ไม่มี “รุ้งแก้วมณีนิรพาน”
ไม่มี “ไข่มุกหล่นบนจานหยกเขียว”
ไม่มี “คนกับควาย ไม่มีเคียว”
มีแต่ “ข้าวซึ่งเปิบเคี้ยวก็เเค้นคอ”
ไม่มี “ดอกไม้จะบานบนลานฝัน”
ไม่มี “ม้าก้านกล้วยอันช่วงใช้ไปต่อ”
ไม่มี “มือสีขาวยาวยื่นรอ”
มีแต่ “ลานกว้างซอมซ่อโศกนาฏกรรม”
ไม่มี “แล้วบ้านเก่าจะให้กลับ”
ไม่มี “แม่น้ำสำหรับวักดื่มด่ำ”
ไม่มี “ดวงตามองโลกวิโยคระยำ”
มีแต่ “ตำบลช่อมะกอก” นอกนวนิยาย
“หัวใจห้องที่ห้า” ข้าฯ ไม่มี
หัวใจสี่ห้องแรกก็แตกสลาย
“อิศานนับแสนแสน แม้นตกตาย”
ศพก็คล้ายถูกคนชั่วควักหัวใจ
“บทกวีถูกตีตรา” ข้าฯ ไม่อ่าน
ขอพระราชทานอภัยโทษโปรดวินิจฉัย
“ถึงหน้าวังดังใจจะขาดฯ” ก็ขาดไป
บนเขียงไม้.. ! เป็ดถูกสับ ! ล่วงลับแล้ว!
. . .
อยู่ดีๆ ผมก็นึกถึงพี่ไม้หนึ่ง
นึกถึงบทกวีของเขา กระทั่ง.. ความตายของเขา
ในปีนั้นผมนั่งดูช่องเอเชียอัพเดต พึ่งรู้จักบทกวีการเมือง ฟัง หากไม่ค่อยรู้เรื่องนัก อาจเพราะยังเด็ก รู้สึกละอายใจ
หลายปีผ่าน เมื่อผมเข้าเรียนวรรณกรรมในชั้นปริญญาตรี และถูกสายจูงฝึกหัดให้กลายเป็น “คนที่อ่านบทกวีเอาเรื่อง” กลับหลงใหลได้ปลื้มกับงานที่ถูกแขวนไว้บนหิ้ง หิ้งแห่งห้องสมุดมหา’ลัย มอมเมาตัวเองจนคิดว่ามุตโตแตก (ดีที่ผมยังไม่ลุกขึ้นมาหนีบอีแตะ สวมเสื้อผ้าฝ้าย สะพายย่าม)
ในสถานการณ์ปัจจุบัน.. ที่เวลากับความหวังเหมือนกำลังเล่นซ่อนหา
ความเปล่าเปลี่ยวของคนที่ไม่รู้จะออกแรงตรงไหน
นอกจากขีดๆ เขียนๆ ด่าๆ ว่างๆ ก็ออกไปชูมือชูไม้กับเขาบ้าง เหล่านี้คงทำให้ผมนึกถึงพี่
นึกถึงกวีที่ไม่เคยถูกยกให้เป็นมหากวี งานตีพิมพ์บทกวีโดยผองเพื่อนซึ่งไม่มีตราซีไรต์
ไม่ใช่ศิลปินแห่งชาติ สาขาใดๆ นอกจากศิลปินแห่งราษฏร์ สาขาข้าวหน้าเป็ด
ผมหวังไว้นิดหน่อย หวังว่าสักวัน เมื่อแผ่นดินไม่ “จึงดาลดุจประดงกำเดา” อาจฅนอย่างลุงผี ฅนอย่างลุงจิตร
ฅนอย่างลุงวัฒน์ ฅนอย่างพี่ หรือแม้แต่ฅนตัวเล็กตัวน้อยอย่างผม จะมีโอกาสได้ใช้ชีวิตที่สุนทรีย์ เขียนบทกวีถึงสายลมและแสงแดด แต่คงไม่ใช่อย่างพวกไม่สนหินสนแดดเหล่านั้นหรอก !
บทกวีโดย เมฆ’ครึ่งฟ้า
ภาพเขียน : สุมาลี เอกชนนิยม