the letter

ที่ไหนก็ได้ แต่ไม่ใช่กรุงเทพฯ

สวัสดีครับพี่หนึ่ง

การพำนักอาศัยที่พะงันของผมในรอบแรกผ่านมาเกินครึ่งทางแล้ว เพื่อนบนเกาะบางคนเริ่มทยอยแยกย้ายกลับภูมิลำเนา บางคนยังอยู่แต่ก็เริ่มเตรียมตัวอพยพ ผมรู้สึกว่าช่วงเวลาปิดเทอมใหญ่ (ประมาณกรกฎาคม-สิงหาคม) ของโรงเรียนมักจะเป็นหมุดหมายที่ใครหลายคนใช้ในการเคลื่อนย้ายตัวเอง เอาเข้าจริงๆ ก็คือมนุษย์ที่มีลูกอย่างผมนี่แหละ ปิดเทอมใหญ่ทีก็ใช้เป็นเวลากลับไปเยี่ยมบ้านเกิดนานๆ หรือไม่ก็ใช้เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านเพื่อตระเตรียมย้ายโรงเรียนหรือภูมิลำเนา ใครที่เลี้ยงลูกแบบโฮมสคูลอาจไม่ต้องยึดติดช่วงเวลานี้ แต่ก็นั่นแหละ คนส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะให้ลูกไปโรงเรียนมากกว่าเรียนที่บ้าน

ไม่กี่วันก่อนดีนบ่นกับผมถึงสภาพการณ์ในห้องเรียนและเนื้อหาที่โรงเรียนจัดให้กับเซเฟอร์ ลูกชายของเขา แกว่าทุกวันแกต้องคอยถามว่าเรียนอะไรมาบ้างแล้วต้องคอยแก้ไขเนื้อหาในบทเรียนที่แกคิดว่าไม่ใช่หรือไม่ถูกต้อง ผมพูดติดตลกกับดีนว่า ถ้ามึงทำอย่างนี้ทุกวัน กูว่ามึงเอาลูกไว้ที่บ้านแล้วสอนกันเอง น่าจะประหยัดเงิน เวลา และพลังงานกว่าเยอะ 555

กลับไปเรื่องการอพยพ ในปีหน้าผมและครอบครัวน่าจะอยู่ที่ไหนสักที่ ที่ไม่ใช่พะงัน สวดมนต์ภาวนากับตัวเองว่าที่ไหนก็ได้ แต่ไม่ใช่กรุงเทพฯ 555 อยู่ๆ ก็เกลียดเมืองที่ตัวเองเคยอยู่มาทั้งชีวิตไปซะอย่างนั้น เมียกับลูกก็บ่นทุกทีเวลาผมพูดอะไรทำนองนี้ เธอและลูกมักจะบอกว่าบ้านก็น่าอยู่ ครอบครัวและสมัครพรรคพวกก็อยู่ที่นั่นกันทั้งนั้น จะเกลียดอะไรกันนักหนา ผมเองเห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขาพูดมา แต่ก็ยืนยันบอกกับตัวเองและลูกเมียว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองที่เด็กควรจะเติบโตขึ้นมา ผมพูดอย่างนี้ใครๆ ก็จะพากันหมั่นไส้ได้ง่ายๆ แต่ผมถือว่าพูดแล้วอธิบายดีกว่าเก็บงำเหตุผลเอาไว้เงียบๆ

ผมว่ากรุงเทพฯ แม่งโคตรเหลื่อมล้ำและดัดจริต อยู่แล้วเหนื่อยที่ต้องแก้หรือสอนลูกว่าอะไรมันไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขา (พวกเทพๆ) พร่ำเทศนา ความบิดเพี้ยนในทัศนคติที่มีต่อโลกทำให้ผมสงสัยอยู่หลายๆ ครั้งว่ามันเป็นการโกหกแบบเลวๆ หรือเป็นความโง่จริงๆ ของผู้พูด เรื่องเล่าทั้งหลายที่วนเวียนอยู่ในข่าวสารบ้านเมืองและบทสนทนาในโลกภาษาไทยนั้นมักจะทำให้ผมเวียนหัว เวทนาและบางคราอยากจะอาละวาด แต่ก็เรื่องเล่าแบบนี้แหละที่กล่อมให้คนไทยหลายคนอยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว ปล่อยให้คนบางกลุ่มเริงระบำอยู่ท่ามกลางความทุกข์ยากของตัวเอง ถ้าดีนบอกว่าโรงเรียนทำให้เขาต้องเหนื่อยกับการอธิบายแก้ไขกับลูก กรุงเทพฯ ก็คือเมืองที่ทำให้ผมรู้สึกอย่างนั้น ว่าไปก็อยากเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงเหมือนกัน เผื่อมันจะเปลี่ยนชะตากรรมประเทศนี้ได้บ้าง ‘เมืองแห่งเทพ’ ชื่อแบบนี้มันอหังการ์เกินไป มันทำให้ใครบางคนที่เข้าใจผิดคิดว่าตัวเองเป็นเทพทำอะไรเหี้ยๆ อย่างไรก็ได้ เปลี่ยนเป็น ‘กรุงเท่า’ ดีไหมครับ

ถ้า ‘เท่า’ ไม่ได้หรือได้ไม่ดีพอ ก็เปลี่ยนเป็น ‘กรุงเถ้า’ ซะเลย

พูดถึงกรุงเทพฯ ทีไร อารมณ์ขึ้นทุกที กลับมาคุยเรื่องพะงันดีกว่า สิ่งหนึ่งที่ผมซึมซับมาจากที่นี่ก็คือความเปิดกว้าง หลายๆ คนที่นี่ไม่ว่าจะไทยหรือฝรั่งมักจะมีความมั่นใจในความเชื่อของตัวเองและมีโอกาสได้ทำหรืออย่างน้อยแสดงออกตามความเชื่อนั้นๆ ดูๆ ไป มันเหมือนกับเกาะลับที่เป็นแหล่งกบดานของจอมยุทธ์ผู้อาจจะล้มเหลวหรือผิดหวังจากโลกกว้างและอยากเร้นกายอยู่ที่มุมใดมุมหนึ่งของโลก ความโด่งดังของเทศกาลฟูลมูนกลบเสียงและท่วงทำนองความเคลื่อนไหวอันน่ารื่นรมย์เหล่านี้ไปเกือบจะหมดสิ้น บ้านขวดพลาสติก โยคะปฏิบัติ ดนตรีแห่งจิตวิญญาณ วารีบำบัด ประมงพื้นบ้าน โรงเรียนฟุตบอลเด็ก อาหารหลากหลายเชื้อชาติ และน้ำตกที่ไหลลงสู่ทะเลที่เราเดินล่องไปและเห็นได้จริง (ชื่อน้ำตกธารเสด็จ – ไว้เดี๋ยวคันๆ ค่อยมาเสนอชื่ออื่นอีกที 555) ผมพบกับสิ่งน่าประทับใจเหล่านี้ผ่านการพูดคุยและคบหากับผู้คน สังสรรค์และสนทนากันบ่อยๆ เข้าก็กลายมาเป็นความผูกพัน แล้วก็ถักทอจนเกิดเป็นมิตรภาพขนาดใหญ่ขึ้นที่เรียกกันว่าชุมชน

เกาะมันเล็กครับ บางทีแวะไปหาเพื่อนคนนึงก็มักจะพบเพื่อนอีกคนโดยบังเอิญได้ง่ายๆ ความง่ายที่จะพบเจอนี้เองทำให้มิตรภาพนั้นมักแน่นแฟ้นมากกว่าเหินห่าง สุดสัปดาห์นี้มีปาร์ตี้วันเกิดเด็กอยู่สองงานที่ผมจะพาลูกไป วันเสาร์จัดที่บ้านของไมล์ส (คนทำความสะอาดสระว่ายน้ำในรีสอร์ทที่ผมเคยพักอาศัยเมื่อปีที่แล้ว) ผู้ซึ่งลูกแฝดจะมีอายุ 10 ขวบในปีนี้ วันอาทิตย์จัดที่รีสอร์ทเป็นของลีโอ เพื่อนใหม่ในชั้นเรียนของศิลป์ ในความคิดของผม บรรดาพ่อแม่ๆ ที่จัดงานเหล่านี้น่าจะมุ่งหวังถึงการก่อเกิดของความสัมพันธ์ของผู้คนที่มาร่วมงานพอๆ กับความสุขของลูกตัวเอง มันเหมือนกับเอางานวันเกิดลูกเป็นข้ออ้างในการปาร์ตี้กันแบบเบาๆ นอกจากนี้งานวันเกิดที่มีเด็กมาร่วมงานเยอะๆ นั้นน่าจะทำให้เจ้าของวันเกิดตระหนักได้ว่าพวกเขาอยู่ร่วมโลกกับคนอีกจำนวนมากเพียงใด ความสุขจากการได้เล่นและแบ่งปันกับเพื่อนๆ นั้นมีค่าไม่น้อยกว่าของขวัญที่พวกเขาได้รับ

ในงานเหล่านี้บ่อยครั้งผมจะแว่วได้ยินเด็กๆ ถกเถียงกันว่าวันนี้เป็นวันของ ‘เจ้าของวันเกิด’ หรือเป็นวันของทุกคนกันแน่

ก่อนมาอยู่เกาะผมมักปฏิเสธและรังเกียจการจัดงานวันเกิดเสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นของตัวเองหรือคนรู้จัก เอาง่ายๆ ก็คือรู้สึกว่างานวันเกิดจะทำให้เจ้าของวันเกิดมีอัตตามากเกินไป แต่ชุมชนชาวเกาะพะงันก็แสดงให้ผมเห็นว่าถ้าจัดและวางท่าให้ดี งานวันเกิดเด็กก็เป็นเรื่องที่ดีน่ารื่นรมย์ และเผลอๆ อาจถือเป็นหนึ่งในพิธีกรรมสำคัญของชุมชนด้วยซ้ำไป

วันนี้ระหว่างรอลูกเรียนฟุตบอล ก็ได้ปรับทุกข์กับเพื่อนอีกสองสามคนถึงแผลที่ขาของผมซึ่งใช้เวลานานเหลือเกินกว่าจะหาย พวกเขาว่าบางฤดูบนเกาะแห่งนี้ สภาพอากาศ สภาพน้ำทะเล และความชุกชุมของจุลินทรีย์บางสายพันธุ์อาจทำให้แผลเป็นเล็กๆ ลุกลามและใช้เวลานานกว่าจะทุเลาจนหายสนิท การใช้ยาอาจจำเป็นหากรอไม่ได้และต้องใช้อวัยวะนั้น ผมเริ่มกินยาแก้อักเสบ (Anti-Biotics) มาได้สองวันแล้ว ทั้งๆ ที่ปกติปฏิเสธยาแทบทุกขนาน คือการที่เดินเหินไม่สะดวก จะออกกำลังกายหรือช่วยงานใครก็ลำบากมาสองสัปดาห์ ทำให้ผมยอมทำตรงข้ามกับความเชื่อของตัวเอง คิดแบบคนรักและหลงเกาะ ก็พูดได้อีกว่า พะงันสอนเราให้เรียนรู้ อดทน และเปิดกว้าง 555

ด้วยมิตรภาพครับ

จ๊อก

ปล. แผลที่ขาเริ่มดีขึ้นไม่ทันไร วันพรุ่งนี้มีเหตุต้องออกแรงอีกแล้ว บ้านเช่าอีกแห่งบนเกาะของดีนถล่มลงมาครับ แรงงานก่อสร้างในเกาะกำลังขาดแคลน ทุนทรัพย์ของดีนก็มีไม่มาก เพื่อนๆ บางส่วนรวมถึงผมและหลินจึงเสนอตัวเป็นแรงงานในการรื้อถอนและขนย้ายซากปรักหักพังของอาคาร สัปดาห์หน้าน่าจะมีเรื่องมาเล่าให้ฟังว่าแรงงานสมัครเล่นเหล่านี้ทำอะไรได้บ้างมากน้อยเพียงใด

 

 

nandialogue

 

ตอบ จ๊อก

เห็นด้วยกับคุณว่า ถ้ามีช่องทางไปใช้ชีวิตที่ไหนได้ ก็ไปเถอะ (ถ้าไม่มี ก็หา) กรุงเทพฯ มันเหมาะกับการไปเที่ยว ไปหาเพื่อน ไปทำงานระยะสั้นๆ คล้ายเมืองมันไม่ได้ออกแบบมาเพื่ออยู่อาศัยน่ะ ทำไมรู้มั้ย ก็เพราะถ้าคิดเรื่องนี้แต่แรก ทุกอย่างจะไม่กระจุกหรือรวบอำนาจไว้แบบนี้ กระจุกมันก็แออัดไง เอาแค่รถติดเรื่องเดียวก็อ้วกแล้ว คุณจะแก้ยังไง ถ้าไม่สมาทานนโยบาย ‘กระจายอำนาจ’ กระจายโอกาส กระจายทรัพยากรออกไปให้ทั่วถึง คนข้างนอกขาดแคลน เขาก็ต้องแสวงหา ต้องเข้ามาศึกษาเล่าเรียน แหล่งเงิน แหล่งงานมันอยู่กรุงเทพฯ ชอบ ไม่ชอบ มันก็จำเป็นต้องบากหน้าเข้ามาต่อสู้ ซึ่งถ้าเอาประสบการณ์เรา (ผู้อยู่อาศัยยาวนาน 25 ปี) เท่าที่เห็น สู้แล้วก็หาผู้ชนะยากเต็มที

ถามว่าที่พ่ายแพ้นั่นเพราะไม่มีฝีมือหรือเปล่า

ไม่ใช่ แพ้เพราะกติกาและเงื่อนไขมันบีบให้ใครก็รอดยาก คุณจะสู้ยังไง ในเกมที่กำหนดมาแล้วว่าค่าครองชีพแพง ค่าแรงงานถูก เวลาที่จะค้นคว้าหาความรู้ไม่มี..

22 พฤษภาฯ (วันครบรอบรัฐประหาร 2014) จะมีเลือกตั้งผู้ว่าฯ ถามว่ากรุงเทพฯ มันวิเศษยังไง ถึงมีสิทธิ์มีเสียง ทำกิจกรรมนี้ได้ คนต่างจังหวัดถูกสั่งบังคับให้หุบปากอยู่เงียบๆ ไฟฟ้า ถนน งบประมาณ แล้วแต่ส่วนกลางจะเมตตา คือความแตกต่างและเหลื่อมล้ำแบบนี้สะท้อนรากเหง้าความคิดผู้มีอำนาจชัดเจนว่าไม่ยอมปล่อย ยังไงพวกเขาก็ดื้อดึง กอบโกย กักเก็บไว้ให้มากที่สุด ยาวนานที่สุด ว่าไป มันก็คล้ายตอนเปลี่ยนแปลงการปกครองนั่นแหละ ไม่มีหรอก กับการหยิบยื่นให้ ฝันไปเถอะ อยากได้ก็ต้องแย่งชิง อยากได้ก็ต้องออกแรง และประวัติศาสตร์ก็ฉายชัดว่ากระทั่งได้มาแล้ว อย่าคิดว่าจะได้ตลอดไป ผู้สูญเสียระดมสมอง จับมือ รวมเครือข่ายเพื่อ ‘เอาคืน’ ตลอดมา และโชคร้ายของประเทศนี้ก็คือฝ่ายศักดินาล้าหลังทำสำเร็จเสียด้วย

นั่นเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอว่า ถ้าสู้มาพอสมควรแล้ว เหนื่อยแล้ว อยากพักบ้างแล้ว (มีแรงเมื่อไร ไว้มาว่ากันต่อ) ก็หลบไปสั่งสมความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ นอกกรุงเทพฯ ดีกว่า จะต่างจังหวัด ต่างประเทศ ก็ตามแต่สะดวก ความเห็นเรา ถ้าไม่ออกเลยนี่มีโอกาสเฉาตายเอานะ เงินก็ไม่มี ความรู้ก็ย่ำซ้ำเก่า เราจะเติบโตกันไปแบบไหน

ถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่จะแชร์ได้–ในนามของคนที่เดินออกมาแล้ว อย่างน้อยเรารู้สึกหายใจสบายขึ้น มีสเปซ มีเวลา คือใบหน้าและวาจาโง่ๆ ของประยุทธ์ก็วนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของเราเหมือนเดิมนั่นแหละ เช่นเดียวกับผลพวงอำนาจนิยมและจารีตระบอบเก่า แต่คล้ายมันมีระยะห่างนิดนึง มีภูเขา แม่น้ำ ให้ชื่นชมระบาย เหมือนคุณนั่นแหละ อย่างเลวที่สุด รอบบ้านก็มีหาดทราย สายลม ให้ลูบไล้ร่าเริง

ไม่รู้เห็นด้วยกับเราหรือเปล่า ข้อดีมากๆ เลยที่คุณเลือกไปอยู่พะงันคือได้พูดภาษาอังกฤษ สิ่งนี้มันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมหาศาล โดยเฉพาะมิตรภาพใหม่ๆ มุมมอง โลกทัศน์ รสนิยม โดยตัวของมันเอง ภาษาไทยไม่มีข้อแย่อะไรหรอก แต่การพูดภาษาเดียวก็คล้ายเราขังตัวเองอยู่ในห้องและฟังประยุทธ์พูดอยู่คนเดียว คือแค่คิดก็สยอง ขณะที่ภาษาใหม่มันพาเราไปสู่การสำรวจภูมิประเทศภายในภายนอก ล้มรื้อความเคยชิน กล้าตั้งคำถาม ข้ามพ้นและค้นพบ ที่เราว่าน่าสนใจที่สุดเลยก็คือภาษาใหม่ทำให้เราไม่หลงตัวเอง หรือยึดติด ใหม่แปลว่าพร้อมจะเริ่มต้นนับหนึ่ง ฝึกหัด เรียนรู้ ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นความหมายของการมีชีวิต

การเรียนภาษาใหม่สะท้อนว่าเราใฝ่ฝันที่จะพัฒนาศักยภาพ ต่อให้งูๆ ปลาๆ ล้มลุกคลุกคลาน และห่างไกลเส้นชัย เราว่ายังไงมันก็ดีที่ได้ออกเดิน.


เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อกเป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน

You may also like...