the letter

พังรั้วซะ ชีวิตแม่งคือความเสี่ยงอยู่แล้ว

สวัสดีพี่หนึ่งจากบางกอก

ผมกลับมาบางกอกได้ไม่กี่วัน ก็พบปะมิตรสหายไปหลายนัด สมดั่งกับที่มันเป็นการปิดเทอมของมนุษย์เด็กโข่งอย่างผม เกือบหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาใช้เวลาไปประมาณครึ่งๆ ระหว่างการทำงานกับกิจกรรมเชื่อมสมานและทบทวนความสัมพันธ์กับผู้คนที่นี่ บ้างเป็นมิตรใหม่ บ้างเป็นมิตรเก่าที่เคยมีความหลังร่วมกัน 

ส่วนเรื่องจดหมายผมจะลองพยายามทำตามที่ บ.ก. หนึ่งเสนอให้เขียนสรุปบทเรียนการไปใช้ชีวิตที่พะงัน เป็นไปได้อาจเลือกมาเขียนทีละประเด็น จะได้มีจดหมายส่งครบทุกสัปดาห์ที่มาอยู่เมืองหลวง

พี่รู้ไหมครับว่า ตั้งแต่กลับมาอยู่บ้าน เจ้าลูกชายผมยังไม่ได้เล่นกับเพื่อนบ้านวัยใกล้เคียงกันเลย บ้านที่อยู่รายรอบนั้นล้วนมีเด็กวัยใกล้เคียงกับศิลป์ แต่ทำไมอะไรมันถึงเป็นแบบนี้ ผมเข้าใจแหละว่าเหตุผลมันคืออะไร แต่ก็ออกจะทำใจไม่ได้ และทำให้คิดถึงพะงัน 

รั้ว ถนน โควิด ความเกรงใจ อะไรๆ ในโลกสมัยใหม่ประมาณว่าบ้านใครบ้านมัน ทำให้เด็กๆ ไม่ได้เจอหรือเล่นกัน โคตรโหดร้ายในสายตาผม แต่อาจดูปกติ โคตรปลอดภัยและอุ่นใจในสายคนอื่น 

ศิลป์คุยกับผมในเช้าวันหนึ่งว่าทำไมเพื่อนบ้านที่เคยสนิทสนมกันไม่เล่นกับเค้า ผมก็ได้แต่บอกว่า Different family different rules ใจจริงก็อยากบอกอย่างที่คนเป็นพ่อรู้สึก แต่ก็ไม่อยากให้ลูกชายจำแนวคิดจากพ่อไปพูดต่อ หากแต่อยากให้ศิลป์เห็นและคิดเอาเองก่อนดีกว่า เริ่มต้นจากสงสัยในสิ่งที่เป็นอยู่เหมือนกัน แต่คำตอบอาจมีได้หลากหลาย คำตอบที่ตระหนักได้เองซึ่งอาจถูกขัดเกลาหรือปรับแต่งเล็กน้อยน่าจะอยู่ในตัวเขานานกว่าคำตอบที่จำเอามา หรือถูกยัดเยียดให้ 

ผมนึกไปว่าถ้ากลุ่มประชากรที่อยู่รอบๆ บ้านในบางกอกไปอยู่ที่พะงัน เรื่องราวมันจะสนุกสนานขนาดไหน เด็กๆ วัยเดียวกันร่วมเกือบสิบคนในละแวกนี่แทบจะเป็นโรงเรียนอนุบาลขนาดย่อมๆ ได้เลย ใครเคยเห็นภาพเด็กๆ เล่นกันเองก็น่าจะรู้อยู่ว่ามันเป็นภาพที่สวยงามและน่าสนุกกว่าเด็กๆ เล่นกับผู้ใหญ่ สวยไม่ได้แปลว่าเล่นกันอย่างเรียบร้อย ไม่ทะเลาะวิวาท แต่มันคือธรรมชาติของชีวิต ขัดแย้งหรือเห็นต่างนั้นเป็นปกติ ทะเลาะทางวาจาหรือกระทั่งลงไม้ลงมือก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เด็กอะครับ ทะเลาะกันอย่างมากก็ไม่กี่นาที เดี๋ยวก็หาเรื่องมาเล่นใหม่ได้ง่ายๆ นี่คือความสวยงามในความหมายของผม 

มนุษย์ตัวน้อยเหล่านี้ ผู้ซึ่งยังมีเวลาในชีวิตให้ใช้ยาวนานกว่าพวกเรามักจะทำตัวเหมือนกับว่าไม่มีวันพรุ่งนี้ วันๆ ก็มีความสุขกับชีวิตและเพื่อนพ้องให้เต็มที่ ชอบอะไรบอกชอบ รักใครบอกรัก โกรธหมาตัวไหนก็บอกว่าโกรธ ทะเลาะก็ได้ แต่เดี๋ยวก็หาทางลงและทางออกกันเอง 

กรอบและคุกที่บรรดาผู้ใหญ่สร้างหรือถูกทำให้เชื่อว่าควรสร้างขึ้นมาต่างหากที่ทำให้อะไรๆ แม่งโคตรฝืนธรรมชาติ เด็กๆ ที่บ้านอยู่ห่างกันแค่สิบกว่าเมตรไม่ได้เล่นกัน นี่แม่งโคตรโหดร้ายในสายตาผม แล้วถ้ามีผู้ใหญ่คนไหนบอกเด็กๆ ด้วยเหตุผลอีกว่าทำไม อาทิ เดี๋ยวติดโควิด เกรงใจเพื่อนบ้าน เป็นต้น ผมคิดว่านั่นน่าจะเป็นบาดแผลหรือเหตุผลอันไม่สมเหตุสมผลที่จะฝังติดตัวไปในอนาคตซะมากกว่า 

ใครบ้าที่ไหนมันจะดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการใช้เวลาแค่กับคนในครอบครัวและคนที่ทำงานหรือโรงเรียนวะ 

ชีวิตแม่งคือความเสี่ยงอยู่แล้ว เวลาเราลดความเสี่ยงให้เหลือ 0.000 ? แม่งคือการลดผลตอบแทนไปด้วย ในกรณีนี้ผลตอบแทนของการเสี่ยงที่อาจติดโควิดหรือการที่เพื่อนบ้านไม่พอใจ ก็คือการที่เด็กจะได้มีชีวิต ชีวิตในความหมายที่มากกว่าแค่การหายใจ

ที่พะงัน เราอยู่กันอย่างป่าเถื่อนและเป็นชนเผ่ามากกว่า บ้านไม่ได้อยู่ใกล้กันอย่างในบางกอก แต่ต่างคนก็ต่างพยายามมาปฏิสังสรรค์กัน แล้วก็ปล่อยครับ เด็กๆ เล่นกันเอง ผู้ใหญ่ก็หาเรื่องคุยกับผู้ใหญ่ นานๆ ทีมีปัญหาต้องพิจารณาค่อยส่งตัวแทนผู้ใหญ่สักคนไปเป็นกรรมการ  

เด็กๆ มักไม่ค่อยสงวนท่าที ดีใจ เสียใจ ร่าเริง ผิดหวัง อิจฉา เราจะรับรู้อารมณ์เหล่านี้ได้เต็มที่ผ่านเด็กๆ หลายครั้งที่เราสอนให้พวกเขาควบคุมอารมณ์ แต่ในขณะเดียวกันถ้าเรามองหรือฟังดีๆ เราจะเห็นอารมณ์ที่เมกเซ้นส์อยู่ในนั้น อาจไร้กาลเทศะหรือมารยาทบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่มักจะไม่ไร้เหตุอันควร ไม่รู้ว่าลูกคนอื่นเป็นรึเปล่า แต่ผมจะได้ยินลูกพูดหรือตัดพ้ออยู่บ่อยๆ ว่า It’s not fair that… 

ผมชอบมากเลยที่จะชวนคุยหรือคิดต่อจากประโยคนี้ เริ่มต้นจากการฟังเรื่องเล่าที่มาของความไม่ยุติธรรมในสายตาเด็ก แล้วบางครั้งก็จะยืนยันและในบางทีก็อาจท้วงติงในความคิดนั้น 

การที่ผมชื่นชมสิ่งเรียบง่ายและอารมณ์ที่แสนจริงใจในตัวเด็กทำให้หลังๆ มานี้ผมเริ่มวางระยะห่างกับสิ่งที่เรียกว่าการใช้เหตุผลมากขึ้น คนมีเหตุผลและแม่นตรรกะเป็นมนุษย์ที่ผมไม่อยากเกี่ยวข้องด้วยเท่าไร คือมนุษย์ประเภทนี้นี่ถ้าได้เถียงกันเมื่อไร เราน่าจะแพ้ตลอด ประเด็นก็คือทำไมเราต้องไปเอาชนะในเกมการเถียงด้วยวะ เวลาใครมาเล่าเรื่องทุกข์ใจที่โดนคนด่าหรือนินทา ผมมักจะบอกให้พวกเขาไม่ต้องสนใจมาก เรายอมแพ้ในเกมการถกเถียงแล้วไปเอาชนะในเกมชีวิตดีกว่า 

ประเด็นนี้เอามาจากหนังสือที่เพิ่งอ่านจบชื่อ Skin in the Game ของ Nassim Nicholas Taleb คือบางทีมันเสียเวลาและป่วยการที่จะเถียงกับใครบางคน เราหยุดเถียงแล้วก้มหน้าเดินต่อในเส้นทางของเราน่าจะเกิดมรรคผลและทำให้เราอารมณ์ดีซะมากกว่า

สรุปบทเรียนครั้งที่หนึ่งจากการไปอยู่พะงัน คือพังรั้วซะ เคารพอารมณ์และความรู้สึกตัวเอง อยู่กันอย่างชนเผ่า (จริงๆ ควรใช้คำว่าชุมชน แต่ไม่รู้สิ หลังๆ ความหมายที่หลากผู้คนให้กับมันทำให้ผมรู้สึกแคลงใจและไม่สะดวกที่จะใช้)

แด่ความป่าเถื่อนอันดีงาม

จ๊อก

 

 

nandialogue

 

 

ตอบ จ๊อก

สัปดาห์ที่ผ่านมา คนใกล้ชิดเราลาออกจากงานสองคน ด้วยเหตุผลคล้ายๆ กันคือมันไม่ใช่

งานที่ควรมีความหมายของถนน ปูไปสู่เป้าหมายและการเดินทางไกล กลับกลายเป็นกำแพง กับดัก คิดวิเคราะห์ถี่ถ้วนแล้วพวกเขาเลือกลาออก 

หนึ่งในสองคนนี้มีเงินเดือนเป็นแสน รายรับขนาดนี้ ในยุคสมัยเช่นนี้ การงานใหม่ๆ หลังพังกำแพงออกไปคงให้ผลตอบแทนเท่านี้ยาก กระทั่งเป็นไปไม่ได้เลย เขารู้และเลือก เพราะปรารถนาเวลานี้ก็ไม่ใช่เรื่องเงิน แต่มันคือเวลา คือชีวิตอิสระ คือเกมที่อยากออกแบบเล่นเอง เขาพร้อมแลกที่จะมีรายรับน้อยลง เพราะรั้วกำแพงมันสร้างความทุกข์ที่รุนแรงเกินจะทน หลังตระหนักรู้แล้ว ทนไม่ไหวแล้วก็เลิก

จริงอย่างที่คุณว่า–รั้วมีหลายชนิด และอะไรจะโหดร้ายเท่าเด็กไม่มีเพื่อนเล่น พ่อแม่เล่นกับลูกได้อยู่แล้ว เพื่อนพ่อแม่ก็ได้ เช่น วันที่เราไปเตะบอลกับเจ้าศิลป์ที่บ้านคุณ (เหนื่อยชิบหาย) เป็นหน้าที่บุพการีที่ต้องดูแลทั้งสาระ บันเทิง กิจกรรมสร้างเสริมประสบการณ์ แต่ยังไงเด็กๆ ก็ต้องมีเพื่อนวัยเดียวกันคบหาเล่นหัว ซึ่งจริงๆ แต่ละชุมชนก็มี แต่ฟังคุณเล่าแล้วก็เออว่ะ ทั้งที่มี ทั้งที่เห็นๆ เคยเล่นด้วยกันมา ถึงวันหนึ่งกลายเป็นว่ามีรั้วอะไรสักอย่างที่มากกว่ารั้วบ้านมากั้นขวาง

อัตราการเกิดน้อยลงเป็นปัญหาอยู่บ้าง พ่อแม่จำนวนมากมีลูกคนเดียว ยิ่งถ้ามีตอนอายุมาก (สามสิบห้าอัพ) การวิ่งไล่จับเด็กๆ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าสนุกเลย (ตามมันทันซะที่ไหน) ของเรามีตอนยี่สิบห้า อยู่ในวัยหนุ่มสาว แข็งแรง แต่เราก็เล่นกับลูกได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ในเกมแบบหนึ่ง คงสนุกอยู่แหละ แต่มันก็คงดีกว่า ถ้าวัยเด็กของเค้าได้สลับมีโอกาสเล่นกับเพื่อนวัยใกล้เคียงกัน สิ่งเหล่านี้ไม่มีปัญหาเลยในโลกไร้รั้วและชนบทที่เราเติบโตมา แต่กาลเวลามันได้ผ่านไปแล้ว ทัศนะผู้ปกครอง สิ่งแวดล้อมและเงื่อนไขของชนบทกับเมืองหลวงก็ต่างกันลิบลับ นี่เป็นโจทย์ข้อใหญ่ของพ่อแม่ยุคใหม่ที่ต้องหาทางบาลานซ์ ทำยังไงจะพังรั้วหรือคุกในอากาศนี้ออกไปให้ได้

ไม่พังรั้ว ฝ่ายเด็กๆ ก็เสียโอกาสในการใช้ชีวิต เหี่ยวเฉา จำเจ ฝ่ายพ่อแม่เองก็เหนื่อย เพราะงานก็ต้องทำ เงินทองต้องหา พลังและจินตนาการที่จะมาสร้างสรรค์การละเล่นกับลูกจึงอ่อนด้อยพิกลพิการ เชื่อมั้ยว่าแม้ผ่านมาเนิ่นนาน บางคืนเสียงลูกสาวของเราก็ยังแว่วขึ้นมา–พ่อเล่นกับเพยหน่อยดิ.. ถามว่าหลักฐานและการหลอกหลอนนี้สะท้อนอะไร ถ้าไม่ใช่ความบกพร่องที่ผู้ปกครองกระทำต่อเด็ก

ความเห็นเรา เด็กเล่นคนเดียวใช่ว่าไม่มีข้อดีนะ มันจำเป็นต้องฝึกฝนไว้บ้างเหมือนกันในฐานะมนุษย์ที่มีอุดมคติอยู่คนละขั้วกับคำว่าสัตว์ฝูง แต่นั่นควรเป็นทางเลือกหลังจากที่เราไม่มีทางเลือก

อ่านจดหมายคุณฉบับนี้ด้วยความสนุกเป็นพิเศษ ลังเลๆ อยู่ด้วยซ้ำว่าควรจะตอบมั้ย เกรงว่าความพอดีที่มีอยู่นั้นจะล้นเกิน สุดท้ายเลือกตอบด้วยอยากจะขอบคุณด้วยที่อยู่กันมาจนครบปี ยินดีกับการงานที่ก้าวหน้าและค่อยๆ หยั่งรากลึก สำหรับการเขียนหนังสือหรือทำสื่อใหม่ ปีเดียวเป็นเวลาแสนสั้น อยู่ในชั้นอนุบาล อยู่ในการเริ่มต้น ยังมีดอกไม้ สายรุ้ง ก้อนหิน และการล้มลุกคลุกคลานใหม่ๆ อีกมากรออยู่เบื้องหน้า

เออ มีอะไรก็ว่ากันต่อ แต่มันจะผิดบาปอะไรนักหนาวะ ถ้าเราจะถือวาระโอกาสนี้เฉลิมฉลอง เชียร์สสสส.


เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อก (ชัยพร อินทุวิศาลกุล) เป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน ทุกสัปดาห์เขาเขียนจดหมายมาคุยกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ บรรณาธิการ nan dialogue

You may also like...