ใกล้ค่ำในวันที่หนาวจัด เรื่องนี้ผ่านมานานแล้ว
แสนจะตื่นเต้นเมื่อเราเจอเป้าหมาย เราเห็นป้ายบอกทางไปวัดแล้วหลังจากที่นั่งรถผ่านมากว่าร้อยโค้งอย่างเหน็ดเหนื่อย ภารกิจวันนี้ควรจะได้พักเสียที พรุ่งนี้จิตรกรรมฝาผนังอันล้ำค่าฝีมือช่างชาวบ้านจะอยู่ตรงหน้าเรา
ฟ้ายังมืด เสียงกระดึงจากคอควายดังดึงๆ มาจากที่ไหนสักแห่ง คงไม่ไกลจากที่พัก เราลุกจากที่นอนที่แสนเย็นเยือก อุณหภูมิปลายปีไม่ถึงสิบองศาทำให้เช้าวันใหม่น่าสนใจอย่างยิ่ง เมื่อท้องฟ้าเริ่มมีแสงรางๆ พอให้เห็น มีดอกน้ำค้างดอกโตๆ เกาะอยู่เต็มใบหญ้า เม็ดน้ำค้างใหญ่หนักจนถ่วงดอกหญ้าโค้งลงดิน เดินไกลออกไปหน่อย เห็นฟางกองโตสลัวๆ ในม่านหมอก พื้นนาโดยรอบมีตอซังข้าวเรียงตัวเป็นแถวสวยงาม เป็นภาพสีฟ้าหม่นปนเหลืองน้ำตาล เงียบๆ อากาศนิ่งๆ หนาวๆ
ชาร้อนในถ้วยทำให้การรอแสงสว่างอบอุ่นขึ้น วันนี้ต้องไปหาบันไดให้ได้ เราจะได้ถ่ายภาพอย่างสะดวกและบิดเบี้ยวน้อยที่สุด
ทุกที่ จิตรกรรมฝาผนังที่เขียนโดยช่างชาวบ้านจะมีเอกลักษณ์แตกต่างจากช่างหลวง ทั้งวัสดุและรูปลักษณ์ งานประดิดประดอยน้อยกว่าเพราะมีอาชีพเป็นเกษตรกร หมดหน้านาก็มาเขียน เขียนเท่าที่รู้เป็นพุทธบูชา เอาความจริงใจเป็นที่ตั้ง เคยคุยกับลูกหลานของช่างที่เล่ากันแบบปากเปล่าว่า ตาทำแบบลายโน่นนี่ขึ้นมาเอง ตัดกระดาษเป็นรูปพระ รูปนาง จะเขียนกี่คนก็ใช้แบบนั้นวางทาบแล้วลอกลายลง บ้าน วัง ก็มีขนาดเดียว เรื่องทัศนียภาพคือไม่ต้องพูดถึง ทั้งบ้านทั้งคนมีเขียนเองบ้างแล้วลอกจากแบบกระดาษที่ตัดไว้บ้าง สีดำก็ขูดก้นหม้อข้าว เอาเขม่านั้นมาละลายเหล้าขาว ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทำกันเองประสาซื่อแบบนี้ที่แฝงตัวอยู่ในภาพฝาผนัง
บ้านนาพึง บ้านเหมืองแพร่ อำเภอนาแห้ว
นาแห้วเป็นอำเภอชายแดน มีพื้นที่ติดกับเมืองลาวบ้านพี่น้องของเราเอง ที่นี่วัดโพธิ์ชัยนาพึงมีภาพฝาผนังเขียนโดยช่างชาวบ้าน วัดตั้งอยู่ที่หมู่บ้านนาพึง ห่างจากบ้านนาพึงไปราว 9 กิโลเมตร คือหมู่บ้านเหมืองแพร่ ระหว่างที่รอให้ร้านค้าในตลาดเปิด เราออกไปที่หมู่บ้านเหมืองแพร่ตามคำบอกเล่าของพ่อใหญ่แม่ใหญ่ในหมู่บ้าน ที่บอกว่าถ้าเดินข้ามลำน้ำเหือง เส้นแบ่งพรมแดนไทย ลาว ข้ามไปไม่เกิน 500 เมตร เราจะเห็นวัดฝาแฝดอยู่อีกฝั่งชื่อวัดโพธิ์ชัยเหมือนกัน ชื่อหมู่บ้านก็ชื่อเดียวกัน คือบ้านเหมืองแพร่
พ่อใหญ่เล่าว่าแต่ก่อนก็เป็นพื้นที่เดียวกัน แล้วอยู่ดีๆ บ้านพี่น้องก็ถูกแบ่งให้ไปขึ้นที่ใหม่ ทำบัตรประชาชนใหม่ ไม่เข้าใจเหมือนกัน
ลำน้ำเหือง ช่วงที่ไหลผ่านหมู่บ้านเหมืองแพร่เป็นลำน้ำกว้างราวห้าเมตร ตอนเช้าเห็นสาวนุ่งซิ่นหาบกระบุงเดินมา น้ำหนักบนบ่าคงไม่น้อย เมื่อเธอวางไม้คานแล้วหอบกระบุงลงแกว่งในน้ำ เราจึงรู้ว่าเธอกำลังล้างดินออกจากเม็ดถั่วลิสง เหนือน้ำขึ้นไปเราเห็นคนซักผ้า เหนือขึ้นไปอีกเห็นคนอาบน้ำกลางฤดูหนาว อยากถอดเสื้อออกทันที ดูเหมือนเราไม่สู้ยังไงไม่รู้ แม้จะเริ่มมีแดดแล้ว เรายังต้องพึ่งเสื้อกันหนาว เขาคงจะชินกับอากาศหนาวบนที่สูงอย่างนี้ กิจวัตรประจำวันธรรมดาๆ กติกาง่ายๆ ที่รู้แบ่งปันและไม่เบียดเบียนกัน
คนล้างดินรู้ได้เองว่าควรอยู่ตรงไหน เราคิดว่า นี่คือการเป็นอยู่อย่างธรรมชาติที่สุดแล้ว
‘ของเก่าบ่เล่ามันลืม’ ที่วัดโพธิ์ชัยนาพึง ช่างชาวบ้านวาดรูปรถไฟจากจินตนาการ เกือบสองร้อยปีที่แล้ว ไม่ธรรมดา จังหวัดเลยไม่มีรถไฟจนถึงปัจจุบัน
วัดโพธิ์ชัยนาพึงขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ วันที่เข้าไปดูภาพฝาผนัง นอกจากขี้นกขี้จิ้งจก ฝุ่นที่ทับถมจนหนาและสายใยแมงมุม หยากไย่ระโยงระยางระเกะระกะ เราอยากจะสาวมันออกมา แต่กฎของเขาที่ตกลงกันไว้คือ ห้ามแตะต้องของทุกอย่าง กฎกติกาคือห้าม แต่เราคิดว่าเราสามารถทำได้โดยไม่กระทบภาพบนผนังเลยแม้แต่น้อย แล้วถ้าเรากวาดหยากไย่ออก จะดีต่อภาพเขียนนั้นไหม เราจะฝ่าฝืนข้อห้ามนั้นดีไหม จะมีใครรู้ได้บ้าง นอกจากตัวเรา
สุดท้ายเราก็ต้องปล่อยให้มันผ่านไป ว่าไปตามกติกา
ไปวัด ไม่เรียนรู้ดูภาพก็จะไม่รู้ไปตลอด ถ้าถามดูรู้ฟังสักครั้งก็คงพอเข้าใจได้ ไม่ต้องจำ เพราะมันเห็นเป็นภาพอยู่แล้ว แทบทุกวัดที่เหมือนกันคือวัดในชุมชนเล็กๆ ก็เขียนภาพตามอย่างวัดขนาดใหญ่ที่มักจะเขียนภาพโดยช่างหลวง คือเลียนแบบภาพจากส่วนกลางเมืองหลวง หลักการคล้ายกันคือ ผนังด้านหน้าฝั่งตรงข้ามพระประธาน จุดเด่นที่สุดมักจะมีภาพเขียนเต็มพื้นที่ เขียนรูปละเอียดลออด้วยฝีมือของช่างเอก วัดนี้ก็เช่นกัน พื้นที่แน่นด้วยสีครามลงเป็นพื้นทึบ มีรูปอดีตพุทธห้าร้อยองค์เรียงต่อกัน ถัดลงมาเป็นภาพเหล่าเทวดาและพระอินทร์เข้าเฝ้าพระมาลัย ถัดลงมา เป็นภาพถวายเพลิงและแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ
ข้อสังเกตเวลาไปวัดเก่าแก่เกินร้อยปีแล้วเห็นภาพเขียน ถ้าสียังสดสวยงาม อาจจะด้วยบางจุดบางตอนที่ภาพเดิมเสียหายมากๆ กองโบราณคดี เขาจะจัดกลุ่มงานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังฯ เข้าไปซ่อมแซมเขียนสีใหม่ ให้สังเกตดีๆ เขาไม่ได้ระบายสี แต่เขาขีดเป็นเส้นดิ่ง แต่ยังคงรักษาโทนสีให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด
บนฝาผนังของวัดโพธิ์ชัยฯ มีภาพกิจกรรมประจำวันของชาวบ้าน เช่น หนุ่มคุยสาว โอกาสที่หนุ่มๆ จะได้เดินเล่นคือหมดหน้านา เกี่ยวข้าวเสร็จหมดแล้ว ผู้ชายถ้าไม่ทำงานจักสานหรืองานฝีมืออื่นๆ ก็อาจไปช่วยสาวต่างบ้านทำโน่นนี่สัพเพเหระ บางคืนเดือนหงาย หนุ่มๆ อาจเดินแวะเวียนมานั่งคุยกับสาว คุยนานเข้าอาจจะเบื่อ วันหลังก็ถือซึงติดมือมาดีดสี บ้านใครที่มีลานกว้างหน่อย ก็จะมีคนเดินมานั่งทำงานด้วย แบบหาเพื่อนคุย คุยไปทำงานไป หาน้ำหาหมากพลูไว้ต้อนรับกัน จากกลุ่มเล็กก็กลายเป็นกลุ่มขาประจำ
มันเป็นโอกาสดีที่หนุ่มๆ จะได้พูดคุยกับหญิงสาว คุยบ่อยเข้าก็พัฒนาเป็นคุยโคลง หนุ่มช่างคิดช่างเขียนหน่อยก็ร่างคำโคลงไว้เป็นเครื่องมือ คำที่แสดงสติปัญญา คำพวกนี้ก็คงเป็นเครื่องมัดใจสาวได้ ประมาณ ‘ปากเป็นเอก เลขเป็นโท’ หนุ่มแสดงให้เห็นความพร้อมที่จะเป็นผู้นำ คำเกี้ยวพาหรือจ่ายผญาเป็นภาษามีสัมผัส ใส่เสียงแคนประกอบ หนุ่มคนไหนสามารถก็คงจะโดดเด่น
ไม่แปลกอะไรที่หนุ่มสาวอีสานส่วนใหญ่คุ้นเคยกับคำผสมแคนที่เรียกว่า หมอลำ รูปบางตอนบนผนังมีภาพเขียนชาวจีนไว้ผมเปีย สันนิษฐานว่าชาวจีนมีอาชีพเปิดบ่อน หลังจากการทำงานแล้วชาวบ้านก็ผ่อนคลายด้วยการเสี่ยงทายแบบเร้าใจ การเสี่ยงมีอยู่ทั่วไปเป็นที่นิยมของคนไทยจนเกิดโรงหวยและบ่อนการพนัน ยังมีสืบต่อกันมาจนถึงวันนี้
เชื่อกันว่าการพนันก็มาจากชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพเข้ามาเมืองไทยตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์แล้ว อย่างจับยี่กี ถั่วโป อีจี๋หรือหัวจี๋ และทอยลูกเต๋า
ภาพยิ่งละเอียดเท่าไหร่ เราก็ยิ่งรู้จักประเพณีเก่าของเราทั้งหมด เช่น รูปคนจีนหาบตะกร้าไปที่ต่างๆ น่าจะเป็นแบบแรกของการค้าของคนจีน กากเหล้าเขาใช้เลี้ยงหมูได้ คนจีนต้มเหล้ากับเลี้ยงหมู ทำคู่กัน
นั่นคือบันทึกเหตุการณ์เมื่อกว่ายี่สิบปีมาแล้ว มาอีสานรอบใหม่นี้ เป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่ฮูบแต้มเมืองเลย ไปดูอีกครั้งว่าภาพเหล่านั้นยังโลดแล่นมีชีวิตอยู่บนผนังเหมือนเดิม ภาพที่มีกลิ่นอีสาน ภาพต้นทางให้เราลองเขียนชีวิตใหม่ของสาวอีสานนุ่งซิ่นลายล่อง อันนี้ไม่เหมือนสาวเหนือที่นุ่งซิ่นลายขวาง เราจงใจใส่กล้ามเนื้อเขียนสาวอีสานให้บึกบึน ไม่เขียนแขนขาหญิงสาวให้เรียวลีบแบบนางในวรรณคดี เขียนให้พวกเธอเป็นหนุ่มสาวร่วมสมัย สามารถแบกจอบแบกเสียมและมีอกอุ่นพอที่จะป้อนนมลูกได้ เขียนหนุ่มสาวอีสานรุ่นใหม่แบบที่ ธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการร่วมสมัยของไทยเคยกล่าวไว้ว่าชนชั้นกลางรุ่นใหม่ของไทยส่วนใหญ่จะมีพื้นเพเป็นชาวอีสานที่มีความรู้ สู้ชีวิตและพึ่งพาตัวเองได้
ละเลยประวัติศาสตร์เท่ากับด้อยค่าภูมิปัญญาบรรพชน
วันนี้สิมเก่าแก่ที่เคยเข้าไปนั่งไปนอนไปดู สิมอีสานโดยเฉพาะแถบอีสานกลาง ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เคยเป็นแรงบันดาลใจให้เราสร้างรูปทรงของหนุ่มสาวถูกลบทิ้งเพื่อเปิดทางให้เปลวทองระยิบระยับของวัดในความหมายใหม่เข้ามาแทนที่
ก็เข้าใจ ไม่มีสิ่งใดฝืนกฎธรรมชาติได้ ฮูบแต้มอายุเกินร้อยปี ทั้งปูนทั้งสีก็ต้องเปื่อยยุ่ยไปตามเวลา เลาะอีสานรอบนี้ไม่มีฮูบแต้มที่ตามหา เราควรจะดีใจหรือเสียใจดี อย่างน้อยที่สุดวันนี้ เรายังมีรูปรอยหนุ่มสาวอีสานที่เคยวาดไว้หลงเหลือให้อาลัยอาวรณ์.
เรื่องและภาพ สุมาลี เอกชนนิยม
เกี่ยวกับผู้เขียน : สุมาลี เอกชนนิยม จิตรกรชาวร้อยเอ็ด จบช่างศิลปแล้วไปต่อจุฬาฯ ก่อนบินลัดฟ้าสู่มหาวิทยาลัย Sorbonne กรุงปารีส แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1996 และทำงานสืบเนื่องเสมอมา มีโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อยู่ 19 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ใช้เวลาหลักๆ อยู่กับการเขียนรูป เธอเคยพูดกับมิตรสหายว่า ‘การเขียนรูปคือรางวัลสูงสุดที่มอบให้ตัวเอง’