the letter

ทะเลเรื่องเล่า

สวัสดีพี่หนึ่ง

หวังว่าทริปล่องใต้มากรุงเทพฯ ครั้งล่าสุดจะราบรื่นและเรียบร้อยดี

งานก่อสร้างบ้านที่พะงันคืบคลานไปอย่างเชื่องช้า แต่สม่ำเสมอ ช่างผู้ชำนาญการแต่ละส่วนงานในไซต์เข้ามาทำงานกันแต่เช้าและเลิกงานเอาช่วงเย็นย่ำ บางวันเข้ามาพร้อมๆ กันทีละ 4 ชุด อาทิ ช่างฝ้า ช่างกระเบื้อง ช่างสี ช่างไฟ จากแต่เดิมที่พี่โด่ง (ผู้รับเหมาหลักของโครงการ) ใช้พนักงานกินค่าแรงรายวันหรือเงินเดือน เดี๋ยวนี้แกปรับเป็นเหมาค่าตอบแทนตามตารางเมตรเกือบทั้งหมด แกว่างานเดินเร็วกว่าเดิม จะติดก็เรื่องอัตราค่าตอบแทนที่อาจมีไม่ถูกใจช่างบางชุด หรืองานบางส่วนไม่เรียบร้อยตามมาตรฐาน 

วันก่อนผมเดินเข้าไปดูงานเคาน์เตอร์ครัวกับ ซิม ช่างปูกระเบื้องชาวพม่า หลังจากคุยรายละเอียดการปูงานเสร็จ ซิมก็บ่นกับผมว่าจริงๆ ไม่อยากรับงานปูกระเบื้องเคาน์เตอร์ครัวหรือห้องน้ำเลย เพราะงานไปได้ช้ากว่างานปูกระเบื้องพื้นห้องเยอะ ผมพยักหน้าในเชิงเห็นใจและแนะนำให้เขาคุยกับพี่โด่งว่า อัตราค่าตอบแทนนั้นไม่ควรคิดในเชิงพื้นที่ของพื้นผิวเท่านั้น หากแต่ควรคำนึงถึงความยากง่ายของเนื้องานด้วย

ผมไม่แน่ใจว่าซิมจะกล้าคุยกับพี่โด่งรึเปล่า ผมคุยงานกับซิมเป็นภาษาไทย เขาดูจะเข้าใจภาษาไทยที่ผมพูด แต่ผมเข้าใจสิ่งที่เขาพูดได้แค่ประมาณนึง ทีนี้เวลาต่อรองเรื่องตัวเลขทางธุรกิจ ข้อจำกัดทางภาษาก็อาจเป็นตัวบั่นทอนให้ใครบางคนไม่กล้าหรือกลัวที่จะคุย 

ไม่ต้องอื่นไกล วันก่อนผมขอให้พี่สุด (ช่างไฟประจำโครงการ) ไปช่วยล้างแอร์บ้านเช่าของดีน แกล้างเสร็จก็เดินไปบอกกับแคเรนว่า “ไอฟินิช (เชด)” แคเรนตอบ “แท้งค์กิ้ว” แล้วก็ไม่ถามอะไรต่อ แทนที่จะแจ้งค่าใช้จ่ายในการบริการพี่สุดก็แค่ยิ้มตอบแล้วขับรถกลับทันที พี่สุดมาบอกกับผมภายหลังว่าขี้เกียจคุยหรือทวงถามเพราะภาษาอังกฤษไม่คล่อง แกคงคิดว่าไว้เดี๋ยวค่อยใช้นายหน้า (หางานกิ๊กก๊อกๆ) อย่างนายจ๊อกส่งใบแจ้งหนี้ให้ก็ได้ (ฮา) 

กลับมาเรื่องการเปลี่ยนแปลงค่าตอบแทนจากรายวันเป็นรายชิ้น ผมเองนั้นเห็นด้วยในกรณีนี้ ใจความหลักคืองานบางประเภท นายจ้างไม่สามารถอยู่หน้างานได้ตลอดเวลา การจัดสรรรายได้ทางนี้คือการให้เกียรติหรือวัดใจทีมงานระดับหนึ่ง ทำช้าหรือทำได้ไม่ดีก็อาจได้งานและเงินน้อยหน่อย พี่โด่งเองก็ดูจะพอใจกับกติกาและรูปแบบงานแบบใหม่นี้ แกพยายามเลือกสรรทีมงานที่ไว้ใจได้และตอบแทนให้ตามที่ตกลง ส่วนรายละเอียดว่างานใดราคาควรเป็นเท่าไรนั้น ผมคิดว่าแกน่าจะยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนให้สมเหตุสมผลหรือสมน้ำสมเนื้อได้ในกาลต่อๆ ไป 

ที่พูดอย่างนี้เพราะพื้นเพภูมิหลังของแกก็เคยเป็นช่างมาก่อน วิชาช่างทั้งหลายก็มาครูพักลักจำมาตั้งแต่อายุสิบสี่สิบห้า คนเราถ้าเคยเหนื่อยเคยเจ็บมาก่อนก็น่าจะเข้าใจหัวอกคนทำงานแบบเดียวกันได้ไม่ยาก รายละเอียดปลีกย่อยเรื่องค่าตอบแทนทั้งหลายที่ผู้ทำงานร้องขอนั้นคงไม่ถูกตัดทิ้งด้วยการคำนวณกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว

ผมมองเรื่องเล็กๆ เหล่านี้แล้วนึกไปถึงเหตุการณ์เมื่อสุดสัปดาห์ก่อนตอนไปสเกาต์แคมป์ ช่วงเวลาอิสระจากงานค่าย เด็กผู้ชายจำนวนนึงแบ่งทีมกันเล่นดอดจ์บอล เกมที่เป้าหมายคือการปาลูกบอลให้โดนเพื่อนทีมตรงข้าม ปาใส่กันไปมาไม่กี่คร้ังก็เริ่มมีเสียงทะเลาะว่าโดนตรงไหนถึงจะเรียกว่าโดน อนึ่ง กัปตันดีนสั่งทำโล่จากฟิวเจอร์บอร์ดให้ผู้เล่นแต่ละคนถือไว้คนละอัน ถ้าป้องกันบอลที่ปามาด้วยโล่ได้ถือว่าปลอดภัย ข้อพิพาทในเกมนี้มีตั้งแต่ว่า ถ้าบอลเด้งพื้นก่อนไปโดนตัวจะถือว่าได้แต้มไหม บอลไปโดนหมวกนั้นถือว่าโดนหรือไม่ ผู้เล่นแต่ละทีมขยับไกลออกไปจากเส้นกลางสนามได้แค่ไหนจึงสมเหตุสมผล

พวกเขาเริ่มจากเถียงกันเอง พอหาทางออกหรือทางลงไม่ได้ก็มักเรียกหาดีนให้มาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยและหาข้อสรุป ซึ่งไม่มีครั้งไหนที่คำตัดสินของกรรมการดีนจะทำให้เด็กทุกคนพอใจ บ้างร้องไห้ บ้างงอนและถอนตัวไปทำอย่างอื่น บ้างยืนยันในความเห็นของตัวเองด้วยการมายืนถกเถียงต่อกับดีนในเรื่องคำตัดสิน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเกมหยุดไปไม่เท่าไร พวกเขาก็มักหาวิธีกลับมาเล่นกันได้อีก 

ผมนั่งมองดูและฟังด้วยความเพลิดเพลินดั่งกับนักมานุษยวิทยาที่ศึกษาหมู่ชนเผ่า มนุษย์ในอดีตกาลก็น่าจะอยู่ร่วมกันคล้ายๆ แบบนี้ ขัดแย้งไม่ลงรอยกันเป็นธรรมดา ถ้าคุยกันได้ก็จบ ไม่ได้ก็หาคนช่วย ทะเลาะกันแค่ไหนก็ไม่ต้องเอากันให้ถึงตายหรือถึงขั้นลงไม้ลงมือเพราะอย่างไรก็หนีกันไปไหนไม่พ้น ใครออกจากฝูงก็ยากที่จะมีชีวิตรอดอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว ฝูงเองถ้าขาดสมาชิกไปหนึ่งนายก็อาจขาดสมดุลและเสี่ยงต่อภัยคุกคาม 

นี่ผมหาความหมายและเทียบเคียงสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเอาเองโดยได้รับอิทธิพลจากหนังสือหลายๆ เล่มที่เคยอ่านมา ถ้าผิด ขอเป็นความสะเพร่าด่วนสรุปของผมแต่เพียงผู้เดียว

ผมเคยขอบคุณดีนไปหลายครั้งที่ชวนศิลป์ไปเข้าค่ายสุดสัปดาห์ และอนุญาตให้ผมไปนั่งและนอนสังเกตการณ์ นอกจากได้ข้อยืนยันว่ามนุษย์โดยเนื้อแท้เป็นสัตว์ฝูงแล้วนั้น ผมเองมักได้รับพลังงานบวกจากเด็กๆ ทุกครั้ง บางทีก็นึกอิจฉาว่าทำไมเด็กๆ มีความสุขง่ายเสียจริง เบื่อก็หาอะไรเล่นจนเหนื่อย เหนื่อยแล้วก็หิว หิวแล้วก็กินอะไรก็ได้ที่มี เด็กไม่กินผักก็เริ่มกิน เด็กกินมังสวิรัติก็เริ่มต้องกินเนื้อ (โดยไม่รู้ตัว – เชฟพอลบอกกับเด็กคนหนึ่งในค่ายว่า Herb Sausage นั้นเป็นอาหารมังสวิรัติ กินได้เลยไม่ต้องกังวล ผมอดขำไม่ได้ในความเจ้าเล่ห์ของเพื่อนเชฟของผม พอลคงเคยทำอะไรแบบนี้บ่อยๆ สมัยเป็นเชฟใหญ่ในโรงแรม) อิ่มแล้วก็ง่วง ง่วงแล้วก็ไปหลับสบายๆ บนเตียงสองชั้นในบ้านต้นไม้

เด็กคนไหนไม่ง่วงก็มานั่งฟังเรื่องราวรอบกองไฟจากกัปตันดีน ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องการต่อต้านทุกสิ่งทุกอย่างในโลกปัจจุบันโดยพุ่งเป้าไปที่สมาคมลับอย่างอิลลูมินาติ บางคืนเนื้อหาอาจมีความรุนแรงต่อจิตใจ เด็กบางคนกลัวเรื่องเล่าทำนองมนุษย์ต่างดาวและการลักพาตัวคนไปใช้ประโยชน์จากอวัยวะจนไปนอนซุกตัวอยู่ใต้โต๊ะ ผมเองนั้นแม้ไม่เห็นด้วยกับดีนหลายเรื่องที่เขาเทศนาเด็กๆ รอบกองไฟยามค่ำคืน แต่ก็เห็นดีเห็นงามกับหลายๆ กิจกรรมการสอนทักษะการเอาตัวรอดในป่าในช่วงบ่าย อาทิ การผูกเงื่อนแบบต่างๆ ซึ่งจำเป็นต่อการขึงเชือกสร้างกระโจมชั่วคราว การจุดไฟ การกรองน้ำใช้ การประกอบอาหารแบบง่ายๆ เป็นต้น 

คิดสะระตะแล้วตอบตัวเองได้ว่าอย่าทำตัวเป็นคนเรื่องเยอะ อะไรๆ ในชีวิตนั้นมักจะมาเป็นแพ็คเกจ ที่ชอบนั้นคือกำไรและความสุข ส่วนที่ไม่ชอบคือนั้นคือต้นทุนหรือความทุกข์ที่เราต้องจ่าย บวกนิดหน่อยก็เอาแล้ว ที่ผมใส่ใจมากหน่อยก็คือลูก ผมคอยบอกลูกเสมอว่าแม้จะเราจะเชื่อใจได้ว่าดีนนั้นปรารถนาดีกับครอบครัวเรา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างที่เขาพูดจะเป็นความจริง ลูกฟังก่อนแล้วค่อยมาคิดหรือคุยกับพ่ออีกครั้งว่าอะไรมันน่าจะเป็นอย่างไรกันแน่ 

คิดขำๆ เอาว่าถ้าศิลป์มีภูมิคุ้มกันต่อฝรั่งกึ่งอนุรักษ์กึ่งมนุษย์นิยม (แนวทฤษฎีสมคบคิด) แบบนี้ได้ ความน่ารำคาญเรื่องความงมงายของสลิ่มและพวกคลั่งเจ้าในประเทศนี้คงเป็นขี้ปะติ๋ว หลังๆ ลูกพี่ศิลป์ก็เริ่มกวนตีนกัปตันดีนตอนถกเถียงเรื่องการบ้านการเมืองโลกด้วยวลีประมาณว่า I don’t trust you but I trust myself บ้างแล้ว ซึ่งว่าไปนี่ก็เป็นหนึ่งในจุดยืนที่ดีนสอนเด็กๆ มาตลอด อยากเห็นเหมือนกันว่าถ้าเด็กๆ พูดบ่อยเข้า ลูกพี่ดีนอดกลั้นได้หรือจัดการอย่างไรต่อ 

ขอความสุขสันต์จงมีแด่พี่และมิตรสหายที่น่านครับ

จ๊อก

ปล. ไม่กี่วันก่อนศิลป์ชวนเพื่อนกลุ่มนึงมาบ้าน ปรากฏว่าพ่อๆ ของเพื่อนกลุ่มนั้นเชื่อในทฤษฎีสบคบคิดประมาณว่ายูเครนคือแหล่งลักพาตัวมนุษย์และผลิตอาวุธชีวภาพ โควิดนั้นหลุดออกมา (โดยเจตนา) จากห้องแล็บ โลกนี้ถูกบงการด้วยคนเพียงหยิบมือ 5G คือเทคโนโลยีบังคับให้คนเป็นซอมบี้ พวกเขาคุยกันในเรื่องที่ตัวเสพมาจากแห่งเดียวกันเหมือนการชวนกันมาดูหนังเรื่องเดิม ถ้าไม่นับว่าเบื่อที่จะต้องนั่งฟัง (เพราะไม่รู้ว่าจะเถียงอย่างไรกับคนที่เชื่ออะไรเทือกนี้) แล้ว สิ่งที่สร้างความขุ่นเคืองในเจ้าบ้านอย่างผมก็คือในบทสนทนาหรือสาธยายที่พวกเขาคุยกันนั้นมักห้อยท้ายว่า เสียดายที่คนอีก 95% นั้นโง่ (Idiot) หรือเพิกเฉย (Ignorant) เกินกว่าจะเข้าใจหรือเห็นในสิ่งที่พวกเขาพูด โลกมันจึงห่วยและพวกเราต้องจมปลักกันอยู่อย่างนี้ พวกเขาอาจไม่ได้ตระหนักว่าเจ้าบ้านที่นั่งอยู่ด้วยนั้นเป็นหนึ่งในคน 95% นั้น ตอนอยู่กรุงเทพฯ ผมอาจเคยด่าใครว่าโง่หรือเฉยชาบ้าง มาอยู่พะงันแล้วโดนเองซะมั่งก็แสบๆ แปลกๆ ดีเหมือนกัน (ฮา)

 

 

nandialogue

 

 

ตอบ จ๊อก

คนที่ติดนิสัยชอบว่าคนอื่นโง่ คนอื่นถูกล้างสมอง มันยากเหมือนกันที่จะอธิบายว่าพวกเขาเติบโตมาอย่างไร บริโภคสปิริต ศรัทธา หรือความเชื่อแบบไหน ง่ายที่สุด–ตามประสบการณ์เรา คำพิพากษาหรือนิ้วที่ชี้ใส่ผู้อื่นของคนเหล่านี้มักสะท้อนตัวตนพวกเขานั่นแหละ คือคนอะไรวะ จะหมกมุ่นกับความโง่ การโดนหลอก มันแปลกน่ะ เหมือนคนที่ชอบว่าผู้อื่นมีเจ้านายเหนือหัว เป็นทาส (เป็นควายแดง) เราว่ารากมันมาคล้ายๆ กันคือพวกเขาคิดเรื่องเพื่อนไม่เป็น มิติมิตรภาพไม่มีในใจ ใคร่คำนวณไปไม่ถึง ทุกครั้งที่มองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ก็จะเห็นแค่นายกับทาส มองทัศนะที่แตกต่างก็จะสรุปโดยเร็วว่าที่ต่างจากตนแปลว่าโง่

กลับจากบางกอกไม่กี่วัน เราขึ้นเชียงใหม่ ไปธุระของพี่ศิลปินน่าน ช่วยเขาหาสถานที่แสดงงาน เช่ารถตู้ไปสามวัน คิวแน่นๆ นิดนึง เพราะต้องไปหลายที่ คุยหลายคน แต่ก็ได้การได้งานดี ทั้งที่ไม่เคยเจอกันเลย บางคนให้โอกาส ให้เวลา และเป็นมิตร ยินดีเป็นภาระให้แบบชนิดให้เปล่า กล้าที่จะเป็นฝ่ายหยิบยื่นให้ก่อน ไม่กลัวที่จะทดลองเล่นเกมใหม่ๆ แต่อีกบางคนก็แสดงอำนาจอยู่เหนือ กดข่มลูกน้อง พูดจาทำลาย ไม่ให้เกียรติ ไม่รู้มีปมด้อยใดในชีวิต ทำไมเขามองไม่เห็นว่าคนเราต่างหน้าที่ บทบาท เก่งกันคนละอย่าง พึ่งพากันและกัน ในนามของการเดินทางและใช้จ่ายวันเวลาสั้นๆ ที่เชียงใหม่ ผู้คนสองแบบ สองสถานการณ์ที่พบ มันอธิบายความเป็นไปของโลกได้ดีเหมือนกัน หลากหลายและเหนือความคาดหมายเสมอ แน่นอนว่ามันไม่ยากหรอกว่าผู้คนแบบไหนที่เราควรหลีกเลี่ยง และใครกันที่พึงควรน้อมนำเข้ามาอยู่ในชีวิต

เข้าใจที่คุณกังวลบ้างกับเรื่องเล่าของดีน การวินิจฉัยหรือความสามารถในการแยกแยะของเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่ ธรรมดาที่เราอาจเป็นห่วง กระทั่งกันบางเหลี่ยมมุมออกไปบ้าง (เช่น หนังโป๊ หรือภาพความรุนแรง) อะไรควรผัดผ่อน หลีกเลี่ยงก็เลื่อนออกไปก่อน รอวันวัยอันถึงพร้อม บรรลุวุฒิภาวะ ค่อยปล่อยมือ มอบอำนาจในการใช้ชีวิตอิสระ ต่อกรณีนี้ ลึกๆ เราไม่น่าเห็นต่างกันหรอกว่ามันก็แค่กังวลนิดนึง ไม่มีอารมณ์ร่วมว่าลูกพี่จะเล่าเรื่องแบบนั้นไปทำไม แต่อะไรก็ตาม ถึงที่สุด ตราบเท่าที่เจ้าศิลป์ยังอยู่ในมือ มีเวลาแลกเปลี่ยนบอกสอนกันอยู่ทุกวัน มันก็จบน่ะ ฟังมาแล้วเขาคิดยังไง พ่อแม่คิดยังไง ทุกเรื่องเราคุยกันได้ การคุยกันนี่แหละคือความงดงาม เรื่องเล่าอันหลากหลายนั่นแหละคือความงดงาม ต่อให้ต้นเรื่องมันอาจสยดสยองอยู่บ้าง

อาชีพที่คุณทำอยู่ (โรงพิมพ์) อาชีพที่เราทำอยู่ (เขียนหนังสือ/ ทำสัมภาษณ์) หาใช่สิ่งใดอื่น นอกจากการผลิตเรื่องเล่า เช่นนี้แล้วมีเหตุผลใดที่เราจะหวาดกลัว ปิดกั้น ปิดหูปิดตา ในความเห็นเรา ในบ้านเมืองของเรา เรื่องเล่า (ในที่แจ้ง) ยังมีน้อยและขาดความหลากหลาย นี่ยังไม่ต้องพูดว่าบางเรื่องก็เล่าได้แบบเดียว ยกมือถามหรือวิพากษ์วิจารณ์เมื่อไรก็ติดคุก คือแม่งโคตรเถื่อน

ในฐานะคนร่วมสมัย เราน่าจะเห็นพ้องกันว่าหน้าที่ที่สำคัญมากประการหนึ่งคือการเปิดประตู เปิดโอกาส เปิดพื้นที่ ให้บ้านเมืองของเรามีเรื่องเล่าที่หลากหลาย เราเชื่อสุดจิตสุดใจเลยว่าหูตาคนจะไม่คับแคบ ทัศนะ วิธีคิด ความสามารถในการแยกแยะและให้คุณค่าจะดี จะมีเหตุผล พูดง่ายๆ ว่าใจคนจะกว้างขวางขึ้น ถ้าบริโภคเรื่องเล่าในปริมาณเพียงพอ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เมื่อใครสักคนตระหนักในความแตกต่าง จะชื่นชมเผด็จการ เป็นไปไม่ได้ที่จะชี้นิ้วพิพากษาว่าคนที่คิดต่างจากตนแปลว่าโง่ เรื่องเล่าอันหลากหลายจะขัดเกลาความเย่อหยิ่งและนานานิสัยไม่ดีของมนุษย์ ทุบกะลาทิ้งเมื่อไร กบน้อยก็เข้าใจน่ะว่าบึงข้างบ้านจะเอาอะไรไปเทียบกับความกว้างขวางของท้องทะเล

โดยภูมิศาสตร์ ครอบครัวคุณอยู่แค่คืบแค่ศอกกับทะเล และในทางสังคมศาสตร์ เราเห็นว่าพะงันยามนี้คือทะเลเรื่องเล่าอันอุดมด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา และปรัชญาชีวิต เช่นนี้แล้วจะช้าอยู่ไย สหายเอ๋ย เก็บเกี่ยวสิ เก็บเกี่ยว

ปล. ภาพที่เราเลือกมาลงถ่ายที่ปัตตานี ปี 2006 ไม่เกี่ยวอะไรกับการไปเชียงใหม่รอบนี้หรอก แต่เชื่อมโยงในประเด็นเดียวกันถึงความหลากหลาย สำหรับเรา การตัดสินใจไปทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบนั้นคือหนึ่งในมูฟเมนต์ตื่นรู้ เป็นเหตุการณ์และเรื่องเล่าครั้งสำคัญของชีวิต ว่าโลกคือเราหลายคน โลกดำรงอยู่ด้วยความหลากหลาย.  


เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อก (ชัยพร อินทุวิศาลกุล) เป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน ทุกสัปดาห์เขาเขียนจดหมายมาคุยกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ บรรณาธิการ nan dialogue

You may also like...