“อยากให้คนเมืองน่านได้กินเบียร์อร่อย ง่ายๆ แค่นั้นเลย เบียร์อร่อยมีอีกเยอะ แต่เราต้องดื่มอยู่แค่สองสามเจ้า” ดรีม-สัณหธรรม แลสันกลาง บอกเหตุผลที่เปิดร้านคราฟต์เบียร์ของตัวเองในจังหวัดน่าน
เขาเกิดที่จังหวัดแพร่ แต่ย้ายมาอยู่น่านตั้งแต่เด็ก ใช้ชีวิตวัยเรียนในกรุงเทพฯ จบสถาปัตย์ ลาดกระบัง แล้วทำงานได้ไม่นานก็ลาออก กลับบ้านมาบวชตามประเพณี
ก่อนกลับ เขาตระเวนเที่ยว กิน ดื่ม จนได้ไปเจอกับ ‘วัฒน์-ศิริวัฒน์ การชัยศรี’ พ่อมดเบียร์แห่งพัทยาผู้ก่อตั้ง Wizard Brewery and Restaurant การได้เจอพี่ที่เคารพคนนี้ถือเป็นโมเมนต์เปิดโลกให้เข้าสู่วงการคราฟต์เบียร์
หลังบวชได้หกเดือน เขาสึกออกมาจับงานธุรกิจอู่ซ่อมรถของที่บ้านชื่อเดียวกับชื่อพ่อ ‘เต้ ดีเซล’ และมีงานเสริมเป็นเซลส์ขายเบียร์ให้กับศิริวัฒน์ เวลาว่างจากอู่ซ่อมรถ เขาแบกเบียร์ที่อยากนำเสนอเดินทางไปทำความรู้จัก สร้างเครือข่ายร้านต่างๆ ในโซนภาคเหนือ
“พี่วัฒน์คอยให้คำแนะนำ สอนหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับการทำเบียร์ เรียนรู้จากเขามาตลอด ได้ไปดูโรงต้มเบียร์ที่ต่างประเทศก็เพราะเขา เขาบอกผมว่าการเป็นเซลส์ขายเบียร์จะทำให้ได้ประสบการณ์อะไรอีกเยอะ อาจได้ไปเจอธุรกิจที่อยากทำ มีความรู้เรื่องการต้มเบียร์เอง จนสามารถสร้างแบรนด์ของตัวได้เอง”
ปัจจุบันดรีมอายุ 32 ปี พ่อลูกหนึ่งคนนี้ขยับจากการเป็นเซลส์ เริ่มต้นเดินตามความฝันกับการเป็นเจ้าของร้านคราฟต์เบียร์เล็กๆ ในเมืองน่านชื่อ Rocket to the moon
ทำไมคราฟต์เบียร์แพง
สรรพสามิตเก็บภาษีเหล้าเบียร์ 48% สมมติเบียร์มีต้นทุน 30 บาท เสียภาษี 48% ก็ตกขวดละ 60 บาท ทำให้เบียร์ต้องขายในราคาสูง กฏหมายบีบให้คนไม่สามารถต้มเบียร์ในราคาถูกได้ ถ้าจะต้มเบียร์ต้องมีเงินจดทะเบียนถึงสิบล้านบาท แบบที่ยังไม่รวมการสร้างโรงต้ม
รัฐบอกว่าการจดทะเบียนสิบล้านนี้เพื่อจะได้มีโรงงานที่ได้มาตรฐานให้คนในประเทศได้ดื่มเบียร์คุณภาพดี ถามว่ารายย่อยที่ไหนจะมีเงินสิบล้านต้มเบียร์และมีกำลังผลิตหนึ่งแสนลิตรต่อปีได้ หากว่าต้มไม่ถึงหนึ่งแสนลิตร ทำได้แค่หมื่นลิตรต่อปีก็ยังคงเก็บภาษีเต็มแสนลิตรเหมือนเดิม คนทำเบียร์รายย่อยไม่มีใครทำถึงแน่นอน นายทุนเท่านั้นที่ทำสเกลใหญ่ได้สบายๆ อยู่แล้ว กำไรปีหนึ่งเป็นแสนๆ ล้าน
ประเทศไทยมีปัญหาที่นักต้มเบียร์ไม่สามารถต้มเบียร์ในไทยได้ ต้องหนีไปต้มที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว แล้วส่งกลับเข้ามา คราฟต์เบียร์ไทยบางเจ้าไปต้มฝั่งยุโรปก็มี ถือว่าดีและราคาโคตรสูง ผมเคยไปดูแลการผลิตต้มเบียร์ให้พี่วัฒน์ที่กัมพูชาที่โรงต้มเบียร์ ชื่อว่า Kingdom Breweries
โรงต้มเบียร์บ้านเขาเป็นยังไงบ้าง
จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมโรงต้มเบียร์ เก็บค่าเข้า มีเบียร์มาเสิร์ฟ ช่วงระหว่างนั่งรอจะมีบาร์ สามารถกดเบียร์ดื่มฟรีได้ทั้งวัน เป็นเบียร์ตัวที่ต้มเองในโรงงานหรืออาจมีเบียร์ของเจ้าอื่นที่มาต้มที่โรงนี้ด้วย มีให้ชิมวนไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยซ้ำ ส่วนใหญ่ที่ไปเจอก็คือคนไทยเกือบทั้งนั้น
ส่วนโรงต้มที่ไทยเท่าที่เห็นจะเป็นแบบมาแชร์กัน เหมือนการลงทุนร่วมกัน ลงทะเบียนสิบล้านก็หาหุ้นมาสิบคน ตกคนละล้าน คนหนึ่งก็สามารถผลิตเบียร์ที่เป็นแบรนด์ของตัวเองได้ มีเวทีของนักต้มหน้าใหม่ เหมือนเป็นคอมมูนิตี้ที่มาใช้พื้นที่ร่วมกัน พอมาแชร์กันช่วยให้เกิดการผลิตที่ทั่วถึงและโอกาสในการเกิดเบียร์ใหม่ๆ มีเพิ่มมากขึ้น
อยู่ต่างจังหวัดไปใช้บริการได้มั้ย
ต้นทุนการผลิตอยู่ที่สองถึงสามแสน มีทุน มีเบียร์ที่อยากจะทำ ก็เข้าไปคุยได้เลย แม้ว่าคุณจะโนเนม จะมีราคาสำหรับต้มขั้นต่ำ ส่วนใหญ่โรงต้มเบียร์ในไทยจะมีให้เห็นทางกรุงเทพฯ และแถวนนทบุรี ทางภาคเหนือยังไม่ค่อยเห็น
ต้มเบียร์เองเป็นเรื่องผิดกฏหมายคุณคิดเห็นอย่างไร
การต้มเบียร์กินกันเองมันไม่ได้ร้ายแรงเหมือนการทำเหล้าเถื่อนที่ใส่นั่นนี่แล้วปลอมฉลากขาย การทำเบียร์เราเลือกสรรวัตถุดิบที่ดีมาทำ อยากจะทำเบียร์อร่อยๆ ทำด้วยความรัก ความใส่ใจ ใส่วัตถุดิบทุกอย่างที่ดี ไม่ต้องกลัวว่าจะเอาเบียร์ปลอมมาใส่ขาย คนกินเขาก็รู้ ไม่มีใครโง่
กฏหมายเขียนขึ้นมาเพื่อให้เราลงทุนเยอะๆ ให้สินค้ามีคุณภาพที่ดี ลองคิดดูว่าถ้าเราทำกับข้าวคนเดียวก็ใช้วัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพได้ จะทำเบียร์ถังหนึ่ง 20 ลิตร ก็ทำให้ออกมาดีได้ ไม่ใช่ว่าต้องมีโรงงานใหญ่โตสิบยี่สิบล้านถึงจะได้เบียร์ออกมาดี ต้องมีเครื่องมือ เครื่องจักร มีอุปกรณ์ที่ตามกำหนดแล้วเบียร์จะออกมาดี พอกฏหมายเป็นแบบนี้ คนจนๆ หรือคนที่มีต้นทุนไม่เยอะ ก็ทำไม่ได้ เบียร์อร่อยๆ ส่วนใหญ่ก็เกิดจากการทำในครัว ทำกันแบบบ้านๆ ทั้งนั้นแหละ
การต้มเบียร์เหมือนการทำกับข้าวเข้าครัว ?
ส่วนผสมหลักของเบียร์คือ น้ำ มอลต์ ฮ็อป และยีสต์ ส่วนใหญ่มอลต์จะมาจากฝั่งเยอรมัน ฮ็อปมีหลากหลายสายพันธ์มาจากอังกฤษ ยีสต์ก็มีมากมาย ผลไม้จากในไทย บางอย่างเอามาจากนอก บางอย่างก็ใช้ของท้องถิ่น คือต้มเบียร์แค่ทำดื่มกัน พอกฏหมายไม่แก้ มีแต่โทษหนักๆ ก็ต้องแอบทำ ต้องหาทุกช่องทางซิกแซกกันไป ไม่ว่าจะเป็น กัญชา เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ มีหมดเลย ที่ต้องแอบขาย แอบทำกันแบบใต้ดิน ในไทยมีหลายเจ้าผลิตชุด kit สำหรับต้มเบียร์เองในบ้าน มีคู่มือทุกอย่าง มียีสต์ มีฮ็อป มีมอลต์ เตรียมไว้ให้หมดเลย ฝึกการต้มเอง ได้ทดลองทำ
ต้มแล้วขายผิดกฏหมาย ยังทำไม่ได้ รัฐสามารถยัดข้อหาได้หมดเลย วันดีคืนดีมีคนฟ้องเขาก็มาจับเราได้ มีแค่อุปกรณ์ต้มเบียร์อยู่ในบ้าน ผิดกฏหมายโดนปรับสองสามพัน แล้วถามว่าอุปกรณ์ต้มเบียร์ก็คือหม้อก๋วยเตี๋ยว อุปกรณ์อื่นๆ ก็ของบ้านๆ เลย กระทะ เตา ตู้เย็น
อย่างร้านที่พี่วัฒน์ที่พัทยา เขาทำได้ถูกต้องตามข้อกฏหมาย Brew Pub มีโรงต้มเองได้ในประเทศ แต่ขอบเขตก็คือขายได้เฉพาะพื้นที่ตัวเอง เอาออกไปขายนอกพื้นที่ก็คือผิดกฏหมาย
ขนาดแค่ถ่ายรูปแก้วเหล้าเบียร์ยังผิดกฏหมายเลย
กฏหมายเกี่ยวกับเหล้าเบียร์แรงมากกว่ายาบ้า หรือขับรถชนคนตาย การทำเหล้าเบียร์ปรับหนัก ขายออนไลน์ หรือทำการโฆษณา ขั้นต่ำก็โดนปรับห้าหมื่นถึงห้าแสน
ปกติผมจะโพสต์อัปเดตข่าวคราวในเฟซบุ๊กส่วนตัว ร้านเปิดใหม่ๆ ก็เริ่มโพสต์พวกเบียร์หรือแอลกฮอล์ เปิดร้านใหม่ก็อยากโฆษณาให้รู้ว่าเป็นร้านคราฟต์เบียร์ ต้องโพสต์เบียร์ในตู้ หลังๆ มีพวกปกครองมาเล่น ถ้าเขาจะมาจับก็ยัดข้อหาได้หมด ช่วงนี้ในเพจก็ลบภาพที่เป็นเบียร์ออกไปหมดเลย อยู่ยากจริงๆ
วิธีแก้การตลาดทำยังไง
ตอนนี้ก็อาจจะได้แค่ลูกค้าที่บอกต่อกัน ใครมาก็จะบอกว่ามีเบียร์ใหม่ๆ ตลอด แวะเข้ามาได้ ผมจะทำกลุ่มไลน์ เวลามีอัปเดตก็จะลงแค่ในไลน์กลุ่มเท่านั้น ไม่ได้โพสต์ลงเพจเพราะว่ามันผิดกฏหมาย ถ้าอยู่ในไลน์เฉพาะกลุ่มอยู่แล้ว คนที่เข้ามาก็รู้จักกันหมด
พรบ. สุราก้าวหน้าโดยคณะก้าวไกล ที่เสนอแก้ไข ม.32 มีหวังมั้ย
ถ้าทำเสรีได้ ชุมชนจะได้ผลประโยชน์ในการนำวัตถุดิบที่มีอยู่มาเพิ่มมูลค่าในการใช้ทำเบียร์ จะมีการซื้อขายที่หลากหลายได้มากกว่าการเอาไปทำของอบแห้งหรือแค่ขายของสด ทำเบียร์เองก็แปรรูปมาเป็นสินค้าของชุมชนได้ นักต้ม นักชิมมีมากขึ้น เรื่องขนส่ง คนส่งของ เศรษฐกิจเกี่ยวกับเครื่องดื่มก็มากขึ้น เงินสะพัดมาเรื่อยๆ อยู่แล้ว เศรษฐกิจที่มีแบรนด์เบียร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมา ผลประโยชน์ทั่วกันหมด ทุกอย่างต่อยอดกัน ที่สำคัญพอทำเบียร์เองก็ส่งออกต่างประเทศได้ ทุกวันนี้ที่ดื่มๆ กัน ก็ต้องไปสั่งจากต่างประเทศเข้ามา
ชาวต่างชาติมาได้เห็นโรงต้มในชุมชนที่ทำเบียร์อร่อย เขาอาจจะรับไปขายต่างประเทศ สร้างมูลค่ามหาศาลได้ ทำเป็นศูนย์การเรียนรู้เป็นที่ท่องเที่ยวได้อีก คนมาดูได้รู้ว่าโรงต้มเบียร์ของแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดเป็นยังไง นึกภาพวงการกาแฟอะไรประมาณนั้น ไปดูโรงคั่ว ไปดูต้นกาแฟ มีผลิตภัณฑ์ให้ชิม มีขั้นตอนการผลิต ศึกษาว่าเอาวัตถุดิบมาจากไหน เป็นความรู้ส่งต่อกันไปให้กับคนรุ่นหลังที่เขาสนใจอยากจะทำต่อ
ม.32 ที่รัฐออกกฏหมายมา ห้ามโปรโมต ห้ามโฆษณา ห้ามมีโลโก้ พอโฆษณาไม่ได้ ถ่ายกระป๋องเบียร์ไม่ได้ แม้แต่โลโก้ก็ยังไม่ได้ แล้วจะขายยังไง เรียกว่าทำให้วงการคราฟต์เบียร์ในประเทศไทยค่อนข้างจะลำบาก อะไรนิดหน่อยก็โดนหมด
ฉลากคนไทยทำแบรนด์เป็นรูปผี ดูหน้ากลัวก็ถูกตีกลับให้ไปแก้มาใหม่ และแบรนด์ที่ทำเบียร์นั้นจะไม่สามารถเปลี่ยนโลโก้ได้ ถ้าทำฉลากนี้ก็ต้องทำตลอดไป ห้ามเปลี่ยน เมืองนอกทำเบียร์มาแต่ละตัว ไม่ซ้ำฉลาก ทำลวดลายใหม่ๆ กระป๋องเบียร์มีกราฟิกลายสวยๆ เป็นงานศิลปะ บางคนดื่มหมดก็นำมาเป็นของสะสมได้อีก
กฏหมายไทยห้ามโปรโมตเหล้าเบียร์เพราะว่าดูเป็นบ้านเมืองที่ไม่มีศีลธรรม ไม่ให้มีนักดื่มหน้าใหม่เกิดขึ้น เพื่อลดอุบัติเหตุ รัฐให้งดดื่ม ถามว่าการไม่ให้โปรโมต สุดท้ายคนที่เขาอยากดื่มจริงๆ ก็เดินไปซื้อเบียร์ร้านสะดวกซื้อ ไม่ได้เกี่ยวกับร้านคราฟต์เบียร์เลย เป็นเรื่องการดูแลตัวเองมากกว่า ร้านหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ผิด
กฏหมายเยอะขนาดนี้ ก็ยังทำร้านร้านคราฟต์เบียร์ใน ตจว. ?
ผมมีอุดมการณ์คืออยากให้คนได้กินเบียร์อร่อย ได้รู้จักคราฟต์เบียร์มากขึ้น อยากให้มีนักดื่มหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้น อยากให้มีการรวมตัวของนักต้มเบียร์ เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจใหม่ ขอเป็นจุดเริ่มต้นให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้เกิดขึ้นมา
คุณสามารถดูแลอุดมการณ์นี้ได้ ? ในสถานการณ์แบบนี้
ได้ ทุกวันนี้ก็ยังมีคนที่มาอุดหนุนซัพพอร์ตกันอยู่ เริ่มต้นอาจจะยากเพราะเป็นร้านใหม่ คนยังไม่รู้จัก ก็ต้องใช้เวลา เปิดมาแรกๆ ไม่มีคนเลย คนเห็นเบียร์แพง ไม่เคยดื่ม ก็ไปร้านอื่น ส่วนมากที่มาก็เป็นกลุ่มคนรู้จัก โจทย์ต่อไปคือจะทำยังไงให้คนอื่นๆ ในจังหวัดมาร้านเรา
จากเป็นเซลส์ขายเบียร์มาเปิดร้านเบียร์ได้ไง
พอเจอโควิดก็ว่าง ไม่ได้เดินทางไปไหน สถานการณ์ร้านเหล้าเบียร์มันขายยาก ก็ค่อยๆ เริ่มต่อเติมร้านไปเรื่อย ที่เลือกมาเปิดตลาดคราฟต์เบียร์ที่น่านเพราะคิดว่าตัวเองมีคอนเนกชั่นค่อนข้างเยอะ รู้ว่าเมืองน่านทำร้านคราฟต์เบียร์ยาก คนดื่มคราฟต์เบียร์น้อย แต่อยากจะลอง จังหวะไม่ดีหรอก แต่ว่าอยากเริ่มทำแล้ว อยากเอาเบียร์ที่ชอบมาขาย อยากให้คนที่มาได้สนุกกับความแปลกใหม่ ได้เจอผู้คน แลกเปลี่ยนความรู้ เจอสังคมใหม่ๆ เป็นสิ่งที่อยากจะทำ
พี่วัฒน์ก็บอกตลอดเวลาว่า เขาไม่ได้อยากให้ผมเป็นแค่เซลส์ขายของ เติบโตไปเปิดร้านทำเองจะไปต้มเบียร์กินเองที่ไหนก็ได้ เขายังคอยซัพพอร์ตตลอด ผมมั่นใจและอยากลองทำร้านดู เปิดร้านวันแรกเป็นอะไรที่มีความสุขมาก ทำมาได้สี่เดือนมาเจอโควิดก็เงียบ ดรอปลงมา ต่างกับตอนช่วงปีใหม่ลูกค้าเยอะมาก เต็มทุกวัน ทะลุไปข้างนอก ได้เจอลูกค้าใหม่ๆ ได้เจอคนต่างจังหวัด มีคนคุยกับผมว่าในน่านมีร้านแบบนี้ด้วยเหรอ รู้สึกได้กำลังใจ ช่วงนี้ก็เป็นไปตามสถานการณ์คือรอดูต่อไป
มีความรู้สึกยังไงกับสถานการณ์ตอนนี้
ช่วงนี้ยังโอเค ประคองธุรกิจไปได้อยู่ ยังไม่ท้อหรือคิดจะเลิก ตั้งเป้าไว้ที่สองสามปีก็น่าจะวัดผลได้ว่าจะทำอะไรต่อไป ถ้ามีลูกค้าเยอะขึ้น ร้านขยายใหญ่ขึ้นก็อาจจะย้ายไปที่อื่น จะได้เติบโตเป็นร้านคราฟต์เบียร์ใหญ่ๆ แต่ตอนนี้ทำได้แค่เป็นไปตามสถานการณ์ ไม่รู้เลยว่าคำสั่งจะประกาศอีกทีเมื่อไหร่
วางแผนไว้ว่าจะทำอีเวนต์มาหลายครั้ง แต่สถานที่หรือระบบยังไม่ลงตัว ตอนนี้โอเค อยากจะจัดงานโปรโมตร้านแบบเสียค่าบัตรพันหนึ่งสามารถดื่มได้ทั้งงาน อยากจัดแบบนี้สักครั้งให้คนน่านได้รู้จัก หรือเอาเบียร์ของร้านมาให้ชิม หรือเบียร์ที่ต้มโดยคนในจังหวัดน่านมานำเสนอให้ได้รู้จัก ชวนวงดนตรีของคนในจังหวัดมาสร้างความสนุกสนาน คนในจังหวัดมีของอะไรมานำเสนอได้ แต่พอพร้อมก็จัดงานไม่ได้ โควิดมาอีกแล้ว ตอนนี้ยังไหวอยู่ แต่ถ้าปิดยาวๆ ก็ลำบาก โชคดีที่ว่าเรายังมีงานหลัก มีรายได้ที่สามารถประคองความฝันตรงนี้ได้อยู่
คิดเห็นยังไงเกี่ยวกับเรื่องที่ทางจังหวัดสั่งปิดร้านเหล้าอีกแล้ว
เขาไม่ลงมาดูว่าธุรกิจนี้ดำเนินชีวิตกันยังไง เหมารวมไปหมด เพราะร้านเหล้าเป็นสถานบันเทิง ตอนโควิดระบาดหนักๆ หยุดไปสักพัก ดูสถานการณ์ หลังจากนั้นก็คงต้องเพิ่มมาตรการเพื่อที่จะให้สถานประกอบการอยู่ต่อไปได้ ภาระต่างๆ ค่าเช่า ค่าพนักงานที่ต้องเอาเงินไปเลี้ยงดูแลครอบครัว ธุรกิจมีค่าใช้จ่าย ถ้าต้องชะงักยาวๆ เดือนสองเดือนจะมีอะไรซัพพอร์ต สถานบันเทิงปิดก็จบ แต่ถ้ามองดีๆ ตลาดสด งานวัด งานบวช งานเลี้ยงผี ยังมีคนติด
โรคนี้ไม่ได้ติดแค่ร้านเหล้า โรงเรียน โรงพยาบาลยังติดได้ ฉะนั้น ก็ต้องเห็นอกเห็นใจกันบ้าง อยู่ดีๆ ปิดแล้วยังไงต่อ จะได้เปิดเมื่อไหร่ แอบขาย เดี๋ยวมีเจ้าหน้าที่มาตรวจก็โดนจับอีก มันอยู่ยากมากธุรกิจนี้
เหล้าเบียร์เป็นเรื่องไม่ดี ?
ต้องมองเรื่องความรับผิดชอบของบุคคล การดื่มต้องรู้ลิมิตมีสติ ถ้าดื่มจนเมาเละเทะ แบบนั้นไม่ได้อยู่ที่เครื่องดื่ม การดื่มมันคือการเอนเตอร์เทนตัวเอง ถ้ามีความรับผิดชอบ ดูแลตัวเองได้ก็จบ เหล้าเบียร์ถูกกล่าวโทษก่อนเสมอ การดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ขับรถไปชนคนตาย การรณรงค์ห้ามดื่มมันทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะว่าสุดท้ายคนที่อยากจะดื่มเดินเข้ามินิมาร์ท จะไปห้ามยังไง
มันมีผลประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องการขาย และกฏหมายก็ทำเพื่อเอื้อให้นายทุนไม่ต้องมีคู่แข่งจากความหลากหลายที่ควรจะมี บ้านเราควบคุมเรื่องเวลาด้วย แต่ถ้าซื้อเวลาที่ขายได้เก็บไว้ จะดื่มตอนแปดโมงก็ได้ ถ้าคนอยากจะดื่ม ทำไมอะ ดื่มแล้วไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ดูแลตัวเองดี รับผิดชอบตัวเองได้ก็ไม่มีปัญหา
คำว่าดื่มไม่ใช่แค่ความเมาขาดสติ ?
เป็นความสุนทรีย์ที่ถ้านั่งดื่มด้วยกันเล่าเรื่องว่า เบียร์ตัวนี้ใส่พริก ใส่ข่า ได้ชิมเบียร์เผ็ดๆ ซึ่งแค่นี้มันก็เป็นความสนุกแล้ว เรามีเบียร์ที่หลากหลายรสชาติ ราคาที่จับต้องได้ ดื่มแบบไม่ต้องซ้ำ
เบียร์กระป๋องหนึ่งดื่มคนเดียวก็เยอะนะ แต่ถ้าชวนเพื่อนมาแชร์แบ่งกันชิมก็ได้ดื่มอะไรใหม่ๆ หลายตัว นั่งพูดคุยกัน ยิ่งมีเยอะๆ ยิ่งสนุก เป็นสังคมแห่งการดื่ม วิวัฒนการการดื่มของเรายังล้าหลังมาก ไม่ได้ว่าใครหัวโบราณ แต่ความเป็นจริงเราควรได้ดื่มเบียร์อร่อยๆ มากกว่าที่มีให้เลือกอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่ผูกขาดแค่เจ้าสองเจ้า รสชาติกี่ปีก็เหมือนเดิม
วัฒนธรรมการดื่มอยู่คู่กับมนุษย์มาหลายพันปี ทุกวันนี้เบียร์เยอรมันยังต้มในโบสถ์อยู่ พระหรือแม่ชีก็ดื่มเบียร์ในโบสถ์ ญี่ปุ่นใช้น้ำจากบนภูเขามาทำเบียร์ ทางฝั่งยุโรปเอาน้ำจากยอดเขาหิมาลัยมาทำเป็นเบียร์ก็ทำได้ บางเจ้าต้มเบียร์แล้วเอาไปหมักในพีระมิดก็มี
ความคิดของคนที่อื่นไปไกลมากแล้ว แต่ประเทศเราก็ยังคงมีเรื่องกฏหมายที่ยังห้ามไม่ให้ทำ หยิบเบียร์มาสิบยี่ห้อ ฟังเรื่องเล่าสิบเรื่อง แค่นี้ก็ดื่มเบียร์เพลินแล้ว พอได้ดื่มไปแล้วบทสนทนาก็ไหลลื่น เกิดความสุนทรีย์หลายเรื่อง ไม่ใช่ยกแก้วชนๆ ดื่มๆ ชนๆ แล้วก็เมา คราฟต์เบียร์ค่อยๆ จิบช้าๆ ดมกลิ่น ชิมสัมผัส เบียร์ที่ใช้วัตถุดิบที่ดีดื่มนิดเดียวก็รู้สึกเมาแล้ว ไม่ต้องดื่มเป็นลังสองลัง ตื่นมาก็เมาค้าง
คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงความหลากหลายได้ คนที่มองว่าดื่มเบียร์เป็นเรื่องที่ผิดก็มี มองเป็นขี้เหล้าขี้ยา หรือมองว่าเป็นไฮโซดื่มคราฟต์เบียร์ก็มี รวมถึงเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชนิดเบียร์ก็ไม่มี ถูกผูกขาดอยู่กับความคุ้นเคยแบบทางเลือกที่มีสองสามเจ้าในประเทศ ความไม่เสรีมันเลยปิดกั้นอะไรหลายอย่าง ถ้ากฏหมายปลดล็อก ความคิดที่มีก็จะเสรีขึ้น ต่อยอดธุรกิจกันต่อไปได้
ความคิดเหล่านั้นมีอะไรบ้าง
ประเทศไทยมีวัตถุดิบที่เป็นผลไม้เยอะ แต่ไม่ได้เอามาใช้ในธุรกิจเครื่องดื่ม พอเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ก็ผิดกฏหมาย เกษตกรไม่สามารถเพิ่มมูลค่าตรงนี้ ถ้าเปิดให้เป็นเสรีได้ คนทำเบียร์ก็สามารถดึงเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัดมาใช้ ผมเปิดร้าน ใครจะต้มเบียร์ก็เอามาวางขายที่ร้านได้ เป็นหน้าร้านให้ นักต้มเบียร์จะได้ขายสินค้าของตัวเอง พูดแนะนำได้ว่าเบียร์นี้มาจากไหน ร้านเป็นเหมือนศูนย์กลางให้คนเอาเบียร์มาขาย
ต่างประเทศจะเอาวัตถุดิบบ้านเราไปผสมทำเบียร์เป็นของตัวเองเยอะ อย่างเบียร์ที่กระป๋องเป็นรูปสัตว์ประหลาด (ชี้ไปที่ตู้แช่) เป็นของนิวซีแลนด์ เขาเอากาแฟของดอยสะเก็ดที่เชียงใหม่ไปทำเป็นเบียร์ stout มีแบรนด์ตัวหนึ่งสร้างเรื่องเล่าของเบียร์ว่าเอากล้วยมาจากที่ไทย มีแบรนด์ที่นำขิงข่าเอาไปทำเบียร์ต้มยำกุ้ง ทำเบียร์ข้าวเหนียวมะม่วง เบียร์ต้มข่าไก่ยังมี เบียร์กะเพราด้วย แต่ที่ไทยวัตถุดิบของบ้านเราไม่สามารถทำเบียร์ของตัวเองได้ ที่น่านเท่าที่เห็นจะใช้กาแฟมณีพฤกษ์ มีมะแขว่น ลำไยก็พอเห็น ส้มสีทองก็ทำได้ มะม่วง ข้าวโพด มีมะไฟจีนเมืองน่านอีกที่นำผลผลิตมาทำเบียร์ได้
ที่น่านเท่าที่รู้มีนักต้มเบียร์เยอะแค่ไหน
สักสี่ห้าคน คนต้มเบียร์น้อย ย้ายไปอยู่จังหวัดอื่นก็เยอะ ต้มจริงๆ จังๆ อาจจะมีแค่คนสองคนซึ่งก็ไม่รู้ว่าพวกเขาไปอยู่ไหนกันแล้ว แต่แบบที่จะต้มเพื่อทำเบียร์ของจังหวัดน่าน ยังไม่มี
วันใดวันหนึ่งที่กฏหมายเปิดเสรี ลองต้มสักร้อยลิตรแล้วบรรจุขวดหรือกระป๋องขาย ต้มเท่าไหนเสียภาษีเท่านั้น เริ่มต้นไปเล็กๆ แบบนี้ก่อนก็ได้ พอเริ่มดังแล้วค่อยหาหุ้นส่วนมาทำ เปิดโอกาสให้คนที่อยากทำได้มีโอกาสในการเข้าถึงธุรกิจการทำเบียร์ดีๆ ในพื้นที่ท้องถิ่นได้
ส่วนความเป็นจริงที่อยู่ถามว่าต้องรวยมาจากไหนถึงจะทำโรงเบียร์ได้ เมืองน่านเป็นเมืองที่คนกินคนดื่มเยอะ เป็นเมืองที่เล็กๆ ที่คนในพื้นที่คุ้นเคยกับราคาและทางเลือกเป็นเบียร์ตลาด พอมีคราฟต์เบียร์เข้ามาก็ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ
ตู้แช่ในร้านคุณก็มีขายเบียร์ของนายทุนด้วย ?
ตอนนี้ผมไม่รู้สึกอะไรกับการมีเบียร์ตลาดวางขายในตู้ สุดท้ายถึงเราไม่กินคราฟต์เบียร์ การมานั่งดื่มเบียร์ตามท้องตลาดก็เป็นในแง่ของการอยากกินอะไรอื่นๆ มากกว่า มันไม่มีใครมาห้ามดื่มเบียร์ท้องตลาดหรอก แค่อยากให้คำแนะนำหรือข้อเท็จจริงอะไรหลายๆ อย่าง อยากให้รู้ว่าเบียร์ทำมาจากอะไร ทุกอย่างมีที่มาที่ไป เบียร์ไม่ได้ผิด ที่ผิดคือการผูกขาดอยู่ไม่กี่ยี่ห้อ เราไม่สามารถไปบังคับคนดื่มได้ มันเป็นความเสรีในการเลือกของผู้บริโภค
วงการคราฟต์เบียร์กำลังต่อสู้ขับเคลื่อนเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง ส่วนตัวคุณทำอะไร
การเปิดร้านที่น่านก็ถือเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลง เรามีอุดมการณ์ในการทำร้านที่อยากจะให้เบียร์มีความหลากหลาย อยากให้คนได้ดื่มเบียร์ที่อร่อยๆ มากกว่านี้ ดืื่มในราคาที่ถูกลงด้วย จะเป็นร้านเล็กๆ ที่ค่อยๆ ผลักดันในจังหวัดต่อไป.
nandialogue
เรื่องและภาพ: อธิวัฒน์ อุต้น