สวัสดีและขอรดน้ำพี่ทางอีเมล์นี้ไปเลยละกัน
ผมไม่สามารถพาตัวเองขึ้นเหนือจากกรุงเทพฯ ไปอีกร่วมห้าหกร้อยกิโลเมตรเพื่อพบปะพี่ตัวเป็นๆ ได้
สงกรานต์กะว่าจะฝังตัวอยู่ในเมืองที่ตัวเองเกลียดสักสองสัปดาห์ เผื่อว่าอะไรที่มันเคยแย่ๆ และร้ายๆ ในความทรงจำจะเป็นอะไรที่น่าชื่นชมหรือน่าอภิรมย์ขึ้นมาสักหน่อย
คืนก่อนมีเหตุให้ผมต้องไปสถานีขนส่งที่พี่เขียนถึงไปในบทบรรณาธิการไม่กี่วันก่อน เหลือบไปดูยอดไลค์บทความดังกล่าวก็พบว่าน่าจะเยอะที่สุดเท่าที่พี่เคยโพสต์มา ณ วันที่ 12 เมษาฯ เวลาเที่ยงๆ ผมเห็นตัวเลข 5K ในช่องไลค์ซึ่งพบว่าไม่น้อยไม่ใช่สัญลักษณ์นิ้วโป้ง หากแต่เป็นใบหน้าอีโมจิที่มีน้ำตาเปื้อนอยู่ สิ่งที่พี่พูดมันคงแทนใจหลายๆ คนที่เคยต้องข้องแวะและใช้บริการสถานที่แห่งนี้
ผมพาลูกกับเมียไปส่งขึ้นรถทัวร์เที่ยวเสริมไปยังจังหวัดเพื่อนบ้านของน่าน ภาพในหัวจากการอ่านข้อเขียนของพี่และการประเมินสถานการณ์ความหนาแน่นและความน่าจะเป็นด้วยตัวเอง ทำให้ผมกำชับเจ้าลูกชายให้ระมัดระวังและดูแลตัวเองให้ดี หลังๆ มานี้จะไปไหนที ศิลป์มักรบเร้าให้เราเลือกเดินทางด้วยไนท์บัสเสมอๆ ไม่รู้ว่าไปติดใจรถบัสเที่ยวกลางคืนรอบไหนเข้า เจ้าลูกชายจึงมีรสนิยมแบบนี้ ครั้งนี้พอรู้ตัวว่าจะได้ไปแพร่ด้วยวิธีที่ตัวเองปรารถนาก็ดีใจยกใหญ่ จัดแจงจัดกระเป๋า (ผมไม่ได้ไปด้วย เลยยกกระเป๋าเป้ที่ตัวเองใช้มาร่วมยี่สิบปีให้ไปใช้เพื่อสัมภาระเสื้อผ้าและหนังสือ อีกทั้งยังหวังว่าเขาจะเห็นมันเป็นตัวแทนพ่อตัวแสบที่ไม่ได้เดินทางไปด้วย)
ใจหายเหมือนกันว่าจะไม่ได้เจอลูกอีกสี่ห้าวัน ผมบอกเขาว่าตลอดเจ็ดปีหลังในชีวิตผมมีศิลป์อยู่ในนั้นมากมายมหาศาลเหลือเกิน เขาตอบกลับมาว่าสำหรับเขานั้น That’s my whole entire life. ฟังแล้วก็อดซึ้งน้ำตารื้นไม่ได้ นานๆ พูดอะไรซึ้งๆ กันบ้างแทนที่จะเอาแต่หยอกล้อ สอนสั่งหรือพูดคุยก็ดีอยู่เหมือนกัน
เอาเข้าจริง ผมเพิ่งตระหนักได้ว่าชีวิตตัวเองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ผูกติดอยู่กับลูกชายขนาดไหน ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ได้เตือนสติตัวเองให้รู้ว่าช่วงเวลานี้ของชีวิตนั้นไม่จีรัง วันหนึ่งเขาจะออกเดินทางด้วยตัวเองและผมอาจต้องอยู่เพียงลำพัง หวังแต่ว่าเมื่อถึงวันนั้นเขาจะกลับมาเยี่ยมพ่อบ้างเป็นครั้งคราวเหมือนในเพลง Seven years old ที่ผมกับเขาชอบฟังกันอยู่บ่อยๆ
ผมขับรถไปถึงสถานีขนส่งหมอชิตเอาตอนสามทุ่มกว่าๆ ในวันที่ 12 เมษายนซึ่งเป็นวันทำงานวันสุดท้ายของมนุษย์ทำงานประจำหลายๆ คน ภาพในหัวมันคงเกินจริงทำให้ผมไม่ได้รู้สึกว่าเลวร้ายอย่างที่พี่เขียนถึงขนาดนั้น แน่นอนว่ามันสกปรก พลุกพล่าน และดูน่าสับสน (ดูป้ายก็ไม่ได้ความเท่ากับถามเอากับคนที่ยืนอยู่แถวๆ นั้น) แต่ก็ไม่ได้แย่ไปกว่าพื้นที่อื่นของกรุงเทพฯ ที่ผมเคยประสบ ผมเดินจูงมือลูกชายไปนั่งรอในฟู้ดคอร์ทใกล้ๆ ชานชาลา เที่ยวรถคือห้าทุ่มยี่สิบ แต่สักสี่ทุ่มก็มีพนักงานบริษัทขนส่งที่หลินและศิลป์จะเดินทางไปด้วยเดินมาตะโกนบอกให้ไปสแตนด์บายที่ท่ารถ หากโชคดีอาจได้ขึ้นรถที่มีที่ว่างเหลือเพื่อเดินทางออกไปก่อน
เราทั้งสามเดินไปรอและถามไถ่เอากับใครที่ถือโทรโข่งอยู่ใกล้ๆ ว่าขึ้นคันไหนได้ สักพักหญิงสาวและเด็กน้อยก็เดินขึ้นรถทัวร์สีสันสดใส (รถเสริม) เอาในเวลาที่เร็วกว่าในตั๋ว เท่าที่ดูไม่เห็นจะมีใครเดินมาตรวจด้วยซ้ำว่ามีตั๋วรึเปล่า (เข้าใจว่าน่าจะตรวจกันเอาทีหลัง) ผมพูดเบาๆ กับคนคุมคิวที่ยืนอยู่ข้างๆ ว่าผมทึ่งจริงๆ กับวิธีการจัดการแบบไทยๆ ในเรื่องนี้ รถบัสไม่ประจำทางหลายคัน (น่าจะหลักร้อย) ถูกเกณฑ์แบบมีค่าตอบแทนมาใช้บริการนักเดินทางช่วงเทศกาล แต่ก็นะ มันก็คงจะมั่วๆ หน่อยเหมือนกับตอนที่ประเทศนี้เกิดเหตุเภทภัย ความช่วยเหลือและเห็นใจนั้นมีอยู่เต็มเปี่ยม ทุกคน (เอกชน) ล้วนยื่นมือกันเข้ามาช่วย ส่วนภาครัฐหรือผู้ต้องรับผิดชอบก็พลอยลอยตัวแล้วบอกว่าอะไรๆ ผ่านพ้นไปด้วยดีเพราะคนไทยมีน้ำใจ (แหะๆ)
ผมถามกับคนคุมคิวว่ามั่วๆ ชุลมุนกันอย่างนี้ไม่มีพลาดบ้างหรือ เธอว่าไม่เป็นไร ทางบริษัทเตรียมรถเที่ยวเก็บตกไว้ดูแลผู้โดยสารที่ตกค้าง ผมได้แต่นึกในใจว่าที่พวกเราได้ไปก่อนกำหนดการนั้นคงเป็นแค่เรื่องโชคดี ในโอกาสอื่นพวกเราอาจเป็นผู้โชคร้ายตกอยู่ในขบวนผู้โดยสารตกค้างก็เป็นได้ ไม่กี่นาทีก่อนมีเจ้าหนุ่มที่จะเดินทางไปพิษณุโลกบ่นกับพี่คนขายตั๋วว่ารอมาชั่วโมงกว่าๆ แล้ว
แทนที่จะได้รับคำขอโทษ พี่คนคุมคิวหันไปดุว่าบางคนรอมาร่วมสามชั่วโมงแล้วยังไม่เดินมาตำหนิเธอเลย ช่วงเทศกาลก็น่าจะเข้าใจหรือเห็นอกเห็นใจกันหน่อย
ครั้งนี้ผมไปหมอชิตในฐานะผู้สังเกตการณ์ อารมณ์หงุดหงิดร่วมก็ออกจะไม่มี ที่รู้สึกน่าจะเป็นความปลงกึ่งทึ่งกับการจัดการอะไรๆ ในประเทศนี้ ผมสัมผัสถึงความมุ่งมั่นของเหล่าพนักงานเดินรถตัวเล็กๆ ที่ตั้งใจจะจัดการพาผู้โดยสารทั้งหมดไปยังจุดหมายปลายทางให้จงได้ สงกรานต์ปีนี้ที่หมอชิตไม่ยุ่งเท่ากับปีก่อนพี่ผู้หญิงคนไหนที่เอารถมาให้บริษัทขนส่งยืมใช้บอกกับผม อาจเป็นด้วยมีใครหลายคนเดินทางไปล่วงหน้าก่อนแล้ว หรือไม่ก็อาจเป็นอิทธิพลของบทบรรณาธิการของคุณวรพจน์ที่ทำให้ใครเปลี่ยนใจกะทันหันเลือกเดินทางด้วยวิธีอื่น (ฮา)
เช้าวันรุ่งขึ้นที่ปราศจากลูกชายเริ่มต้นด้วยบุหรี่สองสามตัวกับกาแฟสามสี่แก้ว หลังจากนั้นผมขับรถไปร้านเกี๊ยวปลาจันทบุรีที่เคยพาพี่หนึ่งไปกินอยู่ครั้งสองครั้ง กินเสร็จก็เจรจาพาทีกับเฮียและซ้อว่าผมรู้สึกนิยมในรสชาติอาหารของพวกเขาขนาดนั้น เกริ่นอย่างจริงจังกับเฮียว่าจะขอมาศึกษาวิธีทำเผื่อจะเอาเนื้อปลาในน่านน้ำแถบพะงันมาขูด ปั้น แล้วรีดเป็นแผ่นเกี๊ยวและสับเป็นเส้นปลากินเองซะบ้าง เกี๊ยวปลาอร่อยๆ หากินยากซะเหลือเกินที่เกาะพะงัน อีกอย่างแกกับซ้อไม่มีลูก ไอ้คนช่างกินอย่างผมก็รู้สึกเสียดายหากเคล็ดลับการทำของอร่อยจะสูญหายไปจากโลก หากได้มีวิชาทำเกี๊ยวปลานี้ไว้อย่างน้อยก็น่าจะถือเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรม (จริงๆ) อย่างหนึ่งของโลก
ผมซื้อบะหมี่แห้งกับเกี๊ยวปลาลวกมาฝากคนที่บ้าน และน้องที่ร้านกาแฟห่อสองห่อ ปีก่อนมีร้านกาแฟเปิดใหม่ในหมู่บ้าน ผมมากินครั้งแรกก็ถูกใจอัธยาศัย กลับมาบ้านทีไรเป็นต้องแวะสั่งกาแฟมานั่งดื่มและถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกับ ‘หวาย’ เจ้าของร้าน เขาเคยทำงานสายแบ็คสเตจงานดนตรีใหญ่ๆ ก่อนโดนคลื่นโควิดซัดเอาจนเซ โชคดีที่แฟนซึ่งตอนนี้เป็นภรรยาแล้วชวนให้ขึ้นมาจากความดำดิ่งด้วยการเปิดร้านกาแฟ หวายยังคงไม่ทิ้งอาชีพเดิม แต่เลือกที่จะทำแต่งานที่พอใจ ล่าสุดเห็นว่าจะไปช่วยดูแลคอนเสิร์ต ‘อัสนี-วสันต์’ ที่อิมแพคสุดสัปดาห์นี้
คนในวงการอย่างเขาพูดถึงกระแสความนิยมของเด็กๆ ต่อเพลง ‘ทรงอย่างแบด’ ด้วยความประหลาดใจ เขาเล่าว่ามีบางผับยอมงดขายเหล้าและเสิร์ฟนมสดแทนเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ เข้าไปสัมผัสประสบการณ์การฟังคอนเสิร์ตในผับ (ฮา)
พี่หนึ่งน่าจะพอรู้นะครับว่าเด็กที่ชื่นชอบเพลงนี้นั้นเยาว์วัยขนาดไหน คิดในแง่ดี เด็กๆ ที่ได้ประสบการณ์เหล่านี้เร็วกว่าคนรุ่นเราเป็นสิบปี อาจเห็นสิ่งแปลก (จอม) ปลอมหลายอย่างในประเทศนี้ได้เร็วกว่าพวกเรา และทำให้สิ่งหรือคนบัดซบเหล่านี้หมดไปสิ้นไปในไม่ช้า
สุขสันต์วันสงกรานต์ ขอให้ชุ่มฉ่ำอย่างแช่มชื่นกับหมู่สหายครับ
จ๊อก
ปล.1 เดือนก่อนผมเล่าให้ดีนฟังว่าเขียนจดหมายให้พี่มาเป็นปีๆ แล้ว ดีนตอบว่านายน่าจะหาทางพิมพ์ออกมาเป็นเล่มเก็บไว้ วันหนึ่งในอนาคตศิลป์จะได้กลับไปหาอ่านได้ง่ายๆ ฟังแล้วก็อึ้งอยู่เหมือนกัน แม้ว่าจุดเริ่มต้นมันคือผมเขียนเล่าให้พี่ฟัง แต่ลึกๆ ผมก็รู้ตัวอยู่เหมือนกันว่าผมเขียนให้ลูกชายอ่านอยู่กลายๆ (แม้ไม่รู้ว่าเขาจะอ่านมันเมื่อไร)
ปล. 2 วันนี้ผมเขียนด้วยการยืมคอมพิวเตอร์น้องชายมานั่งเขียนในบ้านพ่อแม่เพื่อหลบร้อน ไม่อยากเปิดแอร์อยู่บ้านคนเดียวด้วยความรู้สึกผิดถึงความสิ้นเปลือง ก่อนเขียนก็เดินไปแช่ตัวดับความร้อนในสระว่ายน้ำของหมู่บ้าน พอเริ่มแก่ตัวลง ‘ความงก’ แบบคนแต้จิ๋วที่ใครๆ ชอบแซวกันเริ่มก่อกำเนิดในจิตใจโดยไม่รู้ตัว
ตอบ จ๊อก
1 มีนาคม ล่วงมาถึงเมษายนจนนาทีนี้ เปรียบเทียบกับเจ็ดปีที่อยู่จังหวัดน่านมา นี่เป็นเวลาที่ร้อนที่สุด ร้อนบ้าคลั่ง ร้อนทำการงานใดไม่ได้ แปดโมงหน่อยๆ มันเอาละ ถ้ายังไม่อาบน้ำก็เริ่มจะอยู่ไม่ได้ ร้อนลากยาวไปถึงหกโมงเย็น บางทีทุ่มสองทุ่ม ทั้งที่หน้าร้อนโดยทั่วไปช่วงเช้าถึงสิบโมงนี่คือเย็นสบาย บ่ายสองบ่ายสามก็ธรรมดา ร้อนตามความกล้าแกร่งของแสงแดด แต่หลังสี่โมงเย็นก็จบ เข้าสู่ภาวะโลกเราสวยงาม
2 ปีนี้โหดร้ายจริง หลังตุลาคมเป็นต้นมา เอาว่าหลังฤดูฝน ไม่มีฝนเลยสักครั้งเดียว (ปกติสามสี่เดือนต้องหลุดแทรกร่วงหล่นมาให้ชื่นใจบ้าง) จะหกเดือนเต็มๆ แล้วที่ไม่เจอฝนเลย เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ จะแปลกอะไรกับเรื่องไฟป่าและฝุ่นควัน ซึ่งปีนี้หนักสุด อ่วมอรทัยโดยทั่วหน้า น่าน เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน (เคยไปเมืองกาญจน์มาครั้งหนึ่ง แถวท่าเสาบ้านพี่วัฒน์ ฝุ่นควันก็โคตรหนัก)
3 บ้านเราใช้น้ำฝน (ประปาไปไม่ถึง) ขาดตกบกพร่องบ้างบางปี แต่เท่าที่อยู่มาก็เอาตัวรอดได้ไม่ลำบาก แต่ปีนี้น้ำในแทงก์หมดเกลี้ยงมาเดือนกว่าแล้ว แจ้งเรื่องขอน้ำไปทาง อบต. ก็ยังไม่ได้ (เขาบอกยุ่งอยู่กับงานดับไฟ)
4 บ้านเราไม่มีแอร์ (อยู่ป่า อยู่เขา ไม่ได้อยู่เมืองกรุง การหายใจอยู่ในอุณหภูมิโลกก็ปกติสุขดี) แต่ปีนี้ไม่ปกติ เข้าใจความรู้สึกว่าสิ้นเปลืองของคุณ อยู่คนเดียว นั่งทำงานในห้องแอร์ คิดมุมหนึ่งก็บริโภคทรัพยากรเยอะไป แต่มองอีกมุม อยู่บ้านตึกในกรุงเทพฯ ไม่เปิดก็เท่ากับฆ่าตัวตาย หายใจไม่ออก บางเวลาของวันมันร้อนจริงๆ เช่นเดียวกับน่านปีนี้ มีนาฯ เมษาฯ ที่เคยมีวัตรปฏิบัติแต่งตัวรัดกุมก่อนนอน (มันเย็นมาก บางทีไม่มีหมวกยังนอนไม่ได้เลย) ชีวิตเดินทางมาถึงวันที่ต้องถอดเสื้อ นุ่งกางเกงขาสั้น แถมอัดพัดลมเข้าไปอีก (ปกติเราเกลียดพัดลม นานๆ ถ้าใช้ ก็เปิดส่ายๆ หันไปทางอื่น)
5 เพื่อที่จะทำงาน เราเคยไปเช่าโรงแรมนอน (เป้าหมายคือใช้แอร์) คาเฟ่ หรือร้านกาแฟโดยทั่วไปมันไม่สะดวก เขาไม่ได้ออกแบบมาให้เราไปเขียนหนังสือ หลายที่เสียงดัง ที่นั่งไม่สบาย อีกหลายวัน ไม่อยากกินทุกเมนูที่เขาขาย เหนืออื่นใด เรานั่งนาน ปรารถนาความเงียบ ผลประโยชน์มันไม่ลงตัวกันระหว่างร้านค้ากับลูกค้า
6 เป็นเดือนๆ มาแล้วที่ถ้าไม่มีแอร์ นั่งทำงานไม่ได้เลย ไม่ได้ที่แปลว่าไม่ได้จริงๆ คุณดูต้นฉบับ ‘น่านไดอะล็อก’ ก็จะเห็นว่ามันขาดหายไปพอสมควร ขอยืนยันกับคุณว่าถ้าเกิดมาเป็นคนขยันก็ขยันเท่าเดิม ถ้าขี้เกียจ ก็ขี้เกียจเท่าเดิม แต่ที่มันเป็นเช่นนี้เพราะคนทำกำลังจะบ้าตายกับปัญหาความร้อน หลายวันพยายามดันทุรัง ไม่ไปหาห้องแอร์ ผลคือทำงานไม่ได้ รุ่งขึ้นอีกวันลองอีก ผลยังคงเดิม ปวดหัว ไม่มีสมาธิ วันถัดมาออกไปหาร้านกาแฟห้องแอร์ใหม่ๆ นั่ง ก็เหมือนเดิมอีกคือเสียงดัง นั่งไม่เป็นสุข วนๆ เวียนๆ อยู่แบบนี้มาเป็นเดือน ขออภัยต่อการงานที่ล่าช้า ไร้ความเป็นมืออาชีพ
7 ฤดูร้อนมันชวนให้คิดถึงการปิดเทอม เออ ก็เมกเซนส์อยู่เหมือนกัน ดันทุรังไปก็ไม่รอด เสียสุขภาพจิต พักร้อนไปทำอย่างอื่นก่อนดีไหม
8 บางท่อนในเพลง paradox เขาร้องว่า ‘ฤดูร้อนไม่มีเธอ เหมือนก่อนๆ’ เราร้องว่า ‘ฤดูร้อนไม่มีแรง เหมือนก่อนๆ’
9 มองแม่น้ำน่านที่เคยเป็นความชื่นฉ่ำเย็นของชีวิต ปริมาณน้ำปีนี้ลดลงอย่างน่าใจหาย หลายจุดแห้งขอด สันดอนโผล่ บ่ายๆ เย็นๆ เห็นหลายคนเอาโต๊ะเก้าอี้ไปตั้งนั่งกินเบียร์ เป็นทางปลดทุกข์ชั่วครู่ชั่วคราวที่เข้าท่าดีอยู่ เป็นปีก่อนๆ เราคงนึกสนุก อยากทำบ้าง แต่ปีนี้พอเห็นน้ำน้อย ฝุ่นควันเยอะ บรรยากาศมันไม่ชวนรื่นรมย์เลย ค่อนไปทางสกปรกด้วย นึกออกเนาะ พอน้ำน้อย การไหลก็ไม่แรง มันออกแนวนิ่งๆ ขุ่นๆ ยิ่งคนเยอะก็ยิ่งไปกันใหญ่
10 เพียงแค่ฝนมา ขอหนักๆ เน้นๆ สักห่า ความเลวร้ายนานาประการจะทุเลาโดยพลัน
11 แต่ก็นั่นแหละ มันเป็นการรอคอยที่ว่างเปล่า
12 ยินดีกับคุณเรื่องการใช้เวลากับครอบครัว มันเป็นสิ่งสวยงามอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับต้นฉบับอีกเกือบๆ แปดสิบตอน ไม่นานก็จะแตะหลักร้อย ไม่เลวนะ การเดินแต่ละสัปดาห์ ค่อยนวดค่อยทุบไปทีละน้อย วันหนึ่งมันเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาได้จริงๆ สิ่งที่ดีนพูดมันพ้นจากเรื่องการพิมพ์ไปบ้างตรงที่โลกของเขามีลูกอยู่ร่วมเสมอ มุมนี้บางทีเราก็ไม่ค่อยได้คิดนัก ทั้งที่กระทำอยู่ เราสนใจเรื่องการใช้เวลา (อย่างไร / กับใคร) สนใจการจดบันทึก บอกเล่ายุคสมัย ถ้าบวกลบแล้วสบตากับตัวเองได้ หรือ productive ก็โอเค มนุษย์ควรจะผลิตมากกว่าบริโภค ยิ่งถ้าผลิตแล้วสร้างประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่นก็ยิ่งดี พูดตรงๆ ว่าเราก็รอ อยากเห็นวันที่จดหมายจากพะงันพิมพ์เป็นเล่ม อยากลูบคลำสัมผัส
13 ‘ฤดูร้อนไม่มีแรง’ ของเราล้มเหลวเรื่องการงาน เปรียบเป็นเกมฟุตบอลก็กำลังโดนคู่ต่อสู้บุกหนักแบบพับสนาม โงหัวไม่ขึ้น ทรงบอลอย่างแบด แต่แน่นอน–ทุกเกมมันมีรุกมีรับ ระหว่างที่ยับอยู่ก็ให้รู้ตัว หาทางปรับแก้ กรรมการยังไม่เป่าหมดเวลา ตอนนี้โดนนำอยู่ เกมสู้ไม่ได้ แต่เรานอนนิ่งเฉยดูดายอยู่หรือเปล่า แต่ละวันๆ มีอะไรสร้างสรรค์ productive หรือเปล่า อย่างหลังนี้เราพอใจกับตัวเองนะ โดยเฉพาะเรื่องการเรียนหนังสือ ทุกวันยังคงเดินไปอย่างก้าวหน้า น่าแปลกเหมือนกันว่าฤดูร้อนไม่มีผลต่อกิจกรรมหรือ ‘ปรารถนา’ ในเรื่องนี้ของเราเลย ..สงสัยเก็บกด ตอนเป็นนักเรียนไม่ค่อยรักเรียน โตแล้วอยากแก้แค้น
14 เกี่ยวกับทัศนะต่อสถานีขนส่งหมอชิต เราเขียนในลักษณะจดหมายร้องทุกข์ เขียนเพราะมองเห็นความทุกข์ อยากบอกเล่าให้ช่วยกันแก้ไข มันเป็นอย่างที่คุณไปเห็นมานั่นแหละ คือแบ่งคร่าวๆ หมอชิตมีสองส่วนคือขาเข้า กับขาออก เราเขียนในส่วนขาเข้า บอกเล่าว่ามันเน่าแค่ไหน (ภาพที่ถ่ายมายังน้อยกว่าความจริงมาก) เปรียบให้เห็นภาพ ขาออกอาจเป็นเช่นแก้มใสๆ แต่ขาเข้าคือมะเร็งลำไส้ คนเพียงผ่านไปทางฝั่งขาออกย่อมนึกไม่ออก มองไม่เห็นว่าในร่างกายเดียวกัน มันมีบางส่วนที่ต้องรีบบำบัดรักษา พาไปพบแพทย์โดยด่วน ..เรื่องก็มีเท่านี้
15 เป็นความจริงว่าตั้งแต่ทำ ‘น่านไดอะล็อก’ มาปีเศษๆ เกือบจะสองปี มีคนเข้าถึงข้อเขียนชิ้นนี้มากที่สุด ดูจากหน้าเฟซบุ๊กเรา ณ วันที่ 18 เมษาฯ เวลาเก้าโมง ยอดไลก์อยู่ที่ 7.6K ยอดแชร์ 5.2K คิดกันให้เปิดกว้างและมองอย่างแฟร์ๆ หลักฐานนี้คงพออธิบาย ‘มะเร็งลำไส้’ ได้พอสมควรว่ามันอยู่ในระยะไหนแล้ว.
เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อก (ชัยพร อินทุวิศาลกุล) เป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน ทุกสัปดาห์เขาเขียนจดหมายมาคุยกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ บรรณาธิการ nan dialogue