essay nadialogue
essay

‘บ้านป่าหน้าฝน’ ความเรียงโดย วรพจน์ พันธ์ุพงศ์

เหมือนไม้ แต่สักพักเริ่มขยับ เคลื่อนไหวอยู่ข้างถนน ลากตัวเลื้อยช้าๆ

ผมผ่อนคันเร่ง หาที่จอด มองกระจก รถเก๋งที่ตามหลังมาชะลอความเร็ว และหยุดอยู่ข้างกัน ปล่อยให้สิ่งมีชีวิตเลื้อยคลานค่อยๆ เคลื่อนข้ามฝั่ง

คนขับรถเก๋งเปิดกระจก ส่งยิ้ม ผมชูนิ้วโป้งให้

งูไปแล้ว พวกเราก็ไปกันต่อ

ซุ่มซ่าม ไม่ดูตาม้าตาเรือ มีชีวิตอยู่บ้านป่าไม่ได้

ทุกฝีก้าวต้องระวัง ยิ่งฝนหนักๆ ตกต่อเนื่อง อากาศชื้น แมลงป่องช้างตัวดำๆ ชอบ ยุงเยอะ ทั้งที่ปกติแทบไม่มี เพียงแอ่งน้ำเล็กน้อย ยุงวางไข่และแพร่ขยายพันธุ์รวดเร็ว ไหนจะบุ้ง เทศกาลแห่งบุ้งนับหมื่นๆ แสนๆ ตัว เกาะขนดำละเอียดยิบอยู่ตามต้นไม้ แมลงหลากหลายชนิด ที่ร้ายคือพวกต่อหัวเสือ พลาดพลั้งปะทะกัน พิษสงมันรุนแรง

สัตว์คงไม่ตั้งใจจะทำร้ายใคร แต่บ้านเราก็บ้านพี่เขาเหมือนกัน ตัวไหนอยู่ร่วมกันได้ ก็อยู่กันไป (อย่ามาใกล้นักก็แล้วกัน) ตัวไหนอยู่ร่วมกันไม่ได้ ใครมีอำนาจ มีฤทธิ์เดชเหนือกว่า ก็เป็นผู้ชนะ เป็นผู้ครอบครอง

โลกมันเป็นเช่นนี้

 

ฝนที่สองของการมาอยู่เมืองน่าน ผมเริ่มนิ่งขึ้น เข้าใจเกมมากขึ้น

ทั้งที่เป็นคนรักของสายฝน แต่ฝนแรก ปีแรก ก็เล่นเอาต้องนั่งถอนหายใจอยู่หลายวัน ขนาดรัก ที่ว่ารักๆ เจอฝนหนักๆ ต่อเนื่อง ก็มีสบถในใจ –มึงหยุดตกบ้างก็ได้นะ ไอ้สัส

 

essay nandialogue

 

ทางเข้าบ้านเละ ลื่น แอ่งน้ำบ่อโคลนดักอยู่เป็นระยะ แม้ว่าระมัดระวังแล้ว มอเตอร์ไซค์คู่ชีพก็ยังเป๋ยังปัดบ่อยๆ ต้องคอยลากเท้าประคอง ฝันใฝ่วัยเยาว์ที่เคยอยากเป็นนักแข่งมอเตอร์ไซค์วิบากเป็นจริงดังฝัน และอยากหมุนเวลาไปตบเด็กเวรคนนั้น

ทำไมมันไม่ฝันถึงถนนเรียบๆ

อาหารที่ตุนไว้ร่อยหรอ เสื้อผ้าหมกไว้เป็นสัปดาห์ รอแสงแดด รอ และไร้ความหวัง สัญญาณโทรศัพท์ขาดๆ หายๆ มีสายเรียกเข้าก็โทรฯ กลับไม่ได้ จะขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปหาคลื่น ก็ยุ่งยากไป ยิ่งในยามค่ำคืน

 

ฝนมา ต้นหญ้าเหมือนมีปีก เขียวครึ้มปกคลุมรอบบ้าน แค่คิดจะสู้ก็ผิด ไม่คิดจะสู้เลยก็แพ้ ทำอะไรไม่ได้ จะรกยังไงสุดท้ายก็ต้องยอม นั่งมองความเขียวที่รุกคืบครอบครองพื้นดินทุกตารางนิ้ว

ยิ่งปล่อย คล้ายปากใหญ่ๆ ของมันยิ่งได้ใจ กลืนกินที่ว่างรอบบ้านหายเรียบ วันผ่านวันมีแต่สีเขียวของวัชพืช จากปากทางถึงตัวบ้าน จากพื้นดินป่ายปีนเลื้อยคลุมไปถึงหลังคา

ทางเดินหาย จม กลายเป็นทะเลหญ้า

สระน้ำหดแคบเล็กลง ด้วยหญ้าบุกรุกโจมตี มองไม่เห็นว่าขอบว่าฝั่งอยู่ตรงไหน บันได เก้าอี้ ต้นไม้ที่ลงไว้ริมสระ ทุกอย่างพ่ายแพ้ราบคาบ

เห็นๆ อยู่ว่ากล้วยสุกเต็มเครือ ก็จนปัญญา เดินฝ่าดงหญ้าลงไปตัดไม่ได้

ยอม อะไรก็ยอม ปล่อยให้เป็นอาหารของนกหนู

 

ฤดูฝนที่สองของการเลือกมาอยู่เมืองน่าน ทุกอย่างยังเป็นไปเหมือนเดิม แต่ตัวเราคล้ายเริ่มปรับตัว ทำใจ เข้าใจ สู้ในจุดที่พอสู้ไหว ทำ เท่าที่ทำได้ ส่วนที่เกินกว่านั้นปล่อย ยอม กระทั่งยิ้ม เย้ยหยัน การกระโดดเอาหัวชนกำแพงไม่มีประโยชน์ การโกรธป่า เขา ธรรมชาติ มันปัญญาอ่อน

เช้านี้ เปิดกล่องข้อความในเฟซบุ๊ก มีแต่คำถาม –บ้านเป็นไงบ้าง/ น้ำท่วมมั้ย/ ดินสไลด์หรือเปล่า/ เห็นข่าวน้ำท่วมเมืองน่าน น่ากลัว/ ระวังตัวนะ/ เป็นห่วง ฯลฯ

ขอบคุณทุกคน ทุกเสียง ที่ปรารถนาดีต่อกัน
ขอบคุณทุกๆ คน ที่คิดถึง เป็นห่วงเป็นใย
เทคโนโลยีดีขึ้น ข่าวสารทั่วถึงมากขึ้น เรื่องและภาพของเมืองห่างไกลแพร่กระจายสู่สายตาคนทั่วโลกในชั่วพริบตา ทว่า, บางมุมก็สร้างความเข้าใจผิด คิดว่าน่านแปลว่าภาพที่เห็น น้ำท่วมน่านแปลว่าท่วมทั้งเมือง คล้ายๆ มีเสียงปืนเสียงระเบิดที่ปัตตานีก็คิดว่า ดังตลอดเวลา ป่าเถื่อน อันตรายสุดๆ เดินออกจากบ้านไม่ได้ ไปเยือนไม่ได้

 

น้ำท่วมจริงๆ ใช่มั้ย
คำตอบคือจริง
เสียงปืนมีจริงๆ ใช่มั้ย
คำตอบคือจริง แต่ความจริงมันไม่ได้มีเพียงเท่านั้น ไม่ใช่มีเท่าที่เห็นในภาพ แน่นอน, อาจมากกว่า อาจน้อยกว่า ยังมีซอกมุม และเรื่องราวอื่นๆ อีกมากมาย มีความงดงามที่คู่ควรคุ้มค่ากับการเดินทางมาชื่นชม

กับเทคโนโลยีที่ดี เราจึงต้องสร้างวัฒนธรรมการเสพข่าวสารที่รอบ ลึก ระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นโลกทัศน์จะถูกกักขังโดยข่าวสาร ถูกครอบขังด้วยข้อมูล ‘ที่คิดไปเอง’

 

เมืองริมแม่น้ำ บ้านริมแม่น้ำ คล้ายลิ้นกับฟัน อยู่ด้วยกันย่อมมีจังหวะกระทบกระทั่ง เลี่ยงไม่ได้ ถ้ายืนยันจะอยู่ใกล้ชิด

ผมไม่ใช่ลูกแม่น้ำ ชอบ แต่ก็กลัว รู้ตัวว่าทำได้ไม่ดีแน่ๆ ถ้าน้ำหลาก น้ำมาก แก้ปัญหาไม่เก่ง ทางเลือกแรกๆ เมื่อมาอยู่เมืองแม่น้ำอย่างน่านคือ เลือกทำเลที่ไม่เสี่ยง พูดง่ายๆ คือไม่ว่าจะรักจะชอบแม่น้ำแค่ไหน ก็ขออยู่ให้ห่างๆ ทางน้ำไว้ สู้ไม่ไหว ทำไม่เป็น ไม่พร้อม ไม่สะดวก ที่จะยกข้าวของหลบหนี ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความอดทน เรื่องพวกนี้ผมชัดเจนกับตัวเอง

ฉะนั้น เรื่องน้ำท่วมตัดไป ทำเลที่ผมเลือก ไร้ปัญหานี้

ดินสไลด์ล่ะ

ภาพข่าวดินสไลด์ที่น่านสยดสยอง สร้างความสูญเสียที่ประเมินค่ามิได้

การอยู่กับภูเขา บางทีมันเกินกำลัง เกินสติปัญญาของคนเรา เหมือนเรื่องแผ่นดินไหว โศกนาฏกรรมทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องความประมาท หากเป็นวาระและวิถีธรรมชาติที่มนุษย์พบเผชิญ ถึงคราวเคราะห์ เราทำอะไรไม่ได้เลยจริงๆ

ต่อให้เลือกแล้ว ไตร่ตรองแล้ว ยามภัยพิบัติจะมา เราห้ามไม่ได้
โศกนาฏกรรมบางชนิด เราไม่ได้สร้าง ไม่ได้ประมาท แต่มันเกิดขึ้นได้
วันนี้เรารอด ปลอดภัย พรุ่งนี้เราไม่รู้..

ถามว่า บ้านป่าหน้าฝน ไม่มีอะไรดีเลยหรือ
มีสิ

ฝนคือน้ำ น้ำเป็นปัจจัยหลักของการยังชีพ น้ำเป็นสิ่งที่คนอยู่บ้านป่าปรารถนา หน้านี้เราใช้น้ำได้โดยไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน จะซักจะล้างแต่ละทีไม่ต้องนับจำนวนขัน ไม่ต้องกังวลว่าน้ำฝนจะหมดแทงก์

ไม่มีหมด หรือต่อให้หมดวันนี้ พรุ่งนี้มันก็มา

 

essay nandialogue

 

ชีวิตนอกโครงสร้างของการประปาจังหวัด ฝนคือพระเจ้า มีฝน มีน้ำ เราก็มีชีวิตชุ่มฉ่ำ ใช้น้ำได้ตามใจ ไม่ว่าซักล้าง หรือเพาะปลูก
ต้นไม้งอกงามอย่างยิ่งในหน้าฝน

เอาว่า แค่โยนเมล็ดทิ้ง และเอาเท้าเขี่ยๆ มันก็งอก

ดินภูเขาอุดมสมบูรณ์ ฝนยังตกต้องตามฤดูกาล พืชผลรอบบ้านจึงสะพรั่ง ไม่ว่าลำไย ลิ้นจี่ ฝรั่ง กล้วย อะโวคาโด แอปเปิลเมือง มะกรูด มะนาว ตะไคร้ กะเพรา แค ขิง ข่า พวงคราม ลั่นทม พิกุล พยอม ฯลฯ ดอกสักบานพราวทั้งเมือง ต้นไม้ใบไม้เขียวร่าเริง มองไปทางไหนก็มีแต่สีเขียวสบายตา

ฝนมา อากาศก็เย็นทั้งวัน
ฝนมา เหมาะกับการนั่งจิบกาแฟ ฟังเพลงเบาๆ
ฝนมา เหมาะที่สุดกับการนั่งทำงาน เขียนหนังสือ อ่านหนังสือ เพียงเตรียมอาหารและวัตถุดิบไว้ให้พร้อม นั่งทำงานอยู่บ้าน หน้าฝนคือสรวงสวรรค์ดีๆ นี่เอง

 

เหลือกันยายนอีกเดือนเดียว ฝนก็จะอำลา
ถึงตุลาคม ก็คงซาเต็มที อย่างที่เขาเรียกปลายฝนต้นหนาว
ไม่นาน ความชื้นๆ ฉ่ำๆ เละๆ ลื่นๆ ก็จะล่วงผ่าน ไม่มีแล้ว การเดินอยู่ดีๆ แล้วก็ลื่นล้ม
ตอนเจองู เจอแมลง เจอกองผ้าที่เฝ้าแหงนหน้ารอแสงแดด เราเร่งคืนวัน ว่าเมื่อไรหนาวจะมา พอมาจริงๆ แสงแดดก็คือความฝัน อยากได้ อยากมี อยากได้ไออุ่นของแสงตะวัน

คนเอย.. ฝนมา ก็อยากได้แดด
แดดแรงร้อน ดินแห้ง ก็อยากได้ฝน อยากใส่เสื้อกันหนาว ขึ้นดอย ดูหมอกยามเช้า
คนเอย.. อยู่คนเดียวนานๆ ก็อยากมีเพื่อน มีคนรัก
พอมี พอเหนื่อยหนักๆ เข้าก็อยากหลบเร้น โหยหาอิสรภาพ อยากมีชีวิตโดยลำพัง

ถามว่า ความพอดีมีไหม
มีสิ มีแค่ห้านาที แล้วมันก็เคลื่อน
ฝนสู่หนาว หนาวสู่ร้อน สลับวนเวียน
ถนนที่ไม่ควรจะมีงู บางวันมันก็มี

บางคนเร่งและเหยียบร่างยาวๆ นั้นแหลกเละ บางเราผ่อน พัก รอคอย และยิ้มให้กับชีวิต.

 

nandialogue

 

ภาพ : สุมาลี เอกชนนิยม

พิมพ์ครั้งแรก ในนิตยสาร GM ปี 2018

You may also like...