art & culture

เด็กนอก

นี่ไง เด็กนอกกรอบ มือกลองของวงดนตรีโรงเรียนบ้านหาดเค็ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน อีกทั้งมือกีตาร์และนักออกแบบช่างไฟฟ้าในอนาคต เด็กโซนนี้อาจไม่ใช่เด็กในกรอบความหมายของผ้าขาวบริสุทธิ์ผุดผ่อง ที่ผู้ใหญ่อย่างเราจะไปแต้มสีอะไรให้เขาก็ได้  

เมื่อก่อนที่เขาเปรียบเด็กเป็นผ้าขาว อาจเปรียบในความหมายว่าเด็กคือความว่างเปล่าขาวบริสุทธิ์เหมือนกัน จะแต่งเติมให้เด็กมีสีสันอย่างไรก็ทำได้ แต่วันนี้มีนักคิดจิตวิทยาหลายคนเชื่อว่า เด็กไม่ใช่ผ้าขาวอย่างที่เราเข้าใจ

เด็กบางคนอาจเป็นผ้าขาวที่รอรับการแต่งแต้มสีอย่างเดียว ต่างกับเด็กบางคนที่เลือกสีดำแดงมาตั้งแต่เกิด เด็กที่งอแงเหงาง่าย อ้าปากร้องไห้ได้ยาวนาน เขาว่าก็มาจากการป้อนน้ำป้อนนมของพ่อแม่เอง เด็กส่วนใหญ่พอแขนขายืดยาวขึ้นหน่อย เดินเหินคล่องแคล่ว ก็อยากจะเลือกอะไรเอง ก็มีที่นั่งพับเพียบเรียบร้อยเป็นผ้าขาว กับเด็กที่ชอบรอยยับยู่ยี่ ไม่เรียบร้อย

เราว่าความชอบนี่แหละน่าพิศวงกว่าอื่นใด มีด้วยหรือที่พ่อแม่สั่งให้ลูกชอบสิ่งโน้นสิ่งนี้ได้ เมื่อความสนใจของลูกต่างไปจากข้อกำหนดของพ่อแม่ ก็ทางใครทางมันแล้ว เมื่อเด็กไปท่องในจักรวาลที่พ่อแม่ไม่คุ้นเคย เราไม่รู้หรอกว่าโลกของเด็กเปลี่ยนเป็นสีอะไรแล้ว ยิ่งนานก็ยิ่งห่างจากสีขาว แล้วอะไรมันจะดีไปกว่าใช้เวลาติดตามถามไถ่ถึงเพื่อนถึงสังคมแวดล้อมรอบตัวเขา ไม่ต้องตัวติดกันก็ได้

ตัวแปรที่เปลี่ยนเด็กจากผ้าขาวไปเป็นสีของตัวเองมันอยู่ตรงนี้ ตรงที่เขาต่างมีความชอบส่วนตัวที่ผู้ใหญ่จะใช้สูตรเดียวกันในการฟูมฟักเขาไม่ได้ เด็กชอบสีซอ สีไวโอลิน หรือชอบแต่งแต้มตัวเองให้มีสีสันพรรณราย ก็อยู่ที่ความใส่ใจให้ความรู้ของพ่อแม่ถึงความพอเหมาะพอดี  

ใครจะรู้จักเด็กที่ป้อนน้ำป้อนนมมาแต่เริ่มหายใจได้ดีเท่าพ่อแม่ที่เลี้ยงดู แต่ข้างในไม่มีใครรู้หรอกว่า เขามีแสงสว่างอะไรติดตัวมาบ้าง ถ้าไม่ผลักมันให้เขาได้แสดงออกมา เราจะเห็นได้ยังไง

ใจๆ แล้วส่งเสริมสนับสนุนกันให้สุดๆ ไปเลย ตราบใดที่แสงของเขาไม่ทำลายทำร้ายคนอื่น

เด็กจะอ่อนไหวเจ้าอารมณ์หรือจะเป็นเจ้าเหตุผล เขาว่ามันเกิดจากการเลี้ยงดูในครอบครัว จากโรงเรียน จากแก๊งค์เด็กข้างบ้าน  นักจิตฯ บอกว่าปล่อยให้เขาเล่นเองไปเลย อยากทำไรให้ทำ เด็กทุกคนมีความสำคัญในแบบของเขาเอง เขาว่าอารมณ์รสนิยมมันติดตัวมาเอง ความเหมือนของเด็กทุกคนน่าจะเป็นความใสบริสุทธิ์ บางเด็กบ้าพลังถูกตีหน้าเสาธงรู้สึกอาย แต่ไม่กลัว ก็จะทำอีก ไม่มีใครทำได้ดีในทุกเรื่อง เพราะคนรักชอบสนใจต่างกัน เด็กที่พลังล้นเหลืออยู่นิ่งไม่เป็น เด็กบางคนชอบให้คนชม อ่อนไหวง่ายเหมือนข้าวเกรียบกรอบ กระทบกระแทกหน่อยเธอก็น้ำตาไหล แกว่งไกววิบวับในอารมณ์เศร้าและเครียดง่าย

ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย เปล่า–นี่ไม่ใช่คำขวัญสำคัญของนายกรัฐมนตรี แต่เพลงนี้เข้าไปแทนที่คำขวัญวันเด็ก เด็กรุ่นฟันน้ำนมทั้งแบบอยู่ในกรอบและนอกกรอบ จำได้ติดปาก ร้องและเต้นกันทั่วบ้านทั่วเมือง

จำนวนนายกรัฐมนตรีและระยะเวลาทำการสะท้อนภาพอะไรของสังคมไทย ?

เราได้เยาวชนของชาติจากคำขวัญมากน้อยแค่ไหน 77 ปีมาแล้วที่รัฐบาลเขาให้ความสำคัญกับเด็กในฐานะอนาคตของชาติที่ผู้ใหญ่จะต้องช่วยเหลือให้คำแนะนำสั่งสอน ให้รู้จักหน้าที่มีระเบียบวินัย กิจกรรมโน่นนี่ ที่หน่วยงานรัฐทำขึ้นก็เพื่อให้เด็กรู้ว่าตัวเองมีคุณค่ามีบทบาทสำคัญต่อตนเองและส่วนรวม บุคคลที่สื่อสารความหวังของประเทศกับเด็กๆ คือนายกรัฐมนตรี

จนถึงวันนี้เรามีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 29 คน ลองไปนับดู ทั้งอยู่สั้น อยู่ยาว มีทั้งทหารและพลเรือน

คำขวัญที่ผู้บริหารประเทศอยากเห็นภาพเด็กในยุคแรกเริ่มต้นคือ “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชนต่อส่วนรวม” คำขวัญของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในยุคสร้างชาติที่ออกนโยบายให้คนไทยเลิกกินหมาก และใส่หมวก มีใครเกิดทันบ้างไหม แล้วต่อมาก็ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่สร้างคำขวัญว่า “ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า รักความสะอาด จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย และประหยัด”

สมัยต่อมา จอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะรัฐบาลในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม บอกว่า “เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี ต้องมีสัมมาคารวะ มานะบากบั่นและสมานสามัคคี” “อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรงดี มีความประพฤติเรียบร้อย” “ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย เฉลียวฉลาดและรักชาติยิ่ง” “รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ” “เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส” “ยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ” “เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ” “เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ” เป็นจอมพลผู้อนุญาตให้อเมริกามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย

ช่วงบ้านเมืองวุ่นวายสับสน เราได้นายกฯ ที่ชื่อ สัญญา ธรรมศักดิ์  ให้คำขวัญเด็กๆ ว่า ”สามัคคี คือพลัง” “เด็กดีคือทายาทของชาติไทย” ช่วงเวลาสั้นๆ ที่นายกฯ เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วเขาก็เปลี่ยนรัฐบาลเป็นหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้เขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง ‘สี่แผ่นดิน’ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีบอกว่า “เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดี มีวินัยเสียแต่บัดนี้” ระยะเวลาสั้นๆ ก็เปลี่ยนอีกเป็น ธานินทร์ กรัยวิเชียร บอกเด็กๆ ว่า “รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย”

หลายคนยังไม่ทันได้จำชื่อผู้นำคนนี้ก็เปลี่ยนอีกแล้ว เป็นพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ บอกว่า “เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ” “เด็กไทยคือหัวใจของชาติ” “อดทน ขยัน ประหยัด คือคุณสมบัติของเด็กไทย”

แล้วก็มาถึงยุคยาวนานของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ บอกว่า “เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม” “เด็กต้องขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย” “รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัยและคุณธรรม” “รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดี มีความคิด สุจริตใจมั่น หมั่นศึกษา” “สามัคคี นิยมไทย มีวินัย ใฝ่คุณธรรม”

แล้วเราก็มาถึงยุคนิคส์ เอเชียจะเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ห้า ที่ดินแพงหูฉี่สร้างเศรษฐีที่ดินอสังหาริมทรัพย์มากมาย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน บอกว่า “รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม” “รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา”

ไม่นานม้ามืด อานันท์ ปันยารชุน บอกเด็กว่า “สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม”

ประชาธิปไตยเบ่งบาน ชวน หลีกภัย บอกเน้นๆ ว่าให้ “ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม” “ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม สืบสานวัฒนธรรมไทย” เปลี่ยนรัฐบาลอีกแล้ว บรรหาร ศิลปอาชา บอกเด็กว่าให้ “มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด” เกิดอะไรขึ้น พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ มาเป็นนายกรัฐมนตรี บอกว่า “รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติ” อยู่สั้นๆ ก็มีนายกฯ คนใหม่อีกคือ ชวน หลีกภัย บอกให้เด็ก “ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย”

มาแรงแซงทางโค้งเร็วปานกามนิตหนุ่มเป็นผู้แทนปีเดียวก็เป็นนายกฯ เลย มีใครโดดเด่นเป็นเกียรติเป็นศรีแบบนี้บ้าง พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร บอกว่า “เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส” “เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี” “รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน” “เด็กรุ่นใหม่ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด” “อยากฉลาดต้องขยันอ่าน ขยันคิด” พอฟ้าเปลี่ยนสีก็นี่เลย พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯ คนใหม่บอกเด็กว่าต้อง “มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข” “สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม” เมื่อคลื่นลมสงบเสงี่ยมนายกหนุ่มน้อยกว่าก็มา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บอกว่าให้ “ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี” “คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม” “รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ”

ใครดีใครอยู่ในสังคมโลกาภิวัตน์ บ้านเรามีนายกรัฐมนตรีหญิงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เธอบอกเด็กว่า “สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใสใจเทคโนโลยี” “รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญานำพาไทยสู่อาเซียน” “กตัญญู รู้หน้าที่ เป็นเด็กดี มีวินัย สร้างไทยให้มั่นคง”

ฝนฟ้าคะนองกึกก้องท้องฟ้าเปลี่ยนสีอีกครั้ง เราได้นายกรัฐมนตรีเป็นทหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกเด็กว่า “ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต” “เด็กดี หมั่นเพียรเรียนรู้ สู่อนาคต” “เด็กไทยใส่ใจศึกษาพาชาติมั่นคง” “รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี” “เด็กเยาวชนจิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ” “เด็กไทยรุ่นใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมืองไทย เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติด้วยภักดีมีคุณธรรม” “รู้คิดรอบคอบ รับผิดชอบต่อสังคม” “รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความดี”

คำขวัญที่สื่อสารกับเด็กๆ เยาวชนของชาติทั้งหมดนี้ ภาพรวมคือ มีวินัย ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ รู้ภาระหน้าที่สามัคคี ข้อย่อยคือให้สนใจสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี เด็กก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้างเป็นไปตามความสนใจของแต่ละคน

กว่าจะรู้ตัวบางสีก็ครองพื้นที่ไปหมดแล้ว

สีบางสีก็ลบออกไม่ได้ ถ้าเลือกผิดก็นี่แหละ พ่อแม่จึงสำคัญมองลูกให้ถูกว่าเด็กมันต่างกัน ซิคมุนท์ ฟรอยด์ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับการทำงานของสมอง เขาบอกว่าอาการไม่ดีหลายอย่างมาจากใจล้วนๆ พลังจิตใต้สำนึกหรือไร้สำนึกนี่แหละแสนจะสำคัญ เพราะมันเป็นตัวกำหนดให้คนแตกต่างกัน

เด็กจะเป็นยังไงก็มาจากห้าปีแรกที่เติบโต ชอบแกล้งแมว บางคนรักแมวจนจะกินไว้ไม่ให้ไปที่อื่น เด็กบางคนพร้อมลุยไม่กลัวงานเลอะ

พรุ่งนี้วันที่ 14 วันเด็กเวียนมาอีกครั้ง ผู้ใหญ่คงจำกันได้ว่าวันที่เคยสร้างวีรกรรมที่แตกต่างจากผ้าสีขาวที่พับไว้อย่างเรียบร้อย ว่านอนสอนง่าย กับพฤติกรรมปีนต้นไม้ เป่ากบ กระโดดยาง ไม่ทำการบ้าน รอยไม้เรียวเพราะหนีเรียน พฤติกรรมความชอบแตกต่างนั้นมันเกิดจากอะไร

ถ้าเข้าใจไม่ผิด วีรกรรมฝ่ากฎฝืนข้อห้ามที่เห็นของเด็กบางคนมันเป็นแค่เปลือก

ในฐานะผู้มาก่อนที่อ่อนล้าแรงโรยแล้ว เราควรถอยออกมา หน้าที่ของเราคือจุดไฟให้พลังงานเด็กที่มีสีสันมากมาย ให้เขาและเธอส่งแสงเจิดจ้า.

 

 

nandialogue

 

 

เรื่องและภาพ สุมาลี เอกชนนิยม


เกี่ยวกับผู้เขียน : สุมาลี เอกชนนิยม จิตรกรชาวร้อยเอ็ด จบช่างศิลปแล้วไปต่อจุฬาฯ ก่อนบินลัดฟ้าสู่มหาวิทยาลัย Sorbonne กรุงปารีส แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1996 และทำงานสืบเนื่องเสมอมา มีโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อยู่ 19 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ใช้เวลาหลักๆ อยู่กับการเขียนรูป เธอเคยพูดกับมิตรสหายว่า ‘การเขียนรูปคือรางวัลสูงสุดที่มอบให้ตัวเอง’

You may also like...