เขาเดินไปเดินมา-เข้าออกระเบียงสำนักข่าวไม่ต่ำกว่าสิบรอบ หรืออาจนั่งเงียบในห้อง รอเวลา ก้มมองโทรศัพท์แบบคนรอสายอย่างกระวนกระวายใจ กองบรรณาธิการกว่าสามสิบชีวิต บ้างนั่งตรวจคำผิดบนกระดาษขาว บ้างคุยโทรศัพท์แผ่วเบา บ้างนั่งจิบกาแฟ ไม่มีใครเอ่ยปากทักบรรณาธิการของเรา-ปล่อยให้เขารอคอยด้วยความเงียบและเคารพ
ใกล้เดดไลน์เข้าไปทุกที หัวหน้าช่างคุมแท่นพิมพ์อาจจะทักเข้ามาที่เลขากองฯ ว่าเครื่องพิมพ์พร้อมเดินเครื่องแล้ว แต่คำยืนยันจากแหล่งข่าวยังไม่มา แค่คำยืนยันว่า “ใช่” คำเดียว ดูเหมือนจะมีมูลค่าสูง ค่าที่มันกินเวลายาวนาน แต่ “ใช่” นี่แหละ หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ตอนเช้าของเราจะเขย่าวงการสีกากี ชาวบ้านที่รอคอย สงสัยว่าใครฆ่าแม่ลูกครอบครัวเสี่ยร้านเพชร จะได้สิ้นสงสัย…
ผมไม่ทันทำงานหนังสือพิมพ์ในสามทศวรรษก่อน แต่เรื่องเล่า ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง ก็ยังอบอวลในวิชาชีพ ได้ฟังทีไรใจมันเต้นแรง คนหนังสือพิมพ์ทำงานเงียบๆ สปอตไลท์ส่องไม่ถึงเหมือนสมัยคอนเทนต์ครีเอเตอร์ แรกเริ่ม ดูเหมือนจะเป็นข่าวอาชญากรรมทั่วไป ไม่มีใครให้ความสำคัญ
เข้าใจกันไปว่าแม่ลูกทั้งคู่ถูกรถชนตาย บิ๊กตำรวจในช่วงนั้นก็บ่ายเบี่ยงไปว่าไม่มีอะไรในกอไผ่
แต่เรื่องก็แดงและเลยเถิดนานต่อเนื่องหลายปี
ตำรวจจากแค่ตั้งใจทำคดีให้คลี่คลาย ถลำลึกสู่ด้านมืด อยากเอาใจนาย อยากได้ปูนบำเหน็จ อยากได้ตำแหน่ง เลยไปอุ้มครอบครัวเสี่ยเขามา หวังจะได้คำตอบว่าเพชรอยู่ไหน เมื่อคำตอบไม่แล้วใจ ก็ลามจากเรียกค่าไถ่ไปจัดฉากฆ่า สื่อส่วนใหญ่ตามข่าวแค่บิ๊กตำรวจพูดอะไร ถ้าแค่นั้นในกอไผ่คงว่างเปล่า – บรรณาธิการของเราทบทวนคดีเพชรซาอุที่เคยระอุหลายทศวรรษก่อนให้ฟัง
แน่นอน, ในวิกิพีเดียมีรายละเอียด สรุปคดีไว้ครบถ้วน ในเพจอินฟลูเอนเซอร์เรียบเรียงไว้ราวกับอยู่ในเหตุการณ์ด้วยตัวเอง อาถรรพณ์ไหม ไม่รู้ ความที่มันพัวพันทั้งวงการสีกากี ผูกมัดทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีคนได้ประโยชน์จริง มีคนตายจริง และมีคำถามที่ยังค้างคา พอประยุทธ์บินไปซาอุฯ ทีเดียว สังคมจากหลับใหลมันก็ตื่นตัว เพราะความอยากรู้เท่านั้นแหละ
ไม่ว่าจะเป็นวันนี้ หรือสามสิบปีก่อน สาระสำคัญที่เรื่องมันไม่เอาท์ เพราะคนเขาอยากรู้
เผลอๆ คดีเพชรซาอุน่าจะเป็นคดีอาชญากรรมการเมืองที่ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ติดอันดับความสนใจของสังคมไทยยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ แม้แต่ราชาเพลงพูดอย่าง ‘เพลิน พรหมแดน’ ยังครีเอทเป็นเพลงเรียกเสียงขบขัน อยู่ในอัลบั้มเปาปุ้นจิ้นเผาศาล ปี 1995
“ข้านายอ่ำ ผู้รู้เรื่องเพชรซาอุ มันเป็นเพชรพันธุ์ดุ ใครสะเออะถือไว้ครอบครองอาจโดนเป่าขมองทะลุ ใครยักย้ายแอบซ่อนจะร้อนรนจนระอุ ใครอมให้รีบคายเดี๋ยวชะตาจะร้ายเหมือนโดนพายุ
“ใครได้มาหรือซื้อไว้ถือว่ารับของโจรจะเป็นชาวบ้านหรือนายพลเดี๋ยวก็โดนเข้ากรุ ประเทศชาติจะเสียหายอกไหม้ไส้ขม ใครมีไว้โปรดคืนให้ผมจะได้ข่าวออกเชยชมไปตามชมรมวิทยุ ผมได้มาแล้วจะรีบส่งมุ่งตรงไปซาอุฯ”
“ซาอุดิอาราเบีย ?”
“หึ ซาอุดรเจียระไน”
“เอาไปแปลงโฉมใหม่ใช่มั้ย ไอ้อ่ำ ?”
“แต่งให้มันสวยก่อน แล้วค่อยส่ง”
“ส่งไปให้เจ้าของเดิม ?”
“ไม่ ส่งศูนย์การค้าตีราคาขายต่อ”
“ไอ้อ่ำ เอ็งไม่กลัวอาถรรพณ์เรอะ ?”
“อาถรรพณ์ข้าไม่กลัว แต่ข้ากลัวอาก้า”
พูดกันถึงที่สุด ถ้าวันที่ 1 สิงหาคม 1994 บรรณาธิการเราเชื่อตามสถาบันนิติเวชฯ กรมตำรวจรายงานแค่ว่าลูกเมียของเสี่ยร้านเพชรตายเพราะอุบัติเหตุรถชน คนอย่างป๋าลอและทีมอุ้มฆ่าก็คงไม่ถูกตัดสินประหารชีวิต และคอนเทนต์เรื่องเล่าคดีประวัติศาสตร์ก็จะไม่ถูกเล่าซ้ำอย่างง่ายดาย แต่เพราะยังไม่สิ้นสงสัยและตามกัดไม่ปล่อย เจาะเข้าใจกลาง-สร้างความไว้วางใจกับทีมสอบสวนที่จมูกไว ทำงานเยี่ยงสายลับ บรรณาธิการจึงกล้าพาดหัวข่าวตั้งแต่ เช้าวันรุ่งขึ้นว่า ‘สีกากีอุ้ม-ฆ่า’
กว่าสามทศวรรษ คำถามแห่งคดีที่ยังค้างคาคืออะไร
หนึ่ง, คำให้การของป๋าลอที่บอกว่า “ถ้าปล่อยไปพังทั้งกรมแน่” ปล่อยไปในที่นี้หมายถึงปล่อยลูกเมียเสี่ยร้านเพชรไป หลังจากอุ้มเขามารีดเค้น แต่ใครทำให้ป๋าลอต้องพะวงว่าเรื่องทั้งหมดจะพาให้กรมตำรวจพัง ที่สุดท้ายกระบวนการยุติธรรมก็ปล่อยคนที่ใหญ่กว่าป๋าลอหลุดมือ
สอง, เพชรบลูไดมอนด์ อยู่ที่ใคร เป็นสิทธิ์ที่สังคมจะสงสัย แต่ความจริงมันไม่ปรากฏ ข้อเท็จจริงมันไปไม่ถึง นักข่าวเราก็ทำเต็มที่แล้ว อาชญากรรมเกิดขึ้นทุกวัน หลุมดำไม่เคยหมดไป อะไรที่ควรโฟกัส อะไรที่ควรลงแรง เป็นหัวใจของนักหนังสือพิมพ์ที่ควรหมั่นถามตัวเอง คำตอบของบรรณาธิการสะท้อนก้องอยู่ในใจ
“พรุ่งนี้คุณบินไปมาเลย์นะ นักรบปาตานีกับทหารเขาจะวางปืนคุยกัน” เสียงปลายสายแอดไซน์งาน ให้นักข่าวได้เริ่มต้นยุคสมัยท้ายๆ ของงานหนังสือพิมพ์
“แล้วเวลาเขียนก็อย่าใช้คำว่าโจรใต้ ต่อไปนี้เราจะไม่ใช้คำนี้อีก”
ผมเก็บเสื้อผ้า สมุด ปากกา ยัดใส่กระเป๋า
เปิดงานใหม่ที่ค้างคามาร่วมทศวรรษ.
essay : โต๊ะจเร
เรื่องและภาพ : ธิติ อิสรสารถี
เกี่ยวกับนักเขียน : ธิติ อิสรสารถี คนขับรถ เจ้าของหนังสือสารคดี /ภาพ Promised Land ‘ประเทศเทา’, รวมบทกวีชุด ‘พี่ชาย การตาย และความไร้สุภาพ’ และรวมบทสัมภาษณ์ว่าด้วย ม.112 ‘ความมืดกลางแสงแดด’ (ร่วมกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์) ผ่านงานสื่อสารมวลชนมาหลายสำนัก อาทิ CMYK, ปาจารยสาร, ข่าวสด, The101.World ปัจจุบันทำงานอยู่ที่วอยซ์ทีวี