สวัสดีและขออภัยที่ไม่ได้ส่งจดหมายในสัปดาห์ที่แล้วครับ
สัปดาห์ก่อนเป็นช่วงเร่งงานบ้านเป็ดไก่ในโค้งสุดท้าย บ้านที่ได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากมิตรสหายชาวอังกฤษในการสร้างและสอนมนุษย์ที่ทำงานช่างอะไรไม่เป็นอย่างผม
หลินเองร้อนใจที่อยากให้บรรดาลูกๆ มีปีกที่เราพามาอยู่เกาะพะงันตั้งแต่เดือนเดือนพฤศจิกายนเมื่อปีก่อนย้ายมาอยู่ใกล้ๆ กันสักที ทั้งเธอยังเกรงใจที่ระหว่างกรงยังไม่เสร็จต้องอาศัยไหว้วานให้แคเรนคอยดูแลให้น้ำและอาหารพวกมันอยู่ทุกวัน ช่วงท้ายๆ ของการทำสิ่งปลูกสร้างชิ้นนี้ ผมกับหลินทำต่อกันเองเป็นส่วนใหญ่ พวกเราคิดแล้วก็จัดหาวัสดุมาลองทำ ผิดจากมาตรฐานไปก็เยอะ ของที่ซื้อมาแล้วใช้ไม่ได้ก็มี แต่ออกมาก็ยังเป็นกรงที่ใช้งานได้และปลอดภัยสำหรับสัตว์เลี้ยงประจำโครงการบ้านเช่าของพวกเรา
วันที่ย้ายเป็ดหกตัว ไก่อีกแปดตัวมาบ้านเรานั้น ผมกับหลินกังวลพอสมควรในการจับพวกมันบรรจุใส่กล่องเพื่อย้ายมาบ้านหลังใหม่ โชคดีที่ตอนไปถึงบ้านดีน เอเจ ผู้เช่าห้องในบ้านของดีนต่อจากเราเคยเป็นนักชีววิทยาในป่าแถบแอฟริกามาก่อน เอเจอาสาช่วยบรรจุพวกมันลงกล่องอย่างเรียบร้อย แม้ทุกวันนี้เขาจะทำงานออฟฟิศและละทิ้งอาชีพนักชีววิทยาแนวอนุรักษ์มาแล้ว แต่ท่าทางและแนวคิดเวลาที่พูดถึงสัตว์ยังคงอยู่
เขาจับสัตว์ปีกโดยเริ่มจากการหิ้วขา ก่อนโอบพวกมันทั้งตัวและปีกไว้ในสองมือแล้วบรรจงวางลงในกล่อง พร้อมกับจุ๊ปากและพูดกับพวกมันอย่างนิ่มนวลว่าทุกอย่างจะโอเค หลังจากนั้นก็เช็คว่ากล่องทุกใบมีรูใหญ่พอจะให้อากาศไหลเวียนถ่ายเทสะดวก จากนั้นก็รีบย้ายกล่องทั้งหมดขึ้นรถอย่างรวดเร็ว
ระหว่างที่รอหลินเก็บอุปกรณ์อื่นๆ เอเจเดินมาหาผมแล้วพูดว่าผมควรจะรีบย้ายพวกมันไปบ้านใหม่ก่อนแล้วค่อยมาเก็บของโดยให้เหตุผลว่า เป็ดไก่ที่เบียดเสียดกันอยู่ในกล่องนั้นจะสร้างความร้อนให้แก่กันและเครียดจัด ซึ่งอาจส่งผลต่ออาการเจ็บป่วยบางอย่างในท้องของพวกมัน ผมนึกขอบคุณพระเจ้าที่บันดาลให้เอเจมาอยู่ถูกที่ถูกเวลาอย่างนี้ และกล่าวขอบคุณเขาถึงงานจิตอาสาต่อพวกเรา นอกจากผมกับหลินที่โชคดีได้ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์มาช่วยเหลือแล้ว ผมคิดว่าเจ้าเป็ดและไก่เหล่านี้เองก็โชคดีเช่นกันที่ได้มนุษย์ที่เข้าอกเข้าใจและห่วงใยพวกมันเช่นนี้มาข้องเกี่ยว มิเช่นนั้น การย้ายบ้านของพวกมันในครั้งนี้คงจะทรมานและทุลักทุเลน่าดู
สัตว์ปีกเหล่านี้เป็นแขกที่ได้รับเชิญมาอยู่บ้านใหม่ของเรา พวกมันยังคงต้องปรับตัวอีกสักพักในการใช้พื้นที่ต่างๆ อาทิ ห้องนอน คอกวางไข่ อ่างอาบน้ำ ตามที่สถาปนึกอย่างพวกเราวาดหวังไว้ ในเวลาที่สรรพสัตว์ยังตื่นกลัวและตระหนกอยู่ อะไรดีๆ ที่สร้างไว้ก็อาจดูเป็นภัยคุกคามและสร้างอันตรายไปเสียหมด อาจด้วยว่าทั้งเป็ดและไก่พวกนี้นั้นอยู่กรงเดียวกันมาก่อน ความผูกพันจึงทำให้ทุกคืนทั้งเป็ดและไก่มาสุมหัว (หรือปีก) นอนติดกันตรงตาข่ายกลางกรงที่กั้นพวกมันไว้แทนที่จะแยกย้ายกันไปนอนสบายๆ ในที่ๆ เราจัดเตรียมไว้
พูดถึงสัตว์ที่ได้รับเชิญแล้วก็อดนึกถึงสัตว์ที่ไม่ได้รับเชิญไม่ได้ รายที่หนึ่งคือหมาลายเสือ (Brindle) ที่ผมตั้งชื่อมันว่าบั๊ก ตามนิยายของ แจ็ค ลอนดอน บรรดาเจ้าตูบสี่ห้าตัวในละแวกบ้านใหม่ของเรา จะมีก็แต่เจ้าบั๊กนี่แหละที่คอยเข้ามาทักทายขอความรัก (ให้เราลูบหัว) และเศษอาหารจากพวกเราเป็นนิจ แรกๆ ผมก็ห้ามไม่ให้มันขึ้นมาบนระเบียงบ้านแหละครับ อยู่กันไปไม่กี่วันก็เริ่มเกิดความเอ็นดูรักใคร่อนุญาตให้บั๊ก (เท่านั้น) มานั่งๆ นอนๆ หรือบางทีก็เอาหัวมาวางพาดบนตักผมได้ ศิลป์เองก็ได้ทำความรู้จักและเข้าใจสัตว์เลี้ยงที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติ ส่วนหลินก็อุ่นใจเวลากลับบ้านมาดึกๆ หรืออยู่บ้านคนเดียว
บั๊กน่าจะเป็นหมาที่มีความสุขที่สุดในโลกตัวหนึ่ง เช้ามาก็วิ่งไปทักทายเพื่อนฝูงแล้วเดินออกกำลังกายไปทั่วบริเวณ บ่อยครั้งที่สายๆ จะเดินขึ้นระเบียงบ้านด้วยขนเปียกโชกจากการวิ่งเล่นในลำธารที่อยู่ใกล้ ตกบ่ายก็วิ่งหยอกล้อและสอนสั่งลูกหมาสองสามตัวที่คนงานก่อสร้างชาวพม่าพามาทำงานด้วย
ผมแว่วๆ ว่าศิลป์จะฝึกให้มันหัดวิ่งไปคาบสิ่งที่เขวี้ยงไปกลับมาให้เรา (Fetch Game) เดี๋ยวก็รู้ว่าคนหรือหมาที่จะวิ่งไปเก็บของที่ขว้างออกไป (ฮา)
รายที่สองคือตุ๊กแก (Tokay) ที่เรายังไม่ได้ตั้งชื่อ หลินร้องเสียงหลงตอนเงยหน้าไปเห็นสัตว์เลื้อยคลานที่ดูน่าเกลียดน่ากลัวตามค่านิยมชาวไทย เธอรบเร้าให้ผมหาทางจับหรือไล่เจ้าสัตว์กินตับให้ไปไกลซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะผมเองก็หวาดผวาสิ่งมีชีวิตชนิดนี้เช่นกัน เรื่องเล่ากึ่งขู่ตอนเด็กยังคงทำงานกับมนุษย์วัยผู้ใหญ่อย่างผม จะมีก็แต่ศิลป์นี่แหละที่ดูจะมีความสุขเมื่อเห็นพ่อแม่แสดงอาการดราม่าตื่นตระหนกต่อการปรากฏตัวของอสูรกายลายจุด
ครั้นวันรุ่งขึ้นที่หลินเล่าเรื่องนี้ให้พอลฟัง ทัศนคติที่เรามีต่อตุ๊กแกก็เริ่มเปลี่ยนไป พอลเล่าว่าตุ๊กแกมีประโยชน์และไม่อันตรายอย่างที่คิด เขาจับพวกมันมาแหย่และหยอกลูกอยู่บ่อยๆ เวลามันงับนิ้วเราทีก็มีแค่แรงกดเล็กน้อย ไม่เจ็บปวดเพราะฟันมันเล็กติ๋วเดียว อีกทั้งตุ๊กแกเหล่านี้จะคอยจับแมลงทั้งที่เป็นและตายให้บ้านเราสะอาด สำหรับพอลซึ่งกลัวแมงมุมอย่างสุดหัวใจ ตุ๊กแกจึงเหมือนเทวดาประจำบ้าน
ผมฟังความเห็นของพอลแล้วก็เปลี่ยนความคิด กลับมาบ้านก็คอยจะมองหาว่าลูกพี่ตุ๊กแก เพื่อนร่วมชายคาอีกหนึ่งชีวิตของเรานั้นอยู่ที่ไหน พอใจจะอยู่ด้วยกันในสัญญาระยะยาวไหม
พูดถึงเรื่องสัญญาระยะยาว ช่วงนี้มีชาวต่างชาติเข้ามาถามความเป็นไปได้ในการเช่าบ้านพักเรื่อยๆ พวกเขามักถามถึงความเป็นไปได้ได้การทำสัญญาเช่าระยะ 1 ปี ส่วนหนึ่งนั้นน่าจะมาจากเหตุผลว่าค่าเช่าบ้านบนเกาะพะงันถีบตัวสูงขึ้นมาก ราคาโดยเฉลี่ยสูงกว่าช่วงโควิดประมาณสองเท่าตัว ถ้าพวกเขาหาบ้านเช่าระยะยาวซึ่งค่าเช่าคงที่ (หรือมีส่วนลด) ก็คงจะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากการหาและย้ายที่อยู่ได้ ทางหนึ่งก็น่าดีใจที่มีคนสนใจ แต่อีกทางก็อดเป็นกังวลไม่ได้ในบางแง่มุม
พี่หนึ่งลองนึกดูนะครับ ถ้าผู้เช่า (ซึ่งก็หมายถึงเพื่อนบ้านด้วย) นั้นนิสัยดีน่าคบหา ระยะเวลาหนึ่งปีนั้นอาจจะแสนสั้นเหมือนหนึ่งเดือน แต่ในทางตรงกันข้ามหากพวกเขามีวิถีที่ไม่ตรงจริตกับเราหรือเพื่อนบ้านคนอื่นๆ ล่ะ ระยะเวลาหนึ่งปีนั้นคงจะนานดั่งเป็นสิบปี
ผมเกริ่นเรื่องนี้กับเซอร์กี้ หนุ่มรัสเซียที่แวะมาถามถึงบ้านเช่าเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ผมบอกเขาว่าเรายังไม่รู้เลยว่าคุณจะพอใจกับบ้านและอะไรอื่นๆ ในโครงการนี้รึเปล่า หรือเราจะพอใจกับคุณรึเปล่า ทางที่ดีเริ่มต้นที่สัญญายาวที่สุดสักสามเดือนก่อนดีไหม เขาพยักหน้าในเชิงเข้าใจ ก่อนกล่าวอำลา
ผมเองแม้จะเป็นเจ้าของพื้นที่ แต่ก็ไม่อยากทำตัวเป็นคนชี้ชะตาว่าผู้เช่าคนไหนจะได้อยู่หรือต้องไป ความคิดหนึ่งที่แวบขึ้นมาในหัวคือจะให้มีการโหวตจากลูกบ้านทุกเดือนว่าโอเคหรือไม่โอเคกับเพื่อนบ้านแต่ละคน
ใครจะอยู่ต่อหรือต้องจากลาก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของพวกเขาต่อเพื่อนคนอื่นๆ ระหว่างที่พักอาศัยอยู่ในโครงการ ผมยังไม่แน่ใจในแนวทางนี้เท่าไร ถ้าพี่หนึ่งคิดเห็นอย่างไร ผมเองก็อยากฟังนะครับ
อีกไม่กี่วันผมจะขึ้นไปบางกอก ถ้าสบโอกาสเราอาจได้พบกันครับ
ด้วยมิตรภาพ
จ๊อก
ตอบ จ๊อก
อยู่น่านมานานปี เท่าที่เห็น วัวจะเยอะกว่าควาย (เข้าใจว่าปริมาณทั้งประเทศก็เป็นเช่นนั้น ไอ้เยอะๆ ที่ว่าก็ไม่ได้เลี้ยงไว้ดูเล่น แต่เป้าหมายคือบริโภค) วันหนึ่งขี่รถผ่านทุ่งนา เจอคนเลี้ยงควายอยู่ก็เลยจอดแวะไปคุย (กับคน) ไม่ได้สัมภาษณ์จริงจัง เลยยังมีข้อมูลน้อย สิ่งที่จะมาแลกเปลี่ยนกับคุณก็คือก่อนจะใช้ควายไถนาได้ เขาต้องมีพิธีกรรมบางอย่าง พูดง่ายๆ คือก่อนจะใช้แรงงาน ร่วมงาน ร่วมชีวิต คนจะต้องคุยกับควาย มี commitment ระหว่างกัน เหมือนแต่งงานว่างั้นเถอะ ‘วิชา’ หรือ ‘คาถาผูกควาย’ เหล่านี้ถูกถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่น ใช้เวลาราว 3 วัน 7 วัน ขึ้นอยู่กับคนและควายคู่นั้นๆ ว่าจะเชื่อมร้อยกันได้ยากง่ายหรือช้าเร็วแค่ไหน
วัตรปฏิบัติ (ของคน) ระหว่างพิธีศักดิ์สิทธิ์นี้ต้องอยู่ในศีลในธรรม ห้ามลักขโมย ห้ามโกหก และมั่วยาเหล้าเจ้าชู้ เชื่อกันว่าถ้าละเลย หยามหมิ่น ไม่ตั้งใจ ควายจะไม่เชื่อฟัง สืบทอดวิชาไม่สำเร็จ
โลกสมัยใหม่ซึ่งหายใจเป็นวิทยาศาสตร์ ได้ยินเรื่องแบบนี้แล้วคงบอกเพ้อเจ้อ คนบ้าที่ไหนจะคุยกับควายรู้เรื่อง สายพุทธไทยๆ อาจกระทืบซ้ำว่าควายเป็นสัตว์เดรัจฉาน อย่าริอ่านมาเทียบชั้นสัตว์ประเสริฐ ฯลฯ ก็สุดแล้วแต่ โดยส่วนตัว เรามองง่ายๆ คล้ายเพื่อนคุณประคับประคองอุ้มเป็ดไก่และบอกพวกมันว่าแล้วทุกอย่างจะโอเค มันคือความรู้สึกที่ดีต่อกัน ใส่ใจ ให้เกียรติ เราอาจเรียกสิ่งนั้นว่าความละเอียดอ่อน
ไม่ว่าคน หรือสัตว์ เราต่างล้วนรู้สึกสัมผัสนามธรรมนี้ได้ด้วยตน แมวมันจะรู้ว่ามือใครจับแบบไหน ใครอยู่ชิดใกล้ได้ ใครควรมีระยะห่าง วัวควายก็คงเช่นกัน วาจาแบบนี้ๆ การเทคแคร์แบบนี้ๆ มันคงพอรู้และดูออกว่าจะพยศ หรือยอมร่วมทางสร้างชีวิต เหน็ดเหนื่อยบ้างก็ไม่เป็นไร ลงเรือ (นา) ลำเดียวกันแล้วก็เดินหน้าไปให้สันติสุข
ภาษามีข้อจำกัดอยู่พอสมควร ผู้คนต่างเชื้อชาติก็คุยกันไม่รู้เรื่อง นั่นยิ่งไม่ต้องพูดถึงปัญหาเรื่องการสื่อสารระหว่างคนกับสัตว์ หลายๆ เงื่อนไข เมื่อใช้ภาษาไม่ได้ก็ตัดมันออกไป เท่าที่นึกออก เราว่าความละเอียดอ่อนนั่นแหละที่เป็นคำตอบ สังเกตจริงๆ เอาใจใส่จริงๆ แล้วสองชีวิต สองความแตกต่าง จะค่อยผนึกหลอมรวม เข้าใจในกันและกัน
เรายังคิดไม่ตก เกี่ยวกับคำถามของคุณเรื่องเช่าบ้าน มันค่อนข้างหาความลงตัวยากเพราะคุณจับสองเรื่องมารวมกัน คือธุรกิจกับมิตรภาพ ในทางอุดมคติมันมีแน่ๆ ดีแน่ๆ แต่จะทำยังไงวะ กับคนเพิ่งเจอกัน ฝ่ายหนึ่งแค่ต้องการที่อยู่อาศัย จ่ายเงิน จบ อีกฝ่ายหนึ่งหวังไปไกลกว่าแค่เรื่องเงิน เกมนี้ซับซ้อน และแค่คำว่าละเอียดอ่อนก็อาจไม่พอ
สมมุติเล่นๆ ถ้าเราจะไปเช่าบ้านใครสักคน สัญญาสามเดือนมันก็น้อยไป (ถ้าเอาแค่ on vacation ก็เข้าใจได้ เที่ยวจบก็กลับไปทำงานต่อ) แต่กับคนที่คิดจะมาอยู่ยาว อยากมีบ้านบนเกาะ สามเดือนคงไม่ตอบโจทย์ เหนื่อยไปน่ะ ต้นไม้จากกระถางกำลังจะแทงรากลงดิน อ้าว ต้องขนย้าย ไหนจะต้องมาเจอเรื่องคะแนนโหวตจากเพื่อนบ้าน คือมันน่าเวียนหัวเหมือนกัน บางคนเขาคิดแค่มาอยู่ ไม่ได้คิดสร้างยูโทเปีย ..เออ ก็นั่นแหละ โดยสรุปมันจึงเป็นเกมพะงันเลือกคุณ คุณเลือกพะงัน แต่คุณจะได้อยู่ยาวหรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของบ้านเช่าจะเลือกคุณมั้ย ซึ่งทุกอย่างจะง่ายมาก ถ้าหาคนสายพันธุ์เดียวกันเจอ คำถามก็คือไอ้คนที่ว่านั้นมันอยู่ที่ไหน ใช่ผู้เช่ารายใหม่ที่กำลังเดินเข้ามาต่อรองเจรจาหรือเปล่า
ธุรกิจกับมิตรภาพ เราเห็นด้วยว่าสิ่งที่คุณกำลังคิดและจับมัดไว้ในกล่องเดียวกันเป็นความงดงาม ในฐานะเจ้าของ ฐานะคนต้นเรื่องต้นทาง เมื่อมีสิทธิ์ เราก็ต้องใช้สิทธิ์วาดหวังให้สูงสุด ณ วันเวลาที่ยังเป็นฝ่ายเลือกได้ ทำไมถึงจะไม่เลือกล่ะ (แน่นอนว่า–มีเหตุผลใดที่เราต้องยอมลดเพดาน ตัดใจเลือกแค่ธุรกิจเพียงอย่างเดียว) เพียงแต่ก็อย่างที่บอก มันเป็น mission ระดับ soul mate ซึ่งคุณก็ย่อมตระหนักดีว่าเกมนี้ไม่ง่าย
แต่ไม่ง่ายแล้วไงวะ ตกลงชีวิตจะคิดกันแค่เรื่องยาก-ง่าย รวย-จน สำเร็จ-ล้มเหลว ฯลฯ เท่านี้จริงๆ หรือ เราว่าไม่น่าจะใช่ ขอโทษที่ไม่มีคำตอบอะไรให้คุณเลย เท่าที่นึกออกนาทีนี้ก็ยังเห็นแต่ภาพคนกับควาย นานเท่าไรที่สิ่งมีชีวิตสองสายพันธุ์นี้อยู่ร่วมกัน แล้ววันแรกๆ คนแรกๆ ที่จินตนาการว่าจะจับสัตว์ตัวโตๆ มาใช้งานไถหว่านพรวนดิน เพาะสร้างชุมชนเกษตรกรรม หัวใจเขาต้องยิ่งใหญ่ อดทนและละเอียดอ่อนแค่ไหน ลองเปรียบเทียบและคุยกันเล่นๆ ด้วยเอาใจช่วยว่าธุรกิจและมิตรภาพใหม่ๆ ของคุณจะค่อยงอกงาม เติบโต.
เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อก (ชัยพร อินทุวิศาลกุล) เป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน ทุกสัปดาห์เขาเขียนจดหมายมาคุยกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ บรรณาธิการ nan dialogue