วัดความฮิตความป๊อป วรรคทองของ วิสา คัญทัพ ที่บอกว่า–
‘เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน’ ฮิตกว่าป๊อปกว่าบทกวีของ วัฒน์ วรรลยางกูร
จนถึงทุกวันนี้ ล่วงผ่านกาลเวลามาสี่สิบกว่าปี ถ้อยคำอันงดงามนี้ยังกระหึ่มกึกก้องท้องถนน สี่สิบกว่าปี นอกจากไม่มีทีท่าว่าจะเลือนละลาย ถ้อยทัศนะนี้ยังฝังลึกกลางใจผู้ฝักใฝ่เสรีภาพ ประชาธิปไตย
เทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ ดูเหมือนเราจะนึกไม่ออกเลยด้วยซ้ำ ว่าบทกวีวรรคไหน บรรทัดใดของวัฒน์ที่ซาบซึ้งตราตรึงอยู่ในใจมหาชน
อาจจะไม่มี
แต่ใครจะกล้าพูดว่า วิสา คัญทัพ มีความหมายหรือยิ่งใหญ่กว่า วัฒน์ วรรลยางกูร
ภาพ: วรพจน์ พันธุ์พงศ์
สำหรับผม สิ่งที่พูดได้คือ ทั้งคู่เป็นยักษ์ใหญ่แห่งวรรณกรรมไทย วิสามีหมัดเด็ดหมัดหนักที่กระแทกเข้าจุดโฟกัส วัฒน์เป็นมวยอาวุธครบ เชี่ยวชาญทั้งไฟเตอร์และบ็อกเซอร์ ที่โดดเด่นเห็นชัดคือความต่อเนื่อง เอาจริงเอาจัง เป็นมวยแกร่งกระดูกเหล็กที่ ‘ยืนระยะ’ มากว่าสี่ทศวรรษ
คำว่า ‘ยืนระยะ’ อยู่ตรงกันข้ามกับคำว่า ‘มาพักผ่อนตากอากาศ’
คำว่า ‘ยืนระยะ’ หมายความว่าเลือกอะไรแล้ว เชื่ออะไรแล้ว ทุ่มถวายทั้งชีวิต
หลักฐานก็นี่ไง หนังสือ–กวีปราบกบฏ รวมบทกวีการเมือง ตั้งแต่ปี 1972-2014
ปี 1972 อธิบายบางสิ่งบางอย่างว่าตอนผมอายุสองขวบ วันวัยที่ยังไม่รู้ ก ไก่ ก กา นักเขียนหนุ่มนาม วัฒน์ วรรลยางกูร เริ่มป่ายปีนสู่ถนนหนังสือแล้ว
ผมรู้จักชื่อเขาจากนวนิยาย ‘บนเส้นลวด’ ก่อนขยับขยายสู่ ด้วยรักแห่งอุดมการณ์, ตำบลช่อมะกอก, คือรักและหวัง ฯลฯ
ราวปี 2011-2012 ช่วงเดินสายรณรงค์เรื่องแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เคยถือวิสาสะนำบทกวีชิ้นหนึ่งของเขาขึ้นไปอ่านบนเวทีหน้าโรงละครแห่งชาติ อ่านเพื่อรำลึกสืบสาน คารวะ ก่อนจะอ่านงานของตัวเอง
งานชิ้นนั้นชื่อ ‘หนุ่มบางพูด’ วัฒน์เขียนตั้งแต่ปี 1979 ภายหลังถูกนำมารวมไว้ใน ‘กวีปราบกบฏ’ เล่มนี้ด้วย
ใครหลายคนคงไม่ได้อยู่ร่วมเวทีวันนั้น ผมจะอ่านให้ฟังอีกครั้ง
แผนเป็นราษฎรธรรมดา มีหูมีตามีปากไว้พูด
แผนเกิดมาเป็นชาวนา ทำไร่ไถนาอยู่บ้านบางพูด
เป็ดในคลองมันร้องก๊าบก๊าบ ทำปากงาบงาบ ไม่รู้จักพูด
หมาใต้ถุนเฝ้าเห่าหอยโข่ง เสียงดังโฮ่งโฮ่ง ไม่รู้จักพูด
ไอ้ทุยร้องอั๊วะอั๊วะแอ๊ะแอ๊ะ ทำจมูกแบะแบะ ไม่รู้จักพูด
ไอ้โต้งมันโก่งคอขัน เอ้กอี๋เอ้กขัน ไม่รู้จักพูด
นกหนูปูปลาในบ่อ ปลาทูในหม้อ ไม่รู้จักพูด
จะมีก็แต่คนเรา บ่ายเย็นค่ำเช้า พูดพูดพูดพูด
คนเรานั้นต้องทำงาน ต้องเรียนรู้งาน จึงต้องรู้พูด
นับวันคนเราก้าวหน้า เปรื่องปราดขึ้นมารู้คิดรู้พูด
ไอ้แผนมันแสนดีใจ ไม่เป็นคนใบ้มีปากไว้พูด
ทำนาตามประสาคน อดอยากยากจนอย่างคนบางพูด
ไอ้แผนก็พูดพูดไป พูดตามที่ใจมันอยากจะพูด
พูดถึงดินฟ้าอากาศ ทิดผินทิดผาดมาร่วมวงพูด
พูดถึงข้าวปลานาหนอง ช่อทิพย์รวงทองมากมายเรื่องพูด
พูดถึงเรื่องบุญเรื่องกรรม เรื่องศีลเรื่องธรรมทั้งพร่ำเรื่องพูด
พูดถึงความจริงที่เห็น ผู้คนลำเค็ญถูกรีดถูกขูด
พูดถึงความจนความยาก ทำนาตรำตากหน้าเบี้ยวหน้าบูด
พูดจาประสาไอ้แผน บางทีมันแค้นฟาดไม่มีหูรูด
พูดจาประสาชาวบ้าน บางทีรำคาญก็ไม่อยากพูด
มันพูดอย่างคนบางพูด มันอยู่อย่างคนบางพูด
เช้าวันหนึ่งไอ้แผนตื่นมา แทบเป็นบ้า ไม่ได้ยินใครพูด
ทิดผินทิดผาดเงียบกริบ ป้าทองหยอดทองหยิบก็ไม่พูด
มีแต่เสียงหนอนร้องไห้ มดเหงาเศร้าใจ หมูครางอู๊ดอู๊ด
เมฆหมองฟ้าหม่นไหม้ ธรณีร่ำไห้ โอ้แผ่นดินบางพูด
แผนได้รู้ว่ามีกฎหมาย พิลึกเหลือใจ ห้ามคนพูด
ไอ้แผนมันแปลกใจ ทำมั้ยทำไม ต้องห้ามพูด
ปากคนไม่ใช่ปากหมา ต้องบ่นต้องด่าต้องพร่ำต้องพูด
ถ้าปล่อยอย่างนี้ต่อไป เห็นทีจะไม่ใช่บ้านบางพูด
คนเราจะกลายเป็นสัตว์ รู้จักขบกัด ไม่รู้จักพูด
หนุ่มบางพูดจึงลุกขึ้นพูด เดินก็พูด ชวนคนพูด
ไปถามถึงบ้านกำนัน ว่าเหตุใดกันถึงห้ามคนพูด
กำนันแกนึกแปลกใจ ว่าเอ๊ะทำไม ไอ้นี่กล้าพูด
คนอื่นไม่มีใครกล้า ไอ้นี่คงบ้าสมองเบี้ยวบูด
จึงจับมัดติดต้นเสา มัดปากค่ำเช้า โทษฐานชอบพูด
โทษฐานชอบพูด
โทษฐานชอบพูด
ไม้หนึ่ง ก.กุนที มาสารภาพกับผมในภายหลังว่าเขาร่ำไห้ ขณะนั่งฟังถ่ายทอดสดอยู่นอกราชอาณาจักร
‘กวีเจ้าน้ำตาแห่งอุษาคเนย์’ คือคำที่เขาใช้อำตัวเอง
ก่อนฆ่าเสื้อแดงในปี 2010 ไม้หนึ่งเคยชวนผมหลายครั้ง ให้ไปขึ้นเวที-ร่วมอ่านบทกวี ชวนทั้งในยามพบหน้าและบ่อยครั้งโทรฯ มาโอ้โลมโน้มน้าว ผลตอบรับคือความว่างเปล่า พอเลือดนองท่วมท้องถนนแล้ว ครั้นเขาไม่อยู่ในประเทศแล้ว คล้ายเพื่อนฝูงพี่น้องเพิ่งฟื้นตื่น ตาสว่าง เห็นความพิกลพิการและสองมาตรฐานในสังคมไทย
แล้วนี่ก็อีกเช่นกัน
ตั้งแต่หลังรัฐประหาร พฤษภาคม 2014 เจ้าของบทกวี ‘หนุ่มบางพูด’ ก็อยู่ในวันเวลาเร่ร่อน นอกราชอาณาจักรคนใจดำ
ถามว่า วัฒน์ไปเข่นฆ่าหรือก่ออาชญากรรมใดร้ายแรงหรือเปล่า
ถามว่า วัฒน์มีกองกำลัง เป็นเจ้าของคลังแสงอยู่ที่ตำบลท่าเสาหรือเปล่า
ฝ่ายรัฐกษัตริย์นิยมก็รู้ เหมือนที่เรารู้ ว่าเขาเพียงพูด
เขาเพียงกระทำความปกติในฐานะมนุษย์
เขาไม่ใช่เป็ดไก่ ไม่ใช่หมูหมา เขาเป็นสามัญชนเฉกเช่นไอ้แผนแห่งบ้านบางพูด–คนเรานั้นต้องทำงาน ต้องเรียนรู้งานจึงต้องรู้พูด นับวันคนเราก้าวหน้า เปรื่องปราดขึ้นมา รู้คิดรู้พูด
และประเทศไทยใต้กลไกรัฐประหารก็เหมือนบ้านบางพูดนั่นแหละ ที่มีกฎหมายห้ามพูด
ห้ามแล้วไม่ฟังก็จับติดคุก สั่งให้รักแล้วไม่รักก็ติดคุก
ความเถื่อนถ่อยเดิมๆ ที่ดันทุรังผลิตซ้ำๆ
ความฮิตความป๊อปเป็นรางวัลชนิดหนึ่ง
ทำงานศิลปะ ทำงานสร้างสรรค์ค้นคิดแล้วฮิตติดใจผู้คน ไหนเลยจึงไม่ใช่เรื่องน่านิยมยินดี
ทว่าความป๊อปก็ไม่ใช่คำตอบเดียว เนื้อหาต่างหาก ความเข้มข้นแข็งแรงของชิ้นงานต่างหาก ชั้นเชิง แนวคิดหรือทิศทางที่เลือกอยู่เลือกยืนต่างหาก ที่ชี้วัดคุณค่าผลงาน
แง่นี้ ‘กวีปราบกบฏ’ ยืนเด่นท้าทายให้พิสูจน์
มองนักเขียนมองกวีให้มองเวลาที่เขาพูด เขาเล่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้วงยามที่สมควรพูด สมควรลุกจากถิ่นถ้ำเรือนชานออกมาแสดงความคิดเห็น เวลาหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ เขาพูดหรือเขาเงียบ
กระทั่งสาระที่สื่อสาร เขาเลือกเขียนอ่านสิ่งใด เหลวไหล ตลกแดก หรือปอดแหก เงียบกริบ
ไม่ว่าขาเล็กขาใหญ่ มีเหรียญตราพระทองคำห้อยคอหรือไร้แม้มงกุฎดอกหญ้าเครื่องประดับ เวลามองนักเขียนมองกวี เราต้องมองว่าเขาเป็นมิตร คิดด้วยหลักสามัญเหมือนไอ้แผน หรือมุดอยู่ใต้ผ้าขะม้าลุงกำนัน
เขาเชื่อในมนุษย์ หรือเชื่อในวิถีสัตว์เชื่อง หมอบคลานอยู่ในคอกระบอบอุปถัมภ์
งานของนักเขียนกวีอยู่ในพื้นที่แจ้ง หลอกลวงกันไม่ได้ ประกายแสงแห่งเกียรติยศรางวัลเก่าแก่กลบไม่มิด
‘ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่คนพูดความจริงตายมานักต่อนักแล้ว’ เราได้ยินคำพูดแบบนี้เสมอ ถามว่าเป็นคำพูดเพ้อเจ้อหรือเปล่า คำตอบคือไม่เพ้อเจ้อแน่นอน ข้อความนี้มีสัจจะอยู่มาก สัจจะพื้นฐานที่เราท่านต่างก็รู้ ว่าการพูดย่อมไม่ได้มีเพียงข้อดี
แม้กระนั้นการยืนยันที่จะพูดก็เป็นสิ่งจำเป็น พูดคุยไม่ใช่เข่นฆ่า พูดไม่ใช่หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย
ไอ้แผนมันยังยึดคติ free speech ตามหลักสากล
เป็นนักเขียน เป็นกวี ถ้าไม่ยืนยันเสรีภาพการพูดการเขียน โดยเฉพาะการพูดการเขียนความจริง เราจะเคารพนับถือกันจากสิ่งใด
ถูก ผิด อ่อน แข็ง เราถกเถียงกันได้ แต่หุบปากหรือหดหัว เอาตัวรอดไปโดยลำพังนี่มันชวนงุงงงสงสัยว่า หัวใจเธอมีหรือเปล่า
กินหน่อไม้หลังตรงเหมือนหน่อไม้
ไม่ต้องยอมค้อมไหล่รับใช้เขา
ให้กินหมูกินไก่ก็ไม่เอา
หากต้องเฝ้าหมอบราบกราบคนพาล
ชิ้นนี้ตัดตอนจากบทที่ชื่อ ‘หน่อไม้ที่รัก’ วัฒน์เขียนตั้งแต่ปี 1978 เขาเคยอธิบายเสริมตัวบทว่า–ผมไม่ใช่คนเย่อหยิ่งไร้เหตุผล กับคนดี น่าเคารพ ผมกราบได้ แต่ถ้าเป็นคนพาล เที่ยวระรานประชาชนด้วยการรัฐประหาร เข่นฆ่าล่าสังหารกลางเมือง ไม่เคารพ
เป็นงานในวัยหนุ่มซึ่งผมคิดว่าอธิบายตัวตน วัฒน์ วรรลยางกูร ได้ถ่องแท้
เขาคิดแบบนี้ เชื่อแบบนี้ ตั้งแต่หนุ่มน้อยจนหนุ่มใหญ่ ยันเริ่มต้นวัยชรา
การกระทำและกาลเวลาประจักษ์แล้วว่าบุรุษผู้นี้ไม่มีพลิกลิ้นเปลี่ยนแปลง มีแต่มั่นคงลงลึก
เดือดร้อนพลัดพรากหรือเสี่ยงภัยแค่ไหนก็ยอม แต่จะให้คลานเข่าเป็นฝุ่นใต้ตีน เสรีชนอย่างเขาฝืนทนยอมรับมิได้
ตราบเท่าที่ยังมีชีวิต ก็ขอต่อสู้ด้วยความคิด ด้วยงานเขียนสร้างสรรค์
“การปราบกบฏของกวีไม่ใช่การใช้ปืนยิง กวีปราบกบฏในหัวใจ ในหัวสมอง ใช้พลังแห่งเหตุผล พลังวรรณศิลป์ พลังนามธรรม เข้าไปยึดพื้นที่ในใจคน หรือไม่ก็เข้าไปบำรุงพลังใจผู้คน
“สำหรับกวี ทำหน้าที่เขียนเป็นปากเสียงแห่งหัวใจตนเอง ซึ่งบังเอิญสามารถเป็นปากเสียงแห่งหัวใจเพื่อนร่วมทางได้ด้วย เพราะกวีการเมืองมิได้เดินโดดเดี่ยว กวีการเมืองมีเพื่อนมีสหายใฝ่ฝันร่วมทาง
คนเรามีเวลาอยู่บนโลกไม่นานนัก เผลอหน่อยเดียว ดวงตะวันก็เคลื่อนคล้อยลงทางทิศตะวันตก การหลีกหนีความจริงจึงเป็นเรื่องเสียเวลา สำหรับกวีการเมือง”
วัฒน์ วรรลยางกูร เขียนไว้ในคำนำ ระบุเดือนปีที่เขียนไว้ว่า กุมภาพันธ์ 2014
แปลว่าตอนนั้น ไม้หนึ่ง ก.กุนที ยังไม่ถูกลอบสังหาร ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวก ยังไม่ทำรัฐประหาร และแน่นอนว่าวัฒน์ยังไม่ลี้ภัย
นอกจากบทกวีที่ไล่เรียงบันทึกทุกอุณหภูมิของสังคมไทยตลอดระยะเวลาสี่สิบกว่าปี กวีปราบกบฏ ใส่บทปาฐกถาสำคัญๆ ของวัฒน์ไว้หลายชิ้น บวกกับทัศนะวิวาทะกับนักเขียนที่มองเห็นแตกต่าง โดยส่วนตัว ผมชอบร้อยแก้วส่วนนี้เป็นพิเศษ มันมีความดิบ และชัดเจน ตรงไปตรงมาดี ได้ทั้งความรู้เชิงประวัติศาสตร์การเมือง และเห็นความเบาหวิวเปล่ากลวง ทว่าใจร้ายของฝ่ายอนุรักษนิยม ทั้งหลายทั้งปวง วัฒน์เสวนาวิวาทะด้วยไมตรีซึ่งชาตินี้ผมคงทำไม่ได้
หนังสือหนา 400 กว่าหน้าเล่มนี้ เลือกใช้งานจิตรกรรมของ วนะ วรรลยางกูร เป็นภาพปก คำอุทิศแด่ สหายรุ่งโรจน์ (อัศนา วรรลยางกูร) และคำนิยมโดย วจนา วรรลยางกูร
นี่คือหนังสือแห่งความรัก หนังสือแห่งครอบครัวประชาชน
“พ่อทำให้เห็นว่าการมีชีวิตอยู่กับอุดมการณ์เป็นอย่างไร นี่ไม่ใช่สิ่งที่รับรู้ได้ผ่านการบอกเล่า แต่รับรู้ได้จากสิ่งที่พ่อทำให้เห็นมาทั้งชีวิตของลูก ผ่านคำชื่นชม ผ่านคำต่อว่านินทา หน้าที่ของครอบครัวคือการอยู่เคียงข้างทุกสถานการณ์ เราสนับสนุนกันด้วยจุดยืนทางความคิด
“จนถึงวันนี้ มีคนจำนวนมากพร้อมที่จะยืนอยู่เคียงข้างกับแนวคิดที่เราเชื่อมั่น บทกวีนี้ไม่ใช่บทบันทึกการต่อสู้ของคนเพียงคนเดียว แต่นี่คือการต่อสู้ของประชาชน”
คำนิยมของ วจนา วรรลยางกูร ผู้เป็นลูกสาว เขียนเมื่อพฤษภาคม 2014 เดือนแห่งรัฐประหาร และกว่าหนังสือเล่มนี้จะตีพิมพ์ก็ล่วงเข้าไปถึงธันวาคม 2014 ท้ายเล่มจึงมีข้อความตีพิมพ์อัปเดตว่า วัฒน์ปฏิเสธอำนาจ คสช. เดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม นั่นเป็นที่มาของหมายจับ โทษฐานไม่ยอมไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ที่ 57/2557
ต่อมา มีคดี ม.112 และอีกหลายคดี อันล้วนแล้วแต่เป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐาน ที่นานาอารยะประเทศเรียกว่าคดีขี้หมูราขี้หมาแห้ง หาใช่เรื่องราวใหญ่โตรุนแรงตามที่รัฐไทยกล่าวหา
กฎหมาย กระบอง แก๊สน้ำตา และกระสุนยางที่พร่ำพูดกันอยู่ตอนนี้ว่า ทำตามหลักสากลก็โคตรหลอกลวง ประเทศแบบไหนกันที่วันๆ จ้องแต่กัดกินดวงตาและตัดแขนขาของตัวเอง
จากวันนั้นถึงวันนี้ วัฒน์ วรรลยางกูร ยังไม่ได้กลับบ้าน
และยังคงสถานะนักเขียนนักต่อสู้ภูธร สไตล์ไอ้แผน
ภูธร ลูกทุ่ง ทว่างดงามตามหลักสากล.
หมายเหตุ : หนังสือเล่มนี้ไม่ได้วางขายแพร่หลายนัก สนใจติดต่อโดยตรงที่เพจ สำนักพิมพ์ลูกสมุน
เรื่อง: วรพจน์ พันธุ์พงศ์