the book nandialogue
the book

ชีวิตมีค่าเท่ากันไหม และหากเป็นเราจะยิงเครื่องบินหรือไม่ ? ใน ‘สะพรึง’

1

สะพรึง เป็นนิยายขนาดกระชับที่ทำให้เราสะพรึงสมชื่อ และบางทีนี่อาจเป็นหนังสือเพียงไม่กี่เล่มที่เมื่ออ่านจบเราอาจต้องการอย่างยิ่งที่จะเจอใครสักคนที่ได้อ่านหนังสือมาเหมือนกัน เพื่อถามว่า “เป็นพี่ พี่จะยิงไหม ?” หรือถ้าใครคนนั้นยังไม่ได้อ่าน ก็อยากจะยัดหนังสือใส่มือเขาพร้อมกำชับว่า “ลองเอาไปอ่านดู อ่านจบแล้วมาเล่าให้ฟังหน่อยว่าถ้าเป็นเราจะทำอย่างไร คิดว่าการที่ตัวเอกตัดสินใจยิงเครื่องบินโดยสาร เป็นเรื่องผิดหรือไม่ผิด ?”

สาเหตุที่เราอยากรู้ความคิดของคนอื่น เป็นเพราะเมื่ออ่านถึงตอนจบ สะพรึงได้ทำให้เราต้องหันมาตรวจสอบความคิดความเชื่อของเราเองทั้งหมด เชื่อในอะไร ให้ค่ากับสิ่งไหน มีตรรกะในชีวิตอย่างไร เรื่องราวทำให้เราต้องค้นลึกไปถึงสิ่งเหล่านี้แล้วควักมันออกมาเทียบเคียงกับชะตาชีวิตที่ตัวละครต้องเจอ ซึ่งเชื่อได้เลยว่าร้อยทั้งร้อยจะมีแง่มุมที่ยังค้างคาอยู่ และนี่เองที่ทำให้อยากได้ยินทัศนะของคนอื่น ได้ยินเพื่อขยายมุมมองว่าสิ่งที่เราคิดยังขาดเหลืออะไร มีอะไรอีกที่เราอาจนึกไปไม่ถึง

 

the book nandialogue

 

หนังสือเล่มหนึ่งมีความสามารถมากขนาดนี้เลยหรือ ? เล่มอื่นอาจตอบยาก แต่เล่มนี้นั้นใช่
หนังสือ สะพรึง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Terror เขียนโดย แฟร์ดินันด์ ฟอน ซีริค (Ferdinand von Schiracj) นักเขียนเยอรมันซึ่งมีพื้นฐานดั้งเดิมเป็นนักกฎหมาย ในเมืองไทยมีการแปลผลงานของนักเขียนผู้นี้ออกมาก่อนแล้วเล่มสองเล่ม ทว่าดูจะเป็นสะพรึงมากกว่าที่สามารถสร้างรอยประทับไว้ในใจนักอ่าน

‘สะพรึง’ เป็นนิยายว่าด้วยข้อโต้แย้งทางกฎหมายที่ถ่ายทอดออกมาเป็นบทละครซึ่งผู้เขียนทำได้ดีเหลือเกิน

ข้อโต้แย้งทางกฎหมายที่ว่า มีพื้นฐานมาจากที่หลังเหตุการณ์ 9/11 ประเทศเยอรมนีได้ตรากฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งในภาษาไทยอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘รัฐบัญญัติความมั่นคงทางอากาศ’ กฎหมายฉบับนี้มีมาตราหนึ่งที่ให้อำนาจกองทัพใช้อาวุธกระทำต่อเครื่องบินพาณิชย์ที่ถูกจี้และถูกใช้เป็นอาวุธ ความหมายคือหากมีเครื่องบินโดยสารถูกจี้และถูกบังคับให้พุ่งชนอะไรสักอย่าง (โดยเฉพาะย่านชุมชน) กองทัพสามารถยิงเครื่องบินโดยสารลำนี้ทิ้งได้ อย่างไรก็ดี, ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนีได้วินิจฉัยให้มาตรานี้เป็นโมฆะ เนื่องจากการสละชีวิตคนบริสุทธิ์กลุ่มหนึ่งเพื่อช่วยชีวิตคนอีกกลุ่มเป็นเรื่องขัดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขัดต่อกฎหมายพื้นฐานที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ถึงกระนั้น คำวินิจฉัยเช่นนี้ก็ดูจะยังมีประเด็นให้สามารถโต้แย้ง และนี่เองจึงเป็นที่มาของนิยายในรูปบทละครที่ชื่อ ‘สะพรึง’

2

เมื่อเป็นบทละคร ‘สะพรึง’ จึงเป็นนิยายกระชับ ไม่ต้องบรรยายฉาก บรรยายบรรยากาศอะไรมากมาย แต่ทุกอย่างค่อยๆ เปิดออกมาจากบทสนทนาจนทำให้เรารู้เห็น สัมผัสได้ทุกอย่างไม่เว้นแม้แต่ความอึดอัดที่ตัวละครเอกแบกรับอยู่ ฉากของเรื่องมีฉากเดียว คือในศาลขณะกำลังมีการพิจารณาคดี

วันหนึ่งในเบอร์ลิน เครื่องบินพาณิชย์ลำหนึ่งของสายการบินลุฟธันซ่าที่มีผู้โดยสาร 100 กว่าคนถูกผู้ก่อการร้ายจี้และมีแนวโน้มว่าจะพุ่งชนสนามกีฬา Allianz-Arena ที่มีคนกว่า 70,000 กำลังชมฟุตบอลที่ทีมชาติอังกฤษกำลังแข่งกับทีมชาติเยอรมนี เมื่อเครื่องบินถูกพบว่าถูกจี้ผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งรัฐมนตรีได้เข้ามาดูแล เพื่อแก้ไขสถานการณ์นักบินประวัติดีจากกองทัพรายหนึ่งพร้อมเครื่องบินรบถูกสั่งให้บินขึ้นเพื่อแจ้งเตือนเครื่องบินโดยสาร ทว่าเมื่อเครื่องบินโดยสารเข้าใกล้สนามกีฬาเรื่อยๆ เมื่อยังไม่มีคำสั่งอื่นใดขณะที่เวลาเหลือน้อยลงทุกที นักบินจากกองทัพรายนี้ได้ตัดสินใจยิงเครื่องบินโดยสารก่อนที่มันจะถึงสนามกีฬา อันทำให้คนบนเครื่องเสียชีวิตทั้งหมด
และนี่เองที่ทำให้ทหารนายนี้ถูกนำตัวมาขึ้นศาลเพื่อพิจารณาคดี การกระทำของเขากำลังถูกตัดสินว่า “คุณมีดีอะไรจึงสามารถตัดสินว่าใครควรอยู่ ใครควรตาย ? คุณใช้สิทธิอะไร ในการแลกชีวิตคนจำนวนหนึ่งกับอีกจำนวนหนึ่ง ?”

ในแง่ชั้นเชิง ‘สะพรึง’ เป็นนิยายที่ทุกย่อหน้าน่าติดตาม การโต้แย้งระหว่างผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ ทนายจำเลย จำเลย อัยการ พยาน ฯลฯ เป็นการงัดเอาเหตุผลทุกอย่างที่แต่ละคนมีมาหักล้างกัน แรกๆ เราในฐานะคนอ่านอาจรู้สึกคล้ายกำลังฟังคนสนทนา แต่ไม่นานจะตระหนักว่าเรากำลังนั่งอยู่ในศาล เนื่องจากเมื่ออ่านไปเรื่อยๆ หนังสือได้มอบบทบาทให้เราเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์โดยร่วมพิจารณาคดีในฐานะลูกขุนด้วย นั่นทำให้ระหว่างอ่านเราจะถูกอัดไปมา ขวาที ซ้ายที เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ว่าสุดท้ายแล้วเราจะตัดสินคดีนี้ว่าอย่างไร

การที่รูปแบบกับเนื้อหาของหนังสือไปด้วยกันได้ดีเช่นนี้นั้น อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ถึงกับเปรยไว้ในคำปรารภว่า “การถ่ายทอดปัญหาความขัดแย้งระหว่างศีลธรรมกับกฎหมาย ตลอดจนปัญหาดีชั่วถูกผิดอันเป็นคำถามในทางจริยศาสตร์เพื่อก่อให้เกิดการอภิปรายโต้แย้งกันด้วยเหตุผลนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องทำในรูปของบทความหรืองานเขียนทางวิชาการเท่านั้น ประวัติศาสตร์อารยะธรรมของมนุษย์แสดงให้เห็นว่างานเขียนในลักษณะของบทละครเวทีสามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี สะพรึงเล่มนี้ดูเหมือนจะตอกย้ำพลังของงานเขียนในรูปของบทละครให้หนักแน่นยิ่งขึ้น”

 

the book nandialogue

 

3

เหตุที่เราถูกอัดไปซ้ายที ขวาที ขณะอ่าน ‘สะพรึง’ เป็นเพราะทุกอย่างที่ทุกฝ่ายเอามาหักล้างกันนั้นฟังแล้วมีเหตุผลทั้งหมดและเมื่อหนังสือถูกเขียนมาเพื่อให้เราในฐานะคนอ่านมีส่วนร่วมในการตัดสินคดีด้วย นี่จึงเกี่ยวกับประเด็นที่กล่าวไว้ในตอนแรกเริ่ม ประเด็นที่ว่า หนังสือเล่มนี้ทำให้เราต้องตรวจสอบความคิดความเชื่อของเราทั้งหมด เชื่อในอะไร ให้ค่ากับสิ่งไหน มีตรรกะในชีวิตอย่างไร พูดอีกแบบมันทำให้เราถามตัวเองว่า “หากเราเป็นนักบินของกองทัพนายนั้น เราจะยิงเครื่องบินโดยสารไหม ?”

“เราจะยิงเครื่องบินโดยสารไหม ในเมื่อหากไม่ยิง คนอีกราว 70,000 คน อาจต้องตาย แต่หากยิง เราจะถูกนำตัวมาดำเนินคดี ชีวิตนับจากนี้จะไม่เหมือนเดิม ?”

ตอนหนึ่ง, เมื่ออัยการกล่าวว่ามันเป็นไปได้หรือที่เราจะชั่งน้ำหนักชีวิตจากจำนวน จำเลยบอกกับอัยการว่า “ยังไงเสียผู้โดยสารบนเครื่องบินก็มีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกไม่กี่นาทีอยู่แล้ว…แม้ว่าผมจะไม่ยิง พวกเขาก็ต้องตายอยู่ดี”

นั่นทำให้อัยการถามกลับมาว่า “ฉันขอถามอีกหนึ่งคำถาม คุณจะยิงเครื่องบินนั่นไหม หากภรรยาและลูกของคุณอยู่บนเครื่องด้วย ?”

นี่ไงละ หากเป็นเราที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เราจะตอบคำถามนี้อย่างไร

 

the book nandialogue

 

หากอธิบายย้อนหลังเมื่อเหตุการณ์จบแล้ว เราอาจตัดสินการกระทำของทหารนายนี้ได้อีกแบบ แต่ถ้าเราเป็นคนหน้างานที่ไม่ได้เห็นภาพใหญ่และมีเวลาไม่มาก เราจะตัดสินใจเหมือนเขาไหม ชัดเจนว่าสถานการณ์เช่นนี้ไม่เคยง่ายสำหรับใครเลย ที่สำคัญ สถานการณ์เช่นนี้ยังเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ

ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ 9/11 ผู้แปลได้ยกเหตุการณ์หนึ่งมาเทียบเคียงว่า วันนั้นเมื่อมีการยืนยันว่าเครื่องบิน 4 ลำ ถูกจี้ รัฐบาลอเมริกาได้พยายามขัดขวางโศกนาฏกรรมดังกล่าว โดยส่งเครื่องบินขับไล่ออกไปทันที ทว่าเครื่องบินขับไล่เหล่านั้นไม่ได้ลำเลียงกระสุนจริง การยิงทำลายเครื่องบินที่ถูกจี้จึงไม่เกิดขึ้น

แต่ถึงแม้ว่าเครื่องบินขับไล่พกกระสุนจริง และมีการยิงทำลายเครื่องบินที่ถูกจี้เกิดขึ้น สถานการณ์ที่ตามมาก็ไม่น่าจะง่ายนัก นักบินคนหนึ่งที่ขับเครื่องบินขับไล่ในวันนั้นได้ให้สัมภาษณ์ว่า “เราได้ทำทุกอย่างที่จะทำได้แล้ว เราทำอะไรได้ไม่มากนัก ไม่มีใครจะบอกว่าเราเป็นฮีโร่หรอก ถ้าเรายิงเครื่องบินในวันที่ 11 กันยายน คุณนึกภาพออกได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากกองทัพทำแบบนั้น มันเป็นสถานการณ์ที่มีแต่เสียกับเสีย ตั้งแต่คนร้ายได้ยึดเครื่องบินนั่นแหละ”

ถ้อยคำนี้พอจะทำให้เห็นความซับซ้อนของปัญหาดังกล่าว

ตราบเท่าที่ถกเถียงกันด้วยเหตุผล สิ่งหนึ่งที่ สะพรึง บอกเราคือหลายสิ่งบนโลกนี้อาจมีคำตอบได้มากกว่าหนึ่ง ทั้งนี้เราไม่ต้องมีพื้นฐานทางกฎหมายเลยในการอ่านหนังสือเล่มนี้ แต่ถ้าเราอยากเข้าใจกับพื้นฐานทางกฎหมาย และเป็นพื้นฐานทางกฎหมายในระดับนิติปรัชญา นี่เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ไม่ควรพลาด

นักอ่านบางคนถึงกับบอกว่า ‘สะพรึง’ ทำให้เขารู้จักและเข้าใจ ‘นิติปรัชญา’ เป็นครั้งแรก !

 

 

nandialogue

 

เรื่อง: หนุ่ม หนังสือเดินทาง

You may also like...