the letter

ปาร์ตี้อีสุกอีใส

สวัสดีครับพี่หนึ่ง

ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมานี้แม้ว่าจะเริ่มยุ่งกับการงานบางอย่างที่กำลังงอกเงยที่เกาะ แต่ผมก็ยังพยายามรักษาจังหวะการเขียนจดหมายส่งพี่ให้ตรงตามกำหนดการที่ควรจะเป็น

การควบคุมตัวเองให้มีวินัยนี่อาจเป็นสิ่งที่ผมยังต้องทำอยู่แม้จะล่วงมาถึงวัยสี่สิบต้นๆ แล้ว ปราศจากซึ่งสิ่งนี้ชีวิตตัวเองและคนรอบข้างอาจรวนเอาง่ายๆ (นี่คือพูดกับตัวเอง และเตือนตัวเองให้เข้าใจว่า ‘อะไรคืออะไร’)

สองคืนก่อนที่เราย้ายมาพักอาศัยที่รีสอร์ทริมทะเลชั่วคราวก่อนบ้านใหม่จะเสร็จ ผมพบอีกมิติของจิตวิญญาณพะงันที่เคยรับรู้ แต่ไม่เคยสัมผัส (อยู่เกาะมาปีกว่ายังไม่เคยไปฟูลมูนปาร์ตี้เลยสักครั้ง) คือรีสอร์ทที่เราพักกันอยู่นั้นมีปาร์ตี้ในความหมายของ ‘พะงันฟูลมูนปาร์ตี้’ ดนตรีแนวแทรนซ์ที่บีทหนักๆ ตึ้บๆ ประมาณว่าพยายามจะนอนหลับแล้วพอแว่วเสียงดนตรีมาก็พลันทำให้หัวใจเต้นตามจังหวะของเสียงเพลงที่ขัดเคืองกับจังหวะชีพจรของมนุษย์ในเวลาที่ต้องการจะหลับ ! 

ผมต้องมวนยาอัดเนื้อไปสองมวน เปิดถ่ายทอดสดบอลโลกให้เสียงดังๆ ให้กลบจังหวะความคึกครื้นจึงจะพอหลับไปได้ อีกไม่กี่วันก็จะถึงเทศกาลฟูลมูน เกาะคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสปาร์ตี้ริมทะเลที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ชีวิตของผู้พำนักอาศัยบนเกาะก็อาจยุ่งหน่อยๆ ถ้าขับรถก็ต้องระวังมากขึ้นกับวิถีการขี่มอไซค์ฯ ของฝรั่งที่กำลังชื่นชมและตื่นเต้นกับเสรีบนเกาะเล็กๆ ในฟากฝั่งตะวันออกของโลก 

คนมาอยู่ใหม่อย่างเราอาจควรเจียมตัวไม่วิพากษ์กิจกรรมสังสรรค์นี้แบบด่วนสรุป ที่รู้แน่ๆ อย่างหนึ่งก็คือปราศจากกิจกรรมอันแสนหนวกหู (ในสายตาผู้เขียน) เกาะพะงันก็อาจไม่เป็นอย่างที่เป็นอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้แน่ๆ ผู้คนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแนวบันเทิงจำนวนนับหมื่นคนบนเกาะอดทนและอดอยากมาเป็นปีๆ จากสถานการณ์โควิด ตอนนี้เป็นเวลาที่พวกเขาจะได้กลับไปใช้ชีวิตกันปกติๆ อีกครั้ง เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเหล่านี้ทำให้สาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่างบนเกาะดีกว่าอีกหลายอำเภอในภาคใต้ ว่าไปการที่บนเกาะมีปาร์ตี้หลักๆ แค่เดือนละไม่กี่หน และจำกัดอยู่ในบางพื้นที่ของเกาะก็ทำให้ความวุ่นวายนี้ไม่ล่วงละเมิดความปรารถนาซึ่งความสงบในชีวิตของผมหรือใครอีกหลายคนเท่าไรนัก 

เช้ามืดถัดมาของคืนที่มีปาร์ตี้ในรีสอร์ท ผมตื่นเอาตอนตีห้าได้ยินเสียงคนคุยกันใกล้ๆ ห้องพัก แง้มผ้าม่านดูก็เห็นว่าเป็นพี่ใหม่เจ้าของรีสอร์ทและทีมงานที่กำลังเก็บกวาดและเตรียมเข้านอน นาฬิกาชีวิตของผมสอดรับเข้ากับกิจวัตรปาร์ตี้บนเกาะดีแท้ ตื่นเช้ามาก็พบกับความสงบ ผู้คนหลับใหลหรือไม่ก็สะโหลสะเหลเตรียมเข้านอน ชายหาดยามเช้าจึงแสนสงบและเป็นของผู้ตื่นเช้าอย่างผมแต่เพียงผู้เดียว 

พูดถึงปาร์ตี้แล้วก็เพิ่งได้ความรู้ใหม่จากเพื่อนชาวอังกฤษอีกครั้ง ที่โลกฝั่งตะวันตกในหลายสิบปีก่อนมีสิ่งที่เรียกว่า Chickenpox party (ปาร์ตี้โรคอีสุกอีใส) ในอดีตที่ไม่ไกลมากนัก เอาง่ายๆ ก็ประมาณว่าดีนและพอลยังเป็นเด็ก เวลามีเด็กป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส พ่อแม่ของเพื่อนเด็กคนนั้นก็จะพาให้ลูกๆ ไปปาร์ตี้กันเพื่อให้ติดเชื้อกันยกก๊วน เมื่อติดและหายแล้วร่างกายของเด็กๆ ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันที่จะติดตัวพวกเขาไปจนวันตาย ดีนเล่าให้หลินฟังตอนที่รู้ว่าลูกชายเราป่วยเป็นอีสุกอีใสในขณะนี้ หลินรับฟังด้วยความทึ่งในองค์ความรู้แพทย์แผนโบราณ เข้าใจว่าโรคนี้นั้นถ้าเป็นในตอนโตอาจมีอาการร้ายแรงและเสี่ยงต่อชีวิตมากกว่าเป็นในตอนเด็กๆ

การป่วยไข้จึงกลายเป็นสาเหตุของปาร์ตี้ไปซะอย่างนั้น จวบจนถึงปัจจุบันที่มีการผลิตวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสชนิดนี้ ปาร์ตี้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโรคอีสุกอีใสจึงกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าโบราณ

อย่างตอนนี้ลูกชายผมก็ต้องหยุดเรียนไปสองสามวันแล้ว จะว่าไป โรคนี้ก็ไม่น่าดูนัก ผิวหนังตามร่างกายมีตุ่มเล็กๆ ขึ้นเต็มไปหมด นอกจากจะกลัวว่าศิลป์จะเอาเชื้อไปติดเพื่อนแล้ว อีกทางผมก็กลัวว่าลูกจะอายเพื่อนอีกด้วย 

พฤติกรรมที่พึงประสงค์ต่อเหตุการณ์เดียวกันในเวลาต่างกันไม่กี่สิบปีนั้นเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังตีน ในกาลก่อนหากเด็กคนใดประสบกับโรคภัยนี้ สำนึกต่อส่วนรวมคือการประกาศต่อสาธารณะและเชื้อเชิญให้เพื่อนมารับเชื้อด้วยกันในงานปาร์ตี้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแบบรวมหมู่ ขณะที่ปัจจุบัน วิทยาการของวัคซีนก้าวหน้าไปมาก สำนึกต่อส่วนรวมในการเป็นโรคนี้นั้นจึงหมายถึงการกักตัวอยู่เพียงลำพังเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรค (ที่ไม่ร้ายแรง) นี้ต่อเด็กคนอื่นๆ แล้วถ้ามีเวลาก็หาทางไปฉีดวัคซีนส่วนบุคคลซะ 

ใครจะว่าแบบไหนดีกว่าก็ว่ากันไปตามแต่ทรรศนะ แต่ที่แน่ๆ โลกนี้มีปาร์ตี้น้อยลงไปหนึ่งงานตั้งแต่มีวัคซีนโรคอีสุกอีใส

ผมเองแม้จะเห็นดีเห็นงามกับความก้าวหน้าหลายๆ อย่างในโลก แต่บางที (หรืออาจหลายๆที) ก็เริ่มตั้งคำถามว่าชีวิตในโลกปัจจุบันนี้มันให้ความสุขกับมนุษย์มากขึ้นจริงๆ หรือ

เชียร์ส โบร่

จ๊อก

 

 

nandialogue

 

 

ตอบ จ๊อก

การควบคุมตัวเองให้มีวินัยอาจเป็นสิ่งที่ผมยังต้องทำอยู่แม้จะล่วงมาถึงวัยสี่สิบต้นๆ แล้ว ปราศจากซึ่งสิ่งนี้ชีวิตตัวเองและคนรอบข้างอาจรวนเอาง่ายๆ–อ่านข้อความนี้ของคุณแล้วก็สะดุ้งเฮือก เพราะจดหมายจากพะงันฉบับที่ 64 มาเร็วมาก แต่คนที่น่านโอ้เอ้ลมเพลมพัด หลุดกติกาเดิม มาตอบ (แบบกระหืดกระหอบ) เอาในวันจันทร์ โคตรแย่น่ะ

เหตุผล (ข้ออ้าง) ก็ด้วยสัปดาห์นี้มีงานขึ้นดอย ตามไปดูเขารำลึกวีรชนที่ภูพยัคฆ์ จัดมาเป็นปีที่ 18 แล้ว ตั้งใจไว้หลายปีว่าจะมา แต่ก็พลาดทุกครั้ง จนปีนี้หลังขึ้นเวทีในงานสุราท้องถิ่นในตัวเมืองน่านแล้วหอบผ้าผ่อนตามมิตรสหายขึ้นดอยต่อ เลยชุลมุนนิดนึง (เขาเชิญไปเป็นพิธีกร สัมภาษณ์ผู้ผลิตเหล้าสี่สิบดีกรีจากอำเภอเวียงสา ปกติเราจะเลี่ยงงานแบบนี้–งานสัมภาษณ์ไม่มีอะไรน่ากลัวหรอก แค่ไม่ถนัดทำต่อหน้าพับลิก แต่ด้วยรู้จักผู้จัดมานาน และเขาช่วยเรามาหลายครั้ง รอบนี้ก็ราวๆ ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน)

นอกจากได้รับรู้ข้อมูลในมุมนักปฏิวัติในอดีตที่ไม่เคยมีโอกาสได้รู้ ในงาน เจอฝรั่งคนนึง เขาถือกล้องมาเปิดรูปให้เราดู (วิธีเริ่มต้นบทสนทนา) เป็นวิดีโอที่เขาบันทึกตอนเราร้องเพลง งงอะดิ เพลงอะไรของมึง ไหนบอกไปทำข่าว

ไปทำข่าวจริงๆ แต่ในงานสุราท้องถิ่น เจอสองนักดนตรี ‘อุษาคเนย์’ คุยกันถึงพี่วัฒน์ (คู่นี้เขาเป็นนักกิจกรรมที่เล่นดนตรีอยู่ทางอีสาน อ่านงานของพี่วัฒน์มาตั้งแต่เรียนหนังสือ) ก็เลยลามไปว่า น่าจะร้อง ‘จากลานโพธิ์ถึงภูพาน’ เพื่อรำลึกถึงนักเขียนราษฎร และตอกย้ำความโหดเหี้ยมของเหตุการณ์หกตุลาฯ อันเป็นเหตุให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากต้องเข้าป่า คำว่าน่าจะร้อง ก็เลยเป็นเราไปแจม นั่นไม่ใช่ประเด็น ที่จะเล่าคือฝรั่งที่เราเจอเขากำลังตามถ่ายทำสารคดีว่าด้วยเรื่องการลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาประชาชนในอดีต (ยุคทิ้งเมืองเข้าป่า) ประวัติศาสตร์สำคัญนี้ถูกจดบันทึกน้อย โดยเฉพาะจากปากคำของชาวบ้านในทุ่งนาป่าเขาที่เป็นฝ่ายกางแขนโอบรับนักศึกษา ร่วมเป็นร่วมตายเคียงไหล่

จากภูพยัคฆ์ เขาจะไปเก็บเรื่องเล่าต่อที่ผาจิ และข้อมูลใหม่ที่เขาตื่นเต้นมากคือที่บุรีรัมย์ ไม่เคยรู้มาก่อนว่าที่นั่นก็มีเขตงาน มีกลุ่มชาวบ้านที่จับปืนร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ไม่เฉพาะเขา เราก็เพิ่งได้ยินนี่แหละ

เจ –ฝรั่งคนนี้ มาเมืองไทยตั้งแต่วัยยี่สิบหน่อยๆ หลงรัก ก็เลยไปยกเลิกวิชานิติศาสตร์ที่เรียนอยู่ ย้ายมาเรียนภาษาไทย (เรียนที่ปารีส ครูคนหนึ่งของเขาคือลูกสาวปรีดี พนมยงค์) ไปๆ มาๆ เมืองไทยหลายครั้ง จนล่าสุดปักหลักอยู่ที่ปาย (แต่พอคุยกับเรา เขากระซิบว่าน่านก็น่าสนใจนะ) เขามีความสุขกับปายดีทุกอย่าง โดยนิสัยก็ไม่ใช่คนขี้เบื่อ แต่เป็นพวกชอบเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ชอบไปลอง ไปเสพ ไปใช้ชีวิตที่ใหม่ๆ โดยสถิติ แต่ละที่เขาจะอยู่ประมาณสามถึงห้าปี (เช่น ที่ลาว ชลบุรี ฯลฯ) ดูเหมือนปายใกล้ครบวาระแล้วก็เลยมองหาที่ใหม่

ในวัยหกสิบสาม ชัดเจนว่ามาตุภูมิฝรั่งเศสคือที่ที่เขาจะไม่กลับไป ‘อยู่ยากๆ’ เขาย้ำคำนี้หลายครั้ง อยู่เมืองไทยสบายกว่า (ยังอยากย้ายไปหลายๆ จังหวัด) ค่าครองชีพไม่สูง และพื้นภาษาไทยของเขาก็แข็งโป๊กเพราะจบปริญญาโท อ่าน เขียน แปล ได้คล่อง เรื่องเงินก็ไม่ต้องกังวลอะไร เขาทำทัวร์อิสระ แปลเอกสาร และมีธุรกิจที่พักเล็กๆ ว่างก็หาเหตุเดินทางทำสารคดี โดยเลือกจับประเด็นสหายเก่ามานานปี คุณดูดิ สุดท้ายในเรื่องที่สำคัญแหลมคมมากๆ ฝรั่งก็อาจจะมีข้อมูลมากกว่าคนไทย คือเราไม่ได้คิดว่าเรื่องในเมืองไทย คนไทยต้องเป็นคนทำ หรือคนไทยรู้ลึกรู้จริงกว่าอะไรแบบนั้น ใครสนใจ ใครพร้อม มาช่วยกันทำ มันดีทั้งนั้นแหละ

ประเด็นคือสิ่งที่เกิดขึ้นก็สะท้อนว่าวงการสื่อสารมวลชนของเรายังเล็ก แคบ ไม่ครอบคลุม และบ่อยครั้งก็มองไม่เห็น ไม่ได้ยินเรื่องเล่าที่จำเป็นต้องบอกต่อเล่าขาน ให้มันกระจายออกไปอย่างกว้างไกล

เห็นฝรั่งทำงานแล้วก็เกิดแรงฮึดอยู่เหมือนกัน อยากลบล้างข้ออ้างต่างๆ นานา ยิ่งรุ่งเช้าได้ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านคนหนึ่งที่เคยจับปืนสู้อำนาจรัฐ ก็ยิ่งพบว่าเราจะทิ้งเรื่องเล่านี้ไปต่อหน้าไม่ได้ รู้แล้วเห็นแล้วก็ต้องรีบ เชื่องช้าเดี๋ยวก็สายเกินไปอีก เหมือนหลายๆ เรื่อง (เช่น บอกว่าจะไปหาพี่วัฒน์ที่ฝรั่งเศส)

การออกมานอกเมืองเป็นโอกาสดีที่ได้ฟังเรื่องเล่าใหม่ๆ เยอะ บางเรื่องสมควรไปตามต่อ เร่งจดบันทึก บางเรื่องก็ทำให้ตระหนักต่อความจริงของบางชีวิตที่ทางเลือกมันมีอยู่ที่หวยและความรวยของคนรัก คุยกันอยู่นาน หญิงสาวลัวะคนหนึ่งย้ำหลายครั้งว่าสิ่งที่เป็นความหวังมีสองอย่างนี้เท่านั้น แม้ว่ารับราชการและกำลังเรียนรัฐศาสตร์อยู่ คือถ้าไม่ถูกหวย ก็ขอมีสามีรวยๆ ทางอื่นมันมืด มองไม่เห็นทางรอด เงินเดือนหมื่นสองที่ได้ไม่พอกิน ทางที่หวังลมๆ แล้งๆ สองอย่างนี้รู้ดีว่าไม่ง่าย และดูคล้ายโง่เขลา แต่ช่วยไม่ได้ ก็ทางมันเหลือเท่านี้

ชอบเรื่องปาร์ตี้อีสุกอีใสที่คุณเล่าให้ฟังมาก มันบ่งบอกสปิริตและความงดงามระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ส่วนปาร์ตี้เมื่อคืนของเราจบลงด้วยคำของหญิงสาว เช้ามาก็ยังวนเวียน สลัดไม่หลุด มองถนนคดโค้งบนภูเขาที่เราจะลงกลับเข้าเมืองบ่ายนี้ ถนนชีวิตใครบางคนแม้ไม่ได้โค้งชัน แต่นับวันทางเดินมันก็แคบลงๆ อย่างน่าใจหาย.


เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อก (ชัยพร อินทุวิศาลกุล) เป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน ทุกสัปดาห์เขาเขียนจดหมายมาคุยกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ บรรณาธิการ nan dialogue

You may also like...