ฮันน่าห์ เฮอร์ Hannah Hoch ศิลปินหัวแถวของลัทธิดาดาแห่งเยอรมนี ศิลปินหญิงผู้บุกเบิกศิลปะแบบคอลลาจ collage หรือบางทีอาจเรียกว่า Photomontage คอลลาจคือการนำภาพมาปะติดปะต่อให้เกิดภาพลักษณ์และความหมายใหม่ วันนี้เทคนิคคอลลาจยังเป็นกระแสนิยมในการสื่อสารทั้งออฟไลน์ออนไลน์ ยังเป็นที่นิยมในหมู่นักทำภาพประกอบมาจนถึงวันนี้ โลกรู้จักเธอน้อยเกินเมื่อเทียบกับความสามารถ ในฐานะศิลปินหญิงผู้มีส่วนในการปฏิวัติโลกศิลปะ
เธอกล้าวิพากษ์วิจารณ์การเมืองการปกครอง บทบาททางเพศ กล้าตรวจสอบสิทธิหน้าที่และวัฒนธรรมทุนของสังคม
ดาดาอิสม์ คืออะไร
Dadaism คือกลุ่มเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ต่อต้านสังคม ช่วงก่อนเกิดสงครามมีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีทำให้ทั้งโลกเปลี่ยนวิธีคิดวิถีชีวิตและกระบวนการทำงาน สงครามโลกครั้งแรกกลืนกินเวลาไปสี่ปี (ก็ไม่รู้จะฟาดฟันกันไปทำไมนะ) จากเหตุที่หลายประเทศในยุโรปขัดแย้งกันแล้วลามไปถึงประเทศอื่น ประเทศที่มีกองกำลังอาวุธเข้มแข็ง อยากได้อาณานิคมใหม่เพื่อค้นหาทรัพยากรป้อนระบบอุตสาหกรรม ก็ใช้วิธีกดขี่เอาเปรียบใช้กำลังทางทหารที่เข้มแข็งกว่าต่อสู้แย่งชิง ช่วงนี้เกิดโรคระบาด คนอดอยาก เศรษฐกิจแย่ ทุกประเทศเน้นพัฒนาอาวุธ แก๊สพิษ รถถังปืนกล ไม่ใส่ใจคุณภาพชีวิตของชาวบ้านชาวเมือง เพราะสภาพบ้านเมืองเป็นแบบนี้ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหว ทำงานศิลปะก็เคลื่อนไหวไปในรูปแบบศิลปิน
ก่อนจะเป็นดาดาอีสม์
เริ่มจากที่ Hugo Ball เปิดคาบาเร่ต์ที่เมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์ แหล่งซ่องสุมศิลปินนักคิดนักเขียน ตอนกลางคืนที่ร้านกาแฟของเขาจะมีการอ่านบทกวี มีคนออกไปเต้นระบำกับเสียงเพลงจากวงออร์เคสตรา คนเที่ยวจะแต่งตัวกันมาแบบสุดฤทธิ์สุดล้ำแข่งกันเซอร์เรียล Emmy Henning ภรรยาของฮูโก เธอมีส่วนอย่างยิ่งในการเปิดฟ้าดาดาอิสม์ เพราะที่ Cabaret Voltaire จะมีการแสดงของเธอกับตุ๊กตา โดยเธอใช้ตุ๊กตาเป็นผู้พูด พูดความต้องการของเธอและสามี
บางคืนเธอจะเต้นระบำกับตุ๊กตา ใช้ตุ๊กตาร่วมอ่านบทกวีและความเรียง อ่านข้อความที่ไม่เคยมีใครเคยได้ยินมาก่อน การอ่านข้อความเสียดสีเยาะเย้ยให้ผู้คนได้อาย โดยมีเธอเป็นผู้ควบคุมนั้นเป็นเหมือนการแสดงแบบใหม่สำหรับชาวเมืองซูริคในเวลานั้น เวลาผ่านไปสักระยะ ในที่สุดดาดาอิสม์ก็แจ้งเกิดจริงจัง เมื่อ Hugo Ball ศิลปินเจ้าของร้านกาแฟและเพื่อน Jean Arp และ sophie Taeuber ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ดาดาอิสม์ มีแนวร่วมเข้ามาสมคบคิดหลายคน หนึ่งในนั้นคือ ฮันน่าห์ เฮอร์
ศิลปินดาดาแห่งเบอร์ลิน ฮันน่าห์ เฮอร์ เป็นศิลปินหญิงหนึ่งเดียวรุ่นก่อตั้งดาดาอีสม์ สังคมไม่รู้จักตอนยังมีชีวิต เธอถูกทำให้หายไปจากประวัติศาสตร์ศิลปะ เกือบร้อยปีมาแล้วที่ผลงานของเธอได้ตั้งคำถามตรวจสอบและทบทวนอำนาจการทำลายภาพ ลักษณ์ทางเพศและเชื้อชาติ ตั้งคำถามต่อคุณค่าของเครื่องจักรอัตโนมัติกับการเลื่อมใสใส่ใจมนุษย์ กล้าหาญที่จะตรวจสอบอุดมคติของสังคม
ฮันนาห์ เกิดในเมืองเล็กๆ เป็นชนชั้นกลางฐานะดี เติบโตในครอบครัวที่พ่อยังคิดว่าเด็กผู้หญิงควรแต่งงานและลืมเรื่องการเรียนศิลปะไปเสีย เมื่ออายุยี่สิบกว่าเธอไปเบอร์ลิน ไปเรียนศิลปะประยุกต์เรื่องการออกแบบแก้ว ดูเป็นงานของผู้หญิงมากกว่าการวาดรูป พอเกิดสงครามโลกโรงเรียนออกแบบถูกสั่งปิด เธอต้องกลับบ้านไปทำงานร่วมกับหน่วยกาชาด เมื่อสงครามสงบแล้ว เธอกลับมาเรียนอุดมศึกษาต่อที่เบอร์ลิน ในสาขานักออกแบบเครื่องแก้ว ช่วงวัยรุ่นเธอไม่กล้าที่จะเลือกเรียนวิจิตรศิลป์ซึ่งเป็นพื้นที่ต้อนรับชายหนุ่มเท่านั้น จนเมื่อเธอมาเจอกับราอูล Raoul Hausmann ศิลปินชาวออสเตรีย หัวขบวนอีกคนที่แนะนำให้เธอรู้จักกลุ่มดาดาที่กำลังขยายตัวเคลื่อนไหวมาจากซูริก กลุ่มดาดาอิสม์มาปักหลักเป็นกลุ่มศิลปะใต้ดินของเบอร์ลิน เกิดดาดาอีสม์แห่งเยอรมนี
ช่วงที่เข้าร่วมก่อตั้งดาดาอีสม์แห่งเบอร์ลิน เธอยังรับจ้างทำงานออกแบบปักผ้าถักโครเชต์นิตติ้ง (ไม่ได้ทำงานออกแบบเครื่องแก้วอยู่ดี) แต่เมื่อสุมหัวอยู่กับกลุ่มใต้ดินเบอร์ลิน แนวคิดต่องานถักทอเปลี่ยนไปแล้ว เธอเขียนถ้อยคำสนับสนุนงานปักสมัยใหม่ว่า การปักผ้าก็เหมือนกับการวาดภาพ งานสามารถพัฒนารูปแบบไปเป็นนามธรรมได้ งานปักก็เท่ากับศิลปะรูปแบบอื่นๆ มันเปลี่ยนแปลงได้ด้วยสไตล์ใหม่ในแต่ละยุค งานควรมีคุณค่าเท่ากัน กว่าสิบปีที่ทำงานออกแบบ เธอเริ่มสนใจทำงานคอลลาจและพัฒนาเทคนิคการตัดต่อภาพได้อย่างรวดเร็ว ความคิดของเธอแหวกแนวและโดดเด่น กลายเป็นคนสำคัญของกลุ่มเคลื่อนไหวดาดาเบอร์ลินที่มีผู้ชายเป็นศูนย์กลาง
บางทรรศนะที่เธอประกาศคือ สังคมควรยอมรับงานที่เกิดจากมือมนุษย์ทั้งหมด ที่เราเรียกว่าหัตถกรรมทำขนม สานตะกร้า หรือออกแบบแหวนเพชร งานฝีมืออาศัยอุปกรณ์หลายอย่าง แต่อุปกรณ์นั้นก็ควบคุมด้วยมือคนอยู่ดี การเย็บปักถักร้อยดูเป็นงานผู้หญิง ไม่เหมือนงานประติมากรรม แต่มันก็เกี่ยวพันกับศิลปะตรงที่ต้องใช้สีเป็น แล้วมันก็เปลี่ยนรูปแบบพัฒนา อยู่ที่คนออกแบบจะคิดได้ งานที่ใช้ด้ายแทนสีสร้างรูปทรงบุคคลได้ งานปักผ้าแบบนี้สมควรมีคุณค่าเทียบเท่างานรูปแบบจิตรกรรมประติมากรรม
จากงานปักผ้าเธอเริ่มหันมาทำงานคอลลาจอย่างจริงจัง ศิลปินร่วมสมัยเธอบางคนศึกษาวิธีปะติดรูปนี้เหมือนกัน แต่ช่วงนั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลาย คาดเดาจากความก้าวหน้าของการถ่ายภาพยังอยู่ในระยะเริ่มต้น การอัดขยายภาพจากการมีกล้องโกดักที่กำลังเป็นของใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ เธอสนุกกับการตัดภาพจากวารสารแผ่นโฆษณา ภาพพิมพ์ในหนังสือนำมาปะติด รวมทั้งการวาดสีผสมผสานไปด้วย สร้างงานปะติดมากมาย ด้วยความคิดในช่วงเวลานั้น เธอวิจารณ์ทัศนคติของสังคมที่มีต่อผู้หญิง มองข้ามความต่างของมนุษย์ทุกสีผิว เธอตัดรูปหน้าแขนขาของเครื่องจักรผู้ชายชนเผ่าคนผิวสีต่างๆ เข้ากับรูปตัวเอง สร้างรูปคนแบบใหม่ สร้างภาพลักษณ์ใหม่กว่าร้อยปีที่แล้ว ทำตอนนั้นดูแปลกใหม่แน่ๆ ไม่ใช่รูปคนหรือตุ๊กตาแบบประเพณีที่ทำกัน ทำให้เธอโดดเด่นเป็นที่จดจำ
คนส่วนใหญ่รู้จักโถฉี่ของ มาแซล ดูชอง ศิลปินดาดาคนดัง บางคนเรียกงานชิ้นนี้ว่าเป็นประติมากรรมที่น่าอาย เราคุ้นเคยโถฉี่ของดูชอง คุ้นเคยงานเขียน The Approximate Man ของนักเขียนและนักแสดงที่ทรงอิทธิพล Tristan TZara แต่ไม่คุ้นงานศิลปินหญิงแม้แต่คนเดียว โถฉี่ถือว่าเป็นประติมากรรมที่โดดเด่นของศตวรรษที่ 20 เห็นได้ชัดว่าศิลปะช่วงนี้เปลี่ยนจริงจัง ศิลปินกล้าหาญมากความคิดก้าวกระโดด งานชิ้นนี้ดูชองใช้วัสดุสำเร็จรูปที่ทำโดยระบบอุตสาหกรรม เมื่อเขาส่งไปร่วมแสดงที่ Paris Salon งานของเขาถูกปฏิเสธว่าไม่เป็นงานศิลปะ ที่เราเห็นกันทุกวันนี้คือของใหม่ที่หอศิลปะ Tate อังกฤษทำขึ้นมา
รูปโมนาลิซ่าที่มีเคราแพะและหนวด ดูชองเขียนเสียดสีสุนทรียภาพของชนชั้นสูง ดูชองติดรูปโมนาลิซาบนโปสต์การ์ดแล้ววาดหนวดเพิ่มลงไป เขาตั้งชื่อภาพว่า LHOOQ ถ้าออกเสียงเป็นฝรั่งเศสจะพ้องกับคำว่า Elle a chaud au cul เธอร้อนแรงที่บั้นท้าย
ทั้งดูชอง ตริสตันและคนอื่นๆ อีกหลายหนุ่มคือศิลปินรุ่นรับไม้ต่อจากดาดารุ่นบุกเบิก กว่าดาดาจะแข็งแรงยืนยาว จากยุคเริ่มต้นไม่มีผู้หญิงได้เรียนศิลปะ อย่าค้นหาแต่เมืองไทยเลย ในเยอรมนีเองกว่าจะยอมรับสถานะของศิลปินหญิง เธอก็ต้องพิสูจน์ตัวเองนาน มุมมองด้านมนุษยนิยมบวกวิสัยทัศน์คอมมิวนิสต์ที่ต่อต้านฟาสซิสต์ของเธอ คือมุมมองของดาดา เธอเริ่มได้รับการยอมรับจากศิลปินหนุ่มดาดาอื่นๆ แต่ไม่ใช่ทุกคน
ตัวงานคอลลาจของเธอมักมีเนื้อหาจากสิ่งที่เธอคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน เธอตัดต่อรูปออกมาในเชิงกวี ทำออกมาให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ผลงานเธอมีอารมณ์ขันแบบขมขื่นเชิงเหน็บแนม ความกล้าหาญแบบนี้ทำให้เห็นจิตวิญญาณที่ดื้อรั้นอย่างแท้จริง ศิลปินหนุ่มในกลุ่มดาดา มักแสดงเนื้อหาการเมืองเป็นหลัก แต่ของเธอมีเนื้อหาเรื่องเพศที่เป็นประสบการณ์ต่างจากผู้ชายและข้อวิจารณ์เสียดสีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ตัวอย่างงานบางชิ้นตั้งคำถามว่าใครคือคนกำหนดมาตรฐานความงามและคือผู้ใครตัดสิน
เธอบอกว่าต้องมีชั้นเชิงให้มากกว่านั้น ต้องเอาเรื่องส่วนตัวใส่ไว้กับการเมืองให้ได้ แล้วก็ได้ลองทำ เธอค้นพบอิสรภาพแล้ว เธออิสระจากกรอบความคิดที่ผู้ชายมอง แล้วยังสามารถจินตนาการถึงมุมมองของชีวิตและวัตถุอื่นๆ วันนี้เธออิสระเขียนหรือเล่าอะไรก็ได้ เธอสำรวจบทบาททางเพศ ความเป็นไปของการสืบเผ่าพันธุ์ งานตัดปะของเธอมีชิ้นส่วนชายหญิงรวมกันอยู่ บทบาททางเพศแบบเก่าถูกทิ้งไป เธอทดลองเทคนิคใหม่ๆ ได้ทำหนังสือพิมพ์ ได้เขียนหนังสือ จากร่างแรกงานตัดต่อภาพของเธอให้พื้นฐานที่สำคัญเฉพาะทาง ประสบการณ์จากงานชุดแรกๆ ตอนต้นของเธอสร้างศักยภาพเชิงนามธรรมที่ยอดเยี่ยม มันกระตุ้นให้แนวคิดเธอเริ่มเปลี่ยน จากพรรณนาดอกไม้ใบหญ้า ไปสู่แนวทางที่ป้อนสมองป้อนหัวใจด้วยสัญชาตญาณที่ลึกกว่านั้น เธอผสมผสานวิจารณ์การเมืองเข้ากับองค์ประกอบของจินตภาพ อัตลักษณ์ทางเพศ
เป็นธรรมดาลางเนื้อชอบลางยา ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วยกับเธอ แม้จะเป็นสมาชิกกลุ่มดาดาเบอร์ลินเหมือนกัน George Grosz ที่เราคุ้นเคย สมาชิกคนอื่นๆ เช่น John Heartfield, Raoul Hausmann, Johannes Baader ไม่ยอมรับความสามารถของเธอในฐานะศิลปินหญิง โดยเฉพาะ John Heartfield กับ George Grosz ที่กีดกันไม่ยอมให้เธอร่วมแสดงงานศิลปะแห่งชาติ แต่สามีของเธอบอกว่าเขาจะไม่ร่วมแสดง ถ้าเธอถูกห้าม ส่วนเพื่อนคนอื่นๆ อย่าง Jean Arp และ Kurt Schwitters กลับเป็นศิลปินหนุ่มที่สนับสนุนศิลปินหญิงอย่างเต็มที่ ในที่สุด เธอก็มีงานแสดงเดี่ยวของตัวเอง งานคอลลาจชื่อ Cut with the Kitchen Knife ยังติดหูติดตา เป็นต้นทางของศิลปินรุ่นหลัง
ช่วงก่อนสงครามกระแส New women เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในสังคมตะวันตก ผู้หญิงยุคใหม่ชอบผจญภัยทางเพศ สูบบุหรี่ มั่นใจ เที่ยวไนต์คลับ แต่งกายด้วยแฟชั่น unisex ที่ดูเป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย ในผลงานของเธอที่ตั้งคำถามอะไรทำให้ผู้หญิงเป็นผู้หญิงและอะไรทำให้เป็นผู้ชาย การถือตัวแต่งตัวเป็นหน้าที่หรือเป็นสิทธิ งานชิ้นนี้เธอตัดต่อภาพร่างชายหญิงผสมกัน ตัวอย่างงานอีกชิ้นของเธอ ผู้หญิงรูปทรงเป็นเหมือนวัตถุทั่วไปวางขายข้างเครื่องจักรและของกินของใช้อื่นๆ เธอพยายามบอกเล่าความเท่าเทียม อธิบายจุดอ่อนของบางสรีระ
ไม่นานจากนั้น เธอขัดแย้งกับสามีและเริ่มเบื่อที่จะทนกับศิลปินชายในกลุ่มดาดาเบอร์ลิน เธอย้ายไปกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ เข้ากลุ่ม De Stijl เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ให้ความสำคัญกับสีและรูปทรงเรขาคณิตที่เรียบง่าย เธอมาเป็นเพื่อนกับ Pierre Mondian ชายหนุ่มที่เราคุ้นเคยกันดี
เรื่องของเธอจบไปนานแล้ว กว่าร้อยปีผ่านไปแล้ว วันนี้ถ้าเดินผ่านร้านหนังสือหรือมีโอกาสหยิบวารสาร จะเป็นสิ่งพิมพ์ออนไลน์ออฟไลน์หรืออะไรก็ตาม ลองเปิดดูว่าภาพประกอบไหนบ้างที่ไม่มีเทคนิคคอลลาจ.
เรื่องและภาพ สุมาลี เอกชนนิยม
เกี่ยวกับผู้เขียน : สุมาลี เอกชนนิยม จิตรกรชาวร้อยเอ็ด จบช่างศิลปแล้วไปต่อจุฬาฯ ก่อนบินลัดฟ้าสู่มหาวิทยาลัย Sorbonne กรุงปารีส แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1996 และทำงานสืบเนื่องเสมอมา มีโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อยู่ 19 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ใช้เวลาหลักๆ อยู่กับการเขียนรูป เธอเคยพูดกับมิตรสหายว่า ‘การเขียนรูปคือรางวัลสูงสุดที่มอบให้ตัวเอง’