“ผมไม่ได้ทำเหล้าแล้วนะ” เขาแจ้ง เพื่อให้เข้าใจร่วมกันแต่แรก
“ยังซื้อเหล้าดื่มมั้ย” ผมอัปเดตเหตุการณ์ปัจจุบัน
“จิบเล็กๆ น้อยๆ ก็มีบ้าง”
“เรียกตัวเองว่าเป็นนักดื่มหรือเปล่า”
“ไม่ใช่ นอกจากได้บรรยากาศ หรือเจอพรรคพวกถูกคอก็ดื่ม โดยทั่วไปไม่ค่อยได้ดื่มแล้ว”
ศุภฤกษ์ ฤกษ์วัฒนอำไพ วัย 67 ปี ชาวบ้านจำนวนมากเรียกเขาว่า ‘อาจารย์’ บางคนเรียก ‘ป๋า’ ค่าที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ทำงานเป็นปากเป็นเสียงให้กลุ่มเกษตรกรมานาน โดยเฉพาะในสายสุราพื้นบ้าน เรียกว่าเป็นทั้งผู้รู้ ผู้กว้างขวาง และคนวิ่งไปเคลียร์ เวลาใครเจอปัญหา โดนสรรพสามิตหรือเจ้าหน้าที่รัฐรังแก ขอบเขตพื้นที่ทำการไม่เจาะจงแค่ที่น่าน ไกลข้ามภูเขาไปถึงพะเยา ลำพูน แพร่ เชียงราย หากได้ยินเสียงร้องถึงหู เขาทนอยู่เฉยไม่ได้
พื้นเพเขาเป็นคนอำเภอปอน (ทุ่งช้าง) วัยหนุ่มเคยเข้าป่า และช่วงปลายของการจับปืนต่อสู้ เขาเป็นผู้ประสานเอาคนกลับเข้าเมือง เคยเลียบๆ เคียงๆ เข้าไปในวงการพลอยพักหนึ่ง ก่อนบินไปเป็นโรบินฮูดอยู่ออสเตรเลียสี่ปี กลับมาทำร้านอาหาร เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว เลี้ยงหมู อยู่ในฟาร์มกลางป่า ทว่าโรคระบาดรอบก่อน หมูเจ็ดสิบตัวตายเรียบ (ปศุสัตว์อำเภอ/จังหวัดแบะๆ บอก–ไม่รู้ๆ) ทุกวันนี้เขาดำรงสภาพ ‘คาวบอยอาวุโส’ เลี้ยงวัวอยู่ราวๆ สามสิบกว่าตัว มีสวนส้ม (เจ้าตัวเรียกว่าป่า เพราะว่าปล่อย ปฏิเสธการใช้ปุ๋ยใช้ยา) บนที่ดินหกสิบไร่ ในอำเภอเวียงสา เขากับภรรยาใช้จ่ายวันเวลาหลักๆ อยู่กับการเลี้ยงวัว เลี้ยงด้วยวิธีแปลกๆ เฉพาะตัว ไม่ตามก้นใคร คือให้น้ำโจ้บำรุง
แน่นอนว่ากับเรื่องสุราพื้นบ้านนั้น แม้ ณ วันนี้ไม่ได้เป็นผู้ผลิต เขาปลดวางสถานะ ‘อาจารย์’ ไม่ได้ มีเวทีบรรยายที่ไหน หรือใครโดนรังแก คาวบอยไม่มีปืนคนนี้พร้อมปะทะ
เป็นยังไงมายังไงถึงเข้าสู่วงการเหล้าพื้นบ้าน
ญาติทำเหล้า แถบที่บ้านผมเยอะที่สุดเลยเรื่องเหล้า ทำลูกแป้งก็เยอะ เชี่ยวชาญ ทำมานาน แล้วพอมีปัญหา เขาก็เรียกร้องให้ผมมาช่วย ให้พูดเรื่องข้อกฎหมาย คือชาวบ้านเขาไม่รู้เรื่องพวกนี้ ไม่สนใจ เขาต้มเหล้าอย่างเดียว
ทำไมคนถึงมาเรียกให้ช่วย ?
ผมไม่มั่นใจ มันอาจจะเชื่อมต่อกันมา เขาคงเห็นว่าผมพอช่วยงานได้ งานพัฒนาอื่นๆ เช่น จัดตั้งกลุ่มเกษตรกร ทำนาทำสวน กลุ่มเลี้ยงสัตว์ เขามองว่าผมทำได้ ครั้งแรกจริงๆ ผมไปนั่งประชุมด้วยเท่านั้นเอง แต่พอเห็นผมพูด เขายกตำแหน่งจากผู้ประสานงานให้เป็นประธานเลย รอบเดียวจบ ตอนนั้นประมาณปี 46
มีวาระอะไร ที่ชาวบ้านมอบหมายให้เป็นประธาน ?
กลุ่มเกษตรเราทำกันอยู่แล้ว และพอคุยมากขึ้น อยู่นานขึ้น ก็เริ่มมาลงที่เหล้า มันเป็นของดั้งเดิมของชาวไร่ชาวนา เป็นภูมิปัญญา แต่มาโดนรัฐเบียดขับ โดนรังแกว่างั้นเถอะ ทุกคนรับไม่ได้เพราะไม่เป็นธรรม ..คุณรู้มั้ย ในเวียงสานี่เป็นถิ่นลูกแป้งเลย ทำเยอะสุด หมู่บ้านปงสนุกนี่แหละ เป็นที่รู้กันว่าถ้าจะหาเหล้าก็ต้องมาที่นี่ คนในเวียงจะหาเหล้าไปขาย ก็ต้องมาที่นี่ เป็นแบบนี้มานาน แต่คนทำเหล้าไม่ได้รับความเป็นธรรม อยากให้ผมช่วย คุยกับหมู่บ้านอื่นว่ามีปัญหาเหมือนกันมั้ย ก็มี ทุกที่โดนหมด แล้วเราจะทำยังไงต่อ คณะกรรมการ คนในหมู่บ้านก็ช่วยกัน ผมลงไปประชุมแทบจะทุกตำบล ช่วงแรกแค่ในเวียงสา ต่อมา ไปแทบทุกอำเภอในน่าน
ไปแล้ว พบว่า…
มีปัญหา สรรพสามิตจับ ปรับแพงด้วย เอาจนเขาอยู่ไม่ได้
แพงนี่คือเท่าไร
แล้วแต่จะเรียก ไม่เท่ากัน ไม่แน่นอน พอดีช่วงหลังมันมีกระแสเรื่องเหล้าเสรี เราก็คุยกันว่าเป็นไปได้มั้ยที่จะรวมกันทำอย่างจริงจัง เน้นผลักดันกฎหมาย ทักษิณเคยมาครั้งหนึ่ง พวกเราก็ไปยื่นหนังสือ ตอนนั้นเรารวมตัวกันระดับภาคแล้ว เชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ ก็เข้ามา เพราะการเคลื่อนไหวเหล้าที่น่าน กลุ่มทางเชียงราย พะเยา ก็เข้ามาช่วยคุย มันมีเรื่องน้ำกก อิง น่าน และพูดเรื่องเหล้าด้วย ผมอยู่ในวงนั้น เขาขอให้มาช่วยพูด ก็รวมกัน นัดกันในวัด คุยเรื่องป่า แม่น้ำ และเหล้า จนสามารถตั้งกรรมการระดับอำเภอ ลงไปตำบล รวมคนได้เป็นพัน เคยจัดบายศรีสู่ขวัญที่เวียงสา ตำรวจตกใจ ทำไมคนเยอะ เยอะที่สุด ตอนนั้นเป็นช่วงผ่อนปรนนโยบาย เปิดโอกาสให้ชาวบ้านยื่นขอทำโรงเหล้า
จากใต้ดิน ขึ้นมาถูกกฎหมาย ?
ครับ สรรพสามิตอนุโลมให้เราทุกอย่าง ไม่ต้องเป็นโรงเรือนใหญ่โต แค่มีกระต๊อบเล็กๆ ก็ได้ ยอมทุกอย่าง เราแห่จดทะเบียน กลุ่มเกษตรกร กองทุนฟื้นฟู ตอนนั้นพวกห้างหุ้นส่วนยังไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกร จนทำให้บางหมู่บ้านตำบลที่ไม่เคยจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร ก็ตั้งด่วนเลย ทางการงงน่ะ ทำไมยื่นจดมาก ส่วนใหญ่มาจดเรื่องเหล้านี่แหละ แต่หลังจากนั้นนโยบายเริ่มปรับ เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้หดหายไปเยอะ ยิ่งหลังปี 60 ที่ คสช. เข้ามา กฎระเบียบออกมาเข้มงวด เราไม่สามารถต่อต้าน กระดิกตัวไม่ทัน โต้แย้งไม่ถูก มันอ้างระเบียบยันเลย กฎกระทรวงอะไรของมันก็ไม่รู้ ความผิดแบบนี้ โทษปรับแบบนี้ เราโดนหนัก ร้ายที่สุดคือการปรับแต่ละครั้ง มันพูดถึงแต่อัตราสูงสุด ซึ่งก็แล้วแต่ชาวบ้านจะต่อรองได้เท่าไร ทำให้หลายครั้งพวกเราใช้กำลังต่อรอง
กำลังที่ว่าคืออะไร
คณะกรรมการเจรจา ถ้าไม่ได้ผล ก็ระดมสมาชิกไปกดดัน ใหม่ๆ ได้ผล ถ้าเห็นชัดเจนว่าความผิดไม่เยอะ แต่มันเรียกร้องแพง หรือถ้าพวกเราเข้าเร็ว ก็พอต่อรองลงมาได้ จากห้าหมื่น เหลือหมื่น หรือห้าพัน แล้วแต่ว่าเราเข้าไปทันมั้ย
ความผิดอะไร ที่เขาจับ ?
พวกเราตอนนี้ไม่ได้ทำเหล้าออกไปโดยถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง ตามระเบียบ คุณจะเอาเหล้าออกจากโรงได้ ต้องขายส่งเท่านั้น ไม่ใช่ปลีกนะ ติดแสตมป์ก่อนเท่านั้น ก่อนจะติด มีออร์เดอร์เท่าไร ไปซื้อแสตมป์มา และติดให้หมดภายในระยะเวลาเท่านี้ๆ ซึ่งมันทำไม่ได้จริง ถ้าเราติดแสตมป์ ราคาแสตมป์สี่สิบ เหล้าเราที่ควรจะขายแค่สี่ห้าสิบ มันต้องขายเก้าสิบบาท ราคานี้ คุณตั้งโชว์ได้ แต่ไม่มีใครซื้อ มันไม่ไหว มันไม่รับใช้ความเป็นจริง พอเป็นแบบนี้ก็มีคนต้มเหล้าเถื่อน ขายห้าสิบบาท แล้วถ้าเราติดแสตมป์ส่งไปเก้าสิบ ขายร้อย ถามว่าจะได้ขายมั้ย
ราคาที่เป็นธรรมอยู่ที่ห้าสิบบาทว่างั้นเถอะ ?
ใช่, คนมีกำลังพอซื้อได้ แต่แสตมป์บังคับให้ราคาพุ่งขึ้นไปเก้าสิบ ไม่เท่านั้น คุณต้องหาขวดบรรจุที่ไม่ทับลิขสิทธิ์ของใคร ไม่ใช่ขวดเบียร์สิงห์ ช้าง ลีโอ อ้าว หาขวดมาอีก คัดเลือก ล้าง หรือถึงไม่มีปัญหาเรื่องขวด บางคนใช้ฝาพลาสติก ก็ไม่ได้อีก เขาให้ใช้ฝาจีบซึ่งต้องมีเครื่องอัด มันก็เพิ่มต้นทุน ไหนจะโลโก้ที่ต้องจ้างเขาทำ คือกฎกติกาทุกอย่างมันทำให้ยุ่งยากกับรายเล็ก ในที่สุดพวกนั้นก็ต้องเลิกไป เพราะอยู่ไม่ได้ ทั้งที่ความรู้เขามี วัตถุดิบมี ข้าว แป้ง ต้มกลั่นหมักของเขาได้ พวกนี้ทำกินในครัวเรือนและแอบขายบ้าง ไม่มีค่าใช้จ่ายอื่น เขาก็ขายถูกได้ เพราะเขามีข้าวของเขาเอง ลูกแป้งไม่แพง หลักๆ คือข้าวกับลูกแป้ง แค่นั้น ไม่มีอะไรเลย
กี่วันกินได้
สามสี่วัน กดกินสาโทน้ำขาวได้เลย ถ้าจะกลั่น รอไปอีกไม่เกินสิบห้าวัน ถ้าอากาศร้อนหน่อย สิบวันก็กินได้แล้ว
ในความเห็นคุณ คิดว่าคุณภาพเหล้าของเวียงสาดี แย่ แค่ไหน
คนอำเภออื่น ถ้าต้องการ เขามาซื้อที่นี่ ตั้งแต่ดั้งเดิม ลูกแป้งแต่ละคนไม่เหมือนกัน ใครติดใจเจ้าไหนก็หาซื้อ เขารู้กันหมด ชาวบ้านอยู่แบบนี้กันมานาน ผมเกิดมาก็เห็น มันเป็นชีวิตปกติ พอคนต้มได้ กินได้ ขายด้วย ทำให้เหล้าติดแสตมป์เป็นแค่ของตั้งหิ้งโชว์เท่านั้นเอง ถึงส่งตามร้านก็วางอยู่แบบนั้น แล้วทำไง บางคนมีวิธีแปะแสตมป์หลอกๆ ข้างในเติมเรื่อยๆ แทนจะขายเก้าสิบก็ขายเจ็ดสิบ หกสิบ หรือคนแปลกหน้ามา เขาอาจจะขายเหล้าติดแสตมป์ก่อน ถ้าเย็นๆ มาอีกรอบ หรือเริ่มคุ้นเคย ก็บอกว่ามีแบบนี้ๆ ก็เป็นแบบนี้มาตลอด
กฎหมายมันบีบให้คนทำผิด เขาจะทำให้ถูก ก็ไม่อนุญาต ?
ครับ ห้องแบบนี้ไม่ได้นะ (ชี้รอบบ้าน) ต้องกั้นผนัง อิฐกี่ก้อนๆ ว่าไป ติดตาข่ายกันนกหนู เพื่อสุขอนามัย ว่าไปเรื่อย พยายามสร้างกฎเกณฑ์ให้ยุ่ง ที่สำคัญ มันยังมีปัญหาเรื่องใกล้แหล่งน้ำ ส่วนใหญ่ที่ต้องเลิกไปเพราะใกล้แหล่งน้ำ เขาไม่ให้ทำ ต้องห่างร้อยเมตร เขากลัวว่าจะทิ้งของเน่าเสียลงแม่น้ำลำคลอง
แล้วที่เขาว่ามันจริงมั้ย ฟังขึ้นมั้ยกฎเกณฑ์ข้อนี้ ?
บ้านเรามันไม่มีโรงไหนที่ทำเยอะๆ จนก่อมลพิษแบบนั้น ส่วนใหญ่ทำน้อยๆ ไม่กี่หม้อ น้ำส่าเหลือมาก็เอาไปให้หมูให้วัวกิน หลังการต้ม ตัวนั้นที่จะทำให้น้ำเน่า เขาบังคับให้เรามีบ่อบำบัด แต่ตอนหลังไม่มีใครพูดถึง สรรพสามิตก็ไม่เคยมาดูว่าน้ำเน่าเสียลงบ่อบำบัดมั้ย แค่ขอให้ผ่านตามเกณฑ์ หลายโรงทำพอเป็นพิธี ผมถามว่าทำไมคุณไม่เข้มงวดให้ตลอดล่ะ หรือเรื่องอื่นๆ ถ้าใกล้แหล่งน้ำ ต้องเลิก ตอนนี้บางโรงขาดเกินนิดหน่อย อนุโลม เพราะพื้นที่คนเวียงสาส่วนใหญ่ใกล้แหล่งน้ำ และต้องมีเอกสารสิทธิ์ อันนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ ทั้งที่เราบอกว่านี่เป็นการแปรรูปผลผลิตการเกษตร ที่ สปก. ก็มุ่งเพื่อการเกษตรชัดเจน แต่ทำไมทำเหล้าไม่ได้ เขาว่าเราเป็นโรงงาน แปลว่าหลุดพ้นการเกษตร แต่ของเรามันถึงขนาดจะเรียกว่าโรงงานได้ที่ไหน กะจิ๊ดเดียว คุณเอากฎหมายอุตสาหกรรมมาครอบ มันก็ยุ่งไปหมด ทั้งที่จริงไม่ยุ่ง และปัญหาสำคัญตอนนี้คือชาวบ้านไม่มีเงินพอจะซื้อของแพงๆ ซื้อเบียร์ได้มั้ย เหล้าแดงได้มั้ย มันแพงเกิน รายได้เขาน้อยลง ข้อสำคัญที่สุดเลย ชาวบ้านแถวนี้เชื่อเรื่องผี ทำการเกษตรทุกที่ เขาต้องเลี้ยงผีเจ้าที่ และต้องใช้เหล้าขาว ใช้เบียร์ไม่ได้ เหล้าแดงไม่ได้ ใครเงินน้อย จะลดจากขวดใหญ่ลงมาแค่ขวดน้อยได้ แต่ต้องเลี้ยงเหล้าขาวเป็นขวด ชาวบ้านเชื่อแบบนี้ ก่อนลงทำเกษตรแต่ละปี เขาขอ เขาบนเจ้าที่ให้ได้ผลดี พอหลังสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวแล้วต้องเลี้ยง เป็นแบบนี้ตลอด นี่คือวัฒนธรรม ผีไม่กินเบียร์ ผีไม่กินเหล้าแดง ถามว่ารู้ได้ไง อ้าว ก็ผีไม่กินแปลว่าไม่กิน ถ้าเอาอย่างอื่นไปให้ เกิดผลผลิตของเขาเสียหาย ใครรับผิดชอบ ..เรื่องแบบนี้จริงมั้ย ไม่รู้ แต่เขาเชื่อกันมาแบบนั้น สืบทอดมานานเป็นร้อยๆ ปี ของมันอยู่คู่บ้านคู่เมือง ทำไม่ยาก ลูกแป้งก็ทำไม่ยาก ที่ไหนก็ทำได้
ลูกแป้งทำจากอะไร
สมุนไพรหลายตัว แต่ละเจ้ามีสูตรคนละอย่าง เขาไม่บอกกัน
เอาคร่าวๆ ที่พอเปิดเผยได้ ?
(คิดครู่หนึ่ง) ขาดไม่ได้คือตระกูลร้อน ปิ๊ดปิวแดง แดงเท่านั้นนะ ขาวไม่เอา ราคาตอนนี้โลละสองร้อยห้าสิบ พริก ข่า กระเทียม ใบนั่นนี่อีกสารพัดอย่าง แต่ละสูตร แต่ละเจ้า ทำไม่เหมือนกัน แต่ที่ขาดไม่ได้คือปิ๊ดปิวแดง เขาทำมานานจนรสชาติคงที่ตลอด เขาติดใจรสชาตินั้นมานานแล้ว ทำตามสูตรแล้วไม่มีผิดพลาด ผมศึกษาบ้าง แต่ไม่ได้ทำ เพราะไปหลายที่ ผมรู้จักทุกฝ่าย ใครเก่งตรงไหน ทำไป แบ่งกันทำงาน บางคนเก่งเรื่องลูกแป้ง บางทีผมช่วยเขาขายด้วย ช่วยแนะนำ บางคนต้มเหล้าเยอะๆ เขามีน้ำโจ้เหลือ ก็แบ่งให้ผม
น้ำโจ้คือ..
น้ำส่าเหล้านั่นแหละ ผลจากการเชื่อมเครือข่ายของเรา ผมได้น้ำโจ้เยอะ ก็เอามาเลี้ยงหมูเลี้ยงวัว ผมเลี้ยงหมูมาเป็นสิบปี น้ำโจ้ช่วยลดต้นทุนเยอะเลย มันจะสร้างเนื้อแดงด้วย เคยถาม คนมาจับหมูผม เขารอของผม เขาบอกเนื้อหมูผมเทียบกับฟาร์มใหญ่แล้วของผมอยู่อันดับสอง ฟาร์มใหญ่อัดเต็มที่ เขาได้อันดับหนึ่ง แต่ของผมก็ตามติดเลย ซึ่งต้นทุนผมต่ำมาก เอามาผสมกับอาหารอื่นให้หมูกิน ผมผสมอาหารเอง โดยใช้น้ำโจ้ช่วย ช่วงที่ทำใหม่ๆ วัวมาดักปล้นกลางทาง มาแย่งกินเลย ตอนหลังต้องแบ่งให้วัวด้วย เราดูแล้วมันได้ผลดี คุณดู ที่นี่ไม่มีหญ้าให้วัวกินนะ ผมเลี้ยงวัวด้วยน้ำโจ้ ตอนนี้ผมไม่มีหมูแล้ว เลิกเพราะโรค แต่พวกปศุสัตว์เขาว่าไม่ใช่โรคติดต่อ มันตายเอง ของผมตายหมดเจ็ดสิบตัว เสียรายได้ไปประมาณสามแสน ตอนเริ่มป่วยผมแจ้งปศุสัตว์อำเภอแล้ว มาเจาะเลือดแล้ว แต่ส่งเข้าแล็บช้า หมูตายหมด รอบที่ตายกันเยอะทั่วประเทศ ไม่ได้ค่าชดเชยสักบาท เพราะเขาว่าหมูตายเอง ..เลี้ยงมายี่สิบกว่าปี
หนักสุด ?
ใช่, เมื่อก่อนเคยมีบ้าง หมูป่วย แต่กว่าจะตายก็หลายวัน ยังทันได้ขาย แต่ชุดนี้ทีเดียวไปหมดเลย ล้มระเนระนาด ไม่ใช่หมู่บ้านเดียว มันเป็นกันทั้งจังหวัด ทั้งประเทศ แต่ทางการไม่รู้ ไม่มีข้อมูล นี่คือราชการไทย ตอนนี้ผมเหลือแต่วัว ใช้น้ำโจ้เลี้ยงมาตลอด
กินแล้วโอเค เติบโต สุขภาพดี ?
ใช่, อัตราการเจริญพันธุ์ของหมู วัว ปกติทุกอย่าง โตไปตามวงจรของมัน มีลูกใหม่ๆ เกิดเรื่อย และผมยังมีส้ม ก็พออยู่ได้ ใช้วิธีธรรมชาติคือไม่ทำอะไรเลยปลูกมายี่สิบปี มีลูกให้กินให้ขายทุกปี ทำเหล้าได้น้ำส่าให้หมู ขี้หมูขี้วัวกลับไปหาส้ม ขายได้ด้วย ลงนาพืชผักได้ ส้มพวกนี้ผมไม่เคยใช้ปุ๋ยยาเคมี มันอยู่ได้จริง ผมได้ขายโลละหกสิบ ที่อื่นขายสิบห้า ยี่สิบ
ทำไมมันต่างกันขนาดนั้น ?
ไม่รู้ จากสวนตรงนี้ โลละห้าสิบ ผมขายได้ ส้มสีทองเมืองน่านนี่แหละ ปลูกในที่แห้งแล้งด้วย ไม่ต้องรดน้ำ ไม่ใส่ปุ๋ยพ่นยา ไม่ทำอะไรเลย นักวิชาการเกษตรบอกงง ไม่อยากจะเชื่อ และมันไม่เคยเข้ามาดูเลย จริงๆ ไม่ใช่สวนส้ม มันเป็นป่าส้ม ผมปล่อย ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า
กลับไปที่เรื่องเหล้าต่อ เมื่อก่อนอยู่ใต้ดิน เคยดันขึ้นมาบนดินได้พักหนึ่ง ตอนนี้ถูกกดลงไปใต้ดินอีก ?
โดนกดมานาน ก็ตัวใครตัวมัน ใครหลบได้ก็หลบ ลักลอบต้มกิน ต้มขาย คำถามคือเราจะโตได้มั้ย ถ้ากฎหมายอย่างนี้ โอกาสโตยาก เพราะโฆษณาไม่ได้ ระเบียบครอบอยู่ ขายแข่งที่อื่นยาก การตลาดเราไม่พร้อม จะส่งขายเซเว่นฯ โลตัส ก็ยาก แทบเป็นไปไม่ได้ แม้แต่สายส่งที่ขายเบียร์ เหล้าแดง เราก็เข้าไปแทรกยาก มันไม่มีโอกาสเลย
ที่ว่ายากๆ เคยไปต่อสู้หรือยัง ?
ผมหมดไปเยอะนะ บางทีส่งไปก่อน สิบลัง มีตัวอย่างให้ลองชิม แต่ส่งไป เขาก็บอกตลาดไม่เรียกหา ไม่ซื้อซ้ำ เราทำไงล่ะ ทำอะไรไม่ได้ ..หมดไปเยอะ เคยช่วยกันทำแบรนด์ ‘น่านเจ้า’ ชื่อดี เหล้าดีสุดยอดเลย ได้รับการจดทะเบียนแล้วด้วย
ยังหาซื้อได้มั้ย
ไม่มีแล้ว เลิกมาเป็นปี ไม่ทำ แบรนด์นี้เหมือนถูกยกเลิกไปแล้ว
เลิกเพราะ..
ท้อ เบื่อ รุ่นลูกเขาก็ไม่อยากให้ทำ ช่วยตัวเองได้แล้ว วัวเรามีมากขึ้น ได้น้ำโจ้มาแล้ว หาได้จากเครือข่ายทุกวัน เลี้ยงวัวสามสิบกว่าตัว และกำลังไต่ระดับขึ้น วัวตัวเมีย ผมเก็บเป็นแม่พันธุ์ทั้งหมด ตัวผู้ตอน ขายอีกตลาดหนึ่ง เป็นเกรดพรีเมียมไปเลย เดี๋ยวไปเดินดูวัวผม ไม่มีหญ้าให้กินนะ แต่มันอ้วนมั้ย ไปดู เต้านมมันใหญ่มั้ย ตลาดวัวที่ผมส่งขายอยู่ เขาบอกลุยไปเลย วัวเนื้อเกรดคุณภาพ ตลาดบน ผมขายไปหลายตัวแล้ว อยู่ได้ คิดว่าส่าเหล้าตัวนี้ตอบโจทย์ได้ ผ่านการทดลองมานานพอ
วัวมีอนาคตไปได้ ส่วนเรื่องเหล้านี่ถอดใจหรือยัง หรือว่าอยากสู้ต่อ ?
ผมยังติดตามวงการนี้อยู่ แต่ยอมรับว่าเหนื่อยนะ ถ้ากฎหมายยังเป็นแบบนี้
สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคืออะไร ที่จะพอใจให้เหล้าที่เขาทำเติบโตไปได้ ปัญหาคืออะไร
เขาต้องการเสียภาษีน้อยลง เสียทุกขวดให้น้อยลง เก็บภาษีเหมือนอุตสาหกรรมในบ้าน เล็กๆ มีกฎหมายรองรับ เขาไม่ได้ทำใหญ่ ทำแค่ในครัวเรือน เดือนหนึ่งไม่ถึงร้อยขวด มีข้าวเปลือกสองกระสอบ สีแล้วได้กระสอบหนึ่ง เอามาทำเหล้าได้ ตีว่าข้าวสามถังทำเหล้าได้หกสิบขวด ต้นทุนขวดหนึ่งไม่ถึงยี่สิบบาท ถ้าขายสี่สิบ ภาษีสิบ กำไรสิบบาท อยู่ได้นะ เสียภาษีเต็มๆ เลย จ่ายจริงทุกขวด ชาวบ้านอยู่ได้ แต่คุณจะเอาภาษีสี่สิบบาท มันไม่ไหว มันตายกันหมด คุณต้องมองความจริง เขาเสียภาษีเท่านี้ๆ มีงานบุญงานบวช กีฬา เขามาขอ เราให้ก็ได้ หนุนช่วยกัน งานศพสมทบ บริจาค มันเป็นธรรมเนียมชาวบ้าน เอื้อเฟื้อกันได้ แต่เวลาขาย ก็ขาย ในราคาไม่แพงนัก รัฐได้ภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย ผลิตร้อย คุณได้ภาษีร้อย คนกินเขารู้เองว่ากินแล้วเป็นยังไง ดี ไม่ดี แสบคอมั้ย แฮงก์มั้ย เขารู้หมด ถ้าไม่ดี คนเลิกซื้อ อยากอยู่รอด ทุกคนต้องปรับปรุงคุณภาพ สังคมมันแคบๆ
เหมือนคนขายข้าวแกง เจ้าไหนดีก็บอกต่อ ?
ใช่ครับ แต่มันก็ยังมีคำพูดว่า ถ้างั้นคนก็ต้มเหล้าเต็มบ้านเต็มเมืองสิ ผมบอกว่า ถ้าคุณไม่มีความรู้ความชำนาญ คุณทำยังไงมันก็ไม่รอด รสชาติเพี้ยนหมด ของแบบนี้ไม่ใช่ทำได้ทุกคน ถึงรู้ ไม่ใช่จะทำได้ เหมือนปลูกต้นไม้ ใครๆ ก็รู้หมด ถามว่าทำไมทำไม่ได้ ทำไมบางคนปลูกแล้วตาย เหมือนขายก๋วยเตี๋ยว สูตรก็มี ก็รู้ มีหมู มีเส้น ทำไมไม่ทำกินเอง ทำไมไปซื้อเจ้านั้น ทำไมไม่ซื้อเจ้านี้ นี่ก็เหมือนกัน ถามอีกว่า เปิดเสรีแบบนี้คนจะกินเหล้าเพิ่มขึ้นมั้ย ผมว่ามันก็แค่นั้นแหละครับ คนไม่กิน ยังไงเขาก็ไม่กิน คนที่กิน ห้ามยังไง มันก็กิน
จะบอกว่ามอมเมาเหล้ายาประชาชน ฟังไม่ขึ้น ?
ทำไมเหล้าแดง เบียร์ ไวน์ คุณเปิดให้ขายได้ทั่วไป ทำไมไม่ห้ามทั้งหมด …คุณก็มีทางเลือกไง ว่าจะเอาแบบไหน สำหรับผม เหล้าชาวบ้านมันมีข้อดี กิน ถึงจะเมายังไง พรุ่งนี้เช้าไม่แฮงก์ ไม่ปวดหัว ทำงานต่อได้เลย แต่ถ้าเมาเหล้าแดง หรือเบียร์ พรุ่งนี้แฮงก์ ไปทำงานไม่ได้ นี่เป็นเอกลักษณ์ของเหล้าพื้นบ้าน มันไม่มึนติดค้างยาวนาน เหล้าชาวบ้านแรงจริง แต่เช้ามา จบ ยิ่งถ้าไม่กินพร่ำเพรื่อถึงเที่ยงคืน ตีหนึ่ง ไม่มีปัญหา ส่วนใหญกินนิดหน่อยเพราะเช้ามาต้องทำงาน นอกจากบางคนที่กินเสียจน.. แต่ละหมู่บ้านจะมีสักคนนึง นั่น ยกให้มัน
เนื้อหาหลักๆ เลยคือภาษีมีปัญหา ?
ถ้าภาษีเป็นธรรมเมื่อไร จบ ชาวบ้านเขาพัฒนาเหล้าได้ จะเอาคุณภาพเท่าไร ทำได้ มีเพื่อนผมคนหนึ่ง ต้มเหล้า และแอบซ่อนไว้ใต้ต้นไม้ข้างลำธาร ผ่านไปเป็นสิบปี ลืม วันหนึ่งไปเจอ โอ้โฮ ชั้นหนึ่งเลย คล้ายผ่านการบ่มมายาวนาน ทุกวันนี้ต้มเท่าไร ต้องซื้อแสตมป์เท่านั้น ไม่มีการบ่มเลย ถามว่าคุณภาพมาจากไหน คุณไม่มีการศึกษาพัฒนา แล้วจะต่อยอดขายแพงๆ ได้ยังไง มันไม่มีโอกาสเลย เพราะต้องซื้อแสตมป์ เดือนหน้าซื้ออีกแล้ว เก็บไว้ไม่ได้ ของเก่ายังขายไม่หมด ต้องไปซื้อแสตมป์อีกแล้ว เพราะกฎหมายบังคับว่า เมื่อซื้อมาแล้วต้องติดทุกขวด
ตอนนี้มีคนทำเหล้าแบบเปิดเผย และมีชีวิตอยู่ได้จริงๆ บ้างมั้ย
สักรายสองรายมั้ง ในเวียงสาไม่มี มีแต่หลบๆ ซ่อนๆ ใต้ดินทั้งนั้น ยืนยันได้เลย คุณอยู่ไม่ได้ด้วยการต้มเหล้า จะอยู่ได้ ก็ต้องแอบขายทั้งนั้น เพื่อเอาเงินมาซื้อแสตมป์ วันที่ 27-28 สรรพสามิตโทรฯ ตามแล้ว คุณยังไม่ซื้อแสตมป์ รีบมานะ เขาต้องปิดบัญชี เราต้องไปซื้อ ไม่ซื้อไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาเคยซื้อ ขายได้มั้ย ไม่รู้ แต่ต้องซื้อ ถามว่าเอาเงินที่ไหนมาซื้อ ถ้าขายของเก่าไม่ได้ และถ้าไม่ซื้อ คุณโดนแบลกลิสต์นะ เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ผมเลยเบื่อ ทำไป ได้อะไรขึ้นมา ปัญหาตัวเดียวเท่านั้น ถ้าภาษีไม่แพง ทุกคนอยู่ได้ พัฒนาได้ …บอกตรงๆ พรรคพวกกลุ่มเราเคยทำเหล้ากาแฟ กาแฟเม็ดที่น่านนี่แหละ ผ่านวิธีหมักแล้วมากลั่น รสชาติพอใช้ได้ แต่มันยังแค่การศึกษา ทดลอง ถามว่าทำเยอะๆ ได้มั้ย ถ้าคนรู้เยอะ ก็มีปัญหา สรรพสามิตเล่นงาน ถามว่าเปิดโอกาสให้ลองมั้ย แต่ละสูตร กว่าจะได้ กว่าจะนิ่ง ต้องผ่านการทดลองซ้ำๆ เสียแล้วเสียอีก ถ้าเอาลำไยได้มั้ย บ๊วยล่ะ ของทุกอย่างมันต้องลอง กล้าทำ กล้าลองชิมของใหม่ แต่พอปิดประตูหมด หลบๆ ซ่อนๆ แอบทำ ใครจะชิม ใครจะรับรอง ผมถึงบอกว่าปัญหาสำคัญคือเรื่องภาษี ถ้ากฎหมายปลดล็อก แต่ละหมู่บ้าน คุณจะศึกษาทดลองยังไงก็ได้ ใช่มั้ย ตัวไหนถ้าดี เอามาแบ่งกันชิม โอเค ผลิตมากขึ้น สร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาขาย แต่สูตรต้องนิ่งไง เหล้าข้าวเหนียวทำกันมาไม่รู้กี่ชั่วคนแล้ว มันนิ่งแล้วไง ทำที่ไหนก็ได้ ถ้าเอาตัวอื่นต้องทดลองก่อน เหมือนทำผัดกะเพรา มันอร่อยเหมือนกันมั้ย แต่ละเจ้า ต้องผ่านการทดลองหลายครั้ง
ตอนชาวบ้านเขาเลือกคุณเป็นประธานกลุ่มเกษตรกร ทำงานนั้นได้ค่าจ้างมั้ย
ไม่มี ..ใช้ใจล้วนๆ เลย นอกจากว่าบางทีมีค่าน้ำมันให้ ไม่ใช่ให้คนเดียวนะ ไปเป็นกลุ่ม เราช่วยเขา ชาวบ้านเห็นเราทุ่มเท เขาให้เอง ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่ผมได้สูตรอาหารหมู เพราะมีคนบอก เขารวยแล้ว เหลือแล้ว เห็นผมทำงานมานานและยังไม่มีอะไร เลยอยากช่วย นั่นแหละ ที่ผมได้สูตรอาหารหมู ลดต้นทุนไปโลละสามบาท ร้อยโล ประหยัดไปสามร้อย หมูเราไม่น้อยหน้าใคร ผมถามว่า แม่เคยให้สูตรนี้กับใครมั้ย เขาบอกไม่ให้ แต่ตั้งใจให้เราเพราะเห็นเราทุ่มเทเรื่องเหล้ามานาน นี่คือสิ่งที่ผมได้โดยไม่รู้เรื่อง ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เขาอยู่อำเภอเมือง เขารู้จักเรา ตอนนี้คนที่ทำเหล้า มีน้ำส่าเหลือ เขาให้ผมก่อนเป็นคนแรก ถ้าจะหา ผมหาได้วันละหนึ่งพันลิตร
อยู่วงการเหล้า และได้เพื่อน ?
ใช่, คนที่ทำเหล้าได้จะต้องเป็นกลุ่มเกษตกร ตอนนี้ผมเป็นประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรจังหวัดน่าน เป็นมาเกือบปีแล้ว ผ่านการเลือกตั้งจากตำบล อำเภอ แต่ละอำเภอเลือกประธานจังหวัด กลุ่มทำเหล้าเป็นคนหาเสียงให้ผม
ตำแหน่งนี้มีเงินเดือนมั้ย
ฟรีครับ อย่างที่บอกว่าไปประชุมบางทีได้ค่าน้ำมันบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ เราไปช่วยแก้ปัญหา เป็นปากเป็นเสียงได้ อันไหนที่ไม่เป็นธรรม ผมใส่เลย
เท่าที่เห็น คนน่านมักไม่ค่อยปะทะ ไม่แสดงความเห็น ทำไมคุณถึงกล้า ?
ผมเจอปัญหาตั้งแต่เด็ก บ้านอยู่ปอน เขาจะตัดถนนผ่านที่นาผม ถนนที่ไปห้วยโก๋น ตรงนั้น นาของพ่อ ทำถนนแล้วบอกว่าจะได้ค่าชดเชย ถนนเสร็จยังไม่ได้ พ่อไปทวง เขาบอกจ่ายมาแล้ว อ้าว จ่ายให้ใคร ผมร้องเรียนตั้งแต่เรียนอยู่มัธยมฯ ทำหนังสือ เพราะโดนโกง มันฝังใจ คุณเป็นข้าราชการ ทำไมทำแบบนี้ เขาอ้อมๆ แอ้มๆ บอกจ่ายแล้ว คนพวกนั้นก็ย้ายไปแล้ว
ที่สุดคือว่างเปล่า..
ก็ไม่ได้อะไร บ้านผมเป็นเขตการสู้รบ ดงคอมมิวนิสต์เลย ตอนนั้นยังไม่ได้เข้าร่วม จนมาหลังสิบสี่ตุลาฯ ได้เข้าร่วมโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยผ่านมาทางศูนย์นักเรียนภาคเหนือ นิสิตจุฬาฯ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง จัดตั้งศูนย์นักเรียนน่าน ตอนหลังไปเรียนรัฐศาสตร์ รามฯ ก็ทำกิจกรรม ถูกจับตอน 6 ตุลาฯ ที่ธรรมศาสตร์
ติดคุก ?
ติดสามสี่วันที่คุกบางเขน พ่อประกันตัวออกมา กลับบ้านพักหนึ่ง โดนมรสุมเยอะ จะลงทะเบียนต่อ ไม่ทันได้ลง เพื่อนชวนเข้าป่า ผมเข้าทางสุราษฎร์ฯ จัดตั้งสายรามฯ จะลงใต้ อยู่ประมาณปีนึง กลับขึ้นมากว่าจะถึงน่านก็ปี 21 อยู่ถึงปี 23-24 กลับไปเรียนต่อรามฯ ไม่จบ ออกมาทำงาน งานการเมือง ขนคนออกจากป่า ทำยังไงให้พรรคพวกเราเดินทางกลับโดยปลอดภัย ก็เสี่ยงอยู่ แต่รอดพ้นมาได้แบบเคว้งๆ เรียนไม่ทันเพื่อนแล้วด้วย เพราะมัวแต่ออกมาวิ่ง สายจัดตั้งผมเป็นพวกที่คลุกคลีกับทางอีสานใต้ เขาทำเรื่องเจียระไนพลอย ไปเอาพลอยเขมร บางคนค้าขายจนรวย เรามีกองทัพ มีพันธมิตร ก็คิดกันว่าทำไมเราไม่เอาพลอยมาทำธุรกิจของพรรค ต่อมาผมเลยถูกส่งไปเรียนเรื่องพลอย คัดพลอยได้ ฝึกเจีนระไน ถ้าเหตุการณ์การเมืองไม่พลิกผัน ผมอาจเป็นพ่อค้าพลอยที่ใหญ่มาก
ที่ว่าพลิกผันคือ..
เขมรแตก เขมรแดงหมดอำนาจ สายการเมืองที่เราเชื่อมกันอยู่ขาด ทำต่อไม่ได้ ตอนหลังย้ายไปเอาจากศรีลังกา แต่ได้ไม่มากพอ เลยมองออกไปที่ออสเตรเลีย วิเคราะห์กันว่าถ้าเราทำจริงๆ จังๆ มีโอกาสพลิกฟื้นได้ เป็นงานเศรษฐกิจของพรรค ผมได้ไปออสเตรเลีย แต่ไม่สามารถเจาะเข้าไปในเหมืองพลอยได้ เพราะมีกลุ่มพ่อค้าอาวุธครองสัมปทานผูกขาดอยู่ เลยไปจับตะหลิวอยู่ในครัว
นานเท่าไร
สี่ปี ยิ่งกว่าธรรมนัสอีก (หัวเราะ) กลับมาแรกๆ ทำอะไรไม่ได้
ได้เงินมามั้ย
ก็ไม่เท่าไร เป็นโรบินฮูด เหนื่อย ชีวิตตะลอนๆ อยู่ซิดนีย์ปีกว่าแล้วย้ายไปอยู่เมืองชายหาด
กลับเพราะ..
โดนจับสิครับ อยู่เกินวีซ่า
ไปพลาดท่ายังไง
ขยันไปหน่อย ทำงานสองจ็อบ บางคนอยู่ก่อนได้จ็อบเดียว มันหาเรื่องดันผมออก ก็แค่นั้น แจ้ง ตม. ว่าไอ้นี่ผิดกฎหมาย คนไทยด้วยกันนี่แหละ ผมทำกะเช้ากะกลางคืน ร้านคนไทย ร้านฝรั่งก็เคยพักหนึ่ง ทำอาหารอิตาเลียน ทั้งอาหาร ทั้งไวน์ กาแฟ พิซซ่า คลุกคลีมาตลอด กลับมา ไปทำร้านอาหารอยู่เชียงใหม่ พอดีซื้อที่ตรงนี้ไว้ ที่พ่อตา ลงมะขามหวานไว้ตั้งแต่ซื้อ เลี้ยงไก่ ค่อยๆ ทำทีละน้อย อยากพัฒนาให้ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง แม่บ้านเขาก็เห็นด้วย ลุยด้วยกันมา จากไม่รู้อะไรเลยก็ฝึกตัวเองทุกอย่าง ทำคลอดหมู เรียนรู้เอง จนมีหมูสองร้อยตัว เลี้ยงวัว ต้มเหล้า สองคนผัวเมีย
มีคนงานมั้ย
ไม่มี มีลูกสองคน คนโตจบวิศวะฯ โยธา แต่งงานแล้ว คนเล็กเรียน มช. ปีสาม ห่างกันสิบห้าปี เมียเดียวนะ ..ก็อยู่มาแบบนี้ ว่างก็ลงไปช่วยงานชาวบ้าน เขาเดือดร้อนอะไร ไปช่วยเคลียร์
ช่วยอะไร
ส่วนใหญ่ดูเรื่องอาชีพ แนะนำเรื่องส่าเหล้า ให้เอาไปเลี้ยงหมู แรกๆ คนไม่เชื่อ บางคนเลี้ยงหมูดำอย่างเดียว ผมบอกดำกับขาว ใช้เวลาเท่ากัน ต้นทุนเท่ากัน แต่ตอนขาย หมูขาวราคาดีกว่า เขาว่าหมูขาวต้องกินหัวอาหาร ผมบอกไม่ต้อง มันกินส่าเหล้า คนไม่เชื่อ มาดูสิ เขามาดู ไปๆ มาๆ สุดท้ายยอม ผมถามทำไมตอนนี้ไม่เลี้ยงหมูดำ เขาบอกไม่เอาแล้ว ขาวดีกว่า กำไรดีกว่า ..ก็บอกแล้ว (หัวเราะ)
ความรู้ทางการเกษตรส่วนใหญ่ฝึกเอง หรือเอามาจากไหน
นิสัยผมเป็นพวกน้ำไม่เต็มแก้ว ชอบเรียนรู้ สู่การปฏิบัติ ได้ผล ก็บอกต่อ อย่างเอาเปลือกข้าวโพดให้วัว หลังๆ คนอื่นทำตามหมด แต่ก่อนไม่มีใครทำนะ แม้แต่ฝุ่นข้าวโพด ของเหลือทิ้ง คนน่านไม่เคยทำ ตอนนี้เริ่มแย่งกันแล้ว จากโลละบาท ตอนนี้สามบาท รู้อะไร ผมบอกหมด ไม่หวง
การกินเหล้าของคุณมีกฎกติกาอะไรยังไงมั้ย
ถ้าไม่ใช่เพื่อนสนิท ผมไม่กิน เพราะบางคนกินแล้วแย่งกันพูด สุดท้ายก็ทะเลาะโวยวาย เรากินกับเพื่อนรู้ใจดีกว่า กิน คุย สบายใจ ขัดคอบ้างก็อยู่ในขอบเขต ถ้ามีคนแปลกหน้ามา ผมไม่กินเยอะ รู้ตัว คนออกจากป่ามาจะระวังเรื่องพวกนี้เป็นพิเศษ เราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ถูกสอนมา เรามีประวัติ ต้องระวัง ผ่านการต่อสู้มาแล้ว ต้องระวังตัวทุกฝีก้าว แม้แต่เรื่องโควิด คนอื่นติดกันเยอะ เราศึกษาว่าทำยังไงให้รอด เหล้าเหมือนกัน กินยังไง กับใคร ต้องรู้ ผมไปที่ไหนๆ เขาให้ชิม แต่ชิมมากไม่ได้ เราต้องดูแลตัวเอง
มีเหล้าที่ชอบเป็นพิเศษมั้ย
ไม่มี และพวกเบียร์ช้าง สิงห์ ลีโอ กินไม่ได้เลย ปวดหัว พรุ่งนี้ทำงานไม่ได้
ไม่เกี่ยวว่าต่อต้านเรื่องทุนใหญ่ ?
ไม่ๆ ..อยู่ออสเตรเลียก็กินไวน์ เชฟมันจะคอยบอก โต๊ะนั้นไวน์ดี ถ้าเหลือ เก็บไว้ให้นะ ชิมมาเยอะ ที่ว่าอร่อยๆ เลิกงานแล้วเรียกว่าเปิดโกดังกินกันเลย ที่เมืองไทย บางคนทำไวน์มะขามป้อม หมากเม่า อะไรอีกซะป๊ะ มันไม่ได้เรื่อง อย่างนี้เรียกว่าไวน์ด้วยเหรอ ที่ผมกินมามันไม่ใช่แบบนี้ (หัวเราะ)
อยู่คนเดียวดื่มมั้ย
ไม่ค่อย นอกจากว่ามียาดองดีๆ กรึ๊บเดียวก่อนอาหาร มีเพื่อนคนหนึ่งเขาบอกว่ากินเหล้าแค่สองเวลา คือเวลาที่กับข้าวไม่อร่อย กับเวลาที่กับข้าวอร่อย โดยเฉพาะพวกลาบ คุณลองก็ได้ ถ้ากับข้าวไม่ได้เรื่อง เอาสักกรึ๊บ
พอมองเห็นความหวังมั้ยว่าสุราพื้นบ้านจะถูกต้องชอบธรรมโดยกฎหมาย ?
ยาก เพราะการผูกขาดมันลงรากลึก
แล้วอย่างที่พรรคก้าวไกลกำลังทำ ดูเป็นไปได้มั้ย ?
ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง เป็นผลประโยชน์ของชาวบ้าน ส.ส. ในพื้นที่คนไหน ถ้าคุณไม่เห็นประโยน์ชาวบ้าน คุณจะให้ชาวบ้านเชื่อใจคุณได้ยังไง ผมว่าถ้าประชาสัมพันธ์มากๆ ว่าชาวบ้านได้ประโยชน์ ปัญหาคือมันอยากให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ หรือมันเอาประโยชน์นายทุนของพรรคเป็นตัวตั้ง ถ้านายทุนผูกขาดมันกุมไว้แบบนี้ก็ยากที่จะทำ ผมเชียร์ให้พูดกันเยอะๆ ให้ผู้สมัครแต่ละคนรับรู้ความต้องการชาวบ้าน เพราะถ้าเราพัฒนาเหล้า เบียร์ ได้ มันดีต่อทุกฝ่าย นี่เราไม่เปิดโอกาสให้เขา ก็เลยหยุดนิ่ง หัวใจคือไม่เปิดโอกาส มันก็ไม่สามารถพัฒนา
ภาคภูมิใจ หรือว่ารู้สึกผิดมั้ยที่มาต่อสู้เรื่องเหล้า ที่เขาว่าเป็นอบายมุข ?
โตมาผมก็สัมผัสเหล้าของชาวบ้านมาตลอด พิธีบวงสรวง เลี้ยงผี งานบวชงานแต่ง ชาวบ้านก็กินกันมานาน วัตถุดิบเห็นๆ อยู่ ไม่น่ามีอะไรผิดปกติ ผมลงไปช่วยเขา สิ่งที่เขาเคยทำมา ผมไม่เคยรู้สึกตะขิดตะขวงใจ แต่ถ้าลักลอบตัดไม้ ผมไม่เอา ยาเสพติด ผมไม่เอา แต่ถ้าคุณโดนจับเรื่องเหล้า ผมช่วย อุบัติเหตุ ผมช่วย แต่ถ้าค้าผู้หญิง ยาเสพติด ผมไม่เอาด้วย ญาติพี่น้อง ก็ไม่ช่วย เหล้ามันเป็นวิถีชีวิตของคน
มีผลต่อความรักความสัมพันธ์ ?
ได้เยอะเลย ถ้าไม่พูดในวงเหล้า จะไม่ได้พูด บางสิ่งไม่ถูกเปิดปากเลย แต่เปิดในวงเหล้า คุยลึก ใช้เหล้าเป็นสื่อ ผมว่าไม่ผิด ที่ผมช่วยมา บางทีเชื่อมั้ย คนที่ลำพูนโดนจับ ผมอยู่น่าน ต้องตามไปช่วย เอารถบัสไปคลี่คลายปัญหาได้ พะเยา ก็เคยไป
ทำยังไงให้คลี่คลาย ..ถือปืนไป ?
ไม่ๆ เราต้องดูว่าจุดนั้นใครคุม ต้องรู้ ศึกษา ไปเรื่องแบบนี้ผมไม่กินเหล้า นั่งคุยดีๆ บางทีเจ้าหน้าที่ถามผม คุณเป็นใคร มาช่วยเขาทำไม ทำเหล้ามั้ย ไม่ ผมบอกว่าผมไม่ได้ทำนานแล้ว แต่ผมเห็นชาวบ้านโดนรังแกไม่ได้ ผมไม่อยากให้ชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ปะทะกันด้วยความรุนแรง มีอะไร คุยกันดีกว่า ไล่ไปไล่มา รุ่นนั้นรุ่นนี้ โอเค เรียกสรรพสามิตมา จบได้มั้ย จบ คือเราต้องรู้ว่าใครคือหัวโจกที่จะมาเจรจา บางคนกินเหล้าแล้วจะไปคลี่คลายปัญหา มันไม่ได้
ในฐานะคอมฯ เก่า ภูมิใจหรือรู้สึกว่าเป็นบาดแผล ?
ณ เวลานั้น เราคิดแบบนั้นก็ถูก วันนี้ถือเป็นประสบการณ์ ผ่านวิกฤติมา ผ่านมาหมด สำหรับผม ไม่มีช่วงไหนหนักเท่าชีวิตการต่อสู้ช่วงอยู่ในป่า ท้อเมื่อไร เราคิดถึงป่า ทำให้มีกำลังใจดี คุยกับแฟนว่าทุกอย่างมันเป็นเรื่องชั่วคราว ไม่ถาวร อีกสักระยะก็จะผ่านไป เราผ่านมาเยอะ ถ้าไม่เคยฝึกฝนหล่อหลอม คงไม่มาถึงจุดนี้ ..ผมออกจากป่ามาแต่ตัว สู้มา ทำขึ้นมา โดยไม่มีทุนรอนเลยด้วยซ้ำ ค่อยทำทีละเล็กละน้อย
ทุกวันนี้แฮปปี้กับชีวิตดีมั้ย
ก็พอได้ แต่ไปเทียบกับข้าราชการเกษียณคงไม่ได้ อายุเท่าๆ กัน เขามีเงิน มีเวลา แต่เราไม่มี มีแต่เครดิตธนาคาร (หัวเราะ).
เรื่องและภาพ: วรพจน์ พันธุ์พงศ์
หมายเหตุ : สัมภาษณ์ก่อน พรบ.สุราก้าวหน้า ผ่านสภาวาระแรก ด้วยมติเห็นด้วย 178 เสียง ไม่เห็นด้วย 137 เสียง ก่อนตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 25 คน พิจารณาวาระสองต่อไป