สามัญสำนึก หรือ common sense เขียนโดย โธมัส เพน นักคิดชาวอังกฤษ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มกราคม 1776 ที่ฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา
จุลสารเล่มนี้ขายได้นับแสนเล่มในระยะเวลาสามเดือนหลังตีพิมพ์ และห้าแสนเล่มในปีแห่งการปฏิวัติอเมริกา
โธมัส เพน เขียนว่า –ในองค์ประกอบของสถาบันกษัตริย์มีบางอย่างน่าขันสิ้นดี แรกสุดมันแยกคนผู้หนึ่งออกจากหนทางแห่งการรับข้อมูลข่าวสาร กระนั้นกลับให้อำนาจเขากระทำการในกรณีต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีวิจารณญาณสูงสุด สภาวะแห่งการเป็นกษัตริย์ปิดกั้นเขาจากโลก กระนั้นกิจธุระแห่งการเป็นกษัตริย์กลับเรียกร้องให้เขารู้จักโลกอย่างถ้วนถี่ ดังนั้น องค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นปฏิปักษ์กันเองและทำลายกันเองอย่างขัดต่อธรรมชาติจึงเป็นข้อพิสูจน์ ว่าลักษณะโดยรวมของสถาบันมีแต่ความไร้สาระและไร้ประโยชน์
เมื่อยามสร้างโลกนั้น มนุษยชาติถือกำเนิดมาอย่างเท่าเทียมกัน ความเท่าเทียมถูกทำลายลงเนื่องจากสภาพการณ์ในภายหลัง การแบ่งแยกระหว่างคนรวยกับคนจนน่าจะเป็นตัวการสำคัญ ทว่า มีการแบ่งแยกสำคัญกว่าอีกประการหนึ่งซึ่งไม่มีเหตุผลทางศาสนา หรือเหตุผลตามธรรมชาติที่แท้จริงอธิบายได้เลย นั่นคือการแบ่งแยกมนุษย์ออกเป็น กษัตริย์ กับ ราษฎร
ผู้ชายกับผู้หญิง เป็นการแบ่งแยกของธรรมชาติ ดีกับเลว เป็นการแบ่งแยกของสวรรค์ แต่เป็นไปได้อย่างไร ที่มนุษย์เผ่าพันธุ์หนึ่งอุบัติขึ้นมาบนโลกพร้อมกับความสูงส่งเหนือมนุษย์คนอื่น และแตกต่างออกไปราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ ประเด็นนี้ควรค่าแก่การพิจารณ์ รวมทั้งตั้งคำถามว่ามันเป็นหนทางแห่งความสุขหรือความทุกข์ของมนุษยชาติกันแน่
ระบอบกษัตริย์คือนวัตกรรมฟุ้งเฟ้อที่สุดเท่าที่ซาตานเคยริเริ่มเพื่อส่งเสริมลัทธิบูชาตัวบุคคล ชนนอกศาสนาเซ่นสรวงบูชากษัตริย์ที่ล่วงลับไปแล้ว ส่วนคริสต์ชนยกระดับแบบแผนนี้อีกขั้นด้วยการเซ่นสรวงบูชากษัตริย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ การขนานฉายานามว่าราชันย์อันศักดิ์สิทธิ์แก่หนอนไส้เดือนที่กำลังเน่าเปื่อยเป็นผงธุลี ท่ามกลางความหรูหราเมลืองมลังช่างเป็นการลบหลู่พระเจ้ายิ่งนัก
การยกย่องคนคนหนึ่งจนเลิศลอยเหนือคนอื่น ไม่อาจอ้างเหตุผลความชอบธรรมอันใดได้เลยจากสิทธิเท่าเทียมตามธรรมชาติ การอ้างความชอบธรรมจากพระคัมภีร์ก็เป็นไปไม่ได้เฉกเช่นกัน
นอกจากความชั่วร้ายของระบอบกษัตริย์แล้ว เรายังซ้ำชั่วให้ด้วยการสืบทอดทางสายโลหิต เริ่มต้นก้าวแรกด้วยความเสื่อมและลดทอนตัวเราเองแล้วไม่พอ ยังมีก้าวที่สองตามมาโดยอ้างว่าเป็นสิทธิ นี่คือการดูแคลนและยัดเยียดให้คนรุ่นหลัง มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่มีมนุษย์คนไหนพึงมีสิทธิแต่กำเนิดในอันที่จะยกยอตระกูลของตนให้มีอภิสิทธิ์ถาวรเหนือคนทั้งปวงตลอดไป และถึงแม้ตัวเขาเองอาจสมควรได้รับการยกย่องนับถือพอประมาณจากคนร่วมรุ่น แต่ลูกหลานของเขาอาจหล่นไกลใต้ต้นเกินกว่าจะควรค่าให้ยกย่องนับถือสืบต่อไป
ข้อพิสูจน์ตามธรรมชาติที่หนักแน่นที่สุดประการหนึ่งต่อความเขลาของสิทธิการสืบทอดสายเลือดในหมู่กษัตริย์ก็คือธรรมชาติไม่เห็นชอบด้วย มิฉะนั้นแล้ว ธรรมชาติคงไม่แกล้งให้มันดูน่าหัวร่อร่ำไปด้วยการประทาน ลาคลุมหนังสิงโต แก่มนุษยชาติ
มีความเชื่อกันว่าเผ่าพันธุ์กษัตริย์ในโลกปัจจุบันมีต้นตระกูลอันทรงเกียรติ ทั้งๆ ที่เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ถ้าเราฉีกลอกความเก่าแก่โบราณอันเป็นม่านพรางมืดดำนั้นออกและสืบสาวกลับไปถึงการขึ้นครองอำนาจครั้งแรก เราอาจพบว่าต้นตระกูลของพวกเขาไม่ได้ดีกว่าหัวโจกของหมู่ทรชนสักก๊กหนึ่ง อุปนิสัยหยาบกร้านป่าเถื่อน หรือความเก่งกาจด้านเล่ห์กลทำให้เขาได้ตำแหน่งหัวหน้าซ่องโจร จากนั้นเขาก็แผ่อำนาจและขยายอาณาเขตการปล้นสะดม กดขี่ผู้คนที่ไม่มีปากเสียงและไร้ทางสู้ จนต้องยอมซื้อความปลอดภัยด้วยการส่งส่วยบรรณาการเป็นประจำ
เราไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเปิดโปงความโง่เง่าของสิทธิสืบทอดทางสายเลือดอีก ถ้ายังมีใครอ่อนหัดจนหลงเชื่ออีก จงปล่อยให้คนพวกนั้นเซ่นไหว้บูชาลากับสิงโตต่อไปเถิด ข้าพเจ้าไม่ขอลอกเลียนความต่ำต้อยของพวกเขา ทั้งไม่คิดรบกวนความศรัทธาของพวกเขาด้วย
กระนั้น ข้าพเจ้ายังมีแก่ใจอยากตั้งคำถามดังนี้
คนเหล่านี้คิดว่ากษัตริย์คนแรกมาจากไหน คำถามนี้มีคำตอบเพียงสามประการ กล่าวคือ จากการจับฉลาก การเลือกตั้ง หรือไม่ก็การยึดอำนาจ หากกษัตริย์คนแรกมาจากการจับฉลาก มันก็ต้องเป็นเงื่อนไขสำหรับกษัตริย์คนต่อไปซึ่งไม่เกี่ยวกับการสืบทอดทางสายเลือด หากกษัตริย์คนแรกของประเทศใดมาจากการเลือกตั้ง มันก็ต้องเป็นเงื่อนไขสำหรับกษัตริย์คนต่อไปเช่นเดียวกัน
ความไร้สาระของการสืบทอดทางสายเลือดไม่น่าวิตกต่อมนุษยชาติเท่ากับความชั่วร้ายของมัน หากระบบนี้มีหลักประกันว่าจะสร้างแต่เผ่าพันธุ์มนุษย์แสนดีแสนฉลาด มันคงได้รับลัญจกรประทับรับรองจากสวรรค์ แต่เนื่องจากระบบนี้เปิดประตูให้คนเบาปัญญา คนชั่วช้า และคนไม่เหมาะสม โดยเนื้อแท้แล้วมันจึงส่งเสริมการกดขี่ คนที่มองว่าตัวเองเกิดมาเพื่อปกครองและผู้อื่นต้องเชื่อฟัง ไม่ช้าเขาจะกลายเป็นคนโอหัง เมื่อถูกเลือกให้อยู่เหนือมนุษยชาติที่เหลือ จิตใจของเขาจึงถูกวางยาพิษแห่งการสำคัญตนมาแต่ต้น อีกทั้งโลกที่เขาดำเนินชีวิตก็ผิดแผกจากโลกภายนอกอย่างมาก เขาจึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเรียนรู้ความกังวลสนใจแท้จริงของคนหมู่มาก เมื่อคนเช่นนี้สืบทอดตำแหน่งประมุข จึงมักกลายเป็นคนโง่เขลาที่สุดและไม่เหมาะสมที่สุด เมื่อเทียบกับผู้คนทั่วทั้งอาณาจักร
ถ้าเราลองพิจารณาภารกิจของกษัตริย์ เราพบว่าในบางประเทศ กษัตริย์ไม่มีภารกิจอะไรเลย หลังจากใช้ชีวิตเปล่าเปลือง ปราศจากความสุขส่วนตน หรือประโยชน์สุขต่อประเทศชาติแล้วกษัตริย์คนนั้นก็ถอนตัวจากหน้าฉาก และเปลี่ยนผ่านให้ทายาทมาสืบทอดวงจรเดิมๆ ต่อไป
ในอังกฤษ กษัตริย์ดีแต่ทำสงครามและแจกจ่ายยศถาบรรดาศักดิ์ หรือกล่าวตรงไปตรงมาก็คือ กษัตริย์มีหน้าที่สร้างความยากจนแก่ประเทศชาติและสร้างความขัดแย้งบาดหมางแก่ผองชน ช่างเป็นภารกิจดีงามเสียนี่กระไรสำหรับคนที่ได้รับเงินถึงปีละแปดแสนปอนด์ แถมยังได้รับการเทิดทูนบูชาอีกต่างหาก
ปราบดา หยุ่น เขียนในหน้า ‘บทตาม’ มีความบางตอนว่า–
‘สามัญสำนึก’ ของ เพน มิได้เป็นบทความที่จุดประกายให้เกิดการต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพในอเมริกา ปัญหาระหว่างอเมริกากับราชอาณาจักรอังกฤษคุกรุ่นอยู่ก่อนแล้ว แต่ สามัญสำนึก เปรียบเสมือนการช่วยเรียบเรียงถ่ายทอดความรู้สึกอัดอั้นคับแค้นของผู้คนออกมาเป็นตัวอักษร เป็นคำพูด ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแห่งเหตุและผล ป่าวก้องรองรับความชอบธรรมในการต่อสู้
นี่คือที่มาของการกำเนิดอุดมการณ์ โลกเสรี ที่อเมริกายึดถืออย่างภาคภูมิจนถึงปัจจุบัน และแม้ว่าความเป็น โลกเสรี และความเป็น ประชาธิปไตย ของอเมริกาจะถูกท้าทายและถูกตั้งคำถาม ถูกหยามว่าเป็นเพียงภาพลวง หรือภาพกลวง ก็ยากจะปฏิเสธว่าการต่อสู้เพื่อสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาค รวมถึงการยืนยันยึดมั่นในสิทธิเสรีภาพของประชาชนในประวัติศาสตร์ของอเมริกา มีการไต่ขั้นบันไดและปรากฏหมุดหมายของความสำเร็จในทางบวกต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม นับตั้งแต่ยุคสมัยของ โธมัส เพน มาจนถึงการเลิกทาส การพลิกผันของการเหยียดสีผิว ความก้าวหน้าของสิทธิสตรี การแพร่ขยายของความหลากหลายทางเพศ ความเสรีในการนับถือศาสนา และที่สำคัญคือการหยิบยื่นให้เสรีภาพในการแสดงออก และแสดงความคิดเห็นกับประชาชนทุกคน
เมื่อเราพูดถึงคำว่า เสรีภาพ และ สิทธิมนุษยชน เรายังคงกำลังยกอ้างนิยามและอุดมคติที่ถูกถ่ายทอดเป็นตัวอักษรไว้อย่างครบถ้วนในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 โดย โธมัส เพน เมื่อเราพูดถึง สิทธิสากลขั้นพื้นฐาน และเมื่อเราโต้แย้งบรรดาอุดมการณ์ที่ขัดแย้งกับหลักประชาธิปไตยทั้งหลาย ตั้งแต่ระบอบเผด็จการถึงลัทธิกษัตริย์นิยม เรายังคงสามารถถูกเรียก หรือเรียกตัวเองเป็น ‘สาวกทางอุดมการณ์’ ของโธมัส เพน เมื่อเราวิพากษ์ความเชื่อและศรัทธาในไสยศาสตร์ ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในเรื่องเหนือธรรมชาติที่ไร้หลักฐานรอบรับมากไปกว่าอารมณ์ความรู้สึก หรือเมื่อเราเรียกตัวเองว่า ผู้ปราศจากศาสนา เราต่างยังคงเป็นแนวร่วมบนหนทางแห่งปัญญาสายเดียวกันกับ โธมัส เพน และเมื่อเราแสดงตนเป็นปรปักษ์ต่อนโยบายของรัฐ ต่ออุดมการณ์และความประพฤติหมู่ของประเทศที่เราถือกำเนิดและครองสัญชาติ เพื่อลุกขึ้นเคียงข้างบุคคลหรือกลุ่มคนอื่นผู้ถูกกดขี่โดยความอยุติธรรม เพื่อแสดงพลังต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ถูกข่มเหง แทนการยึดมั่นฝักใฝการผูกขาดของฝ่ายอำนาจ หรืออุดมการณ์รักชาติอย่างมืดบอด เมื่อนั้นเรายังคงมีรอยเท้าและสุ้มเสียงของ โธมัส เพน เป็นสัญญาณนำทาง
ข้าพเจ้า วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เห็นว่าในประวัติศาสตร์เวทีโลก มนุษย์ผ่านการเพ่งมอง สำรวจ ทบทวน และวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์มาลึกซึ้งยาวนาน เช่นเดียวกับในสังคมไทย แม้ไม่ผ่านวันเวลามายาวนานเท่า แต่สัจจะแห่งเนื้อหาเรื่องราวก็ปรากฏแพร่หลายต่อสายตาสาธารณะ ยังไม่นับว่าประชาชนผู้ลุกขึ้นมาส่งเสียงจำนวนมากถูกจับกุมคุมขัง กระทั่งถึงเวลานี้..
เพียงพอหรือยัง เกิดประโยชน์ใดหรือเปล่า โดยเฉพาะประโยชน์ต่อสถาบันกษัตริย์
การไล่ปิดปากผู้คนนับวันยิ่งปลูกสร้างความรักความศรัทธาใช่หรือไม่
เรื่องง่ายๆ เช่นนี้ ทุกคน ทุกจุดยืนแนวคิดที่ยังมี สามัญสำนึก อยู่ น่าจะมีคำตอบในใจ
มีแล้วนั่งคุย เจรจา หาทางออกร่วมกันไหม
หรือเราจะรบกันไปอย่างนี้.
หมายเหตุ: หนังสือ common sense หรือ สามัญสำนึก เขียนโดย โธมัส เพน
ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปล
สำนักพิมพ์ bookscape พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2020
e-mail : bookscapethailand@gmail.com
เรื่อง: วรพจน์ พันธุ์พงศ์