the letter

วันเดย์ทริปกับพี่โด่ง

สวัสดีพี่หนึ่งจากโต๊ะกาแฟในบ้านหลังใหม่

วันนี้ผมเริ่มต้นวันแต่เช้ามืด ลูกชายตื่นกลางดึกจากอาการระคายคอ ทำให้ไอจนแทบนอนไม่ได้

เด็กๆ ยังขากเสลดไม่เป็นก็ทำให้ยากหน่อยที่จะเอาเมือกประเภทนี้ออกจากร่างกาย

การอาเจียนอาจเป็นวิธีที่ทรมาน แต่ก็ได้ผล ผมกับภรรยานั่งอยู่กับศิลป์จนตอนเช้ามืดก่อนจะพาไปนอนอีกทีตอนตีสี่ ถัดจากนั้นไม่กี่นาทีผมก็แต่งตัวขี่รถไปที่ท่าเรือเพื่อพบกับพี่โด่ง (ผู้รับเหมาที่ทำโครงการบ้านเช่าของเราที่กำลังก่อสร้างอยู่) ผมนัดกับแกว่าจะไปเที่ยวบ้านดอน (ภาษาโบราณของคนแถบนี้ที่ใช้เรียกอำเภอเมืองสุราษฎร์) แกชวนผมอยู่หลายที จนเที่ยวนี้แหละที่จังหวะเหมาะ และมีเหตุอันควรที่จะตามไปด้วย 

ทันทีที่จอดรถเรียบร้อยในเรือเฟอร์รี่ ลูกพี่ก็ชวนผมไปกินกาแฟที่หัวเรือในห้องกัปตัน เรือข้ามฟากลำที่ผู้โดยสารคนธรรมดาอย่างผมไม่ชอบเท่าไร พอไปกับนักเลงคนใต้ก็กลายเป็นเรือสำราญไปได้ แกพาผมเดินขึ้นบันไดไปชั้นบนสุดบริเวณหัวเรือแล้วเปิดประตูห้องกัปตันเข้าไปอย่างมั่นใจ ประตูยังไม่ทันปิด แกก็แหลงใต้ส่งเสียงดังทักทายผู้คนไปทั่วห้องบังคับการ พลางเดินไปหยิบถ้วยกาแฟมาชงให้กับตัวเองและผมดั่งห้องรับแขกบ้านตัวเอง สักพักทั้งห้องที่หัวเรือก็เต็มไปด้วยผู้โดยสารชั้นพิเศษคนอื่นๆ จากเกาะพะงัน 

ผมนั่งขัดสมาธิ จิบกาแฟ ดูดและดมควันใบจากกับยาเส้น เคล้าเสียงหยอกล้อและอำกันแรงๆ ของพี่โด่งกับผองเพื่อนในสำเนียงใต้อย่างสำราญใจ เรื่องที่พวกเขาคุยกัน มีตั้งแต่การงานธุรกิจอย่างเรื่องวิธีการบรรทุกของจากฝั่งสู่เกาะให้คุ้มค่าที่สุด การเมือง ความเป็นไปของเกาะพะงัน พฤติกรรมทั้งดีและแย่ของเพื่อนคนอื่นๆ บนเกาะ และเรื่องชีวิตที่อ้างอิงถึงความสัมพันธ์และท่าทีของพวกเขากับเมียๆ ผมนั่งฟังอย่างงูๆ ปลาๆ ได้สักพัก (เหมือนกับเวลาเราฟังคนอังกฤษแท้ๆ คุยกันในภาษาถิ่นอย่างออกรส) ก็ขอตัวออกมานอนอ่านหนังสือได้สักสี่ห้าหน้าแล้วหลับเอาแรงที่เก้าอี้ผู้โดยสารชั้นปกติ 

เอารถขึ้นจากเรือได้สักสิบห้านาที แกพาผมจอดแวะกินข้าวแกงร้านประจำ เดินเข้าไปในร้านก็ทักทายกับแม่ค้าอย่างสนิทชิดเชื้อพลางตักแกงราดข้าวสวยร้อนๆ ทำยังกับครัวบ้านตัวเอง กินเสร็จก็ย่องไปซื้อขนมรังผึ้งกับยายแก่ๆ คนหนึ่งที่นั่งขายอยู่บนแคร่ข้างร้าน กลับขึ้นมาบนรถ แกบอกกับผมว่าอยากกินหรือเปล่านั้นไม่ใช่เรื่อง แต่ทุกครั้งที่แวะข้าวแกงร้านนี้ แกเป็นต้องอุดหนุนคุณยายด้วยความกตัญญูปนสงสาร 

หลายปีก่อน แกเคยขับรถมาแวะที่ร้านในเวลาบ่ายแก่ๆ กับข้าวทุกอย่างในร้านหมดแล้ว แต่คุณยายหรือแม่ค้าที่ร้านนี่แหละกุลีกุจอเจียวไข่ราดข้าวให้แกกินประทังความหิว ขนมรังผึ้งที่แกซื้อมาในงวดนี้ตกเป็นของคุณอาของพี่โด่งที่แกพาแวะไปเยี่ยมบ้านในสถานีถัดไป ก่อนเริ่มตระเวนซื้อวัสดุตามร้านค้าต่างๆ ในตัวเมืองสุราษฎร์

พี่โด่งเป็นคนนครฯ แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในสุราษฎร์ฯ แกว่าเรามาใหญ่ (เติบโต) ที่นี่ก็คล้ายจะผูกพันกับสุราษฎร์ฯ ซะมากกว่าจังหวัดที่ตัวเองเกิด ผมถามแกว่าคนนครฯ กับสุราษฎร์ฯ ต่างกันไหม จริงๆ จะถามเรื่องนิสัยและพื้นเพของคนสองจังหวัดใหญ่แห่งภาคใต้นี้แหละ แกตอบผมสั้นๆ ว่าคนนครฯ ดุและหยาบกว่า ด้วยการยกเหตุผลประกอบว่าดูการลงท้ายประโยคสิ คนคอนจะลงท้ายว่า “เย็ดแหม่” ในขณะที่คนสุราษฎร์ฯ จะลงด้วยคำว่า “ด๋อ” (ฮา)

เราจอดรถกันที่ร้านขายวัสดุก่อสร้างแบบเชนสโตร์ขนาดใหญ่ในเมือง เดินผ่านประตูเลื่อนไปไม่กี่ก้าวก็มีเสียงร้องทักทายพี่โด่งด้วยความดีใจจากพนักงานในร้าน ผมกับลูกพี่โด่งเดินเลือกซื้อวัสดุเข้าโครงการราวกับราชาที่มีข้าราชบริพารคอยปรนนิบัติรับใช้ จะเอาหรือหาอะไรก็เพียงเอ่ยปาก น้องๆ ในร้านก็แทบจะวิ่งไปหาสิ่งนั้นมาให้พิจารณาโดยพลัน 

กลับขึ้นมาบนรถ พี่โด่งอธิบายอย่างคนเข้าใจโลกว่าบรรดาพนักงานเหล่านั้นต้องทำยอดให้ถึงในแต่ละเดือน ทุกคนรู้ดีว่าพี่โด่งคือหนึ่งในผู้ที่จะทำให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายที่เจ้านายกำหนด เดือนๆ หนึ่งลูกพี่ผมคนนี้ซื้อของมูลค่าถึงเลขหกหลักหรือบางคราอาจไปถึงเจ็ดหลัก ทำให้ทุกครั้งที่แกปรากฏตัวที่ร้านจึงเกิดปรากฏการณ์เหล่านี้ขึ้น

ร้านถัดมารูปการณ์ก็เหมือนกับร้านแรกเปี๊ยบ ต่างกันที่ร้านนี้หลังจากสั่งซื้อวัสดุเสร็จ แกต้องขับรถไปขึ้นของเพื่อขนกลับด้วย กระเบื้องหลายสิบกล่องถูกลำเลียงขึ้นหลังกระบะที่ท่าเทียบรถจากโกดังที่อยู่ข้างๆ หลังจากพนักงานสี่ห้านายทยอยเรียงกระเบื้องหลังกระบะไปได้สักครึ่งทาง พี่โด่งก็ควักกระเป๋าหยิบแบงค์ร้อยสองใบส่งให้กับน้องพนักงานขาย พร้อมกับขอให้ไปซื้อเครื่องดื่มชูกำลังมาแจกเพื่อนร่วมงาน น้ำใจในเรื่องเล็กน้อยๆ เหล่านี้คือสิ่งที่แกยึดถือเป็นสาระของชีวิต แต่ก็เฉพาะกับคนที่ตั้งใจทำงานเท่านั้น แกเล่าว่าที่ผ่านมาก็เคยดุด่าว่ากล่าวพนักงานเหล่านี้อยู่บ้าง หากมีความผิดพลาดใดๆ เกิดขึ้นจากการละเลยหรือประมาทในงานที่พวกเขาต้องทำ 

แกพูดถึงตัวเองว่าเป็นคนตรงๆ ใครดีมาก็ดีไป เหี้ยมาก็ด่า ด่ามากๆ เข้า ก็เลิกคบ (ไม่ไปอุดหนุน) แม่งซะเลย

ระหว่างทางจากร้านแรกสู่ร้านที่สองและร้านที่สาม แกโทรฯ สั่งเหล็กจำนวนมากกับร้านค้าสุดท้ายของวันนี้ ไม่ใช่แค่คุยถึงปริมาณและชนิดเหล็กที่แกต้องการในราคาเท่านั้นเท่านี้ หากแต่ระหว่างการต่อรองตัวเลขทางธุรกิจในบทสนทนาทางโทรศัพท์ พี่โด่งยังถามถึงความเป็นไปในชีวิตอย่างจริงจัง และเย้าแหย่หยอกล้อกับคนอีกฝั่งของสายอย่างมีจังหวะและลูกล่อลูกชน 

การที่ใครสักคนทำให้บทสนทนาในการงานรื่นรมย์ด้วยท่วงทำนองแห่งการเจรจาแบบนี้ ไม่แปลกที่ใครๆ จำนวนมากในบ้านดอนจึงอาจจะหลงรัก เอ็นดู ชื่นชม หรืออยากทำงานให้

ระหว่างรอพนักงานขึ้นเหล็กเกือบๆ จะสองตันจนเต็มหลังรถ (ไม่ใช่แค่ส่วนกระบะ หากแต่ยังพาดข้ามห้องโดยสารยื่นมาข้างหน้าจนเกือบจะถึงป้ายทะเบียน) ผมนึกถึงตัวละครที่ชื่อพี่จอห์น ใน ‘เหมืองแร่’ ของลุงอาจินต์ สำหรับผม พี่โด่งคือจอห์นในนวนิยาย จะต่างก็ตรงที่พี่โด่งนั้นเป็นคนใต้แท้ๆ ส่วนพี่จอห์นเป็นลูกครึ่ง 

ระหว่างทางกลับท่าเรือดอนสัก ด้วยน้ำหนักและการวางตัวของสัมภาระบนยานพาหนะ พี่โด่งลดความเร็วลงกว่าครึ่ง เมื่อเทียบกับตอนวิ่งรถเปล่าขาเข้าเมือง ช่วงเกือบจะถึงท่าเรือ มีสายเรียกเข้าแจ้งโชคลาภในวันหวยออกกับแก แค่ได้ยินเลขท้ายสามตัวที่คู่สนทนาแจ้งพี่โด่งก็ร้องเสียงลั่นด้วยความปรีดา แกใช้เลขชุดเดิมๆ ที่อยู่ในทะเบียนรถแกสองคันเล่นทุกงวด เล่นงวดไหนก็เลขชุดนี้

ต่างแต่ว่างวดนี้แกได้รางวัลพอๆ กับมูลค่าของสินค้าที่สั่งซื้อไป หลังจากนั้นสายเรียกเข้าก็ไหลมาเป็นแม่น้ำ ทั้งเมีย แม่ พี่น้อง และเพื่อนของพี่โด่ง ต่างกระหน่ำโทรฯ กันเข้ามาหาเพื่อแสดงความยินดีกึ่งสงสัยว่างวดนี้แกได้รางวัลไปเท่าไร

คุยไปสักสี่ห้าสาย แกเริ่มบอกกับคู่สนทนาว่าวันนี้ตัวเองเนื้อหอมมาก จำแทบไม่ได้เลยว่าใครชื่ออะไรโทรฯ มาหาบ้าง ก่อนลงท้ายว่า “เจ็บหัวเม็ด” (ปวดหัวไปหมด) 555

วันเดย์ทริปกับพี่โด่งให้ประสบการณ์และความสนุกสนานพอสมควร การใช้เวลากับผู้ใหญ่วัยห้าสิบกว่าที่ยังมีพลังงานไม่แพ้เด็กอายุยี่สิบทำให้ผมได้เติมพลังชีวิต และมีเรื่องเล่าที่ดีอีกเรื่องในชีวิตให้จดจำ

ด้วยมิตรภาพ

จ๊อก

 

 

nandialogue

 

 

ตอบ จ๊อก

ฟังเรื่องเล่าของคุณด้วยความเพลิดเพลิน เราพอรู้จักสุราษฎร์อยู่บ้าง เคยนอนในเมือง และไปค้างบางอำเภอ (ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา) แต่ยังไม่เคยไปทั้งสมุยและพะงัน ไม่รู้รอดมาได้ยังไง ชีวิตนักข่าวยังไงๆ ก็ต้องโดนสักครั้ง เออว่ะแม่งไม่โดน อยากบอกว่าจดหมายคุณทำหน้าที่เปิดโลกใหม่ได้ดี ทั้งที่ไม่เคยไปนี่แหละ แต่เริ่มเห็นภาพ ได้กลิ่น คุ้นชินกับวิถีผู้คนนักเลงใต้

อีกอย่าง ช่วงนี้เราดูคลิปฝรั่งเศสเยอะ มีรายการหนึ่ง (Sabri Thai) เน้นทอล์กกับพวก expat ทั่วเมืองไทย แน่นอนว่าสมุยก็เป็นหนึ่งในความนิยม มีคนฝรั่งเศสชอบมาเที่ยว เที่ยวบ่อยๆ เทียวไปเทียวมาจนมั่นใจแล้วก็เลือกปักหลักอยู่ยาว บางคนควงคู่กันมาสามีภรรยา บางคนมาพบรักสาวไทยท้องถิ่น นั่งดูชีวิตหลายๆ คนบนเกาะก็พอปะติดปะต่ออารมณ์ บรรยากาศ ทัศนคติ มีคนหนึ่ง (ทำธุรกิจให้เช่าเจ็ทสกี) พูดว่าเขาไม่ชอบภูเก็ตเลย มันเหมือนยกกรุงเทพฯ มาไว้บนเกาะ สมุยมันยังบ้านๆ และ suavage กว่า (คำที่เราใช้เป็นฝรั่งเศส ไม่แน่ใจว่าเวลาถอดความเป็นอังกฤษ มันแทนความหมายได้มั้ยกับ savage หรือ wild) ความรู้สึกเราต่อภูเก็ตหรือเชียงใหม่ก็ประมาณนั้น เพราะคนมันเยอะ แน่น สเปซน้อย (คงหมายถึงในเมืองหรอกนะ ออกไปต่างอำเภอ น่านกับเชียงใหม่ก็ไม่น่าต่างกันเท่าไร) ไม่รู้มาพะงันจะคิดเห็นแบบนี้อีกมั้ย คิดว่าคงไม่

ตามเชียร์ให้การก่อสร้างก้าวหน้า และไม่มีปัญหากับผู้รับเหมา เชื่อมั้ย ตั้งแต่ฟังเรื่องทำบ้านมา แทบไม่มีสักคนที่แฮปปี้ สัญญาว่ายังไงก็ทำตามนั้น ไม่เลต ไม่หนี ไม่มีงบบานปลาย ไม่มี มีแต่ตบตีหนีหาย จ่ายเงินไปแล้วโดนเชิด ทิ้งงาน ขนาดทหารเรือพรรคพวกเราที่ทำบ้านอยู่สัตหีบ (คือใครก็รู้ป่ะว่าถิ่นทหาร ทำไมผู้รับเหมาจะไม่รู้) ยังโดนโกง เท่าที่นึกออก มีคนเดียวจริงๆ คือคุณพยาบาลท่ามะกา รายนั้นสะดวก ราบรื่น ดีงาม ราวพรหมลิขิตบันดาลชักพา

โทษฐานที่คุณก็เคยไปบ้านริมน้ำของคุณพยาบาลหลังนั้น เอาใจช่วยให้ได้อานิสงส์สะดวกตามดีล

ตั้งแต่ก่อนปีใหม่ ปีนี้น่านเริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามามาก จะว่ามากก็ไม่เชิง แต่มีทรง เป็นจุดเริ่มต้นหรือนิมิตหมายที่ดี คือก่อนนี้ สำหรับภาคเหนือ ฝรั่งจะรู้จักแต่เชียงใหม่ ปาย ปาย เชียงใหม่ วนเวียนอยู่แค่นั้น แต่หลังโควิดจบไป มันเกิดภาพใหม่ที่น่าน คือออกจากบ้านก็มีโอกาสเห็นฝรั่ง (จีนยังไม่เห็น ฟังว่าเปิดประเทศแล้วใช่มั้ย) และฝรั่งจำนวนไม่น้อยก็ติดนิสัยเสิร์ชหาคำว่า library และ bookshop วันไหนเราแวะมานั่งทำงานที่ ‘บ้านๆ น่านๆ’ ก็พลอยได้สโป๊กอิงก์แลนด์ แอนด์ เฟรนช์ฟรายส์ไปตามเรื่องตามราว ข้อดีของห้องสมุดคือมันเป็นสเปซที่เปิดโอกาสให้คนคุยกันง่าย มีหนังสือ มีกาแฟ และคนมาเที่ยวน่ะ อะไรก็พร้อมจะเอนจอยอยู่แล้ว ฝ่ายเรา เมื่อมีโอกาสก็พยายามอ่านเขียนเรียนคุย ใครอยู่หลายวันและหน้าไม่งอ พอคุยกันรู้เรื่อง ก็นั่งปล่อยไหลไปยาวๆ

ที่เพิ่งแยกย้ายกลับไปเป็นคู่สามีภรรยามังสวิรัติจากออสเตรีย (ผู้ชายมีเชื้ออิแทเลี่ยน) การงานหลักๆ อยู่เวียนนา แต่ทั้งคู่อาศัยอยู่ฮังการี เพราะบวกลบคูณหารแล้วค่าครองชีพถูกกว่ากันเยอะ ถ้าเอาประสบการณ์เราก็เรียกว่าราคาอาหารหนึ่งมื้อในเวียนนา กินได้สามมื้อ (บวกเบียร์) ที่บูดาเปสต์ ไม่แปลกที่เขาและเธอจะเลือกแบบนี้ โดยฝ่ายสามีเป็นอาร์ติสต์ เขียนรูปอยู่ที่บ้าน ภรรยาเป็นศิลปินเซรามิก แต่รับจ็อบทำงานกับคนพิการ จากบ้านไปออสเตรียราว 50 กิโลเมตร บางวันนั่งรถไฟ บางวันขับรถไปเอง ก็ถือว่าพอรับไหวและไม่ลำบาก

สามี (ชื่อลูกพี่เขาออกเสียงยาก เขียนไม่ถูกจริงๆ 55) มาเมืองไทยตั้งแต่อายุยี่สิบกว่า (ตอนนี้ 67) เคยพบปะเสวนากับ ถวัลย์ ดัชนี, เฉลิมชัย โฆสิตพิพัฒน์, ปัญญา วิจินธนสาร, ประเทือง เอมเจริญ คือเป็นฝรั่งที่ชอบเมืองไทย ติดตาม ข้องเกี่ยวกับศิลปินไทย และเคยมีงานแสดงนิทรรศการที่นี่ พอเจอพี่เจงก็เลยสนุก เข้าทางพี่เขา แม้ทำงานคนละอย่าง (เน้นเซอร์เรียลฯ) ภาพเขียนมันเป็นสากล ไม่ว่าคนชาติไหนก็ดูได้ สื่อสารกันเร็ว ลึก เห็นแล้วก็เออ ดีจัง แค่เซ็งๆ หน่อย ตอนที่เขาถามถึงงานเขียน ต่อให้หยิบหนังสือเป็นตั้งมาวางให้ดู เขาก็อ่านไม่ได้

ฮาๆ ดีที่ทุกคนจะพูด (ให้กำลังใจ) เหมือนกันว่า–รออ่านงานแปล หวังว่าวันหนึ่งงานเขียนของคุณจะถูกแปลเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯ

เราเพิ่งรู้ว่า Google Translate ตอนนี้มันพัฒนามากนะ ทุกภาษามั้ย ไม่รู้ แต่เท่าที่เขาลองอ่านงานพี่เจง ใน nan dialogue ที่แปลเป็นเยอรมัน เขาบอกว่าอ่านได้ สบายมาก รู้เรื่อง เข้าใจดี ได้ยินแบบนี้ก็ไม่เลวนะ สำหรับคนทำสื่อ คือพอเรามีเวที มีเพื่อนพี่น้องคอลัมนิสต์มาช่วยกันเขียน โอเค เป้าหมายทำให้คนไทยอ่าน แต่บางที Google Translate มันก็พอช่วยได้ อยู่ที่ไหนก็กดติดตามอ่านได้ทุกสัปดาห์ 

ถ้าถามเรา งานแปลมันเป็นเรื่องของมนุษย์ ไม่ใช่ AI มนุษย์ที่มีความรู้ ‘ถึง’ รากวัฒนธรรมของกันและกันจริงๆ รู้อารมณ์ รู้ระหว่างบรรทัด แต่ก็นั่นแหละ ต่อกรณีเพื่อนใหม่ เพื่อความเข้าใจง่ายๆ โดยเร็ว ถ้า Google Translate มันอาสามาเป็นตัวช่วย ก็ต้องยอมชั่วครู่ชั่วคราว

จากน่าน ปกตินักท่องเที่ยวฝรั่งจะไปพะเยา (ประมาณเส้นทางคลาสสิกตอนนี้เลยก็ว่าได้ รูทเชียงใหม่-น่าน-พะเยา มาแรงมาก / หลายคนใช้วิธีเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์) อาร์ติสต์ออสเตรียไม่ไปพะเยาเหมือนคนอื่นว่ะ เขาไปไหนรู้มั้ย เหี้ย แม่งเหลือเชื่อมาก เราว่าลูกพี่เขาต้องอ่าน nan dialogue ชัวร์ 555 เพราะ next station ของทริปนี้คือเกาะพะงัน.


เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อก (ชัยพร อินทุวิศาลกุล) เป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน ทุกสัปดาห์เขาเขียนจดหมายมาคุยกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ บรรณาธิการ nan dialogue

You may also like...