the book nandialogue
the book

ณ ที่ดวงตะวันฉายแสง ‘เรายังต้องสู้รบกันต่อไป’

1.

พวกท่านจะซื้อขายผืนฟ้าได้อย่างไร และความอบอุ่นของผืนแผ่นดินนี้เล่าจะซื้อขายได้หรือ สำหรับพวกเราแล้ว ความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่ประหลาดนัก ในเมื่อพวกเรามิได้เป็นเจ้าของความสดชื่นในอากาศ ทั้งประกายระยิบระยับในสายน้ำก็ไม่ใช่สมบัติของเรา เช่นนี้แล้วท่านจะสามารถซื้อมันได้ด้วยหรือ

 

เมื่อคนขาวอพยพไปถึงอเมริกา และเข้าช่วงชิงทรัพยากรจนชาวอินเดียนพื้นเมืองพ่ายแพ้ย่อยยับ ข้างต้นคือถ้อยคำที่หัวหน้าอินเดียนแห่งซีแอตเติล กล่าวออกมา

“ท่านจะซื้อขายผืนฟ้าได้อย่างไร และความอบอุ่นของผืนแผ่นดินนี้เล่าจะซื้อขายได้หรือ” ถ้อยคำนี้แสดงให้เห็นวิถีที่ต่างกันในการอยู่กับโลก ฝ่ายหนึ่งใช้ธรรมชาติอย่างรู้ค่า ถือว่าธรรมชาติเป็นของทุกคน อีกฝ่ายใช้มันในลักษณะต้นทุนทางเศรษฐกิจ ทุกอย่างสามารถถูกจับจองเป็นเจ้าของ ซื้อขายกันได้ หากซื้อขายไม่ได้ก็ใช้กำลังบังคับเอา เหตุนี้เมื่อฝ่ายหนึ่งถูกบีบต้อนจนสูญทุกอย่าง ทุกคำพูดจึงออกมาจากแก่นแท้ของความรู้สึก

 

the book nandialogue

 

ทว่านี่ไม่ใช่ถ้อยคำเดียวที่ถูกเอ่ยมาจากเบื้องลึกของความรู้สึก

ณ ที่ดวงตะวันฉายแสง ข้าจะไม่สู้รบอีกต่อไป เป็นหนังสือที่พนันกันได้ว่าเมื่ออ่านจบมีโอกาสสูงที่เราทุกคนจะหลั่งน้ำตา

ในบรรดาหนังสือที่ว่าด้วย “Native American” หรือชาวอินเดียนพื้นเมืองของอเมริกานั้น อันที่จริงมีเล่มอื่นที่บอกเล่าเรื่องราวได้ละเอียดกว่านี้ ทว่า “ณ ที่ดวงตะวันฉายแสง ข้าจะไม่สู้รบอีกต่อไป” กลับมีที่ทางที่แตกต่าง หนังสือปูพื้นเหตุการณ์โดยรวมไว้พอประมาณ แต่กลับรวบรวมถ้อยคำหรือสุนทรพจน์ของหัวหน้าเผ่าแต่ละเผ่าซึ่งกล่าวออกมาตอนที่ต้องประกาศยอมแพ้ต่อคนขาวไว้อย่างครบถ้วน

ถ้อยคำเหล่านี้แสนเศร้า ทว่าทรงพลัง อ่านแล้วรู้สึกไปไกลว่าต้องสูญเสียขนาดไหนจึงสามารถกล่าวถ้อยคำเช่นนั้นออกมา

ใช่! ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะเป็นสหรัฐอเมริกา เราอาจรู้ว่าก่อนที่คนขาวจะเข้าไปบนผืนดินนี้เคยมีชาวอินเดียนอาศัยอยู่ เรารู้ว่ามีการสู้รบแล้วอินเดียนพ่ายแพ้ แต่เราเคยรู้จริงๆ ไหมว่า อินเดียนแต่ละเผ่าต้องเจอกับอะไร เมื่อต้องยอมแพ้เพราะความฉ้อฉลของคนขาวพวกเขารู้สึกอย่างไร

ครั้งหนึ่ง ตอนที่หนังสือถูกพิมพ์ออกมาเป็นครั้งแรกๆ เจ้าของร้านหนังสือคนหนึ่งก็เคยผิดพลาดในการประเมินตัวเองว่าพอจะรู้เรื่องราวของชาวอินเดียนอยู่บ้าง เขาจึงไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้เสียที โชคดีที่วันหนึ่ง นักเขียนผู้แปลและเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้เดินเข้าไปในร้าน นักเขียนบอกกับเจ้าของร้านว่า “ณ ที่ดวงตะวันฉายแสง ข้าจะไม่สู้รบอีกต่อไป” ถูกเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งเมื่ออ่านจบนักศึกษาคนหนึ่งถึงกับเดินไปบอกกับอาจารย์ว่า “หนังสือเล่มนี้ทำให้หนูนึกขึ้นได้ว่า ไม่ได้แหงนมองท้องฟ้ามานานแค่ไหนแล้ว?”

คำพูดนั้นทำให้คืนนั้น เจ้าของร้านเอาหนังสือไปอ่านทันที อ่านคืนเดียวรวดเดียวจบ

จากที่เคยคิดว่ารู้จักอินเดียนแดง เขาพบว่าที่รู้ก็แค่ผิวเผิน หนังสือเล่มนี้ทำให้เขาจมดิ่งลงในความคิดความรู้สึกของพี่น้องอินเดียน

“ผืนฟ้า…อากาศที่เราหายใจนั้นซื้อขายกันได้ด้วยหรือ?” ถ้อยคำนี้ทั้งสวยงามและสะเทือนใจเขา สงสารชาวอินเดียน ไม่เข้าใจคนขาว ปั่นป่วน เศร้าจนน้ำไหลออกตา สำคัญกว่านั้นตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เขาก็กลายเป็นอีกคนที่แหงนมองท้องฟ้าอยู่เสมอ ต่อมาเจ้าของร้านได้บันทึกเหตุการณ์นี้ใส่กระดาษแล้วแปะไว้บนปกหนังสือ ซึ่งนั่นทำให้หลายคนซื้อหนังสือเล่มนี้ไปอ่าน

อ่านจบต่างเกิดความรู้สึกไม่ต่าง

 

the book nandialogue

 

2.

คนขาวชอบกินสตูลิ้นวัว พวกเขาใช้ปืนส่องเอาจากตู้รถไฟจนควายไบซันเกือบสูญพันธุ์ ขณะที่ชาวอินเดียน ล่าควายแต่ละครั้งด้วยหอกและธนู ล่าแล้วใช้ประโยชน์จากมันทุกอย่าง เนื้อเป็นอาหาร หนังทำเครื่องนุ่งห่มและกระโจมพัก กระดูกกลายเป็นอาวุธ

 

หลายปีก่อน ตอนที่หนังสือเล่มนี้ได้รับการพิมพ์ซ้ำแล้วมีการจัดเปิดตัวหนังสือ ใครสักคนบนเวทีให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในแผ่นดินอเมริกาไว้แบบนี้ ที่ประหลาดอย่างเหลือเชื่อคือ วิถีของชาวอินเดียนพื้นเมืองและชะตากรรมของพวกเขาสามารถนำไปเทียบเคียงกับเหตุการณ์อีกมากมายบนโลก ทั้งเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้ว และกำลังเกิดขึ้นอยู่ นี่เองที่ไม่ว่าจะอ่านเมื่อไหร่ หนังสือเล่มนี้จึงสะเทือนใจอยู่เสมอ นี่แหละ หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบเราเลยต้องแหงนมองท้องฟ้า และง่ายเหลือเกินที่จะเสียน้ำตาไปกับเขา

พูดอีกแบบ การปฏิบัติต่อโลกด้วยวิถีที่ต่างกันยังคงอยู่ การใช้กลไกทุน กฎหมาย การเมืองที่เหนือกว่าเข้าฉ้อฉลช่วงชิงเอาทรัพยากรจากคนในท้องถิ่นยังไม่จากไปไหน การล่าควายไบซันด้วยหอกและธนูของชาวอินเดียนนั้น นึกๆแล้วไม่ต่างอะไรกับการที่ชนเผ่ามอร์แกนทางฝั่งอันดามันของไทยหาปลาด้วยการดำลงไปแล้วใช้ฉมวกแทง
ในยุคที่ Youtuber มีมากมาย เราหาดูได้ไม่ยาก หนุ่มมอร์แกนคนหนึ่งซึ่งเขาและครอบครัวใช้ชีวิตทั้งหมดอยู่บนเรือเคยพูดด้วยสีหน้าเรียบๆ ผ่านสื่อว่าเหตุที่ไม่ใช้แห อวนในการจับปลา เป็นเพราะเขาไม่จำเป็นต้องจับครั้งละมากๆ ใช้ฉมวกแทงเอาครั้งละตัวสองตัว เลือกเฉพาะที่ตัวใหญ่ๆ นั่นก็พอแล้วในการหาเลี้ยงครอบครัว

ส่วนการที่ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่กับผืนป่าทางตะวันตกมานมนานถูกบังคับให้ทิ้งบ้านทิ้งรากเหง้าแล้วย้ายออกนอกพื้นที่นี่ก็ไม่ต่างจากการที่ชนเผ่าอินเดียนถูกเข่นฆ่า ถูกบังคับให้ต้องหลบหนีละทิ้งถิ่นอาศัยดั้งเดิม เมื่อพ่ายแพ้ต่อคนขาว ชาวอินเดียนที่เหลืออยู่ถูกกำหนดให้อยู่แต่ในเขตสงวน เมื่อวิถีชีวิตดั้งเดิมจากไป ความภูมิใจในชีวิตสูญหาย ปัญหาหลายอย่างจึงตามมา ชีวิตของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ก็น่าเป็นห่วงไม่ต่าง

แล้วการที่จู่ๆมีนิคมอุตสาหกรรมไปโผล่ที่อำเภอติดทะเลทางภาคใต้อีกล่ะ ทั้งที่ห่างกันราว 500 ปี แต่สถานการณ์ที่ อ. จะนะ จ.สงขลา นั้นใกล้เคียงกับสิ่งที่ชาวอินเดียนต้องเจออย่างยิ่ง ชาวบ้านใช้ชีวิตอยู่ดีๆ จู่ๆ ก็มีการกำหนดลงไปว่าที่อยู่ของพวกเขาจะถูกเปลี่ยนเป็นเขตอุตสาหกรรม ไม่มีการไถ่ถามหรือมีส่วนร่วมที่ถูกต้อง คำสัญญาถูกบิดพลิ้วอยู่เสมอจนลูกสาวทะเลบางคนต้องลุกขึ้นมารักษาบ้านของตัวเองซ้ำแล้วซ้ำแล้ว ต้องทำแม้จะต้องชวนแม่ชวนน้องมาตากแดดตากฝนอยู่ริมถนนของเมืองหลวงเพื่อทวงถาม

มีสัญญาฉบับไหนบ้างที่คนขาวปฏิบัติตาม แต่คนอินเดียนไม่ปฏิบัติตาม ไม่มีเลย มีสัญญาฉบับไหนที่คนขาวทำกับเราและปฏิบัติตาม ไม่มีเลย… มันเป็นความผิดด้วยหรือที่ข้ารักแผ่นดินและชนเผ่าของเรา มันเป็นความเลวร้ายของข้าหรือที่มีผิวสีแดง หรือเพราะข้าเป็นซู เพราะว่าข้าเกิดในแผ่นดินที่พ่อข้าอยู่ หรือเป็นเพราะว่าข้ายอมสละชีวิตเพื่อชนเผ่าและประเทศของข้า” นี่คือสิ่งที่ ซิตติง บูลล์ หัวหน้าเผ่าโอกลาลา ซู กล่าวออกมาเพื่อปกป้องดินแดนของตัวเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกันเลย และหากถ้อยประท้วงของซิตติง บูลล์ จะถูกเอ่ยออกมาจากพี่น้องชาวจะนะสักคน ความหมายของถ้อยคำก็เข้มข้น แข็งแรงไม่ต่างกัน

 

the book nandialogue

 

3.

บอกนายพลโฮเวิร์ดเถิดว่าข้ารู้ถึงหัวใจของเขา สิ่งที่บอกข้า ฝังอยู่ในหัวใจของข้ามาก่อน ข้าเหนื่อยที่จะสู้รบต่อไป หัวหน้าของเราถูกฆ่าหมด ลุกกิ้ง กลาสตายแล้ว มันเป็นเรื่องของคนหนุ่มที่จะพูดว่าสู้หรือไม่สู้ คนที่นำคนหนุ่มทั้งหลายตายไป อากาศหนาวเย็น และเราต้องการผ้าห่ม เด็กๆ ของเรากำลังจะหนาวตาย ประชาชนของข้าหนีไปซ่อนตัวในหุบเขา ไม่มีผ้าห่ม ไม่มีอาหาร และไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน บางทีอาจจะหนาวตาย ข้าต้องการเวลาที่จะค้นหาเด็กๆ ของข้า และนับดูว่าเหลือรอดกี่คน บางทีข้าอาจหาพวกเขาเจอท่ามกลางซากศพ จงฟังข้า หัวหน้าทั้งหลายของข้า หัวใจข้าอ่อนล้าและโศกเศร้า ณ ที่ดวงตะวันฉายแสง ข้าจะไม่สู้รบอีกต่อไป

 

นี่ก็เป็นอีกถ้อยคำหนึ่งซึ่งกลายเป็นประวัติศาสตร์ อันที่จริงหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่แสนเศร้า เศร้าที่คนขาวในยุคสมัยใหม่มาในรูปของเขตอุตสาหกรรม มาในคราบของความปรารถนาดีซ่อนรูป หากไม่มีโอกาสติดตามข่าวคราวของพี่น้องชาวบ้านที่ต้องลุกขึ้นสู้ ถ้าทำได้ก็อยากให้อ่านหนังสือเล่มนี้ดู

ถ้อยคำของหัวหน้าเผ่าอินเดียนล้วนตรงประเด็น งดงามโดยไม่จำเป็นต้องมีใครมาร่างให้เนื่องจากครุ่นคิดอยู่ตลอดชีวิต มีพลัง กินใจ และจริงใจ เพราะคือมุมมองที่ถูกส่งทอดกันมาหลายช่วงอายุคน นี่คือบทเรียนชั้นดีที่อย่างน้อยๆ มันจะเรียกคืนความอ่อนโยนของหัวใจ ความเห็นใจที่มนุษย์พึงมีให้กันกลับมา

ทำไมเราจึงยังต้องสู้รบกันต่อไปนั้น มันมีเหตุผล !

 

 

nandialogue

 

เรื่อง: หนุ่ม หนังสือเดินทาง

You may also like...