ที่ทำอยู่ก็เพราะรัก เหมือนชาวนาที่รักการปลูกข้าว ถ้าไม่รักสมัครใจ ใครที่ไหนจะทำมันได้ทั้งปีทั้งชาติ ขายที่ให้นายทุน จะสบายกว่าไหม
บางศิลปินไม่ได้ทุกข์ แต่ศิลปินเห็นความทุกข์ ภาพความสุขทุกข์นั้นต้องมีที่มา บุคลิกน้ำเสียงที่เห็นในตัวงานจะบอกชุดความคิดของศิลปินคนนั้นได้
Paul Cézanne ศิลปินชาวปารีสผู้ยิ่งใหญ่ บอกว่า “There is no model, there is only color” เขายังบอกอีกว่า เป้าหมายของศิลปินคือทำงานไปให้สูงสุด ไม่ต้องไปสนใจใคร และ “Pure drawing is an abstraction. Drawing and color are not district, everything in nature is colored.”
Georgia O’ Keeffe เธอบอกว่า ถ้าเธอสามารถพูดกับโลกด้วยคำพูดได้ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องวาดรูป
Picasso บอกว่าจุดหมายของการทำงานศิลปะก็เพื่อล้างฝุ่นผงในชีวิตประจำวันออกไปจากวิญญาณ
บางศิลปินบอกว่า เราเขียนลมเย็นๆ สายน้ำใสๆ ก็เพื่อปลอบประโลมใจเพื่อนร่วมชะตากรรมทุกข์เข็ญ
อองตวน เชคอฟ บอกว่าหน้าที่ของศิลปินคือตั้งคำถาม และไม่ต้องให้คำตอบ บางคนบอกว่างานศิลปะไม่ใช่การวาดรูป แต่มันคือการกระตุ้นปลุกเร้าความคิดอ่าน ศิลปะไม่เคยได้มาจากความสุข เราไม่ได้เขียนโลกที่เรามองเห็น แต่เราเขียนโลกที่เรารู้สึก
วันนี้ได้คุยกับศิลปินไทยรุ่นใหญ่อาวุโสบอกว่า ลงมือทำงานศิลปะเหมือนกินอ้อยควั่น ผลงานศิลปะคือชานอ้อย โห.. ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบอกที่มา บอกความหมาย และก็ไม่สนใจใคร่รู้ใครอยากวิเคราะห์ขบคิดงานชิ้นนั้น
หลากหลายทรรศนะของศิลปิน ก็ว่ากันไปตามปริมาณเสรีภาพของแต่ละคน
ศิลปินทำงานศิลปะเพื่ออะไร ศิลปินทำงานศิลปะเพื่อชีวิต หรือควรทำงานศิลปะเพื่อศิลปะ จะอย่างไรดี
ระหว่างทางงอกงามของกระแสศิลปะเพื่อชีวิต แนวคิดศิลปะเพื่อศิลปะก็เกิดขึ้น เสียงเห็นต่างนี้มีอยู่เงียบๆ และมีความเข้าใจแบบหลวมๆ ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจก็ไม่แฟร์ที่จะเลือกข้าง
ศิลปะเพื่อศิลปะ มีหลักการว่า ผลงานนั้นต้องบริสุทธ์ มีคุณค่าในตัวเอง เนื้อหาต้องไม่เกี่ยวหรือรับใช้กิจกรรมใดๆ แนวคิดนี้มีที่มา ปารีสฝรั่งเศส (เมืองหลวงของโลกศิลปะ / เขาว่ากันอย่างนั้น) ต้นเหตุของหลายๆ เรื่อง กับเรื่องศิลปะต้องเพื่อศิลปะ สรุปให้สั้นที่สุดก็คือ หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ศิลปะของหรูหราแบบบารอค / รอคโคโคและก่อนหน้านั้น ชุดความคิดรวมทั้งความงามแบบกรุ้งกริ่งกรุยกรายแบบเก่าถูกตรวจสอบนายทุนรุ่นใหม่สนใจเคร่งครัดต่อต้นทุนกำไร ในขณะที่ของสวยงามก็ชอบ ชอบแบบที่เคยเห็นชนชั้นสูงชอบและใช้มาก่อน ความต้องการรูปแบบอยู่กินเยี่ยงชนชั้นสูงใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เศรษฐีใหม่ที่เกิดหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม มีทุนมากพอที่จะจ้างช่างมาทำแบบที่เคยเห็นมาก่อน เป็นยุคที่อุปสงค์มากกว่าอุปทาน ช่างที่เกิดขึ้นแบบเร่งด่วนจึงผลิตงานได้ระดับทักษะเท่าที่ตัวมี ช่างหัดใหม่ไม่ได้รับการฟูมฟักแบบช่างหลวง ผลงานเอาแค่พอได้ก็เป็นที่พอใจของพ่อค้าวานิชนายทุนแล้วขอให้ได้ปริมาณมากพอ
ช่วงที่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ กำลังขยายตัว คุณค่าของงานศิลปะก็เท่ากับข้าวของเครื่องใช้ทั่วไป อาจไม่มีประโยชน์ด้วยซ้ำ เมื่อไม่มีความต้องการ แนวคิดนี้มีปัญญาชนแบบวอลแตร์รวมอยู่ด้วย
เหรียญมีสองด้าน เมื่อด้านหนึ่งรับแสง อีกด้านก็ต้องมืดเป็นเงา
เตโอฟิล โกติเอร์ (Théophile Gautier) และเพื่อนพ้องกลุ่มหนึ่ง เช่น แวแลน (Verlaine) พวกเขาทนไม่ได้ พวกเขาปฏิเสธศิลปะทุกอย่างที่ทำขึ้นแบบลวกๆ โกติเอร์เลยเขียนความคิด เสนอความเห็นต่างต่อปรากฏการณ์ทางศิลปะที่เกิดขึ้น ในหนังสือเรื่อง Mademoiselle de Maupin ว่า ของที่นำไปใช้ประโยชน์ล้วนแต่น่าเกลียด ความงามคือสิ่งของที่ต้องไม่รับใช้สิ่งใด ความงามไม่ใช่ของที่ถูกทำขึ้นเพื่อใช้งานอย่างใดอย่างหนึ่ง (โกติเอเป็นจิตรกรวาดรูป ก่อนจะมาเขียนหนังสือ ความเห็นของเขาคือมองชีวิตแบบคนวาดรูปคือ ชีวิตเต็มไปด้วยสีสันและรูปทรงอิสระ)
ตอนนั้นยังไม่มีคำอธิบายในตำราเล่มไหน ไม่มีใครอธิบายแล้วจบได้ ศิลปะเพื่อชีวิต เป็นคำจำกัดความที่อยู่ระหว่างทางของโลกศิลปะ (น่าจะเป็นคำใหม่ เกิดในไทย อายุไม่ถึงร้อยปี) ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างเข้าใจกันไปตามภูมิรู้ของตัวเอง แต่ดูเหมือนมันทำให้เกิดการรวมตัวขึ้นหลวมๆ ในกลุ่มคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน เช่น คนฟังเพลงเพื่อชีวิต คนเขียนเพลง และกลุ่มวรรณกรรม
ศิลปะเพื่อชีวิตงอกงามในวงวรรณกรรมและดนตรีของไทย ช่วงต้นของกระแสศิลปะเพื่อชีวิต เวลานั้นเสียงของงานวาดรูปยังส่งเสียงเบาๆ คลอๆ ไป จนเมื่อชมรมศิลปกรรมแห่งประเทศไทยได้ก่อกำเนิดขึ้น งานแสดงของศิลปินทุกภูมิภาคในไทย ก็ทำให้กระแสศิลปะเพื่อชีวิตหนักแน่นขึ้น
เป็นเวลา 9 ปี จาก พ.ศ. 2522 ถึง 2530 ไม่มากไม่น้อยที่ผลงานพอจะเป็นฐานให้สืบค้นต่อได้ว่า แนวคิดศิลปะเพื่อชีวิตมีอยู่ในสังคมไทย คู่ขนานกันไปกับวรรณกรรมและเพลงเพื่อชีวิต กิจกรรมรวบรวมผลงานทั่วไทยไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยความตั้งใจและความร่วมมือของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของคณาจารย์อุดมศึกษาทุกแห่ง งานทั้งหมดก็ถูกผลักดันจนสำเร็จ สามารถมีนิทรรศการใหญ่ถึงสามครั้ง เนื้อหาของผลงานส่วนใหญ่เรียกว่าเกือบจะทั้งหมด สะท้อนความบริสุทธิ์ของธรรมชาติและเรื่องปากท้องเป็นหลักเป็นแกน เมื่อวงวรรณกรรมแหลมคมขึ้นถึงยุคเมื่อท้องฟ้าเป็นสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เนื้อหาของจิตรกรรมยุคนั้นก็สอดคล้องควบคู่กันไป
มีเพื่อนคนหนึ่งพูดว่า ไม่มีใครอยากฟังข่าวร้าย ใครจะชอบฟังเรื่องเศร้าเคล้าน้ำตาอยู่ทั้งปี มันจะดีกว่าไหม ถ้าให้ความหวังกัน แทนภาพก่นทุกข์ก่นโศก ชอบกันจัง ชอบเขียนรูปบนฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย ควายผอมโซ แผ่นดินแห้งแตกระแหง แดดร้อนแรงจัดจ้า ชีวิตจริงมันก็แสนเค็มแสนขม แล้วจะให้เรารื่นรมย์กับภาพแร้นแค้นตรงหน้านี้หรือ / ศิลปินสะท้อนปัญหาแต่ศิลปินไม่เคยแสดงวิธีแก้ปัญหา / ศิลปินได้แต่นั่งรอให้ฝนฟ้ามาเป็นใจ / จะด้วยหลากหลายทรรศนะที่มีต่อภาพชีวิตแบบนี้หรือไม่ ก็ไม่มีใครรู้ ทำให้กระแสแนวคิดนี้ค่อยๆ อ่อนแรงไป
สุดท้าย การมีอยู่ของแนวคิดศิลปะเพื่อชีวิตก็เจือจางห่างไป ไม่มีถูกไม่มีผิด ใช่ / ไม่ใช่ ก็แล้วแต่ใครจะมอง
“Amateurs look for inspiration, the rest of us just get up and go to work”
อือ… บ่ได้พูดเองเด้อ นี่เป็นคำพูดของคุณ Chuck Close วิธีของเราที่ทำอยู่ทุกวันคือ รูปร่างรูปทรง เป็นเพียงตัวแทนความคิด ไม่ใช่ความจริงแท้ บางสิ่งบางอย่างนี้ไม่ใช่ตัวแทนของความจริง จะเป็นศิลปะเพื่อศิลปะ หรือศิลปะเพื่อชีวิตก็ไม่ใช่วาระจะถกเถียงแล้ว วันนี้โพสต์โมเดิร์นมิลเลนเนียม
ศิลปะคืออะไรก็ได้ ขอให้คือตัวเอง คือเสรีภาพ คือการสืบทอด คือการคิดค้น คือเครื่องมือผลิตทรัพย์ ทำลายรดน้ำ ทำรูปเพื่อเอ็นเอฟที มีรูปแบบอะคาเดมิค ทำไปเลย มีรูปแบบเอกเพรสชันนิสม์ มีดิจิตอลปริ้นท์ เอ่อ คลาสสิคมากก็ตรงที่มีศิลปะการหยิบยืมนี่แหละ ก็ดีนะ อย่างน้อยมันก็เป็นตัวบอกให้รู้ถึงการมีอยู่ของกระบวนการที่หลากหลาย ทุกรูปแบบยังมีอยู่มีคนทำอยู่ ทุกอย่างจะมีคุณค่าหรือด้อยค่ามันจะคลี่คลายตัวเอง
ว่าแต่เสียงหายใจอุ่นๆ กับภาพเขียนตรงหน้าทุกวันๆ คุณว่าอะไรทำให้คนคนหนึ่งทำสิ่งนี้ได้ทั้งชีวิต.
เรื่องและภาพ สุมาลี เอกชนนิยม
เกี่ยวกับผู้เขียน : สุมาลี เอกชนนิยม จิตรกรชาวร้อยเอ็ด จบช่างศิลปแล้วไปต่อจุฬาฯ ก่อนบินลัดฟ้าสู่มหาวิทยาลัย Sorbonne กรุงปารีส แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1996 และทำงานสืบเนื่องเสมอมา มีโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อยู่ 19 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ใช้เวลาหลักๆ อยู่กับการเขียนรูป เธอเคยพูดกับมิตรสหายว่า ‘การเขียนรูปคือรางวัลสูงสุดที่มอบให้ตัวเอง’