฉพาะทักษะว่าด้วยการฟัง จับเนื้อแน่นๆ และศิลปะการเขียน แต่อย่างที่บอก ด้วยเวลาเท่านี้ ต้องถือว่าเขาทำได้ดีเกินเด็ก ถ้าเอาอีก หรือลุยต่ออีกสักสองปี ดูทรงแล้วเขาเป็นมวยที่มีอนาคต

ซันโดดเด่นมากเรื่องการเข้าหาแหล่งข่าว หรือเริ่มต้นบทสนทนา เวลาไปไหนมาไหนด้วยกันหรือเจอใครสักคนน่าคุย แค่เอ่ยปากชี้เป้า เขาเข้าไปคุยเลย นิ่ง เนียน เป็นมิตร เป็นธรรมชาติ และห่างไกลจากการคุกคามหรือไม่มีมารยาท คุณสมบัตินี้สำคัญกับวิชาชีพสื่อสารมวลชน เราไม่ค่อยเห็นนักในหมู่คนรุ่นใหม่ๆ ที่โตมากับโทรศัพท์มือถือ กระทั่งเราเองก็เถอะ บ่อยครั้งก็เคอะเขิน อิดออด คิดแล้วคิดอีกกว่าจะหาเหลี่ยมเข้าทำได้สักที ขณะที่หนุ่มซันน่ะเหรอ เขาคุยกับคนแปลกหน้าราวกับกินข้าวอาบน้ำ มันเป็นปกติ เป็นธรรมดา ที่งดงามเหมือนแสงตะวันค่อยๆ ลูบไล้เทือกทิวเขายามรุ่งอรุณ

เมื่อคืนนั่งกินเหล้ากัน (อารมณ์ราวๆ เลี้ยงส่ง) ในวงมีน้องอีกคนชื่อแม็ก ทำงานอยู่ Backpack Journalist เป็นคนรุ่นสามสิบที่เราเห็นเขามาตั้งแต่สิบปีที่แล้ว เป็นศิษย์สำนักเรือนอินทร์อีกคนที่มีพัฒนาการน่าสนใจ เราคิดว่าจุดร่วมหรือต้นทางที่มีส่วนปลูกสร้างอย่างยิ่งก็หนีไม่พ้นนักประวัติศาสตร์นอกขนบคนเดิม ทั้งแม็กและซันมีโอกาสดีที่ได้ใกล้ชิดผู้ใหญ่นักคิดนักเขียน พวกเขาตระหนักรู้และใช้โอกาสดีนี้หล่อหลอมรสนิยม สั่งสมข้อมูลนอกตำราจารีต และที่มีคุณูปการสูงสุดก็คือผู้ใหญ่ที่รักการคิดการถาม เขาได้เพาะหว่านเมล็ดพันธุ์การเป็นนักตั้งคำถามสืบรุ่นสู่รุ่น ที่น่านไม่มีสิ่งใดคล้ายเรือนอินทร์เลย แต่บรรยากาศเมื่อคืนก็ทำให้เราคิดถึงหลายค่ำคืนที่เข้าไปนั่งฟังพี่จิตต์ วงนั้นมีผู้อาวุโส มีคนหนุ่มสาว มีเรื่องเล่า การถกเถียง แลกเปลี่ยน และเมื่อเวลาผ่านไป คนหนุ่มสาวที่เราเห็นก็ค่อยเติบใหญ่ไปตามเส้นทางที่พวกเขาเลือกเดิน

เช้านี้ มอเตอร์ไซค์ชรา ทะเบียนอุทัยธานี 343 จะถูกส่งไปรษณีย์กลับ เหมือนขาขึ้นมาน่าน จากนี้ไม่มีคนหนุ่มร่างโตๆ คนนั้นและพาหนะคู่กายของเขา วงเหล้าเมื่อคืนเลิกลาด้วยรอยยิ้ม พรุ่งนี้พวกเขาก็คงไปสร้างวงใหม่ มีเรื่องเล่าใหม่ๆ เหมือนนาทีขนของย้ายบ้าน เป็นใครก็ใจหายแน่ๆ แต่ไม่เป็นไรหรอก ตราบใดที่เป็นการเลือกเอง เลือกไม่ใช่ไล่ จะบ้านเก่าบ้านใหม่เราว่ามันก็มีความหมายและเป็นความทรงจำที่ดี.


เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อก (ชัยพร อินทุวิศาลกุล) เป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน ทุกสัปดาห์เขาเขียนจดหมายมาคุยกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ บรรณาธิการ nan dialogue

You may also like...