the letter

ช่างทดลอง

สวัสดีครับพี่หนึ่ง

ผมกลับมาพะงันรอบนี้ไม่ถึงเดือน แต่ก็รู้สึกว่าเหมือนอยู่มาเป็นเดือนๆ แล้ว

สาเหตุหลักน่าจะมาจากการที่ผมและหลินได้ทำอะไรหลายๆ อย่างในแต่ละวันที่ผ่านไป นอกจากสั่งซื้อเครื่องมือต่างๆ นานา มาแล้ว ข้าวของเหล่านี้ก็เสมือนเป็นเจ้านายที่คอยส่งสัญญาณอย่างเงียบๆ ให้เราหยิบมันออกมาใช้งานให้คุ้มค่ากับราคาที่ซื้อหามา

กรงไก่อันใหญ่โตมโหฬารเมื่อเทียบกับมาตรฐานของชาวพะงัน แต่ธรรมดามากในนอร์ทแคโรไรน่านั้นยังไม่คืบหน้าเท่าไร อาจารย์ดีนยังคงหมกหมุ่นกับสเก๊าท์แค้มป์จนบางทีลืมที่จะมาถ่ายทอดกระบวนท่าถัดไปให้กับลูกศิษย์ไทยคนนี้

ระหว่างรออาจารย์ดีน ผมก็เริ่มทำนู่นทำนี่อะไรเองไปบ้าง แล้วก็ตามประสาช่างมือใหม่ ผลงานจริงๆ กับความคาดหวังตั้งต้นมักห่างกันลิบลับ อาทิ ชั้นวางของในห้องครัวเอียงและมีรูเจาะสว่างที่ไม่ได้ใช้อีกสองรูแถมมา ลวดสลิงแขวนผ้าม่านที่ชานบ้านหลุดหลังจากติดตั้งไปไม่กี่นาที ล่าสุดโต๊ะทำงานทำเองก็น่าจะมีขาโต๊ะเอียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเหมือนงานศิลปะติดตั้งชิ้นหนึ่งในหอศิลป์ริมน่าน ทั้งหมดทั้งมวลคือที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นไปอีกสักพัก ผมให้กำลังใจกับตัวเองว่ามันคือร่องรอยของการเรียนรู้ 

น่าจะคล้ายกับเวลาพี่กลับไปอ่านงานเขียนชิ้นแรกๆ ของตัวเอง หรือเวลาผมกับไปดูหนังสือที่ผ่านการควบคุมการผลิตของตัวเองในปีแรกๆ มีข้อบกพร่องแหละ แต่ก็รู้ว่ามีความอุตสาหะอยู่ในชิ้นงาน มากกว่านั้นในบางทีเรายังอาจจำได้ด้วยซ้ำว่าเวลานั้นเราคิดและพยายามทำมันอย่างผิดๆ ในท่าไหน

บางวันผมทำงานที่แสนธรรมดาในสายตาของช่างมืออาชีพด้วยความเหน็ดเหนื่อย ติดตั้งเสร็จก็พานอยากจะเดินออกมาสูบบุหรี่ดื่มน้ำเย็นๆ แล้วทิ้งเครื่องมือและฝุ่นผงกระจัดกระจายไว้เรี่ยราดพื้นซะอย่างนั้น หลินเดินมาเห็นก็บ่นตามประสาแม่บ้านที่ต้องคอยเก็บกวาด แต่ก็แฝงไปด้วยความเข้าใจหัวอกช่างมือใหม่ 

การได้มาทำอะไรที่ใช้มือมากขึ้นในช่วงเวลานี้ทำให้ผมพบว่าที่ผ่านมาผมทำงานและสร้างอะไรๆ จากสมองซะเป็นส่วนใหญ่ พออะไรไม่ได้ดั่งใจก็นั่งคิดเดินคิดหาวิธีแก้ไขจากสมองแล้วบอกให้เพื่อนร่วมงานทำซะมากกว่าลงมือเอง ในกาลนี้ไม่มีใครมาให้ผมชี้นิ้วสั่ง ก็เป็นมือสองข้างของตัวเองที่ต้องพิสูจน์ว่าความคิดนั้นถูกหรือผิด 

ในชีวิตการทำงานที่โรงพิมพ์มันจะมีคำพูดหนึ่งที่ผมพูดกับลูกค้าและเพื่อนร่วมงานเสมอก็คือ “ขอลองก่อน” ผมใช้คำนี้กับสิ่งพิมพ์ที่เราไม่เคยทำมาก่อน ผมอนุญาต สนับสนุน และยินดีให้บรรดาช่างในโรงพิมพ์ทดลอง ปีๆ หนึ่งพวกเขาใช้แรง เวลา และวัตถุดิบไปไม่น้อยกับเรื่องทำนองนี้ เรียกให้สวยหรูก็ต้องบอกว่าโรงพิมพ์ภาพพิมพ์มีงบประมาณเสมอสำหรับงาน R&D งบฯ ในความหมายของเม็ดเงินนั้นก็เรื่องนึง แต่วันนี้ผมตระหนักว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคือความมุ่งมั่นและพลังใจในการทดลอง ลงมือทดลองนั้นเหน็ดเหนื่อยกว่านั่งคิดหาวิธีทดลองนัก ความล้มเหลวในการลองทำครั้งแรกนั้นอาจเหมือนบันไดขั้นแรกๆ ของผู้ที่ยังมีกำลังใจดี หรืออาจเป็นทางตันให้กลับหลังหันสำหรับผู้ท้อแท้ 

ผมตั้งปณิธานกับตัวและภรรยาไว้ว่า เราจะชื่นชมและหัวเราะกับความผิดพลาดเล็กน้อยทั้งปวงที่เกิดขึ้นระหว่างที่พวกเรากำลังเดินขึ้นบันไดขั้นแรกๆ ของงานช่าง ทั้งๆ ที่ตั้งใจกันไว้อย่างนี้ บางทีก็มีเผลอขบกัด เหวี่ยงวีน หาเรื่องกันเองบ้าง คงเป็นธรรมดาของนักเตะวัยรุ่นที่กำลังเห่อวิชาและสร้างตัวตนมั้งครับ 

ผมเล่าเรื่องนี้ให้มิตรสหายหลายคนฟัง ทุกคนก็ได้แต่เตือนเรื่องความปลอดภัย อุปกรณ์ช่างทั้งหลายที่ซื้อหามานั้นสร้างความเสียหายกับร่างกายผู้ใช้ถึงขั้นพิการเอาได้ ผมเองก็เริ่มหาทั้งถุงมือ หน้ากาก มาใช้กับการทำงาน ซึ่งก็ทำให้งานที่ยากอยู่แล้วยากขึ้นไปอีก ความปลอดภัยทั้งหลายที่อุปกรณ์เหล่านี้มอบให้นั้นแลกมาด้วยความเทอะทะ รุ่มร่าม และพร่ามัว ซึ่งทำให้การเรียนรู้งานช่างยากเย็นขึ้นไปอีก 

คาบเรียนตัดเชื่อมเหล็กสร้างกรงไก่ของอาจารย์ดีนใกล้จะเริ่มในอีกไม่มีนาที ผมขอตัวไปเป็นนักเรียนที่ดีก่อน

ด้วยมิตรภาพ

(ช่าง) จ๊อก

 

 

nandialogue

 

 

ตอบ นายช่างใหญ่หัวใจวัยรุ่น

เราชื่นชมและเห็นดีเห็นงามเสมอกับความกล้าทดลอง สิ่งที่คุณว่ามาน่าสนใจไม่น้อยตรงการล้มของก้าวแรกซึ่งบ้างคนเลิก แต่บางคนก็แค่ยักไหล่และหาทางไปต่อ วิธีคิดแบบนี้แหละมั้งที่คัดแยกชนิดผู้คน ลองใหม่ๆ ทำอะไรแรกๆ มันมีโอกาสผิดพลาดล้มเหลวอยู่แล้ว แต่ผิดแล้วดันทุรังหรือเปล่า ล้มแล้วเลิกแม่งเลยมั้ย หรือพลาดแล้ววิเคราะห์ทบทวน สรุปบทเรียน เพื่อพลิกโผพัฒนา

โดยราก เราไม่มีเชื้อของนักทดลองเลย (นิสัยช่างซักถามสงสัยก็ไม่มี โคตรผิดหลักนักข่าว) เป็นพวกเพลย์เซฟ เอาชัวร์และเชื่อฟัง แต่เรื่องเล่านับร้อยนับพันจากงานสื่อสารมวลชนทำให้พฤติกรรมและความเคยชินเก่าๆ เคลื่อนขยับ ซอยไหนไม่เคยเข้าก็ขอลอง ฟังใครไม่เคลียร์ก็เลิกเขินที่จะชวนคุย ขอให้ช่วยขยายความต่อ เวลาผ่านไปๆ และทำงานสัมภาษณ์มามาก เราน่าจะเปลี่ยนไปเยอะ แต่เปลี่ยนยังไงก็ว่ายวนอยู่ในโลกของความคิด งานใช้แรงหรือลงมือทำโน่นนี่เองยังห่างไกล เป็นไปได้ยากอยู่ที่จะลุกขึ้นมาเชื่อมเหล็กแบบคุณ เออ เห็นแล้วก็ประทับใจนะ แต่เราคงขอเฝ้ามองอยู่รอบนอก เกมนี้เป็นผู้ชมน่าจะเหมาะกว่า

เรื่องที่รักจะริลองคงเคยคุยให้คุณฟังมาบ้าง เกี่ยวกับ artist in residence ยังไม่มีอะไรเป็นรูปร่างหรอก ไอเดียก็คลุมเครือ เพียงแต่ก็อย่างที่บอกว่าสนใจ อยากชวนนักเขียนศิลปินต่างชาติเข้ามา อยากส่งเสริมสนับสนุนให้คนไทยได้ออกไปเห็นโลก โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ยิ่งเห็นเร็ว โลกทัศน์ก็กว้าง คนเราพอโลกมันกว้างเสียแล้ว ความคลั่งชาติคลั่งสถาบันบ้าๆ บอๆ มันจะเสื่อมไปเอง (พวกเห็นโลกมามาก แต่ล้าหลังคลั่งชาตินี่แปลกดี ไม่รู้จะหาเหตุผลไหนไปจับ มันเป็นไปได้ยังไง) ความที่กำลังอิน ช่วงนี้เจอใครพอคุยได้ เราคุยหมดเลย ทั้งไทยทั้งฝรั่ง นำเสนอและสอบถาม แลกเปลี่ยนว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง เขาทำกันยังไง ใครพอมีประสบการณ์ 

วันก่อนไปม็อบ ‘แบมตะวัน’ ที่สกายวอล์กหน้าหอศิลป์ เดินไปเดินมาเจอศิลปินตะวัน (น่าจะเกินสามสี่ปีที่ไม่ได้เจอกัน) หลังงานเลิกก็เลยไปนั่งคุยกันต่อ ตะวันเดินทางทั่วโลก มีประสบการณ์ตรงด้านนี้ในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ เม็กซิโก ฯ ฟังเขาเล่าก็พอเห็นภาพมากขึ้นว่าสิ่งที่ศิลปินต้องการคืออะไร การจัดการที่ดีควรจะแบบไหน (หลักๆ ก็ที่นอน ที่ทำงาน ทำเลหาข้าวปลาอาหารสะดวก) ที่โอกินาวา เขามีรีเควสต์ให้ไปทำเวิร์กชอปกับเด็กๆ ในโรงเรียน ตะวันสนุกกับกิจกรรมนี้เพราะได้อยู่กับเด็ก มีโอกาสเข้าถึงโลกการศึกษาญี่ปุ่นแบบ exclusive ไม่ชอบอยู่อย่างเดียวคือต้องตื่นเช้า ฟังแล้วก็เข้าใจทุกฝ่าย โลกของโรงเรียนคือยามเช้า โลกของศิลปินบ่อยครั้งก็เกือบๆ จะเข้านอนตอนเช้า มันขัดแย้งและสวนทางกันนิดนึง

เราบอกตะวันไว้ว่า จะขอคำปรึกษาเรื่อยๆ ทั้งในแง่วิธีการทำงาน และเชื่อมโยงเครือข่ายศิลปินทั่วโลก คิดแล้วก็แปลกๆ ดี ปี 2015 เราเคยตามตะวันไปบูดาเปสต์ อาร์ติสต์ฮังกาเรียนเคยมาพักบ้านตะวัน และรอบนั้นเขาเชิญตะวันไปบ้านเขาบ้าง เราก็พลอยได้รับอานิสงส์ เกาะชายพู่กันออกไปเรียนรู้โลก เห็นการข้ามชาติข้ามวัฒนธรรมที่นำมาสู่การสร้างสรรค์ใหม่ๆ ถึงตอนนี้ พอกำลังอินประเด็นนี้ เดินอยู่ในม็อบแท้ๆ ก็บังเอิญเจอตะวันอีก เลยได้ขอความรู้กันอยู่หลายแก้ว

จะว่าหาเรื่อง มันก็ใช่ หน้าที่หลายๆ อย่างในบ้านเมืองของเรา รัฐบาลท่านไม่ทำ ไม่แคร์ ไม่รับไว้เป็นธุระ ประชาชนอย่างเราๆ ถ้าเอาแต่นอนรอ ไม่ลงแรงเอง ก็จบ เพราะผู้มีอำนาจไม่มีวิชัน ไม่จัดสรรงบประมาณ หลายเรื่องเราต่างก็รู้ว่าเขาไม่ทำหรอก (หนำซ้ำบางทีมาไล่ล่าปิดกั้นเสียอีก) แต่มันเป็นอนาคต เป็นผลประโยชน์ของประชาชนไง ถ้าทุกคนนิ่ง ยอมจำนนกันหมด โอกาสใหม่ๆ ก็ไม่เกิด 

ก็นั่นแหละ พอคิดเห็นแบบนี้ ก็เอา อะไรพอทำได้ก็ลองดู ลืมเรื่องการสนับสนุนจากภาครัฐออกไป ใช้จุดแข็งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ค่อยๆ สร้างมันขึ้นมา เราคิดว่านายช่างพะงันน่าจะเห็นพ้อง และมีไอเดียมากมายให้สดับ เอาไว้คงได้แชร์กันมากขึ้นๆ ทางโน้นมีฝรั่งเยอะอยู่แล้ว น่าจะดี คงมีคนเอากับพวกเราอยู่บ้าง คุยกับชาวต่างชาติตอนนี้ นอกจากอาหาร อากาศ เราพยายามบอกเล่าข่าวการเมืองไทย ความผิดเพี้ยนต่างๆ ของโครงสร้างและกระบวนการยุติธรรม โดยทั่วไปคนมาเที่ยวไม่มีเหตุผลต้องมารู้ มาแบกให้หนักบ่า แต่มนุษย์น่ะ กินเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้หรอก เท่าที่เจอ หลายคนพอฟังแล้วเขาแคร์ อยากเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมสร้างเครือข่ายความรู้ แลกเปลี่ยน ..ก็ไปทีละก้าว ค่อยซึมลึกทีละน้อย เราเชื่อว่าเมื่อแสงไฟสาดส่องเข้าไปทั่วถึง หรือโลกรับรู้ หลายปัญหาที่หมักหมมมานานจะค่อยคลี่คลาย

ก้าวแรก–ถ้าล้ม เราจะเลิก หรืออยู่ฝ่ายยักไหล่ หาทางไปข้างหน้าต่อ ยังไม่รู้เหมือนกัน ที่รู้ๆ เราว่าอันนี้เป็นซอยใหม่ที่น่าสนใจเดินเข้าไปดู.


เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อก (ชัยพร อินทุวิศาลกุล) เป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน ทุกสัปดาห์เขาเขียนจดหมายมาคุยกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ บรรณาธิการ nan dialogue

You may also like...