ในแรกพบ วัยรุ่นยุค 90 อย่างผมไม่ได้รู้จักเขาผ่านตัวหนังสือ
โน่น ผ่านลายเซ็นฟิล์มของ เป็นเอก รัตนเรือง ก่อน ถึงมารู้ทีหลังว่าเป็นเขาเขียนเป็นนิยายมาก่อนนานนมแล้ว
จากนั้นจึงซึมซับตัวหนังสือ กลิ่นกระดาษ ผ่านตั้งแต่ ฉากและชีวิต, บนเส้นลวด, ตำบลช่อมะกอก, ด้วยรักแห่งอุดมการณ์, กลับมาเมื่อฟ้าค่ำ, คือรักและหวัง, จิ้งหรีดและดวงดาว ฯลฯ
ขนาดตอนแรกได้ยิน จากลานโพธิ์ถึงภูพาน ยังไม่รู้ว่าเขาเขียน เพลงที่ทั้งคลั่งแค้น ปลุกเร้าและฮึกเหิมขนาดนี้ ตอนได้ยินผ่านลูกคอ หงา คาราวาน มันคิดไม่ออกหรอกว่าใครแต่ง เช่นเดียวกับ ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ นั่นแหละ
จะว่าไป วัยรุ่นอย่างผมควรสารภาพว่า จะรักจะชอบอะไร หลายครั้งก็ฉาบฉวยมาก่อนเสมอ พูดแล้วก็ปลอบใจลูบหลังตัวเองไม่ลง มีแต่เดินทวนน้ำ-เกร็งขาขึ้นไปเท่านั้นแหละ ถึงพอจะยอมรับตัวเองได้บ้าง
ผ่านไปกว่าทศวรรษ พอได้เริ่มงานหนังสือพิมพ์ข่าวสด จึงได้เจอเขาอีกรอบผ่านคอลัมน์แนวเพลงลูกทุ่งทุกวันเสาร์
ผมมั่นใจว่าในตลาดหนังสือพิมพ์รายวัน คอลัมน์ที่เขียนถึงเพลงลูกทุ่ง มีเขาคนเดียวที่ยังเขียนอยู่
เขาเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยประวัติศาสตร์เพลงอิงสถานการณ์บ้านเมืองเสมอ
นั่นจึงเป็นแรกๆ ที่เขาเขย่าความคิดผมว่าเพลงกับการเมืองไม่เคยแยกจากกัน ยกตัวอย่าง เขาเขียนถึง ‘ลูกทุ่งปทุมธานี’ ไว้อย่างนี้–
พ.ศ.นี้ เรียกปทุมธานีว่า ‘ทุ่ง’ ดูด้วยตาย่อมไม่เห็นจะเป็นทุ่งตรงไหน มองไปเห็นแต่ทางด่วน ทางลอยฟ้า ตึกสูง บ้านจัดสรร โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ แออัดยัดเยียดบนพื้นที่ที่เคยเป็นทุ่งสมัยเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว
เพลงลูกทุ่งจากฉากชนบทเมืองปทุมมีมากมายหลายเพลง เพราะปทุมธานีเป็นแดนกำเนิดบรมครูเพลง ไพบูลย์ บุตรขัน
เพลงกลิ่นโคลนสาบควาย มีฉากสำคัญที่ ‘โคกตาสี’ อยู่แถวทุ่งหลังวัดบัวหลวง ต.เชียงรากใหญ่ อ.สามโคก อบต.เชียงรากใหญ่ หาเจอหรือเปล่า
เพลงแม่ค้าตาคม ก็ร้องว่า ‘พี่พบเนื้อนวลเมื่อนั่งเรือด่วนสายบ้านแพน เราต่างรักกันเหมือนแฟน เมื่อเรือด่วนแล่นถึงเมืองปทุม’ สระอุม เลยพาไปสู่เรื่องราวว่า เหมือนหัวใจพี่ตกหลุม พี่หลงรักแม่เนื้อนุ่ม
เมืองปทุมธานี เป็นชื่อทรงตั้งในสมัยรัชกาลที่สอง ดังที่สุนทรภู่เขียนไว้ในนิราศภูเขาทองเมื่อพ.ศ.2371 สุนทรภู่บวชที่วัดเลียบ (วัดราชบูรณะ) แล้วเดินทางโดยเรือ ไปนมัสการภูเขาทอง อยุธยา
นิราศเรื่องนี้ยาวเพียงสิบหน้า แต่มีวรรคทองให้จดจำคือบทตอนที่พูดถึง ‘ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก’
ส่วนที่พูดถึงเมืองปทุมคือ ‘ถึงสาม โคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี ประทานนามสาม โคกเป็นเมืองตรี ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว โอ้เรานี้ที่สุนทรประทานตัว ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ’
สุนทรภู่ในวัยหนุ่มได้เป็นขุนสุนทรโวหาร รับใช้ราชการในสมัยรัชกาลที่สอง พอเข้าสู่ช่วงรัชกาลที่สามต้องหลุดจากตำแหน่ง ตกยาก ออกบวช สุนทรภู่เลยเปรียบเทียบว่า ตำแหน่งของตัวเองนั้น ‘ไม่รอดชั่วเช่นสามโคก’
นักร้องลูกทุ่งเมืองปทุมเด่นชัดคือ สุริยา ฟ้าปทุม ลูกศิษย์คนสุดท้ายที่ครูไพบูลย์ตั้งชื่อให้ก่อนที่ครูจะเสียชีวิต
สุริยา พอมีชื่อเสียงจากการปั้นของ เทียนชัย สมยาประเสริฐ ได้เพลงไพเราะจากการแต่งของ สุรินทร์ ภาคศิริ คือเพลง หนุ่ม นปข. ‘สายน้ำโขงแม่ไหลล่อง สายัณห์ตะวันสาดส่อง มองสองฝั่งทางซ้ายและขวา หน่วยนปข.ล่องเลียบฝั่งคงคา’
ทุ่งปทุมธานีวันนี้ไม่ได้มีเฉพาะชาวทุ่งถิ่นเดิม หากแต่มีผู้คนจากทุกสารทิศมาอยู่รวมกันเป็นชุมชนปริมณฑลของกรุงเทพฯ ที่มีจำนวนมากเป็นพิเศษคือ ผู้ใช้แรงงาน ในโรงงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่
ท่าทีทางการเมืองของคนปทุม คือมีการเคลื่อนไหวสีแดงคึกคัก เลือก ส.ส.ก็เลือกพรรคสีแดงแบบยกจังหวัด
แต่ปรากฏว่า การเลือกตั้งซ่อม ส.ส. และเลือกนายก อบจ. เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว นักการเมืองฝ่ายแดงพ่ายรูดทั้งสองตำแหน่ง
น้องสาวทำสำนักงานทนายความอยู่แถวรังสิต โทรฯ เผยเบื้องลึกเล่ามาว่า เป็นการให้บทเรียนแก่นักการเมือง โดยฝีมือของราษฎรแดงปทุม ที่มีความเข้มแข็งทางการเมือง
ให้บทเรียนว่า นักการเมืองอย่าเหลิง อย่าเหินห่างราษฎร ต้องร่วมทุกข์ (น้ำท่วม) ร่วมสุข และยังส่งสัญญาณไปถึงการเมืองระดับชาติ เลือกตั้งชนะแล้วอย่า ‘กร่าง’ คนเสื้อแดงไม่ได้อยู่ใต้ระบบอุปถัมภ์แบบการเมืองน้ำเน่า แต่เป็นเสรีชนที่มีความเป็นตัวของตัวเอง
เป็นแกนนำระดับชาติอย่าอวดใหญ่เกินคน อย่าเที่ยวมาห้ามพูดเรื่องนั้น ห้ามเคลื่อนไหวเรื่องนี้ จงเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งหมดนี้ ก็ตรงกับสปิริตของลูกทุ่งเมืองปทุมดั้งเดิม คือ กล้ารัก กล้าแค้น
แต่แม้จะได้ซึบซับตัวหนังสือเขาแล้ว ก็ยังไม่ได้เจอตัว มาเจอเอาตอนที่บ้านเมืองเริ่มผิดปกติ ประชาชนถูกยิงทิ้งกลางถนนเป็นผักปลา แต่พอตายสิบเกิดแสน คนก็ลงถนนเรียกร้องความเป็นธรรมต่อ
เขียนหนังสือไป ขึ้นเวทีร้องเพลง ปราศรัยไป เขาเอาเรี่ยวแรงมาจากไหน ผมไม่รู้ บางทีคนอย่างเขา-อาจต้องยอมรับว่า ทั้งโลกทัศน์-ชีวทัศน์ ก็แนบสนิท กลมกลืนเป็นเนื้อเดียว
แต่ก็อีกนั่นแหละ กระทั่งโดยวิชาชีพ ผมถึงได้พบเขาเสียที-มีโอกาสพูดคุยสัมภาษณ์ เขาก็เป็นคนแรกๆ ที่พาผมเชื่อมโยงยุคสมัยของนักคิดนักเขียนนักต่อสู้ ถึงรู้ว่าเขาเขียนวรรณกรรมไปด้วย ทำหนังสือพิมพ์ไปด้วย ก่อนจะเข้าป่าจับปืนหลังปี 2519 พอออกมาก็เขียนหนังสือต่อ
เขียนด้วยชีวิตและทั้งชีวิต
“รู้ไหมทำไมเรื่อง ตำบลช่อมะกอก ของผมถึงถูกเป็นหนังสือต้องห้าม” เขาพูดถึงหนังสือตัวเองในปี 2517
“ตัวเอกคือชายช่อมะกอกอยู่ในทุ่งภาคกลาง วันหนึ่งก็มีพวกเจ้านายมาจากบางกอกมาบอกว่าที่ดินที่ต้นตระกูลของชายช่อมะกอกอยู่เนี่ยเป็นที่ดินในเขตสัมปทานของเขาแล้ว ให้ออกไปซะ
“พอไม่ออกก็โดนเผาบ้าน ถามว่าอันนี้เขียนมาจากไหน เขียนมาจากข้อมูลที่ได้อ่านมา เมื่อบริษัทคลองคันนาสยามสมัยรัชกาลที่ 5 เข้าไปสัมปทานทุ่งรังสิต พอเข้าไปเจอที่ดินที่มีชาวบ้านอยู่ก่อนก็ไล่ ไล่ไม่ไปก็เผา แล้วตัวละครอย่างชายช่อมะกอกยังจะสดุดีอยู่เหรอ ก็ด่าศักดินาฉิบหายเลย สันติบาลส่องไฟไล่บรรทัดเจอพอดี”
เราคุยกันหลายชั่วโมง ตอนหนึ่งผมถามเขาว่า “วรรณกรรมต้องรับใช้สังคม เชยไปหรือยัง หรือว่ามีข้อสรุปอะไรใหม่”
เขานิ่งคิด ยกแก้วน้ำองุ่นขึ้นจิบ ก่อนอธิบายว่า “คำว่ารับใช้มันอาจจะคับแคบไป มันฟังชัดเจนดีแต่แคบ จริงๆ มันก็ต้องรับใช้นั่นแหละ ไม่อย่างนั้นจะไปรับใช้ใครล่ะ จะรับใช้เมฆฝนที่ไหนกัน หลับตาพูดก็ถูกว่าวรรณกรรมกับสังคมมันเกี่ยวเนื่องกันแยกไม่ออก แต่จะใกล้ชิดแค่ไหนก็อีกเรื่อง
“ปัญหาคือทุกวันนี้ศิลปินสลิ่มๆ ส่วนใหญ่บอกว่าตัวเองไม่เกี่ยวกับการเมือง ก็เข้าใจได้ ความจริงเขาเกี่ยวแต่เขาไม่กล้าพูดตรงๆ ว่าไม่อยากเกี่ยว เพราะเขาไม่รู้ว่าอนาคตเขาจะอยู่ฝ่ายชนะหรือฝ่ายแพ้ ไฮโลยังไม่ออกยังไม่แน่ใจ ถ้วยยังไม่เปิดไม่รู้จะออกสูงหรืออกต่ำ พอทนภาวะฝุ่นตลบไม่ได้ก็บอกไม่เกี่ยว แต่ไม่ต้องพูดหรอก คุณเกี่ยวอยู่แล้ว
“สมัย 14 ตุลาฯ ถ้วยไฮโลมันเปิดไวมาก ศิลปินก็แทงข้างชนะทันที คุณรบกันไม่กี่ชั่วโมง จากเย็นวันที่ 13 ถึงเช้าวันที่ 14 ก็ตีกะบาลกัน บ่ายก็เริ่มเผากรมประชาสัมพันธ์ กองสลากฯ เช้าวันที่ 15 ก็เผากองบัญชาการตำรวจนครบาล สองวันไฮโลเปิดฝา กวีก็พากันมาแทงฝ่ายชนะ เท่ เป็นผู้ชนะกันหมด (หัวเราะ) พฤษภาทมิฬก็เหมือนกัน วันที่ 17-18 จบแล้ว สุจินดาแพ้ ใครต่อต้านสุจินดาชนะ
“แต่ครั้งนี้มันไม่ใช่ไง ตั้งแต่ 2548 มาแล้วนะ ขอนายกฯ พระราชทาน จนรัฐประหาร 19 กันยาฯ ผ่านสมัคร สุนทรเวช ผ่านสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กระทั่งล้อมฆ่าคนเสื้อแดง มาถึงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ไฮโลมันพลิกไปพลิกมา คุณมึน ตามไม่ทัน เลยแทงไม่ถูก แต่บางคนก็ไปแทงฝั่งโน้นเลยคิดว่าฝั่งโน้นชนะ เพราะตอน 14 ตุลาฯ พฤษภาทมิฬที่คิดว่าชนะๆ กันนี่ จริงๆ คือฝ่ายอำมาตย์ชนะ”
ไม่เพียงแค่ประวัติศาสตร์การเมืองการต่อสู้ ยุคสมัยที่ปัญญาชนเฮโลกันไล่ทักษิณ ชินวัตร มันลามไปถึงความสัมพันธ์อันอึกครึมของคนในแวดวงวรรณกรรม
ผมถามแบบไร้เดียงสาต่อว่า เราควรจะถือสาเรื่องแบบนี้ไหม ควรเอาการเมืองเข้ามาทำลายความเป็นพี่น้องเหมือนอย่างที่นักเขียนส่วนใหญ่ถือเรื่องมิตรภาพเรื่องพี่น้องกว่าเรื่องอื่น
เขาจิบน้ำองุ่นแล้วตอบทันที “ต้องถือสิ เรื่องหลักการต้องถือ ผมถือ 2 เรื่อง รัฐประหารกับล้อมฆ่าเสื้อแดง เรื่องอื่นผมไม่ถือ แต่เรื่องนี้ไม่ได้ ถ้าหลุดให้ได้ยินผมก็หน้าดำหน้าแดงอัดกับมึงเหมือนกัน ส่วนมึงจะชอบจะเกลียดทักษิณก็เรื่องของมึงไม่ว่ากัน ถ้าเรื่องประชาชนเรื่องระบบการเมือง ผมไม่ยอม”
ฟังมากเข้า ไม่ใช่แค่ความรู้ที่พรั่งพรู หลายทัศนะ ผมคิดว่าเขาให้คำเตือน
เป็นต้นว่า “ถ้าเขาจะจับจริงๆ ก็จับได้ แต่ทีนี้การจะจับมันต้องมีจังหวะไม่ใช่อยู่ๆ ไปจับ มันมีกระแสอยู่ คอยดูกระแสเสื้อแดงตกเมื่อไหร่ก็ระวังตัวหน่อย เสี่ยงเหมือนกัน
“ไม่อย่างนั้น เสนีย์ เสาวพงศ์ คงโดนจับตั้งแต่หนังสือออกปี 2494 แล้วสิ แต่นี่มาโดนเอาปี 2500 ไง เขาจะมาเช็คบิลในจังหวะของเขา
“ถ้ากระแสคุณสูงอยู่แล้วเขามาจับ เขาจะเสียการเมือง แต่พอกระแสคุณตกเมื่อไหร่เขารวบตัวคุณเลย แล้วไม่รวบคนเดียว มันต้องรวบทั้งหมด ปิดหนังสือพิมพ์เสร็จนักเขียนโดนรวบตาม เงียบกริบไม่มีข่าว แต่วันนี้มันยากกว่า เพราะวงการข่าวมันสากลกว้างไกล รู้กันหมดทั้งโลก
“ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าทีใครทีมัน อย่าเผลอ มวยไม่ใช่ว่าต้องบุกตลอด ต่อยอยู่เพลินๆ ถ้าไม่รู้จักจังหวะถอยก็อาจโดนสวนกลับน็อคได้”
“เราไม่รู้ว่าจังหวะไหนเกมไหนเขาจะเล่นยังไง ฝ่ายเราก็ต้องฝึกฟุตเวิร์กหน่อย เตรียมพร้อมไว้ ดูสถานการณ์ความเหมาะสมด้วย ผมบ่มมาตั้งแต่ 14 ตุลาฯ
“อย่างผมไม่ได้เรียนหนังสือมาก แต่ชอบอ่านงานวิชาการ อ่านมาเล่มใหญ่ๆ แล้วเราก็เอามาย่อยให้ง่ายเหลือสัก 10 บรรทัดให้เป็นภาษาเราเพื่อไปพูดให้คนฟัง อย่างประวัติศาสตร์ 2475 นี่ไกลและลึกมากนะ แต่มวลชนเขารับได้ แล้วก็ต่อยอดกันสนุกสนาน ผมเห็นอนาคตเลย”
คำเตือนของเขาไม่เพียงแค่อธิบายประวัติศาสตร์การเมืองตรงไปตรงมา แต่บางทัศนะแจกจิ้มไปยังเงื่อนปมอันซับซ้อนที่กล่อมเกลาพรางตาเราด้วย เป็นต้นว่า ในงานเขียนสารคดีเรื่องคีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน หนังสือหนาเกือบ 600 หน้า ระหว่างบรรทัดไม่ใช่แค่ความอัจฉริยะของครูเพลงลูกทุ่ง อย่างน้อยก็เพลงค่าน้ำนมที่เราๆ ได้ร่ำร้องและถูกบังคับให้ฟังในช่วง 12 สิงหาคมของทุกปี
ครูไพบูลย์ไม่ได้แต่งเพื่อถูกใช้สำหรับการนี้
เขาสัมภาษณ์ครูไพบูลย์ และได้คำตอบว่าเพลงค่าน้ำนม กลั่นมาจากสายเลือดของครูไพบูลย์ในวัย 30 ที่เคยป่วยเป็นโรคเรื้อน แม่ของครู (พร้อม บุตรขัน) คือคนเดียวที่ดูแลไม่ทอดทิ้ง
ผมเกิดไม่ทันครูไพบูลย์ แต่รู้จักผ่านเพลงที่นักร้องลูกทุ่งไม่ว่าจะรุ่นไหนก็ร้องเพลงของครูไพบูลย์ แต่ไม่มีใครอธิบายถึงเพลงนี้ เขาคนเดียวที่เขียนอธิบายว่า…
ภาพแม่พร้อมคอยดูแลลูกชายวัยหนุ่มซึ่งป่วยด้วยโรคเรื้อน ผิวกาย มือไม้หลายส่วนมีน้ำเหลืองเน่าเฟอะ ในยุคที่โลกนี้ยังไม่มียารักษาให้หายขาดได้ ใครๆ ย่อมหวาดกลัวและรังเกียจที่จะเข้าใกล้
ผิวหนังที่เน่าเปื่อยเกรอะกรัง หากนอนบนฟูกหรือเสื่อธรรมดา แผลฉ่ำหนองน้ำเหลืองปนเลือดย่อมติดกับที่นอนให้ต้องเจ็บปวดทรมาน
คนป่วยเรื้อรังจึงต้องใช้ใบตองกล้วยรองนอน เพื่อไม่ให้แผลเกรอะกรังติดที่นอน
จะมีใครเล่าที่คอยไปตัดใบตองมาให้รองนอน และคอยเปลี่ยนใบตองที่เขรอะด้วยน้ำเลือดน้ำหนองให้ …แม่ แม่เพียงคนเดียวเท่านั้น
แม่ที่เคยอุ้มชูลูกตั้งแต่ยังนอนแบเบาะ และแม้เมื่อลูกโตเป็นหนุ่มแล้ว มามีอันเจ็บป่วยสังคมรังเกียจ
เหลือแม่… แม่เพียงคนเดียวที่ไม่เคยรังเกียจลูกไปตามกระแสสังคม
ลูกจะยังเป็นเด็กทารก หรือลูกโตเป็นหนุ่มแล้ว ความรักของแม่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
ชีวิตจริงอันขื่นเข็ญ พลังรักอันงดงามของแม่ เหล่านี้กระมังเป็นที่มาของเพลงอย่าง ‘ค่าน้ำนม’
ครูไพบูลย์ลาลับไปตั้งแต่ปี 2515 เขายังเป็นนักเรียนขาสั้น ใครมันจะไปคิด ผ่านไปกว่าสี่ทศวรรษ เขาผู้บันทึกชีวิตของครูไพบูลย์ ยังต้องหลบหนี้ลี้ภัยคนบ้าอำนาจ
เพราะรักในบทกวี จึงตัดขาดจากเพลงไม่ได้หรือไม่ ไม่แน่ใจ เพราะสัมผัสใกล้ชิดทั้งเพลงและตัวตนครูไพบูลย์หรือไม่ เขาจึงเขียนเพลงของตัวเองได้อย่างหมดจดงดงาม
ในสายธาร มีฉ่ำเย็นและคมหินบาด บนแผ่นดิน ทางก้าวเดินมักมีหนามไหน่ กว่าจะถึงทางเรียบตรงและดงดอกไม้ ในหัวใจมีหมู่โจรและมีนักบุญ
ในสายธารสู่เสรี ลับ ลวง พรางต้าน เผด็จการดั่งภูตพราย หลอนจนวายวุ่น จับคุมขัง สั่งความตายวอดวายทารุณ สาดกระสุนเผด็จการผลาญคนลำเค็ญ
แม้ใจรักเป็นนักสู้ รู้มีวันขึ้นลงแลเห็น ร้อนและหนาวคงมั่นเยือกเย็น ยามยากเข็ญ กลืนกล้ำลง คิดครวญต่อไป
ในวันที่การต่อสู้ยังไม่จบสิ้น ผมคิดถึงเพลง ‘ในสายธาร’ ของเขา บางครั้งมันก็ราวกับลายแทง เป็นแผนที่ให้เราเดินกลับสู่ภายใน ใคร่ครวญชีวิต
หรืออย่าง…
ดอกจำปีบานโชยกลิ่น ชวนถวิลชื่นเชย ปีกเคยงามผีเสื้อเอย ดูหรือมาขาดแหว่งไป
บิน ปีกน้อยโรยแรง แหว่งล้าโรยรอน โอ้ ผีเสื้อน้อย
มา หลบฝนโปรยปรอย กิ่งไม้จำปี อุ่นเนื้อพอใจ
ดอกจำปีสีขาวหม่น กลางลมฝนพร่างพรู เยือกเย็นงามยามบานอยู่ ดูคล้ายเตือนใจให้จำ
เพลงจำปีผีเสื้อของเขา ถ้าไม่ตกผลึกพอ ถ้ามองไม่เห็นชีวิตอื่นพ้นจากตัวเอง ใครจะเขียนเพลงอย่างนี้ออก
ว่ากันเชยๆ ซื่อๆ เวลาผมยืนอยู่หน้าบ้าน มองลานดินว่างหย่อมหนึ่ง ผมคิดถึงเขาและอยากปลูกจำปีสักต้น
เขาไม่ใช่คนร่ำรวย ค่อนไปทางจนด้วยซ้ำ
แต่คำเตือนและลายแทงที่เขาทิ้งไว้ ก็มากเพียงพอแล้ว.
essay : โต๊ะจเร
เรื่องและภาพ : ธิติ อิสรสารถี
เกี่ยวกับนักเขียน : ธิติ อิสรสารถี คนขับรถ เจ้าของหนังสือสารคดี /ภาพ Promised Land ‘ประเทศเทา’, รวมบทกวีชุด ‘พี่ชาย การตาย และความไร้สุภาพ’ และรวมบทสัมภาษณ์ว่าด้วย ม.112 ‘ความมืดกลางแสงแดด’ (ร่วมกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์) ผ่านงานสื่อสารมวลชนมาหลายสำนัก อาทิ CMYK, ปาจารยสาร, ข่าวสด, The101.World ปัจจุบันทำงานอยู่ที่วอยซ์ทีวี