1.
ลมเย็นต้นปีพัดไปทั่วประเทศ
บางวูบ แทนที่จะได้หายใจปลอดโปร่ง ละเลียดกาแฟร้อนขมๆ พอเห็นรอยเท้าเปื้อนสีของ ตะวัน แบม ยังประทับอยู่ที่ทางเท้าหน้าศาลอาญา รัชดาฯ ยิ่งกลับหนาวยะเยือก หน่วงอก กาแฟขมๆ เปลี่ยนเป็นของแสลงชวนคลื่นเหียน
เด็กสาววัยยี่สิบต้นๆ ประท้วงกระบวนการยุติธรรม ราดสีใส่ตัว ขอถอนประกันตัวเอง เชิดหน้าเดินเข้าคุก ประกาศอดอาหารและน้ำจนเจียนตาย
อนาคตที่เหลือหลอมรวมกลายเป็นหน้าตักทั้งหมดที่พวกเธอตัดสินใจเท–สู้
สู้กับเผด็จการที่มีชีวิตในอนาคตเหลือเพียง… เต็มที่ก็แค่นิ้วมือนิ้วเท้า ?
เด็กกับผู้ใหญ่ใครจะมีชีวิตนานกว่ากัน รอยเท้าตะวัน แบม บอกผมว่าเหมือนจะตอบง่าย แต่ยากเหลือเกินในบ้านนี้เมืองนี้
ประเทศของเราแทบไม่มีที่อยู่ที่ยืนให้เด็กเลย ที่เห็นสนามเด็กเล่นไปทั่วนั้นเป็นภาพลวงตา
ต่อให้ทำตามตำราจิตวิทยาเด็ก ทะนุถนอมกันมาตั้งแต่ในครรภ์ ตีนเท่าฝาหอย คลาน เดินและวิ่งได้ สุดท้ายก็มาชนกำแพง เพราะโอกาสและเสรีภาพต่ำเตี้ยเรี่ยดิน
2.
ในฐานะสื่อมวลชน ผมเห็นว่าสนามเด็กเล่นไม่ได้มีแค่ลานทราย ม้าโยก สไลเดอร์ ข่าวเด็กถูกข่มขืนมีแทบทุกวัน ข่าวเด็กจมน้ำตาย เด็กติดยาก็มีแทบทุกวัน แต่ ‘โนว์ฮาว’ เรื่องเด็กคืออะไร ในสายตาสื่อคือความว่างเปล่า
เด็กกับผู้ใหญ่ใครจะมีชีวิตนานกว่ากัน แน่นอน, วันหนึ่งผูู้ใหญ่จะตายไป และเด็กก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ ผมนึกออกไวๆ เท่านี้
เหมือนจะสบายใจ แต่ไม่หรอก เพราะผู้ใหญ่ที่ตายไปไม่ได้การันตีว่าจะไม่มีผู้ใหญ่ที่กลับมาฆ่าเด็กอีก ผู้ใหญ่ที่ตายไปไม่ได้การันตีว่าจะไม่มีข่าวเด็กถูกปล่อยให้จมน้ำตายอีก
เด็กเปรตมีไหม ข้อนี้ไม่ปฏิเสธ แต่ก่อนจะเป็นเปรต ทุกคนเป็นคนมาก่อน แล้วสังคมแบบไหนเปลี่ยนเด็กให้เป็นเปรต
คำถามแบบนี้เป็นหน้าที่สื่อไหม ถ้าไม่อยากเห็นกาฝากมีรากใหญ่กว่าดอกทานตะวัน ถ้าไม่อยากเห็นสนามเด็กเล่นกลายเป็นคุก ผมเห็นเป็นหน้าที่
3.
เป็นหน้าที่, ก็ต้องมี ‘โนว์ฮาว’
ในความเห็นผม ทัศนะของเธอน่ารับฟัง ไม่ใช่เพียงเพราะผ่านงานหนังสือพิมพ์ นิตยสารมาก่อน กระทั่งตกผลึกในยุคออนไลน์
คนสื่อส่วนใหญ่เริ่มงานเป็นเป็ด วันนี้สัมภาษณ์กระเป๋ารถเมล์ พรุ่งนี้สัมภาษณ์รัฐมนตรี วันต่อมาคุยกับเจ้าอาวาส วันต่อไปคุยกับเจ้าของซ่อง เป็นแบบนี้ผ่านวันผ่านปีข้ามทศวรรษ
แรกเริ่มในสนามข่าว เธอยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรือสนใจประเด็นเด็กกับการเรียนรู้
“พอมีลูก มันมีคำถามถึงระบบการศึกษามาตลอด เป็นแรงบันดาลใจดึงให้เราเข้าไปทำเรื่องพวกนี้”
“ไม่มีใครพูดว่าการศึกษาไทยดีแล้ว คุณภาพเด็กไทยยอดเยี่ยม ไม่มี แต่ไม่มีสื่อไหนทุ่มเทโฟกัสขุดค้นหาความรู้ว่าการศึกษาจะดีได้ยังไง เด็กๆ จะปลอดภัยไม่กลายเป็นเปรตได้ยังไง” เธอโยนคำถาม
เรื่องเด็ก ในยุคหนึ่งยังพอมีในพื้นที่สื่อบ้าง เด็กควรได้กินนมแม่ดีกว่านมผง พูดกันมาเป็นสิบๆ ปี แต่คนเป็นแม่ที่คลอดลูกมาแล้วต้องทำงานหนักจนไม่มีเวลาเลี้ยงลูก ต้องเอาไปฝากไว้กับปู่ย่าตายาย เด็กไม่ได้โตในอ้อมอกแม่ กระทั่งวันดีคืนดีวิ่งเล่นตามลำพังตกบ่อน้ำตาย กลายเป็นข่าวสั้นเล็กๆ แล้วผ่านไป
คนเป็นสื่อด้วย พอยิ่งเป็นแม่ด้วย พลังกายพลังสมองจึงทุ่มลงไปคูณสองเพื่อหาคำอธิบาย วางเป้าหมายชัดเจน
เด็กจึงไม่ใช่แค่เรื่องเด็ก ไม่ใช่แค่เรื่องสารอาหารในน้ำนม ศาสตร์ทั้งปวงที่รายล้อมข้องเกี่ยวจำเป็นถูกใช้อธิบายสร้างความชอบธรรมว่าสังคมที่อยากมีอนาคตควรกลับมาเริ่มต้นที่เด็ก–ไม่ใช่เริ่มที่นายพลคลั่งอำนาจ
“เรื่อง EF (executive function) เรื่อง Growth Mindset พัฒนาการทางสมองและจิตใจ เราเพิ่งเคยได้ยินครั้งแรก แม้กระทั่งการอ่านนิทาน เรารู้ว่ามันสำคัญ แต่ไม่เคยรู้ลึก ไม่เคยเห็นคำอธิบายในสื่อว่ามันสำคัญอย่างไร”
ตอนทำหนังสือพิมพ์ เธอดูแลสกู๊ปหน้าหนึ่ง ทำทุกเรื่องจนกลายเป็นไฟต์บังคับให้ไม่จดจ่อกับเรื่องใดเรื่องเดียว รู้ทุกเรื่อง แต่ไม่รู้ลึกสักอย่าง
“เลี้ยงลูกไปด้วย ทำคอนเทนต์ไปด้วย ทุกอย่างเป็นเรื่องใกล้ตัว แยกไม่ออก เช่น เราเคยทะเลาะกับลูก อ้าว เราก็เคยเจอตอนเด็กๆ นี่ ยิ่งทะเลาะกันลูกยิ่งดื้อ ใช้อำนาจไปลูกเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องหาวิธีคุยใหม่ รับฟังความต้องการ แลกเปลี่ยน หาทางออกคนละครึ่งกับลูก อ้าว ไม่ซับซ้อนนี่หว่า แล้วทำไมเราถึงจะทำให้มันยาก วินวินทั้งสองฝ่ายดีกว่า แต่เราลืม เพราะเราแก่เหรอ”
สื่อสารมวลชนที่ผ่านมา เต็มที่ก็มีพื้นที่เรื่องเด็กไม่ไกลเกินกว่าเรื่องสุขภาพ นิตยสารเกี่ยวกับแม่และเด็กเฉพาะทางจัดๆ ไม่ใช่แม่อ่านได้ไหม ทำไมถึงแยกโลกของแม่และเด็กออกจากเรื่องอื่นๆ
คำถามของเธอวิจารณ์กลับให้ภาพใหม่
“ตอนที่เราไม่ใช่แม่ เราก็ไม่อ่าน เขาไม่ได้ห้ามหรอก แต่มันไม่ได้เชิญชวนคนทั่วไป ไม่ค่อยเป็นมิตร วงแคบเกินไป พอเรามาลองทำเอง อย่างเรื่องพัฒนาการ ถ้าพูดเฉยๆ คำว่าพัฒนาการ จะมีใครอยากอ่านไหม เรารู้สึกว่าเป็นเรา เราก็ไม่อ่าน แต่ถ้าลองบิดคำนิดหนึ่งว่า ทำไมเราต้องอ่านนิทาน ? อะไรอย่างนี้ มันน่าจะอยากรู้ต่อ จับต้องได้
“มีลูกใหม่ๆ ตอนอ่านนิทาน เราหลับก่อนลูกเสมอ ทำไมวะ ผิดไหมหลับก่อนลูก หมอประเสริฐ (ผลิตผลการพิมพ์) บอกไม่เป็นไรเลย ลูกก็อ่านต่อเองได้ เพราะเขามีเสียงของเราในสมองของเขาแล้ว เขาไปต่อเองได้ เออ ทำไมเรื่องแค่นี้ไม่เคยมีใครอธิบายให้เราฟังสมัยที่เราเป็นแม่ลูกอ่อน จนลูกโตแล้วค่อยมารู้
“หรืออย่างทำไมลูกชอบอ่านหนังสือซ้ำๆ ไม่เบื่อเหรอ อ่านอยู่นั่นแหละ คือถึงแม้จะเป็นหนังสือเล่มเดียวกัน แต่เสียงเราจะไม่เหมือนกันสักครั้งในการอ่าน ถึงแม้เราจะจำได้หมด เราปิดหนังสืออ่านได้ แต่สมองเด็กการรับรู้ของเขาสามารถจดจำดีเทลที่แตกต่างกันในการอ่านแต่ละครั้งได้ เขารับรู้เส้นเรื่องแน่ล่ะ แต่เขาจะตื่นเต้นทุกครั้งที่การอ่านครั้งต่อไปมีอะไรแปลกใหม่หรือเปล่า เมื่อเขารีเช็กเรา เขาไม่ต้องการเรื่องเขาต้องการเสียงเรา เสียงเราคือสนามให้เขาวิ่งเล่น พอเขาวางใจ เขาหลับได้ จบ”
4.
เด็กเกิดมาอยู่กับพ่อแม่ สักพักไปอยู่กับครู กวาดสายตามองคุณภาพชีวิตครูส่วนใหญ่แล้วได้แต่ถอนหายใจ–เธอตามไปสัมภาษณ์เจาะลึก หาเงื่อนไขของการถอนใจเฮือกใหญ่
“เหนื่อย”–ไม่ใช่วิ่งทางไกลแบบนักกีฬาทีมชาติ แต่เหนื่อยแบบเหี้ยๆ ครูประเทศนี้เหมือนถูกโยนนลงมหาสมุทรให้ว่ายน้ำหาฝั่งกันเอง
“เราไม่รู้จักครูอย่างลึกซึ้งมาก่อน การคุยกับครูหลายคนทำให้เรารู้ว่าเขามีปมอะไรบ้าง เพราะว่าครูเป็นจำเลยตลอด
“เบสิกที่สุดอย่างภาระงานครู เรารู้สึกเสมอว่าครูรักเด็กนะ ใครๆ ก็อยากสอน แต่ไม่มีที่ไหนที่ครูได้ใช้ศักยภาพในการสอนได้เต็มที่ เพราะครูถูกสั่งให้ต้องไปอบรม ครูต้องเป็นหัวหน้าฝ่ายคัทเอาท์โรงเรียน เป็นหัวหน้าปราบปรามยาเสพติด บ้าหรือเปล่า ทำไมไม่ให้ครูสอนหนังสือ เราพบว่าครูเป็นซึมเศร้าเยอะมาก ยังไม่นับว่าเป็นหนี้กันส่วนใหญ่ด้วยนะ”
การศึกษาไม่ได้ทำร้ายเด็กอย่างเดียว การศึกษาทำร้ายครู และทุกคนในวงจรนี้โดนกันถ้วนหน้า แต่พื้นที่สื่อไม่มีเรื่องนี้
“อะไรวะ ทุกคนสบายดีเหรอ” เธอเจื่อนยิ้ม มองบน
ครูเคยเป็นเด็กมาก่อน เช่นเดียวกับทหาร ตำรวจก็เคย ศาลก่อนขึ้นนั่งพิพากษาได้ก็คลานต้วมเตี้ยมมาก่อน
แต่ทันทีที่เยาวชนใช้เสรีภาพในการพูด พูดถึงช้างในห้องที่ทุกคนเห็น พวกเขากลับถูกจับไปขัง คนออกคำสั่งเถื่อนๆ แบบนี้โตมาแบบไหน นี่เป็นคำถามที่น่าทำวิจัยอย่างยิ่ง
5.
คำว่า EF คำว่า Growth Mindset ไม่ใหม่สำหรับแดนศิวิไลซ์ แต่สำหรับสังคมไทยเป็นไปได้ว่ามันเพิ่งเริ่มต้น
ยิ่งในวงการสื่อมวลชน ผมไม่เคยได้ยินคำนี้เลย ไม่เคยถูกพูดถึงจากบรรณาธิการ คำว่าศักยภาพ การเรียนรู้ การเติบโต ความไว้วางใจ ห่างไกลจากเนื้องานข่าวรายวัน
อาจมีที่ซ่อนอยู่ในระหว่างบรรทัด อยู่ในเรื่องเล่าของบทสัมภาษณ์บ้าง แต่ก็เบาบางและถูกกลบไปในกระแสธารของบทสนทนาแบบไลฟ์โค้ช
“แม้ยาก แต่มันโคตรจะใกล้ตัวเลย กระบวนการสร้าง EF คือการทำให้เด็กคนหนึ่งดูแลตัวเองได้ กำหนดเป้าหมายเป็น ยับยั้งชั่งใจเป็น คีย์สำคัญของ EF อยู่ตรงนี้ มันสะท้อนอยู่ในชีวิตประจำวัน
“นักจิตวิทยาเด็กอธิบายเป็นเสียงเดียวกัน EF มันสร้างยากกับวัยผู้ใหญ่ มันต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กเล็ก เช่น การให้เด็กลองทำงานบ้าน ทำอาหาร อ่านหนังสือ รู้จักแยกแยะ ลำดับความสำคัญ ซึ่งมันเป็นฐานของทุกอย่าง เพื่อจะรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด
“EF มันคือการรู้จักตัวเองก่อนน่ะ พื้นฐานที่สุด พอโตขึ้นมันจะถูกเอาไปใช้ในแง่ความสัมพันธ์กับคนอื่น ครอบครัว เพื่อน งาน สังคม พอคุณมี Growth Mindset มันโคตร universal ไม่ว่าคุณจะมีอาชีพอะไร วัยไหน การรู้จักตัวเองมันสำคัญ และมันจะทำให้คุณยอมรับความหลากหลาย
“เราเคยสัมภาษณ์น้องคนหนึ่ง เป็นเด็กที่เลือกออกจากโรงเรียนตั้งแต่ ม.4 เพราะเขาคิดว่าเจอสิ่งที่ชอบแล้ว มันไม่ได้อยู่ในโรงเรียน นี่ตอบโจทย์เรื่องการศึกษาเลย ประเด็นแรก ระบบการศึกษามันไปไม่ทันเด็กแล้ว ปรับตัวไม่ทัน
“พอเราโพสต์เรื่องน้องไป มีพ่อแม่หลายคนเข้ามาคอมเมนต์บอกว่าแต่ก่อนเขาก็คิดแบบนี้แหละ แต่เขาไม่กล้าทำ ทำไม่ได้ พ่อแม่ไม่เข้าใจ เนี่ย มันเหมือนการไปขุดเอาประสบการณ์คนอ่านออกมา แต่ยุคเขาไม่มีทางเลือก คอนเทนต์แบบนี้มันอาจจะสู้ข่าวอื่นๆ ไม่ได้ แย่งพื้นที่ยาก แต่มันซึมลึก สร้างแรงกระเพื่อมภายใน” บรรณาธิการแม่ลูกหนึ่งอธิบาย
6.
ในสายธารการเปลี่ยนแปลง ใช่หรือไม่ว่างานของสื่อสารมวลชนเป็นงานเกมยาว ยืนระยะ ข่าวสารรายวัน วันๆ หนึ่งมีเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง หน้า 1 ที่ไหนจะให้เรื่อง EF เรื่อง Growth Mindset ขึ้นพาดหัว–ผมเห็นด้วยว่าความสนใจผู้คนมันหลากหลาย
ข่าวระเบิดมีคนตายสำคัญแน่ๆ ข่าวทหารกราดยิงคนสำคัญแน่ๆ นายพลเกษียณอยากนั่งนายกฯ อยู่ยาวๆ ยิ่งสำคัญ แต่ถามต่อได้ไหม ตัวละครหลักของข่าวโตมาแบบไหน ครอบครัว ห้องเรียนแบบไหนบ่มเพาะคนเหล่านี้มา จะได้เล่าเป็นนิทานให้ลูกหลานฟังได้ พวกเขาจะได้ไม่โตไปผู้ใหญ่แบบนั้นอีก
“เราเห็นอยู่ว่ามันยาก เรื่องการเติบโตของเด็กๆ ที่เราใส่ใจ ปากพูดว่าเราอยู่ในสังคมที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่เราไม่ค่อยยอมรับความเห็นที่แตกต่าง แม้แต่ในบ้านหลังเล็กๆ ซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุด ฝาแฝดยังคิดไม่เหมือนกันเลย ในบ้านหลังหนึ่งไม่ฟังไม่ยอมรับกัน ไปโรงเรียนยิ่งแล้วใหญ่
“ตอนเข้าใจว่าเด็กที่มีการปลูกฝัง EF ที่ดี เราว้าวมากเลย ถึงขั้นว่าอยากกลับไปมีลูกใหม่เลยนะ อยากรู้ว่าถ้าเลี้ยงด้วยหลักการนี้ มันจะโตมาเป็นคนแบบไหน เราไม่ค่อยเชื่ออะไรง่ายๆ แต่อย่างน้อยเราเชื่อว่าเขาจะโตมามีความแข็งแรงทางใจ และพร้อมเผชิญความวุ่นวายของโลกภายนอกได้ เราไม่คิดว่าถ้าเด็กมี EF ที่ดีโลกจะสงบ มันคงไม่ง่ายขนาดนั้น”
ผมเห็นด้วยกับทัศนะของเธอ เรา–สื่อมวลชนไม่ใช่หมอดูผู้ล่วงรู้อนาคต เราอยู่กับคำถาม หากินกับความสงสัย
7.
รอยเท้าของตะวัน แบม เหมือนย่ำเข้ามาในใจ ผมไม่สงสัยในความแน่วแน่ของพวกเธอ
และในบ้านนี้เมืองนี้เวลานี้ พูดกันถึงที่สุด เป็นไปได้ว่ากระบวนการสร้าง EF ให้เด็ก อาจต้องเดินคล้องแขนกันไปกับการไล่เผด็จการ
แม่และเด็กไม่ได้อยู่ลอยๆ ในความรักและอบอุ่นบนก้อนเมฆเพียงลำพัง บางบ้านมีปัญญาส่งลูกเรียนโรงเรียนอินเตอร์ บางบ้านที่วิ่งเล่นของลูกอยู่ข้างโรงงานสารเคมี บางบ้านเต็มที่มื้อที่หรูที่สุดคือข้าวไข่ต้ม
จะบอกใครให้พ่อแม่รักลูกมากๆ ลูกโตมาจะได้ไม่ขาดรัก พูดแค่นี้พูดอีกก็ถูกอีก ถูกเสมอ แต่นึกออกใช่ไหม มันไม่ง่ายขนาดนั้น–เพียงลูกๆ ของเขาและเธอด่าเผด็จการ กลับถูกเอาไปขัง! ความรักสีดำแบบนี้เรียกความรักได้อย่างไร
มนุษย์พ่อมนุษย์แม่วิญญูชนที่ไหนไม่รู้ว่าการเติบโตของเด็กอยู่ร่วมกับเผด็จการไม่ได้
เว้นแต่หลงรักเผด็จการมากกว่าลูก
รอยเท้าของตะวัน แบม บอกผมแบบนั้น.
essay : โต๊ะจเร
เรื่อง : ธิติ อิสรสารถี
ภาพ : ปฏิภัทร จันทร์ทอง
เกี่ยวกับนักเขียน : ธิติ อิสรสารถี คนขับรถ เจ้าของหนังสือสารคดี /ภาพ Promised Land ‘ประเทศเทา’, รวมบทกวีชุด ‘พี่ชาย การตาย และความไร้สุภาพ’, ปรัชญาเกรียน (บทสัมภาษณ์ สมบัติ บุญงามอนงค์), ฤดูกาลประชาชน และรวมบทสัมภาษณ์ว่าด้วย ม.112 ‘ความมืดกลางแสงแดด’ (ร่วมกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์) ผ่านงานสื่อสารมวลชนมาหลายสำนัก อาทิ CMYK, ปาจารยสาร, ข่าวสด, The101.World ปัจจุบันทำงานอยู่ที่วอยซ์ทีวี