the book

หลงยุคหลุดสมัย รัฐประหารครั้งใหม่ อีกแล้ว ครั้งที่เท่าไหร่นะ จำไม่ได้

ฉันได้อ่านเรื่องสั้นของ วัน รมณีย์ ครั้งแรกคือ เล่ม ‘#หลงยุคหลุดสมัย’ ฉบับที่พิมพ์กับแซลม่อน (พฤษภาคม 2022)

ในครั้งนั้น #หลงยุคหลุดสมัย เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นขนาดกะทัดรัด 3 เรื่อง ใน ‘แซลม่อน ซาชิมิ โปรเจกต์’ ที่เปิดโอกาสให้กับงานเขียนขนาดสั้น ซึ่งก็สั้นจริงๆ หนังสือเล่มนี้มี 64 หน้า และกะทัดรัดจริงๆ ด้วยหนังสือขนาด 17*25.5 เซนติเมตร หยิบอ่านง่ายด้วยมือเดียว ไม่หนัก พกพาใส่กระเป๋ากางเกงได้

“การติดต่อคนรักที่ตายจากกันไกล การทำงานแค่ 7 วัน แต่มีเงินใช้ไปตลอดชาติ การพยายามยืนหยัดไม่ไหวเอนไปกับยุคสมัยของนักเขียนที่อุทิศชีวิตให้เส้นทางวรรณกรรม”

เกี่ยวกับเรื่องสั้นทั้งสามในเล่มที่ปกหลังโปรยไว้แบบนี้

บางเรื่องตั้งคำถามกับเทคโนโลยี พรหมลิขิตสร้างได้ไหมนะในโลกอนาคต ?

เราเลือกสิ่งนี้เพราะเราเลือกสิ่งนี้จริงๆ หรือเปล่า ?

อีกเรื่องพูดถึงการทำงานในห้องแห่งกาลเวลา ที่วันหนึ่งในห้องนั้นจะเท่ากับเวลา 7 ปี ของโลกภายนอก โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ?

และอีกเรื่องพูดถึงวิทยาการใหม่และวงวรรณกรรมไทย

สำนวน ภาษา และเรื่องที่เขาเล่า อ่านสนุก อ่านเพลิน บางเรื่องขำแห้ง บางเรื่องทำให้หัวเราะ ฉันอ่านจนจบทั้งสามเรื่อง โดยใช้เวลาไม่นานนัก นึกเสียดายที่รวมเล่มครั้งนี้มีเรื่องสั้นอยู่เพียง 3 เรื่อง อยากอ่านต่ออีกสักนิด เสิร์ฟมาน้อยเกินไป อ่านไม่อิ่ม 

โชคดีที่ไม่ต้องนึกเสียดายนาน ธันวาคมนี้มีหนังสือ ‘รวมเรื่องสั้น หลงยุคหลุดสมัย ฉบับครบรอบ 30 ปี’ วัน รมณีย์ เขียน สำนักพิมพ์ Anthill Archive จัดพิมพ์ ฉบับนี้อ่านอิ่ม มีเรื่องสั้นทั้งหมด 11+(1) เรื่อง 

เปิดหน้าแรกของหนังสือ เจอข้อความนี้อยู่กลางหน้ากระดาษ

“โควทเท่ๆ ไว้ถ่ายเป็นภาพนิ่งลง IG หรือเป็นภาพเคลื่อนไหวประกอบเพลงสั้นๆ ลง TikTok เพื่อบ่งบอกรสนิยมของฉัน หนังสือใครซื้อมาอ่านกัน เขาซื้อมาถ่ายโควททั้งนั้นแหละ”

ฉันยิ้มเล็กๆ มุมปาก นึกถึงตัวเองที่เมื่อวานเพิ่งจะถ่ายรูปบทกวีลงสตอรี่ไอจี

เหมือนโดนแซะ.. อ่านโว้ย ฉันอ่าน อ่านทุกบรรทัดนั่นแหละ

ถัดมา หน้าเครดิตหนังสือระบุว่า “พิมพ์เมื่อธันวาคม 2052”

‘หลงยุคหลุดสมัย’ ฉบับครบรอบ 30 ปี หนังสือเล่มนี้คงมาจากโลกอนาคตสินะ…–เห็นไหม ว่าฉันอ่านทุกบรรทัด

เรื่องสั้นหลากอารมณ์แทบทั้ง 11+(1) เรื่องในเล่ม เกี่ยวข้องเล็กๆ กับวิทยาศาสตร์-วิทยาการ-เทคโนโลยี อ่านแล้วชวนให้นึกถึงซีรีส์ Black Mirror ใน Netflix –เทคโนโลยีและดิสโทเปีย

หนังสือเล่มนี้เรียงเรื่องให้เลือกอ่าน 2 แบบ มีสารบัญ 2 แบบ คือ Ways to read แบบ Editor’s choice และแบบ Author’s choice การอ่านเรียงเรื่องไปตาม Author’s choice ให้อารมณ์แบบหนึ่ง และการอ่านลำดับเรื่องตาม Editor’s choice ก็ให้อารมณ์อีกแบบหนึ่ง ถ้าจะสปอยผู้อ่านได้สักนิดหน่อย คงต้องบอกว่ารวมเรื่องสั้นเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวกับการเมือง อาจไม่เหมาะกับผู้อ่านบางกลุ่ม

ยกตัวอย่างบางข้อความในเรื่องสั้นที่ทำให้ฉันหัวเราะ “หึหึหึ” เช่น วรรคนี้ในเรื่องสั้น ‘เตือนใจ’

“อาชีพนี้ถ้าขยันก็ไม่อดตาย แล้วมีอาชีพที่ไม่ต้องขยัน แต่สบายบ้างไหม หล่อนถาม เขาครุ่นคิด จ้องมองปฏิทินรูปพระเจ้าชัยวรมันที่สิบสาม เพื่อขอกำลังใจ เฉกทุกครั้ง ในยามทดท้อระย่อใจ ปฏิทินที่แขวนไว้เพื่อบูชามากกว่าใช้ดูวันเดือนปี แผ่นกระดาษแห้งกรอบสีซีดเซียว เหลือง เก่า กรังฝุ่น มีร่องรอยรูวงเหมือนถูกแมลงสกปรกเจาะแทะ และมีก้อนขี้จิ้งจกแห้งค้างเกาะติดเป็นคราบอยู่บริเวณปลายพระนาสิก เขายิ้ม ถอนหายใจ

ถ้าพี่รู้…พี่คงไม่มาอยู่แบบนี้หรอก” (หน้า 260)

อาชีพที่ไม่ต้องขยัน แต่สบาย

หรือในเรื่องสั้น ‘บุษบา’ ที่เกี่ยวกับหญิงสาวที่ทำงานทำความสะอาดบรรดาวัตถุโบราณที่เก็บรักษาไว้ในห้องกาลเวลา หนึ่งวันในห้องนี้จะเท่ากับเจ็ดปีของโลกภายนอก

“ในโทรทัศน์ยังมีนักการเมืองแก่ๆ หน้าใหม่ให้สัมภาษณ์โง่ๆ เหมือนเก่า ผู้บัญชาการทหารคนใหม่ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ รัฐประหลาด รัฐประหารครั้งใหม่ อีกแล้ว ครั้งที่เท่าไหร่นะ จำไม่ได้ ช่างน่าเศร้า นอกจากละครน้ำเน่า – เจ็ดปีที่ผ่านไป ก็ยังไม่ทำให้ประเทศนี้พัฒนา” (หน้า 185)

“เจ็ดปีผ่านไป

สิบสี่ปีผ่านไป

ยี่สิบเอ็ดปีที่ผ่านไป

อาวุธของทหารทันสมัย แต่ก็ยังคงเป็นอาวุธที่มีไว้ใช้ข่มขู่เข่นฆ่าประชาชน ช่างน่าเศร้า อาหารของนักการเมืองพิศดารขึ้น แต่ก็ยังราคาแพงและแย่งมาจากภาษีประชาชน ช่างน่าเศร้า รถของคนรวยของรัฐมนตรีของนายพลประเทศนี้เป็นรุ่นใหม่ แต่รถเมล์รถไฟกับเรือด่วนสองแถวที่ประชาชนต้องอาศัยใช้นั่งโดยสารกลับยังเป็นของหลงเวลาที่มีมาช้านาน บ้างนานนับศตวรรษ ช่าง น่า เศร้า” (หน้า 189)

ตลกร้าย แซะ จิกกัด ปากร้าย บันทึกสังคมร่วมสมัย เศร้าหม่น หดหู่ บางเรื่องก็หักมุม สำหรับฉัน ‘หลงยุคหลุดสมัย’ ฉบับครบรอบ 30 ปี เป็นรวมเรื่องสั้นหลากรสที่อิ่มอร่อย 

หากถามว่าชอบเรื่องไหนบ้างในเล่มนี้ การจะบอกว่าชอบแทบทุกเรื่องก็คงอาจจะเกินไป ฉันอยากเล่าความประทับใจต่อหลายๆ เรื่องสั้นในเล่มนี้ แต่เกรงว่าจะเป็นการสปอยผู้อ่านจนเกินไป แต่คุณผู้อ่านเคยมีความรู้สึกแบบนี้ไหม อ่านหนังสือจนจบแล้วอยากโทรฯ หาคนเขียน ด้วยความรู้สึกว่าเราน่าจะเป็นเพื่อนกันได้ เขาคนเขียนช่างคุยสนุก ฉันรู้สึกแบบนั้น

จากเรื่องสั้นของเขา มั่นใจว่านักเขียนอยู่ฟากฝั่งประชาธิปไตย ไม่ใช่สลิ่ม หรือผู้ฝักใฝ่หมอบคลาน

ชอบที่สุดคงเป็นเรื่องสั้น ‘คำทำนายอนาคตฯ’ เรื่องสั้นขนาดสั๊นสั้นที่ฉันนับเป็นเรื่องที่ +(1) เรื่องสั้นที่สุดแล้วแต่การตีความของผู้อ่าน 

บทบรรณาธิการ ฉบับครบรอบ 30 ปี ท้ายเล่มลงท้ายไว้ว่า

“ขอให้เชื่อ เพียงการจบสิ้นของสิ่งนั้น ทุกสิ่งจะดียิ่งกว่าเดิม ในอัตราเร่งที่คุณคาดไม่ถึง”

อ่านจนจบเล่ม ได้แต่นึกเอาเองว่า ‘สิ่งนั้น’ ของคุณบรรณาธิการ กับ ‘สิ่งนั้น’ ของฉันคงเป็นสิ่งเดียวกัน

และมีอะไรอีกบ้างนะในประเทศนี้ที่ยังคงหลงยุคหลุดสมัย ?

 

 

nandialogue

 

 

เรื่องโดย กัญชญา อิสรวิถี

You may also like...