the book nandialogue
the book

อ่าน ‘The Great Remake สู่โลกใหม่’ อ่านเพื่อรู้ว่าเราจะไปต่อกันอย่างไร

หนังสือแปล เป็นหนังสือที่ทำยอดขายได้ดีในรอบหลายปีที่ผ่านมา

 

หนังสือแปลขายดีเหล่านี้ มีทั้งที่เป็น Fiction และ Non Fiction ซึ่งในรายละเอียดยังพอแยกย่อยได้อีกหลายแนว การที่มีสำนักพิมพ์หลากหลาย เช่น Bookscape, SALT, WE LEARN, OMG BOOK, Library House, Lighthouse Publishing, กำมะหยี่, บทจร ฯลฯ เลือกงานมาแปลในแนวที่ต่างกันไป คือสิ่งยืนยันความจริงข้อนี้

ในแง่ดี การที่หนังสือแปลขายดีแสดงว่านักอ่านของเราสนใจเรื่องที่ทันสมัย ก้าวทันโลก ไม่นับว่าเมื่อหนังสือที่นำมาแปลขายได้ยังทำให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์โดยรวมขยายตัว เพียงแต่อีกด้าน ก็มีแง่มุมชวนคิดอยู่บ้าง

 

นักเขียนคนหนึ่งซึ่งมีอีกบทบาทเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์เคยเผยทัศนะขึ้นที่ร้านหนังสือเดินทางว่า “เมื่อหนังสือแปลขายดี นักเขียนไทยก็ลำบากหน่อย เพราะเท่ากับว่างานของคุณต้องแข่งกับงานของคนทั้งโลก”

เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ในการแข่งขันที่ว่า งานแนว Fiction อาจไม่กระทบมากเพราะเรื่องเล่าที่มีน้ำเสียงเฉพาะของท้องถิ่นยังพอไปได้อยู่ แต่งานแนว Non Fiction ที่ทันโลกทันเหตุการณ์ดูจะลำบาก”

ฟังความคิดของเขาจบ กวาดตามองหนังสือที่อยู่ในร้านแล้วก็พบว่าจริง

จริงครับ หลายปีมาแล้ว หนังสือขายดีที่ร้านหนังสือเดินทางส่วนใหญ่ก็เป็น Non Fiction จากนักเขียนต่างชาติอย่างที่บอก

 

ทั้งนี้ เคยมีนักอ่านถามไถ่เหมือนกัน ถามว่า

“มีบ้างไหมนักเขียนไทยที่เขียนงาน Non Fiction ได้ดี ดีในลักษณะที่ไม่ได้แค่เอาข้อมูลมาย่อยแล้วเล่าต่อ แต่เขียนจากการได้ศึกษา ปฏิบัติงาน จากนั้นก็กลั่นประสบการณ์ออกมาจนเห็นภาพ ทั้งภาพใหญ่และภาพย่อย อ่านแล้วรู้ว่าโลกกำลังเจออะไร และเราแต่ละคนจะไปต่ออย่างไร”

คำตอบคือ ก่อนนี้ไม่น่าจะมีมาก แต่ตอนนี้เริ่มมีมากขึ้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลงานของหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มว่าหลายคนน่าจะกลายเป็นกำลังหลักของสังคม

 

the book nandialogue

 

หลายวันก่อน ได้อ่าน The Great Remake สู่โลกใหม่ ซึ่งเขียนโดย สันติธาร เสถียรไทย อ่านแล้วรู้สึกว่านี่เป็นหนึ่งในหนังสือที่มีคุณสมบัติดังกล่าว

จากคำแนะนำที่อยู่ท้ายหนังสือ ผู้เขียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์หนุ่มซึ่งจบปริญญาเอกด้านนโยบายสาธารณะมาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และจบปริญญาตรีและโทด้านเศรษฐศาสตร์จาก London School of Economics and Political Sciences (LSE)

ปัจจุบันผู้เขียนเป็นผู้บริหารของบริษัทแพลตฟอร์มดิจิทัลหลายแห่ง ทั้งเคยทำงานที่ธนาคาร Credit Suisse (เครดิตสวิส) ทำงานที่กระทรวงการคลังของไทย ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลสิงคโปร์ให้เป็นคณะกรรมการ Digital Readiness Council ดูแลเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลของประเทศ ได้รับการคัดเลือกจาก Asia Society ให้เป็น Asia 21 Young Leaders ประจำปี 2017 ได้รับเชิญจาก World Economic Forum ให้เป็นสมาชิกกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำที่มาช่วยออกแบบอนาคตเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19 ฯลฯ

 

ประสบการณ์จากหลายสนามและร่วมสมัยเหล่านี้ของเขาล้วนปรากฏอยู่ในหนังสือ และทำให้เราได้เห็นหลายวิธีในการรับมือกับปัญหา ได้ยินแม้กระทั่งว่าหลังจากที่นักเศรษฐศาสตร์มาประชุมกัน เขาสรุปกันว่าอย่างไร

หนังสือ The Great Remake สู่โลกใหม่ มีคำโปรยบนปกว่า ‘อ่านอดีต เข้าใจปัจจุบัน ร่วมกันเขียนอนาคตให้ยุคหลังโควิด’ ซึ่งคำว่าอนาคตหลังโควิดนี่แหละที่สะกิดให้อยากอ่าน

แน่นอน แม้ไม่รู้ว่าจะผ่านพ้นมันไปได้เมื่อไหร่ แต่ลึกๆ เราก็อยากรู้ใช่ไหมว่า หากอยากพ้นมันไปโดยไว เราทำอะไรได้อีก และหากผ่านไปได้มีอะไรรออยู่ข้างหน้า ซึ่งหนังสือก็ให้คำตอบเราถึงสิ่งเหล่านี้

 

เนื้อหาหลักของหนังสือแบ่งเป็น 4 ส่วน 1. ชวนทำความเข้าใจคลื่นของความเปลี่ยนแปลง ที่นอกจากโควิดแล้วยังมีหลายปัจจัยที่เร่งไปสู่ยุค New Normal 2. พินิจสิ่งที่เราต้องทำอย่างเร่งด่วนเพื่อผ่าวิกฤติ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ 3. ชวนจินตนาการถึงยุทธศาสตร์แห่งอนาคตทั้งระดับองค์กรและประเทศว่ามีอะไรบ้างที่เราต้องปรับ และ 4. แล้วเราจะเตรียมคน เตรียมทักษะและการเรียนรู้อย่างไรเพื่อให้ก้าวต่อไปได้อย่างแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ ใจความหลักที่อ่านจบแล้วยังจำขึ้นใจคือ เมื่อโควิดผ่านไป หลายประเทศจะมีหนี้ก้อนใหญ่รออยู่ และการลงทุนจะซึมยาว

 

การเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลงไปหลายปี เพราะภาวะหนี้สูงในช่วงรายได้ตกทำให้ธุรกิจไม่น้อยจากไปถาวร หากไม่ได้รับการเยียวยาที่ดีจากรัฐอาจเกิดสภาวะ ‘แผลเป็น’ ที่ธุรกิจซึ่งออกนอกระบบไปแล้วไม่สามารถกลับมาเริ่มใหม่ได้ง่ายๆ เหมือนนักกีฬาที่เจ็บหนักไปแล้วไม่สามารถวิ่งได้เร็วเหมือนเดิม

ในการแก้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยผู้เขียนได้เสนอไว้หลายวิธี แต่หนึ่งวิธีที่น่าสนใจคือการใช้แพลตฟอร์มโมเดล
ทั้งนี้ แพลตฟอร์มที่ดีต้องเริ่มที่ลูกค้าไม่ใช่กติกา ซึ่งผู้เขียนเสนอไว้อย่างน่าสนใจว่า ทุกคำถามต้องเริ่มจากความต้องการของลูกค้า ปรับตัวให้เข้ากับลูกค้า ไม่ใช่ปรับลูกค้าให้เข้าหาสิ่งที่เรามี แนวคิดนี้เมื่อภาครัฐเอาไปใช้ แทนที่จะเริ่มจากคำถามว่า ‘กฎหมายหรือระเบียบให้ทำได้หรือไม่’ ต้องเปลี่ยนเป็น “ต้องทำอย่างไรจึงจะช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชนได้มากที่สุด”

และเมื่อเอามาใช้กับภาคเอกชน วิธีหนึ่งที่จะไปให้รอดคือการตอบให้ได้ว่า “เราจะเป็นอะไรให้ลูกค้า” เนื่องจากโควิดได้กลายเป็นยุคของการ “ทดสอบความจำเป็นครั้งยิ่งใหญ่” ไปแล้ว

 

the book nandialogue

 

อีกหนึ่งทักษะที่ทุกคนต้องมีหลังจากนี้คือการล้มแล้วต้องลุก

ล้มแล้วลุก ล้มแล้วลุก ล้มแล้วต้องลุกใหม่ให้ได้ และอย่าได้ถือความล้มเหลวเป็นตราบาปของชีวิตเป็นอันขาด มีโอกาสลองหาหนังสือมาอ่านอย่างละเอียดดูครับ อ่านแล้วคล้ายได้เจอจิ๊กซอว์ตัวที่ขาดหาย

เหตุเพราะสมมติว่าเราผ่านโควิดไปได้ เราจะเจอกับอะไรอีก เอาเข้าจริงยังไม่มีหน่วยงานใดสามารถบอกได้อย่างชัดเจน

 

สภาพก็เห็นๆ เราไม่สามารถฝากความหวังไว้กับคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้มากนัก อย่าว่าแต่คำอธิบายถึงสิ่งที่จะตามมาหลังโรคระบาด แค่การอธิบายสถานการณ์ตอนนี้ให้ชัด ครบถ้วน คล้ายจะยังเป็นไปไม่ได้

สำหรับหนังสือเล่มนี้ แม้ผู้เขียนบอกว่าหนังสือของเขาไม่ใช่แผนที่ให้เดินตาม ไม่ได้มุ่งเสนอคำตอบเดียวที่ใช้ได้ตลอดไป

แต่มันก็ช่วยอุดรอยรั่วขนาดใหญ่ให้แคบลง.

 

nandialogue

เรื่อง: หนุ่ม หนังสือเดินทาง

You may also like...