essay
essay

ถอดตรวนไปโบยบิน

คนเราเป็นอะไรได้หลายอย่าง ความเชื่อความฝัน ถ้าไม่มีใครจับใส่กุญมือเอาไปคุมขังเข่นฆ่า ย่อมเป็นสิทธิเสรีภาพในการตามหาและพิสูจน์

เขาเป็นทั้งแหล่งข่าว พ่อค้าชา-กาแฟ นักข่าว บรรณาธิการ นักโทษและแกนนำก่อจลาจล เอ่อ อย่างสองหลังนี่ไม่ควรนับว่าตั้งใจเป็น แต่ถูกยัดเยียดให้

คดีอั้งยี่ซ่องโจรจากฝ่ายความมั่นคง ตลอดจนกระบวนการยุติธรรมลากคนหนุ่มปาตานีหลายร้อยคนเข้าไปรับชะตากรรมในคุก-เขาเป็นหนึ่งในนั้น

ช่วงวัยแห่งการศึกษาร่ำเรียนนิเทศศาสตร์ จู่ๆ เจ้าหน้าที่โผล่มาหาที่บ้าน ช่วงนั้นไฟในสามจังหวัดภาคใต้กำลังปะทุใหม่ๆ คดีฆ่าตัดคอตำรวจกำลังเป็นชนวนเหตุให้รัฐไทยรุกหนัก

ด.ต.สัมพันธ์ อ้นยะลา ตำรวจ สภ.ยะรัง ถูกคนร้ายฆ่าตัดคอในสวนยางใกล้กับมัสยิดบ้านบาซาเวาะเซง และโรงเรียนบุญบันดาล หรือ ปอเนาะแนบาแด ห่างจากบ้านเขาเพียง 1 กิโลเมตร
สายตาหน่วยงานความมั่นคงสอดส่ายไปราวกับสปอทไลท์บนหอเฝ้ายาม หว่านไปเจอใครก็จิ้มมาซักถาม ลามไปให้ซัดทอดคนนั้นคนนี้ พอวันดีคืนร้าย เขาก็ถูกพ่วงให้เป็นหนึ่งในขบวนการก่อการร้าย

ร่วมทศวรรษที่เขาต่อสู้คดี ทั้งในศาลและในคุก จากนักศึกษานิเทศศาสตร์พัฒนามาศึกษานิติศาสตร์และนักสันติภาพ เดินเข้าออกค่ายทหาร ทำงานร่วมกับภาคประชาชนที่ทุ่มทรัพยากรเรี่ยวแรงและสติปัญญาลงให้ไฟที่กำลังลุกโชน

ศาลชั้นต้น ให้จำคุก เขาประกันตัวออกมาสู้คดี ศาลอุทรณ์ยกฟ้อง คิดว่าจะได้หลับสบายๆ สักคืน ไม่ อัยการสู้ต่อ จนศาลฏีกาลงใหม่ 12 ปี จากถูกจับในคดีฆ่าตัดคอตำรวจ พอหลักฐานไม่มี เอาผิดในคดีอาชญากรรมไม่ได้ สำนวนฟ้องและคำสั่งศาลก็โผล่ไปอีกทาง

ใครๆ ก็รู้กระบวนการยุติธรรมไทยมักเล่นตลก หลายครั้งก็เล่นมุขฝืดจนน่ารังเกียจ ทั้งที่เจ้าตัวอยู่ในเรือนจำไปหลายปี พอมีคดียิงพระที่ อ.แม่ลาน เจ้าหน้าที่โผล่มาที่บ้านเพื่อขอตรวจดีเอ็นเออีก เพราะสอบพบหลักฐานดีเอ็นเอเชื่อมโยงว่าเขาก่อเหตุ

เท่านั้นไม่พอ ตอนอยู่ในคุก ยังได้รับการยกระดับเป็นแกนนำก่อจลาจลเผาเรือนจำกลางจังหวัดปัตตานีอีกสถานะหนึ่ง วันนั้น ทั้งที่ตัวเองเป็นฝ่ายรับหน้าที่ออกไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ แต่สถานการณ์บานปลาย จลาจลลุกลามคุมไม่อยู่ ชุดปราบจลาจลอาวุธครบมือต้องบุกเข้าไป
แต่แทนที่จะระงับเหตุ กระสุนจริงกลับพุ่งหว่านมาที่แดนนักโทษความมั่นคง ที่ๆ เขาถูกจอองจำ ซึ่งอยู่คนละทิศละทางกับกลุ่มจลาจล

“ทำไมวิถีกระสุนมานี้ มันกระทบลูกกรงเป็นประกายไฟ ตอนแรกไม่รู้เรื่อง จนเช้าพอเหตุการณ์สงบ ผู้ต้องขังอีกคนมาเล่าให้ฟังว่าตอนที่เจ้าหน้าที่เข้าสลาย เขาถูกเอาปืนจ่อหัวแล้วถามหาผม”
วินาทีนั้นจึงถึงบางอ้อว่าเขาเป็นเป้า

อยู่ๆ ไปนานวันนานปีเข้า ความที่ได้ทั้งภาษาไทยและคล่องภาษายาวี เขาได้รับการเชื้อเชิญให้เป็นวิทยากรจัดวงคุยในเรือนจำ การเมือง สังคม ศาสนา เป็นหัวข้อที่เปิดพรมแดนความรู้ให้ทั้งผู้ต้องขังและผู้คุม

ในการได้รับเกียรติ ไม่เฉพาะผู้ต้องขังด้วยกันที่เท่านั้นที่มอบให้ ผู้คุมเองก็ด้วย “ผู้คุมบางคนมาคุยด้วย บอกเขาอยู่พื้นที่สีแดง เลิกงานแล้วเขาต้องขับรถกลับบ้านทางนี้ อยากให้พูดให้พวกข้างนอกอย่าทำอะไรเขาเลย” ในความรู้สึกว่าตัวเองเป็นเป้า บางเราก็ไม่คิดแบบนั้น ชีวิตช่างขำขื่น

 

essay

 

พ้นจากแดนคุมขังมา เขาทำงานที่บ้าน เปิดหน้าร้านขายชา-กาแฟพอถูไถไป แต่ธาตุพิราบในตัวอยากบิน เขาอยากสื่อสารให้โลกข้างนอกสามจังหวัดมองเข้ามาเห็นว่าไม่ใช่แค่เลือด กระสุน ระเบิดเท่านั้นที่ปรากฏในข่าว

ด้วยความเชื่อว่าเสรีภาพของผู้คนคือหมุดหมายสำคัญ ความสร้างสรรค์ในข่าวสาร กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนได้

เว็บไซต์ The Motive กำเนิดขึ้นในบรรณพิภพไล่หลังไวรัสโควิดถล่มไทยไม่นาน กองบรรณาธิการที่เขารับเป็นบรรณาธิการ รายงานสถานการณ์ในพื้นที่แบบเรียลไทม์ ตั้งแต่ผู้ติดเชื้อ การแก้ไขปัญหา การร่วมมือประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่

จากเหยื่อความมั่นคงที่รัฐไทยปู้ยี่ปู้ยำเล่น แทนที่จะโกรธแค้นไปจับปืนสู้ เขาจับปากกาเขียนข่าวแทน เขาบอกว่า ตอนที่อยู่ในเรือนจำรับตำแหน่งนักโทษ เคยร่างโครงฝันไว้ว่าอออกมาจะทำสื่อ เพราะอยู่ข้างใน ไม่รู้โลกข้างนอกไปไกลแค่ไหน แต่รู้สึกว่าการไม่ได้รับรู้ความเป็นไปมันอึดอัด หายใจไม่ออก

นั่งถอดบทเรียนอยู่นานสองนาน เขาตกผลึกว่าสื่อหลายสำนักส่วนมากมาจากส่วนกลาง บางใจความสำคัญสื่อหลักไม่เล่นหรือเล่นไม่ได้ เขาอาศัยช่องว่านี้นำเสนอแทน เป็นต้นว่า เวลายอดผู้ติดเชื้อกำลังลุกลาม และถูกพูดด้วยมุมมองฝ่ายรัฐเป็นส่วนใหญ่ ยังมีความเชื่อทางศาสนาที่กลายเป็นประเด็นให้พื้นที่ป้องกันโควิดไม่อยู่

“คนมุสลิมรุ่นเก่าเขาไม่เข้าใจว่าการรักษาระยะห่างคืออะไร การละหมาดร่วมกันมีความมเสี่ยงแค่ไหน โควิดมันมาท้าทายวิถีชีวิตประจำวัน”

กองบรรณาธิการเขาต้องทำหน้าที่อธิบายแทน รวมถึงเหตุการณ์วิสามัญหลายครั้งที่ไม่ได้รับการพิสูจน์เป็นรูปธรรม กอง บก. ของเขาเข้าไปรายงาน

วันที่ครบรอบเหตุการณ์กรือเซะ เขาบอกว่าไม่อยากดราม่าย้อนอดีต แต่กอง บก. มอนิเตอร์ทบทวนสื่อที่ผ่านมา “ส่วนใหญ่เล่นคำเดิมๆ โจรใต้ ไม่มีการเปลี่ยนเลย”

การไม่แคร์ความรู้สึกของคนในพื้นที่นี้ สำหรับเขามันค้างคาใจ บวกกับความรู้สึกว่าไม่อยากสร้างกระแสความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ นอกจากต้องสร้างบทเรียนให้หลายฝ่ายรู้ ไม่ใช่แค่ไปโจมตีรัฐอย่างเดียว ฝ่ายประชาชนเอง สื่อเอง ฝ่ายขบวนการเองต้องเข้าใจว่าประสบการณ์เดิมมันจะวนซ้ำถ้าใช้วิธีแบบเดิม

ตอนกอง บก. คุยกันเริ่มต้นรันเนื้อหาสองภาษา (ไทย-ยาวี) เขาบอกว่าเวลาเขียนคำต่างๆ โดยเฉพาะคำว่า “คน” ทุกบทความที่เป็นภาษาไทย กองจะเปลี่ยน ค.ควาย ให้เป็น ฅ.ฅน ทุกคำ

“เรามี ฅ.ฅน แต่มันไม่ได้ถูกใช้ พวกเราคุยกันว่าถ้าอยากให้ค่าของคนมันมีค่าในภาษา เราเอา ฅ.ฅน มาใช้ไปเลย ฅนเราน่ะ ไม่ใช่ควาย”

ไม่ต้องรอไปเจรจาราชบัณฑิต พวกเขาบัญญัติขึ้นเสียเอง และยืนหยัดว่าใช้คำนี้ 

คนเราเป็นอะไรได้หลายอย่าง ความเชื่อความฝัน ถ้าไม่มีใครจับใส่กุญมือเอาไปคุมขังเข่นฆ่า ย่อมเป็นสิทธิเสรีภาพในการตามหาและพิสูจน์

ตรวนหลุดออกจากข้อเท้าแล้ว พิราบหนุ่มกำลังโบยบิน.

 

 

nandialogue

 

essay : โต๊ะจเร

เรื่องและภาพ : ธิติ อิสรสารถี


เกี่ยวกับนักเขียน : ธิติ อิสรสารถี คนขับรถ เจ้าของหนังสือสารคดี /ภาพ Promised Land ‘ประเทศเทา’, รวมบทกวีชุด ‘พี่ชาย การตาย และความไร้สุภาพ’ และรวมบทสัมภาษณ์ว่าด้วย ม.112 ‘ความมืดกลางแสงแดด’ (ร่วมกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์) ผ่านงานสื่อสารมวลชนมาหลายสำนัก อาทิ CMYK, ปาจารยสาร, ข่าวสด, The101.World ปัจจุบันทำงานอยู่ที่วอยซ์ทีวี

You may also like...