art & culture

สติกเกอร์เซอร์เรียล

โตขึ้นจะเป็นเบนซ์ รถคันนี้สีขาว รถคันนี้สีแดง ฯ คุ้นไหมกับข้อความอะไรแบบนี้ บนสติกเกอร์แผ่นเล็กๆ ที่แปะอยู่ตามท้ายรถ วิ่งไปทั่วบ้านทั่วเมือง ทั้งที่ก็เห็นอยู่ว่ามันสีดำชัดๆ ถ้าสังเกต ก็คงจะเห็นบ้างแหละ สติกเกอร์ surreal แบบนี้

ความคิดนี้มีที่มาจากชาวเบลเยี่ยมชื่อ René François Ghislain Magritte ศิลปินกลุ่ม surrealism หรือกลุ่มเหนือจริงที่คลี่คลายตัวเองจากกลุ่มดาดา (Dadaism) ให้ความสำคัญกับความคิดที่ว่า สิ่งที่ใช่ เรามองไม่เห็น สิ่งที่เราเห็นคือสิ่งที่ไม่ใช่ แนวคิดนี้มีมากว่าร้อยปีแล้ว ดูจากภาพผลงานต่างๆ ภาพที่หลายคนคุ้นเคยกันดีคือภาพไปป์ยาสูบ จากข้อความในรูปภาพไปป์ยาสูบอันหนึ่งกับประโยคที่เขียนสั้นๆ ว่า Ceci n’est pas une pipe

นี่ไม่ใช่ไปป์ เอ่อ.. ก็เห็นๆ อยู่ รูปวาดไปป์ แล้วมันจะไม่ใช่ได้ยังไง

ไทยแพ้โปแลนด์ โดมินิกันชนะโปแลนด์

ไทยต้องแพ้โดมินิกันแหงๆ ซตพ. ซึ่งต้องพิสูจน์ บัญญัติไตรยางค์สามชั้น วันนี้ไทยชนะโดมินิกัน เอ่อ..นี่ไง ที่เห็นคือไม่ใช่ ที่ใช่คือไม่เห็น (ตื้ดๆๆ ..รักไม่ใช่ดวงดาวเมื่อพราวแสง)

มีเรื่องเล่าเก่าแล้ว เคยได้ยินไหม ในงานประกวดภาพเขียนแบบเหมือนจริง มีผลงานสองชิ้นสุดท้ายที่กรรมการต้องตัดสิน ชิ้นแรกเป็นภาพวาดผลไม้ในตะกร้า มีลูกแพรสด องุ่นสีฉ่ำ ใบไม้สีเขียวร่าเริง ข้างๆ กันมีผลแอปเปิลแดงดูหวานกรอบ ระหว่างที่กลุ่มกรรมการเดินมาอยู่ตรงหน้าภาพตะกร้าผลไม้ มีนกตัวหนึ่งบินโฉบเข้ามาจิกกินที่ลูกแพร กรรมการคนหนึ่งบอกว่า โอ้ มันเหมือนจริงมาก เราควรให้รางวัลรูปนี้

แต่เดี๋ยวก่อน กรรมการทั้งหมดเดินไปดูอีกภาพข้างๆ กัน คนที่บอกว่ามันเหมือนมาก วานให้เจ้าหน้าที่มาเปิดผ้าที่คลุมภาพนั้นออกเสียที เจ้าหน้าที่บอกว่าเขาจะเปิดมันออกได้ยังไง ในเมื่อผ้าคลุมนั้นคือภาพวาด

จบ ศิลปะหลอกทั้งตาคนและตานก เราจะให้ใครชนะดี อันนี้ก็ไปเถียงกันเอง

ช่วง Renaissance ตอนต้น เวลาวาดรูปก็จะเน้นทำให้เหมือนจริงมากที่สุด ทั้งคติ mannerism, Baroque, Rococo, Neo-classicism, Romanticism ต่อเนื่องมาจนถึง Realism เพราะเชื่อว่าภาพนั้นคือวัตถุชิ้นนั้น หลังสงครามโลก วิทยาการก้าวหน้าอุตสาหกรรมก้าวหน้า สังคมเปลี่ยน วิธีคิดก็เปลี่ยน

อุดมคติเกี่ยวกับความงามที่เคยบอกว่าความงามคือสิ่งที่สมบูรณ์แบบ ก็ไม่ใช่แล้ว ศิลปินให้ความหมายศิลปะใหม่ว่าศิลปะคือการจำลองสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง จะวาดให้เหมือน หรือดัดแปลงยังไงก็ได้  

ศิลปินเขียนรูปทรงอะไรสักอย่างขึ้นมาก็เพื่อใช้แทนค่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ภาพไม่ใช่วัตถุนั้น อุดมคติต่อความงามที่เปลี่ยนแปลงไปในตอนท้ายของแนวคิด Cubism ทำให้ขอบเขตของกระบวนการศิลปะกว้างขวางขึ้น คือความเหมือนจริงที่สุดก็ไม่ใช่คำตอบของยุคสมัยแล้ว การตัดทอน การสร้างรูปทรงใหญ่จากรูปทรงย่อย การใช้รูปทรงเรขาคณิตเพื่อนำเสนอรูปด้านข้าง แสดงความลึกของภาพให้เห็นในระนาบเดียวกันฯ สิ่งต่างๆ นี้เปลี่ยนวิธีคิดของศิลปินต่อเนื่องมา เปลี่ยนแปลงทั้งวิธีสร้างผลงาน จนทำให้เกิดแนวคิดแบบเหนือจริง (Surrealism)

ข้อสรุปของงานรูปแบบหนึ่งอธิบายคุณค่าของผลงานรูปแบบหนึ่งไม่ได้ คำที่น่าจะทำให้เราเห็นความแตกต่างชัดเจนขึ้นคือ จากยุคหนึ่งศิลปินทำงานด้วยแนวคิด Presentation มาเป็นอีกยุคที่ศิลปินคิดว่างานศิลปะคือวิธี Representation รูปภาพไม่ใช่วัตถุนั้น รูปภาพเป็นสัญลักษณ์แทนค่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จึงไม่จำเป็นต้องเหมือนจริงอีกต่อไป สิ่งของหรือรูปทรงใดๆ จะถูกจัดวางขึ้นใหม่ หรือเลือกมาประกอบกันโดยไม่ใส่ใจเหตุผล ภาพที่ออกมาจากความคิดศิลปินจึงดูเกินจริง เหนือจริง และยากที่จะเป็นไปได้  

จากความรู้จิตวิทยาของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ทำให้พวกเขาเชื่อว่าความคิดเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมมนุษย์ อารมณ์ความรู้สึกจะเกิดตามหลังความคิด คนคิดอะไรก็จะทำตามที่ตัวเองคิด ช่วงนี้ศิลปินมีแนวทางแสดงออกหลากหลาย สามารถจัดเป็นกลุ่มได้ เช่น ศิลปะแนวใหม่แบบ Minimalism, conceptual art , installation art และกระแสย่อยอีกเยอะแยะมากมาย ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ ที่เราได้เห็นสติ๊กเกอร์ปลอบใจสนุกๆ ที่ล้อเล่นกับความจริง

ระหว่างกระแสความคิดแบบดาดา (Dadaism) ขยายตัวในวงวรรณกรรม มีศิลปินกลุ่มหนึ่งแยกตัวออกมาตั้งกลุ่ม Surrealism นำโดย André Breton นักเขียนชาวฝรั่งเศสคนนี้ ช่วงปี 1985 ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของฝรั่งเศสด้วย (โห นักเขียนเป็น รมต. ได้ด้วย) ฐานความคิดของเขาและเพื่อนๆ เช่น  Jean arp, Juan Miro, Max Ernst, Marc Chagall ล้วนมาจาก Dadaism พวกเขาประกาศใน Surrealism  Manifesto ว่างาน Surrealism เป็น Pure psychic automatism ลักษณะงานของกลุ่มเหนือจริง ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย วรรณกรรม ประติมากรรม หรือเทคนิคอื่นๆ ที่พวกเขาทำขึ้น ล้วนมาจากความฝันและจิตใต้สำนึก

ซิกมันด์ ฟรอยด์ บอกว่าเราฝันถึงอะไรก็คือเราปรารถนาสิ่งนั้นอยู่ลึกๆ และส่วนใหญ่จะฝันในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  ศิลปินไม่ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการในโลกความจริง แต่เนรมิตทุกสิ่งได้จากจินตนาการตัวเอง ความฝันบำบัดความกลัว ช่วยให้เราจัดการอารมณ์ที่เราไม่เข้าใจ จิตใต้สำนึก ทำให้เรามีสมาธิและพลังงานที่ดี

นักจิตวิทยาสมัยใหม่บอกว่าความฝันเป็นกลไกปลดปล่อยความเครียด จากบางสิ่งอย่างที่ยังไม่สำเร็จหรือเป็นไปไม่ได้ ฟรอยด์ บอกว่า คนเราทำงานด้วยจิตสำนึกแค่ 8% ที่เหลือเป็นจิตใต้สำนึกที่มีอิทธิพลมากกว่า เพราะจิตใต้สำนึกที่ควบคุมไม่ได้ จะกระตุ้นให้เราทำอะไรตามใจตัวเอง ทุกประสบการณ์หวานขมและสัญชาตญาณด้านมืด ด้านสว่าง จะถูกเก็บกดไว้ไม่ได้หายไปไหน จิตใต้สำนึกจะถูกระบายออกมาอย่างไม่รู้ตัวในรูปของการละเมอ เผลอนั่งฝันนอนฝัน รูปงานของศิลปินเหนือจริงจึงเกิดจากความใฝ่ฝัน ความต้องการที่ยากจะเป็นจริง และซับซ้อนเกินความจริง

ศิลปินกลุ่มเหนือจริงต้องการทำลายค่านิยมของชนชั้นกลางสมัยนั้น และต่อต้านทุกเรื่องที่เป็นพฤติกรรมของนายทุน André Breton และเพื่อนๆ หันมาเขียนถึงสังคมโลกในแบบที่พวกเขาต้องการ  พวกเขาได้ร่วมกันทำหนังสือชื่อ la Révolution surréaliste ที่ประกอบด้วยภาพและแนวคิด เขียนความคิดความฝัน ความต้องการจากจิตใต้สำนึก พวกเขาเชื่อเรื่องความบังเอิญมากกว่าความสมบูรณ์แบบจากระเบียบที่เคร่งครัด (ชาวพุทธบอกว่าไม่มีเรื่องบังเอิญ ทุกสิ่งมีเหตุให้ต้องพบกัน ศิลปินเซอร์เรียลบอกว่าถ้าทุกอย่างมาพบกันอย่างบังเอิญ มันจะต้องมีความหมายบางอย่าง แม้ว่าสองสิ่งที่มาเจอกันจะไม่เคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์เลยก็ตาม เหมือนกันไหมกับพุทธะที่ว่า มีเหตุให้ต้องเจอ)

ชอบไม่ชอบ ดีหรือไม่ดี ก็ไม่มีใครตอบได้ ระยะยืนยาวเท่านั้นจะให้คำตอบ แต่อย่างน้อยสุด แนวคิดที่ศิลปินเซอร์เรียลแสดงออกในผลงานก็ได้สร้างวิธีคิดแบบใหม่ให้วงการศิลปะคือการฉีกกฎเดิมๆ ทำให้ศิลปินรุ่นหลังหยิบตะกร้า เส้นผม ต้นข้าว ตุ๊กตายาง หยิบของสำเร็จรูปมาสร้างงาน ทำให้เกิดวิธีทำแนวใหม่ อย่าง Assambage การลบหลักการเดิมทิ้งเรา เห็นได้ชัดมากในงานแฟชั่นและงานประติมากรรม

จะยอมรับหรือไม่ก็ตาม อย่างน้อยวิธีเหนือจริงก็เปิดทางให้ศิลปินรุ่นใหม่ทำสิ่งใหม่ คือฉีกกระดาษแปะบนเฟรมบนกระดาษได้หมด  ไม่ต้องใช้สี ไม่ต้องมีทักษะวาดเส้นก็ได้ หยิบของสำเร็จรูปมาติดกาวแขวนเสนอความคิดเห็นได้  

ส่วนงานของเราธรรมดาสามัญสัมพันธ์กับชีวิตราบเรียบ ไม่หวือหวาเหนือจริง แต่เราก็ไม่ปฏิเสธการมีอยู่ของ Surrealism ดีเสียอีก คิดเยอะๆ งานศิลปะจะได้เป็นโลกมหัศจรรย์ ท้าทายให้คนอยากค้นหาไม่รู้จบ

René Magritte คนเขียนรูปไปป์ เขามีชีวิตเป็นปริศนามาก เขาโดดเด่นในศตวรรษที่ 20 ยุคก่อนหน้าเราเล็กน้อย ตอนอายุยังน้อยเขาอยู่ที่ Brussels ทำงานออกแนวช่างฝีมือ เป็นดราฟท์แมนให้บริษัทผลิตวอลเปเปอร์ เขียนโปสเตอร์บ้าง คงมีงานน่าสนใจ Galerie La Centaur จึงเข้ามาสนับสนุน

การเข้าเป็นศิลปินในสังกัด Galerie La Centaur ทำให้เขาเริ่มทำงานแนวคิดเพ้อฝันได้อย่างเต็มที่ ภาพ The last Jockey ในการแสดงเดี่ยวครั้งแรกถูกนักวิจารณ์เสียดสีเยาะเย้ยอย่างหนัก เขาและครอบครัวเลยย้ายมาอยู่ปารีส แหล่งรวมศิลปินหัวก้าวหน้าตอนนั้น ที่ปารีส เขาได้พบกับ André Breton อองเดรต้อนรับเขาเข้ากลุ่มด้วย เป็นโอกาสที่เขาได้รู้จัก Salvador Dali, Max Ernst และ Joan Miro ช่วงอยู่ปารีส เมืองที่เต็มไปด้วยนักคิด นักเขียนหัวก้าวหน้า เขาทำงานทุกวัน เขาเริ่มใช้ Text เป็นเหมือนองค์ประกอบหนึ่งของศิลปะเหมือนเส้น สี พื้นผิว ฯ เขาใช้ข้อเขียน เขียนความคิดท้าทาย ตรวจสอบเย้ยหยัน หรืออื่นๆ ที่เป็นเจตจำนงเสรี

ข้อเขียนที่มาจากความฝันหรือมาจากจิตใต้สำนึก เขาใช้วิธีเขียนลงบนกระดาษ บนเฟรมผ้าใบ ด้วยการสลับตำแหน่ง จัดทุกองค์ประกอบให้อยู่ผิดที่ผิดทางตามขนบเดิม เขาวาดรูปไปป์แบบเนี๊ยบเหมือนของจริง บนพื้นเปล่าๆ ไม่แสดงพื้นผิวใด ไม่มีรูปทรงย่อยมาสร้างสมดุล ขับเน้นให้ไปป์โดดเด่น ไม่มีทิศทาง ไม่มีความเคลื่อนไหวตามแบบแผนเดิม รูปไปป์อันเดียววางอยู่กลางภาพ ใต้ภาพมีข้อความว่า Ceci n’est pas une pipe เขาอธิบายผลงานชิ้นนี้ว่า ถ้าเขาเขียนว่า Ceci est une pipe นี่ก็เท่ากับเขาโกหก (กระแสความคิดที่เป็นอยู่ ศิลปะไม่ใช่ Presentation แต่ศิลปะคือวิธี Representation โอย หัวจิปวด)

นักวิจารณ์เขียนว่างานของเขาค่อนไปทางพาณิชย์เพราะพื้นฐานมาจากช่างเขียนแบบรับจ้างทำวอลเปเปอร์ ทำโปสเตอร์ อย่างไรก็ตาม งานของเขาก็นับว่าถูกใจและให้ไอเดียใหม่ๆ กับศิลปินกลุ่ม Pop Art อย่าง Jasper John, Andy Warhor รวมทั้งกลุ่ม Abstract Expressionism อย่าง Jackson Pollock รวมถึงหนุ่มสาวคนไหนก็ไม่รู้ผู้พิมพ์สติกเกอร์เหนือจริงแผ่นนั้น

ขับผ่าน ‘รถคันนี้สีแดง’ มาแล้วเห็นเบนซ์ S-Class สีดำ ขับแซงแล้วหาย ก็ขับไปคิดไป จิตใต้สำนึกของเราตอนนี้คือรถเก่าๆ ที่ขับอยู่คันนี้ไง Mercedez-Benz สีดำ 555 (ฮาหนักมาก).

 

 

nandialogue

 

 

เรื่องและภาพ สุมาลี เอกชนนิยม


เกี่ยวกับผู้เขียน : สุมาลี เอกชนนิยม จิตรกรชาวร้อยเอ็ด (เติบโตที่อุบลราชธานี) จบช่างศิลปแล้วไปต่อจุฬาฯ ก่อนบินลัดฟ้าสู่มหาวิทยาลัย Sorbonne กรุงปารีส แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1996 และทำงานสืบเนื่องเสมอมา มีโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อยู่ 19 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ใช้เวลาหลักๆ อยู่กับการเขียนรูป เธอเคยพูดกับมิตรสหายว่า ‘การเขียนรูปคือรางวัลสูงสุดที่มอบให้ตัวเอง’

You may also like...