essay
essay

bon voyage

18:12 น. | 13 พฤษภาคม 2019

ผมส่งข้อความถึง เตย – วจนา วรรลยางกูร ว่า ‘Bon voyage’ เธอตอบกลับมาสั้นๆ ว่า ‘ขอบคุณค่า’ จากนั้นผมก็นั่งลุ้นนอนลุ้นให้เธอทำภารกิจของพ่อให้สำเร็จ

เป็นคืนที่ยาวนาน ผมเช็กข้อความทาง messenger ดูเฟซบุ๊กลูกๆ ของเขา แต่ไม่มีความเคลื่อนไหว มีแต่ผมที่หวาดหวั่นสั่นไหวในใจทั้งคืน ก็บทสนทนาเกี่ยวกับชะตากรรมของ ‘ลุงสนามหลวง’ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ , ‘สหายข้าวเหนียวมะม่วง’ สยาม ธีรวุฒิ และ ‘สหายยังบลัด’ กฤษณะ ทัพไทย สามผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทยที่ถูกจับที่สนามบินฮานอยและส่งตัวกลับไทยเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2019 และ ‘ถูกบังคับสูญหายในที่สุด’นั้นตามหลอกหลอนจนนอนไม่หลับ

สาย – บ่าย – ค่ำ | 11 พฤษภาคม 2019

เพื่อนมาจากน่าน พี่ๆ มาจากกรุงเทพฯ ผมมาจากอุบลราชธานี เรามีพันธกิจของจิตวิญญาณร่วมกัน คือ มากอดล่ำลา วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนผู้ลี้ภัยการเมืองที่กำลังจะเดินทางไปสู่ประเทศที่สาม

เรานัดพบกันที่โรงแรมเล็กๆ ชานเมืองของเวียงจันทน์ รถสกายแล็บพาเขากับลูกสาวและมีสหายร่วมอุดมการณ์ตั้งแต่วัยหนุ่มของเขามาด้วย

ผมรู้ว่า นี่เป็นการพบกันครั้งสุดท้ายบนแผ่นดินลาว แต่เรายังหวังว่าจะได้เจอกันและตำจอกกันที่ปารีส ฝรั่งเศส แผ่นดินแห่งเสรีภาพ และไปคารวะหลุมฝังศพ วิกตอร์ อูโก สักครั้ง

น้ำเสียงของเขายังคงทุ้มกังวาน เปี่ยมอารมณ์ขัน เขาไม่ปล่อยให้ความเหงาความเศร้าเข้ายึดครองวงสนทนา เป็นบทสนทนาหลังแก้วไวน์ที่ที่ห่างไกลคำว่าฟุ่มเฟือยหรูหรา เพราะที่เวียงจันทน์เราสามารถซื้อหาไวน์ได้ในราคาถูกและคุณภาพดี

ความวิตกกังวลของผมอยู่ที่ความปลอดภัยของเขาและลูกสาวระหว่างขึ้นเครื่องที่เวียดนาม เพราะตรงนั้นคือที่ที่ทางการเวียดนามจับตัวลุงสนามหลวง สหายข้าวเหนียวมะม่วง และสหายยังบลัดส่งกลับไทยและถูกบังคับสูญหายเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

‘วจนา’ พูดน้อย ยิ้มน้อยและนิ่งขรึมกว่าที่เคย แน่นอนพันธกิจสองวันข้างหน้ามันเต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่ผมกลับรู้สึกลึกๆ ว่า ลูกสาวคือเทพธิดาตัวน้อยที่คอยปกป้องพ่อ ใช่มีเพียงเธอกับพ่อเท่านั้นที่จะบินลัดฟ้าสู่ดินแดนเสรีภาพ

ห้วงเวลานั้นผมคิดถึง ‘ลาร่า’ ลูกสาวตัวน้อยของ ‘เดเนี่ยล’ ช่างทำกุญแจในภาพยนตร์ เรื่อง crash (2004) ของพอล แฮกกิส ในวินาทีที่พ่อค้าชาวเปอร์เซียลั่นกระสุนปืนใส่พ่อ ลาร่า นางฟ้าตัวน้อยกระโดดกอดพ่อขวางทางปืน เมื่อสิ้นเสียงปืนเธอกระซิบว่า “หนูจะปกป้องพ่อเอง”

ตกค่ำ เราอยากเดินชมเมืองเวียงจันทน์ยามค่ำ เขากับสหายขอพักเอาแรง เราเดินกันสองสามกิโลเมตรก็ได้นั่งลานเบียร์และที่นี่มีเบียร์ลาวหลายแบบให้เลือก บทสนทนาและเบียร์ดำเนินไป ผมยกหาย – ยกหาย

มีห้วงหนึ่งผมนึกถึงเรื่องเล่าในค่ำหนึ่งของครอบครัว ศรีนอก ที่ต้องลี้ภัยการเมือง ผมผละจากวงคุยเหมือนที่เคยผละจากวงคุยคล้ายๆ กันนี้ที่ไร่ธารเกษม ปากช่อง นครราชสีมา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2015

ตุลาคม 1976 – หลังเหตุการณ์ล้อมฆ่านักศึกษาที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หญิงสาวกะเตงลูกเล็กสามคนขึ้นเครื่องบินเฉพาะกิจของสถานทูต บินตรงจากดอนเมืองถึงสวีเดน ขณะที่สามีเดินเท้าเข้าป่า จากไทยเข้าลาวข้ามแดนไปจีน วันเดือนปีผ่าน กุมภาพันธ์ 1977 วันหนึ่งที่ประตูหน้าบ้านพักของแม่ลูกที่กรุงสตอคโฮล์มก็มีผู้ชายตัวผอมหนวดเครารุงรังในชุดทหารป่ามายืนกดออดหน้าบ้าน สองพี่น้องออกมาดูแล้ววิ่งไปบอกแม่ว่าใครไม่รู้มากดออดหน้าบ้าน แต่ดูเหมือนว่าคนพี่จะจำได้ชายคนนั้นคือพ่อ คือ ลาว คำหอม

เป็นการผละจากวงคุยเพื่อมายืนร้องไห้อีกครั้ง เพียงแต่เปลี่ยนจากใต้ต้นไม้หน้าบ้าน ‘ฟ้าบ่กั้น’ เป็นริมน้ำโขงที่แสงไฟบ้านริมน้ำวับวาม แสงไฟถนนเรื่อเรือง

ประเทศชาติแบบไหนกัน ที่นักคิด นักเขียน ปัญญาชนต้องดิ้นรนหนีตายลี้ภัยไปจากบ้านเกิดเมืองนอนของตน? ดูสิ คนอย่าง ‘ลาว คำหอม’ คนอย่าง ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ มีแต่สร้างแสงสว่างทางปัญญาให้กับผู้คน ดูประเทศนี้ตอบแทนพวกเขาสิ ดูผู้กุมอำนาจประเทศนี้กระทำระยำกับพวกเขาสิ

 

essay

 

12 พฤษภาคม 2019

ผมจะต้องกลับไทยก่อนค่ำ ส่วนเพื่อนๆ จะอยู่ต่ออีกคืนเพื่อส่งเขาและลูกสาวเดินทางในวันพรุ่งนี้ ตอนสายเราไปจ่ายตลาดบริเวณใกล้ๆ ที่พัก เขาเป็นคนกำหนดเมนู เลือกหมู เลือกปลา เลือกผัก ส่วนเราเป็นลูกมือ ช่วยหิ้วช่วยถือ จะต้มยำ ทำแกงเต็มไปหมด รถสกายแล็บพาเรามาถึงบ้านพักของผู้ลี้ภัยมีสหาย วงไฟเย็น รออยู่

‘วัฒน์ วรรลยากูร’ ในวัย 64 ปี ผอมลงกว่าปีก่อน แต่ที่ไม่ลดลงคือ ความคิดอ่าน ความอหังการแบบเสรีชน เขาตั้งใจจะปักหลัก (ลี้ภัย) ที่ลาวยาวนาน แต่การหายไปของผู้ลี้ภัยตั้งแต่ดีเจซุนโฮ (2016) โกตี๋ (2017) จนกระทั่งความตายของสุรชัย – สหายภูชนะ-สหายกาสะลอง (2018) และการถูกบังคับสูญหายของลุงสนามหลวง – สยามและสหายยังบลัด (2019) ทำให้ทุกอย่างต้องล้มเลิก เขาต้องไปต่อ

บ่ายคล้อย ผมกอดเพื่อบอกลาเขา เขาย้ำว่า “ไปตำจอกกันที่ปารีสนะ” ผมบอกเขาว่า “เดินทางปลอดภัย ให้พี่แข็งแรงๆ” ก่อนจากมา ผมพยักหน้าให้เตย เธอยิ้มน้อยๆ ผมบอกเธอว่า “เธอเป็นเทพธิดาของพ่อ เธอต้องทำได้อยู่แล้ว”

‘จอม ไฟเย็น’ อาสาขับรถเครื่องมาส่งผมที่ป้ายรถเมล์ ชายหนุ่มผู้มุ่งมั่นวันนี้ดูหวั่นไหวอย่างจับสังเกตได้ เพราะเขาเองยังไม่รู้ว่าต่อจากนี้ชะตาชีวิตจะเป็นอย่างไร จะได้ไปจากลาวไหมก็ไม่รู้ – ก็ความตายคืบคลานมาใกล้ตัวขนาดนี้ ก่อนจากผมขอกอดเขา ตบไหล่เขาแน่นๆ แล้วบอกว่า “แข็งแรงๆ คุณต้องรอดนะจอม”

รถประจำทางพาผมมาถึงด่านชายแดนสะพานมิตรภาพลาว – ไทย ผมแวะซื้อเบียร์ลาวหนึ่งแพ็คและวอดกาเวียดนามหนึ่งขวดสะพายหลังขึ้นรถข้ามแดนมายังฝั่งหนองคาย

18:12 น. | 13 พฤษภาคม 2019

ผมส่งข้อความถึง ‘เตย – วจนา วรรลยางกูร’ ว่า ‘Bon voyage’ เธอตอบกลับมาสั้นๆ ว่า ‘ขอบคุณค่า’ จากนั้นผมก็นั่งลุ้นนอนลุ้นให้เธอทำภารกิจของพ่อให้สำเร็จ

เป็นคืนที่ยาวนาน ผมเช็กข้อความทาง messenger ดูเฟซบุ๊กลูกๆ ของเขา แต่ไม่มีความเคลื่อนไหว มีแต่ผมที่หวาดหวั่นสั่นไหวในใจทั้งคืน

12:34 | 14 พฤษภาคม 2019

ยังไม่มีความเคลื่อนไหวทั้งหน้าเฟซบุ๊ก ขณะที่ messenger ของเตยเองก็ไม่แอ็คทีฟ แต่กลับมีข้อความของมิตรสหายรุ่นพี่เด้งขึ้นมา

“สองพ่อลูกถึงปารีสแล้ว พี่จรัลกับสุรัชรอรับที่ประตูทางออก”

“โคตรดีใจเลยครับพี่”

“เช่นกันครับ ผมรอลุ้นอยู่”

จากนั้น เขาก็ส่งภาพถ่ายที่มีมิตรสหายกับ วัฒน์ วรรลยางกูร ที่สนามบินปารีส ฝรั่งเศสมาให้ดู
ผมส่งข้อความบอกเตย

“เตย ยอดเยี่ยมมาก”

“ค่า”

“โคตรดีใจมากเลยเตย”

 

ธีร์ อันมัย
25 มีนาคม 2022

 

nandialogue

 

 

ภาพเขียน : สุมาลี เอกชนนิยม

You may also like...