ในโรงเรียนศิลปะสมัยก่อน คำว่า Less is more น่าจะเคยได้ยินกันทุกคน เพราะเมื่อต้องเรียนจิตรกรรมขั้นสูง แสดงว่าเขาได้ผ่านการเรียนเขียนรูปแบบพื้นฐานมาแล้ว
ชั่วโมงจิตรกรรมสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเขียนคนหรือเขียนหุ่นนิ่ง ครูจะบอกให้ใช้วิธีตัดทอน (Reduce และ Distort) คือตัดสิ่งที่ดูยุ่งยากให้เหลือน้อยลง แล้วจะดูงามมากขึ้นตามแนวคิด Less is more
ถ้าเราใช้หุ่นนิ่งเป็นแบบในการวาดภาพ เราก็มีหน้าที่คิด จะตัดอะไรออกดีหนอกับหุ่นที่วางอยู่ตรงหน้า ตัดบางส่วนออกให้เหลือแต่โครงสร้างสำคัญ เนื้อหาหลักยังคงอยู่ คือเราต้องลดรูปสิ่งนั้น หมายความว่าหุ่นนิ่งหลายชิ้นที่จัดวางแบบบังกัน ทับซ้อน หรือเรียงกันอยู่นั้น ถูกวางรวมกันเพื่อเป็นแบบให้เราวาดในชั่วโมงจิตรกรรมสร้างสรรค์
ช่วงเวลานี้ เขาฝึกให้ใช้จินตนาการตัดทอน ลดรูป เพื่อให้เกิดรูปลักษณ์ใหม่ ไม่ใช่ให้ลอกแบบของจริง
องค์ประกอบทั้งหมดที่วางอยู่ตรงหน้า โจทย์คือถอดเปลือกนอกออกให้หมด คงไว้แต่แก่นของเรื่อง การลดรูปหรือตัดทอนบางส่วนออกไปโดยที่เนื้อหาสาระเดิมยังคงอยู่เป็นกลวิธีหนึ่งในการสร้างสไตล์ของตัวเอง ซึ่งทำได้หลายวิธี เราอาจจะพับบางส่วนของสิ่งนั้นให้เล็กลงเพื่อให้เกิดเป็นรูปทรงใหม่ หรืออาจจะดัดโน่นนี่ให้รูปทรงเปลี่ยนไป
เลือกตัดบางส่วนออกให้เหลือน้อยลง จับสิ่งนั้นบิดให้เบี้ยวโค้ง หรือจะทำด้วยวิธีอะไรก็ตาม เท่าที่คนสร้างงานนั้นจะคิดได้ ขอให้ผลงานออกมาดูดีมีความงาม
Less is more ในงานศิลปะมาได้ยังไง
น้อยคือมากเป็นแนวคิดสำคัญของ Minimal Art มีนักวิชาการศิลปะตั้งชื่อไทยให้ผลงานแบบนี้ว่าเป็น ‘จุลศิลปะ’ ชอบหรือไม่ชอบ เข้าใจหรือไม่เข้าใจก็คงไม่สำคัญเท่ากับสาระในตัวมันเอง หัวใจของแนวคิดนี้น่าจะเป็นเรื่องของความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ความน้อยหมายถึงพอดีพองาม ไม่ขาดไม่ล้น ไม่มีสิ่งประดับประดาอื่นๆ ที่ดูแล้วรกรุงรัง
นักออกแบบเสื้อผ้าและสถาปนิกนักออกแบบอาคาร รวมทั้งศิลปินสายทัศนศิลป์จำนวนไม่น้อยที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดนี้
Minimal Art เกิดขึ้นในราวต้นปี 1960 ถ้ามองภาพกว้างๆ น่าจะประมาณว่าสังคมช่วงเวลานั้นมีปัญหามาก คนเหนื่อยกับชีวิตในวงจรอุตสาหกรรม โลกเกิดวิกฤติอาหาร วิกฤติการเงิน ระบบนิเวศเสียสมดุล อยากลดขยะ ลดคาร์บอน ลดอาชญากรรม ลดชนชั้น ฯลฯ แนวคิดลดการบริโภคทุกสิ่งอันมันก็น่าจะส่งแรงสั่นสะเทือนถึงศิลปะบ้างแหละ ซึ่งจะลดได้ก็ต้องตัดค่านิยมฟุ้งเฟ้อในชีวิต แล้วมาให้ความสำคัญกับความง่ายงาม
แนวคิดนี้สะท้อนออกมาให้เห็นในผลงานของศิลปินมินิมอล
ได้ยินมานานแล้ว อยากรู้มานานแล้วว่าคำนี้มาจากไหน มาได้ยังไง ค้นไปค้นมาก็ไปเจอบทกวีที่มาของคำว่า
Less is more (นี่มันพุทธธรรมชัดๆ) Robert Browning เขาเขียนว่า
“No sketches first, no studies, that’s long past:
I do what many dream of, all there lives,
Dream? Strive to do, and agonize to do,
And fail in doing. I could count twenty such
On twice your fingers, and not leave this town,
Who strive–you don’t know how the others strive
To paint a little thing like that you smeared
Carelessly passing with your robes afloat—
Yet do much less, so much less,
Someone says,
‘I know his name, no matter’– so much less
Well, less is more, Lucrezia: I’m judge.
There burns a truer light of god in theme.”
เราไม่ได้เห็นบทกวีนี้ด้วยตัวเอง แต่เห็นจากประวัติของ Ludwig Mies Van Der Rohe ชื่ออ่านยากๆ เราเรียกเขาว่าลุกวิซ
ลุกวิซเป็นผู้อำนวยการคนที่สามของโรงเรียนออกแบบที่ดีที่สุดของโลกคือ โรงเรียนเบาเฮ้าส์ Bauhaus โรงเรียนนี้ก่อตั้งมาแล้วเกือบร้อยปี ลุกวิซเป็นสถาปนิกที่สนใจจะสร้างรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตร่วมสมัยของตัวเอง เขาน่าจะเป็นคนแรกที่แสดงความคิด Less is more ผ่านการออกแบบก่อสร้างบาเซโลนา พาวิเลียนที่มีชื่อเสียง (ในหนังสือฝรั่งบอกอย่างนั้น) ความคิดของเขาคืองานต้องแตกต่าง มีเอกลักษณ์ หลุดจากกรอบเดิมแบบยุคโกธิคและคลาสสิกฯ ลักษณะผลงานของเขาเลยมีรูปแบบเรียบง่าย โปร่งโล่งเบา
เขาเรียกผลงานออกแบบของตัวเองว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบผิวหนังและกระดูก ห่างไกลการประดิดประดอย
Robert Browning เป็นกวียุควิคตอเรียนที่มีผลงานมากมาย ข้อความ Less is more ในบทกวีของเขาคงผ่านหูผ่านตาศิลปินจำนวนไม่น้อยในยุคนั้นและตกทอดมาถึงลุกวิซด้วย ศาสตราจารย์เจตนา นาควัชระ เคยบอกว่า ศิลปะมันส่องทางให้กันอยู่แล้ว เราไม่อาจล่วงรู้ได้เลยว่าลุกวิซสนใจเซน สนใจพุทธนิกายอะไรสักอย่างหรือไม่
แล้วทำไมเขาจึงสนใจความน้อย
เป็นธรรมดาในหมู่ศิลปินทุกแขนง เมื่อปะทะสัมพันธ์กับสิ่งใดก็อยากถ่ายทอดสิ่งนั้นออกมา ความงามมีหลากหลายรูปแบบและการมองเห็นความงามก็แตกต่างกันไปตามระดับประสบการณ์ของแต่ละคน แทนการย่ำอยู่กับที่ไม่มีอะไรใหม่ คำนี้อาจกระตุ้นให้ลุกวิซคิดหรือเห็นภาพอะไรบางอย่าง คำนี้อาจสร้างบางความหมายขึ้นในใจ เขาจึงนำแนวคิด Less is more มาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน ทำให้เกิดนักออกแบบและศิลปินมากมายที่ทำงานด้วยแนวคิดนี้สืบต่อกันมา
คนเกิดทุกวัน สังคมเปลี่ยนโลกก็เปลี่ยน
ศิลปินกลุ่มหนึ่งเริ่มมองเห็นปัญหาเริ่มมองแบบลุกวิซนี่แหละ เขารับรู้ว่าโลกร้อนขึ้น วิกฤติต่างๆ มีมากขึ้น เกิดแนวคิดลดขยะ ลดคาร์บอน ลดช่องว่าง ชุดความงามแบบดั้งเดิมไม่ถูกใจศิลปินที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เขาเริ่มปฏิเสธลวดลายเลิศลอยที่ประดับประดาอยู่ ไม่ยอมรับเครื่องประดับที่แสดงให้เห็นสถานภาพที่เหนือกว่า ปฏิเสธความงามที่ไม่สัมพันธ์กับชีวิตจริง ความไม่สมดุลในการแบ่งปันทรัพยากร คนอิ่มคนหิวไม่เท่ากัน มันกระทบแน่ๆ กระทบใจคนสร้างงาน ความหรูหราฟุ้งเฟื่องไม่ใช่ความงามของยุคสมัยอีกต่อไป
รูปที่เขียนที่เกลี่ยอย่างสลับซับซ้อนเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างเห็นได้ชัดทางฝั่งซีกโลกตะวันตก ในงานจิตรกรรมร่วมสมัย เราจะเห็นงานติดตั้งแบบกล่องสี่เหลี่ยมตามมุมห้องบ้าง งานเป็นก้อนสี่เหลี่ยมลอยตัวบ้าง ผลงานรูปแบบมินิมอลถูกนำเสนอในแนวคิดแบบ Conceptual Art บ้าง แบบ Installation บ้าง คือเป็นงานที่เน้นเสนอความคิด ไม่เน้นทักษะเลิศล้ำ
ในไทยเองก็เริ่มเห็นงานแปลกแตกต่างในสนามชิงเหรียญทองแห่งชาติ งานมินิมอลบางชิ้นได้รับรางวัล (เมื่อเก่าปะทะใหม่ โห..แบบนี้ก็ได้เหรอ ไม่มีรูปทรงอะไรเลย ฟิกเกอร์ก็ไม่มี … เกิดคำถามขึ้นมากมาย)
อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับตัวสาระ จะเกิดที่ไหน เกิดเมื่อไหร่ ใครเริ่ม ประเด็นอยู่ที่ถ้ามันใช่ มาถูกกาลเวลา คนก็ขานรับ ส่วนจะอยู่ต่ออีกนานแค่ไหน ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครตอบได้ว่ามันดีหรือไม่ดี ทุกรูปแบบของงานศิลปะคลี่คลาย เสื่อมถอย หรือพัฒนาไปตามปัจจัยแวดล้อมของมันเอง วันนี้แนวคิดเรียบง่ายด้วยการลดรูปตัดทอนยังมีอยู่และส่งต่อมาถึงยุค Postmodernism ที่อะไรก็ได้ เมื่อโลกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว
Less ไม่ more อีกต่อไป วันนี้ Less คือ Bored น่าเบื่อ
จากแนวคิด “บำรุงบำเรอปรนเปรอกันเข้าไป” เป็น “ไม่รู้จะเยอะไปไหน” วันนี้ภาพเก่ากำลังจะกลับมาเป็น “ก็อยากจะเยอะอ่ะ”
เราเห็นอะไรจากตรงนี้ ? ความไม่แน่นอนไง หมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน จากรูปแบบผลงานที่เน้นการตกแต่งอย่างฟุ่มเฟือย จากวิถีชีวิตที่มุ่งขวนขวายแสวงหาอำนาจชื่อเสียงเงินทอง มากแค่ไหน มีแค่ไหนก็ไม่ใช่หลักประกันว่าชีวิตของเขาจะเป็นอมตะค้ำฟ้า เปลือกผิวเลิศหรูภายนอกก็ไม่ใช่สิ่งค้ำยันว่าคุณค่าของรูปแบบนี้จะไม่เปลี่ยนแปลง
หลายสิ่งหลายอย่างที่เคยอยู่บนฟ้าถูกลากลงมาอยู่ข้างถนน ผลงานที่เคยถูกทิ้งขว้างมีคนหยิบยกขึ้นมาชำระล้าง แนวคิดของศิลปินยุคมิลเลนเนียมเป็นอยู่ปะปนกันระหว่าง less กับ more ก็เป็นเช่นนี้
มันเป็นเช่นนี้เอง มีอะไรอยู่แน่นิ่งไม่เปลี่ยนบ้าง
นึกถึงชีวิตคน ใช้เวลาทั้งชีวิตสะสมทรัพย์สมมติ ขวนขวายของนอกกายมาบำรุงบำเรอตน เดี๋ยวหนาวเดี๋ยวร้อน เวลาล่วงไปไม่หยุด ทุกสิ่งก็ผุพังไปตามธรรมชาติ สิ่งสมมติเลิศหรูก็ไม่หยุดความเสื่อมใดๆ ได้
ถึงวันนี้ แล้วเราจะเก็บเปลือกผิวที่รุงรังไว้ทำไม ในเมื่อมันไม่ช่วยให้รอดพ้นจากความแปรปรวนของโชคชะตา ก็ตัดทิ้ง.
เรื่องและภาพ สุมาลี เอกชนนิยม
(งานใหม่ เขียนปี 2022
เทคนิคสีน้ำบนกระดาษ 15×21 นิ้ว
หมึกดำบนกระดาษ 11×16 นิ้ว
สีอะคริลิคบนกระดาษ 11×15 นิ้ว
สีอะคริลิคบนกระดาษ 11×15 นิ้ว
และสีน้ำและสีอะคริลิคบนกระดาษ 11×15 นิ้ว ตามลำดับ)
เกี่ยวกับผู้เขียน : สุมาลี เอกชนนิยม จิตรกรชาวร้อยเอ็ด จบช่างศิลปแล้วไปต่อจุฬาฯ ก่อนบินลัดฟ้าสู่มหาวิทยาลัย Sorbonne กรุงปารีส แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1996 และทำงานสืบเนื่องเสมอมา มีโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อยู่ 19 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ใช้เวลาหลักๆ อยู่กับการเขียนรูป เธอเคยพูดกับมิตรสหายว่า ‘การเขียนรูปคือรางวัลสูงสุดที่มอบให้ตัวเอง’