น้ำลดมดกินปลา คนกินหมดทั้งมดทั้งปลา กินมากกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นใด สิงโตที่เรายกให้เป็นเจ้าป่าก็ไม่สามารถกินผักได้เหมือนคน คนหรือมนุษย์ที่แปลว่าผู้มีปัญญาในภาษาลาติน คือสิ่งมีชีวิตที่อยู่ชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหาร ผักหญ้าอาหารของคนดูดซับแสงแดดแล้วเปลี่ยนเป็นพลังงาน พลังงานถูกถ่ายเทเป็นชั้นๆ แล้วเราก็กินกันเป็นทอดๆ เช่นนี้เอง
ทุกอวัยวะทั้งภายนอกภายในมีชีวิตอยู่ได้ด้วยพลังงาน แดดจ้าร้อนจัดเผาผลาญคลอโรฟิลให้เป็นโมเลกุล สร้างพลังงานเคมีที่ซับซ้อน ด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสง สร้างแป้งและน้ำตาลให้เราได้อยู่ได้กิน
เราทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันในห่วงโซ่สายพานนี้เพื่อดำรงชีวิต เอกลักษณ์ที่มนุษย์ต่างจากชีวิตพืชสัตว์ก็น่าจะอยู่ที่โครงสร้างสังคม สลับซับซ้อนกว่าพืชผัก คนสร้างสรรค์ได้ จัดระเบียบชีวิตเป็นทั้งร่วมมือและแข่งขัน มีภาษาสื่อสารเพื่อการแสดงออกได้ ความสัมพันธ์ทางสังคมทำให้เกิดพิธีกรรม เกิดค่านิยม เป็นผู้ให้บ้างรับบ้างบางขณะ ทั้งผักหญ้าหมาแมวสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ขวัญใจของมนุษย์ สลับสับเปลี่ยนวาระเป็นผู้กิน ผู้ถูกกินและผู้ย่อยสลาย หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไม่รู้จบ
1 ใครจะไม่ต้องการออกซิเจนสะอาดๆ กลางทุ่งนา ยามแดดร่มลมตก ห่างไกลผู้คนไร้กลิ่นเผาไหม้ในครัวเรือนและก๊าซพิษจากเครื่องยนต์ จะใกล้ค่ำหรือใกล้สว่าง ความสงบเงียบชวนให้ใจว่างๆ ไม่มีเสียงเครื่องยนต์หนักๆ รบกวน ทั้งเสียงและเขม่า จะว่าไปไม่ใช่แค่เครื่องทุ่นแรงที่สร้างอากาศเป็นพิษ แต่วิถีชีวิตค่านิยมและสังคมกระตุ้นให้บริโภคนี่แหละ ส่งเสียงดังกว่า ใครจะรู้สึกสัมผัสได้ว่าลมหายใจ ใช่ว่าต้องการบริโภคแต่เสียงอึกทึกคึกโครม
2 คนทำสวน ยามเช้าเข้าสวน ใช้น้ำพักน้ำแรงพลิกแผ่นดิน ตัดกล้วยจากสวน ถนอมแม้กล้วยที่ปริแตกไม่เต็มหวี กล้วยที่รดด้วยเหงื่อและลมหายใจของคนปลูก ช่างหอมหวาน มือที่จับจอบเสียม เฝ้าดายหญ้าพรวนดินเท่านั้นที่สัมผัสและรู้รสนั้นได้ มันเป็นผลผลิตของความรักโดยแท้
3 หลังนาหน้าเกี่ยว เก็บข้าวขึ้นเล้าแล้วเรายังมีพืชให้ปลูกได้อีก อย่างข้าวโพดหวาน ทานตะวัน หรืออะไรก็ได้ที่บริโภคน้ำน้อยๆ ที่ความชื้นในดินพอให้เมล็ดงอกงาม ก่อนจะแล้งยาวนาน เตรียมแปลงนา รอฟ้าฝนอีกรอบ รอยไถใหม่ ข้างโรงเรียนเขาทะลุพิทยาคม
4 พลังไหนจะยิ่งใหญ่เท่าพลังแสงอาทิตย์ เราสัมผัสสัมพันธ์กันอยู่ทุกวัน นั่งรถผ่านนาเกลือ สินค้ายุทธภัณฑ์ ถ้าโลกนี้ไม่มีเกลือ ลองคิดเล่นๆ โลกของเราจะเป็นยังไง
5 กลิ่นดอกสายหยุดเข้มๆ ยามค่ำที่หน้าบ้าน คนท้องถิ่นเรียกดอกส่าเหล้า ยามเช้าบานหอมกรุ่นอยู่หน้าบ้าน มองเห็นแสงแดดทาบทากลีบดอกสายหยุด เธอหยุดกลิ่นฟุ้งยามสาย กวีชั้นครูเขียนไว้ว่า “สายบ่หยุดเสน่ห์หาย ห่างเศร้า กี่คืนกี่วันวาย วางเทวษ ราแม่ ถวิลทุกขวบค่ำเช้าหยุดได้ ฉันใด” ใครๆ ก็รู้ (อ่านเล่นแล้วยกมาจากลิลิตตะเลงพ่าย)
6 ยางนา พญาไม้แห่งเอเชียอาคเนย์ สูงใหญ่ยืนโดดเด่น ทนแดด ทนฝน ไม้มีค่าน่าปลูกเท่าไม้สัก ปลูกเองก็ใช่ว่าจะตัดได้ตามใจตัวเอง เห็นเมล็ดยางนาตอนหมุนหล่นเคว้งคว้างเล่นลม ช่างงดงาม
7 เปลือกนุ่นแข็ง ให้นุ่นนุ่ม ฝักสีน้ำตาลให้นุ่นขาว ยัดไส้หมอนนอนสบาย (วันนี้คงไม่มีอีกแล้ว) ฝักอ่อนและเมล็ดเป็นของกินเล่น เด็กอีสานยุคก่อนรู้จักดี เมล็ดที่แก่จัดเป็นสีน้ำตาลเขาเอาไปบีบได้น้ำมัน เปลือกนุ่นมีแทนนิน ใช้ชงน้ำร้อนกินเหมือนชงใบชา แก้บิดปวดท้อง ใครจะรู้ว่าไม้เนื้ออ่อนอย่างนี้ไม่มีประโยชน์เรื่องเฟอร์นิเจอร์ แต่เนื้อไม้ของเธอเป็นเยื่อกระดาษได้
8 ซากแย้บนพื้น เหลือแต่โครง เนื้อเป็นอาหารมดหมดสิ้น ชีวิตก็เท่านี้ในที่สุด
9 จะเก็บกินความงาม ดอกหญ้ากับมะเขือเปราะ มื้อค่ำ มีผักหญ้าเป็นอาหาร ยามลมพัดแรง ดอกหญ้าบางเบาเคลื่อนไหวเป็นอิสระ หญ้าคาเอนไหวคมใบวูบจูบหิน น้ำค้างค้างบนใบไม้ ค่อยหยดรินกระทบแสงยามเช้าแวววับจับใบหญ้า ปรากฏการณ์ที่แสนมหัศจรรย์อย่างนี้ จะมองด้วยสายตายังไงหนอ จึงจะเห็นความงามง่ายๆ ที่มีอยู่บนระดับดิน
10 เหง้าบัวใต้โคลนตม เวลาเปลี่ยนเหง้าเป็นก้าน กอ ดอก ใบ ฝักมีเม็ดให้เรากิน ฝักบัวปักไว้ในแจกันหลายวันผ่านไป ฝักเปลี่ยนสีเปลี่ยนทรง คือความงามในความเปลี่ยนแปลง นานวันไปฝักบัวเหี่ยวแห้งอยู่ในแจกัน เห็นความงามในความร่วงโรย
11 กอพลับพลึงหลังน้ำท่วมใหญ่ เป็นความงามที่หลงเหลือ เมื่อระดับน้ำลดลง หักงอเสียบ้าง ไม่แข็งขืนดึงดัน ใบพลับพลึงเขาใช้ประดิษฐ์ปะดอยเป็นดอกไม้แล้วประกอบบนพาน เพื่อไหว้ฟ้าดิน คนโบราณเขาปลูกไว้ในที่อับเพื่อแก้เคล็ดให้โปร่งโล่งทางใจ ตอนน้ำท่วมหนัก หน่อใหญ่ใต้ดินไม่ถูกน้ำเซาะไปง่ายๆ
12 เข็มจากก้างปลา ได้มาจากการคิด ก้างปลาคือสิ่งที่เหลือ หลังอาหารมื้อค่ำ เนื้อชีวิตหนึ่งเพื่อชีวิตหนึ่ง ห่วงโซ่อาหารห่วงโซ่ชีวิต เกิด ตาย เป็นอาหารแก่กัน
13 ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ปลาเล็กกินปลาเล็กกว่า พลังงานจากชีวิตต่อชีวิต หมุนเวียนแลกเปลี่ยนตามธรรมชาติ
14 หนึ่งวัน คนมีเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงเท่ากัน แต่ค่าของเวลาต่างกัน ก็เอาแต่กอดเกี่ยวรูปนามติดหวานขม
สิ่งมีชีวิตชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหารและผักหญ้าหมาแมว ต่างสละร่างสลับสับเปลี่ยนเป็นผู้กินและถูกกิน วนเวียนไม่รู้จบ
ชีวิตทุกระดับชั้นล้วนถูกกลืนกินด้วยองค์ประกอบของเวลา.
เรื่องและภาพ สุมาลี เอกชนนิยม
เกี่ยวกับผู้เขียน : สุมาลี เอกชนนิยม จิตรกรชาวร้อยเอ็ด จบช่างศิลปแล้วไปต่อจุฬาฯ ก่อนบินลัดฟ้าสู่มหาวิทยาลัย Sorbonne กรุงปารีส แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1996 และทำงานสืบเนื่องเสมอมา มีโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อยู่ 19 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ใช้เวลาหลักๆ อยู่กับการเขียนรูป เธอเคยพูดกับมิตรสหายว่า ‘การเขียนรูปคือรางวัลสูงสุดที่มอบให้ตัวเอง’