8 ปีที่ผ่านมา ผมสูญเสียเพื่อนและพี่ไป 4 คน
เมษายน 2014 ไม้หนึ่ง ก.กุนที
พฤษภาคม 2020 เรืองรอง รุ่งรัศมี
มีนาคม 2022 วัฒน์ วรรลยางกูร
พฤษภาคม 2022 วาด รวี
ทุกคน, เป็นเพื่อนและพี่ที่มีอิทธิพลทางความคิดสูง ทั้งในมิติเผชิญหน้า คบหากันตัวเป็นๆ และปะทะแลกเปลี่ยนผ่านตัวหนังสือ ในฐานะ ‘นักเขียน’ ที่ต่างขับเคี่ยวอย่างเข้มข้น มีผลงานเป็นที่ประจักษ์
น่าสนใจว่าทั้งสี่มีจุดร่วมเดียวกันในอุดมคติ ‘ปีกแดง’ และยืนอยู่ในฝ่ายที่อภิปรายว่ากฎหมายอาญามาตรา 112 มีปัญหา จำเป็นต้องเร่งแก้ไข และด้วยปรารถนาดีเป็นที่ตั้ง พูดอย่างเปิดเผยจริงใจในที่แจ้ง ทว่าสุดท้าย วัฒน์ วรรลยางกูร กลับเป็นหนึ่งในเหยื่อที่โดนฟ้องร้องคดีนี้เสียเอง ต้องเร่ร่อนลี้ภัย กระทั่งนาทีสุดท้ายของชีวิตก็หายใจอยู่ในแผ่นดินอื่น
แปดปี สี่คน..
ทั้งสี่–ในทัศนะผม เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพสูง เป็นนักเขียนระดับหัวหอก เป็นหน้าเป็นตา เป็นเกียรติยศศักดิ์ศรีของประเทศ
ทั้งสี่–ไม่มีใครสักคนเป็นศิลปินแห่งชาติ ไม่มีใครสักคนได้รางวัลซีไรต์ แต่ลองทำโพลล์ดูเถอะ ลองฟังนักอ่านวรรณกรรมวิเคราะห์วิจัย ลองเปิดโอกาสให้ผู้มีความเป็นธรรมพูด ของแบบนี้มันรู้ๆ กันอยู่
ใช่, เราต่างโค้งคารวะ และยอมรับนับถือได้สุดจิตสุดใจ
อำนาจทางวรรณกรรม และศักดิ์ศรีของนักเขียนทระนงมีอยู่จริง เป็นนามธรรมที่สัมผัสจับต้องได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการตีตรา หรือมีใบหน้านายห้างไหนมารับประกัน
อดีตมันล้างไม่ได้, แน่นอนว่าผมกับ ไผ่ ไม้หนึ่ง เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เรียนทับแก้ว และคบหายาวนาน 25 ปี
เวลาผมพูดว่าบทกวี ‘สถาปนาสถาบันประชาชน’ ของเขาคือมาสเตอร์พีซ คือหมุดหมายใหม่แห่งกวีนิพนธ์ไทย คือคนหนุ่มที่เกิดมาเพื่อทำให้ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กลายเป็นสินค้าหมดอายุ (ที่จริงเขาทำตัวเอง) พูดเช่นนี้ หลายคนอาจมองว่าผมเชียร์เพื่อนสุดลิ่มทิ่มประตู อ้าว คุณก็ลองหยิบมาอ่านสิ บทกวีแสดงตนอยู่ในที่แจ้ง รอคอยการพิสูจน์ ลองอ่านและพยายามจับผิด หาข้อบกพร่อง
ถ้าเจอ ได้โปรดเถอะ ช่วยเขียนวิพากษ์วิจารณ์ ฉะ แฉ แก้ไขให้สิ่งที่ผมพูดเป็นโมฆะ เอาให้เละ อย่าให้ได้ผุดได้เกิด เรื่องทัศนะเราโต้แย้งกันได้ ก็ถ้าเหตุผลของคุณมีน้ำหนักเพียงพอ
ไหนจะบทบาทการนำรณรงค์ ‘หมื่นปลดปล่อย’ แคมเปญปลดปล่อยนักโทษการเมืองเมื่อ 29 มกราคม 2013 ที่ท้าทายอย่างยิ่ง แหลมคมและมีพลังอย่างยิ่ง ยังไม่นับความเป็น ‘กวีเสื้อแดง’ ที่กล้าหาญ ก้าวเข้ามาหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับการต่อสู้ของชาวบ้าน
สั้นที่สุด, ถ้าไม่มี ไม้หนึ่ง ก.กุนที ย่อมไม่มี วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ในปริมณฑลที่ขยายขอบเขตมาจากคนทำสัมภาษณ์และนักเขียนสายลมแสงแดด ด้วยความสัตย์จริง, ที่ยังมี ที่ยังอยู่ ก็ด้วยคุณูปการและการทุบตีจาก ‘กวีราษฎร’ นามนี้
อีกเช่นกัน, เรืองรอง รุ่งรัศมี กลายเป็นบุคคลสำคัญของชีวิตได้ ก็ด้วยการเชื่อมโยงของ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ที่ชักพา โน้มน้าว สร้างบรรยากาศให้คนทำหนังสือรุ่นน้องใกล้ชิด ได้ฟังเส้นทางธุรกิจ ชีวิต และอุดมคติของนักเขียนรุ่นพ่อ รุ่นพี่ กับคนหนุ่มที่ไม่รู้เรื่องใดๆ เลย เขาจุดฟืนฉายไฟ แนะนำ บอกสอน เมตตา เขาพูดเสียจนเรารู้สึกว่า เอาวะ เอา ทำ ไปได้ จะไป จะต่อสู้ จะลุ้มลุกคลุกคลานไปในเส้นทางนี้
กับใครคนอื่น เรืองรอง รุ่งรัศมี เป็นนักเขียน นักแปล เป็นคุรุเรื่องจีนที่ทำให้ชื่อ ‘โก้วเล้ง’ นักเขียนนวนิยายกำลังภายในเปล่งประกายมากยิ่งขึ้นจาก ‘เดียวดายใต้เงาจันทร์’ กับผม–เรืองรอง รุ่งรัศมี คือครูนักเขียน คือพี่ชาย คือสุภาพบุรุษ คือกรรมกรที่มีแต่เหงื่อ เหงื่อ เหงื่อ ผู้ยืนอยู่กลางแดด กลางฝน คือคนธรรมดาที่เราต้องก้มหัวให้
บ้านในซอยประชาอุทิศ 33 ของเขานั่นผมเข้าออก–กินนอนมานับครั้งไม่ถ้วน, ทะเลบูบู จังหวัดกระบี่, แพเมืองกาญจน์, บนถนนจากเชียงใหม่ พะเยา น่าน และค่ายนักเขียนน้อย ริมแม่น้ำ ฉากชีวิตระหว่างเรายาวนาน
วัฒน์ วรรลยางกูร เป็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่ของไทยเฉกเช่น เออร์เนสต์ เฮมมิ่งเวย์ เป็นความภาคภูมิใจของอเมริกา ไล่ชื่อนักเขียนที่คุณชอบมาเถอะ แล้วเอาชื่อวัฒน์ไปทาบ แบกน้ำหนักบ้างก็ไม่มีปัญหา จะชกแบบไทยหรือสากล นวนิยายหรือสารคดี บทกวีหรือเรื่องสั้น เอาว่าวัดกันปอนด์ต่อปอนด์ วัฒน์ วรรลยางกูร ไม่เป็นสองรองใคร กระดูกเขาดีจริงๆ พื้นฐานแน่น ขึ้นสังเวียนแล้วขยันชก สี่สิบเกือบห้าสิบปี ไม่หนีหน้าหายไปไหนเลย เป็นที่สุดของการยืนระยะ เป็นอุดมคติที่คิดแล้วทำจริง ทำทั้งชีวิต เป็นตายยังไงก็เขียน โอ้โฮ ยอมใจ
สัมพันธภาพของผมกับเขาคือแฟนหนังสือกับนักเขียน จุดเริ่มต้นเป็นเช่นนั้น ต่อมาย้ายสู่บทบาทสื่อมวลชนกับแหล่งข่าว และสี่ห้าปีหลังสุด เป็นพี่ชายที่ผมเคารพรัก
วันจากลา เรืองรอง รุ่งรัศมี กับ วัฒน์ วรรลยางกูร อายุ 67 ปี เท่ากัน
เรืองรองกำลังทำงานใหญ่ คือพจนานุกรม จีน/ไทย เขาทำได้ค่อนทาง เมื่อความตายมาเคาะประตู
ขณะที่วัฒน์เขียน ‘ต้องเนรเทศ’ สำเร็จบนเตียงผู้ป่วย ประเทศฝรั่งเศส คอยดูว่ามหากาพย์วรรณกรรมเล่มนี้จะแสดงอิทธิฤทธิ์ตามรอย ‘เหยื่ออธรรม’ ของ วิกตอร์ อูโก ได้แค่ไหน อย่างไร ในฐานะ ‘ผู้ลี้ภัย’ ที่มีชะตากรรมใกล้เคียงกับ ‘ศรีบูรพา’ ครูบาอาจารย์ที่ล่วงหน้าไปก่อน ด้วยยืนอยู่คนละฝ่ายกับผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดินแม่
วาด รวี เปรียบเสมือนจอมทัพทางวรรณกรรม ครบเครื่อง มีพลังทั้งงานเขียนงานแปล เคยทำร้านหนังสือและเป็นบรรณาธิการหนังสือ ทศวรรษที่ผ่านมา วันเวลาที่สังคมไทย ‘คุยกัน ทะเลาะกัน ทำร้ายกัน’ ด้วยเรื่องอันเกี่ยวเนื่องกับบทบาทสถาบันกษัตริย์ เขาเป็นหนึ่งในนักคิดนักเขียนที่เอาการเอางานอย่างยิ่ง ปรารถนาดีอย่างยิ่ง ผลงานรวมเล่มสายฮาร์ดคอร์อย่าง ภูเขาน้ำแข็ง, พื้นผิวของความทรมาน, ในลวงใจ, การเมืองโมเบียส และ โอลด์ รอยัลลิสต์ ดาย เป็นหลักฐานที่จริงใจ ทำในที่แจ้ง วาดหวังสร้างสันติสุขและการอยู่ร่วม
พูดถึง วาด รวี อย่างไรก็ต้องพูดเรื่องที่เขาลุกขึ้นมาเป็นตัวตั้งตัวตี เขียนจดหมายถึงเพื่อนนักเขียน เชิญชวนให้ลงชื่อ แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพูดบทบาทการยกร่าง หลักการและกติกา รางวัลพานแว่นฟ้า แม้จะถูกตอบสนองด้วยการลาออกของกรรมการหน้าเก่า และต่อมายกเลิก เขียนกฎกติกาใหม่ เอาใจฝ่ายจารีตนิยม ในทางประวัติศาสตร์ ข้อเสนอจาก วาด รวี ก็ถูกจารึกไปแล้ว และโหวตชนะ ทั้งที่มีเพื่อนร่วมแนวทางเพียง 5 คน
กล่าวสำหรับแวดวงกวีนิพนธ์ ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ผมเห็นว่า ‘สถาปนาสถาบันประชาชน’ ของ ไม้หนึ่ง ก.กุนที และ ‘บทกวีคือการทรยศ’ ของ วาด รวี คือผลงานที่โดดเด่น งดงาม ทรงพลังที่สุด เป็นบันทึกของยุคสมัยที่กาลเวลาไม่อาจทำลายได้ มันปักหมุดลงไปแล้วในใจผองชนผู้มีกระดูกสันหลังตั้งตรง

ลองดูไทม์ไลน์การจากลา วัฒน์ วรรลยางกูร กับ วาด รวี นี่ห่างกันสองเดือนเองนะ
ลองนึกถึงหัวอกคนใกล้ชิดของสองนักเขียน แผลเก่ายังไม่หาย มันคล้ายโดนแทงซ้ำรอย
การพลัดพรากบุคคลอันเป็นที่รักย่อมมีทุกข์ เรื่องนี้เราคงไม่ต้องพูดกันยาว สิ่งที่น่าพินิจก็คือบุคลากรชั้นเลิศทั้งสี่คล้ายเป็นคนนอกของรัฐไทย ไม่เคยอยู่ในสายตา
ไม้หนึ่งถูกปรามาสว่าเป็นทาสทักษิณ เป็นพวกควายแดง เดือนเมษาฯ พฤษภาฯ ปี 2010 เพื่อนพี่น้องถูกล้อมปราบกลางเมือง ต้องหนีตายไปต่างแดน ย้อนกลับมาอยู่เมืองไทยได้สองปี ก็ถูกลอบยิง เสียชีวิต
วัฒน์โดนคดี 112 มีชื่อขึ้นจอทีวีให้ไปรายงานตัวกับคณะรัฐประหาร ถูกอายัดบัญชี และเพิกถอนหนังสือเดินทาง
วาด รวี ถูกตำรวจติดตามคุกคามถึงบ้าน
เรืองรองเจ็บช้ำกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลายช่วงของชีวิตต้องหลบๆ ซ่อนๆ กลับบ้านไม่ได้เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย ถึงขั้นเคยให้สัมภาษณ์กับผมว่า –ไม่อยากตายบนแผ่นดินนี้ เป็นไปได้อยากไปตายที่อื่น แผ่นดินนี้สกปรกมาก ตายแล้วชีวิตสกปรกน่ะ งานทั้งหลายที่ทำ หลังผมตายร้อยปีก็ไม่ใช่งานสาธารณะของแผ่นดินนี้นะ ผมไม่อนุญาต พูดไว้ตรงนี้เลย ถ้าเป็นแผ่นดินอื่น ผมให้ ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม ผมให้ได้หมด ให้ด้วยความยินดี..
Top 4 คือทัศนะส่วนตัวผม เราอาจเห็นแตกต่างกันได้ ไม่แปลกหรอก
คนที่ผมเห็นว่ามีผลงานเลอเลิศ คุณอาจไม่เห็น ไม่รู้สึก กระทั่งลึกๆ บางคนอาจขัดแย้ง มองเป็นตรงกันข้าม ถึงอย่างไรก็ไม่ยากเกินกว่าจะเข้าใจ เห็นคนละอย่างก็ถกเถียง แลกเปลี่ยน เอาเหตุผลมาชั่งวัดกัน แต่ลองพิจารณาสิ่งที่สังคมไทยกระทำต่อพวกเขา ดูสิ่งที่ประเทศที่รักของเรากระทำต่อพลเมืองของตัวเอง
คำว่าให้ ไม่มี
ที่เห็นและเป็นไป มีแต่บ่อนทำลาย ไล่ล่า บ้างว่ากันถึงขั้นเอาชีวิต
ไม่เห็นคุณค่า เท่าที่เห็นมีแต่เข่นฆ่า
สังคมที่เจริญพัฒนาแล้วเขาเน้นงานส่งเสริมและปลดปล่อย แผ่นดินแห่งนี้เน้นปิดกั้นและจับกุม
กับนักคิดนักเขียน กับคนที่มีปากมีเสียง รัฐไทยยังไม่ฟัง ไม่เห็น ไม่มีกฎกติกา ประสาอะไรกับคนหนุ่มคนสาวที่ออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คุณยังมองโลกแง่ดีอยู่ไหมว่ารัฐไทยจะมีดวงตา จำแนกแยกแยะ ขยะ เพชรพลอย ป่าเถื่อนและยุติธรรม
แปดปี สี่คน..
ด้วยรสนิยมและสัมพันธภาพส่วนตัว สำหรับผม มันเจ็บแน่ๆ แต่นั่นก็น้อยกว่าภาพตรงหน้า ภาพที่ผู้ใหญ่กำลังไล่ล่าทำร้ายเด็ก มันน่าสมเพช โหดเหี้ยม และโง่เขลา ตกลงเรายืนอยู่ในสังคมที่แยกแยะไม่ได้จริงๆ หรือ ว่าสิ่งใดคือคุณค่า คืออนาคต
สิ่งใดไร้ค่า หมดอายุ
นักคิดนักเขียนทั้งสี่พูดเรื่องนี้มานานแล้ว.

เรื่อง: วรพจน์ พันธุ์พงศ์
ภาพลายเส้น: สุมาลี เอกชนนิยม