พ่อแม่เป็นเจ้าของค่าย ชอบหรือไม่ชอบไม่รู้ รู้ตัวอีกที ครูต้น-สิบทิศ สลิทองดี ก็หนีกลิ่นสาบนวมไม่พ้น เขาขึ้นชกที่ชัยภูมิบ้านเกิดประมาณสิบไฟต์ แววดีมีทรงจึงถูกส่งเข้ามาเป็นพ่อค้ากำปั้นในเมืองกรุง ทุกเดือนอย่างน้อยก็ต้องมีชกครั้งหนึ่ง จากสิบเป็นร้อย จากร้อยเป็นสี่ร้อย ก่อนแขวนนวม วันหนึ่งเดินทางมาชกที่ จ.น่าน หลงรักที่นี่ จึงปักหลักและย้ายบทบาทมาเป็นเทรนเนอร์ประจำอยู่ที่ค่าย ศ.เพชรพระธาตุ ดูแลนักมวยหนุ่มสาวอยู่ในราว 20 คน
จะฝนจะหนาว ทุกเช้า เขาพาเด็กวิ่ง 15 กิโลเมตร รอบเย็นอีก 6 กิโลเมตร
ห้าโมงถึงสองทุ่มครึ่งคือเวลาซ้อม
วนเวียนอยู่เช่นนี้ทุกวัน ยกเว้นนักมวยที่มีชก หลังเกมเขาให้พักสามวัน
ชกกันก็เจ็บ ทำไมยังมีคนมาชกมวยตลอด จะมีไหมสักวันที่โลกนี้ไม่มีนักมวย ?
เขาหัวเราะกับคำถามเบาปัญญา ก่อนเฉลยว่า “ยังไงก็มีครับ รุ่นต่อรุ่นมาเรื่อยๆ เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีนักมวย”
ทำไมถึงมี ชกกันมันเจ็บนะ ?
“บ้านจน มาชกก็ได้เงิน เลี้ยงดูครอบครัวได้ บางคนบ้านมีฐานะเลยด้วยซ้ำ เขามาชกเพราะชอบ มันเป็นกีฬา”
ไม่จนก็มี ?
“หลังๆ มีเยอะ คือคนส่วนมากเขากลัว อย่างค่ายนี้คนขับรถผ่าน เห็นเด็กซ้อม เขากลัว มองไกลๆ ไม่ได้เข้ามาใกล้ชิด ไม่รู้จักก็กลัว แต่ถ้ามีโอกาสเข้ามาใกล้ๆ ได้คลุกคลี เข้าใจ เขาจะไม่กลัว เหมือนกับว่าพอได้ใกล้ชิด มันค่อยขยับมาเป็นครอบครัวที่อบอุ่น”
แต่สาเหตุหลักๆ ของคนจะมาเป็นนักมวยก็คือความยากจน พูดแบบนี้ได้ไหม ?
“ก็น่าจะได้”
“ถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า”
“ผมว่าสักห้าสิบห้า หกสิบ เดี๋ยวนี้เด็กจนๆ ที่มาชก บางคนค่าตัวเขาขึ้นไปเป็นแสน มันสร้างความมั่นคงได้ สมัยนี้จนมากๆ เลยน้อยนะผมว่า เท่าที่เห็น พ่อแม่มีฐานะพอสมควร แต่ภาคอีสานกับเหนือก็ต่างกัน ทางอีสานจะจนกว่า จน เขาเลยอดทน ทางเหนือ พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ลำบาก เด็กอาจจะชกเพราะอยากลอง ลองแล้วชอบ บางคนลองแล้วไม่ชอบ มันมีหลายแบบ”
“ผมเคยทำเด็กมาจนเริ่มเก่ง ไปชกกรุงเทพฯ ได้แล้ว แต่พ่อแม่ไม่ให้ชก ก็จบ ผลเสียเต็มๆ คือเราไม่ได้อะไร สอนแล้ว พัฒนาแล้ว กำลังจะไปมีอนาคตที่กรุงเทพฯ พ่อแม่เขาไม่เอา”
ลูกเขา เขาก็มีสิทธิ์ แต่ฝ่ายคนทำ คนปลุกปั้นมานานคงเซ็งเหมือนกัน ?
“ก็.. ทำไงได้ แต่ผมไม่วอรี่นะ ผมมั่นใจว่าผมมีความสามารถทำเด็กได้ คนนี้หลุดไปก็ทำคนใหม่ สังเกตว่าคนที่หลุดจากเราก็จะเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิม บางคนไม่มีรายการชก คืออยู่กับเรา เรามีทีมงานดูแล ซ้อมเต็มที่ เด็กคนนี้ชกได้มั้ย เราหารายการให้เขาตลอด เดือนหนึ่งมีครั้งสองครั้ง เด็กเราจะได้เคลื่อนไหวตลอด”
ใครจะไปก็ทำใจ ไปแล้วก็ทำใหม่ได้ ?
“เพราะเราเคยทำมาแล้ว เรารู้ เรามีประสบการณ์ ไม่ต้องยึดติด อีกอย่างคือเรามันเด็กอีสาน พ่อแม่ทำค่ายมวยมา ซึมซับจนรู้หมดน่ะว่าความจนคืออะไร ความลำบากคืออะไร เรารู้ว่าทำยังไงให้มันรอดพ้นออกมาจากจุดนั้น”
พ่อแม่ส่งเสริมไหม ?
“ผมเห็นพี่ชายชก เลยอยากลองบ้าง ลองไปลองมา ซ้อม ฟอร์มดี มีคนเห็นแวว เลยเข้ากรุงเทพฯ”
เข้ากรุงใหม่ๆ ชกเวทีไหน ?
“บางใหญ่ สำโรง อดิศร นักมวยที่จะไปเหยียบราชดำเนิน หรือลุมพินีได้ ต้องไปสำโรงก่อน ไปบางใหญ่ มันเป็นจุดศูนย์รวมของเด็กทุกภาค เด็กเก่งๆ มาเจอกันตรงนี้ก่อน ดูว่าใครเก่ง ใครน่าสนใจ ไปต่อได้หรือเปล่า”
ที่ไม่เลิกเพราะติดใจ สนุก หรือตอนหลังพ่อแม่ก็บังคับกลายๆ ?
“มันก็เหนื่อยนะ” เขาหัวเราะ “ไม่สนุกอะไรเท่าไร ยิ่งวัยสิบเจ็ดสิบแปด เราก็อยากเที่ยวบ้าง เริ่มติดสาวบ้าง แต่ บ้านเราไม่มีฐานะเหมือนคนอื่นเขา ถ้าไม่ชกก็ไม่มีตังค์ ผมใช้มวยเลี้ยงชีพ โตมาอยู่กับมวยตลอด มวยคือที่ทำกิน”
ไม่ใช่ติดใจ ได้ไล่ชกคนก็สนุกดี ?
“มันเป็นอาชีพไปแล้วมากกว่า ภาษาบ้านๆ เขาบอกว่ามวยอยู่ในสายเลือด อยู่กับมันมานานแล้วก็ชอบ ว่าจะเลิกหลายทีก็เลิกไม่ได้ เพิ่งจะหยุดไปจริงๆ ก็ตอนอายุสามสิบสอง บางทีเราอยากทำให้เด็กมันดู เขาจะได้เห็น”
15 กรกฎาคม 2022 ปานเพชร ผดุงชัยมวยไทยยิม ขึ้นชกกับแอนโทนี่ นักมวยฝรั่งเศส ยกห้านักมวยไทยพลาดโดนศอกกลับล้มลงหัวฟาดพื้น เข้ารับการรักษาอยู่ 9 วัน แพทย์ช่วยชีวิตเขาไม่ได้ ญาติยอมทำใจ อนุญาตให้ถอดเครื่องช่วยหายใจ
อดีตนักมวยนาม สิบทิศ เกียรติศักดิ์นาวี บอกว่าในฐานะเพื่อนร่วมอาชีพ ทุกคนเสียใจ มันสุดวิสัย ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้
โดยตัวของมัน มวยเป็นกีฬาที่อันตรายแน่ๆ เจ็บจริง ตายจริง เพียงแต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าน่ากลัวมาก ควรหลีกเลี่ยง ยกเลิก
“คนที่ชกแล้วเจ็บ ขาหักแขนหัก หลักๆ เลยนะ เอาตามประสบการณ์ที่ผมเจอมาคือเพราะเขาซ้อมน้อย ถ้าซ้อมดี มันมีวิธีป้องกัน”
เห็นข่าวคนตายทำให้นักมวยกลัวหรือเปล่า ?
“ไม่ๆ นักมวยส่วนมากไม่กลัว เพราะเขารู้ว่ามันส่วนน้อยมากที่จะเจ็บจะตาย ถ้าชกแล้วตาย ทั้งประเทศคงไม่มีใครชก ทั้งโลกเขาคงเลิกหมด คุณจะชกมวย มันต้องฝึกฝนมาก่อน ต้องซ้อมเอาจริงเอาจัง ซ้อมแล้วจะรู้หลบหลีก โอเค มันพลาดได้มั้ย คราวถึงฆาตมันก็มีใช่มั้ยพี่ เหมือนคนขับรถเก่งๆ ทุกคนพลาดได้เหมือนกัน เจอหน้าอยู่ดีๆ แยกกันแป๊บเดียว เอ้า ขับรถไปชนตาย”
ชกมวยมาสามสี่ร้อยครั้ง มีวันที่เจ็บแบบฝังใจ เจ็บไม่ลืมบ้างมั้ย ?
“แพ้ต่วนเป๋ (เกียรติคมสิงห์) เจ็บมาก ครั้งเดียวนั่นแหละ แพ้ขาด”
ตอนอายุเท่าไร ?
“ประมาณสิบหก กำลังมีอนาคต”
เจ็บมากที่ว่าคือ..?
“เจ็บขา เดินไม่ได้อยู่สองสามวัน นั่งๆ นอนๆ ถ่ายยาให้หายฟกช้ำ”
ยาอะไร ?
“เขาเรียกยาระดมพล ยาถ่าย มีขายตามร้านขายยาทั่วไป ชกเสร็จให้กิน เลือดที่คั่งๆ ข้างในจะถ่ายออกหมด ภายในสามสี่ชั่วโมงนั้นคือเข้าห้องน้ำอย่างเดียว หลังจากนั้นจะโล่ง กินข้าวได้ ค่อยเริ่มกลับมาซ้อมใหม่”
โดนหนักๆ ไปแบบนั้น มันทำให้กลัว หวาดผวา หรือไม่กล้าชกอีกแล้วหรือเปล่า ?
“ไม่ใช่ๆ ไม่กลัว ยิ่งเราแพ้ตัวเก่ง ไม่มีอะไรน่ากลัว ส่วนตัวผมอยากชกกับตัวเก่งมากกว่า เพราะเราแพ้ก็ไม่เสียหาย แต่ถ้าชนะ เราขึ้นชั้นเลย ชกกับคนเก่ง เราจะเก่งตามเขา ผมคิดแบบนี้ พ่อก็เคยพูดให้ฟัง ชกตัวเก่ง เก่งตามเขา ชกตัวอ่อน อ่อนตามเขา ผมเลยฝังใจ เวลาทำมวยหรือสอนเด็ก ผมบอกว่าให้ชกกับตัวเก่งๆ ยิ่งเก่งยิ่งดี มวยผมที่ขึ้นไปชกทุกคนไม่มีทิ้งตัวอยู่แล้ว พร้อมจะวัดกับทุกเบอร์”
รองลงมาจากที่แพ้ต่วนเป๋ มีที่เจ็บหนักอีกไหม ?
“ไม่มี ส่วนมากที่เจ็บคือผมซ้อมน้อยมาก บางทีแค่อาทิตย์เดียว เราไปแทนเขา ไม่ได้เตรียม คู่ชกถอน แพ้เพราะแบบนี้ โดนเตะขาระบม”
มวยเตะขาจะแก้ยังไง ?
“ใช้ศอก เตะมา ฟัน เตะมา ฟัน มันแล้วแต่ไอคิวเด็กแต่ละคนด้วย วิธีแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน วิชามวยไทยคือไม่ว่าจะมายังไง มันแก้ได้หมด ถ้ารู้วิธี แต่ถามว่าเด็กเราไอคิวแค่ไหน เขาไหวพริบดีมั้ย มันมีหลายองค์ประกอบ”
สมัยยังชกอยู่ ค่าตัวสูงสุดที่เคยได้เท่าไหร่ ?
“สี่หมื่นห้า แล้วถูกดึงไปชกสากล ปรากฎว่าไปไม่ได้ ไม่เคยได้เหรียญ ผมถนัดมวยไทยมากกว่า ..ซ้อมน้อยเจ็บเยอะ ซ้อมเยอะเจ็บน้อย เขาสอนกันมาแบบนี้ และมันจริง”
มีเด็กใหม่ๆ เข้ามาอยู่เรื่อยมั้ย ที่นี่ ?
“สมัยนี้มีแต่คนอยากชก อยากเก่งแล้วเข้ากรุง เพราะเงินอัดฉีดมันสูง”
สูงคือเท่าไร ?
“ระดับล้าน มีตลอด เมื่อวานก็มี เก้าแสน ล้าน ล้านสอง คือช่วงนี้โควิด นักมวยยังไม่ดังมากค่าตัวอาจจะน้อย แต่ไปชกแล้วได้เงินอัดฉีดเยอะนะ กระแสมันมาทางนี้ ค่าตัวคุณอาจแค่หมื่นเดียว แต่ถ้าเซียนมวยเขาเล่นเรา บอก–ชนะ มึงเอาไปสามแสน ..สมัยนี้มันแบบนี้ สมัยผมชกไม่มีหรอก อัดฉีดเป็นแสนเป็นล้าน”
เกิดไวไปหน่อย ?
“(หัวเราะ) เสียดาย ..ค่าตัวไม่สำคัญครับ บอกได้เลย ขนาดต่างจังหวัด ชกตอนนี้ก็มีอัดฉีดแทบทุกคน ผมบอกเด็กว่าตั้งใจซ้อมนะ ค่าตัวอาจแค่สามพันห้าพัน แต่อย่าคิดแค่นั้น เพราะมันมีอัดฉีดหนัก พี่ลองดู ค่าตัวสามพัน อัดฉีดห้าพัน เป็นแปดพันแล้วนะ เดือนหนึ่งชกสองครั้ง ดีไม่ดีได้เยอะกว่าเงินเดือนข้าราชการอีก ทั้งที่ยังเป็นเด็ก ผมบอก มีหน้าที่เรียน เรียนไป เย็นมา ซ้อมมวย เช้า ตื่นไปวิ่ง สุขภาพดี มันมีแต่ได้”
เรียกว่าถ้าตั้งใจแน่วแน่ ขยันซ้อม ก็เป็นวิชาที่ทำมาหากินได้ ?
“ได้ การอยู่กับมวย มันช่วยให้หนีออกมาจากโลกของยาเสพติด ถ้าเป็นวัยรุ่นคนอื่นๆ เลิกเรียนแล้วไม่รู้ไปไหน บอกอยู่หอ มั่วสุมอะไรหรือเปล่าก็ไม่รู้ นี่เลิกเรียนต้องซ้อมมวย ตกเย็นมาเราเห็นแล้ว อยู่กินที่นี่ ไม่ไปไหน อยู่ในสายตา เด็กต่างจังหวัดบางคนเคยมาซ้อมมวยกับเรา พอหลุดออกไป เที่ยว เกเร ติดยา มันเสียอนาคต แต่อยู่กับมวย เรื่องยาเสพติดตัดไปเลย เพราะคุณต้องซ้อมตลอด ต้องดูแลร่างกาย ซ้อมน้อยขึ้นชกก็เจ็บหนัก สัจธรรมมันบังคับอยู่”
สัดส่วนการแบ่งเงินระหว่างทางค่ายกับนักมวยเป็นยังไง ?
“ค่าตัวเราให้เด็กหมด ชนะ มึงเอาไปหมดเลย ผมเป็นโค้ช เป็นเทรนเนอร์ ผมจะเล่น หาเงินจากส่วนนั้น”
ถ้าได้อัดฉีดมาล่ะ ?
“สมมุติได้สามพัน หักเข้าค่ายพันหนึ่ง ไว้กองกลาง เป็นค่าน้ำค่าไฟ ค่ากินอยู่ ค่าตัวผมไม่หัก”
อยู่ที่นี่ต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรมั้ย ?
“ฟรี ไม่เสียอะไรทั้งนั้น เราอยู่แบบครอบครัว กิน นอน ด้วยกัน บ้านใครมีพริก มีเกลือ มีข้าว เอามารวมกัน”
บ้านคนที่มีน้อยทำไง ?
“เอามาน้อย ถ้าไม่มี ไม่ต้องเอามา ไม่ว่ากัน ผมสอนเด็กแบบนี้ ไม่มี ไม่ต้องเอามา เอาตามสภาพความจริง แค่ไหนแค่นั้น อยู่กันแบบพี่น้อง ไม่ใช่กูเก่งกว่า เหนือกว่า กูเป็นมวยเอก ต้องข่มคนอื่น ไม่มี ที่นี่เท่ากันหมด กินนอนด้วยกัน ล้างจาน แบ่งสลับเวร”
มวยเอกที่นี่มีกี่คน ?
“สองคน อรรถพล กับ เด็กดอย เกรดระดับเข้ากรุงเทพฯ ได้แล้ว นอกนั้นยังเป็นมวยใหม่ๆ”
เวลาพ่อแม่หรือใครเอามวยมาฝากเรา มีวิธีดูยังไงว่าจะรับ หรือไม่รับ ?
“เขาจะรู้กันเองแบบปากต่อปาก รู้ว่าถ้าอยู่ที่นี่ ครูต้นซ้อมหนักนะ สู้ไหวมั้ย ใครไม่ไหว ใครกลัวซ้อมหนัก เขาก็ไม่มา พวกที่ทนเหนื่อยได้ ถึงมา มันเป็นแบบนี้ แต่คนไม่รู้อะไรมาก่อนเลยก็มี พวกนี้มาซ้อมวันสองวัน สู้ไม่ไหว ก็ถอย”
วิธีดูแลหนุ่มสาวร้อยพ่อพันแม่ ทำยังไง ?
“ผู้หญิงกลับบ้าน ผู้ชายนอนค่าย เย็น เลิกเรียนมาซ้อมด้วยกัน คนหนึ่งเตะเป้า คนหนึ่งเตะกระสอบ คนละสามยก ผู้หญิงปล้ำผู้หญิง ผู้ชายปล้ำผู้ชาย แยกกัน เรื่องจิตใจ นิสัย ผมสอนว่าเราคือคนในครอบครัวเดียวกันนะ สัมมาคารวะสำคัญ เจอผู้ใหญ่ จะเป็นใครก็แล้วแต่ หวัดดีก่อน ผมทำให้เขาเห็น ทักทาย ยิ้มแย้ม แล้วเขาจะค่อยซึมซับเอง”
วัยรุ่นมีปัญหาอะไรอยู่เรื่อย ?
“น้อยนะโดยรวม ที่มีบ้างก็เรื่องเจ็บ เรื่องเหนื่อย เขาจะโทรฯ มาบอกว่าวันนี้ไม่เข้า พอเขาไม่มา เราไม่รู้จะดูแลยังไง อยู่บ้านเราไม่รู้ ถ้าอยู่นี่ มีอะไร เราดูแลได้ ให้ยา หรือนวด เรารู้วิธี เรื่องหนีเที่ยวไม่มี เมื่อก่อนเคยมี และเขาจะรู้เอง ใครหนีเที่ยว เดี๋ยวตอนต่อยจะรู้ ถ้าไม่เก๋าจริง เที่ยวแล้วไม่รอด ..เด็กผมเข้าใจ ใจสู้ เราบอกเขาว่าอย่าไปกลัว กลัวไม่ได้ชกดีกว่า ถ้าไม่ได้ชกแล้วจะไม่มีตังค์ ได้ชกถึงมีตังค์ มึงจะเลือกเอาอันไหน”
ช่วงอายุสิบหกสิบเจ็ดสมัยเป็นนักมวยดาวรุ่งครูต้นเคยหนีไปเที่ยวบ้างมั้ย ?
“เคยๆ กำลังห้าว ตอนหลังแม่จะล็อกประตูไว้เลย ซ้อมเสร็จ ล็อกกุญแจขัง (หัวเราะ) ตอนเด็ก ผมคงแสบมากเหมือนกัน บางทีโทรฯ บอกเพื่อนให้มารับ หนีเที่ยว”
มีดื่มบ้าง ?
“ใช่ครับ ตามประสาวัยรุ่น ผมเก็บประสบการณ์พวกนั้นมาสอนเด็ก บอกเขาว่าพี่เคยผ่านมาก่อนนะ แบบนี้ๆ มันไม่ดีก็อย่าไปลอง”
เรื่องการใช้โทรศัพท์ หรือโลกโซเชียลฯ มีปัญหามั้ย เคยไปดูนักบอลทีมชาติซ้อม โค้ชบอกยุคนี้มือถือเป็นอุปสรรคของนักกีฬาอยู่พอสมควร ?
“สี่ทุ่ม ผมจะเก็บโทรศัพท์ทุกเครื่อง ไม่ว่าอยู่สิบคน ยี่สิบคน ผมเก็บเข้าห้องผมหมด ใครมีแฟน บอกแฟน หรือพ่อแม่เขาจะรู้เอง กินข้าวเสร็จ คุยกับแฟน บอกแฟนไป สี่ทุ่มจบนะ เช้ามาค่อยว่ากันใหม่ ..ก็โอเค ซ้อมหนัก เด็กหลับหมด อยู่กับผมต้องซ้อมหนัก และอยู่ในระเบียบวินัย”
นักมวยที่นี่เคยออกไปมีเรื่องทะเลาะวิวาทข้างนอกมั้ย ?
“ไม่มีครับ ไม่เคย นักมวยทุกคนจะถูกสอนมาเข้มข้นเลยว่าเราไม่ทำร้ายใครก่อน”
ครูผู้สอนเคยมีประวัติทำนองนี้หรือเปล่า ?
“สมัยวัยรุ่นเคยมี เขาเมาแล้วมาหาเรื่อง เราทนไม่ไหวก็อาจจะสวนกลับ ปกติผมไม่ชอบออกไปดื่มข้างนอก จะดื่มบ้างก็ดื่มที่บ้าน ถ้าให้ไปเที่ยว เมาเละเทะแบบนั้นไม่เอา เมา เราดูแลเด็กซ้อมไม่ได้ โตแล้วครับ เขาฝากชีวิตทั้งชีวิตไว้กับเรา มันต้องรับผิดชอบ”
เปรียบเทียบชีวิตตอนชกเอง กับการมาเป็นเทรนเนอร์ อะไรสนุกกว่า ?
“ชกดีกว่าครับ (หัวเราะ) เจ็บบ้าง แต่มันไม่เหนื่อย อันนี้เหนื่อยหลายอย่างนะ บางทีเด็กแพ้ คนอื่นเขาพูดไม่ดี เขาไม่ได้อยู่กับเรา แต่มาว่าโน่นนี่ ซึ่งเราปกป้องเด็กเราอยู่แล้ว ไม่เป็นไร ยังไงก็เป็นงานที่เราชอบ อยากเห็นเด็กๆ มีอนาคต การอยู่กับเด็ก เรามีความสุข ตกเย็นมาเห็นเด็กซ้อม สบายใจ ถ้าไม่เห็น เราก็.. มันไปไหน โทรฯ ตาม เป็นห่วง ถ้าวันไหนมาครบ โอเค ส่วนมากเด็กผมรู้เรื่อง ถ้ามีธุระด่วน ไม่เข้ามา เขาจะบอก”
ค่ายนี้ถือว่าอยู่อันดับไหนของ จ.น่าน ?
“พูดได้ว่าต้นๆ นะ เพราะผมทำมวยออกต่างจังหวัดได้”
เขามองไปที่ศิษย์รักหนุ่มแม่จริม อรรถพล ศ.เพชรพระธาตุ เล่าว่าเมื่อสามปีก่อนช่วงมาใหม่ๆ ซ้อมไปยังร้องไห้อยู่เลย ตอนนี้เรียนหนังสืออยู่ชั้น ม.5 และเป็นมวยเอก ชกมา 16-17 ไฟต์ แพ้แค่ 2 ส่วนใหญ่ชนะน็อก
ถ้ามีลูก จะให้ชกมวยหรือเปล่า ?
“แล้วแต่เขาเลยครับ ปล่อยตามใจ ไม่บังคับ แต่คงสอนเรื่องศิลปะการป้องกันตัว แนะนำให้ออกกำลังกาย กีฬามวยไทยของเรามันไม่เลวนะ ถ้ารู้จักใช้” สิบทิศ สลิทองดี โค้ชวัย 36 ปี พูดพลางขอตัวไปดูแลนักมวยซ้อมต่อ.
เรื่องและภาพ วรพจน์ พันธุ์พงศ์