แรกพบหนังสือ ฤดูกาลประชาชน สิ่งที่จะเห็นเป็นอย่างแรกคือภาพปก ภาพวาดพอร์ทเทรต อานนท์ นำภา วาดโดย ไข่แมว
คุณอาจเข้าใจว่าหนังสือเล่มนี้เป็นรวมบทสัมภาษณ์ อานนท์ นำภา แต่มิใช่ ‘ฤดูกาลประชาชน’ คือหนังสือรวมบทสัมภาษณ์ที่ ธิติ มีแต้ม จดบันทึกชะตากรรม เรื่องราวการต่อสู้ และชีวิตของบุคคลหลากหลายที่ออกมาต่อสู้กับอำนาจอยุติธรรมตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งบุคคลที่มีชีวิต และบุคคลที่ถูกกล่าวถึงในบทสัมภาษณ์ พวกเขาต่างเป็นนักสู้ผู้มีอุดมการณ์ แต่การเลือกที่จะสู้กับความอยุติธรรมในสังคมกลับทำให้ชะตาชีวิตของเขาสะดุดและผกผัน
ด้วยว่าไม่ถูกใจ ไม่สบายใจผู้มีอำนาจ จากนักสู้หลายคนถูกทำให้กลายเป็นนักโทษทางความคิด นักสู้หลายคนถูกทำให้บาดเจ็บจนมีบาดแผล (ทั้งบาดเจ็บในเชิงกายภาพและร่องรอยแผลเป็นที่หัวใจ) นักสู้หลายคนถูกทำให้สูญหาย–เสียชีวิต แต่กระนั้น สิ่งที่เราสามารถสัมผัสได้ในบทสัมภาษณ์ของแต่ละคนคือความหวัง พวกเขาเหล่านั้นยังคงมีความหวังและยังคงต่อสู้บนถนนสายประชาธิปไตย
ขออนุญาตยกสองเรื่องราวมาให้ได้อ่าน
7 ปีที่ถูกคุมขังและการยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐาน
สมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2011 ด้วยข้อหามาตรา 112 ในระหว่างที่เขาเคลื่อนไหวรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 เขาถูกจำกัดอิสรภาพ 7 ปี ในเรือนจำ
ilaw ระบุว่าตั้งแต่ถูกคุมขัง สมยศเคยยื่นประกันตัวระหว่างต่อสู้ 16 ครั้ง เคยวางเงินประกันสูงสุด 4,762,000 บาท แต่ศาลปฏิเสธการให้ประกันตัวทุกครั้ง ความหวังต่อกระบวนการยุติธรรมของเขาเริ่มริบหรี่
ระหว่างถูกคุมขัง ถูกตีตรวนเป็นครั้งแรก สิ่งที่ตามมาคือแผลอักเสบที่หน้าขาข้อเท้าเนื่องจากตรวนเป็นสนิม สมยศเล่าว่าขาของเขาทั้งสองข้างเน่าอยู่ถึง 3-4 เดือน บวมจนเดินไม่ได้ เนื่องจากการเป็นแผลอักเสบในคุกนั้นยาแก้อักเสบเป็นสิ่งที่หายาก ได้แต่คิดเข้าข้างตัวเองว่าแผลนั้นคงหายไปเองตามธรรมชาติ
เมื่อคดีอาญายังไม่ถึงที่สุด ศาลยังไม่ตัดสินว่าผิด เขาควรถูกปฏิบัติในฐานะผู้บริสุทธิ์มิใช่ผู้ต้องขัง แต่ในความจริงคือ เขากินอยู่ในแบบผู้ต้องขัง และสิทธิก็ด้อยกว่าผู้ต้องขังคนอื่นๆ บางคดีโทษประหารชีวิตแต่กลับได้ประกันตัว แต่เขาไม่ได้ ทั้งความเจ็บป่วยและการไม่ได้รับสิทธิประกันตัวตามรัฐธรรมนูญ สมยศสิ้นหวังและคิดจะจบชีวิตตัวเอง
“เวลาใครสิ้นชีวิตในคุก เขาจะประกาศปล่อยตัว ผมคิดว่าถ้าเขาประกาศปล่อยตัว นช.สมยศ พฤกษาเกษมสุข ป่อเต็กตึ๊งก็จะเข้าไปรับศพออกมา ผมก็จะมีอิสรภาพ”
กลางดึกคืนนั้นเขาตัดสินใจแขวนคอตัวเองด้วยผ้าขาวม้า แต่มีเพื่อนนักโทษมาเห็นเสียก่อน เขาจบชีวิตตัวเองไม่สำเร็จ และเพราะด้วยกำลังใจจากครอบครัวและมิตรสหาย เขาไม่คิดจะฆ่าตัวตายซ้ำอีก
สมยศเล่าถึงคุณป้านิรนามที่เดินทางไปเยี่ยมเขาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงปีแรกๆ ที่เขาติดคุก
ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน คุณป้านิรนามมาเข้าเยี่ยม พูดกับเขาผ่านลูกกรง ป้าแก่แล้วสุขภาพไม่แข็งแรง ไม่รู้จะตายเมื่อไหร่ ป้าไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่เป็นห่วงนักต่อสู้
“แกควักเงินจากกระเป๋ามาหนึ่งร้อยบาทแล้วฝากให้ญาติที่อยู่ด้วยกันส่งให้ผม ป้าบอกว่าแกช่วยได้แค่นี้ แล้วแกก็หายไปเลย นี่คือประชาชนที่ห่วงใยผมโดยที่ผมไม่รู้จัก”
“ผมพบว่าถ้าอยู่ในคุกแล้วยังมีคนต่อสู้อยู่ข้างนอกด้วย ผมจะไม่ท้อ แม้มีสักหนึ่งคนที่ร่วมสู้ ก็ต้องสู้กันต่อไป”
หลังจากได้รับอิสรภาพวันแรก สมยศได้รับคำเตือนด้วยความหวังจากผู้ใหญ่ที่นับถือ ไม่อยากให้เขาพบอันตราย ขออย่าให้เขาพูดเรื่องการเมือง เขาน้อมรับความห่วงใย แต่ยังคงออกมาต่อสู้ ด้วยเชื่อว่ามันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ต้องรักษาไว้ เสรีภาพในการคิด พูด เขียน
“ผมได้สู้แล้ว แม้ผลลัพธ์จะออกมาเป็นความทุกข์ทรมาน แต่พื้นฐานความเป็นมนุษย์ผมยังรักษาไว้ได้”
การลงทุนด้วยชีวิตและงานที่ยังทำไม่เสร็จ
ผุสดี งามขำ
ด้วยความคิดที่ว่า–ตายก็ตายวะ แต่ให้อยู่อย่างเผด็จการเราไม่อยู่ เราขอเลือกเป็นประชาธิปไตย
19 พฤษภาคม 2010 ทหารพร้อมอาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง
หน้าเวทีสี่แยกราชประสงค์ ผุสดี งามขำ อดีตพยาบาลวัยเกษียณ เธออยู่ตรงนั้น นั่งรอให้พวกเขามาสลาย นี่คือที่มาของภาพจำ ‘เสื้อแดงคนสุดท้าย’
“จริงๆ ที่นั่งอยู่วันนั้นไม่มีความเกลียดอะไรใครนะ สู้แพ้ก็จบ ตายก็ตาย มีนักข่าวมาสัมภาษณ์ เราบอกทางบ้านก่อนแล้วว่าถ้าเราไม่ได้กลับให้เขาแทงศูนย์ได้เลย ทำบุญให้หรือยังไงก็ได้ ไม่ต้องมานั่งโศกเศร้าตามหา”
บทสัมภาษณ์ถามย้อนกลับไปเหตุการณ์สะเทือนใจเดือนเมษาฯ พฤษภาฯ 2010 ศพลำเลียงผ่านหน้าไป ที่ยังไม่เป็นศพก็ถูกยิงเลือดอาบ การได้เห็นพี่น้องเพื่อนร่วมอุดมการณ์บาดเจ็บล้มตายนั้นเป็นความเจ็บปวดอยู่แล้ว และยิ่งบีบหัวใจเมื่อได้อ่านประโยคถัดมา
“แต่ที่เจ็บปวดสุดท้าย คือวันที่เขาปราบเราเสร็จแล้ว เขามาล้างเลือด ล้างหลักฐาน ทุกคนช่วยกันทำลายหลักฐาน มีความสุขที่ได้ช่วยกันทำลายหลักฐาน”
จากใบอนุญาตให้ฆ่าในวันนั้น สู่การได้เห็นคนรุ่นใหม่ออกมาขอโทษคนเสื้อแดงที่เคยเข้าใจผิด เธอภูมิใจและดีใจที่ได้เห็นคนรุ่นใหม่ยังต่อสู้
“สิ่งที่คนเสื้อแดงทำไว้ในอดีตคือเรียกร้องว่าอำนาจเป็นของประชาชน ความยุติธรรมต้องกลับมา ประชาธิปไตยต้องไปต่อ”
แม้หัวใจจะมีบาดแผล เธอยังยืนหยัดเคียงข้างกับคนรุ่นใหม่ ถามว่าการเมืองไทยแย่ลงกว่าเดิมไหม เธอไม่ได้คิดว่าดีขึ้นหรือแย่ลง แต่มันเป็นงานที่ยังทำไม่เสร็จ
“ทุกคนมีหนึ่งชีวิต ลงทุนด้วยกัน เพื่อนเราก็ลงทุนชีวิตไปแล้ว ลงทุนชีวิตแล้วชีวิตเล่าก็ยังไม่ชนะ เรายังมีชีวิต ในเมื่อมันยังไม่ถึงที่สุดก็ต้องอยู่ให้มันจบ ใช่มั้ย”
ปิดท้ายบทสัมภาษณ์ ในสายธารประชาธิปไตย ยังไม่มีตอนจบบริบูรณ์
“สังคมมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ประชาชนเองก็ต้องสู้ต่อไป เอาสิ่งที่ดีที่สุดมาให้ชีวิตตัวเอง ไม่มีอะไรมาหล่นมาจากสวรรค์หรอก”
เรื่องราวทั้งสองที่ได้หยิบสรุปมาเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของ ‘ฤดูกาลประชาชน’ ยังมีอีกหลายเรื่องราวของหลายบุคคลที่ ธิติ มีแต้ม ได้บันทึกไว้ในเล่มนี้ ยังมีอีกหลายประกายความหวังรอการค้นพบอยู่ในเล่ม
ในบทสัมภาษณ์ที่บันทึกการสนทนากับ พุทธินาถ พหลพลหยุหเสนา ลูกทหารนักอภิวัฒน์ ใจความวรรคหนึ่งเปรียบเปรยประชาธิปไตยเป็นต้นไม้ ต้นไม้ต้นหนึ่งที่คณะราษฎรเสี่ยงเอาคอขึ้นเขียงนำมาปลูกในประเทศไทย
“ต้นไม้ประชาธิปไตยที่คณะราษฎรนำมาปลูกในประเทศไทยนี้ แล้วมอบให้ประชาชนเป็นเจ้าของ ตั้งชื่อว่า ‘ประชาธิปไตย’ มันก็ต้องเติบโตไป แม้ว่ามันถูกลิดกิ่ง แต่ไม่มีอะไรมาหยุดการเจริญเติบโตของมันได้ และเมื่อถึงวันนั้น ความสิ้นสุดของสิ่งเก่าๆ มันก็ต้องมาถึง ต้องเป็นไปตามสภาพ”
อ่านจนจบเล่ม ปิดหนังสือวางลงและลองหลับตา คุณเห็นภาพต้นไม้ประชาธิปไตยที่กำลังเติบโตไหม.
เรื่องและภาพ กชญ.
หมายเหตุ : ‘ฤดูกาลประชาชน’ จัดพิมพ์เพื่อสนับสนุนทุนให้มูลนิธิสิทธิอิสรา (Siddhi-Issara Foundation) ผู้ดูแลกองทุนราษฎรประสงค์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2022 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยการจัดหาและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในการเข้าถึงและได้รับการปฏิบัติโดยเสมอภาคตามสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และเผยแพร่การศึกษาทางวิชาการการสร้างสรรค์ทางศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงการวิจัยและรวบรวมคลังวัตถุดิบทางประวัติศาสตร์ในประเด็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน