สวัสดีครับพี่หนึ่ง
ผมย้อนดูวันที่เขียนจดหมายฉบับล่าสุดที่ส่งถึงพี่ นั่นนับเป็นสองเดือนเต็มพอดี เมื่อนับถึงวันที่กลับมาเริ่มเขียนมันอีกครั้ง
วันนี้ผมเข้าโรงพิมพ์หลังจากเดินทางถึงกรุงเทพฯ กลางดึกในคืนวาน
มันแทบเป็นกิจวัตรว่า ถ้าถึงกรุงเทพฯ เมื่อใด นอกจากบ้านซึ่งเป็นที่หลับพักผ่อนแล้ว ที่แรกที่ผมจะไปเหยียบคือโรงพิมพ์ มันเสมือนเป็นห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก หรือมุมกาแฟที่จะได้พบปะมิตรสหายที่คุ้นเคย และมันมีรูปแบบกิจวัตรที่ผมเคยทำและทำอยู่เสมอเมื่อกลับมาเยือน
ไม่มีสาระ แต่แค่จะเล่าให้เห็นภาพและยืนยันว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ลำดับเป็นดังนี้ ลงจากรถแล้วจุดบุหรี่สูบทันที เดินผ่านรั้วโรงพิมพ์ไปยังประตูสอง ยกมือไหว้เพื่อทักทาย รปภ. ที่ยืนประจำอยู่ตรงนั้น เนื่องจากบุหรี่ที่เพิ่งจุดยังไม่หมด ผมจะเดินเล่นดูนู่นดูนี่อยู่หน้าประตูเพื่อสูบจนหมดมวน จากนั้นเดินไปชงกาแฟใส่แก้วกาแฟใบเดิมที่คุ้นเคย (แก้วเซรามิกที่ระลึกจากโรงงานของญาติที่ซัวเถาซึ่งได้มาร่วมสิบปีก่อน) เดินถือแก้วกาแฟไปวางไว้ที่โต๊ะแผนกควบคุมคุณภาพ ก่อนแวะไปเข้าห้องน้ำ ระหว่างทางเดินผมจะผ่านภาพวาดชิ้นแรกๆ ที่ผมซื้อหามาในราคาหลักพัน และภาพวาดราคาหลักแสนที่ผมได้มาโดยไม่ควักตังค์สักสลึงจากมิตรสหาย กลับมาหยิบแก้วกาแฟเดินขึ้นบันไดไปนั่งประจำที่โต๊ะทำงาน ทักทายเพื่อนร่วมงานที่นั่งโต๊ะติดกันว่าสบายดีไหม เปิดคอมพ์ดูอะไรสักพักพอให้จิบกาแฟหมดแก้วก็จะเดินทัวร์ผ่านโรงงานไปออกประตูหนึ่ง ทักทายสวมกอดกับป๋าวัตร เพื่อนร่วมงานสูงวัยที่เคยใช้เวลาด้วยกันมาร่วมยี่สิบปี
นี่คือรูทีนที่ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงแรกของวันที่โรงพิมพ์ ผมทำมันโดยอัตโนมัติเหมือนการจุดบุหรี่สูบหลังมื้ออาหาร เป็นพิธีกรรมทางโลกที่อาจไม่ได้สร้างสิริมงคลอะไรให้กับใคร นอกจากความสบายใจของตัวเอง
คงเป็นเพราะก่อนจะย้ายไปเกาะพะงัน เวลาส่วนใหญ่ในเวลากลางวันและกลางคืนในบางห้วงเวลา โรงพิมพ์ภาพพิมพ์คือพื้นที่ที่ผมสิงสถิต (ผมเริ่มทำโรงพิมพ์ตอนมันตั้งอยู่ที่ปิ่นเกล้า ก่อนจะย้ายมาบางกรวยเมื่อเกือบสิบปีก่อน) ความผูกพันและคุ้นชินอย่างนี้ทำให้ที่นี่เป็นหมุดหมายแรกแทบทุกครั้งที่ผมกลับมา
มีหนังสือหลายเล่มที่เคยพูดถึงกลิ่นว่ามันเป็นตัวกระตุ้นความทรงจำที่อยู่ลึกๆ มนุษย์เราเองแม้ว่าจะลดทอนความสามารถในการดมกลิ่นเพื่อเพิ่มความสามารถในการมองเห็นตั้งแต่เราเริ่มวิวัฒนการมาเป็นซาร์เปี้ยน แต่กลิ่นก็ยังมีบทบาทในชีวิตอยู่ไม่น้อย แม้เราไม่รู้ตัว แขกหลายๆ คนที่ผมได้พบที่โรงพิมพ์มักจะบอกกับผมว่ามันเป็นกลิ่นเฉพาะ (น่าจะหมายถึงกลิ่นหมึกและกระดาษ) ในระหว่างที่ทำโรงพิมพ์ผมคงสูดดมและมักจะนำกลิ่นเหล่านี้ติดตัวและเสื้อผ้าไปพบใครต่อใครเหมือนกับคนบ้าใส่น้ำหอม และกลิ่นที่โรงพิมพ์นี้เองอาจเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ผมพอใจหรือพึงใจเสมอๆ เวลากลับมาเยือน
ครั้งนี้ผมขับรถกลับมาพร้อมกับหลิน และพระรูปหนึ่งซึ่งเป็นคนรู้จักมักคุ้นตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน
เราพบกันโดยบังเอิญที่ร้านกาแฟกลางเกาะพะงันเมื่อสองวันก่อน เราไม่มีคอนแทคซึ่งกันและกัน และเท่าที่ผ่านมาเราพบกันโดยบังเอิญอยู่ครั้งสองครั้ง ครั้งที่หนึ่งเมื่อสักสามปีก่อนตอนที่เราต่างไปมีส่วนร่วมในการผลิตหนังสือให้อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ครั้งที่สองคือตอนที่หลวงพี่มาเยี่ยมเยียนกิจกรรมของสมาคมทางจิตวิญญาณของมิตรสหายที่เกาะพะงันในครั้งนี้
ครั้งที่สองที่เราพบปะกันโดยบังเอิญนี้เองที่ผมเผลอสวมกอดพระหน้าร้านกาแฟท่ามกลางสายตากังขา (หรือฉงนฉงาย) ของผู้ติดตามหรือหมู่กัลยาณมิตร ยังเป็นคำถามจนถึงตอนนี้ว่าพระหรือผมที่เป็นฝ่ายสวมกอดก่อน แม้ผมจะติดนิสัยสวมกอดผู้คนด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่ามันทำให้รู้สึกดี แต่กับพระเพื่อนรูปนี้ ผมยังคิดว่ามัน (พระเพื่อน – เรียกแบบนี้สะดวกนิ้วที่พิมพ์ซะมากกว่าจะเรียกว่า ท่าน) คงรับรู้ถึงอุปนิสัยของเพื่อนสันดานแปลกคนนี้ จึงอนุญาตให้ฆราวาสสัมผัสกับคนในสมณะฯ อย่างแนบแน่นสักสองสามวินาที
หลังจากสวมกอดจากการพบปะกันโดยบังเอิญ ความประจวบเหมาะอีกอย่างคือกำหนดเดินทางกลับของพระดันตรงกับเวลาที่ผมจะกลับกรุงเทพฯ ในรอบนี้พอดีเป๊ะ เมื่อวานทั้งวันเราจึงมีโอกาสได้สนทนาทั้งทางธรรมและโลกเกือบตลอดเส้นทางถนนเพชรเกษมเข้าสู่เมืองหลวง อยู่ในรถตู้ที่มีกันแค่สามคน บทสนทนาก็ราบรื่นกว่าในที่สาธารณะด้วยการใช้สรรพนามที่เราต่างคุ้นเคย พระซึ่งอาจมีวินัยในการสำรวมวาจากว่าผมแทนตัวเองว่าเรา หลินแม้จะไม่ได้รู้จักกับพระมาก่อนแต่ก็ไม่ถนัดในการใช้ภาษาสงฆ์ก็แทนตัวเองด้วยคำว่าเราเช่นกัน ผมเองเคยชินกับมนุษย์ผู้นี้ก่อนบวชด้วยการพูดกูมึง ก็ใช้บ้างเพื่อให้บทสนทนามันเป็นธรรมชาติและสะท้อนความทรงจำร่วมที่เรามีต่อกันให้มากที่สุด เป็นความเอาแต่ใจที่เพื่อนเก่าผู้นี้ไม่ถือสา
พระเคยเล่าว่าเวลาไปต่างประเทศแล้วพบปะกับชาวต่างชาติซึ่งสนใจในชีวิตสมณะโดยไม่มีภูมิหลังที่กดทับให้เคารพย่ำเกรงพระสงฆ์องค์เจ้าเหมือนคนในประเทศสยาม พวกเขาจะพูดกับพระเหมือนกับที่พูดกับมนุษย์ตนหนึ่ง พระบอกว่ารู้สึกดีกว่าการต้องเจอชาวสยามพูดคุยด้วยความเกร็งหรือนอบน้อมในการสนทนาจนน่าอึดอัดเป็นไหนๆ ไม่มากก็น้อยผมคิดว่ารูปแบบหรือแบบแผนของการสนทนาระหว่างกันอาจเป็นตัวกำหนดคุณภาพและสาระของวาระในครั้งนั้นด้วยซ้ำ
ผมเองมักหาทางลัดเพื่อเรียกคู่สนทนาว่า ‘คุณ’ หรือให้คู่สนทนาเรียกผมว่า ‘คุณ’ (ในความหมายของมันจริงๆ ที่ไม่ใช่การประชด) ให้สั้นและน้อยครั้งที่สุด ฟังแล้วจั๊กกะจี้ปนดัดจริต ไม่เหมือนเรียกคำนำหน้าแทนกันและกันว่า พี่ น้อง น้า อาจารย์ หรือเหี้ยอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่คำว่า ‘คุณ’
นอกจากเรื่องเล่าที่ช่วงที่เส้นทางของเราแยกห่างออกไปตามทางของกันและกัน หลายเรื่องของชีวิตในดินแดนสังฆะที่แสนเหนือจริงและน่าทึ่งในสายตาผม อาทิ เส้นทางการเดินไปหาชีวิตแห่งร่มกาสาวพัสตร์ของมัน ยอดหลวงตาที่แสนเข้มงวดและมีวิธีการสอนธรรมะอันแสนพิสดาร (ปนซาดิสม์) ให้กับพระเพื่อน หรือการมีโอกาสได้เดินทางพบปะเหล่าเกจิทางจิตวิญญาณระดับนานาชาติของมัน แต่ก็มีบางห้วงขณะเดินทางที่เราต่างเล่าและทบทวนความหลังที่เราเคยมีร่วมกัน พระแซวผมเรื่องผมเทียวไปหามันที่สำนักงานเพื่อจีบสาวคนหนึ่ง ผมจำชื่อสาวคนนั้นไม่ได้ แต่พระจำได้
ช่วงท้ายๆ ของการเดินทางในตอนหัวค่ำ ผมหิวจึงขอพระจอดแวะหาก๋วยเตี๋ยวร้านอร่อยๆ กินแถวเพชรบุรี คือกับผมนี่จะกินทีก็ไม่ใช่ว่าร้านไหนก็ได้ มันต้องเป็นร้านที่มีอะไร หลินเพียรหาร้านในมือถืออยู่ร่วมครึ่งชั่วโมง ก่อนจะได้พิกัดร้านก๋วยเตี๋ยวรถเข็นในตัวเมืองเพชร เราโทรฯ ไปถามว่าเปิดอยู่ไหม ก่อนได้คำตอบว่าเปิด แต่ของกำลังจะหมดให้รีบมา ครั้นใกล้จะถึงร้าน มีสายที่หลินโทรฯ ไปเมื่อครึ่งชั่วโมงก่อนแจ้งมาว่าของจะหมด (จริงๆ) แล้ว สั่งไว้ก่อนจะได้เก็บไว้ให้ เราสั่งบะหมี่แห้งไปสองชามกับเส้นหมี่น้ำอีกหนึ่ง พลางนึกในใจว่าพี่สาวเจ้าของร้านช่างจิตใจและมารยาทดีเสียจริง
ไปนั่งโต๊ะก็ได้กินบะหมี่แห้งชามเล็กที่เต็มไปด้วยเครื่องเคราตามแบบฉบับของผู้คนพูดเหน่อในดินแดนทางทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ (เพชรบุรี ราชบุรี) เรากินกันเสร็จด้วยความรวดเร็วเพราะไม่อยากให้พระเพื่อนต้องรอนาน ก่อนลุกจากเก้าอี้ผมสบตากับเธอก่อนเอ่ยกับพี่สาว (ลูกสาวแม่ครัว) ว่าอร่อยมากและขอบคุณในน้ำใจที่เก็บบะหมี่ชามแทบจะสุดท้ายของค่ำคืนไว้ให้ ที่ต้องพูดอย่างนี้เพราะพอจะสั่งใส่ห่อให้หลวงพี่ไว้กินเป็นมื้อเช้าในวันรุ่งขึ้นก็ปรากฏว่าเครื่องเคียงหมด รสชาติบะหมี่ในคืนนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของความทรงจำ เมื่อเวลาผ่านไปผมจะยังจำได้ถึงมิตรที่ร่วมเดินทางและมิตรหน้าใหม่ที่เราผ่านพบในกาลนั้น
นี่ผมเขียนจดหมายด้วยความรู้สึกท่วมท้นในหัวใจ เขียนจากแรงขับทางอารมณ์ วันนี้ในช่วงเช้าของวันตอนที่อยู่โรงพิมพ์ก็ได้คุยโทรศัพท์กับพี่ๆ ที่นับถืออีกสามสี่คน บ้างเป็นการส่งความคิดถึง บ้างปรับทุกข์ บ้างปรึกษาหารือให้กิจกรรมทางธุรกิจที่เรามีต่อกันให้ราบรื่น กิจธุระทั้งหลายลุล่วงไปพร้อมๆ กับความรู้สึกดีที่ได้ยินเสียงคุ้นเคยจากปลายสายอีกข้าง
เวลาในชีวิตผมเหมือนจะเหลือไม่มาก ผมปรารถนาจะสงวนมันไว้ให้กับมิตรเท่านั้น ไม่ว่ามิตรเก่าที่เคยพบคบหา หรือมิตรใหม่ที่พระเจ้าส่งมาเข้าฉากละครเวทีเรื่องนี้ เราอาจมีเวลาเหลือเฟือหรืออาจจะอัตคัดในบางขณะ หากแต่เมื่อมีโอกาสประสบพบพานกับมิตรเมื่อใด จะนานหนึ่งนาทีหรือหนึ่งปี ผมก็อยากดำเนินชีวิตผ่านห้วงเวลาเหล่านั้นกับมิตรสหายอย่างที่ตัวเองจะไม่เสียใจหรือเสียดายในภายหลัง
ด้วยรักและระลึกถึง
จ๊อก
ปล. อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนท้ายว่าเขียนจดหมายฉบับนี้หาพี่โดยฉับพลัน และยังไม่ได้เตรียมรูปประกอบอะไรไว้เลย ถ้าจะมีอะไรตกหล่นไปบ้างก็คงเป็นเรื่องนี้แหละ
ตอบ จ๊อก
เพิ่งเขียนคำอวยพรให้ใครคนหนึ่งไป ว่าขอให้มีเวลา คงเป็นปกติของคนที่มีเกมชีวิตอยู่ช่วงครึ่งหลัง เวลาเป็นสิ่งแรกๆ เสมอที่เรามักคิดถึง ไม่เศร้าหรอก ทั้งที่รู้ว่ามันเหลือน้อยลงทุกขณะ (ที่ว่าน้อยก็คงไม่น้อยระดับวันนี้พรุ่งนี้จะจบ เออ คงอีกสักพักน่า แต่ก็ไม่มีใครรู้อยู่ดี ไอ้ที่ขออีกสักพัก มันพักไหน ..ไม่รู้นั่นแหละดีแล้ว)
เราเพิ่งกลับบ้านโคราช ไม่ได้ไปสามปีแล้วมั้ง เมื่อก่อนเคยพูดเล่นๆ ว่าโคราชอยู่ไกล เลยไปไม่ถึงสักที คำพูดเล่นนั้นเป็นจริง วัตรปฏิบัติเราเป็นเหมือนเช่นเคยมาคือเดินห่างจากบ้านเกิดไกลขึ้นเรื่อยๆ ไกลและนับวันก็หาทางกลับยากขึ้น ในทางความรู้สึก แต่รอบนี้ตัดสินใจกลับบ้านเพราะตาตาย เคยเล่าให้ฟังมั้ยไม่รู้ว่าเราอยู่กับตายาย (พ่อแม่แยกทางกัน) จำวันเวลาไม่ชัด แต่น่าจะช่วงเราอายุ 7-12 ปี เป็นชีวิตวัยประถมฯ ว่างั้นเถอะ เพราะขึ้นมัธยมฯ เราก็แปลงร่าง บวชเณร ย้ายจากหมู่บ้านชนบทเข้าเมืองโคราช พอสึก ก็ไปอยู่กับแม่ที่ราชบุรี เรียน ม.4 ในวิถีฆราวาสอีกครั้ง
นึกถึงตา เราจำติดตาติดใจในซีนที่แกมาเปิดมุ้งถาม–มึงจะร้องให้มันได้อะไรขึ้นมาน่ะไอ้หนึ่ง (สังคมบ้านเราตายายพูดกับลูกหลานว่า กู-มึง เช่นกัน, ทางฝ่ายลูกหลานเรียก ตา ยาย ตรงๆ ไม่มีคำว่า ‘คุณ’ แปะหน้า)
คืนนั้น สักสามสี่ทุ่มแล้วมั้ง เรายังร้องไห้ไม่หยุด ร้องมาตั้งแต่เย็น ร้องเพราะแม่เพิ่งขึ้นรถ ย้ายไปอยู่ราชบุรี ทิ้งเราไว้กับตายาย ฟังมานาน คงเห็นว่าพอสมควรแล้ว ตาเลยขอใช้สิทธิปุจฉากึ่งๆ ปลุกปลอบในทำนองว่าพอแล้ว พอเถอะ (ขืนมึงเล่นร้องแบบนี้ทั้งคืน คนอื่นเขาจะหลับจะนอนกันยังไง) จำไม่ได้ว่าหยุดมั้ย หลังได้ยินคำของตา แต่จำได้ จากวันนั้นเราเป็นคนไม่มีน้ำตาเท่าไร (สัตว์โทนไม่มีน้ำตา เลือด มันกลืน เหงื่อ มันชื่นชม) ยายตายไปเป็นสิบปีแล้ว ตาสายแข็ง ตายตอนอายุแปดสิบแปด ตัวหนังสือหน้ารูปในงานศพระบุวันตาย แต่ไม่มีวันเกิด ไม่ปรากฏ ไม่มีเอกสาร ลูกหลานแปะไว้เพียงตัวเลขปี พ.ศ. ส่วนวันและเดือนไม่มี แปลกๆ ดีเหมือนกัน ยุคนี้แล้วยังมีคนไม่รู้วันเกิด
ตอนน้องสาวโพสต์แจ้งข่าวตาตาย ก็ธรรมดา มีญาติมิตรเขียนแสดงความเสียใจ เราไม่เสียใจเลย เพราะรู้อยู่แล้วว่าตาป่วยหนัก คนอายุขนาดนี้ไม่น่ามีอะไรเสียใจ แต่แน่นอน ธรรมดามนุษย์ การจากมันก็ใจหาย ทั้งที่ระหว่างมีชีวิตอยู่ ที่จริงเราก็จากกันมานาน แรกที่รู้ข่าวว่าป่วย เราตั้งใจไปเยี่ยม เพราะไม่อยากไปตอนแกตาย สุดท้ายก็ทำตรงกันข้ามทั้งหมด อยากไป แต่ไม่ได้ไป และอีกบางครั้งกะว่าไม่ ถึงเวลาจริงก็จำใจจำยอม มนุษย์เรามันก็เป็นซะแบบนี้
ตาไม่ใช่พ่อแท้ๆ ของแม่ พ่อของแม่ตายเร็ว (อุบัติเหตุรถยนต์) ยายแต่งงานใหม่ และมีลูกอีกห้าหกคน ถ้านับรวมจำนวนลูกกับสามีเดิมก็เกินสิบ จะแท้ไม่แท้ เราไม่เกี่ยว เพราะเกิดมาเราก็เจอตาคนนี้ กิน อยู่ หลับนอนด้วยกันนานหลายปี ช่วงท้ายๆ ทั้งตาและยายเคยมาอยู่ที่ที่เราซื้อด้วย (เรากับพี่สาวรวมเงินกัน) มาอยู่ เพราะไม่มีที่อยู่ ยายขายทรัพย์สินทุกอย่างเรียบ ..ไม่ได้ติดเหล้า ยา หรือการพนันใดๆ ที่กลั้นใจขายก็ล้วนเอาเงินมาเลี้ยงลูก ทางเลือกของบางคนมันเลือกไม่ได้ เราไม่เคยตำหนิ แต่จดจำ อธิษฐาน ปวารณา ชีวิตนี้จะไม่ทำตัวเหมือนตายายเด็ดขาด โดยเฉพาะกับเรื่องโอกาส ความรู้ การพัฒนา เราพยายามที่สุดที่จะเปิดตัวเองออกไป บรรพบุรุษผิดพลาดเรื่องนี้มาแล้ว เราไม่ควรทำซ้ำ
ความเห็นเรา ตาไม่ใช่คนเก่ง ยายด้วย แต่ความเก่งไม่ใช่คุณค่าเดียวของชีวิต ยายโดดเด่นมากเรื่องการหยิบยื่นเสรีภาพ ขณะที่ตาเป็นเอกอุเรื่องความสันโดษ มักน้อย นั่นยังไม่นับรวมความรักความเมตตาซึ่งเราได้รับมาเต็มสองมือ สำหรับเรา เท่านี้ก็ล้นทะลัก ไม่รู้สิ บนพื้นฐานเสรีภาพและความรัก ต่อคุณค่าอื่นๆ ทั้งปวง เราว่าเราหาเอาเองได้ ถ้าปรารถนา หรือหาไม่ได้ ก็ไม่เกี่ยวอะไรกับตายาย ผู้ยืนอยู่ต้นทาง รดน้ำ พรวนดิน วางระยะน้ำหนักแสงแดดสายฝน
เดินเข้าไปงานศพ บนศาลาวัด น้าชายพูดกับเราว่าเมื่อคืนเขาคุยกับน้าสาว คุยถึงเรา ว่าใจดำ ตาตายทั้งคน ไม่มาแม้กระทั่งวันเผา เขาพูดถูก ใจจริงๆ เราก็กะว่าจะไม่ แต่เปลี่ยนใจ สิ่งที่ทำให้เปลี่ยนก็คือซีนที่ตามาเปิดมุ้งถามเราคืนนั้นแหละ หลุดจากอ้อมอกพ่อแม่ ถ้าไม่มีมือของสองตายายรองรับ เราจะมีชีวิตรอดมาได้อย่างไร
สังเกตใช่มั้ยว่า จดหมายฉบับนี้เราไม่ใช้สรรพนามว่าคุณเลย คุยด้วยก็หลบๆ เลี่ยงๆ ไม่พูด ต่างจากอดีตซึ่งใช้คุณเป็นปกติ เราคิดว่า เราติดศัพท์ติดนิสัยการใช้คุณมาจากบินหลา รายนั้นเขาใช้คล่องปาก อยู่ด้วยกันมากก็พลอยแพร่ลามติดเชื้อ ที่คุณเขียนมา (คราวนี้ไม่หลบละ) เราเห็นด้วยนะ เราว่าเราอยู่กลุ่มความคิดเดียวกันทั้งในทางไอเดียและภาษา ผิดแต่ว่า รอบนี้เราเห็นแย้ง เพราะ ‘คุณ’ เดียวกัน ‘คำ’ เดียวกัน มันไม่เหมือนกัน คล้ายๆ คำว่าไอ้เหี้ยน่ะ คำแปลและความหมายของมันขึ้นกับผู้ใช้และกาลเทศะ ซึ่งผู้ฟังจะรับรู้เองว่าเวลาคนพูดไอ้เหี้ย มันแปลว่าด่า อยากเตะแม่งฉิบหาย หรือชอบว่ะ โคตรดี คิดถึง อยากกอด
ในสิ่งเดียวกัน แต่ละคน แต่ละครั้ง ที่ลงมือทำมันไม่เหมือนกันเลย บางคนไปงานศพในความหมายแบบหนึ่ง หากบางคนก็อีกแบบ เราดีใจนะที่ตัดสินใจไป นอกจากเป็นโอกาสที่ดีที่ได้เจอแม่และญาติพี่น้อง การได้ไปยืนสงบๆ หน้าเมรุเพื่อส่งตา ว่าไปมันก็ไม่เลว แม้จะเทียบกันไม่ได้เลยกับเวลา ความรัก และหยาดเหงื่อแรงงานที่ตาทะนุถนอมส่งเสียเลี้ยงดูเรามา.
เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อก (ชัยพร อินทุวิศาลกุล) เป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน ทุกสัปดาห์เขาเขียนจดหมายมาคุยกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ บรรณาธิการ nan dialogue