art & culture

หรือจะต่างคนต่างไป

ชีวิตสั้น ศิลปะนั้นยืนยาว ใครพูดก็ไม่รู้ ตอนเด็กจำได้ว่าถูกใจมาก เอาไปเขียนแปะไว้ข้างฝา แปะคู่กับรูปดาราเลย ประมาณนั้น โห ก็มีคนพูดขนาดนี้ เหมือนชี้ช่องทาง ข้อความมาจากไหนใครจะไปรู้ อยู่ต่างจังหวัด แค่อ่านเจอก็เป็นบุญตา เหมือนมีคนบอกทางหาความรู้

จุดประสงค์การมีอยู่ของสิ่งหนึ่งย่อมแตกต่างกับสิ่งหนึ่ง ในโลกใบเก่าที่เราเคยเห็น ชาวจีนเขียนอักษรคำว่า ‘เสือ’ ที่แก้มตรงจุดที่ปวดฟันด้วยหมึกดำที่ปลาหมึกพ่นออกมา มนุษย์ใช้ท่าทางและสร้างสำเนียงเสียงต่างๆ เพื่อแสดงออกถึงการยอมต่อบางอย่างที่ไม่เข้าใจ เขาเขียนสัญลักษณ์เพื่อลดความกลัว ลดแรงเก็บกดที่ยังอธิบายไม่ได้ ในขณะที่มนุษย์อีกกลุ่มพยายามสอบสวนหาที่มาของอุบัติการณ์ต่างๆ

กว่าร้อยปีที่เราอยู่กันอย่างแยกส่วน โลกทฤษฎีก็ดั้นด้นค้นหานวัตกรรมในแนวทางให้มนุษย์สะดวกสบาย จนล้นทะลักด้วยเครื่องทุ่นแรงสารพัด กับอีกฝั่งคือมนุษย์อ่อนไหว ก็มุ่งสร้างเครื่องมือเครื่องหมายเข้าปลอบปรับค้นหาความอุ่นร้อนของจิตใจ

เราเชื่อมั่นในสูตรคณิตศาสตร์และเหตุผลอย่างสุดจิตสุดใจ เราปลอบประโลมโอบกอดกันครั้งแล้วครั้งเล่า วันนี้นับร้อยนับพันทฤษฎี กี่หมื่นกี่พันคำหวานก็ยังหยุดหยดน้ำตาและความโกลาหลของโลกที่แข่งขันแย่งชิงไม่ได้

การเรียบเรียงทำนองเพื่อสรรเสริญบูชาหรือการขีดเขียน เพื่อสักการะสิ่งที่เรายังไม่รู้ เป็นต้นกำเนิดของการสื่อสารกับโลกเร้นลับของสรรพชีวิตในธรรมชาติ โดยเฉพาะกับคนด้วยกัน รูปลักษณ์งานศิลปะที่สื่อสารตรงจากใจจากกายเป็นสิ่งที่สายเหตุผลจะหันหลังให้ไม่ได้

ศิลปินผู้สร้างสื่อสัญญาณผ่านงานพิมพ์งานเพลง เขียนบรรเลงเรื่องราวรอบตัวที่ผ่านวันมืดคืนสว่าง

Vitruvian Man เป็นภาพร่างที่ลีโอนาโด ดา วินชี ใช้ความรู้เรขาคณิตพิสูจน์ทฤษฎีที่สถาปนิกโรมันเคยเขียนไว้ว่า เมื่อคนยืนกางแขนและขา ทั้งแขนและขาจะแตะที่เส้นรอบวงและกรอบสี่เหลี่ยมได้พอดี โดยที่มีสะดือเป็นจุดศูนย์กลาง รูปร่างมนุษย์ในแง่เรขาคณิตจึงถือว่าเป็นประดิษฐกรรมที่สมบูรณ์แบบที่สุด ภาพแสดงสัดส่วนของมนุษย์ที่ถูกต้องตามหลักอนาโตมีนี้ทำให้เห็นว่า ศิลปะและวิทยาศาสตร์ก็เอื้อเฟื้อแก่กัน

ภาพที่ซับซ้อนอธิบายยากก็สร้างเรื่องราวเล่าขาน ทำเป็นนิยายนิทาน เขียนเป็นเพลงบอกโน่นนี่ที่มาของปรากฏการณ์ รูปทรงสัญลักษณ์ก็ตามแต่จะคิดเห็นตามภาพในใจของคนทำ สร้างสัญลักษณ์ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องปลุกปลอบใจให้ฮึกเหิม ทำเพื่ออธิบายความคิดของมนุษย์เราต่อปรากฏการณ์ธรรมชาติ ศิลปินกำหนดลีลารูปแบบงานขึ้นตามที่เชื่อที่ศรัทธาแล้วสั่งสมความรู้ พัฒนากระบวนการสร้างรูปลักษณ์ส่งต่อกันมา

ในยุคติ๊กต่อกครองโลก ใครจะเชื่อว่าวันนี้เรามีเครื่องแปลภาษาที่มนุษย์ใช้กันอยู่บนโลกใบนี้ได้แทบทุกภาษา ใครจะเชื่อว่ามีซิม Flight Simulator เครื่องจำลองการบินให้เราได้กดปุ่มจริงๆ ได้เอียงซ้ายเอียงขวาบินเสมือนฝ่าฟ้าฝนได้ทุกรูปแบบ ศิลปินเขียนปั้นภาพฝันออกมาเป็นงานปลอบใจในขณะที่โลกเหตุผลพยายามอธิบายข้อเท็จจริง ถึงวันนี้การมีอยู่ของคำว่า ‘เสือ’ บนกระพุ้งแก้ม ที่เขียนเพื่อรักษาอาการปวดฟันก็ดูเป็นเรื่องเล่าที่เหนือจริง

ผลงานชิ้นเอกไม่ได้สร้างขึ้นจากตำรา จะกระทุ้งกระแทกมิติใดต้องอาศัยประสบการณ์ ผลงานไม่ว่าเป็นอยู่ในรูปแบบใดจะเชื่อมเราเข้าหากัน ศิลปะทำให้เราเข้าใจกลุ่มคนที่แตกต่างทั้งสีผิวและความเชื่อ พูดแบบเข้าข้างตามใจตัวเอง ศิลปะก็คือจิตสำนึกทางสังคมที่มีวิธีเฉพาะในการสะท้อนภาพความเป็นไปรอบตัว ศิลปะสามารถค้นหาความอ่อนไหวของหัวใจมนุษย์ จะมีสมการเคมีอะไรที่ทำให้ใจคนเกิดเมตตาถ้าไม่ใช่เสียงสูงต่ำของท่วงทำนองที่เรียบเรียงอย่างสวยงาม ศิลปะเป็นตัวบอกทิศทางความงามของคนทำ สะท้อนตัวคนทำที่ต่างคนต่างเข้าใจ แต่ถ้าคิดให้สุดจริง จะเห็นว่าโลกนี้มีสุขมีเศร้าที่เราทุกคนเหมือนกัน งานที่ส่งเสียงเรื่องราวเหล่านี้ผูกเราเข้าด้วยกันมากกว่าที่จะทำให้เราแตกต่าง

เหตุผลกับความรู้สึกเหมือนภาพบนเหรียญอยู่คนละด้าน เราเชื่ออย่างจริงใจว่าพิษยาทำให้หัวใจหยุดเต้น ไม่มีข้อต่อรองถ้าใช้เกินขนาด เราเชื่อว่าถ้าเรามีน้ำมันในถังเพียงพอ อุปกรณ์ทุกอย่างเพียบพร้อม เราจะสามารถนำเรือรบขนาดใหญ่โต้คลื่นสี่ห้าเมตรได้ถึงฝั่งอย่างแน่นอน

วันนี้ความรู้ด้านข้อเท็จจริงมากมายฝังอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยให้วิถีชีวิตของเรามีรูปรอยหลักฐาน มีบ้างบางเหตุผลที่แข็งทื่อ ก็ไม่สามารถเยียวยารักษาคนจากการป่วยไข้ วิสัยทัศน์ทางศิลปะเองก็ไม่สามารถนำเสนอได้อย่างมีเหตุผลทุกเรื่องไป เราจึงเห็นงามที่รูปธรรมนามธรรมจะต่างเติมเต็ม

วันนี้ศิลปะมีกระบวนวิธีใหม่มากมายในสายผู้สร้าง ชื่อแปลกใหม่ในตอนเริ่มเรียกความคุ้นเคยมาตามลำดับเช่นอิมเพรสชันนิสม์  โฟวิสม์ เอกเพรสชันนิสม์ ดาดาอีสม์จนถึง Crypto NFT Art ที่ยากจะเดาทางข้างหน้าและค้นหาแง่งาม คู่ขนานกันไปกับสมมุติฐานทางกายภาพ ความรู้ทฤษฎีสัมพันธภาพทำให้เรามีระเบิดปรมาณู รูปแบบภูมิปัญญาทั้งสองฝั่งที่เข้าใจและเข้าใจยากนี้ น่าจะเป็นตัวชี้วัดศักยภาพของมนุษย์ที่ไม่เคยหยุดคิดหยุดสร้าง อะไรที่ยุ่งเหยิงเรียกร้องสูง มนุษย์ก็สามารถคลี่คลายตัวเองให้เบาบาง

เราควรตั้งคำถามกันไหม หรือต่างคนต่างไปก็ดีแล้ว

ศิลปะศิลปินทำหน้าที่อะไรในสังคมดิจิตอล เรายังมีข้อเท็จจริงเป็นที่พึ่งอยู่ไหม หรือเราใช้แค่ใจไร้เหตุผลนำทาง  

ยังซื่อสัตย์ชัดเจนต่อความรู้สึกตัวเองอยู่ไหม หรือยอมให้เหรียญคริปโตเป็นตัวนำกำหนดมูลค่า

ศิลปะวันนี้เป็นเครื่องเคียงพาเราพบทางสุขสว่าง หรือเป็นเพียงอาวุธในสมรภูมิการเมือง

มาตรฐานของผลงานที่ดีวันนี้คืออะไร ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของผู้เสพงานหรือควรปรับรสนิยมผู้รับให้เข้ากับระดับมาตรฐานของงานหรือจะต่างคนต่างคิดกันไป  

ศิลปินสร้างงานเพื่อสื่อสารกับคนร่วมสมัยหรือจะเดินไปเพียงลำพัง คนทำยังมีสิทธิประเมินคุณค่าผลงานของตัวเองไหม ในความเห็นที่แตกต่างอะไรคือความชอบธรรมให้ฝ่ายหนึ่งถูกต้องกว่า

เราควรไถ่ถามกันสม่ำเสมอไหม หรือจะรอให้ความห่างเหินแยกศิลปะออกจากระหว่างทางของชีวิต ก่อนที่วันหนึ่งจะกลับมาตั้งคำถามเดิมๆ ที่ไม่เคยมีข้อยุติ บางศิลปินอาจบอกว่าเขาหยุดแล้ว เพราะเราพบความสมบูรณ์แบบในตัวแล้ว ทั้งที่จุดนั้นอาจเป็นแค่ทางตัน

ข้อความข้างต้นนี้ เป็นเพียงตัวอย่างให้คนสนใจตรวจสอบรังสีรัศมีปัจจุบันของศิลปกรรม ที่แต่เดิมยืนอยู่คู่ขนานมานานกับวิทยาศาสตร์ วันที่โลกขับเคลื่อนไปในความเสมือน เส้นทางทั้งสองถ่ายเทเชื่อมโยงกันอยู่ เกินจะแยกสัดส่วนชัดเจน

ศิลปินในฐานะผู้สร้างงานและผู้เสพงาน ทั้งสายวางตนไว้ในตะกร้าผลผลิตของสังคมและในปีกของผู้กำหนดชะตาชีวิตตัวเอง จะเดินต่อยังไงบนเส้นทางศิลปะร่วมสมัยที่เกิดรูปแบบใหม่แทบทุกวัน ถ้าไม่ใช่ด้วยการอ่านค้นคว้าและสร้างงานด้วยสติปัญญา

ถ้าเราร่วมเรียนร่วมรู้กรอบกติกาใหม่ในยุคดิจิตอล เดินไปพร้อมๆ กันทั้งผู้ทำ ผู้อุปถัมภ์ เราก็คงจะไม่สับสนเรียกร้องอะไรที่พ้นยุคพ้นสมัยและไม่คลุมเครือหาทางออกอยู่กับกระบวนคิดเก่าล้าสมัย เพื่อให้การสร้างการเสพภูมิปัญญาสุนทรียะของมนุษย์มันสอดคล้อง จับมือเดินไปในระนาบเดียวกันโดยไม่ทอดทิ้งให้คนทำก็ทำไปอย่างไร้ค่าไร้ความหมาย

นั่นแหละ ชีวิตแสนสั้น วันเวลามีน้อย ศิลปะที่เคยเขียนไว้ข้างฝายังอยู่ยืนระยะรอให้ถกเถียงหาความหมายกันได้อีกยาวๆ.

 

 

nandialogue

 

 

เรื่องและภาพ สุมาลี เอกชนนิยม


เกี่ยวกับผู้เขียน : สุมาลี เอกชนนิยม จิตรกรชาวร้อยเอ็ด จบช่างศิลปแล้วไปต่อจุฬาฯ ก่อนบินลัดฟ้าสู่มหาวิทยาลัย Sorbonne กรุงปารีส แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1996 และทำงานสืบเนื่องเสมอมา มีโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อยู่ 19 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ใช้เวลาหลักๆ อยู่กับการเขียนรูป เธอเคยพูดกับมิตรสหายว่า ‘การเขียนรูปคือรางวัลสูงสุดที่มอบให้ตัวเอง’

You may also like...