essay

Around The World

“เสียงมันชวนดึงสติ ต้องหยุดฟัง” 

มิตรสหายบางท่านให้นิยามสั้นๆ เวลาเธอบรรยายชีวิตผู้คนในข่าว น้ำเสียงเรียบ นิ่ง เน้นๆ เนื้อๆ ทุกวรรคทุกคำไม่ขาดไม่เกิน เหมือนช่างเหวี่ยงค้อนทุบตะปูโป้งเดียวจมลงเนื้อไม้

ตอกตะปูใหม่ๆ บางทีหัวค้อนทุบเข้านิ้วตัวเอง บางทีไม้บิ่น เสียของ แต่นานวันเข้ายิ่งชำนาญแม่นยำ

กว่า 3 ทศวรรษ เนื้อแท้ของคนทำข่าว ถ้าไม่ว่อกแว่ก เป๋ซ้ายเป๋ขวา อยู่ในเลนแห่งการสงสัยตั้งคำถาม ยังไงเสียสมการนี้บวกลบคูณหารแล้วมีแต่ใช่ ได้ และกำไรก็ออกดอกผลเป็นประโยชน์สาธารณะ  

งานของเธอโฟกัสอยู่กับข่าวต่างประเทศ แม้จะเธอเกิดในประเทศโลกที่สาม แต่คำถามกลับชวนทุบทลายพรมแดน ถามแล้วออกไปข้างนอก เข้าไปในพื้นที่ รายงานจากที่เกิดเหตุ ขุดลงไปใต้ภูเขาน้ำแข็ง

อาจเริ่มต้นที่มันไม่อิ่ม ยิ่งกระหายอยากรู้

“เวลาดูข่าวต่างประเทศแล้วเรารู้สึกว่าทำไมมันมีแค่นี้ เช่น ข่าวทหารอิสราเอลยิงปาเลสไตน์ แค่นั้น จบประมาณ 3-4 นาทีเต็มที่ แต่มันต้องมีอะไรมากกว่านั้นสิ เราต้องการคำอธิบายว่าที่เขายิงกัน จนมีคนต้องอพยพลี้ภัย มันเกิดอะไรขึ้น เราต้องการคำอธิบาย”

เธอสะสมความอยากมานาน ทศวรรษก่อนทำได้แค่แปลและอ่านออกอากาศ แต่เมื่อโอกาสมาถึง ทุนพร้อมทรัพยากรมี แรงบวกกลับมา ถึงเวลาก็ใส่เต็มข้อ 

แต่เมื่อเริ่มแล้วก็ทั้งยากและโหดหิน ลงพื้นที่สงครามไม่ใช่เดินไปตลาดปากซอยบ้าน 

“เราไม่ใช่แค่ผู้ดำเนินรายการ เราทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เซ็ตทีมให้ลีนที่สุด ประสานงาน โปรดิวเซอร์ แบกขาตั้งกล้อง ฉันยอมทำทุกอย่างเพื่อเธอ–รอบโลก” 

วันเริ่มต้น ตะวันออกกลางกำลังลุกเป็นไฟ กลุ่ม ISIS บุกยึดไปหลายพื้นที่ บ้านเมืองพังพินาศ คนตายทะลุหมื่น คนลี้ภัยทะลุแสน    

“อิรักเป็นประเทศแรกที่ตัดสินใจไป เรานั่งคุยกับช่างภาพ ทีมงานมีอยู่ 3 คน เราไปไหนกันดี คนไทยกำลังสนใจมาก แต่เราก็ได้แต่เอาข่าวมาแปล ตอนนั้นเริ่มมีตัดหัวนักข่าว เผานักบิน ISIS กำลังเป็นภัยคุกคามของโลก”

ตัดสินใจแล้วก็เริ่มดิ้นรนไหว้วานคนใกล้ตัว แฟนของเธอเคยอยู่กองทัพเยอรมนี ทำงานกับนาโต้ เธอขอปักหมุดไปดูการฝึกรบกับกองกำลังที่สู้กับ ISIS 

“ติดต่อเป็นทางการ เขียนไปหานาโต้ จนได้ไฟเขียว เขาก็ใช้ความรู้ความเข้าใจระบบของนาโต้เพื่อจะขออนุญาตแล้วก็ได้เข้าไป ทริปแรกไปกันสามคน มีเราคนเดียวเป็นคนไทยต้องใช้วีซ่า เพื่อนบอกว่าเดี๋ยวเขาจัดการเรื่องวีซ่าให้ เขาติดต่อรัฐบาล ขอเอกสาร ทำทุกอย่างตามขั้นตอน แต่ที่เราจะไปมันเป็นประเทศที่บอกไม่ได้ว่าต้องรอหนึ่งวัน สองวัน หรือสามวัน

“จนคืนสุดท้ายกำลังแพ็กกระเป๋าเดินทาง วีซ่าก็ยังไม่ออก เช็คกับเพื่อนไป เขาบอกให้มาเลย เดี๋ยวมาเอาวีซ่าที่สนามบิน เราก็ เฮ้ย กูจะไปดีมั้ยวะ เริ่มลังเล ฉันทำอะไรอยู่วะเนี่ย แต่ว่าความอยากมันมีมากกว่าความลังเล คิดมาตลอดว่าถ้าเดินแล้วก็เดินไปให้สุด เลยตัดสินใจไปสนามบิน ขึ้นกาตาร์แอร์เวย์ไปลงที่โดฮา แล้วค่อยต่อเข้าอิรัก ใจเต้นแรงตลอดเพราะกลัวถูกส่งกลับ เพราะงานมันมีไทม์ไลน์ล็อกวันแล้ว เราวางแผนไปสิบวัน กลับมาตัดต่อออกเพื่ออากาศ”

เปรียบให้เห็นภาพขนาดก้อนหินที่แบกอยู่ สมัยเธอเคยเป็นผู้ช่วยให้ทีมข่าวอัลจาซีร่า รายการสารคดีข่าวหนึ่งตอน ความยาวครึ่งชั่วโมง ใช้เวลาทำประมาณ 3-4 เดือน ตั้งแต่ pre production on the ground และ post production แปลว่าหนึ่งปีทำประมาณสามชิ้นหรือสี่ชิ้นเต็มที่ แต่ของเธอเป็นรายสัปดาห์ มีทีมทั้งหมด 3 คน 

“ทำไงให้คนดูเราไม่หลุด การเมืองต่างประเทศมันห่างจากชีวิตคนไทย เราต้องสู้กับข่าวน้องชมพู่ ข่าวปาฏิหารย์ไสยศาสตร์ มันไม่ง่าย ทำไงล่ะ”

วางแผนให้รอบคอบรัดกุม ชกให้เข้าเป้า ? ก็ถูกบางส่วน 

“หลายครั้งก็เป็นมวยวัด สาวเอาๆ เวลาน้อยยิ่งต้องใช้สัญชาตญาณ”

จากที่เห็นอิรักเฉพาะในจอ นั่งดูในหองแอร์ แต่เธอไม่ได้กลิ่น เมื่อเท้าเหยียบดินอิรักจริงๆ โลกทัศน์มันจึงเต็มเปี่ยมขึ้น 

“กลิ่นมันหาไม่ได้จากการอ่าน เข้าไปตรงฐานทัพ เห็นเฮลิคอปเตอร์บิน กลิ่นมันออก และที่เรารู้สึกว่าเรามักจะมีแนวโน้มคล้อยตามความคิดว่าคนมุสลิมตะวันออกกลางมีภาพจำน่ากลัว ไม่ปฏิเสธว่าแม้เป็นนักข่าวเราก็มีอคติ พอได้ทำงานจริงๆ มันได้ผูกสัมพันธ์กับคน บางคนทำงานตลาดหลักทรัพย์ บางคนเป็นทนาย เวลาว่างไปเล่นสกีที่เลบานอน เฮ้ย ศิวิไลซ์นี่หว่า มายาคติคับแคบมันค่อยๆ หายไป”  

เอาง่ายๆ ดูจากหนังสือพิมพ์บ้านเขาเห็นอะไร

“ข่าวอุบัติเหตุน้อยมาก ข่าวข่มขืนยิ่งน้อย เขาดิสคัสกันเรื่อง war&peace ซีเรียส เขาไม่หลบหนีจากความจริงที่กดลงมา เป็น matter of life and death

อยู่กับข่าวสงคราม กับความเป็นความตายเป็นปีๆ เธอยอมรับว่าไม่มีทางเข้าใจความสูญเสียได้ลึกซึ้งเท่ากับคนที่สูญเสีย 

“เคยตามคนที่กำลังอพยพข้ามไปยุโรป บางคนเป็นวิศวะฯ บางคนเป็นหมอ แต่ต้องทิ้งทุกอย่าง หอบข้าวของไม่กี่ชิ้น วิ่งจูงลูก นั่งเรือข้ามทะเล ไม่รู้จะตายเมื่อไหร่” 

สงครามให้บทเรียนอย่างปฏิเสธไม่ลง 

“ชีวิตคนที่ต้องอยู่ตรงนั้น ไม่แฟร์ ไม่มีอะไรยุติธรรมกับคนบริสุทธิ์เลย เวลาสื่อรายงานข่าว มักจะกัดเฉพาะตัวใหญ่ๆ เมามันกับคนอย่างปูติน ทรัมป์ แต่ชีวิตคนอพยพลี้ภัยมันคนละโลก โศกนาฏกรรมที่แต่ละครอบครัวเจอ มันใหญ่กว่าเรื่องของผู้นำที่ตีกันไปตีกันมา ไม่ว่าจะอ้างอะไรก็ไม่มีความชอบธรรม” 

เข้าไปอิรักหลายครั้ง เห็นดีเทลมากขึ้น สายตาของสื่อมวลชนเปลี่ยนเป็นแว่นขยาย เลือกและโฟกัส 

“ในอิรักมีชนกลุ่มน้อยเป็นชาวเคิร์ด พวกเคิร์ดจะถูกใช้ทำสงครามบ่อย และเป็นศัตรูกับ ISIS ที่น่าสนใจคือกองกำลังเคิร์ดมียูนิตทหารที่เป็นผู้หญิงล้วนและเป็นแนวหน้า คนกลุ่มนี้มีสื่อมวลชนเขียนถึงเยอะ เพราะเป็นกลุ่มที่พวก ISIS กลัว ถ้าเกิดโดนทหารหญิงฆ่า ISIS เชื่อว่าจะไม่ได้ไปสวรรค์ 

“เราเข้าไปเจอเด็กสาวกลุ่มนี้ มายาคติก่อนไปคือเราคิดว่าพวกนี้คงดูป่าเถื่อน พอได้คุยกันก็เป็นเด็กธรรมดา เรียนจบมหาวิทยาลัย ชอบดูหนังฟังเพลง ก่อนออกรบก็แต่งหน้าทาลิป น่ารักดี เราใช้เวลาอยู่กับเขา 2-3 วัน จำได้ว่าพอกลับมาสักประมาณ 2 เดือน มีเด็กในกลุ่มนี้เขียนมาหาว่า “จำได้มั้ย ยูเคยเล่าให้เราฟังว่ายูเคยไปทำข่าวผู้ลี้ภัยข้ามทะเลจากตุรกีไปยุโรปมีคนตายเยอะตอนข้ามทะเล มีพวกนายหน้าไปเรียกค่าหัว เรียกเสร็จก็เอาใส่เรือยางแล้วผลักออกไปเท้งเต้งกลางทะเล ไม่รู้จะเป็นตายหรือตาย” 

“เราก็บอกว่าจำได้สิ ทำไมเหรอ เขาตัดสินใจว่าเขาจะหนี เขาจะไม่อยู่แล้ว แม้ว่าเขาอยากจะสู้เพื่อแผ่นดินขนาดไหน แต่ว่าพ่อแม่เขาแก่แล้ว และมีหลานอีกสี่คนที่เขาไม่อยากให้อยู่ที่นี่แล้ว เพราะมันไม่ปลอดภัย เราก็ถามต่อว่ามีอะไรให้ช่วยไหม เขาก็บอกเปล่า แค่เกิดมาเขายังไม่เคยเห็นทะเล เขาอยากรู้ว่าทะเลหน้าตาเป็นอย่างไร มันน่ากลัวอย่างที่บอกหรือเปล่า เราจำได้ว่ากำลังเดินๆ อยู่ น้ำตาไหลเลย เพราะมันไม่ใช่ทะเลของคนที่อยากจะไปเที่ยว แต่เป็นทะเลของคนที่อยากจะเอาชีวิตรอด”

นักศึกษานิเทศศาสตร์ ฝันอยากเป็นนักข่าวอาจมองเป็นเรื่องท้าทาย สนุก ได้เดินทาง แต่สิ่งที่เธอได้ติดกระเป๋ากลับมาไม่ใช่ประสบการณ์น่าจดจำเสมอไป หลายครั้งหลายเหตุการณ์นำอาการทรอม่าภายในมาให้ แม้มีคนชื่นชมใหรางวัลเป็นกำลังใจ ก็ไม่ใช่วิธีรักษาสภาพเรื้อรังนี้โดยตรง

อาจใช่, เพราะเลือกแล้ว ก็ยอมรับสภาพ คนอยากแข็งแรงเลือกเข้าฟิตเนสเล่นกล้าม สื่อสารมวลชนไม่มีทางเลือกอื่น

“มันต้องเผชิญและพิสูจน์หลายครั้ง หนึ่ง, คุณต้องทำให้เสร็จ สอง, เสร็จแล้วถ้าดูไม่เยอะมันก็เจ็บปวด แต่ก็ต้องยืนยันว่าสิ่งที่คุณทำมันมีคุณค่าพอ เราต้องแข็งแรงพอที่จะยืนยัน เพราะว่าเราไปสายผีสางนางไม้ไม่ได้”

ไม่ได้แปลว่าข่าวไสยศาสตร์เลว คนเสพโง่ ไม่ใช่ แต่หลักใหญ่ใจความคือสังคมกำลังวิกฤติทั้งการเมือง เศรษฐกิจ คำอธิบายปัญหาทั้งต้นน้ำยันปลายน้ำเจือจางบางเบา ทางออกสู่แสงสว่างคลำหายากกว่าสลากล็อตเตอรี่ จะให้ไม่มีฮาร์ดนิวส์เลย คงผิดวิสัย 

ในภาพใหญ่ ข่าวสารที่ชวนถกเถียงหาทางออกก็เหมือนชนกลุ่มน้อยอยู่แล้ว 

“ถ้าเปรียบเทียบกับตอนปี 2540 เรารายงานข่าวเศรษฐกิจแล้วชาวบ้านสนใจมาก ตอนลอยตัวค่าเงินบาท โต๊ะเศรษฐกิจคือโต๊ะหลัก แต่ตอนนี้แทบไม่มีคนสนใจ เหมือนอยู่คนละโลก ตกลงเราไม่ได้อยู่ในวิกฤติเศรษฐกิจเหรอวะ ไม่น่าใช่ ชาวบ้านกำลังทยอยตายจากหนี้สิน ตกงาน คนทำสื่อต้องถามตัวเองว่าเราจะรอดได้จริงเหรอ ในสังคมที่กำลังจะไม่รอด” 

พูดแล้วเหมือนเรียกร้องมากไป ?

เปล่า, เธอว่าขอแค่น้อยที่สุด “ขั้นต่ำที่สุดนะ เราอยากให้ทำเรื่องที่มันพิสูจน์ได้ สมเหตุสมผล ให้โลกนี้มันเคลื่อนไปข้างหน้า”

แก่นของ ‘รอบโลก’ ไม่ได้ซับซ้อน เพียงเพื่อเข้าใจโลก 

และอย่างน้อยที่สุด สำหรับเธอที่เคยเกิดมาบนพื้นที่ชายแดน สงคราม ลูกกระสุน ระเบิด อยู่ในสายตาตั้งแต่วัยเยาว์ 

โลกที่ไม่ต้องหมุนกลับมาเจอสงครามอีก สื่อมวลชนที่ไหนจะไม่ปรารถนา ?

 

 

nandialogue

 

 

essay : โต๊ะจเร

เรื่อง :  ธิติ อิสรสารถี


เกี่ยวกับนักเขียน : ธิติ อิสรสารถี คนขับรถ เจ้าของหนังสือสารคดี /ภาพ Promised Land ‘ประเทศเทา’, รวมบทกวีชุด ‘พี่ชาย การตาย และความไร้สุภาพ’, ปรัชญาเกรียน (บทสัมภาษณ์ สมบัติ บุญงามอนงค์), ฤดูกาลประชาชน และรวมบทสัมภาษณ์ว่าด้วย ม.112 ‘ความมืดกลางแสงแดด’ (ร่วมกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์) ผ่านงานสื่อสารมวลชนมาหลายสำนัก อาทิ CMYK, ปาจารยสาร, ข่าวสด, The101.World ปัจจุบันทำงานอยู่ที่วอยซ์ทีวี

You may also like...