the letter

อาวี่, ต้นไม้นั้นมีชีวิต

สวัสดีครับพี่หนึ่ง

วันนี้น่าจะพอเล่าเรื่องอาวี่ อาจารย์ช่างคนใหม่ของผมได้แล้ว

อย่างที่เกริ่นไป เขาเป็นยิวเชื้อสายอาหรับ ปู่ย่าสืบเชื้อสายมาจากชาวยิวในซีเรีย เขาบอกกับผมว่ายิวสายอาหรับ (Mizrahi Jews) นั้นแตกต่างจากยิวที่อพยพมาจากยุโรป (Ashkenazi Jews) พวกเขาอพยพไปอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศอิสราเอลก่อนการอพยพครั้งใหญ่ของชาวยิวจากยุโรป อีกทั้งยังมีประวัติศาสตร์อยู่ร่วมกับชาวมุสลิมมาเป็นเวลานานกว่า อาวี่คิดว่าพวกเขารับมือกับความลำบากในการก่อตั้งประเทศทั้งจากสภาพความเป็นอยู่ที่ขาดแคลนและภัยคุกคามจากชนชาติมุสลิมรอบข้างได้ดีกว่ายิวเชื้อสายยุโรปที่อาจเคยชินกับความสะดวกสบายจากชีวิตความเป็นอยู่ในโลกที่เจริญกว่า อีกทั้งยังมีภาระทางความรู้สึกของการเป็นเหยื่อจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust)

ในสมัยนั้นยิวยุโรปมักจะมองว่าตัวเองมีความรู้และสูงส่งกว่ายิวอาหรับ คุณย่าของเขาเคยเล่าความขัดแย้งและการต้องเผชิญการดูถูกจากชาวยิวสายยุโรปที่อพยพมาเป็นจำนวนมากในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แต่นั่นเป็นเรื่องในอดีต ทุกวันนี้ชาวอิสราเอลไม่ว่าจะเชื้อสายไหนก็พูดภาษาฮิบรูเหมือนกัน ความรู้สึกถึงความแตกต่างถึงที่มาของเชื้อสายนั้นอาจยังคงมีอยู่ แต่ไม่แรงเท่าสมัยก่อน เวลาสามชั่วอายุคนกับการเผชิญภัยคุกคามจากประเทศรอบข้างอย่างต่อเนื่องคงทำให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันได้ดีขึ้น

อนึ่ง เรื่องการเกณฑ์ทหารที่เป็นภาคบังคับในอิสราเอลนี่ครอบคลุมแค่คนเชื้อสายยิวเท่านั้นนะครับ พลเมืองชาวมุสลิมหรือคริสเตียนนั้นไม่จำเป็นต้องรับใช้ชาติในการนี้ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าการไม่ถูกเกณฑ์จะทำให้พวกเขาเสียสิทธิพลเมืองของประเทศอะไรไปบ้างรึเปล่า

เนื่องจากมีเชื้อสายยิว อาวี่ในวัยหนุ่มจึงต้องเกณฑ์ทหาร ซึ่งเขาก็สนุกกับภารกิจและสิ่งที่ได้รับมอบหมาย เขาอยู่หน่วยสอดแนมของกองกำลังปืนใหญ่ เอาง่ายๆ ก็คือในยุคที่แผนที่จับความเคลื่อนไหวทางดาวเทียมยังไม่พัฒนาเท่าทุกวันนี้ หน่วยของเขาซึ่งมีกันอยู่ไม่กี่นาย ต้องคอยเคลื่อนที่อยู่ระหว่างแนวรบทั้งสองฝั่งเพื่อหาพิกัดการตั้งฐานทัพของศัตรูแล้วรายงานไปที่หน่วยหลัก ชีวิตในระหว่างลาดตระเวนและสอดแนมจึงเสี่ยงภัยจากทั้งการถูกสังหารโดยชาติอริและกระสุนปืนใหญ่ของฝ่ายเดียวกันเอง

อาวี่เล่าให้ฟังว่าในวัยนั้นกิจกรรมทางการทหารให้ประสบการณ์กับเขามากมาย อาทิ การเอาตัวรอดในสภาพธรรมชาติที่ทุรกันดาร การรู้จักภูมิประเทศในผ่านการเดินทางไปยังพรมแดนต่างๆ รอบๆ ประเทศ รวมทั้งมิตรภาพที่เกิดจากการร่วมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกับเพื่อนๆ ในหน่วย หลังจากครบกำหนดช่วงเวลาการเกณฑ์ทหารภาคบังคับ เขายังอาสารับใช้ชาติต่ออีกสักพัก แล้ววันหนึ่งเมื่อเขาพบคำสั่งทางการทหารจากฝั่งการเมืองที่ขัดกับข้อเท็จจริงและสิ่งที่ควรจะเป็นในสนามรบ ชีวิตของเพื่อนร่วมรบหลายนายที่ต้องเสี่ยงเพื่อปกป้องความมั่นคงทางตำแหน่งทางการเมืองของคนเพียงคนเดียวนั้นสร้างความเจ็บปวดและโกรธแค้นให้อาวี่ในวัยหนุ่ม

ความรู้สึกถูกทรยศก็ทำให้เขาหันหลังให้กับกิจกรรมเพื่อชาติแนวทางนี้ในเวลาไม่นาน

เขาประกอบอาชีพหลากหลาย อาทิ ไกด์ทัวร์ โรงพิมพ์ (ของพ่อ) เขาเข้าไปทำต่อหลังจากพ่อเสีย ทำเพื่อให้ธุรกิจไปได้ดีก่อนจะขายกิจการต่อแบบมีกำไร จากนั้นเขาก็เริ่มทำธุรกิจออกแบบและติดตั้งครัว อาวี่ทำมันได้ดีด้วยเหตุว่ามีทักษะงานไม้ที่เขาเคยศึกษาเรียนรู้มาตั้งแต่เด็กๆ เป็นการเรียนรู้แบบดูคลิปแล้วทำตาม

เขาบอกว่าถ้าคุณใช้ภาษาอังกฤษได้และตั้งคำถามให้ถูก โลกอินเทอร์เน็ตนั้นมีอะไรให้คุณเรียนรู้ได้มหาศาล

เขาทำงานประกอบติดตั้งครัวสักพักก็พัฒนาแพลตฟอร์มออกแบบครัวให้กับลูกค้าสำหรับบริษัทตัวเอง แพลตฟอร์มนั้นคงจะทำงานได้ดี (ในความหมายว่าถูกจริตกับผู้ใช้งาน) เขาจึงทิ้งงานถือเลื่อยเพื่อไปโฟกัสกับธุรกิจบนแป้นคีย์บอร์ดเท่านั้น เขาปรารภกับผมว่างานช่างนั้นให้ความรู้สึกที่ดีในตอนทำงานแต่ทำเงินไม่พอ (หรือไม่คุ้ม) ที่จะเลี้ยงครอบครัว

ระหว่างที่ผมฟังเขาเล่าเรื่องชีวิตในหลายๆ ครั้งที่เราพบกันตอนลูกชายฝึกซ้อมฟุตบอล ผมก็มักจะแทรกถามหาความรู้เรื่องงานไม้และงานช่างที่ผมกำลังหัดอยู่ไปด้วย พูดถึงงานไม้ทีไร ลูกพี่อาวี่มักเกริ่นนำด้วยประโยคว่า “ไม้นั้นมีชีวิต” พลางทำท่าทางประกอบในลักษณะลูกคลื่นเคลื่อนที่จากมือข้างหนึ่งผ่านแขน หัวไหล่ และศีรษะไปยังมืออีกข้างหนึ่ง (เอาง่ายๆ เหมือนท่าดีใจของ Daniel Sturridge อดีตศูนย์หน้าทีม Liverpool) แผ่นไม้ที่ไร้รากและกิ่งใบยังคงยืด หด แอ่น และบิดตัวได้เสมอๆ ตามอุณหภูมิและความชื้น

หลังจากนั้นเขาก็เริ่มบรรยายลักษณะนิสัยต่างๆ ของไม้และวิธีในการจัดการกับมัน เขาสอนวิธีการวางแผ่นไม้เพื่อเชื่อมมันเข้ากันเป็นกระดานแผ่นใหญ่ ความสำคัญของการคว้านรูไม้ก่อนยิงสกรู ผมบอกเขาว่าทุกวันผมชอบที่ทำงานกับไม้จริงมากกว่าไม้อัด (Plywood) เขาพยักหน้าเชิงเข้าใจแล้วบอกว่าเขาก็เป็นอย่างนี้ตอนเริ่มทำงานไม้ใหม่ๆ แต่รู้ไหมว่าไม้อัดนั้นแข็งแรงกว่าด้วยกระบวนการผลิตที่วางแผ่นไม้บางๆ สลับเกรนกันไปมา ห่วงไม้ในกีฬายิมนาสติกนั้นก็ทำจากไม้อัด เพราะมันรับแรงได้จากทุกทิศทางได้ดีพอๆ กัน

ต่างกับไม้จริงที่รับแรงแนวขนานเกรนได้ดี แต่รับแรงแนวขวางเกรนได้ห่วย ผมฟังเรื่องต่างๆ เหล่านี้ด้วยความกระหายใคร่รู้ไม่ต่างจากที่ตอนฟังเรื่องราวทางปัญญาจากแวดวงของผู้รู้หลายๆ คนตอนอยู่กรุงเทพฯ

ล่าสุด ผมบ่นกับเขาเรื่องความปวดหัวกับงานต่อเติมห้องใต้หลังคาที่ต้องจัดคิวให้กับช่างแต่ละชุดในงานแต่ละประเภท อาทิ ช่างเหล็กที่ทำโครงสร้างบันได ช่างไม้ที่ต้องมาติดตั้งขั้นบันได ช่างฝ้าที่ประกอบเพดานและผนังเบา ช่างไฟ ข่างสี และช่างทำบานประตูหน้าต่างอลูมีเนียม คือปกติผมจะไม่เข้าไปยุ่งในการจัดลำดับและเวลาของช่างแต่ละชุด เพราะคิดว่าเป็นหน้าที่ของผู้รับเหมา แต่คราวนี้ผมต้องยุ่งเพราะมีนัดหมายกับผู้เช่าครอบครัวหนึ่งไว้ว่าบ้านจะเสร็จตอนต้นเดือน อีกทั้งพี่โด่งผู้รับเหมาหลักก็ติดภารกิจต่างๆ นานาจนแทบไม่ได้อยู่บนเกาะในช่วงเวลาทำงานในโค้งสุดท้ายครั้งนี้เลย

ผมถามอาวี่แบบไม่ประสีประสาว่าทำไมแม่งต้องแยกย่อยกันขนาดนี้วะ กูโคตรเหนื่อยในการตามและคุยให้ช่างแต่ละชุดเข้ามาทำงานให้เสร็จตามสลอตเวลาเพื่อให้งานลุล่วงตามกำหนด อาวี่ยิ้มก่อนตอบว่ามันเป็นเหตุผลเรื่องความลึก (ซึ้ง) ในงานเฉพาะนั้นๆ การทำงานอะไรเพียงอย่างเดียวจะก่อให้เกิดความเข้าใจและความเชี่ยวชาญนั้นอย่างลึกซึ้ง ในงานธรรมดาอาจไม่ชัด แต่กับงานพิเศษ ทักษะเฉพาะทางเหล่านั้นจะสร้างผลเลิศให้กับงานได้อย่างไม่น่าเชื่อ

จริงๆ นี่ก็เป็นเรื่องที่ผมเห็นมาตลอดทั้งชีวิต เพียงแต่ในโรงพิมพ์ ช่างเฉพาะทางในแต่ละแผนกก็ประจำการอยู่ที่ฐานผลิตของตัวเองอยู่แล้ว ไม่ต้องคอยมาโทรฯ ตามให้เข้ามาทำงานเป็นครั้งๆ แล้วถ้าย้อนไปให้ไกลกว่านั้น สิ่งนี้ก็น่าจะมีมาก่อนกำเนิดมนุษย์ด้วยซ้ำ ชุมชนที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันคือรากฐานในการมีชีวิตอยู่ของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เทือกๆ นี้ การดำรงอยู่จึงหมายถึงการสอดประสานและรับส่งไม้ต่อของผู้คนซะมากกว่าการฉายเดี่ยว

กลับมาที่เรื่องไม้มีชีวิต ผมบอกกับเขาว่านี่เป็นความจริงที่ใครหลายคนมองข้าม ไม้ไม่อยู่ในรูปทรงเดิมตลอดเวลา ใครเข้าใจเรื่องนี้ได้ก็จะรับมือและจัดการกับงานไม้ได้ดีกว่า เขาบอกว่ามันคือสิ่งที่เขาเห็นมาตลอดชีวิต ตอนลาดตระเวนในหน่วยรบก็เห็นว่าภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล สมัยเป็นไกด์ก็เห็นว่าสถานที่ต่างๆ ที่พานักท่องเที่ยวไปนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอๆ

สำหรับเขา ความเคลื่อนไหวคือเรื่องจริง ส่วนความนิ่ง (ถาวร) นั้นคือเรื่องในจินตนาการ

ทุกวันนี้บนเกาะพะงันเขาก็ยังรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังก่อเกิดบนเกาะ เขาพยากรณ์ว่าในอีกไม่นานเกาะพะงันก็จะมีสิ่งอำนวยความสะดวก สร้างความเพลิดเพลิน และให้ความรู้กับเด็กวัยรุ่น (12-18 ปี) ทำให้เกาะนี้ไม่เหงาหรือเล็กเกินไปสำหรับพวกเขา ซึ่งนี่เป็นข้อกังวลของพ่อแม่หลายคน

หลายครอบครัวออกเดินทางอีกครั้ง เมื่อลูกๆ ย่างเข้าสู่วัยรุ่น พวกเขาบอกว่าไม่สามารถมีสังคมได้ที่นี่

แต่ถึงพะงันจะมีและเป็นอย่างอาวี่เดาไว้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผมเองก็คิดว่าตัวเองกับลูกยังต้องเดินทางไปยังดินแดนอื่น ไปเพื่อปะทะความท้าทายและความยุ่งยากใหม่ๆ ไปเพื่อให้ตัวเรารับรู้ถึงความเจ็บปวดกับแช่มชื่น เติบโตกับเสื่อมถอย และความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ สิ่งรอบตัว

ถ้าสิ่งเหล่านี้วนเวียนอยู่ในกระแสเลือดและจิตวิญญาณของมนุษย์ ผมเชื่อว่ามันคือสัญญาณว่าเรายังมีชีวิตอยู่.

 

ด้วยรัก

จ๊อก

 

 

nandialogue

 

 

ตอบ จ๊อก

ขออภัย รอบนี้น่าจะตอบคุณช้าที่สุด ทั้งที่ดูเหมือนฝ่ายคุณเขียนกลับมาเร็วที่สุด เออ แย่จัง จังหวะที่ควรจะสมดุล สัมพันธ์กัน การณ์กลับเป็นตรงกันข้าม

ที่น่าน ฝนเริ่มลงบ้างแล้ว แต่ก็น้อย เมื่อเทียบกับเดือนปีก่อนๆ น้อยที่สุดตั้งแต่เคยเจอมา ชานเมืองที่ปกติป่านนี้ข้าวต้องเขียวเต็มท้องนา เห็นแค่รถไถและขอบฟ้ามืดๆ ที่ทำท่าคล้ายฝนจะตก ทำท่าอยู่แบบนั้นแหละ กลั่นสำเร็จเป็นเม็ดฝนจริงๆ น้อย บางเบา และเป็นหย่อมๆ (ที่แปลว่าหย่อมจริงๆ บางทีห่างกันสามสี่กิโลฯ ที่หนึ่งตก อีกที่แห้งสนิท) ฤดูกาลผิดเพี้ยนอย่างยิ่ง แล้งในระดับที่ผลไม้พื้นๆ หาได้ตลอดเวลาอย่างมะละกอหายสาปสูญไปจากสวน เข้าตลาดสด ถ้าเจอ ราคาก็พุ่งสูงขึ้นสี่ห้าเท่าซึ่งเราว่าเป็นภาพสะท้อนชัดเจนถึงวิกฤติ ภัยธรรมชาติเดินทางมาถึงหัวบันไดบ้านแล้ว คำถามก็คือผู้มีอำนาจรับผิดชอบเข้าใจหรือเปล่า รับรู้หรือยัง เตรียมการแก้ไขในระยะสั้นระยะยาวอย่างไรบ้าง

คนบนตึก ใช้ชีวิตในห้องแอร์ มันยากเหมือนกันที่จะสัมผัสหรือรู้สึก ตราบใดที่เข้าซูเปอร์ฯ ยังเจอข้าวของ เปิดก๊อก น้ำยังไหลแรง แต่อยู่ข้างนอก คนบ้านนอกคล้ายเป็นด่านแรกที่ปะทะโดยตรง แดดจัดน้ำแล้งมันมีผลทันทีกับวิถีชีวิต 

ถ้อยคำ ‘ไม้นั้นมีชีวิต’ ของอาวี่ตรงเผงเลยกับความรู้สึกและความสนใจตอนนี้ของเรา การมีชีวิตของต้นไม้นั่นเองที่จะปกป้องมนุษย์ให้ยังมีชีวิต รัฐบาลใหม่ควรบรรจุเป็นวาระแห่งชาติโดยเร่งด่วนว่างั้นเถอะ ตรงไหนพอจะมีที่ว่าง ต้องปลูกต้นไม้ เล็กใหญ่ใบดอกแบบไหนก็เลือกเอา มันมีร้อยพันให้เลือก ต้นไม้คือความจำเป็นอันดับแรกๆ ที่จะช่วยปรับระบบนิเวศ ทวงคืนน้ำ ฟ้า อากาศ ให้ทุกคนหายใจสบาย

อย่างที่เล่าให้คุณฟังรอบก่อน หน้าร้อนปีนี้มันโหด จะนั่งทำงานได้ต้องวิ่งหาห้องแอร์เท่านั้น ไม่งั้นมันพานจะพังกันไปหมดจริงๆ ทั้งคนทั้งเครื่องคอมพ์ เฉพาะหน้าเราหนีห้องแอร์ไม่พ้น แต่ระยะยาวๆ จำเป็นต้องสำรอง สร้างความเย็นเพิ่มด้วยความใจเย็น อดทน แน่นอนว่าต้นไม้คือมหามิตรที่เราต้องโอบกอดจัดวางให้อยู่ใกล้ตัว รอบบ้าน ทั่วเมือง

ในเงื่อนไขว่าฝนน้อย เขียม จำกัดจำเขี่ย การงานใหม่ของเราคือปลูกต้นไม้ วิธีหาก็ทั้งซื้อ ทั้งไปรับแจก

เรือนจำชั่วคราวเขาน้อยเป็นที่พึ่งที่ระลึกหลัก (ปกติไปเดินเล่น ไปกินกาแฟ) หลังๆ พอเริ่มอินเรื่องต้นไม้ก็พบว่าที่นี่มีมุมขายพืชผักและกล้าไม้ท้องถิ่น พวกมะค่า ตะเคียน สะเดา ไผ่ ไล่เลยไปถึงพริก มะละกอ โหระพา เล็บครุฑ ฯลฯ ในคุณภาพและราคาน่าจับต้อง (พวกโต๊ะ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ไม้สักก็ไม่เลว เคยลองไปลูบๆ คลำๆ และสุดท้ายก็หลวมตัวไปเป็นลูกค้ามาแล้วเช่นกัน อ้อ ล่าสุดมีบริการคาร์แคร์ด้วย / อันนี้ยังไม่ได้ลอง) คอต้นไม้หลายคนนิสัยคล้ายๆ กันคือชอบก็ซื้อ ยิ่งเจอกล้าถูกใจ ราคาสิบยี่สิบก็คว้าไม่คิด แต่พอกลับบ้าน ไล่เรียงรวบรวมยอดเงินที่จ่ายก็จะเข้าใจภายหลังว่า เออเว้ย ไอ้สิบยี่สิบหลายๆ ครั้งนี่มันเอาเรื่องเหมือนกัน 

ทางแก้ข้อแรกคืออย่าไปบ่อย เพราะไปแล้วอดไม่ได้หรอก บอกว่ารอบนี้ไม่อยากได้อะไร ใจคิดแบบนี้ แต่พอเดินดู ก็โดน

ทางแก้ข้อถัดมาคือแสวงหาที่แจกฟรี ตอนนี้พบแล้วสองแห่งคือวัดป่านันทบุรี และสถานีเพาะชำกล้าไม้จังหวัดน่าน ที่บ้านศรีเกิด (เมื่อก่อนรู้จักที่เดียว อยู่อำเภอทุ่งช้าง ข้อดีคือทุกพืชพรรณที่แจกต้นใหญ่มาก แต่ข้อด้อย มันอยู่ไกล จากบ้านเราก็เป็นร้อยกิโลฯ) ทั้งสองที่ใหม่นี้อยู่ในเขตอำเภอเมือง มีกล้าไม้ให้เลือกพอสมควร (ราวสิบชนิด) ที่วัด ต้นจะใหญ่กว่า แต่ไม่หลากหลายเท่า ใครชอบกันเกรา มะค่า ตะแบก ยางนา ขอแนะนำ

ทางแก้ข้อสุดท้ายคือขุดเอาเองเลยจากเบี้ยข้างทาง วิธีนี้ต้องพกจอบเสียมไว้ในรถ และสังเกตชัยภูมิให้เหมาะว่ามีเจ้าของหรือเปล่า หางนกยูงที่ปลูกไว้ที่บ้านตอนนี้ขอเพื่อนมาบางส่วน และล่าสุด ขุดเอาจากริมถนน (ถ้าไม่มีฝน ดินจะแข็ง ขุดยาก ไม่รู้เป็นไร ไอ้เจ้าหางนกยูงนี่ก็ชอบเหลือเกินกับพื้นที่ดินลูกรังแดงๆ แข็งๆ)

สองเดือนที่ผ่านมา เราน่าจะปลูกต้นไม้เกินร้อยต้น หลักๆ เป็นพวกไม้ใหญ่ท้องถิ่น พวกประดู่ มะขาม มะค่า ตะเคียน ตะแบก ทะยูงเสี้ยว เสริมด้วยไม้ดอกอย่างเฟื่องฟ้า (กำลังหลงใหล) หางนกยูง (อันนี้เขาเรียกไม้ดอกหรือเปล่านะ) ส่วนไม้กินได้ (บ้างเรียกไม้แดก) ก็ลงแคไว้หลายต้น (กำลังหลงใหลมากเช่นกัน ดอกมันอร่อยมาก) มะพร้าว มะรุม มะละกอ กล้วย มือบอบบางกลับมาพุพองอีกครั้ง และทุกครั้งที่ลูบคลำสัมผัสก็พึงพอใจในแผลและผลงาน

เราปลูกต้นไม้แบบคนขี้เกียจ คือทำทีละต้นสองต้น สิบต้นเคยมี บางทียี่สิบ แต่ส่วนใหญ่ไม่เกินสาม

คุณลองนึกภาพตาม ได้ต้นไม้มาแล้ว เช่น มะค่า เราจะจับมันห้อยหน้ารถมอไซค์ ประคองขับช้าๆ เวลาจอดตามแยกไฟแดงมักจะมีคนหันมามองเล็กน้อย (รายที่เห็นบ่อย อาจรำพึงรำพันในใจว่าอีนี่อีกแล้ว มึงไม่เบื่อเหรอ แบกไปทีละต้นสองต้น/ ตอบ กูไม่เบื่อ) ไฟเขียว ประคองขับต่อไปอย่างเชื่องช้า ถ้าเร็ว กิ่งใบมันจะช้ำ ไปถึงบ้าน ถ้าขยันก็เตรียมขี้วัว ขี้เกียจก็ไม่เอา เดินเลือกทำเลว่าจะลงตรงไหน เราชอบมีต้นไม้ใกล้บ้าน แต่บางต้น ถ้าใกล้มาก มันจะสร้างความเดือดร้อนให้เรา เช่น พวกกิ่งเปราะ หรือมีลูกผลตกหล่น (มะม่วง มะพร้าว) ก็ต้องเล็งต้องเลือกให้ดี หลบทางรถไว้บ้าง เลี่ยงจุดที่อาจก่อสร้างต่อเติม ไม่งั้นมันเสียดายเนาะ อุตส่าห์ปลูกมาตั้งนาน เวลาเป็นต้นทุนที่มีค่าเหลือเกิน

ไม้รู้จริงมั้ย ปลูกมะพร้าว คนขายเขาบอกว่าอย่าขุดดินฝังกลบทั้งลูก พวกมอดปลวกมันจะกิน เท่าที่เจอก็จริงนะ (เคยปลูกแบบฝังมิด) แต่ก็ลุ้นอยู่ว่าทำตามคำบอกแล้วจะรอดมั้ย มันมีหลายปัจจัยเหมือนกัน กว่าไม้ต้นหนึ่งจะโต ให้ผลผลิต แม้ว่าเราไม่ใช่เกษตรกร เป้าหมายหลักและไม้ที่เลือกเน้นร่มเงามากกว่ารอเก็บกิน เพราะรู้ตัวดีว่าไม่ถนัด ไม่สะดวก ไม่อยากใช้เวลากับพืชผลสายเศรษฐกิจ

มะค่ารุ่นแรกๆ ที่เราปลูกเมื่อราวหกปีก่อนเติบโตท่วมหลังคาไปนานแล้ว เหลือเชื่อเหมือนกัน จากต้นแค่เข่า ขุดมากะมือ มันกลายเป็นไม้ใหญ่ ลำต้นเท่าแข้ง ความแข็งแรงไม่ต้องพูด นาทีนี้เราสู้อะไรมันไม่ได้เลย เดินกลับไปมองต้นแม่ โอ ของเรายังระดับวัยรุ่น อนาคตอีกยาวไกล ต้นไม้ใหญ่มันใหญ่จริงๆ ใหญ่ยังกะยักษ์ เขียวสบายตา ให้ร่มเงาร่มเย็น มะค่าที่ปลูกใหม่เหมือนเด็กเกิดใหม่ ชีวิตเขาอีกยาวไกลแน่ๆ แต่ไม่มีใครรู้หรอก พรุ่งนี้อาจโดนรถไถทับตาย หรือเราเองเป็นฝ่ายจากลาไปก่อน

เรื่องแบบนี้กะเกณฑ์คาดการณ์ยาก มันเต็มไปด้วยปัจจัยปรวนแปรในทุกๆ วัน ไม่ว่าจะอย่างไร ในฐานะคนปลูก เราได้ปลูกไปแล้ว เกมมันเริ่มต้นนับหนึ่งไปแล้ว เราดูแลได้เท่าที่สามารถดูแล ระหว่างที่มันยังอยู่ในมือ พ้นจากนั้นก็ไม่รู้เลย ปลูกต้นไม้คล้ายเลี้ยงลูก เราอยู่ด้วยกันในช่วงเวลาหนึ่ง ทะนุถนอมด้วยดินและน้ำ กำจัดแมลงและวัชพืช วางระยะแสงแดดและน้ำหนักสายฝน พ้นจากนี้จะร้ายจะดี เขาก็มีชีวิตของเขา

ถ้าจะมีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าจะมีเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ทำให้รู้สึกดีกับชีวิต นาทีนี้ เราว่าคำตอบคือการปลูกต้นไม้

ของคุณ​ ระหว่างที่เล่นเกมปลูกบ้าน ถ้าพอมีเวลาเหลือก็ลองดูนะ คนน่าน–นักปลูกมือใหม่ภูมิใจนำเสนอมาก.


เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อก (ชัยพร อินทุวิศาลกุล) เป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน ทุกสัปดาห์เขาเขียนจดหมายมาคุยกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ บรรณาธิการ nan dialogue

You may also like...