“ต้องใช้อะไรกระแทกถึงจะถีบตัวเองออกมาจากกรอบเดิมๆ ของชีวิตได้”
จามี่ เลาะวิถี ถามตัวเอง
คำตอบที่ได้เสมอคือการเดินทางไปที่ไกลๆ ไปเห็นให้เยอะๆ และหาโอกาสพูดคุยกับผู้คนที่พบเจอระหว่างการเดินทาง
เธอเชื่อว่า ‘คำถามแห่งชีวิต’ จะเกิดขึ้นในวัยหนุ่มสาว อย่างที่เธอมีคำถามในชีวิตที่เคยถามตัวเองอยู่ตลอด แต่ครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งไหนๆ เพราะเธอไม่ได้มานั่งถามตัวเอง แต่อาศัยเรียนรู้ชีวิตผ่านการนั่งฟังประสบการณ์ของเพื่อนใหม่ ใช้เวลาสี่เดือน หนังสือ being young in the red zone ก็ค่อยสำเร็จเป็นรูปร่าง
มันเป็นยามเย็นอันแสนสามัญวันหนึ่งที่จังหวัดน่าน ผมอ่านเรื่องราวของคนหนุ่มสาว ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ใต้โคมไฟที่บ้านสวนไผ่รำเพย หนังสือไม่หนา แต่จะว่าบางก็ไม่ใช่ อ่านรวดเดียวจบ อ่านด้วยความรู้สึกตื่นเต้น
แน่นอนว่านี่ไม่ใช่งานบันเทิงหรือเรื่องราวคาวใคร่ ไม่ใช่บันทึกแห่งความสุข หรือความสำเร็จ ยิ่งไม่ใช่เป็นงานจากปลายปากกานักเขียนเรืองนามที่บอกเล่าตัวละคร celebrities
ความน่าตื่นเต้นที่ว่าคืออะไร
ผมไม่แน่ใจนัก มันอาจเป็นความบังเอิญที่เรื่องเล่าของ จามี่ เลาะวิถี ทับซ้อนสะกิดประสบการณ์เก่าเมื่อสิบห้าปีก่อน ตลอดทั้งปี 2006 ผมและเพื่อนช่างภาพ ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ เคยเดินทางไปที่นั่น ไปฟัง ไปเห็น ไปซึมซับบางสิ่งที่คนนอกพื้นที่หวาดกลัว
ใช่, กลัว ทั้งที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่รู้จัก ไม่เคยไป
ถามว่าเรากลัวหรือเปล่า
กลัวสิ เราก็ฟังเรื่องเล่าเหล่านั้นมาไม่ต่างกัน คิดไปเองเช่นกัน อีกบางทีตัดสินพิพากษา ทั้งที่ไร้ข้อมูล ไร้การตรวจทาน และไม่เคยสัมผัสความจริง ณ ที่เกิดเหตุ
ยังดีว่าแม้ในความกลัว เราตัดสินใจเดินเข้าไปหา ไปอยู่ ไปศึกษา ไปเป็นเพื่อน และได้รับความเป็นเพื่อนกลับมา–มาก ในระดับที่ความโง่เขลาหวาดกลัวในหัวใจค่อยเจือจาง
ผ่านมาสิบห้าปี ถามว่าสันติสุขคืนสู่สามจังหวัดชายแดนใต้หรือยัง
ยังห่างไกลเป็นคำตอบที่เราต่างรู้
being young in the red zone เป็นหนังสือว่าด้วยบทสัมภาษณ์วัยรุ่นคนหนุ่มสาวในพื้นที่สีแดง ผู้เขียนบันทึก 9 เทป เรียงตามหน้าคำนำไว้ดังนี้ เมโลดี้ชีวิตที่เลือกบรรเลงเอง, your voice, your choice, ผลงานที่โลก(ไม่)จดจำ, human is not แพะ, skate slow and live, ค่ายหนังวัยรุ่นในถิ่นมลายู, silence will not protect us, ขอให้พรุ่งนี้ไม่มีโชคร้าย และ ศิลปินคือตัวแทนของผู้เป็นพ่อ
บางปากคำในบางหน้าหนังสือน่าสนใจร่วมบันทึกไว้
“หลับไม่เต็มตื่น ยิ่งพอดึกๆ สะดุ้งตื่นบ่อย พอได้ยินเสียงรถนี่ใจไม่ดีเลย รถชาวบ้านผ่านก็ตกใจแล้ว เขาจะชอบมาตอนกลางคืน ปกตินอนสี่ทุ่ม พอเลยตีหนึ่งจะรู้สึกตัวสะดุ้งตื่นโดยอัตโนมัติ คอยนอนฟังสังเกตเสียงรถ มันระแวง เป็นทุกคืนเลยนะ”
“ผมไม่อยากให้มีกฎหมายพิเศษมาควบคุมในพื้นที่ ผมขอแค่นี้”
“เคยถามตัวเองนะว่าทำไมต้องเกิดที่ยะลาด้วย มันมีความรู้สึกน้อยใจนะ รู้สึกว่าการจะไปถึงความฝันของผมมันมีอะไรปิดกั้นเยอะแยะไปหมด”
“ผมทำหนังเพื่อสะท้อนสังคม แต่ต้องสนุกด้วยนะครับ ..มันต้องเปลี่ยนมุมมองเขาบ้างแหละ ผมอยากให้มองที่กระดาษทั้งแผ่น ไม่ใช่แค่จุดดำๆ เล็กๆ จุดเดียวที่มันคือเหตุการณ์ความรุนแรง ในพื้นที่สามจังหวัดยังมีวัฒนธรรมที่ดี มีความเป็นพหุวัฒนธรรม พวกผมจะทำหน้าที่เป็นสื่อ ต่อให้เป็นคนตัวเล็ก แต่ก็พร้อมจะทำสิ่งดีๆ ให้กับพื้นที่บ้านของผม ฯลฯ
จุดเด่นที่สุดของหนังสือคือความกล้าหาญและการค้นพบตัวละครใหม่ที่ไม่เคยมีใบหน้าปรากฏตามสื่อ โอเค–หนึ่งหรือสองในเก้าอาจจะเคยมี เคยผ่านเวทีชุมนุมเสวนามาบ้าง แต่จามี่พาเราเข้าไปรู้จักตัวตนจริงๆ ของเขาและเธอใกล้ชิดและลงลึกกว่าที่เคยเห็นเบาบาง ฉาบฉวย ที่น่าสนใจคือวัยของผู้สัมภาษณ์และแหล่งข่าวอยู่รุ่นราวคราวเดียวกัน แม้จะเป็นมุสลิมเหมือนกัน แต่ฝ่ายหนึ่งลงไปจากกรุงเทพฯ อีกฝ่ายเป็นมุสลิมมลายู คนท้องถิ่นซึ่งพูดคนละภาษา คนละวัฒนธรรม และโลกทัศน์
นี่จึงเป็นหนังสือของ ‘คนหนุ่มสาว’ ที่ก้าวเท้าออกจากคอมฟอร์ตโซน ตั้งใจเดินทางไกลไปนั่งลงตรงหน้า ปะทะแลกเปลี่ยนเรื่องเล่ากับ ‘คนหนุ่มสาว’ ที่อยู่ในเรดโซน มันเป็นความพยายามอันงดงามที่จะก่อสะพานเชื่อม เปิดไดอะล็อก สร้างเวทีสันติภาพแบบมนุษย์กับมนุษย์
สังคมที่มีวุฒิภาวะ สังคมที่อารยะ เราต้องฟังเสียงคนหนุ่มสาว
ไม่ฟังเสียงวัยรุ่นหนุ่มสาวก็เท่ากับปิดหูปิดตา และปิดอนาคตของตนเอง
ขนบเถรวาทคือ ‘เดินตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด’ เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ดีแต่สั่ง แต่ไม่รู้จักฟัง สังคมเช่นนี้ไร้อนาคต สังคมเช่นนี้สุดท้ายประเทศก็จะมีแต่คนชรา คนหนุ่มสาวมีแรงไหนเลยจะมาจมปลักดักดานอยู่ โลกกว้างไกล นับวันเขาและเธอเฝ้ามองออกไปข้างนอก เพราะอยู่ที่นี่ อยู่ข้างใน แม้ว่าใช้เสียงใช้สื่อจนทะลุฟ้าทะลุแก๊สแล้ว ก็เจอแต่ลูกปืน เจอแต่คุก ไร้อ้อมแขนผู้ใหญ่โอบกอด
จามี่มีบุคลิกบางอย่างคล้ายฝรั่ง ผมรู้สึกอย่างนั้น คือมันไม่ ‘ไทย’ ไม่เจ๊าะแจ๊ะฮิฮะห่วงความฮาแบบพิธีกรดาดดื่นที่เราคุ้นทางจอทีวี เธอถามตรง มีประเด็น เห็นความเอาจริงเอาจัง รับฟังและให้เกียรติ ‘ฝรั่ง’ ที่ผมรู้สึก แท้จริงควรจะใช้คำว่า ‘สากล’ มากกว่า ใช่–วิธีทำงานและการนำเสนอของจามี่สากล แม้ว่าเป็นมือใหม่ เป็นหนังสือเล่มแรก แต่เธอทำได้ไม่เลวเลย
สิ่งเดียวที่ผมไม่ชอบคือการสรุปตอนท้ายของแต่ละเรื่อง เช่น ‘ขอให้เสียงดนตรีจะยังเป็นทางนำและเป็นความหวังให้ชีวิตของเขาต่อไป’ หรือ ‘บทสนทนาจบลง แต่พลังชีวิตของเขาจะไม่มีทางลงไปถึงศูนย์แน่นอน เราเชื่อแบบนั้น’
ผมเห็นว่าบทสัมภาษณ์ทำหน้าที่นั้นสมบูรณ์แล้ว หรือหากไม่สมบูรณ์ ผู้อ่านก็เลือกเปิดประตูแต่ละบานของตัวเองออกไปได้โดยไม่ต้องรอข้อสรุป แต่ก็อีกนั่นแหละ นี่เป็นทัศนะของผมคนเดียว มันไม่สลักสำคัญอะไร และจุดเล็กๆ ดังกล่าวก็คงไม่มีพลังอำนาจถึงขนาดว่าจะไปทำลายจุดแข็งของหนังสือ
ผมรอที่จะอ่านหนังสือเล่มที่สอง สาม สี่..
จามี่เป็นนักสื่อสารมวลชนที่มีรสนิยม สิ่งนี้ไม่ได้มาโดยง่ายหรอก ยิ่งถ้าเดินทางน้อย อ่านและฟังมาแค่ความก้องดังของสื่อกระแสหลัก วันๆ เอาแต่กักตัวอยู่กับอินเทอร์เน็ต เสพข้อมูลชั้นที่สองที่สามจากหยาดเหงื่อแรงงานของผู้อื่น
ผ่านมาสิบห้าปี ถามว่าสันติสุขคืนสู่สามจังหวัดชายแดนใต้หรือยัง
ยังห่างไกลเป็นคำตอบที่เราต่างรู้ และจะยิ่งไกล ถ้าไม่เผชิญหน้า ไม่สบตากับปัญหาที่แท้จริง ไม่เปิดใจ วางปืน แล้วนั่งคุยกันบนโต๊ะ คุยแบบผู้ใหญ่ คุยด้วยมิตรไมตรี ด้วยท่าทีที่ไม่ตั้งป้อมปักธง หรือยืนยันอคติโง่งมว่ากูถูก มึงผิด, กูเป็นเจ้านาย มึงเป็นข้าทาส, กูเป็นคนดี พวกมึงเป็นโจร ฯ
นอกจากความรัก ความรู้เท่านั้นที่เป็นทางออก
ในทุกๆ ปัญหา ถ้าไม่มีความรู้ เราจะเดินไปสู่ประตูแห่งแสงสว่างได้อย่างไร
แง่นี้ จามี่ได้ทำหน้าที่ของเธอแล้ว ทำด้วยความสดใหม่ มีลีลาเฉพาะ และสะท้อนตัวตนที่เชื่อว่า ‘คนเท่ากัน’
โดยส่วนตัว ผมเห็นว่าไม่เฉพาะเพียงสามจังหวัดชายแดนใต้หรอก ที่สังคมไทยใช้ความเชื่ออยู่เหนือข้อมูลข้อเท็จจริง ที่อื่นๆ ทุกจังหวัด ผู้นำ ผู้ปกครอง ผู้ยิ่งใหญ่แห่งประเทศกรุงเทพฯ ล้วนมีมุมมองเดียวกัน คือไม่เคารพ ไม่แคร์ ไม่รู้จัก ไม่สนใจความคิดความรู้สึกของอ้ายอีบ้านนอกพวกนั้น
พูดง่ายๆ ว่าไม่เคยมองเห็นหัวประชาชน
ทั้งที่เสียงร้องไห้ดังกึกก้องกู่ตะโกนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่มันก็มักเป็นเสียงที่ไม่ได้ยิน สัจจะเป็นเช่นนี้ และอีกสัจจะ, จามี่กำลังทำหน้าที่ของเธอ
น่ายินดีที่มีคนลุกขึ้นสู้ด้วยสติปัญญาอย่างจามี่ ยินดีอย่างยิ่ง ถ้าจะมีนักเขียน นักสื่อสารมวลชนคนอื่นๆ ลุกขึ้นหยัดยืนทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเข้มแข็ง
ผิดก็แก้ ล้มก็ลุก ล้มอีกก็ลุกอีก ลุกขึ้นยืนด้วยศรัธาในฐานะประชาชน เราต่อสู้กันไปเช่นนี้ จนกว่าทุกเสียงจะถูกยอมรับและได้ยินว่าเป็นเสียง
จนกว่าทุกคนจะถูกให้ค่าราคาว่าเป็นคน.
หมายเหตุ : หนังสือ being young in the red zone จัดพิมพ์โดย patani forum
พิมพ์ครั้งแรก : สิงหาคม 2021
เรื่อง: วรพจน์ พันธุ์พงศ์