สวัสดีครับพี่หนึ่ง
ดั่งที่พี่ทักมาในแชท เราคลาดการพบปะกันที่กรุงเทพฯ ไปแค่ไม่กี่ชั่วโมง
ผมออกจากกรุงเทพฯ เที่ยงๆ ในวันอาทิตย์ ส่วนพี่น่าจะถึงเมืองหลวงในตอนบ่ายๆ
เสียดายที่ไม่ได้พบ ไม่งั้นจะให้พี่ชิมเมนูอาหารที่หลินเรียนรู้มาจากเพื่อนชาวอังกฤษ
ด้วยว่าครั้งนี้เราออกจากบ้านค่อนข้างสาย กว่าจะถึงสุราษฏร์ฯ ก็ปาเข้าไปสามทุ่ม ผมพาศิลป์ไปกินอาหารทะเลร้านอร่อย แต่ชื่อดูไม่น่าเชื่อถือ (ร้านชื่อ ปูนึ่งน้องอีฟ) เรากินเสร็จเป็นโต๊ะสุดท้ายก่อนขับรถไปหาที่นอนใกล้ๆ ท่าเรือ ตื่นออกจากที่พักตีสี่กว่าๆ เพื่อขึ้นรอรอบตีห้า ขึ้นฝั่งพะงันตอนเจ็ดโมงกว่าแล้วขับรถกลับบ้าน ให้ศิลป์เปลี่ยนชุดและทำการบ้านที่ค้างคาก่อนไปส่งให้ถึงโรงเรียนทันตอนเก้าโมงพอดี
ศิลป์เดินทางกับเราบ่อยจนรู้ว่าเวลาไหนต้องทำอย่างไร ปลุกไม่กี่ทีก็ตอนขึ้นมาเดินขึ้นรถเอง ระหว่างนั่งเรือเฟอร์รี่ก็นอนหนุนหนังสือหลับเอาแรงที่ม้านั่งที่กราบเรือ ถึงบ้านก็เตรียมชุดและจัดแจงทุกอย่างเอง ผมเห็นด้วยกับพี่มากๆ เรื่องการเรียนรู้ผ่านการเดินทาง เดินทางบ่อยๆ เข้า เราก็จะรู้ว่าโลกมันกว้างและอะไรๆ ไม่ได้เป็นเหมือนอย่างที่บ้าน เมื่อร่างกายและจิตใจเรียนรู้ที่จะยืดหยุ่นและปรับตัวได้ไปตามสถานการณ์ สิ่งแปลกใหม่ทั้งหลายจึงเป็นเรื่องน่าสนใจและน่าประสบซะมากกว่าเรื่องที่ต้องหวาดกลัวหรือวิตกกังวล
ตั้งแต่วันแรกที่พวกเรากลับมาถึงเกาะ พอลกับดีนก็แวะเวียนมาทักทายที่บ้านทันที พวกเขามวนยาเส้นผสมกัญชาและดื่มเบียร์กันอย่างสบายใจเหมือนกับ (ที่ผมบอกให้พวกเขารู้สึกเสมอ) ว่าเป็นบ้านตัวเอง ผมนั่งฟังด้วยความมึนๆ จากการนอนน้อยและขับรถมาสิบกว่าชั่วโมงรวดในวันก่อน หลินเล่าให้พอลฟังว่ากลับไปกรุงเทพฯ รอบนี้ เธอลองทำเมนูแกะอบให้เพื่อนๆ และคนในครอบครัวกินตั้งสองรอบ พอลซักไซร้ว่าทำอย่างไรดั่งอาจารย์ที่อยากเห็นลูกศิษย์มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ สุดท้ายก็พบว่าที่ทำๆ ไปที่กรุงเทพฯ ทั้งสองรอบนั้นพลาดขั้นตอนสุดท้ายไปอย่างน่าเสียดาย
ขั้นตอนที่ว่าก็คือการพักเนื้อ (Rest) ประเด็นก็คือหลังจากที่เนื้อสุกตามที่ต้องการแล้ว เราต้องเอามันมาห่อฟอยล์แล้วทิ้งไว้อีกประมาณ 20 นาที ก่อนจะหั่นเสิร์ฟ พอลให้เหตุผลว่าเนื้อที่เครียดตึงจากการความร้อนจากเตาอบนั้นจะยังแข็งกระด้างอยู่ การพักไว้จะทำให้เนื้อคลายตัวและนุ่มละมุนลิ้นกว่าเยอะ ชนชาติชาวอังกฤษนั้นคงจะหมกมุ่นเรื่องตึงๆ หย่อนๆ
ไม่กี่เดือนก่อนดีนก็สอนผมเรื่องการเชื่อมและดัดเหล็กมาทีนึงแล้ว ครานั้นลูกพี่ดีนสอนผมว่าถ้าจะให้วัสดุเหล็กในสิ่งปลูกสร้างนั้นแข็งแรงเราควรขืนและดัดมันให้ตึงตัวสักหน่อย ซึ่งก็เหมือนกับที่พอลสอนหลินเป๊ะๆ เลย “ตึงคือแข็ง หย่อนคือนุ่ม” หลักการแค่นี้ใครก็น่าจะนึกออกเองได้ แต่ใจความก็คือเวลาเจอสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าเราจะเข้าใจหรือจัดการกับมันผ่านหลักการพื้นฐานเหล่านี้ได้หรือไม่ วลีที่ว่า ‘ความรู้ท่วมหัว แต่เอาตัวไม่รอด’ นั้นก็น่าจะมีที่มาคล้ายๆ อย่างนี้ ความรู้ที่ปราศจากความยึดโยงกับการปฏิบัติจึงออกจะไร้ประโยชน์และกลายเป็นจุดให้คนล้อเลียน
ผมเรียนรู้และชื่นชมผู้คนที่สามารถอธิบายได้ว่าความงดงาม (กรณีนี้คืออาหารที่อร่อย) นั้นมีที่มาจากหลักการพื้นฐานอย่างไร เวลาที่เราคุยกันแบบนี้มันทำให้เกิดการเลียนแบบ เรียนรู้ หรือต่อยอดได้ การได้คลุกคลีหรือทำงานเล็กๆ น้อยๆ กับมนุษย์จำพวกนี้ทำให้ผม หลิน รวมกระทั่งศิลป์ เพิ่มพูนทักษะทั้งที่มือและสมอง หลักการในเรื่องต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เราทำอะไรได้อย่างเข้าใจลึกซึ้งมากกว่าการทำอะไรแบบจำๆ มาโดยไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมต้องทำอย่างนั้น
วันก่อนลูกชายเอากระดาษลูกฟูกมาลองทำโล่ ศิลป์ขอตะปูไปตอกเพื่อยึดโล่กับมือจับ ผมปล่อยให้ลูกชายทำไปโดยตัวเองนั่งอ่านหนังสืออยู่เฉยๆ สักพักดีนเดินมาเห็นเข้าก็ถามไถ่เพื่อนตัวน้อย (พวกเขาคบหาและเรียกกันว่า Best Bud) ว่าทำอะไร พอได้รู้ถึงเจตนาและวัตถุดิบที่อยู่ตรงหน้า พี่ดีนก็ร่ายคำอธิบายให้ศิลป์ว่าทำไมไม่ควรใช้ตะปูยึดวัสดุชนิดนี้ ดีนบอกกับศิลป์ว่ากระดาษลังนั้นกลวง และตะปูนั้นทำงานกับความกลวงไม่ได้ จากนั้นก็หยิบชิ้นส่วนมือจับขึ้นมาทดสอบให้ศิลป์เห็นว่ากระดาษถ่ายเอกสารที่ใช้ทำมือจับนั้นอ่อนเกินกว่าจะรับน้ำหนักโล่กระดาษลูกฟูก
ดีนแนะนำให้สละกระดาษลูกฟูกบางส่วนของโล่มาทำมือจับ และหาทางเชื่อมมันเข้าด้วยวิธีเจาะรูร้อยเคเบิ้ลไทด์ หรือไม่ก็ทากาวติด ผมนั่งมองด้วยความยินดีต่อลูกชายที่มีเพื่อนเอาใจใส่ และคอยแบ่งปันความรู้ศิลป์เรียนรู้เรื่องวัสดุและการทำของเล่นเด็ก (DIY) แบบมีหลักการโดยใช้เวลาสั้นๆ แค่สิบนาที ส่วนผมเองก็ได้เรียนรู้ว่าเด็กนั้นพร้อมจะเรียนรู้ขนาดไหน ถ้าเราสอนเป็น
จบวิชาทำโล่กระดาษ (แบบมีการบ้านให้ศิลป์ไปหาทางทำต่อเอาเอง) ศิลป์หันไปขอบคุณแล้วถามดีนว่า “อยากดื่มอะไร เขาจะเข้าครัวไปชงมาให้” ดีนกวนตีนด้วยการพูดชื่อส่วนผสมของเครื่องดื่มที่แม้แต่ผมเองก็ยังไม่รู้จัก ครั้นเห็นศิลป์ทำหน้างง เขาก็ยิ้มแล้วบอกว่าอะไรก็ได้ที่จะเซอร์ไพรซ์เขา เซเฟอร์ซึ่งนั่งอ่านหนังสืออยู่ใกล้ๆ ได้ยินบิดาพูดอย่างนั้นก็ตะโกนตามหลังศิลป์ไปว่า Xin, can you please surprise me also !
ดีนซึ่งหูไม่ค่อยดีหันมาถามผมว่าเซเฟอร์พูดอะไร ผมตอบว่าก็พูดอย่างที่พ่อมันพูดนั้นแหละ คนดังระดับที่เคยเป็นดารานำในละครเวทีย่านเวสต์เอ็นด์อย่างพี่ดีนจะขอเครื่องดื่มทั้งทีจะพูดธรรมดาก็คงดูกระไรอยู่ แล้วเจ้าลูกชายของดารานำก็คงจะเลียนแบบและติดสำบัดสำนวนมาไม่น้อย
คล้อยค่ำวันนั้นเรากินหอยตลับผัดแบบน้ำเยอะๆ กับซาลามี่และไวน์แดงซึ่งจริงๆ แล้วต้องเป็นคอริโซ่กับไวน์ขาว แม้ส่วนประกอบจะผิดไปจากตำรา แต่เมนูนี้หลินทำมาบ่อยจนพอจะรู้ว่าขั้นตอนและใจความของการปรุงอยู่ตรงไหน หอยตลับเป็นๆ สองกิโลฯ จากตลาดผ่านการปรุงของเชฟหลินจึงหมดไปจากกระทะอย่างรวดเร็ว แม้แต่เซเฟอร์เองซึ่งไม่ค่อยกินอะไรแปลกๆยังกินหอยไปหลายตัว และออกปากชมว่าแสนดีลิเชียส
วันๆ หนึ่งที่พะงันมักจะผ่านไปแบบนี้ เราพบปะกันโดยไม่ได้นัดหมาย พวกเราพูดคุยเรื่องจริง (จัง) บ้างหยอกกันบ้างทั้งกับเพื่อนต่างชาติและชาวไทย มีการงานบางขึงให้ชีวิตไม่กลวงเปล่าเกินไป ดีนมีสเกาต์แคมป์ ผมมีเล้าไก่และโครงการบ้านเช่า พอลมีต้นกัญชาหลากสายพันธุ์ให้ฟูมฟัก หลินมีการทำอาหารและงานออกแบบตกแต่งภายในบ้านแต่ละหลัง ศิลป์มีฟุตบอล หมุดหมายทั้งหลายมีไว้เป็นเข็มทิศให้เดินไปถึง ส่วนกำหนดการนั้นละม้ายคล้ายคลึงกับรถไฟไทยและราชาเฟอร์รี่ ที่ล่าช้ากว่ากำหนดซะเป็นส่วนใหญ่ เพราะระหว่างทางเดินนั้นพวกเรามักมีสิ่งน่าสนใจให้เลี้ยวไปศึกษาและเรียนรู้เสมอๆ
พะงันสไตล์เริ่มซึมผ่านผิวหนังและชั้นสมองจนทำให้ตัวตนผมเปลี่ยนไปบ้างแล้ว บางเรื่องที่ผมมักจะตึงๆ ก็หย่อนๆ ลงไปเยอะ ถ้าพี่มาจับแขนโอบกอดผมตอนนี้ก็อาจพบได้ถึงความนุ่มละมุนเหมือนเนื้อแกะที่ผ่านการพัก (Rest) มาได้สัก 17 นาที
ขอความสุขจงมีแด่พี่ทั้งที่กรุงเทพฯ และน่าน
จ๊อก
ตอบ จ๊อก
นานๆ เข้าบางกอก คนบ้านนอกบ้านน่านอย่างเราก็พอเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ยิ่งรอบนี้ อย่างแรกเลยคือป้ายหาเสียง เยอะจนอ่านไม่ทันว่าใครเป็นใคร สังกัดพรรคไหน (ชื่อพรรคก็ล้วนชวนเวียนหัวอยู่) มีคำโฆษณาของผู้สมัครคนหนึ่งที่สะดุดใจ เขาบอกว่า ‘สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกอย่าง’ เห็นแล้วก็เออเว้ย เอางี้เลยนะ ทำไมเขาถึงช่างกล้าพูด แต่พอไล่สายตาลงบรรทัดสุดท้ายในป้ายเดียวกัน ‘อยู่อย่างจงรัก ตายอย่างภักดี’ อ๋อ โอเคๆ เขาไม่ได้พูดกับประชาชนอย่างเรา
อีกอย่างที่โดดเด่น ฝรั่งกลับมาสู่บางลำพูสแควร์แล้ว ภาพป่าช้ารกร้างตลอดสองสามปีที่ผ่านมาคืนสู่สีแสง เมื่อวาน เดินเข้าโฮสเทลที่พักประจำ เขาบอกเหลือเตียงเดียว แค่คืนเดียว รุ่งขึ้น เดินหาที่ใหม่ ที่แรกเต็ม สอง สาม สี่ เต็มหมด คล้ายปี 2000-2001 ที่เคยไปทำสารคดีว่าด้วยถนนข้าวสาร ตอนนั้นการจะหาที่นอนสักคืนเป็นเรื่องไม่ง่ายเท่าไร จริงๆ มันไม่ได้เต็มทุกโรงแรม แต่หลายแห่งเขาไม่ปรารถนาเงินบาทและลูกค้าหน้าไทยๆ ก็ไม่ว่ากัน คนทำธุรกิจจะเลือกเส้นทางไหน มีปรัชญาการค้าแบบใดก็ใช้สิทธิเสรีภาพของตนเต็มที่ แค่เซ็งหน่อยว่าน่าจะพูดกันตรงๆ ทำไมต้องบอกเต็ม ทั้งที่ไม่ใช่ เกิดเป็นคนไทยก็ยอมรับได้ ก็ถ้าผู้ประกอบการเขาเลือกตลาดอื่น
รอบนี้เราคิดว่าเขาจริงใจ พูดตรง เต็มแปลว่าเต็มจริงๆ ไม่ใช่รังเกียจเงินบาท น่ายินดีมากๆ น่ะที่นักท่องเที่ยวกลับมา เงินทองไหลเวียนคึกคักอีกครั้ง
ที่พักที่หาได้คือการกลับมาตายรังเก่า น่าจะเกือบๆ ห้าปีแล้วมั้งที่เราค้นพบที่นี่ (เริ่มจากแวะกินเบียร์ ในวันสำคัญอะไรสักอย่างที่ร้านอื่นไม่ขาย) จากกินเคลื่อนมานอน และนอนเรื่อยมา เพราะทำเลดี ราคาจ่ายไหว แถมมีอาหารเช้าให้แบบไม่หวง (กล้วยบริการทั้งวัน) เดาว่าลูกค้าคนอื่นก็เหมือนกับเราคือมาแล้วผูกพ่วงอยู่ยาว ยากจะเปลี่ยนใจ ช่วงโควิดเรานอนคนเดียวหลายครั้ง หมายถึงทั้งโรงแรมไม่มีใครเลย ทั้งที่ปกติก็ว่ากันที่หลักร้อย มันโหดร้ายเหมือนความตายเดินทางมาเคาะประตู และแน่นอนว่าที่พักหลายแห่งก็จำต้องโบกมือลา ห้วงแรกปิดรอและต่อมาปิดเลย แต่ที่นี่รอดเพราะเป็นเจ้าของตึกเอง ไม่มีค่าเช่า บวกใจสู้ ส่วนเรื่องสินค้าและบริการนั้นหายห่วง หมดโควิด ลูกค้าจึงกลับมาแน่นเอี้ยดเหมือนเดิม (ช่วงนี้สเปนเยอะสุด)
เราเคยปันใจย้ายไปนอนอีกที่อยู่เป็นปี ทีแรกก็ด้วยอยากลอง และสอง ชอบความเป็นมืออาชีพ ทั้งวัสดุ สเปซ การออกแบบ การบริหารจัดการ เราว่าเขาเข้าใจปรัชญาแบกแพกเกอร์ เคยนอนคนเดียวอยู่หลายครั้งเหมือนกันในช่วงโควิด แต่คล้ายที่แรก ปีศาจร้ายตายไป ลูกค้ากลับมาเต็มทุกเตียง เออ ฝีมือนะ เตียงไม่ใช่น้อยๆ ถูกจองเกลี้ยง รอบนี้เรานอนได้คืนเดียวก็จำต้องเก็บของ ซมซานมาตายรังเก่าซึ่งจริงๆ ก็เต็ม แต่เขาจัดหาพื้นที่พิเศษให้ด้วยเห็นว่าเป็นลูกค้าหมายเลขหนึ่ง (ไอ้ที่เคยปันใจก็อภัยอนุโลม)
เจ้าพนักงานหลักเป็นคนอุบลฯ เข้ากรุงตั้งแต่อายุสิบห้า จับงานโรงแรมและเรียน กศน. ควบคู่ สถานภาพทางการศึกษาสูงสุด ณ วันนี้อยู่ที่ ม.ปลาย แต่พูดภาษาอังกฤษปร๋อ นักเรียนการโรงแรมที่จบ ป.ตรีมาแทบทุกคนแพ้ขาดในเรื่องนี้ วิชาการอาจจะได้ เจนจบในทฤษฎี แต่ลงสนามแล้วใบ้แดก เพราะอ่อนประสบการณ์ ไม่เคยใช้จ่ายวันเวลายาวๆ กับชาวต่างชาติ เธอบอกว่าแรกก็ไม่รู้อะไรเลย ด้วยความจนและใจสู้ ก็ดิ้นรน อดทนฝึกเอา ล้างส้วม ซักกางเกงใน อบขนมปัง แบกกระเป๋า ท่องศัพท์ หัดฟังสุ้มเสียงที่ไม่รู้จัก ผ่านชั่วโมงบินยี่สิบกว่าปี ก็ถือว่าโอเค ผ่าน พูดจาฉะฉานระดับด่าฝรั่งได้สบายๆ ถ้าใครงี่เง่า หรือละเลยกฎกติกา
“แต่เทียบกัน ฝรั่งปัญหาน้อย เฉพาะคนที่เมามากกว่า ถ้าไม่เมาก็ไม่ค่อยมีอะไร คนไทยงี่เง่ากว่าเยอะ”
โลกของคนที่เดินทางมามาก คล้ายเขาจะพัฒนาไปแล้ว ง่าย ฟังก์ชัน มีวัฒนธรรมว่างั้นเถอะ แต่ของเราโดยมากหยุมหยิม ไม่รู้ประสา โลกยิ่งแคบ ชีวิตจะวนเวียนอยู่กับเรื่องเล็กน้อยซ้ำซาก
เธอบอกฝรั่งมาเยอะ ก็เหนื่อย งานหนัก แต่จะหนักยังไงก็ยังดี เพราะหลายคนก็ใช่ว่าจะมีงาน โควิดปิดประตูโอกาส ทำลายความเคยชินเดิมๆ ของใครต่อใครไปมาก เธอเอง ก็เคยยอมรับเงินเดือนครึ่งเดียว ตอนไม่มีแขก ฉะนั้น ตอนนี้มีแล้ว เหนื่อยแค่ไหนก็ทนเอา อีกสามสี่ปี รอลูกทั้งสองเรียนจบ คงค่อยหาทางกลับบ้าน
บ่ายโมงเศษๆ ข้าวมื้อแรกเพิ่งตกถึงท้อง เธอบอก ไม่รู้จะกินตอนไหน ลูกค้าเข้าออกตลอดเวลา ทุกศุกร์เสาร์เป็นแบบนี้ตลอด ออกจากบ้านตั้งแต่หกโมงเช้า กลับสามสี่ทุ่ม บางทีเที่ยงคืน วนเวียนซ้ำๆ วนๆ ด้วยคาถาเดียวในใจ –ทนเอา
คนมีต้นทุนน้อยต้องออกแรงให้เยอะ ไม่งั้นไม่รอด ฝรั่งเริ่มกลับเข้ามาเมืองไทย ใครมีวิธีทำมาหากินหรือเรียนรู้อะไรได้จากสังคมนานาชาติ เราว่าโอกาสจังหวะแบบนี้ต้องรีบฉวยคว้า.
เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อก (ชัยพร อินทุวิศาลกุล) เป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน ทุกสัปดาห์เขาเขียนจดหมายมาคุยกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ บรรณาธิการ nan dialogue